ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,867 รายการ
กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ขอเชิญชมนิทรรศการ เรื่อง “ตามรอยพระศาสดาและพุทธสถานในอินเดีย” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม - ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
นิทรรศการ “ตามรอยพระศาสดาและพุทธสถานในอินเดีย” The Buddhist Exhibition “Buddha Carika – in Footsteps of Buddha” จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมประชาสัมพันธ์การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ประดิษฐาน ณ จังหวัดอุบลราชธานี ตามความร่วมมือของรัฐบาลไทยและอินเดีย และเป็นความร่วมมือทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงพระพุทธศาสนา (Buddhism Diplomacy) ระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี และ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาเมืองคู่มิตรระหว่างกันต่อไป โดยจัดแสดงภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวพระพุทธประวัติจากโบราณสถานในอินเดีย พร้อมรับหนังสือนิทานชาดกที่ระลึกสำหรับเด็กและเยาวชนฟรี
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการนี้ได้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เปิดวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ขอเชิญฟังการเสวนาทางวิชาการ "สุดยอดการค้นพบใหม่" ในทศวรรษที่ผ่านมาของกรมศิลปากร ในหัวข้อ “แหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ จังหวัดมุกดาหาร แหล่งผลิตกลองมโหระทึกสำคัญในประเทศไทย” โดยวิทยากร นายสมเดช ลีลามโนธรรม นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ นางสาวเชาวนี เหล็กกล้า หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี และนางสาวเมริกา สงวนวงษ์ นักโบราณคดีชำนาญการ ดำเนินรายการโดย นางสาวสิริภา เจริญเขต ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 16.00 - 18.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมฟังการเสวนาได้โดยการแสกน QR Code หรือกดตามลิ้งนี้ ลงทะเบียน สอบถามเพิ่มเติมได้ทาง Facebook : สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี หรือ โทร. 0 4531 2845
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะคณะอนุกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น ได้แจ้งให้กรมศิลปากรดำเนินการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เสียสละและอุทิศตนสร้างประโยชน์แก่ทางราชการและประเทศชาติ สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นเกียรติประวัติในการทำงาน โดยพิจารณาคัดเลือกให้เป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นจะได้รับเข็มเชิดชูเกียรติ เกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติ และได้รับบันทึกประวัติในหนังสือที่ระลึกข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖
คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่นและผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในสังกัดกรมศิลปากร ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้พิจารณาและมีมติคัดเลือกฯ เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้แก่
๑. นางสาวมนัชญา วาจก์วิศุทธิ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ตำแหน่งสถาปนิกชำนาญการพิเศษ สำนักสถาปัตยกรรม
๒. นางสาวพิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ตำแหน่งนักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กองโบราณคดี
วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม
-------------------------
ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้ ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา
ซึ่งผลิดอกออกผลแต่ต้นมา รวมเรียกว่าวรรณคดีไทย
อนึ่งศิลปงามเด่นเป็นของชาติ เช่นปราสาทปรางค์ทองอันผ่องใส
อีกดนตรีรำร่ายลวดลายไทย อวดโลกได้ไทยแท้อย่างแน่นอน
...
