ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,454 รายการ
"เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ”
เหรียญโบราณที่พบในแหล่งโบราณคดีภาคใต้ของไทย
ภาคใต้ของไทยมีการค้นพบเหรียญโบราณที่มีรูปสัญลักษณ์มงคลของอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็น “เงินตรา” หรือเป็น “สื่อกลาง” ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทางการค้าในสมัยโบราณ โดยพบมากบริเวณเมืองท่าและเมืองโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดีย เช่น แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งโบราณคดีคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก จังหวัดพังงา
สำหรับเหรียญที่นำมากล่าวถึงในองค์ความรู้ชุดนี้ คือ “เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ” พบที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลมแบน ทำจากโลหะเงิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย ๓ เซนติเมตร พบทั้งเหรียญที่มีสภาพสมบูรณ์ และเหรียญที่มีการตัดแบ่งออกเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ (สองส่วนและสี่ส่วน) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการตัดแบ่งเหรียญเพื่อให้เป็นหน่วยย่อยในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปพระอาทิตย์ มีเส้นรอบวงและลายไข่ปลาล้อมรอบ ส่วนด้านหลังของเหรียญเป็นรูปศรีวัตสะ และมีสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลล้อมรอบ ประกอบด้วย ฑมรุ (กลอง ๒ หน้า) สวัสดิกะ พระจันทร์ และพระอาทิตย์
รูปพระอาทิตย์ และศรีวัตสะ เป็นสัญลักษณ์มงคลตามคติความเชื่อของชาวอินเดีย มีการศึกษาพบว่าสัญลักษณ์ที่มักปรากฏบนเหรียญโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์ ศรีวัตสะ สังข์ และวัวมีโหนก ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์ของมงคล ๘ ประการ (อัษฏมงคล) และกลุ่มสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการ (อัฏฐุตตรสตะมงคล) ของอินเดีย และเป็นสัญลักษณ์ที่เคยปรากฏมาก่อนบนเหรียญและตราประทับของกษัตริย์อินเดียสมัยราชวงศ์สาตวาหนะ (พุทธศตวรรษที่ ๕ - ๘) สมัยราชวงศ์คุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๑) และสมัยราชวงศ์ปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔)
ความหมายของสัญลักษณ์รูป “พระอาทิตย์” (Rising Sun) ที่ปรากฏบนเหรียญ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความเป็นมงคล ซึ่งการบูชาพระอาทิตย์ในฐานะเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และพืชพันธ์ธัญญาหารมีมาอย่างยาวนานในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอินเดียสัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์จะพบมากบนเหรียญประเภทเหรียญตอกลาย (punch-marked coins) ของกษัตริย์อินเดียโบราณ โดยมักปรากฏอยู่ด้านหน้าของเหรียญ ส่วนสัญลักษณ์รูป “ศรีวัตสะ” (Srivatsa) แปลตามรูปศัพท์ว่า “ที่ประทับของศรี” เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศรีหรือลักษมีในรูปคชลักษมีหรืออภิเษกของศรี ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง มีการสันนิษฐานว่ารูปศรีวัตสะที่ปรากฏอยู่ด้านหลังของเหรียญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบมาจากรูปศรีวัตสะที่ปรากฏบนเหรียญของกษัตริย์อินเดียราชวงศ์ศาสวาหนะ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๔-๘) ต่อมาเมื่อรูปศรีวัตสะมาปรากฏบนเหรียญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งผลิตโดยกษัตริย์ท้องถิ่น จึงมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดรอบศรีวัตสะทำให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สำหรับสัญลักษณ์ที่ล้อมรอบศรีวัตสะ ได้แก่ ฑมรุ (กลอง ๒ หน้า) มีความหมายสื่อถึงการสร้างโลก และเป็นสัญลักษณ์ที่มักปรากฏอยู่ในพระหัตถ์ของพระศิวะ ส่วนสัญลักษณ์รูปสวัสดิกะ ถือเป็นหนึ่งในอัษฏมงคล ในพระราชพิธีราชาภิเษก
