ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,561 รายการ

ชื่อเรื่อง                                        สพ.บ.424/7ก พระเจ้าห้าสิบชาติ (ห้าสิบชาติ) สพ.บ.                                          424/7ก ประเภทวัดุ/มีเดีย                            คัมภีร์ใบลาน หมวดหมู่                                      พุทธศาสนา ลักษณะวัสดุ                                  54 หน้า : กว้าง 5 ซม. ยาว 57 ซม. หัวเรื่อง                                        พุทธศาสนา                                                  เทศน์มหาชาติ บทคัดย่อ/บันทึก                เป็นคัมภีร์ใบลาน ฉบับล่องชาต ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี


กรมอุตินิยมวิทยาได้ประกาศ การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๖ ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ พบว่า จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของ ประเทศไทยในปีนี้ . ในฤดูฝนก็มีปรากฏการณ์ลมกรรโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า ซึ่งคนไทยในอดีตเชื่อกันว่าเหตุที่ฟ้าแลบนั้นเป็นเพราะนางมณีเมขลาหรือนางเมขลา ผู้ดูแลรักษามหาสมุทร ถือแก้ววิเศษแกว่งไปแกว่งมาอยู่บนก้อนเมฆ ส่วนเสียงฟ้าร้องฟ้าแลบเป็นเสียงของขวานเพชรที่ยักษ์รามสูรขว้างออกไปหวังประหารนางเมขลา เพราะรามสูรอยากได้แก้วในมือนางมณีเมขลา . หากสืบความพบเรื่องราวเมขลาล่อแก้ว ปรากฏในหนังสือ “เฉลิมไตรภพ” เป็นวรรณกรรมโบราณที่มีลักษณะเป็นตำนานหรือนิทาอธิบายเหตุ มีที่มาจากตํานานในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนา และวรรณกรรมไทย และมีแนวคิดเกี่ยวข้องกับเรื่องเทพเจ้า โลก-จักรวาล และชีวิต ที่ผู้แต่งได้ร้อยเรียงเรื่องไตรภพหรือสามโลก ตำนานการสร้างโลก เทวกำเนิด และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ . เฉลิม ไตรภพ กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนางเมขลาแอบกินน้ำอมฤตและขโมยดวงแก้ว ไปจนถึงยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวงแก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟูานั้น เฉพาะเหตุการณ์ ยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวงแก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟ้า เป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นในรามายณะฉบับอินเดียตอนใต้ซึ่งเข้าใจว่ามีอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทยโบราณ ดังปรากฏหลักฐานให้ เห็น เช่น สมุดภาพไตรภูมิฉบับอยุธยา หรือในรามเกียรติ์สํานวนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่กล่าวถึงรามสูร ปะโรต และนางเมขลาทําให้เกิด ปรากฏการณ์ฝนฟ้า แม้เหตุการณ์ยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวง แก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟ้า ซึ่งโครงเรื่องนี้คงเป็นแนวคิดร่วมกันที่พบตั้งแต่ “เฉลิมไตรภพ” กลุ่มสุริยาศศิธรในสมัยอยุธยา มาจนถึงกลุ่มพระยาราชภักดี (ช้าง) สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้ประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ประพันธ์ประเภทกลอนสวด ประกอบด้วย โคลงสี่สุภาพ ร่าย และกาพย์ ไว้ให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน . ที่มาข้อมูลและภาพ ๑. หนังใหญ่ เมขลาล่อแก้ว อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เก็บรักษาที่ห้องหนัง คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ๒. เว็บไซด์ กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/ ๓. เปรมวัฒนา สุวรรณมาศ, “เฉลิมไตรภพ”: การศึกษาแนวคิดและกลวิธีสร้างสรรค์, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทยและภาษาวัฒนธรรมตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๖๐. ๔. ภาพเมขลาในสมุดไทยดำ จาก https://th.wikipedia.org/ . เผยแพร่โดย นางสาวศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ


#พิพิธภัณฑ์สรรหาสาระ : บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี "พระพุทธรูปที่เก่าที่สุดจากเมืองศรีมโหสถ เมืองทวารวดีในภาคตะวันออก" - พระพุทธรูปปางสมาธิ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ (ประมาณ ๑,๔๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว) หินทราย ขนาด ตักกว้าง ๑๗.๕ ซม. สูง ๒๗ ซม. - พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ พระอุษณีษะนูน พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรโปน พระขนงต่อกัน พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวจรดพระอังสา ถึงแม้รายละเอียดค่อนข้างลบเลือนแต่ยังปรากฏร่องรอยการครองจีวรห่มเฉียง ลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นลักษณะที่พบในพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีในภาคกลาง และมีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบอังกอร์โบเรย ในวัฒนธรรมเขมรโบราณสมัยก่อนเมืองพระนครซึ่งมีอายุร่วมสมัยกัน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - พระพุทธรูปแกะสลักจากหินทรายองค์นี้ พบในขณะที่หน่วยศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้ดำเนินการลอกบ่อน้ำหน้าอาคารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท โบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ซึ่งบริเวณนี้ ปรากฏหลักฐานทั้งรูปแบบวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณในพื้นที่เดียวกัน การพบพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทคู่ในพื้นที่นี้ แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยได้อิทธิพลจากอินเดีย และลังกา ที่แพร่เข้ามายังดินแดนนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว - ปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์นี้ กรมศิลปากรได้อัญเชิญไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง "พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ" ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ท่านผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร) อ้างอิง: - กรมศิลปากร. พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๖๖ ผู้เรียบเรียบ: นางสาววัชรี ชมภู ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร


 องค์ความรู้ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก เรื่อง “ท้อ” สัญลักษณ์แห่งการมีอายุยืนยาว   “ลูกท้อ” หรือ “ลูกพีช” ในการรับรู้ของชาวตะวันตก (ภาษาจีน : 桃子 เถาจื่อ, ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prunus persica) เป็นผลไม้เมืองหนาวที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ก่อนจะแพร่หลายไปยังยุโรปผ่านพ่อค้าชาวเปอร์เซีย และไปถึงทวีปอเมริกาพร้อมนักเดินเรือชาวสเปนในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลูกท้อจึงกลายเป็นผลไม้ที่รู้จักกันทั่วโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากความสำคัญในฐานะสมุนไพรที่มีสรรพคุณต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และระบบขับถ่ายแล้ว ลูกท้อยังมีบทบาทต่อวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมากซึ่งถือว่าลูกท้อเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาวและความเป็นอมตะ และถูกใช้เป็นตัวแทนของเทพเจ้าโซ่ว ๑ ใน ๓ เทพแห่งดวงดาวของลัทธิเต๋า ฝู ลู่ โซ่ว (หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อ ฮก ลก ซิ่ว) นอกจากนี้ ลูกท้อยังหมายถึงฤดูใบไม้ผลิและความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากดอกท้อจะบานในเดือนมีนาคมซึ่งเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอันเป็นฤดูกาลที่พืชพรรณต่าง