ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
เทคนิค : สลักดุนโลหะ ปิดทอง ลงยาสี และประดับคริสตัล
กลุ่มงานช่างบุและช่างศิราภรณ์ กลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
ผลงานศิลปกรรมจัดสร้างโดย สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)
อักษรพระปรมาภิไธย วปร. (อยู่ตรงกลาง) พื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณ อักษร วปร. อยู่บนพื้นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทองสอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจำรัชกาล อยู่เบื้องบนพระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรีทอดไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอนอยู่เบื้องล่าง
พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง ทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
พระแสงขรรค์ชัยศรี หมายถึง ทรงรับพระราชภาระปกป้องแผ่นดินให้พ้นจากภยันตราย
ธารพระกร หมายถึง ทรงดำรงราชธรรมเพื่อค้ำจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง
พระแส้จามรีกับพัดวาลวิชนี หมายถึง ทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์
ฉลองพระบาทเชิงงอน หมายถึง ทรงทำนุบำรุงปวงประชาทั่วรัฐสีมาอาณาจักร
เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎ : ประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตรอันมีระบายขลิบทอง จงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุด ระบายชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ
เบื้องล่างกรอบอักษรพระปรมาภิไธย : มีแถบแพรพื้นสีเขียวถนิมทองขอบขลิบทอง มีอักษรสีทองความว่า "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒" ปลายแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อน ประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร
เบื้องซ้าย : มีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้างมีดอกลอยกนกนาค แสดงถึงปีมะโรงนักษัตรอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ สีทองหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน
สามารถรับชมขั้นตอนการจัดสร้าง
ได้ทาง YouTube ตามลิ้งค์ด้านล่าง
https://youtu.be/gvMjzRrxWi8
ที่มา: https://datasipmu.finearts.go.th/portfolio/1323
(จำนวนผู้เข้าชม 590 ครั้ง)