ได้รู้เช่นเห็นชัดสมบัติชาติ เหลือประหลาดล้วนเห็นเป็นศักดิ์ศรี
ล้วนไทยแท้ไทยแน่ไทยเรามี สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรม
บทประพันธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ปูชนียบุคคลของไทยและบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม (วรรณคดี) และการสื่อสารนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยในฐานะวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจประการหนึ่งของไทยและเป็นสมบัติชาติที่สืบต่อมาแต่บรรพชน โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บูรพกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นอักษรไทย เมื่อพุทธศักราช 1826 ดังปรากฏหลักฐานในจารึกพ่อขุนรามคำแหงหรือศิลาจารึกหลักที่ 1 มรดกล้ำค่าของชาติ ซึ่งองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ด้วย
ในอดีต เด็กไทยมักเล่าเรียนเขียนอ่านกับพระสงฆ์ที่วัด จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาและมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรรู้หนังสือถ้วนหน้าเพื่อพัฒนาตนเองตลอดจนชาติบ้านเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั้งในพระนครและหัวเมืองเพื่อขยายการศึกษาให้ทั่วถึง อีกทั้งให้บรรดาขุนนางนักปราชญ์แต่งตำราวิชาการต่าง ๆ สำหรับกุลบุตรไว้ศึกษาเล่าเรียน เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมการศึกษาพระองค์แรก นิพนธ์แบบเรียนเร็วสำหรับสอนอ่าน เขียน และแต่งหนังสือ ซึ่งได้ใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยในโรงเรียนหลวง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งตำราปกีรณำพจนาดถ์และอนันตวิภาค การศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยจึงได้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางในหมู่ราษฎรนับแต่นั้นมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงร่วมอภิปรายปัญหาการใช้คำไทยกับผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทยของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ ความสนพระราชหฤทัย และความห่วงใยในภาษาไทย ด้วยเหตุนี้ ในวโรกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในพุทธศักราช 2542 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และธำรงภาษาไทยอันเป็นภาษาของชาติไว้ให้ยั่งยืนสืบไป
เรียบเรียงโดย นางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
-------------------------
อ้างอิง
คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติในโอกาส 100 ปี แห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในความทรงจำแห่งโลก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2554.
ณัฏฐา กล้าหาญ และพุธิตา ขำบุญลือ. 2565. “มรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย.” ใน พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ. บรรณาธิการ. 111 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 41 - 50.
ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันภาษาไทยแห่งชาติ. เล่ม 116 ตอนที่ 67 ง หน้า 12. 24 สิงหาคม 2542.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ.2/1 เรื่อง พระบรมราชโองการ เรื่องตั้งโรงเรียนในกรุงและหัวเมือง (ม.ท.)
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารเย็บเล่มชุดหนังสือกราบบังคมทูล ร.5 รล.-นก เล่ม 6/26 เรื่องพระศรีสุนทรโวหาร น้อมเกล้าถวายต้นฉบับหนังสือเรียนตัวสะกดคำกลอน เพื่อทรงพิจารณาให้โรงพิมพ์หลวงจัดพิมพ์ (จ.ศ. 1241)
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สบ.5.26/1 เรื่อง ปรู๊ฟคำประพันธ์ร้อยเรื่อง (พ.ศ. 2461 - 2505)
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ 002 หวญ 5/33(12) ภาพพระกับลูกศิษย์
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพที่อัดจากฟิล์มกระจกผนึกบนกระดาษแข็ง (ภาพเม้าท์) 10M/27 ภาพพระองค์เจ้าชายดิศวรกุมาร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. 2405 - 2486) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาชุ่ม โรจนดิศ ต้นสกุล ดิศกุล
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ฉ/จ/1629 ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ฉ/จ/13331 ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีพนมหมากและพนมดอกไม้วางสักการะอยู่ที่แท่นฐาน ในงานฉลองลายสือไทย ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย วันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2526