ๆ เริ่มผลิดอกออกผลหลังผ่านพ้นฤดูหนาวที่แห้งแล้ง อีกทั้งชาวจีนยังมีความเชื่อว่าต้นท้อสามารถป้องกันขับไล่ปีศาจได้ จึงนิยมนำต้นท้อหรือกิ่งท้อมาประดับตกแต่งภายในบ้าน ไม่เพียงเท่านั้น ลูกท้อยังปรากฏในตำนานเทพและวรรณกรรมหลายเรื่องของจีน เช่น เชื่อกันว่าพระแม่ซีหวังหมู่ ราชินีสวรรค์ผู้ปกครองเทพฝ่ายหญิง มีสวนท้อวิเศษอยู่บนเขาคุนหลุนที่มีสรรพคุณทำให้ผู้รับประทานเป็นอมตะ ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “ไซอิ๋ว” ที่ซุนหงอคงได้แอบกินลูกท้อในสวนของพระแม่ซีหวังหมู่จนหมดและกลายเป็นอมตะ หรือในบทประพันธ์ เรื่อง “สามก๊ก” ได้กล่าวว่าเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยสาบานเป็นพี่น้องกันในสวนท้อของเตียวหุย ซึ่งสวนท้อนั้นอาจจะเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงมิตรภาพของทั้งสามที่มีความยั่งยืนยาวนานดุจลูกท้อ รวมไปถึงซาลาเปาที่ปั้นและแต้มสีแดงให้เหมือนกับลูกท้ออย่างโซ่วเถา (壽桃, ภาษาแต้จิ๋ว : ซิ่วท้อ) อันเป็นอาหารที่ชาวจีนนิยมมอบให้ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุในโอกาสสำคัญ เพื่อเป็นการอวยพรให้มีอายุยืนยาว จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ต้นท้อจึงมีอิทธิพลกับความเชื่อของชาวจีนเป็นอย่างมากเพราะมิได้ปรากฏอยู่แค่ในงานศิลปกรรม งานวรรณศิลป์เท่านั้น หากยังแฝงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวจีนอีกด้วย เมื่อจีนมีการติดต่อกับดินแดนต่าง ๆ ดินแดนเหล่านั้นก็พลอยได้รับอิทธิพลทางความเชื่อเหล่านี้ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่ประเทศไทยนั่นเอง ---------------------------------------------- ที่มาของข้อมูล : Facebook Page พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก : Sawanvoranayok National https://www.facebook.com/sawanvoranayok/posts/pfbid0D4TM1NwLDPWSMnQCnBEes6diUxXu6tkYjhzhwqJ4uvGsbQd4yfEkkFrHnzf8XWBJl  



        ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  พุทธศักราช ๒๕๖๒         เทคนิค : สลักดุนโลหะ  ปิดทอง ลงยาสี  และประดับคริสตัล         กลุ่มงานช่างบุและช่างศิราภรณ์  กลุ่มประณีตศิลป์  สำนักช่างสิบหมู่  กรมศิลปากร         ผลงานศิลปกรรมจัดสร้างโดย สำนักช่างสิบหมู่  กรมศิลปากร  จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖  เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)          อักษรพระปรมาภิไธย วปร. (อยู่ตรงกลาง) พื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง  อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร  ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณ อักษร วปร. อยู่บนพื้นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์  ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทองสอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ  กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม  อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์  อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช  ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจำรัชกาล  อยู่เบื้องบนพระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรีทอดไขว้อยู่เบื้องขวา  ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี  ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอนอยู่เบื้องล่าง           พระมหาพิชัยมงกุฎ  หมายถึง  ทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของแผ่นดิน  เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน           พระแสงขรรค์ชัยศรี  หมายถึง  ทรงรับพระราชภาระปกป้องแผ่นดินให้พ้นจากภยันตราย         ธารพระกร  หมายถึง  ทรงดำรงราชธรรมเพื่อค้ำจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง         