ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,399 รายการ


          ... กล่าวกันว่าการกินหมากอาจจะเป็นวัฒนธรรมที่ไทยรับมาจากอินเดียมาช้านาน แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน จนถึงสมัยสุโขทัย ราวพุทธศตวรรษที่๑๙ จึงมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกว่า ในเมืองสุโขทัยนั้นมีป่าหมากและป่าพลู จึงเป็นไปได้ว่าชาวสุโขทัยนิยมกินหมากกันมากจนถึงกับปลูกต้นหมากและต้นพลูไว้ในเมือง ในปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อย อาจไม่รู้ว่าการกินหมากเป็นอย่างไร? หมาก ( หมาก ชื่อเรียกต้นปาล์มหลายชนิดในวงศ์ Palmae โดยเฉพาะชนิด Areca catechu Linn รสฝาด เคี้ยวกินกับปูน พลู ซึ่งรวมเรียกการกินหมาก ) ใช้เนื้อในของผลหมากสดหรือหมากตากแห้ง ใบพลู ( พลู ชื่อไม้เถาชนิด Piper betal Linn. ในวงศ์ Piperaceae มีรสเผ็ดร้อนใช้กินกับหมากและใช้ทำยาได้ ) มักใช้ใบพลูสดที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป บางทีใช้ใบพลูแห้ง หรือเรียกว่าพลูนาบ (นาบกับกระทะที่ตั้งไฟจนร้อนให้แห้ง)ปูนแดง ( ปูนแดง ปูนสุกที่ผสมกับผงขมิ้นและน้ำจะเป็นสีแดง สำหรับป้ายพลูกินหมาก )           การกินหมากอาจจะมีส่วนประกอบอื่นอีกตามความชอบของแต่ละคน เช่น การบูร สีเสียด ยาจืด ด้วยก็ได้ การกินหมากจะต้องป้ายปูนแดงลงบนใบพลูแล้วเคี้ยวไปพร้อมกับหมาก ซึ่งจะมีรสเผ็ดร้อน ผู้กินหมากเคี้ยวไปเรื่อยๆ (คล้ายเคี้ยวหมากฝรั่ง) พร้อมกับบ้วนน้ำหมากทิ้งเมื่อมีน้ำหมากมากเกินไป การกินหมากจะไม่กลืนซากหมากหรือกากหมากที่เคี้ยว แต่ต้องคายทิ้ง เมื่อหมากหมดรสแล้ว          สิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการกินหมากอีกอย่างหนึ่งคือ “เชี่ยนหมาก” เชี่ยนหมาก เป็นภาชนะสำหรับใส่เครื่องกินหมาก มีรูปแบบแตกต่างและทำด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ไม้ หวาย ย่านลิเพา ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของเข้าของ เพราะนอกจากจะเป็นภาชนะใส่เครื่องกินหมากแล้ว ในสมัยก่อนเชี่ยนหมากยังเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมหรือเจ้าของอีกด้วย          การกินหมากเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในสมัยก่อน แม้แต่พระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงในราชสำนักก็ยังกินหมากกันทั่วไป แม้ในสมัยต่อมาจะเลิกกินหมากแล้วก็ตาม เชี่ยนหมาก หรือ “พานพระขันหมาก” ก็ยังเป็นเครื่องประกอบอยู่ในเครื่องราชูปโภคที่ประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ดังที่ พระวงวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ เรื่อง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตอนหนึ่งว่า “... พานพระขันหมากสำหรับรัชกาลที่ ๑ ทรวดทรงและฝีมืองามยิ่งนัก เป็นฝีมือเอกประเภทเดียวกับ พานพระมหากฐิน และพานพระบายศรี ซึ่งเป็นชิ้นศิลปกรรมในรัชกลที่ ๑ และกล่าวกันว่าพานพระขันหมากนี้ ได้สร้างหุ่นไม้ขึ้นทดลองก่อน แต่เมื่อทรงได้ดีงามพอใจแล้ว จึงได้ลงมือทำด้วยทอง ...”          นอกจากเชี่ยนหมากจะเป็นหลักฐานการกินหมากของคนไทยแล้ว เชี่ยนหมากและอุปกรณ์การกินหมากอื่นๆ เช่น เต้าปูน กรรไกรหนีบหมาก ตลับสีผึ้ง ตะบัน สิ่งเหล่านี้ เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่แสดงให้เห็นความสามารถด้านการช่างของคนไทยในแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี----------------------------------------------------------ผู้เรียบเรียง : นางสาววารุณี วิริยะชูศรี บรรณารักษ์ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ ----------------------------------------------------------ข้อมูลอ้างอิง วิบูลย์ ลี้สุวรณ. มรดกวัฒนธรมพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 1999, 2544. เลขหมู่ 306.0899591 ว634ม