จากการศึกษาพบว่า เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ พบที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชดังกล่าวมานี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์ - ศรีวัตสะที่พบแพร่หลายในเมืองโบราณสมัยทวารวดีเกือบทุกแหล่งในทางภาคกลางของไทย เช่น เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม และบ้านเมืองอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม เมืองไบถาโน เมืองศรีเกษตร และเมืองฮาลิน ประเทศพม่า ส่วนในภาคใต้ของไทยพบเหรียญลักษณะเดียวกันนี้ เช่น แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่น่าสนใจคือพบว่ามีการค้นพบแม่พิมพ์เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ (และแม่พิมพ์รูปสังข์ – ศรีวัตสะ) ในเมืองโบราณสมัยทวารดีในภาคกลางของประเทศไทย เช่น เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ จึงมีการสันนิษฐานว่าเหรียญดังกล่าวน่าจะมีการผลิตขึ้นเองในรัฐทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย โดยนำเอาสัญลักษณ์มงคลตามความเชื่อของอินเดีย ซึ่งสื่อความหมายถึงความเป็นมงคล ความอุดมสมบูรณ์ และพระราชอำนาจของกษัตริย์มาใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการผลิตเหรียญสำหรับใช้เป็นเงินตรา เพื่อที่จะควบคุมค่าเงินในการค้าขายกับชุมชนภายนอก
ดังนั้น การค้นพบเหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ ที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างระหว่างผู้คนในชุมชนโบราณภาคใต้ กับรัฐทวารวดีทางภาคกลางของไทย รวมถึงบ้านเมืองอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันเหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ จากบ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังกล่าว เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
เรียบเรียง/กราฟิก: นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
อ้างอิง
๑.ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์. เหรียญกษาปณ์ในประเทศไทย .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๑๖.
๒.ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒.
๓.อนันต์ โพธิ์กลิ่นกลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี,” วิทยานิพนธ์ระดับปริญญามหาบัณฑิตสาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
๔.J.Allan. Catalogue of Coins of Ancient India in the British Museum. New Delhi : Oriental Book Reprint Coration, ๑๙๗๕.
๕.Kiran Thaplyal. Studies in Ancient India Seals . Lucknow : Prem Printing Press, ๑๙๗๒.
"สถูปดินเผา" ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พบได้ตามแหล่งโบราณคดีหรือโบราณสถานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และแหล่งโบราณคดีสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวในจังหวัดสตูล นั่นก็คือแหล่งโบราณคดีเขาขาว เขาขาว ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ บ้านหาญ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีลักษณะ เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่วางตัวยาวตามแนวแกนทิศเหนือ – ทิศใต้ และมีคลองละงูไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านทิศใต้ของเขาขาวเป็นที่ตั้งของเพิงผาขนาดใหญ่ ด้านหน้าเพิงผาเดิมที่ทางเดินแคบๆสำหรับสัญจรผ่านไปมาได้ จนกระทั่งพ.