ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,399 รายการ

          หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เรื่อง "๙๐ วัสสา ผืนป่าห่มหล้า ผืนผ้าห่มเมือง" ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕           สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยความมุมานะ ตรากตรำพระวรกายเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ด้วยมีพระราชประสงค์รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และพระราชทานพระราชดำริให้จัดทำโครงการพัฒนาที่หลากหลาย ให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์และยั่งยืน     หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมของไทย และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงงานด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย            นิทรรศการมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องในพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นำเสนอเนื้อหา ๙ หัวข้อ ได้แก่ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระมหากรุณาธิคุณแผ่ผืนหล้า ทรงพระเมตตาประชาประจักษ์ สองพระหัตถ์โอบอุ้มผืนพสุธา อนุรักษ์พัฒนาผืนผ้าไทย นำพัสตราไทยแผ่ไกลทั่วแดนดิน พัฒนาศาสตร์ศิลป์ภูมิปัญญา ทรงรักษาคุณค่ามรดกชาติ และนำราษฎร์รุ่งเรืองพัฒนาชีวิต รวมทั้งจัดแสดงลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ๕ จังหวัด ได้แก่ ลายหงส์ในโคม จังหวัดเชียงใหม่, ผ้ายก ลายดอกพิกุล จังหวัดลำพูน,   ลายเชียงแสนหงส์ดำ จังหวัดเชียงราย, ลายเอื้องแซะ ราชินีกล้วยไม้หอมแห่งเมืองสามหมอกจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ ลายละกอนไส้หมู จังหวัดลำปางลายหงส์ในโคม ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ผ้ายก ลายดอกพิกุล ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดลำพูนลายเชียงแสนหงส์ดำ ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงรายลายเอื้องแซะ ราชินีกล้วยไม้หอมแห่งเมืองสามหมอก ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนลายละกอนใส้หมู่ ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดลำปาง   ประชาชนที่สนใจเข้าชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ "๙๐ วัสสา ผืนป่าห่มหล้า ผืนผ้าห่มเมือง" สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามประกาศทางราชการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ทั้งนี้ ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้รับของที่ระลึกเป็นต้นไม้มงคล ท่านละ ๑ ต้น สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๕๓๒๘ ๑๔๒๔ ในวันและเวลาราชการ


      สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว)       นายห่วง มงคล ขุดได้ที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอบางโพธิ์ (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองอุตรดิตถ์) จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งมาให้พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องก่อนประวัติศาสตร์ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร        กลองมโหระทึก สัมฤทธิ์ รูปทรงกลองแบ่งออกเป็นสามส่วนอย่างชัดเจน ส่วนหน้ากลองผายออกแล้วสอบลง กึ่งกลางหน้ากลองเป็นลายดาวหรือดวงอาทิตย์ ๑๐ แฉก ล้อมรอบด้วยเส้นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ช่องว่างแต่ละชั้นมีลวดลายประดับ คือ ลายบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนก ลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา และลายซี่หวี ตามลำดับ ขอบหน้ากลองประดับหอยโข่งสัมฤทธิ์ ๔ ตัว ส่วนตัวกลองทรงกระบอก ตกแต่งผิวเป็นลายซี่หวีและลายวงกลม หูกลองตกแต่งลวดลายคล้ายลายรวงข้าว ติดเป็นคู่อยู่ ๔ ด้านของกลอง และส่วนฐานกลองผายออก เรียบไม่มีลวดลายใด ๆ        รูปทรงและลวดลายของกลองมโหระทึกใบนี้จัดอยู่ในประเภทกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I)* ซึ่งกำหนดอายุได้ตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สันนิษฐานว่ากลองมโหระทึกใช้ตีประโคมในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์และความตาย กล่าวคือหอยโข่งที่ประดับอยู่บนขอบกลองนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ โดยหอยโข่งเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ เช่นเดียวกับกบหรือคางคกซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำหรือฝน ขณะเดียวกันรูปบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนก สะท้อนถึงการแต่งกายสำหรับประกอบพิธีกรรม หรือสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่ทางสังคมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ลายนกที่บินวนรอบดวงอาทิตย์หรือลายแฉกกึ่งกลางกลองนั้น ยังเป็นลวดลายหลักของกลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son Culture) ทางเวียดนาม        แม้กลองมโหระทึกประดับหอยสัมฤทธิ์ที่หน้ากลองจะไม่พบอย่างแพร่หลายมากนัก แต่ยังมีชิ้นส่วนหน้ากลองมโหระทึกประดับหอยโข่งอีกชิ้นเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต ในทางตรงกันข้ามมีกลองมโหระทึกอีกหลายใบที่ด้านข้างตัวกลองประดับหอยโข่งสัมฤทธิ์ร่วมกับสัตว์อื่น  แมลง ช้าง เป็นต้น มีตัวอย่างคือ กลองมโหระทึกประเภท เฮเกอร์ ๓ (Heger III) ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์       สำหรับพื้นที่ที่มีการขุดพบกลองมโหระทึกใบนี้ พร้อมทั้งโบราณวัตถุสัมฤทธิ์ต่าง ๆ มีประวัติกล่าวว่าขุดพบที่ม่อน (หรือเนินเขาเตี้ย ๆ) บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลจังหวัดอุตรดิตถ์ และวัดเกษมจิตตาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งต่อมาได้นำไปจัดแสดงในงานประจำปีวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตำบลทุ่งยั้ง ครั้นเมื่อทางราชการได้ไปตรวจพบจึงได้อายัดและส่งเข้ามาที่กรุงเทพฯ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐          *การกำหนดรูปแบบกลองตามความเห็นของ Franz Heger ที่กำหนดกลองมโหระทึกไว้ ๔ ประเภท คือ เฮเกอร์ ๑-๔ (Heger I - IV) โดยกำหนดให้กลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I) เป็นรูปแบบเก่าที่สุดในบรรดากลองมโหระทึกทั้ง ๔ ประเภท   อ้างอิง พิเชฐ สายพันธ์. มานุษยวิทยาอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๖๔. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี: ไทยภุมิ พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๕. เมธินี จิระวัฒนา. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๖. “แจ้งความราชบัณฑิยสภา.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๔๔ ตอน ๐ง (วันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๗๐): ๓๙๑๗.