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพส่วนบุคคล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ภ สบ10.1/1 ภาพหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ใส่ชุดสากล
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพอัลบั้มชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภอ 001 หวญ 14/7 ภาพพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง "วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ 6 เมษายน”
วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตรงกับวันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า วันจักรี นั้น สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชดำริว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมรูปทั้ง 4 รัชกาลนั้น ประดิษฐานเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ สำหรับถวายบังคมสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีพระชนมพรรษา
ครั้นถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสืบราชสันติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง 4 รัชกาลนั้น ต่อมาทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง 5 รัชกาล พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร โดยทรงคำนึงถึงอนุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร ได้รับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์(ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล
ครั้นถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561 (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ประกาศพระบรมราชโองการให้มีการกราบ ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเป็นการ ประจำปีกำหนดในวันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบไป
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร
ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีประดิษฐาน พระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมทนต์พระสุพรรณบัฎจารึกพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุที่เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูป เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2470
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า ในปี 2475 อายุพระนครจะบรรจบครบ 150 ปี สมควรมีการสมโภชและสร้างสิ่งสำคัญ เป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฎแก่อารยชนในนานาประเทศว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพฯเป็นราชธานี แล้วบำรุงรักษาประเทศ ให้เป็นอิสระสืบมาทรงปรึกษาพระราชปรารภ แก่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดี ซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์มี ๒ สิ่งประกอบกัน คือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ ให้ศาสตรจารย์ศิลปะ พีระศรี ปั้นหุ่นหล่อ ส่วนสะพานทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธินอำนวยการสร้าง และพระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่วน 1 รัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินส่วน 1 อีกส่วน 1 ทรงพระราชดำริให้บอกบุญเรี่ยไรชาวไทยทุกคน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกระบวนพยุหยาตรา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบ 150 ปี และมีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร
ในปีต่อมาทางราชการได้ประกาศให้ถือวันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่ระลึกมหาจักรีฯ และเป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่งที่กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการและให้ชักธงชาติ กำหนดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ สำนักพระราชวังได้ออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระบรมรูปที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ และถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดร
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
ชื่อเรื่อง ปริวาสขันธกะ (พระปริวาสสขันธกะ) สพ.บ. 453/1หมวดหมู่ พุทธศาสนาภาษา บาลีหัวเรื่อง ธรรมะ พระวินัย สงฆ์--กฎและการปฏิบัติประเภทวัสดุ/มีเดีย คัมภีร์ใบลานลักษณะวัสดุ 96 หน้า : กว้าง 5 ซม. ยาว 36 ซม. บทคัดย่อเป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม เส้นจาร ฉบับทองทีบ ไม่มีไม้ประกับ ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