พระแส้จามรีกับพัดวาลวิชนี  หมายถึง ทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์         ฉลองพระบาทเชิงงอน  หมายถึง  ทรงทำนุบำรุงปวงประชาทั่วรัฐสีมาอาณาจักร         เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎ : ประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตรอันมีระบายขลิบทอง จงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุด  ระบายชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ         เบื้องล่างกรอบอักษรพระปรมาภิไธย : มีแถบแพรพื้นสีเขียวถนิมทองขอบขลิบทอง  มีอักษรสีทองความว่า "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒" ปลายแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อน  ประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร         เบื้องซ้าย : มีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน  ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้างมีดอกลอยกนกนาค  แสดงถึงปีมะโรงนักษัตรอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ  สีทองหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน   สามารถรับชมขั้นตอนการจัดสร้าง ได้ทาง YouTube ตามลิ้งค์ด้านล่าง https://youtu.be/gvMjzRrxWi8   ที่มา: https://datasipmu.finearts.go.th/portfolio/1323


เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ อัตลักษณ์ทับหลังปราสาทพิมาย และทับหลังพบใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา


           ค่ำคืนวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566 เตรียมพบกับพิธีเปิดงานสุดยิ่งใหญ่ ท่องเที่ยวมิติใหม่ ชมปราสาทพิมาย..ยามค่ำคืน (Phimai Night : Light Up) ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว (Thailand Winter Festival)  เริ่มตั้งแต่ เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป พบกับกิจกรรมมากมาย อาทิ            - ชม ชิม ช้อป ตลาดโบราณ ร้านจำหน่ายอาหาร และสินค้าพื้นเมือง            - ชมอาสาสมัครมัคคุเทศก์น้อย (Phimai Junior Guides) นำชมปราสาทหินพิมาย            - ร่วมกิจกรรมแต่งชุดไทย/ชุดพื้นเมืองโบราณ เที่ยวปราสาทพิมาย            - ชมการบรรเลงและขับร้องบทเพลง วงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศิลปากร            - ชมการแสดงชุด “เทวสตรีศรีพิมาย” และ “เบิ่งฟ้อน ออนซอนอีสาน” โรงเรียนพิมายวิทยา            - ชมการแสดงชุด "รำแม่มณี" ชมรมพิมายไลน์แดนซ์ ชาวชุมชนเมืองพิมาย            - ดื่มด่ำกับบรรยากาศ แสงไฟส่องสาด เรืองรอง อลังการ ตระการตา ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่งดงาม อร่ามตา เป็นที่สุด ประดุจสรวงสวรรค์ ในยามราตรี ไม่มีที่ใดเหมือน            - เสริมสิริมงคล สักการะขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนสถาน “พระกัมรเตงชคัตวิมาย” พระพุทธรูปนาคปรก และ ประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราช ในยามค่ำคืน            อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ขอเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานและนักท่องเที่ยว แต่งชุดไทย/ชุดพื้นเมืองโบราณ เที่ยวปราสาทพิมาย ร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวมิติใหม่ ชมปราสาทพิมาย..ยามค่ำคืน (Phimai Night : Light Up) ทุกคืนวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์และเทศกาลสำคัญ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึง 27 มกราคม 2567 ระหว่างเวลา 18.00 - 20.30 น.             สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย โทร. 044 471568 ติดตามข่าวสารกิจกรรมได้ที่ เฟสบุ๊ก https://www.facebook.com/PhimaiHistoricalParkFAD


