วงบัวลอย: วัฒนธรรมดนตรีในงานอวมงคล
องค์ความรู้ สำนักการสังคีตกรมศิลปากร “วงบัวลอย: วัฒนธรรมดนตรีในงานอวมงคล”
            วงบัวลอย คือ วงดนตรีไทยประเภทหนึ่ง สำหรับนำมาบรรเลงในงานอวมงคล ประกอบด้วย ปี่ชวา ๑ เลา กลองแขกหรือกลองมลายู ๔ ใบ ซึ่งเราเรียกกันติดปากในภาษานักดนตรีไทยว่า “กลองสี่ปี่หนึ่ง” ต่อมาเมื่อเห็นว่ากลอง ๔ ใบ มีจำนวนมากไป จึงนิยมลดเหลือเพียง ๒ ใบ โดยกลองในวง บัวลอยจะต้องมีอุปกรณ์สำหรับตี เรียกว่า “ไม้ดีด” และเครื่องดนตรีอีกชนิด คือ เหม่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับโหม่งแต่ไม่มีขาตั้งซึ่งผู้ที่ตีเหม่งจะต้องถือและตีเอง 
            ชื่อเรียกของวงและเพลงที่ใช้คำว่า “บัวลอย” สันนิษฐานว่าตั้งชื่อเพื่อให้เป็นปริศนาธรรมเรื่องบัว ๔ เหล่า โดยคำว่า “บัวลอย” หมายถึง ดอกบัวที่พ้นสู่ผิวน้ำเปรียบได้กับผู้ที่หลุดพ้นจาก อาสวะกิเลส หรืออีกนัยยะอาจเป็นเจตนาในการตั้งชื่อวงและชื่อเพลงเพื่อให้คติธรรมแก่ผู้ตาย ว่าจะได้ขึ้นสู่สวรรค์หรือมีดวงตาเห็นธรรม 
            เพลงที่ใช้บรรเลงในวงบัวลอย เป็นเพลงที่บรรเลงกันเป็นชุดเรียกว่า “เพลงเรื่องบัวลอย” ซึ่งแต่ละสำนักดนตรีอาจมีการเรียงร้อยเพลงเรื่องบัวลอยที่แตกต่างกันออกไป สำหรับเพลงเรื่องบัวลอยที่บรรเลงและสืบทอดในสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นทางที่ได้รับสืบทอดจากพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ประกอบด้วย ๑) เพลงรัวสามลา ๒) เพลงบัวลอย ๓) เพลงนางหน่าย (หนังหน่าย) ๔) เพลงรัวลาเดียว ๕) เพลงไฟชุม ๖) เพลงเร็ว ๗) เพลงรัวลาเดียว และ ๘) เพลงนางหงส์ 
            จารีตและธรรมเนียมปฏิบัติของการบรรเลงวงบัวลอย จะนิยมตั้งวงดนตรีทางด้านซ้าย ของเมรุ สันนิษฐานว่ามาจากความเชื่อเรื่องการเวียนอุตราวรรตในงานอวมงคล โดยก่อนเริ่มการบรรเลง จะต้องมีการตั้งพานกำนลไหว้ครู ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน เหล้า บุหรี่ หมากพลูและเงินกำนล ซึ่งราคาเงินกำนลอาจแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า ๖ บาท ๑๒ บาท ๒๔ บาท ๓๖ บาท ๑๖๐ บาท ๓๖๐ บาท ฯลฯ ทั้งนี้แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละสำนักที่ได้ปฏิบัติกันมาไม่มีกฏหรือข้อบังคับตายตัว หลังเสร็จสิ้นงานแล้วเงินกำนลดังกล่าว จะถูกนำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ครูผู้ล่วงลับต่อไป นอกจากนี้บางสำนักยังอาจมีการตั้งครอบน้ำมนต์ที่หน้าวงบัวลอยอีกด้วย โดยจะมีครูผู้ใหญ่หรือหัวหน้าวงบัวลอยเข้ากล่าวคำบูชาครู ตั้งพานกำนลเเละทำน้ำมนต์ไว้ก่อนเริ่มบรรเลง ต่อเมื่อบรรเลงแล้วเสร็จ จึงประพรมน้ำมนต์ให้แก่ผู้บรรเลงเพื่อความสวัสดิมงคล
            ขั้นตอนการบรรเลงวงบัวลอย เริ่มจากเมื่อประธานในพิธีวางดอกไม้เพลิงหรือเมื่อได้ยินเสียงกริ่งสัญญาณดังขึ้น วงบัวลอยจะเริ่มบรรเลงทันทีและจะบรรเลงไปจนกระทั่งจบกระบวนเพลงเรื่อง บัวลอย ดังที่ นายปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ ได้อธิบายว่า
 
