"เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ” เหรียญโบราณที่พบในแหล่งโบราณคดีภาคใต้ของไทย
"เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ”
เหรียญโบราณที่พบในแหล่งโบราณคดีภาคใต้ของไทย
ภาคใต้ของไทยมีการค้นพบเหรียญโบราณที่มีรูปสัญลักษณ์มงคลของอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็น “เงินตรา” หรือเป็น “สื่อกลาง” ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทางการค้าในสมัยโบราณ โดยพบมากบริเวณเมืองท่าและเมืองโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดีย เช่น แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งโบราณคดีคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแหล่งโบราณคดีทุ่งตึก จังหวัดพังงา
สำหรับเหรียญที่นำมากล่าวถึงในองค์ความรู้ชุดนี้ คือ “เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ” พบที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลมแบน ทำจากโลหะเงิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย ๓ เซนติเมตร พบทั้งเหรียญที่มีสภาพสมบูรณ์ และเหรียญที่มีการตัดแบ่งออกเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ (สองส่วนและสี่ส่วน) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการตัดแบ่งเหรียญเพื่อให้เป็นหน่วยย่อยในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปพระอาทิตย์ มีเส้นรอบวงและลายไข่ปลาล้อมรอบ ส่วนด้านหลังของเหรียญเป็นรูปศรีวัตสะ และมีสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลล้อมรอบ ประกอบด้วย ฑมรุ (กลอง ๒ หน้า) สวัสดิกะ พระจันทร์ และพระอาทิตย์
รูปพระอาทิตย์ และศรีวัตสะ เป็นสัญลักษณ์มงคลตามคติความเชื่อของชาวอินเดีย มีการศึกษาพบว่าสัญลักษณ์ที่มักปรากฏบนเหรียญโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์ ศรีวัตสะ สังข์ และวัวมีโหนก ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์ของมงคล ๘ ประการ (อัษฏมงคล) และกลุ่มสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการ (อัฏฐุตตรสตะมงคล) ของอินเดีย และเป็นสัญลักษณ์ที่เคยปรากฏมาก่อนบนเหรียญและตราประทับของกษัตริย์อินเดียสมัยราชวงศ์สาตวาหนะ (พุทธศตวรรษที่ ๕ - ๘) สมัยราชวงศ์คุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๑) และสมัยราชวงศ์ปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔)
ความหมายของสัญลักษณ์รูป “พระอาทิตย์” (Rising Sun) ที่ปรากฏบนเหรียญ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความเป็นมงคล ซึ่งการบูชาพระอาทิตย์ในฐานะเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และพืชพันธ์ธัญญาหารมีมาอย่างยาวนานในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอินเดียสัญลักษณ์รูปพระอาทิตย์จะพบมากบนเหรียญประเภทเหรียญตอกลาย (punch-marked coins) ของกษัตริย์อินเดียโบราณ โดยมักปรากฏอยู่ด้านหน้าของเหรียญ ส่วนสัญลักษณ์รูป “ศรีวัตสะ” (Srivatsa) แปลตามรูปศัพท์ว่า “ที่ประทับของศรี” เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศรีหรือลักษมีในรูปคชลักษมีหรืออภิเษกของศรี ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง มีการสันนิษฐานว่ารูปศรีวัตสะที่ปรากฏอยู่ด้านหลังของเหรียญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบมาจากรูปศรีวัตสะที่ปรากฏบนเหรียญของกษัตริย์อินเดียราชวงศ์ศาสวาหนะ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๔-๘) ต่อมาเมื่อรูปศรีวัตสะมาปรากฏบนเหรียญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งผลิตโดยกษัตริย์ท้องถิ่น จึงมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดรอบศรีวัตสะทำให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สำหรับสัญลักษณ์ที่ล้อมรอบศรีวัตสะ ได้แก่ ฑมรุ (กลอง ๒ หน้า) มีความหมายสื่อถึงการสร้างโลก และเป็นสัญลักษณ์ที่มักปรากฏอยู่ในพระหัตถ์ของพระศิวะ ส่วนสัญลักษณ์รูปสวัสดิกะ ถือเป็นหนึ่งในอัษฏมงคล ในพระราชพิธีราชาภิเษก
จากการศึกษาพบว่า เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ พบที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชดังกล่าวมานี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเหรียญเงินรูปพระอาทิตย์ - ศรีวัตสะที่พบแพร่หลายในเมืองโบราณสมัยทวารวดีเกือบทุกแหล่งในทางภาคกลางของไทย เช่น เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม และบ้านเมืองอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม เมืองไบถาโน เมืองศรีเกษตร และเมืองฮาลิน ประเทศพม่า ส่วนในภาคใต้ของไทยพบเหรียญลักษณะเดียวกันนี้ เช่น แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่น่าสนใจคือพบว่ามีการค้นพบแม่พิมพ์เหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ (และแม่พิมพ์รูปสังข์ – ศรีวัตสะ) ในเมืองโบราณสมัยทวารดีในภาคกลางของประเทศไทย เช่น เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ จึงมีการสันนิษฐานว่าเหรียญดังกล่าวน่าจะมีการผลิตขึ้นเองในรัฐทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย โดยนำเอาสัญลักษณ์มงคลตามความเชื่อของอินเดีย ซึ่งสื่อความหมายถึงความเป็นมงคล ความอุดมสมบูรณ์ และพระราชอำนาจของกษัตริย์มาใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการผลิตเหรียญสำหรับใช้เป็นเงินตรา เพื่อที่จะควบคุมค่าเงินในการค้าขายกับชุมชนภายนอก
ดังนั้น การค้นพบเหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ ที่บ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างระหว่างผู้คนในชุมชนโบราณภาคใต้ กับรัฐทวารวดีทางภาคกลางของไทย รวมถึงบ้านเมืองอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันเหรียญพระอาทิตย์ – ศรีวัตสะ จากบ้านทุ่งน้ำเค็ม อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังกล่าว เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
เรียบเรียง/กราฟิก: นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
อ้างอิง
๑.ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์. เหรียญกษาปณ์ในประเทศไทย .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๑๖.
๒.ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒.
๓.อนันต์ โพธิ์กลิ่นกลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี,” วิทยานิพนธ์ระดับปริญญามหาบัณฑิตสาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.
๔.J.Allan. Catalogue of Coins of Ancient India in the British Museum. New Delhi : Oriental Book Reprint Coration, ๑๙๗๕.
๕.Kiran Thaplyal. Studies in Ancient India Seals . Lucknow : Prem Printing Press, ๑๙๗๒.
ดาวน์โหลดไฟล์: ศรีวัตสะ1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ศรีวัตสะ2.png
ดาวน์โหลดไฟล์: ศรีวัตสะ3.png
ดาวน์โหลดไฟล์: ศรีวัตสะ4.png
ดาวน์โหลดไฟล์: ศรีวัตสะ5.png
(จำนวนผู้เข้าชม 6476 ครั้ง)