เรื่องเล่าจากราชกิจจานุเบกษา : "การเปิดเส้นทางรถไฟสายเพชรบุรี ปฐมบททางรถไฟสายใต้"
“...เรามีความพอใจเปนอันมาก ในการงานที่เธอได้กระทำให้สำเร็จได้แล้วนี้ แลในขณะเมื่อเรามี ความประสงค์อยู่ว่า ขอให้ทางรถไฟสายนี้จงมีความสำเร็จตลอดทุกอย่างนั้น เรามีความยินดีที่จะลงมือกระทำการเพื่อให้เปนอันเสร็จงานที่สุดของการก่อสร้างทางรถไฟนี้แลมีความยินดีที่จะประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่นี้สืบไป ทางรถไฟสายนี้เปนอันเปิดให้คนทั้งปวงใช้ได้ทั่วกันแล้ว...”
ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสเปิดทางรถไฟสายเพชรบุรีที่ทรงตอบแก่พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ภายหลังกราบบังคมทูลรายงานการจัดสร้างรถไฟสายดังกล่าว ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 หน้า 191-192 ลงวันที่ 28 มิถุนายน ร.ศ. 122
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดการเดินรถไฟสายเพชรบุรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟสร้างทางรถไฟในทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จากสถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ตรงไปทางตะวันตก เลียบตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ ข้ามแม่น้ำท่าจีนตรงตำบลบ้านเขมร ต่อไปจนถึงจังหวัดนครปฐม ตรงตำบลบ้านโป่งเลี้ยวไปทางใต้เลียบใกล้ฝั่งแม่น้ำ ข้ามน้ำแม่กลองไปตัวเมืองราชบุรี จากนั้นตรงไปตามทางหลวงจนไปถึงจังหวัดเพชรบุรี ทั้งนี้ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สมควรสร้างทางรถไฟเพื่อลงสู่ภาคใต้ของประเทศ โดยสร้างเป็นทางขนาดกว้าง 1 เมตร ซึ่งต่างกับทางรถไฟสายนครราชสีมาที่ใช้รางกว้าง 1.435 เมตร รวมระยะทาง 150 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปลายปี พ.ศ. 2442 เมื่อสร้างแล้วเสร็จ ได้เปิดทดลองเดินรถตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2446 ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 7,880,000 บาท
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 หน้า 188-189 ลงวันที่ 28 มิถุนายน ร.ศ. 122 ได้กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินเปิดการเดินรถไฟในครั้งนี้ว่า ได้มีการจัดตกแต่งสถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) ที่หน้าวัดอมรินทรารามวรวิหารด้วยธงรูปจักรปีกและต้นไม้ ภายในสถานีมีการตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐาน พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลและพระชัยหลังช้าง มีเครื่องนมัสการ พระแท่นทรงกราบ อาสนสงฆ์ เป็นต้น ต่อออกมาตั้งพระราชบัลลังก์ และที่สะพานท่าน้ำสถานีจัดตั้งปรำประดับประดาธงรูปจักรปีกด้วยเช่นกัน โดยในเวลาเช้าโมงเศษ (7 นาฬิกาเศษ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องอย่างจอมพลทหารบก ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ เสด็จออกทรงรถม้าพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนทหารราชองครักษ์ มหาดเล็ก แห่นำตามเสด็จฯ พระราชดำเนินออกจากพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวเข้าถนนหน้าพระลาน แล้วไปเลี้ยวที่ป้อมอินทรังสรรค์ไปตามถนนริมกำแพงพระนคร หยุดรถพระที่นั่งที่ชาลาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือกลไฟชื่อชลยุทธ์ ที่ท่าราชวรดิฐ มีเรือกลไฟเป็นเรือแห่นำตามเสด็จเรือพระที่นั่งกลไฟใช้จักรแล่นขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เทียบท่าสถานีที่ปากคลองบางกอกน้อยแล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับรถพระที่นั่ง ซึ่งเจ้าพนักงานกรมรถไฟได้จัดไว้รับเสด็จ แล้วรถไฟใช้จักรลากรถพระที่นั่งไปหยุดที่สถานีบริเวณหน้าวัดอมรินทรารามวรวิหาร เสด็จลงจากรถพระที่นั่งเข้าไปประทับในสถานี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และราชทูต กงสุล ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ รวมถึงพ่อค้าชาวต่างประเทศอื่น ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงจุดเทียนนมัสการแล้วประทับ ณ พระราชบัลลังก์ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ได้กราบบังคมทูลรายงานในการที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างทางรถไฟสายนี้ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ ทรงแสดงพระราชหฤทัย ทรงชื่นชมยินดีในการที่ได้จัดสร้างทางรถไฟสายนี้สำเร็จ จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสัญญาบัตรแก่ข้าราชการในกรมรถไฟ แล้วเสด็จไปประทับที่รางรถไฟตรงหน้าสถานี ทรงตรึงหมุดอันสุดท้ายที่รางรถไฟด้วยพระราชหัตถ์ เพื่อเป็นมงคลแก่ทางรถไฟสายนี้ว่าเป็นอันสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ในเวลานั้นพระสงฆ์ดำรงสมณศักดิ์ 5 รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เป็นประธานสวดชยันโต เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ ฆ้องชัย พิณพาทย์
