...

พระพุทธรูปที่เก่าที่สุดจากเมืองศรีมโหสถ เมืองทวารวดีในภาคตะวันออก
#พิพิธภัณฑ์สรรหาสาระ : บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
"พระพุทธรูปที่เก่าที่สุดจากเมืองศรีมโหสถ เมืองทวารวดีในภาคตะวันออก"
- พระพุทธรูปปางสมาธิ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ (ประมาณ ๑,๔๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว)
หินทราย ขนาด ตักกว้าง ๑๗.๕ ซม. สูง ๒๗ ซม.
- พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ พระอุษณีษะนูน พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรโปน พระขนงต่อกัน พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวจรดพระอังสา ถึงแม้รายละเอียดค่อนข้างลบเลือนแต่ยังปรากฏร่องรอยการครองจีวรห่มเฉียง ลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นลักษณะที่พบในพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีในภาคกลาง และมีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบอังกอร์โบเรย ในวัฒนธรรมเขมรโบราณสมัยก่อนเมืองพระนครซึ่งมีอายุร่วมสมัยกัน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒
- พระพุทธรูปแกะสลักจากหินทรายองค์นี้ พบในขณะที่หน่วยศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้ดำเนินการลอกบ่อน้ำหน้าอาคารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท โบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ซึ่งบริเวณนี้ ปรากฏหลักฐานทั้งรูปแบบวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณในพื้นที่เดียวกัน การพบพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทคู่ในพื้นที่นี้ แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยได้อิทธิพลจากอินเดีย และลังกา ที่แพร่เข้ามายังดินแดนนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว
- ปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์นี้ กรมศิลปากรได้อัญเชิญไปร่วมจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง "พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ" ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ท่านผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)
อ้างอิง:
- กรมศิลปากร. พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๖๖
ผู้เรียบเรียบ: นางสาววัชรี ชมภู ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 477 ครั้ง)