ทันทีที่ประธานจุดไฟ ปี่ชวาวงบัวลอยจะเริ่มขึ้นเพลงรัวสามลา จากนั้น คนในงานทยอยขึ้นวางดอกไม้จันทน์ วงบัวลอยยังคงบรรเลงต่อไปเรื่อย ๆ จบครบเพลงทั้งเรื่องบัวลอยและถ้าจบกระบวนเพลงแล้ว ยังวางดอกไม้จันทน์ไม่เสร็จ จะเป็นหน้าที่ของวงปี่พาทย์หรือวงปี่พาทย์นางหงส์บรรเลงรับต่อไป แต่จะไม่มีการบรรเลงเพลงเรื่องบัวลอยโดยวงบัวลอยวนซ้ำอีกครั้ง (ปี๊บ คงลายทอง, สัมภาษณ์, ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖)
 
          การนำวงบัวลอยไปใช้ในงานอวมงคล สามารถใช้ได้ตั้งแต่งานระดับพระบรมวงศานุวงศ์จนถึงสามัญชน โดยนิยมนำมาบรรเลงในวันพระราชทานเพลิงศพหรือฌาปนกิจศพ สำหรับการนำวงบัวลอยมาบรรเลงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพนั้น ถูกนำมาบรรเลงครั้งแรกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งแต่เดิมไม่มีธรรมเนียมการนำวงบัวลอยมาบรรเลงในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ดังที่ นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ ได้อธิบายไว้ว่า

          แต่เดิมวงบัวลอยไม่ได้นำมาบรรเลงในงานออกพระเมรุ แต่ได้นำมาบรรเลงครั้งแรกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีกรมศิลปากร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดวงบัวลอยเข้าไปบรรเลงทั้งหมด ๒ วง ณ ทิมหลังด้านทิศเหนือและทิศใต้ของพระเมรุมาศ ซึ่งต้องบรรเลงทั้งหมด ๓ ช่วง คือ 
           ๑) บรรเลงเพลงรัวสามลาช่วงเชิญพระโกศเวียนพระเมรุมาศ โดยเมื่อพระโกศผ่านวงบัวลอยวงใด ก็ให้วงบัวลอยวงนั้นบรรเลงเพลงรัวสามลา เวียนรอบที่หนึ่งบรรเลงรัวลาที่ ๑ เวียนรอบที่สองบรรเลงรัวลาที่ ๒ และเวียนรอบที่สามบรรเลงรัวลาที่ ๓ 
           ๒) บรรเลงเพลงเรื่องบัวลอยช่วงถวายพระเพลิงพระบรมศพ และ 
           ๓) บรรเลงเพลงเรื่องบัวลอยช่วงถวายพระเพลิงพระบรมศพ (ถวายพระเพลิงจริง) (สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ, สัมภาษณ์, ๓ ตุลาคม ๒๕๖๖)
 