เนื่องในโอกาสที่เมืองโบราณศรีเทพได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ขอนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุจากเมืองศรีเทพที่เก็รักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เรื่อง "เศียรพระพุทธรูปจากถ้ำเขาถมอรัตน์" ซึ่งจัดแสดงประกอบนิทรรศการตามรอยศรีเทพ เมืองมรดกโลก ...เรายังมีโบราณวัตถุจากเมืองศรีเทพอีกหลายชิ้น โปรดติดตามต่อไป...


องค์ความรู้ สำนักการสังคีตกรมศิลปากร “วงบัวลอย: วัฒนธรรมดนตรีในงานอวมงคล”             วงบัวลอย คือ วงดนตรีไทยประเภทหนึ่ง สำหรับนำมาบรรเลงในงานอวมงคล ประกอบด้วย ปี่ชวา ๑ เลา กลองแขกหรือกลองมลายู ๔ ใบ ซึ่งเราเรียกกันติดปากในภาษานักดนตรีไทยว่า “กลองสี่ปี่หนึ่ง” ต่อมาเมื่อเห็นว่ากลอง ๔ ใบ มีจำนวนมากไป จึงนิยมลดเหลือเพียง ๒ ใบ โดยกลองในวง บัวลอยจะต้องมีอุปกรณ์สำหรับตี เรียกว่า “ไม้ดีด” และเครื่องดนตรีอีกชนิด คือ เหม่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับโหม่งแต่ไม่มีขาตั้งซึ่งผู้ที่ตีเหม่งจะต้องถือและตีเอง              ชื่อเรียกของวงและเพลงที่ใช้คำว่า “บัวลอย” สันนิษฐานว่าตั้งชื่อเพื่อให้เป็นปริศนาธรรมเรื่องบัว ๔ เหล่า โดยคำว่า “บัวลอย” หมายถึง ดอกบัวที่พ้นสู่ผิวน้ำเปรียบได้กับผู้ที่หลุดพ้นจาก อาสวะกิเลส หรืออีกนัยยะอาจเป็นเจตนาในการตั้งชื่อวงและชื่อเพลงเพื่อให้คติธรรมแก่ผู้ตาย ว่าจะได้ขึ้นสู่สวรรค์หรือมีดวงตาเห็นธรรม              เพลงที่ใช้บรรเลงในวงบัวลอย เป็นเพลงที่บรรเลงกันเป็นชุดเรียกว่า “เพลงเรื่องบัวลอย” ซึ่งแต่ละสำนักดนตรีอาจมีการเรียงร้อยเพลงเรื่องบัวลอยที่แตกต่างกันออกไป สำหรับเพลงเรื่องบัวลอยที่บรรเลงและสืบทอดในสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นทางที่ได้รับสืบทอดจากพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ประกอบด้วย ๑) เพลงรัวสามลา ๒) เพลงบัวลอย ๓) เพลงนางหน่าย (หนังหน่าย) ๔) เพลงรัวลาเดียว ๕) เพลงไฟชุม ๖) เพลงเร็ว ๗) เพลงรัวลาเดียว และ ๘) เพลงนางหงส์              จารีตและธรรมเนียมปฏิบัติของการบรรเลงวงบัวลอย จะนิยมตั้งวงดนตรีทางด้านซ้าย ของเมรุ สันนิษฐานว่ามาจากความเชื่อเรื่องการเวียนอุตราวรรตในงานอวมงคล โดยก่อนเริ่มการบรรเลง จะต้องมีการตั้งพานกำนลไหว้ครู ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน เหล้า บุหรี่ หมากพลูและเงินกำนล ซึ่งราคาเงินกำนลอาจแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า ๖ บาท ๑๒ บาท ๒๔ บาท ๓๖ บาท ๑๖๐ บาท ๓๖๐ บาท ฯลฯ ทั้งนี้แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละสำนักที่ได้ปฏิบัติกันมาไม่มีกฏหรือข้อบังคับตายตัว หลังเสร็จสิ้นงานแล้วเงินกำนลดังกล่าว จะถูกนำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ครูผู้ล่วงลับต่อไป นอกจากนี้บางสำนักยังอาจมีการตั้งครอบน้ำมนต์ที่หน้าวงบัวลอยอีกด้วย โดยจะมีครูผู้ใหญ่หรือหัวหน้าวงบัวลอยเข้ากล่าวคำบูชาครู ตั้งพานกำนลเเละทำน้ำมนต์ไว้ก่อนเริ่มบรรเลง ต่อเมื่อบรรเลงแล้วเสร็จ จึงประพรมน้ำมนต์ให้แก่ผู้บรรเลงเพื่อความสวัสดิมงคล             ขั้นตอนการบรรเลงวงบัวลอย เริ่มจากเมื่อประธานในพิธีวางดอกไม้เพลิงหรือเมื่อได้ยินเสียงกริ่งสัญญาณดังขึ้น วงบัวลอยจะเริ่มบรรเลงทันทีและจะบรรเลงไปจนกระทั่งจบกระบวนเพลงเรื่อง บัวลอย ดังที่ นายปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ ได้อธิบายว่า   ทันทีที่ประธานจุดไฟ ปี่ชวาวงบัวลอยจะเริ่มขึ้นเพลงรัวสามลา จากนั้น คนในงานทยอยขึ้นวางดอกไม้จันทน์ วงบัวลอยยังคงบรรเลงต่อไปเรื่อย ๆ จบครบเพลงทั้งเรื่องบัวลอยและถ้าจบกระบวนเพลงแล้ว ยังวางดอกไม้จันทน์ไม่เสร็จ จะเป็นหน้าที่ของวงปี่พาทย์หรือวงปี่พาทย์นางหงส์บรรเลงรับต่อไป แต่จะไม่มีการบรรเลงเพลงเรื่องบัวลอยโดยวงบัวลอยวนซ้ำอีกครั้ง (ปี๊บ คงลายทอง, สัมภาษณ์, ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖)             การนำวงบัวลอยไปใช้ในงานอวมงคล