ศ.๒๕๕๑ จึงมีการขยายทางหลวงสายบ้านโกตา-บ้านหาญ ส่งผลให้พื้นที่เพิงผาสูญหายไปส่วนหนึ่งยอดสถูปดินเผาที่เขาขาว การสำรวจทางโบราณคดีในพ.ศ.๒๕๕๑ ทำให้ได้พบหลักฐานสำคัญคือ “ยอดสถูปดินเผา” เนื้อดินสีเทา-สีส้ม สถูปเหล่านี้ในสภาพสมบูรณ์สามารถถอดประกอบได้เป็นหลายส่วน โดยส่วนประกอบหลักได้แก่ ฐาน ลำตัว ฉัตรวลี(ปล้องไฉน) และส่วนยอด ทั้งนี้สถูปดินเผาในลักษณะนี้มีการค้นพบในโบราณสถานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์หลายแห่งเช่น เมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ถ้ำศิลป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โคกทอง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา นาพละ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เขาคุรำ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง บ้านพญาขันธ์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง และเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยอาจกำหนดอายุย้อนกลับไปได้ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ สถูปดินเผาสร้างเพื่ออะไร การสร้างสถูปเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำบุญทำกุศลตามความนิยมในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน โดยเชื่อว่าผลบุญที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดใหม่ในแดนสุขาวดีไปจนถึงการมีอายุวัฒนะและเข้าถึงการรู้แจ้ง ดังคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรระบุไว้ตอนหนึ่งว่า "...ผู้ใดสร้างสถูป แม้แต่เด็กชายเล็กๆ ผู้เพียงช่วยขนทรายด้วยจิตใจมุ่งมั่นที่จะอุทิศถวายแด่พระชินพุทธเจ้า ผู้นั้นย่อมบรรลุความรู้แจ้ง..." นอกจากนี้การสร้างสถูปยังนับเข้าอยู่ในการสร้าง “อุเทสิกเจดีย์” เพื่อถวายในพุทธศาสนา แต่ที่ปรากฏการสร้างในลักษณะของสถูปซึ่งมีขนาดเล็กนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานข้อสังเกตไว้ในพระนิพนธ์ "ตำนานพระพุทธเจดีย์" ตอนหนึ่งว่า "...แต่สังเกตพระสถูปที่สร้างกันตามนานาประเทศภายนอกอินเดีย ยังถือเป็นคติต่างกัน ประเทศที่ถือลัทธิหินยาน เช่นลังกา พม่า มอญ ไทย มักสร้างพระสถูปเป็นธาตุเจดีย์ บางทีใหญ่โต แต่ฝ่ายประเทศที่ถือลัทธิมหายาน เช่นทิเบต จีน ญี่ปุ่น (แม้ชวาและขอมโบราณ) มักสร้างพระสถูปเป็นอุเทสิกะเจดีย์อย่างเป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนา ไม่ขวนขวายในข้อที่จะทำให้ใหญ่โต...” ---------------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1372851239719702&id=461661324172036
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพัฒนา ณ ลำพูน ณ สุสานบ้านหลวย จังหวัดลำพูน วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๒
ชื่อเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนอภิเษกสมรสบทร้องและบทพากย์ผู้แต่ง พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธผู้แต่งเพิ่ม พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประเภทวัสดุ/มีเดีย หนังสือหายากหมวดหมู่ วรรณกรรมเลขหมู่ 895.9112 ม113รสถานที่พิมพ์ พระนคร สำนักพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัยปีที่พิมพ์ 2495ลักษณะวัสดุ 52 หน้าหัวเรื่อง รามเกียรติ์ วรรณคดีไทย ภาษา ไทยบทคัดย่อ/บันทึกเนื้อหาภายในประกอบด้วยอธิบายรามเกียรติ์ ตอนอภิเษกสมรสบทร้องและบทพากย์พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทบรามเกียรติ์ที่แต่งขึ้นนี้สำหรับเล่นโขน มีความตั้งใจที่จะดำเนินเรื่องโดยทางที่แปลกกว่าที่เคยมีมาก่อน แต่ไม่ได้ตั้งใจแต่งบทนี้ขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับพระราชนิพนธ์เก่า