           ครั้นถึงพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในพุทธศักราช ๒๕๕๑ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในพุทธศักราช ๒๕๕๕ และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพุทธศักราช ๒๕๖๐ กรมศิลปากร จึงได้จัดวงบัวลอยเข้าไปบรรเลงในพระเมรุ และพระเมรุมาศด้วย โดยในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการเพิ่มวงบัวลอยจากเดิม ซึ่งบรรเลงเพียง ๒ วง เป็นทั้งหมด ๔ วง ประจำอยู่ ณ ศาลาลูกขุนแต่ละทิศดังนี้ ๑) ศาลาลูกขุนทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ มีนายสิงหล สังจุ้ย เป็นผู้ควบคุมวง ๒) ศาลาลูกขุนทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีจ่าอากาศเอก สุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ เป็นผู้ควบคุมวง ๓) ศาลาลูกขุนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีนายปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ควบคุมวง และ ๔) ศาลาลูกขุนทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีนายบุญช่วย โสวัตร เป็นผู้ควบคุมวง ส่วนรูปแบบการบรรเลงยังคงบรรเลงทั้งหมด ๓ ช่วง เหมือนเมื่อครั้งงาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 
           ปัจจุบันวงบัวลอย ยังคงเป็นวงดนตรีที่นิยมนำมาบรรเลงสำหรับงานอวมงคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานอวมงคลของกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการดุริยางคศิลป์ไทยและกลุ่มบุคคล ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีในงานอวมงคล แต่สำหรับงานอวมงคลของกลุ่มบุคคลโดยทั่วไปนั้น อาจไม่นิยมและแทบไม่ปรากฏหรือรู้จัก “วงบัวลอย” อีกแล้ว เนื่องจากสถานการณ์และสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งประชาชนโดยทั่วไปเริ่มให้ความสำคัญและความเข้าใจเกี่ยวกับกับศิลปวัฒนธรรมดนตรีไทยลดลง ด้วยเหตุนี้ จึงควรช่วยกันรณรงค์ ศึกษา รักษา อนุรักษ์ ต่อยอดและทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมดนตรีไทยให้มากขึ้น เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมของชาติแขนงนี้ ยังสามารถมีลมหายใจอยู่ร่วมกับประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อของคนไทยต่อไป


ภาพที่ ๑ ปี่ชวา 
ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช 
 
ภาพที่ ๒ กลองมลายูและไม้ดีด
ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช 
 
ภาพที่ ๓ เหม่งและไม้ตี 
ที่มา : ธำมรงค์ บุญราช
 
ภาพที่ ๔ วงบัวลอย ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
ณ ศาลาลูกขุนทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระเมรุมาศ
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ 
นายปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ (ปี่ชวา, ผู้ควบคุมวง) นายบุญสร้าง  เรืองนนท์ (กลองมลายูตัวผู้) 
นายสุภร  อิ่มวงค์ (กลองมลายูตัวเมีย)  นายบุญช่วย แสงอนันต์ (เหม่ง)
ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช 
 
ภาพที่ ๕ นายนัฐพงศ์  โสวัตร กล่าวคำบูชาครู ตั้งพานกำนล เเละทำน้ำมนต์ 
ก่อนเริ่มการบรรเลงวงบัวลอย ในงานณาปนกิจศพ นายบุญยืน ชิตท้วม 
ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๔ ตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๑
ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช
 
 
ภาพที่ ๖ วงบัวลอย ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประสิทธิ์ ถาวร ศิลปินแห่งชาติ
ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ 
นายบุญช่วย โสวัตร (ปี่ชวา) นายสมาน น้อยนิตย์ (กลองแขกตัวผู้) 
นายบุญช่วย แสงอนันต์ (กลองแขกตัวเมีย)  นายวิทยา หนูจ้อย (เหม่ง)
ที่มา : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต 
 
 
ภาพที่ ๗ วงบัวลอย ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมหลวงพรสรรพ์ ทองแถม
ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 
นายสิงหล สังจุ้ย (ปี่ชวา) นายปิยะ  แสวงทรัพย์ (กลองแขกตัวผู้) 
นายประยงค์ ทองคำ (กลองแขกตัวเมีย)  นายสุกิตติ์ ทำบุญ (เหม่ง)
ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช 
 
ภาพที่ ๘ นายนัฐพงศ์  โสวัตร ประพรมน้ำมนต์ให้กับนักดนตรีวงบัวลอยหลังบรรเลงแล้วเสร็จ
ในงานณาปนกิจศพ นายบุญยืน ชิตท้วม  ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฎกษัตริยาราม 
เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๔ ตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๑
ที่มา : ธำมรงค์  บุญราช 

-------------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
ปี๊บ คงลายทอง, ศิลปินแห่งชาติ. สัมภาษณ์, ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖.
สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ, ศิลปินแห่งชาติ. สัมภาษณ์, ๓ ตุลาคม ๒๕๖๖.
---------------------------------------------------------------
เรียบเรียง : ดร. ธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต
 

(จำนวนผู้เข้าชม 6396 ครั้ง)

Messenger