ยอดสถูปดินเผาจากเขาขาว : หลักฐานพุทธศาสนาสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในสตูล

"สถูปดินเผา" ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พบได้ตามแหล่งโบราณคดีหรือโบราณสถานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และแหล่งโบราณคดีสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวในจังหวัดสตูล นั่นก็คือแหล่งโบราณคดีเขาขาว
เขาขาว
           ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ บ้านหาญ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีลักษณะ เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่วางตัวยาวตามแนวแกนทิศเหนือ – ทิศใต้ และมีคลองละงูไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านทิศใต้ของเขาขาวเป็นที่ตั้งของเพิงผาขนาดใหญ่ ด้านหน้าเพิงผาเดิมที่ทางเดินแคบๆสำหรับสัญจรผ่านไปมาได้ จนกระทั่งพ.ศ.๒๕๕๑ จึงมีการขยายทางหลวงสายบ้านโกตา-บ้านหาญ ส่งผลให้พื้นที่เพิงผาสูญหายไปส่วนหนึ่ง
ยอดสถูปดินเผาที่เขาขาว
          การสำรวจทางโบราณคดีในพ.ศ.๒๕๕๑ ทำให้ได้พบหลักฐานสำคัญคือ “ยอดสถูปดินเผา” เนื้อดินสีเทา-สีส้ม สถูปเหล่านี้ในสภาพสมบูรณ์สามารถถอดประกอบได้เป็นหลายส่วน โดยส่วนประกอบหลักได้แก่ ฐาน ลำตัว ฉัตรวลี(ปล้องไฉน) และส่วนยอด ทั้งนี้สถูปดินเผาในลักษณะนี้มีการค้นพบในโบราณสถานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์หลายแห่งเช่น เมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ถ้ำศิลป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โคกทอง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา นาพละ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เขาคุรำ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง บ้านพญาขันธ์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง และเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยอาจกำหนดอายุย้อนกลับไปได้ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘
สถูปดินเผาสร้างเพื่ออะไร
          การสร้างสถูปเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำบุญทำกุศลตามความนิยมในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน โดยเชื่อว่าผลบุญที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดใหม่ในแดนสุขาวดีไปจนถึงการมีอายุวัฒนะและเข้าถึงการรู้แจ้ง ดังคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรระบุไว้ตอนหนึ่งว่า "...ผู้ใดสร้างสถูป แม้แต่เด็กชายเล็กๆ ผู้เพียงช่วยขนทรายด้วยจิตใจมุ่งมั่นที่จะอุทิศถวายแด่พระชินพุทธเจ้า ผู้นั้นย่อมบรรลุความรู้แจ้ง..."
          นอกจากนี้การสร้างสถูปยังนับเข้าอยู่ในการสร้าง “อุเทสิกเจดีย์” เพื่อถวายในพุทธศาสนา แต่ที่ปรากฏการสร้างในลักษณะของสถูปซึ่งมีขนาดเล็กนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานข้อสังเกตไว้ในพระนิพนธ์ "ตำนานพระพุทธเจดีย์" ตอนหนึ่งว่า "...แต่สังเกตพระสถูปที่สร้างกันตามนานาประเทศภายนอกอินเดีย ยังถือเป็นคติต่างกัน ประเทศที่ถือลัทธิหินยาน เช่นลังกา พม่า มอญ ไทย มักสร้างพระสถูปเป็นธาตุเจดีย์ บางทีใหญ่โต แต่ฝ่ายประเทศที่ถือลัทธิมหายาน เช่นทิเบต จีน ญี่ปุ่น (แม้ชวาและขอมโบราณ) มักสร้างพระสถูปเป็นอุเทสิกะเจดีย์อย่างเป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนา ไม่ขวนขวายในข้อที่จะทำให้ใหญ่โต...”










---------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1372851239719702&id=461661324172036

(จำนวนผู้เข้าชม 2196 ครั้ง)