สามารถใช้ได้ตั้งแต่งานระดับพระบรมวงศานุวงศ์จนถึงสามัญชน โดยนิยมนำมาบรรเลงในวันพระราชทานเพลิงศพหรือฌาปนกิจศพ สำหรับการนำวงบัวลอยมาบรรเลงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพนั้น ถูกนำมาบรรเลงครั้งแรกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งแต่เดิมไม่มีธรรมเนียมการนำวงบัวลอยมาบรรเลงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ดังที่ นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ ได้อธิบายไว้ว่า           แต่เดิมวงบัวลอยไม่ได้นำมาบรรเลงในงานออกพระเมรุ แต่ได้นำมาบรรเลงครั้งแรกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีกรมศิลปากร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดวงบัวลอยเข้าไปบรรเลงทั้งหมด ๒ วง ณ ทิมหลังด้านทิศเหนือและทิศใต้ของพระเมรุมาศ ซึ่งต้องบรรเลงทั้งหมด ๓ ช่วง คือ             ๑) บรรเลงเพลงรัวสามลาช่วงเชิญพระโกศเวียนพระเมรุมาศ โดยเมื่อพระโกศผ่านวงบัวลอยวงใด ก็ให้วงบัวลอยวงนั้นบรรเลงเพลงรัวสามลา เวียนรอบที่หนึ่งบรรเลงรัวลาที่ ๑ เวียนรอบที่สองบรรเลงรัวลาที่ ๒ และเวียนรอบที่สามบรรเลงรัวลาที่ ๓             ๒) บรรเลงเพลงเรื่องบัวลอยช่วงถวายพระเพลิงพระบรมศพ และ             ๓) บรรเลงเพลงเรื่องบัวลอยช่วงถวายพระเพลิงพระบรมศพ (ถวายพระเพลิงจริง) (สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ, สัมภาษณ์, ๓ ตุลาคม ๒๕๖๖)              ครั้นถึงพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในพุทธศักราช ๒๕๕๑ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในพุทธศักราช ๒๕๕๕ และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพุทธศักราช ๒๕๖๐ กรมศิลปากร จึงได้จัดวงบัวลอยเข้าไปบรรเลงในพระเมรุ และพระเมรุมาศด้วย โดยในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการเพิ่มวงบัวลอยจากเดิม ซึ่งบรรเลงเพียง ๒ วง เป็นทั้งหมด ๔ วง ประจำอยู่ ณ ศาลาลูกขุนแต่ละทิศดังนี้ ๑) ศาลาลูกขุนทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ มีนายสิงหล สังจุ้ย เป็นผู้ควบคุมวง ๒) ศาลาลูกขุนทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีจ่าอากาศเอก สุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ เป็นผู้ควบคุมวง ๓) ศาลาลูกขุนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีนายปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ควบคุมวง และ ๔) ศาลาลูกขุนทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีนายบุญช่วย โสวัตร เป็นผู้ควบคุมวง ส่วนรูปแบบการบรรเลงยังคงบรรเลงทั้งหมด ๓ ช่วง เหมือนเมื่อครั้งงาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี             ปัจจุบันวงบัวลอย ยังคงเป็นวงดนตรีที่นิยมนำมาบรรเลงสำหรับงานอวมงคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานอวมงคลของกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการดุริยางคศิลป์ไทยและกลุ่มบุคคล ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีในงานอวมงคล แต่สำหรับงานอวมงคลของกลุ่มบุคคลโดยทั่วไปนั้น อาจไม่นิยมและแทบไม่ปรากฏหรือรู้จัก “วงบัวลอย” อีกแล้ว เนื่องจากสถานการณ์และสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งประชาชนโดยทั่วไปเริ่มให้ความสำคัญและความเข้าใจเกี่ยวกับกับศิลปวัฒนธรรมดนตรีไทยลดลง ด้วยเหตุนี้ จึงควรช่วยกันรณรงค์ ศึกษา รักษา อนุรักษ์ ต่อยอดและทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมดนตรีไทยให้มากขึ้น เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมของชาติแขนงนี้ ยังสามารถมีลมหายใจอยู่ร่วมกับประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อของคนไทยต่อไป ภาพที่ ๑ ปี่ชวา  ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช    ภาพที่ ๒ กลองมลายูและไม้ดีด ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช    ภาพที่ ๓ เหม่งและไม้ตี  ที่มา : ธำมรงค์ บุญราช   ภาพที่ ๔ วงบัวลอย ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ณ ศาลาลูกขุนทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระเมรุมาศ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐  นายปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ (ปี่ชวา, ผู้ควบคุมวง) นายบุญสร้าง  เรืองนนท์ (กลองมลายูตัวผู้)  นายสุภร  อิ่มวงค์ (กลองมลายูตัวเมีย)  นายบุญช่วย แสงอนันต์ (เหม่ง) ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช    ภาพที่ ๕ นายนัฐพงศ์  โสวัตร กล่าวคำบูชาครู ตั้งพานกำนล เเละทำน้ำมนต์  ก่อนเริ่มการบรรเลงวงบัวลอย ในงานณาปนกิจศพ นายบุญยืน ชิตท้วม  ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๔ ตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช     ภาพที่ ๖ วงบัวลอย ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประสิทธิ์ ถาวร ศิลปินแห่งชาติ ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖  นายบุญช่วย โสวัตร (ปี่ชวา) นายสมาน น้อยนิตย์ (กลองแขกตัวผู้)  นายบุญช่วย แสงอนันต์ (กลองแขกตัวเมีย)  นายวิทยา หนูจ้อย (เหม่ง) ที่มา : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต      ภาพที่ ๗ วงบัวลอย ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมหลวงพรสรรพ์ ทองแถม ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑  นายสิงหล สังจุ้ย (ปี่ชวา) นายปิยะ  แสวงทรัพย์ (กลองแขกตัวผู้)  นายประยงค์ ทองคำ (กลองแขกตัวเมีย)  นายสุกิตติ์ ทำบุญ (เหม่ง) ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช    ภาพที่ ๘ นายนัฐพงศ์  โสวัตร ประพรมน้ำมนต์ให้กับนักดนตรีวงบัวลอยหลังบรรเลงแล้วเสร็จ ในงานณาปนกิจศพ นายบุญยืน ชิตท้วม  ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม  เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๔ ตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช  ------------------------------------------------------- รายการอ้างอิง ปี๊บ คงลายทอง, ศิลปินแห่งชาติ. สัมภาษณ์, ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖. สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ, ศิลปินแห่งชาติ. สัมภาษณ์, ๓ ตุลาคม ๒๕๖๖. --------------------------------------------------------------- เรียบเรียง : ดร. ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต  


            สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอเชิญร่วมกิจกรรม “พิพิธภัณฑ์บันดาลไทย 2567“ เรียนรู้การออกแบบกราฟฟิกเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัตถุทางวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กับนักออกแบบชั้นแนวหน้าของไทย “กลุ่มเซียมไล้” พร้อมรับประกาศนียบัตร และผลงานที่สร้างสรรค์ลุ้นรับรางวัลรวม 60,000 บาท ระหว่างวันที่ 26 - 30 มิถุนายน 2567 (ไปเช้า - เย็นกลับ) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป             รับสมัครทีมละ 5 คน ระดับมัธยมปลาย 14 ทีม และ ระดับปริญญาตรี 6 ทีม เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 31 พฤษภาคม 2567 ทางลิ้งนี้ https://shorturl.at/fgqDE หรือแสกน QR Code กิจกรรมไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ทางเฟซบุ๊กเพจ Office of National Museums, Thailand โทร. 0 2164 2501 - 2 ต่อ 8045 (ในวันและเวลาราชการ)


เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนต์พระราชทานแก่ช้างสำคัญ ในการพระราชพิธีน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายช้างสำคัญ และพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภช ณ มณฑลพิธีสนามหน้าเขาวัง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีรหัสเอกสาร ฉ/ร ๖๕๑