ชื่อเรื่อง                                อาการวตฺตสุตฺต (อาการวัตตสูตร) สพ.บ.                                  371/1คประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                               พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                           46 หน้า กว้าง 5 ซม. ยาว 57 ซม.หัวเรื่อง                                 พุทธศาสนา                                           เทศน์มหาชาติ                                           คาถาพัน                                           ชาดก บทคัดย่อ/บันทึก          เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ  ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี


องค์ความรู้เรื่อง : ที่มาของ "หลวงพ่อนาก"โดย : นายจตุรพร  เทียมทินกฤต.     ณ  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ที่ห้องล้านนา ตึกประพาสพิพิธภัณฑ์ ขอเชิญท่านไปชมพระพุทธรูปองค์หนึ่ง “หลวงพ่อนาก” มีความงามพุทธศิลป์เป็นศิลปะสุโขทัย มีสังฆาฏิที่ยาวจรดพระนาภี ทรวดทรงเพรียวบางแต่ได้สัดส่วน แต่พระพักตร์และท่านั่งขัดสมาธิเพชรออกไปทางศิลปะล้านนา ในการหล่อพระพุทธรูปนิยมใช้สำริด มีส่วนผสมของ ทองแดง ดีบุก ทองคำ เงิน แต่จากการหล่อหลวงพ่อนากมีการใส่ส่วนผสมของทองแดงมากกว่า สีผิวของท่านออกสีแดงเรื่อๆ อาจจะโดยความตั้งใจทำให้เป็นโลหะผสมที่เรียกกันว่า “นาก”๑ หรือกะส่วนผสมผิด แต่ออกมาเป็นพระพุทธรูปที่งดงามเป็นเอกองค์หนึ่ง ก่อนที่จะมาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ท่านมีประวัติความเป็นมาว่ามาจาก พ.ท.ปัจจุบันเป็นจังหวัดพะเยา โดยถูกนำมาจากโบราณสถานวัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุญนาค(วัดป่าแดง(บุนนาค) ดังนี้.     ก่อนอื่นต้องอธิบายสภาพโดยสังเขป “วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุญนาค” ตำบลท่าวังทอง อ.เมือง จ.พะเยา  จากหลักฐานเดิมจากประวัติวัดป่าแดงของพระราชวิสุทธิโสภณ(พระอุบาลีคุณูปมาจารย์)  วัดสองแห่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน โดยแยกจากออกจากกัน คือวัดป่าแดงหลวงดอนไชย กับวัดบุนนาค กลายเป็นวัดร้าง  จึงมีการรวมพื้นที่เข้าเป็นวัดเดียวกันและบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งภายในพื้นที่บริเวณวัดในปัจจุบันมีเนินโบราณสถานมากถึง ๒๕ เนินที่ยังไม่ได้ทำการขุดแต่งทางโบราณคดี ทางกรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๑๗๗ ประกาศวันที่ ๒๗  ตุลาคม ๒๕๔๗ พื้นที่ ๗๒ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา.     วัดป่าแดงหลวงดอนไชย ตั้งอยู่บนส่วนยอดของเนิน ปัจจุบันได้มีก่อสร้างวิหารและเจดีย์ใหม่ทับบนฐานรากเดิมโดยมีแนวแกนของวัดวางตัวตามแนวตะวันออก-ตะวันตก  เดิมเคยปรากฏแนวกำแพงล้อมรอบพื้นที่บริเวณวัด แต่ถูกรื้อทำลายจนเหลือแนวอิฐ  ส่วน วัดบุนนาค ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ห่างออกไป ๒๐๐ เมตร  ซึ่งแนวแกนของวัดกลับวางตัวตามแนวเหนือใต้ โดยองค์ประกอบสำคัญของวัดบุญนาค  ประกอบด้วยเจดีย์ประธานซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย คือมี ชั้นเขียง ๓ ชั้น (แต่ถูกซ่อมแซมไป) ที่องค์ระฆังมีมาลัยเถา ๓ ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย องค์เจดีย์และอาคารทรงจัตุรมุข ได้มีการขุดแต่งทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และบูรณะในปีพ.