เรื่อง “จารึกและลวดลายบนหีบพระธรรมวัดบุญยืน” --- หีบพระธรรม หรือ หีดธัมม์ (หีดธรรม) ในล้านนา เป็นเครื่องใช้สอยอันเนื่องในพระพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นหีบหรือกล่องไม้ขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกหรือพระธรรมในลักษณะคัมภีร์ใบลานที่พระสงฆ์ใช้สำหรับเทศน์ หีบพระธรรมประกอบด้วยสามส่วน คือ ส่วนตัวหีบ ส่วนฐาน และส่วนฝา ลักษณะรูปทรงของหีบพระธรรมมักมีลักษณะเป็นทรงลุ้งซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม ด้านล่างฐานสอบเข้า ส่วนปากหีบผายออก มีฝาครอบปิดด้านบนแตกต่างกัน ได้แก่ ฝาตัด ฝาคุ่ม และฝาเรือนยอด นอกจากนี้ยังมีตู้พระธรรมซึ่งเป็นที่นิยมในภาคกลางที่พบในล้านนาเช่นกัน โดยมีลักษณะเป็นตู้ที่เปิดจากด้านหน้า --- หีบพระธรรมวัดบุญยืน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย กำหนดอายุสมัยจากจารึกพุทธศักราช ๒๓๓๘ ศิลปะแบบล้านนา สร้างด้วยไม้ลงรักปิดทอง มีขนาดกว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๗๑ เซนติเมตร สูง ๑๒๒.๕ เซนติเมตร ลักษณะเป็นหีบทรงลุ้ง ฝาตัด ฐานปัทม์ สลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับแสดงภาพเล่าเรื่องสิริจุฑามณีชาดก ประกอบด้วยรูปบุคคล รูปสัตว์ และลวดลายพันธุ์พฤกษา มีจารึกอักษรธรรมล้านนาระบุผู้สร้างและปีที่สร้าง พระสาราธิคุณ เจ้าอาวาสวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ให้ยืมจัดแสดง ปัจจุบันหีบพระธรรมนี้จัดแสดงอยู่ภายในห้องประณีตศิลป์ ชั้นบนอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน --- หีบพระธรรมวัดบุญยืนสลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับ ส่วนฐานปัทม์ประดับลวดลายเครือดอก ส่วนตัวหีบแสดงภาพเล่าเรื่องรูปบุคคล และรูปสัตว์ ประกอบลวดลายพันธุ์พฤกษาทั้งสี่ด้าน ส่วนด้านหน้าที่สำคัญที่สุดบริเวณฝามีจารึก ตัวหีบสลักภาพเล่าเรื่อง “สิริจุฑามณีชาดก” ส่วนตัวหีบด้านซ้ายสลักรูปบุคคลถือพระขรรค์ ส่วนด้านหลังของตัวหีบสลักภาพบุคคลต่อสู้กันสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพเล่าเรื่องในชาดก และส่วนด้านขวาของตัวหีบเป็นภาพยักษ์ถือพระขรรค์ โดยภาพสลักทั้งสี่ด้านสลักอยู่ภายในกรอบห้าเหลี่ยมบริเวณมุมทั้งสี่ของกรอบประดับลวดลายในกรอบสามเหลี่ยม บริเวณส่วนฝานอกจากด้านหน้าที่มีจารึก สลักเป็นแถวลายรูปสัตว์ในลักษณะเคลื่อนไหววิ่งหยอกเล่นกัน --- ภาพสลักเล่าเรื่องสิริจุฑามณีชาดก แสดงรูปบุคคลนั่งอยู่บนแท่น ตรงกลางภาพ มีรูปบุคคลที่มีกายเพียงครึ่งซีกนั่งอยู่ทางเบื้องขวาและมารอีก ๒ ตนกำลังเลื่อยแบ่งร่างกาย ตอนบนสุดเป็นภาพเทวดาประณมมือ กรอบภาพนอกสุดเป็นแนวลายไข่ปลา ที่มุมทั้งสี่ทำเป็นลายดอกไม้และเถาไม้ การจัดองค์ประกอบได้สัดส่วนและสมดุลกันทั้งสองด้าน โดยเน้นจุดสนใจอยู่ที่กึ่งกลางของภาพ ส่วนพื้นที่ว่างเบื้องหลังสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา ภาพดังกล่าว แสดงถึงเรื่องราวการบำเพ็ญทานของพระสิริจุฑามณีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก ซึ่งรจนาขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย บุคคลตรงกลางภาพคงหมายถึงพระโพธิสัตว์ในชาติปางก่อนที่จุติลงมาเป็นพระเจ้าสิริจุฑามณี พระเจ้ากรุงพาราณสี ผู้ปรารถนาพระโพธิญาณเสียสละบำเพ็ญทานด้วยการอุทิศร่างกายของพระองค์แด่พระอินทร์ผู้แปลงร่างลงมาเป็นพราหมณ์พิการ มีร่างกายเพียงซีกเดียว เพื่อขอร่างกายของพระเจ้าสิริจุฑามณีอีกครึ่งหนึ่งนำมาติดเข้ากับร่างตน