เมื่อทรงตรึงหมดเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานกรมรถไฟได้เลื่อนรถไฟและรถพ่วงสำหรับเดินรถตามธรรมดา ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เดินเป็นฤกษ์มาหยุดที่หน้าพระที่นั่ง แล้วเจ้าพนักงานกรมภูษามาลาได้เชิญพระชัยหลังช้างขึ้นประดิษฐานในรถพ่วง พระอมรโมฬี เจ้าคณะมณฑลราชบุรี ได้ขึ้นรถไฟสำหรับโปรยทรายไปจนตลอดถึง สุดทางเมืองเพชรบุรี พอการพร้อมเพรียงแล้ว แฮร์มันน์ เกียร์ทส์ (Hermann Gehrts) เจ้ากรมรถไฟได้กราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ห้เจ้าพนักงานกรมรถไฟใช้จักรเดินรถไฟเป็นฤกษ์ไปตลอดถึงเมืองเพชรบุรี จากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระบรมวงศานุวงศ์ ราชทูต กงสุล พ่อค้าชาวต่างประเทศตามสมควร แล้วเสด็จประทับโต๊ะเสวย เสร็จการเสวยแล้วได้มีพระราชดำรัสกับผู้ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทต่อตามสมควร จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับพระบรมมหาราชวัง ในเวลาเช้า 3 โมงเศษ (9 นาฬิกาเศษ)
ภายหลังการเปิดเส้นทางรถไฟสายเพชรบุรีในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 แล้ว ต่อมาได้มีการสร้างทางรถไฟสายนี้ต่อ โดยนายเฮนรี กิตตินส์ (Henry Gittins) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกรมรถไฟให้เป็นผู้อำนวยการสร้างทางรถไฟสายใต้ และรัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดจัดที่ดินสร้างทางรถไฟหลวงสายใต้ ตั้งแต่เพชรบุรี ปราณบุรี ชุมพร หลังสวน ไชยา ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตลอดถึงระแงะ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 โดยเริ่มจากเพชรบุรีลงไปทางใต้ และจากสงขลาถึงกันตังขึ้นมาทางเหนือ มาบรรจบกันที่ชุมพร ระยะทางรวมจากสถานีธนบุรี (บางกอกน้อย) ถึงสุไหงโกลก ทั้งนี้ปลายทางเชื่อมกับรถไฟมลายูที่มาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย รวมระยะทาง 1,144 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 62,435,195 บาท สร้างเสร็จและเปิดเดินรถได้ตลอดเส้นทาง เมื่อปี พ.ศ. 2464 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้สนใจสามารถใช้บริการราชกิจจานุเบกษา ฉบับตีพิมพ์ ได้ที่ห้องบริการหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ ชั้น 3 อาคาร 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ
เรียบเรียงโดย นายสุวิชา โพธิ์คำ บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ
กราฟิก นายชลิต ปรีชากุล นายช่างศิลปกรรม สำนักหอสมุดแห่งชาติ
ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊กทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/pr.railway/posts/2754862101195310
บรรณานุกรม
กรมรถไฟ. งานฉลองรถไฟหลวง ครบ 50 ปี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ กรมรถไฟ, 2490.
“การงานการจัดสร้างทางรถไฟเพ็ชรบุรี.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 20. (28 มิถุนายน 122): 189-191.
“การเปิดรถไฟเพ็ชรบุรี.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 20. (28 มิถุนายน 122): 188-189.
การรถไฟแห่งประเทศไทย. มหาราชของการรถไฟ. กรุงเทพฯ: การรถไฟแห่งประเทศไทย, 2543.
_______. 100 ปีรถไฟไทย. กรุงเทพฯ: การรถไฟแห่งประเทศไทย, 2540.
เกื้อกุล ยืนยงอนันต์. การพัฒนาการคมนาคมทางบกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมฝึกหัดครู, 2520.
“ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดจัดที่ดินสร้างทางรถไฟหลวงสายใต้.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 26. (29 กรกฎาคม 128): 9-12.
“พระราชดำรัสเปิดทางรถไฟเพ็ชรบุรี.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 20. (28 มิถุนายน 122): 191-122.
สรรพสิริ วิริยศิริ. เรารักรถไฟ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2535.