ศ. ๒๕๓๒.     ทางด้านทิศใต้ขององค์เจดีย์ห่างออกมาประมาณ ๓๐ เมตร มีเนินดินขนาดใหญ่ซึ่งจากประวัติเป็นสถานที่ค้นพบ จารึกหลักที่ พย.๙  ซึ่งมีข้อความ กล่าวถึง พระมหาเถรติกประหญา อารามาธิบดี วัดพญาร่วง ได้ทำบุญในปี พ.ศ. ๒๐๔๒ และอุทิศสิ่งของถวายวัด    ซึ่ง พญาร่วง หรือพระยาร่วง เป็นคำที่นิยมใช้เรียกขาน กษัตริย์ของแคว้นสุโขทัย  ซึ่งพระยาร่วง ในที่นี้(พะเยา) กล่าวจะหมายถึงใครไม่ได้ นอกจากพระเจ้ายุธิษฐิระ  ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสองแคว  (พิษณุโลก) ที่ได้ผิดใจกับพระบรมไตรโลกนาถ ได้พาผู้คนมาเข้าด้วยพระเจ้าติโลกราช ในปี ๑๙๙๔(?)  ศิลาจารึกหลักนี้ นายบุญรัตน์ ทิพย์มณี พบที่วัดบุนนาค จังหวัดพะเยา เหตุที่ได้ชื่อว่าวัดบุนนาค สันนิษฐานว่า มีต้นบุนนาคขึ้นอยู่ก่อน แต่ตำนานซึ่งเขียนในสมัยพระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา ว่าชื่อ   วัดพญาร่วง ต่อมานายบุญรัตน์ ทิพย์มณี ได้นำมามอบแก่พระโสภณธรรมมุนี (คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ)  ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๖) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ หรือหลวงพ่อใหญ่ ของชาวพะเยา ส่วนเนินดินขนาดใหญ่ที่กล่าว ต่อมาใน ปี ๒๕๔๘ ทางสำนักงานศิลปากรที่ ๗ น่าน(เดิม) ได้ทำการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี และบูรณะ ปี ๒๕๕๑.     ใน ปี ๒๔๖๐ ได้เกิดเหตุร้ายเจดีย์ประธานองค์นี้จากบันทึกของ พระครูศรีวิราชปัญญา๒ เจ้าคณะเมืองพะเยา ว่า “ใน วันพฤหัสบดีที่ ๒๙  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๖๐  ว่าพระเทพวงค์และธุเจ้าเทพ ได้ไปพบ หลักฐานจากซากหลงเหลือ จากผู้ร้ายมาลักขุดเจดีย์วัดบุนนาค มีหีบหินกว้าง ๓ ศอก ลึก ๓ ศอก พระเทพวงค์บอกได้ว่า มีการขุด วันเดือน ๑๒ ออก ๑๐ ค่ำ๓ ตรงกับวันที่เกิดเหตุ วันที่ ๒๖  สิงหาคม ๒๕๖๐ (ในขณะนั้นวัดร้างไม่มีการดูแล)   และ มีการตามจับได้ที่บ้านร้อง  อำเภองาว (อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้กว่า ๓๐ กิโลเมตร) ซึ่งมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เหลือรอดจากการถูกหลอม เป็นพระพุทธรูปโลหะผสม(สำริด แต่มีสัดส่วนทองแดงมากกว่าปรกติ)” ซึ่งต่อมาได้ยึดและจัดเก็บไว้ที่ ศาลจังหวัดเชียงราย๔. เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส เชียงราย ในปี ๒๔๖๙ อำมาตย์ตรีหลวงอดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ ผู้พิพากษาศาลเชียงรายทูลเกล้าถวาย ต่อมาได้พระราชทานให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือพระพุทธรูปที่เรียกกันว่า หลวงพ่อนาก ปรากฏ ว่ามีจารึกที่บริเวณฐานขององค์พระ กล่าวถึงพระนามของ พระเจ้ายุธิษฐิราม เป็นผู้สร้างพระพทุธรูปองค์นี้ เมื่อ มศ. ๑๓๙๘ (พ.ศ. ๒๐๑๙)  ในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าติโลกราช ได้มีความนิยมทำจารึกปีที่สร้างไว้ที่ส่วนฐาน สรุปความได้ว่า “ศักราช ๑๓๙๘ [ม.ศ. ๑๓๙๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๑๙ ] ในปีวอก เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันอาทิตย์ อุตรภัทรนักษัตร โสริยาม พระราชาผู้เป็นใหญ่ทรงพระนาม พระเจ้ายุษฐิรราม เป็นพระราชาผู้ครองเมืองอภิวทรงประสูติในวงค์ของนักรบผู้กล้าหาญเป็นเยี่ยม ทรงประกอบด้วย(ทศพิธราช) ธรรม แตกฉานพระไตรปิฏก ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทอง (สำริด) องค์นี้มีน้ำหนักสิบสี่พัน(๑๔,๐๐๐) เพื่อดำรง(พระศาสนา) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เมื่อได้สอบทานช่วงเวลานั้น พระเจ้ายุธิษฐิระ ได้มาครองเมืองพะเยาแล้ว ได้ปรากฏในจารึก ลพ ๒๔ สรุปความได้ว่า “ในปี ๘๓๖( จศ.