          ลาวโซ่ง ลาวทรงดำ หรือ ไทยทรงดำ เป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สิบสองจุไทย หรือ เมืองแถง อยู่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม และถูกกวาดต้อนเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มชาวลาวโซ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันกลุ่มชาวลาวโซ่งมีการเคลื่อนย้ายและตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น           เรือนลาวโซ่งทำจากวัสดุธรรมชาติ เป็นเรือนมีใต้ถุนสูง ตัวเสาเรือนทำจากไม้เนื้อแข็งทั้งต้นที่มีง่ามสำหรับวางคาน พื้นบ้านใช้ไม้กระดานหรือใช้ฟากที่ทำจากไม้ไผ่ทุบเป็นแผ่นแล้วปูแผ่ หลังคามุงด้วยหน้าแฝกด้านหน้าและด้านหลังเป็นทรงโค้งมาเสมอกับชายคา และลาดต่ำคลุมลงมาถึงพื้นเรือนรอบผนังบ้านทุกด้าน ยอดจั่วประดับไม้แกะสลักคล้ายเขากวางไขว้ เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนลาวโซ่ง เนื่องจากถิ่นฐานเดิมของลาวโซ่งอยู่ในเขตหนาวมาก่อน การทำผนังลาดต่ำจึงช่วยป้องกันลมหนาวได้           การแบ่งพื้นที่การใช้งานภายในบ้าน บริเวณใต้ถุนบ้านใช้สำหรับเป็นพื้นที่ทอผ้า ตำข้าว สีข้าว เลี้ยงหมู เก็บเครื่องใช้ในการทำนาและจับปลา มีบันไดขึ้นที่ทางชานหน้าบ้าน มีผนังด้านสกัดกั้นภายในบ้านกับชานบ้าน ภายในบ้านไม่มีการกั้นห้องแต่มีการแบ่งพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร รับประทานอาหาร และที่นอน มุมของเสาบ้านเป็นที่เซ่นไหว้ผีเรือนทุกวันที่ ๕ และ ๑๐ วัน เรียกว่า “ปาดตง” โดยมีขันน้ำและชามข้าววางอยู่           สิ่งสำคัญที่คู่กับเรือนลาวโซ่งคือ ยุ้งข้าว สำหรับเก็บข้าวเปลือก ซึ่งมีขนาดและรูปทรงคล้ายตัวบ้าน อาจมีสะพานทอดเดินถึงกันได้ และที่สำคัญคือ มีฝาผนังที่สามารถเปิดเพื่อขนข้าวได้ มีพื้นสูงกว่าพื้นเรือน อาจเป็นเพราะชาวลาวโซ่งถือว่าข้าวมีพระแม่โพสพ ต้องเทิดทูนไว้ให้สูงกว่าบ้าน           ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นที่ตั้งของเรือนลาวโซ่งที่มีความสมบูรณ์ เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนชาติพันธุ์ลาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) อย่างแท้จริง จำนวน ๒ หลัง ได้แก่ เรือนผู้ท้าว ซึ่งเป็นเรือนหลักสำหรับพักอาศัยและประกอบพิธีกรรม และเรือนยุ้งข้าว นอกจากนั้นยังจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี และความเชื่อของชาวลาวโซ่ง อีกด้วย ------------------------------------------------------------ เอกสารอ้างอิง บังอร ปิยพันธุ์. ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๑. ธิดา ชมพูนิช. การศึกษาศิลปหัตถกรรมไทยโซ่งในจังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครปฐม, ๒๕๓๙. ------------------------------------------------------------- ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง https://www.facebook.com/153378118193282/posts/1831062817091462/  


#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านเรื่อง "ซิ่นลายน้ำไหล"จัดทำโดยนางสาวปุณธิฌา ประสาสน์ศักดิ์ นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จันทบุรี เสนอองค์ความรู้เรื่อง "เตาเชิงกราน"




องค์ความรู้ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี เรื่อง โกลนหน้าบันอิฐ ร่องรอยปูนปั้น ณ ปราสาทบ้านเบญจ์ จ.อุบลราชธานี ผู้เรียบเรียง: นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 149/2เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 178/6ฆเอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)



ชื่อเรื่อง : เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมสนิท กฤดากร ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ 6 มีนาคม พุทธศักราช 2510 ชื่อผู้แต่ง : จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ ปีที่พิมพ์ : 2510สถานที่พิมพ์ : พระนคร สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์กรมสรรพสามิต จำนวนหน้า : 114 หน้า สาระสังเขป : หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ กฤดากร ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง วันที่ 6 มีนาคม พุทธศักราช 2510 เรื่องราวในหนังสือเริ่มจากนายทรงอานุภาพ เขียนจดหมายเล่าเรื่องประพาสต้นไว้ 8 ฉบับ และพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้น ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม รศ. 125 เสด็จเรือจากกรุงเทพ ประทับแรมบ้านดงตาล เกาะลอย ศาลาลอย บ้านเสาไห้ เมืองสระบุรี บางปะอิน เมืองอ่างทอง เมืองสิงห์ อำเภอสรรพยา นครสวรรค์ เมืองขานุ กำแพงเพชร จนถึงวันที่ 29 สิงหาคม ร.ศ. 125


         พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “โกลิวิโส” จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง          พระพิมพ์พระสาวกมีจารึก “โกลิวิโส” พบร่วมกับพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกองค์อื่น ๆ รวม ๗ องค์ จากการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข ๑๑ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง          พระพิมพ์พระสาวก กว้าง ๕.๗ เซนติเมตร สูง ๖ เซนติเมตร ส่วนเศียรชำรุดหักหายไป หากมีสภาพสมบูรณ์สันนิษฐานว่ามีรูปแบบศิลปกรรมเหมือนพระพิมพ์พระสาวกองค์อื่น ๆ ที่พบร่วมกัน กล่าวคือ มีเศียรเรียบไม่มีอุษณีษะและเม็ดพระศกเหมือนพระพุทธรูป มีพักตร์กลม ขนงต่อกันเป็นปีกกา เนตรเหลือบต่ำ นาสิกใหญ่ โอษฐ์แบะ ครองจีวรเรียบห่มเฉียงเปิดอังสาขวา หัตถ์ทั้งสองประสานกันในท่าสมาธิ นั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานหน้ากระดานเรียบ มีแผ่นหลังรูปสามเหลี่ยมปลายมน ด้านหลังพระพิมพ์แบนเรียบ มีจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี จำนวน ๑ บรรทัด ความว่า “โกลิวิโส” กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว           นักวิชาการเสนอว่าจารึก “โกลิวิโส” มาจากนาม “โสโณ โกฬิวิโส” หมายถึง พระโสณโกฬิวิสะ ซึ่งเป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศด้านความเพียร เมื่อคราวบำเพ็ญเพียรก็กระทำเกินความพอดี คือเดินจงกรมจนเท้าแตก เมื่อเดินไม่ได้จึงคลาน เมื่อคลานจนเข่าแตก มือแตกแต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุอรหันต์ได้จนคิดสึกเป็นคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้บำเพ็ญเพียรแต่พอดี โดยเปรียบเทียบกับสายพิณที่ขึงตึงเกินไป หย่อนเกินไป และตึงพอดี พระโสณโกฬิวิสะจึงได้บำเพ็ญเพียรแต่พอดีจนบรรลุเป็นพระอรหันต์          พระโสณโกฬิวิสะ ยังเป็นหนึ่งใน “พระอสีติมหาสาวก” ซึ่งหมายถึงพระสาวกสำคัญจำนวน ๘๐ รูป ของพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ภาษาบาลีของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เช่นเดียวกันกับพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกองค์อื่นที่พบร่วมกัน ได้แก่ พระสารีบุตร พระมหากัสสปะ หรือ พระมหากัจจายนะ พระกังขาเรวตะ และพระปุณณสุนาปรันตะ การพบพระพิมพ์พระสาวกมีจารึกเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงคติการนับถือพระอสีติมหาสาวกในสมัยทวารวดี ซึ่งในปัจจุบันมีหลักฐานว่าพบเพียงที่เมืองโบราณอู่ทองเท่านั้น จึงอาจเป็นคติที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นก็เป็นได้   เอกสารอ้างอิง จิรัสสา คชาชีวะ. “คำ “เมตเตยยะ” ที่เก่าที่สุดที่ได้พบจากหลักฐานประเภทจารึกในประเทศไทย”. ดำรงวิชาการ ๒, ๓ (มกราคม - มิถุนายน ๒๕๔๖) : ๒๙ - ๓๘. ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่าจีน :  กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัย ประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.  ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ. “จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะ พบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี.” ใน เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา เรื่อง ความก้าวหน้าใน การศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี. โรงแรมสองพันบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี,  ๒๔ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๖. ปัญญา ใช้บางยาง. ๘๐ พระอรหันต์ (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, ๒๕๕๒.


ชื่อเรื่อง                      ธมฺมปทวณฺณนา ธมฺมปทฏธกถา ขุทฺทกนิกายฏธกถา                                    (ธมฺมปทขั้นต้น, คาถาธมฺมปท) อย.บ.                        244/1หมวดหมู่                   พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ             122 หน้า กว้าง 4.9 ซม. ยาว 54.3 ซม.หัวเรื่อง                       พุทธศาสนา                                                                            บทคัดย่อ/บันทึก          เป็นคัมภีร์ใบลาน ฉบับล่องชาด 


Messenger