รูปมารทั้งสองคือพระยามารที่ผุดขึ้นมาจากธรณีภายหลังที่ทรงอธิษฐานอุทิศพระวรกายมาขอรับส่วนแบ่งที่เหลือ และช่วยกันเลื่อยพระวรกายออกเป็น ๒ ส่วน ระหว่างนั้น เหล่าเทพยดาซึ่งแสดงแทนด้วยรูปเทวดาประณมมือทางตอนบนของภาพต่างแซ่ซ้องสาธุการและแสดงการคารวะการบำเพ็ญทานในครั้งนี้ --- จารึกบนหีบพระธรรมวัดบุญยืน เขียนด้วยรักสีแดงรวม ๖ บรรทัดที่ขอบทางด้านหน้าของส่วนฝา ระบุว่า พระเถระชื่อทิพพาลังการ และเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าอัตถวรปัญโญ ผู้สร้างวัดบุญยืน) ให้สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๕๗ หรือพุทธศักราช ๒๓๓๘บรรทัดที่ ๑ ศรีสวัสดี จุฑศกพท ๑๑๕๗ ตัว ใน (ปี) โถะ สนำ กัมโพชม ขอมพิสัย เข้ามาในวัสสานอุตุ อัสยุช ปัณณรสมี ภุมวาร ไถง ไทยภาษาว่าบรรทัดที่ ๒ ปีดับเม้า เดิอรเจียง เพ็ง เม็ง พร่ำว่า ได้วันที่ ๗ ไทก่าไก๊ ปฐมมูลศรัทธา ภายในหมายมีศรัทธาสาธุเจ้าตนชื่อทิพพาลังการ เป็นประธานแก่อันเตวาสิกชู่คน หน ศรัทธาบรรทัดที่ ๓ อุปถัมภกภายนอก มีมหาราชหลวง เป็นประธาน แลอุปาสกแสนอาสา แสนหนังสือขานถ้วน ร้อยจ้อยหล้าอุปาสิกานางโนชา แลศรัทธา ทายกทล้า อันอยู่ในบ้านน้ำลัด ชู่คน ก็บังเกิดเจ -บรรทัดที่ ๔ ตนาสร้างแปลงยังหีด ธรรมเทศนาลูกนี้ ไว้หื้อเป็นที่สถิตย์ ไว้ยังเตปิฎก สัมพุทธวัจนธรรมเทศนาเจ้า เพื่อบ่หื้อ เศร้าหม่นหมองเรียรายเสี้ยงแท้ดีหลี ด้วยเดชบุญรวายสีบรรทัดที่ ๕ เยิงนี้ ขอจุ่งค้ำชูหื้อผู้ข้าทล้า ได้เถิงยัง ติวิธสุข ๓ ประการ มีนิพพานเป็นยอดแก่ผู้ข้าทล้าแท้อย่าคลาดอย่าคลา ตามมโนรถปรารถนา แห่งผู้ข้าทั้งหลายชู่ตน ชู่องค์บรรทัดที่ ๖ ชู่ผู้ชู่คน เที่ยงแท้ดีหลีเทอะ ฯ//ะ--- เนื้อหาโดยสังเขป กล่าวว่า ในจุลศักราช ๑๑๕๗ พระสงฆ์นามว่าทิพพาลังการเป็นประธานแก่ศิษย์ทุกคน โดยมีมหาราชหลวงเป็นองค์อุปถัมภ์ พร้อมด้วยขุนนาง นางโนชา และชาวบ้านน้ำลัดมีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างหีบพระธรรมสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก โดยขอให้ได้พบสุข ๓ ประการซึ่งมีนิพพานเป็นยอด ปีที่จารึก จุลศักราช ๑๑๕๗ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และตรงกับปีที่เจ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๕๗ ครองเมืองน่าน พุทธศักราช๒๓๒๙ - ๒๓๕๓) ให้สร้างหอไตรขึ้นในวัดกลางเวียง (วัดบุญยืน) อักษรและภาษาที่ใช้ในจารึก ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย ภาษาถิ่น เช่นคำว่า “หีบธรรม” ใช้ว่า “หีดธรรม” นอกจากนั้นในจารึกยังได้กล่าวนามถึง “มหาราชหลวง” เข้าใจว่าคงหมายถึงตำแหน่งของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมืองที่กล่าวด้วยความยกย่องสรรเสริญเทียบเท่าพระมหากษัตริย์แต่โบราณ ซึ่งคงหมายถึงเจ้าอัตถวรปัญโญ ส่วนนาม “สาธุเจ้าทิพพาลังการ” เข้าใจว่าเป็นพระมหาเถรที่มีความสำคัญทางคณะสงฆ์ของเมืองน่านในช่วงเวลาดังกล่าวเอกสารอ้างอิง- เด่นดาว ศิลปานนท์. เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา: ตู้และหีบพระธรรม เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.finearts.go.th/main/view/24895-เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา—ตู้และหีบพระธรรม?type1=5- ผศ.เธียรชัย อักษรดิษฐ์ และคณะ. ลวดลายพุทธศิลป์น่าน. เชียงใหม่: สันติภาพแพ็คพริ้นท์, ๒๕๕๑.- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกหีบพระธรรมวัดบุญยืน. เข้าถึงข้อมูลจาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1873- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๓๗. - ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สิริจุฑามณิชาดก. เข้าถึงข้อมูลจาก https://vajirayana.org/ปัญญาสชาดก/๗-สิริจุฑามณิชาดก