๘๓๖-พ.ศ. ๒๐๑๗) พระเจ้าติโลกราชให้พญาสองแควเก่า มากินเมืองพะเยา มาสร้างบ้านพองเต่าให้เป็นที่อยู่”.     ถ้าท่านมีโอกาสไปเยี่ยมชม วัดบุนนาค ใต้ต้นไม้ใหญ่(มะม่วง?) อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๓๐ เมตร ของเจดีย์ประธาน ที่โคนต้นพบแผ่นปูนซีเมนต์ มีการจารข้อความ ว่า “สถานที่ตรงนี้เหล่าคนร้ายได้พากันขุดองค์พระเจดีย์และนำพระทองคำหน้าตัก ๒๐ กว่านิ้ว ๔ องค์  ทำการหลอมเพื่อเอาทองคำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ วันที่ ๒๑ สิงหาคม เวลาหลอมตอนแรกไม่ละลายจึงพากันตั้งศาลเพียงตา อธิษฐานขอเกิดเป็นคนชาติเดียว...(อักษรเลือน)” เมื่อไปตรวจสอบเอกสารพบว่า ตรงกันกับเหตุการณ์การลักลอบขุดที่วัดบุนนาค มีเพียงครั้งเดียว สิงหาคม ๒๔๖๐ ตามบันทึกว่า “วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๒๗๙ พุทธศักราช ๒๔๖๐ ตรงกับ รศ.๑๓๖ เวลาเช้า ๓ โมงเช้า(๐๙.๐๐ น.)” จึงอาจจะเป็นความสับสนวัน ปี ของผู้จาร  แต่จากข้อความ ทำให้ว่าได้ทราบสูญเสียพระพุทธรูปที่มีขนาดใกล้เคียงกับหลวงพ่อนาค ไปให้กับความโลภของมนุษย์ ถึง ๔ องค์ สันนิษฐานว่าคงจะมีพุทธศิลป์ที่งามไม่ด้อยกว่าหลวงพ่อนาก ที่หลงเหลือให้อนุชนรุ่นหลังได้ชมเชิงอรรถ๑. นาก ในที่นี้เป็นคำนาม หมายถึง โลหะผสมชนิดหนึ่ง โดยเอาทองคำ เงิน กับทองแดงผสมเข้าด้วยกัน นิยมใช้ทำรูปพรรณต่าง ๆ  เป็นวิเศษณ์ หมายถึง  เรียกสีอย่างสีทองปนแดง เช่น ชมพู่สีนาก เป็นต้น๒.พระครู วิลาสวชิรปัญญา (ปินตา ชอบจิต 2404-2487)”ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา (ในอดีตพะเยามีฐานะเป็นอำเภอหรือแขวงหนึ่งของจังหวัดเชียงราย) ระหว่าง พ.ศ. 2404-2487 นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวข่วงแก้ว วัดราชคฤห์ และเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง) มีรวบรวมเก็บไว้ที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ มีจำนวน 11 เล่ม เป็นการบันทึกประจำวัน เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพิธีกรรมศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น รวมถึงการปกครองคณะสงฆ์ ด้วยอักษรธรรมล้านนาในกระดาษฟุลสแก็ปที่เย็บเป็นเล่ม ได้มีคุณประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังเหลือคณานับ๓.นับตามปฏิทินจันทรคติล้านนา จะแตกต่างกับทางภาคกลาง(จุลศักราชไทย)  นับเร็วกว่าประมาณ ๒ เดือน๔. อำเภอพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็น จังหวัดพะเยา  แยกจาก จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520-อ้างอิง-คณะกรรมจัดทำหนังสือวัดป่าแดงบุนนาค(ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์). ตำนานพระธาตุป่าแดงหลวงดอนไชยและพระรัตนบุนนาคไชยปราการ.พะเยา,กอบคำการพิมพ์.พระธรรมวิมลโมลี.เมืองพะเยาจากตำนานและประวัติศาสตร์.พะเยา:๒๕๔๖.พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์ “ หลวงพ่อนาก พระพุทธรูปพระเจ้ายุธิษฐิระ” ศิลปากร ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-กุมภาพันธ์) ๒๕๔๖.๑๐๕-๑๑๔.สุจิตต์ วงษ์  เทศ บรรณาธิการ.(๒๕๓๘). ประชุมจารึกเมืองพะเยา. กรุงเทพฯ: บริษัทพิฆเณศ พริ้นติ้งเซ็นเตอร์. สุจิตต์ วงษ์  เทศ บรรณาธิการ.ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม เมืองพะเยา. กรุงเทพฯ: บริษัทพิฆเณศ พริ้นติ้งเซ็นเตอร์.


สมฺโพชฺฌงฺค (สติ-อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺค)  ชบ.บ.52/1-4  เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


ชื่อเรื่อง                                มาเลยฺยสุตฺต (มาลัยหมื่น) สพ.บ.                                  318/1ก ประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลาน หมวดหมู่                               พุทธศาสนา ลักษณะวัสดุ                           26 หน้า กว้าง 4.2 ซม. ยาว 54.3 ซม. หัวเรื่อง                                 พุทธศาสนา                                              บทคัดย่อ/บันทึก           เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับชาดทึบ-ลานดิบ-ล่องชาด ได้รับบริจาคมาจาก วัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี


เลขทะเบียน : นพ.บ.267/1ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 60 หน้า ; 5 x 58.5 ซ.ม. : ทองทึบ-ลานดิบ ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 116 ลาน2  (226-231) ผูก 1 (2565)หัวเรื่อง : อภิธมฺมปิฎก สงฺเขป(พระอภิธรรมรวม)--เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม






“ สถานพระนารายณ์ ” จาก สถานรวบรวมโบราณวัตถุ สู่ ศักดิ์สิทธิ์สถาน ของชาวโคราช ___________________________________ บริเวณจุดกึ่งกลางเมืองนครราชสีมา นอกจากจะเป็นจุดสูงสุดของเมืองนครราชสีมาแล้ว พื้นที่บริเวณนี้นับว่าเป็น หัวใจของเมืองอีกด้วย เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู ที่ชาวโคราชให้ความเคารพศรัทธามาอย่างยาวนาน อันได้แก่ วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) ศาลหลักเมือง และสถานพระนารายณ์ ที่จะนำมาเสนอในวันนี้ครับ . จุดเริ่มต้นของ สถานพระนารายณ์ นั้น คงเริ่มต้นจากการเป็นจุดที่ผู้คนในอดีต นำโบราณวัตถุ ประเภทชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมหินทราย อาทิ ทับหลัง ปราสาทจำลอง กรอบประตู ประติมากรรมรูปเคารพ และรูปบุคคลหินทราย ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 มารวบรวมไว้ ทางด้านทิศใต้ของคูน้ำรอบอุโบสถ วัดกลางนคร แต่จะเริ่มต้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไป จุดรวบรวมโบราณวัตถุแห่งนี้ จึงถูกขนานนามหรือเรียกชื่อใหม่ โดยยึดโยงจากรูปเคารพพระนารายณ์ที่พบ ว่า หอนารายณ์ ศาลพระนารายณ์ และสถานพระนารายณ์ ในเวลาต่อมา . จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เราเห็นว่า สถานพระนารายณ์ ถูกยกให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวโคราชให้ความสำคัญ เป็นระยะเวลาอย่างน้อยกว่า 122 ปี โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์คราวล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตร และสักการะ ณ หอนารายณ์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2443 โดยจากภาพถ่ายเก่าจะเห็นได้ว่า สถานพระนารายณ์ในอดีต ถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายไม่ถาวร กระทั่ง พ.ศ.2511 สถานพระนารายณ์ถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารถาวรดังเช่นในปัจจุบัน . ใน พ.ศ.2507 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานมหาวีรวงศ์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย สถานพระนารายณ์ ในวันนี้ จึงหลงเหลือโบราณวัตถุเพียง 2 รายการเท่านั้น ได้แก่ 1. ประติมากรรมรูปพระนารายณ์ และ 2. ประติมากรรมพระคเณศวร์ ให้ประชาชน ได้เคารพจวบจนถึงปัจจุบัน และจากการขุดค้นทางโบราณคดีใน พ.ศ. 2562 ไม่พบหลักฐาน หรือร่องรอยศาสนสถานใต้ผิวดิน จึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า โบราณวัตถุดังกล่าวถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น แต่จะเป็นที่ใดนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน . ในอนาคตอันใกล้ สถานพระนารายณ์ หลังนี้ กำลังจะถูกรื้อ และสร้างใหม่ ให้งดงาม สมเกียรติ คนโคราช โดยได้รับความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลาย พ.ศ.2565 ที่จะถึงนี้ การนำเสนอในครั้งนี้ จึงมีความตั้งใจให้ทุกท่านได้รำลึก และรู้จัก สถานพระนารายณ์ แห่งนี้ไปพร้อมกัน ครับ เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา


สวัสดีค่ะ วันนี้อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ได้นำสาระน่ารู้เรื่อง บัวยอดปราสาท ไปชมกันได้เลยค่ะ บัวยอดปราสาท บัวยอดปราสาทเป็นส่วนประดับยอดของปราสาทในศิลปะเขมร มีลักษณะกลมแป้นเป็นลอนโดยรอบ บัวยอดปราสาทมีหน้าที่รองรับชิ้นส่วนคล้ายหม้อน้ำด้านบนสุดซึ่งเรียกว่า “กลศ”(กะ-ละ-สะ) สำหรับการสร้างบัวยอดเทวสถานได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากอินเดียโบราณเรียกว่า “อมลกะ” (อะ-มะ-ละ-กะ) ซึ่งมาจากคำว่า “อมลกิ” ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “ลูกมะขามป้อม” สำหรับบัวยอดปราสาทในสถาปัตยกรรมอินเดียสันนิษฐานว่าเริ่มปรากฏครั้งแรกบนยอดเสาอโศกมหาราชในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อเข้าสู่สมัยคุปตะ(พุทธศตวรรษที่๙ - ๑๐ )บัวยอดปราสาทจึงพัฒนารูปแบบเพื่อประดับบนยอดศิขร (สิ-ขะ-ระ) หรือส่วนเรือนยอดอาคาร และรองรับหม้อน้ำกลศด้านบนอย่างแพร่หลาย โดยในคติความเชื่อของฮินดูอมลกะเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดอันบริสุทธิ์และความเป็นอมตะ สำหรับบัวยอดปราสาทของปราสาทสด๊กก๊อกธมพบทั้งหมดสองชิ้นได้แก่ - บัวยอดปราสาทชิ้นที่ ๑ ทำด้วยหินทราย ด้านบนรองรับกลศซึ่งมีการเจาะรูสี่เหลี่ยมขนาด ๒๐x๒๐ เซนติเมตร เพื่อติดตั้งตรีศูล/นพศูล ปัจจุบันอยู่บนยอดปราสาทประธาน - บัวยอดปราสาทชิ้นที่ ๒ ทำจากหินทราย สลักตกแต่งเป็นรูปกลีบดอกบัวด้านบนรองรับกลศ สันนิษฐานว่าในอดีตประดับบนยอดของซุ้มประตูโคปุระด้านตะวันออก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในอาคารศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม อ้างอิง - อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (๒๕๖๒). ทิพนิยายจากปราสาทหิน. นนทบุรี: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ : หน้า ๔๕. - กรมศิลปากร.สำนักโบราณคดี. (๒๕๕๐). ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร : หน้า ๕๕๑. - วสุ โปษยะนันทน์, อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หน้า ๔๑-๔๒,๔๕,๖๔,๘๓ - Amalaka. Accessed May 25. Available from https://en.wikipedia.org/wiki/Amalaka


เกษตรศาสตร์.  คู่มือปลูกผัก ไม้ผล ไม้ประดับ และทำสวนครัว.  พระนคร: มหารัชตะการพิมพ์, 2512.         เป็นหนังสือที่แนะนำการปลูกไม้ผลไม้ประดับและทำสวนครัวซึ่งสามารถยึดทำเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสุขสบาย ซึ่ที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการเตรียมและดูแล เช่น  จอบ คราด เสียม ช้อนปลูก สองเขาขุด เครื่องรดน้ำ ต้องเลือกสถาน วางรูปสวน เลือกเมล็ดพันธ์ ศึกษาวิธีการปลุก การบำรุง การกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว การเก็บพันธุ์ และหากส่งขายต้องเลือกตลาดให้เป็น และต้องเข้าใจว่าอย่าเก็บพันธุ์จากแปลงหรือไร่ที่ปลูกผักต่าง ๆ ปะปนกันหลายชนิดไว้ปลูก อย่าใช้เม็ดพันธุ์ที่ไม่รู้ที่มา และเก็บไว้นานเกินควรสำหรับปลูก ยาที่ใช้สำหรับกำจัดโรคผักทั่ว ๆ ไป คือยาบอโคมิกซ์เจอร์ส่วนการปลูกผลไม้นั้นต้องเข้าใจในการขยายพันธ์ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การตอน การติดตา การต่อกิ่ง  การปักชำ และก การโน้มกิ่ง  ส่วนการเตรียมดินต้องเตรียมล่วงหน้าและเลือกให้เหมาะสมกับพันธุ์และชนิดที่ปลูก


 “ภูเขาน้อย” ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง (ตอนที่ ๑) ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• ภูเขาน้อย          ภูเขาน้อยเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา หลายคนอาจรู้จักจากสื่อต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา หรือการเป็นที่ตั้งป้อมหมายเลข ๙ ป้อมปราการที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาหรือพุทธศตวรรษที่ ๒๒        แม้จะเป็นที่เข้าใจกันว่า เมืองสงขลาเริ่มต้นในสมัยของดาโต๊ะ โมกอล รุ่งเรืองในสมัยสุลต่านสุไลมาน และเปลี่ยนศูนย์กลางหลังสมัยสุลต่านมุสตาฟา แต่ทราบหรือไม่ว่า