เลขทะเบียน : นพ.บ.180/3ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 46 หน้า ; 5 x 58 ซ.ม. : ล่องรัก ; ไม้ประกับธรรมดา, มีฉลากไม้ชื่อชุด : มัดที่ 102 (86-90) ผูก 3 (2565)หัวเรื่อง : แปดหมื่นสี่พันธ์ขันธ์ --เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
จุลสจฺจดสุตฺต (จุลสจฺจกสุตฺตํ)
ชบ.บ.57/1-1
เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)
ชื่อเรื่อง สลากริวิชาสุตฺต (สลากวิชาสูตร)
สพ.บ. 319/4
ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลาน
หมวดหมู่ พุทธศาสนา
ลักษณะวัสดุ 28 หน้า กว้าง 5.7 ซม. ยาว 57.7 ซม.
หัวเรื่อง พุทธศาสนา
บทคัดย่อ/บันทึก
เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ ได้รับบริจาคมาจาก วัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
เลขทะเบียน : นพ.บ.276/1กห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 62 หน้า ; 4 x 51 ซ.ม. : ชาดทึบ-ล่องชาด ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 118 (240-247) ผูก 1ก (2565)หัวเรื่อง : อภิธมฺมสงฺเขป(อภิธรรมรวม)--เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรชาวจังหวัดนครนายกหลายครั้งซึ่งทำให้เล็งเห็นปัญหาที่ประชาชนประสบในการขาดแคลนน้ำในการใช้สอยในฤดูแล้งตลอดจนปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรน้ำ และมีการดำเนินการตลอดจนติดตามผลอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำจนถึงการสร้างฝาย การแก้ปัญหาในระยะแรกไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจึงเกิดโครงการเขื่อนท่าด่านขึ้น เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ อนุมัติการก่อสร้างระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๔๐ - ๒๕๔๖ ในวงเงิน ๑๐,๑๙๓ ล้านบาท เริ่มดำเนินงานก่อสร้างในวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ความเป็นมาของการสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลตามลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดดังนี้ ๑. วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศคลองท่าด่าน และพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างฝายท่าด่าน ๒. วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าการก่อสร้างฝายท่าด่าน และมีพระราชปฏิสันถารกับข้าราชการกรมชลประทานเกี่ยวกับการจัดสร้างระบบชลประทาน ๓. พ.ศ. ๒๕๒๓ ฝายท่าด่านก่อสร้างแล้วเสร็จ ๔. วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก ๕. พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๓ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๔ ปราจีนบุรี กรมศิลปากร ดำเนินงานทางด้านโบราณคดีีก่อนการสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน ๖. กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ กรมชลประทานดำเนินการสำรวจและออกแบบเขื่อนคลองท่าด่านแล้วเสร็จ ๗. วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๘. ตุลาคม ๒๕๔๗ งานก่อสร้างเขื่อนหลักและอาคารประกอบแล้วเสร็จสมบูรณ์ และเริ่มเก็บกักน้ำ ๙. วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนาม “เขื่อนขุนด่านปราการชล” หมายถึงเขื่อนซึ่งเป็นกำเเพงกั้นน้ำ ๑๐. วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการชลประทาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๕ โครงการ ณ บริเวณท่าเรือกรมชลประทาน สามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร----------------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์