พื้นที่รอบหัวเขาแดงมีผู้คนอยู่อาศัยก่อนการก่อตั้งเมืองสงขลา หรือ “ซิงกอรา” เป็นเวลาหลายร้อยปี หลักฐานสำคัญที่จะบ่งบอก “ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวแขาแดง” ได้ คือโบราณสถานภูเขาน้อยแห่งนี้          ภูเขาน้อย เป็นภูเขาหินทรายขนาดย่อม สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๓๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเขาแดง ใกล้กับแนวคูเมือง ซึ่งเชิงเขาด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งของป้อมหมายเลข ๙ เนื่องจากภูเขาลูกนี้อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล จึงใช้เป็นจุดสังเกตสำหรับการเดินเรือมาตั้งแต่ในอดีต เอกสารทั้งแผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ อายุกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ และแผนที่เมืองสงขลา วาดโดย เดอ ลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๐ ล้วนระบุตำแหน่งของภูเขาน้อยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง          ภูเขาน้อย ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ และต่อมาได้รับประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เจดีย์เขาน้อย         บนยอดภูเขาน้อยปรากฏเจดีย์ขนาดใหญ่ ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ ๒๐ เมตร ก่อด้วยอิฐและหิน สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐาน แต่พอสังเกตได้ว่าเหนือขึ้นไปมีเจดีย์ประธานตั้งอยู่กึ่งกลาง และอาจมีเจดีย์บริวารตั้งอยู่ที่มุม หลักฐานศิลปกรรมที่พบจากการขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ กำหนดอายุของโบราณสถานได้ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีและศรีวิชัย ขณะที่เจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นหรือบูรณะใหม่ในสมัยอยุธยา แต่ลักษณะบางประการกลับคล้ายคลึงหรืออ้างอิงจากศิลปกรรมที่มีอายุก่อนหน้านั้น ผังเจดีย์เขาน้อย         ผังของเจดีย์เขาน้อยเป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเก็จนูนออกมาจากแนวระนาบของฐาน ด้านละสามเก็จ เทียบเคียงได้กับผังที่เรียกว่า ตรีรถะ (ภาษาสันสกฤต ตรี หมายถึง สาม, รถะ หมายถึง เก็จ) ประกอบด้วยเก็จประธาน ๑ เก็จอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางด้าน และ เก็จมุม ๒ เก็จ ผังนี้พบมาก่อนแล้วในสถาปัตยกรรมอินเดีย และเป็นรูปแบบที่พบร่วมกันกับวัฒนธรรมทวารวดี สังเกตได้ว่ามีเก็จที่ยื่นออกมา และส่วนผนังที่ยุบเข้าไปคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและทวารวดี มากกว่าที่พบในศิลปะเขมรและชวาภาคกลาง         อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา พบว่าฐานของเจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นงานก่อสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยา มีการต่อเติมซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละด้าน และส่วนของฐานที่ลึกเข้าไประหว่างเก็จ  ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาบด้วยประติมากรรมพระสาวก ทั้งนี้ ยังคงลักษณะผังหรือฐานที่ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย หรือสถาปัตยกรรมทวารวดี แต่ระบบฐานอาจซับซ้อนน้อยลง กลายเป็นงานแบบพื้นถิ่นที่เรียบง่ายกว่า ชิ้นส่วนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม พบที่เจดีย์เขาน้อย         การบูรณะขุดแต่งเจดีย์เขาน้อยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ พบหลักฐานศิลปกรรมที่มีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ หลายชิ้น ส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่อาจเคยประดับศาสนสถานมาก่อน โบราณวัตถุจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา มีดังต่อไปนี้         - ชิ้นส่วนศิลาแกะสลักลวดลาย (?)  แกะสลักลวดลายที่ส่วนปลายคล้ายลายพรรณพฤกษา หรือลายมกรคายพรรณพฤกษา อาจเคยเป็นส่วนปลายของกรอบหน้าบันซุ้มที่เคยประดับฐานเจดีย์ หรืออาจเป็นเท้าแขน ที่ยื่นรองรับองค์ประกอบอื่น โดยมีเดือยสำหรับเชื่อมกับโครงสร้างสถาปัตยกรรม                 - ศิลาแกะสลักลายเส้น (?) สันนิษฐานว่าเป็นอุบะหรือพวงดอกไม้ห้อยประดับบนสถาปัตยกรรม การห้อยอุบะสื่อถึงดอกไม้สวรรค์ นำมาใช้เป็นลวดลายแกะสลักเพื่อตกแต่งแทนดอกไม้สดและความเป็นมงคล ลักษณะของอุบะที่พบที่เขาน้อยมีด้วยกัน ๒ รูปแบบ คืออุบะแบบลายเส้น มีลักษณะเป็นพวงดอกไม้ที่ห้อยลงมาเป็นเส้นขีดตรง รวบส่วนปลายด้านบนเข้าด้วยกัน และอุบะลายไข่มุก ลักษณะเป็นไข่มุกที่ร้อยเป็นเส้น ส่วนปลายด้านล่างเป็นกลีบดอกไม้         - องค์ประกอบสถาปัตยกรรม (ลวดบัว?) ลวดบัว เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึง เส้นที่ประดับเป็นแนวนอนมีส่วนนูนพ้นระนาบราบของแท่น ฐาน คาดอยู่รอบสถาปัตยกรรม ชิ้นส่วนลวดบัวที่ขุดพบที่เจดีย์เขาน้อยมีทั้งที่เป็นลวดบัวลูกแก้ว (ขอบนอกโค้งมน) และแกะสลักเป็นลายกลีบบัว สันนิษฐานว่าชิ้นส่วนที่พบเป็นส่วนประกอบของฐานเจดีย์ขนาดเล็ก หากสมบูรณ์จะต่อเนื่องกันเป็นฐานกลม อาจรองรับส่วนองค์ระฆัง เมื่อประกอบกับลายกลีบบัว จึงเป็นไปได้ว่าศาสนสถานบนภูเขาน้อยจะเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา         - องค์ระฆัง หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งอาจยืนยันได้ว่าเจดีย์เขาน้อยเคยเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนามาก่อน คือ ชิ้นส่วนองค์ระฆังขนาดเล็ก ทำจากดินเผา         - แผ่นหินสลักรูปบุคคล  แผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปรากฏรูปบุคคลตั้งแต่ศีรษะถึงไหล่ สวมมงกุฎทรงกระบอก (กิรีฏมกุฎ) มีตาบหรือแผ่นสามเหลี่ยมสามแผ่น อยู่กึ่งกลางหนึ่งแผ่น และด้านข้างอีกด้านละแผ่น สันนิษฐานว่าเป็นรูปของเทวดาหรือชนชั้นสูง ทำท่าพนมมือเพื่อสักการะเจดีย์หรือสิ่งเคารพในตำแหน่งใกล้เคียงกัน โดยมงกุฎทรงกระบอกมักใช้ระบุสถานะกษัตริย์ จึงเป็นไปได้ว่ารูปบุคคลนี้ก็มีฐานะเป็นกษัตริย์เช่นกัน         - ลายเม็ดกลมสลับสี่เหลี่ยม ชิ้นส่วนศิลาแกะสลักลายเม็ดกลมหรือเม็ดพลอย สลับสี่เหลี่ยม เรียงต่อกันเป็นแถบแนวนอน ลวดลายนี้อาจนำมาจากลายบนเครื่องประดับ และใช้ตกแต่งงานสถาปัตยกรรมเพื่อความสวยงาม ทดแทนการใช้วัสดุมีค่าจริง ลวดลายดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะจนถึงสมัยปาละ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา) แล้วส่งทอดมายังศิลปะทวารวดี และศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนคร ตัวอย่างที่พบ เช่น ลายประดับต้นสาละในถ้ำฝาโถ ราชบุรี ชิ้นส่วนตกแต่งลายประดับพบที่เมืองโบราณยะรัง ปัตตานี เสาประดับกรอบประตูที่ปราสาทออกยม ปราสาทไพรปราสาท กัมพูชา เป็นต้น         - กูฑุ หรือจันทรศาลา  ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบบนภูเขาน้อย นับเป็นหลักฐานทางศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับศิลปะอินเดีย สามารถกำหนดอายุได้ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖  ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันถึงการอยู่อาศัยของผู้คนบริเวณรอบเขาแดงมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา หรือก่อนที่ดาโต๊ะ โมกอล จะก่อตั้งเมืองสงขลา โปรดติดตามตอนต่อไป... ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• เรียบเรียงข้อมูล/ ถ่ายภาพ: เจิดจ้า รุจิรัตน์ และสิทธิศักดิ์ เหล่ากำเนิด นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• เอกสารอ้างอิง : 1. เชษฐ์ ติงสัญชลี.  ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2565. 2. กรมศิลปากร.  ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล).  สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 กรมศิลปากร, 2555. 3. ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล.  ภูเขาน้อย.  เข้าถึงเมื่อ 27 เมษายน 2565.  เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/813.   4. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร.  ศัพทานุกรมโบราณคดี.  กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.   5. สันติ เล็กสุขุม.  พัฒนาการของลายไทย : กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย.  กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2553.


Messenger