ชื่อเรื่อง : กฏเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ ๕ แผนกปกครองว่าด้วยข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลพายัพ ร.ศ. ๑๑๙ผู้แต่ง : พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพปีที่พิมพ์ : ๒๔๔๓สถานที่พิมพ์ : เชียงใหม่ สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์วังสิงห์คำจำนวนหน้า : ๖๘ หน้าเนื้อหา : หนังสือเล่มนี้ชื่อ กฎเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ 4 แผนกปกครองว่าด้วยข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลพายัพ ร.ศ.119 พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อักษร ที่โรงพิมพ์วังสิงห์คำเชียงใหม่ ถนนวังสิงห์คำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2443 พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ผู้แต่ง อักษรล้านนา ภาษาล้านนา กฎเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่ 4 แผนกปกครองว่าด้วยข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลพายัพ ร.ศ.119 ประกอบไปด้วยเนื้อหา 16 หมวดดังนี้ หมวดที่ 1 พระราชปรารภว่าด้วยเมืองและเขตมณฑล จำนวนเมืองในมณฑล การจัดเมืองชั้นนอกเป็นบริเวณ หมวดที่ 2 การปกครองท้องที่ หมวดที่ 3 ข้าราชการในกองมณฑล (ข้าราชการกองมณฑลและข้าหลวงรองในกองมณฑล) หมวดที่ 4 หน้าที่และอำนาจข้าราชการกองมณฑล (หน้าที่และอำนาจข้าหลวงใหญ่หน้าที่และอำนาจข้าหลวงยุติธรรม หน้าที่ข้าหลวงสรรภากร หน้าที่ข้าหลวงการโยธา หน้าที่ข้อหลวงป่าไม้ เลขานุการและเสมียนพนักงานตราสำหรับข้าราชการกองมณฑล) หมวดที่ 5 การประชุม ประชุมราชการที่มณฑล ประชุมเจ้าผู้ครองเมือง หมวดที่ 6 การแทน ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ หมวดที่ 7 การตรวจการและค่าเดินทาง ให้ข้าหลวงออกตรวจการ ลำดับชั้นข้าราชการแลอัตราผลประโยชน์ เสมียนพนักงาน ค่าเช่าบ้าน หมวดที่ 8 พนักงานปกครองนครและเมือง ตั้งเค้าสนามหลวง ตั้งข้าหลวงบริเวณ เสนา 65 ตำแหน่ง ตั้งเจ้าเมืองขึ้น ตั้งพระยาแสนท้าว เค้าสนามหลวงเลือกตั้งผลัดเปลี่ยนพนักงานได้ หมวดที่ 9 อำนาจหน้าที่ข้าราชการกองเมือง เค้าสนามหลวง อำนาจเค้าสนามหลวง หน้าที่ข้าหลวงประจำนครหรือเมือง อำนาจข้าหลวงประจำนครหรือเมือง หน้าที่และอำนาจเจ้าผู้ครองเมือง หน้าที่และอำนาจข้าหลวงผู้ช่วย หน้าที่เสนาตำแหน่งมหาดไทย หน้าที่เสนาตำแหน่งนา หน้าที่เสนาตำแหน่งคลัง หน้าที่เสนาตำแหน่งทหาร หน้าที่เสนาตำแหน่งวัง หน้าที่ข้าหลวงบริเวณ หน้าที่กรมการพิเศษ หมวดที่ 10 การบังคับบัญชาและจดหมาย คำสั่งทั้งปวงฯ เจ้าผู้ครองเมืองลงชื่อในใบบอกการพื้นเมืองพร้อมด้วยเค้าสนามหลวง การใช้กระดาษตามแบบ หมวดที่ 11 ลักษณะใบบอกและรายงาน ใบบอกชนิดที่เมืองตรงมากรุงเทพ วิธีใช้สมุดอาญาคำสั่ง อาญาคำสั่งที่ไม่ได้ลงชื่อเค้าสนามหลวงแล้วไม่ใช้ในราชการ กำหนดยื่นรายงานข้าหลวงใหญ่ หมวดที่ 12 ตราตำแหน่งแลวันหยุดการ ตราสำหรับข้าราชการกองเมือง กำหนดเวลารับราชการ วันหยุดราชการ หมวดที่ 13 การประชุมปรึกษาราชการ การประชุมเค้าสนามหลวง วิธีประชุมเค้าสนามหลวง ถ้าปรึกษาไม่ตกลงกันให้ทำอย่างไร อาญาคำสั่งซึ่งไม่ได้ตกลงกันให้ทำอย่างไร อาญาคำสั่งซึ่งไม่ได้ตกลงในที่ประชุม อย่าให้ถือว่าเป็นราชการ ถ้าเป็นการด่วนเจ้าผู้ครองเมืองสั่งได้ หมวดที่ 14 การตั้งตำแหน่งแลการลา วิธีรับคนเข้ารับราชการ เริ่มเวลาได้รับเงินเดือน เลือกคนเข้ารับราชการเวลาคนว่าง กำหนดลา กำหนดป่วย วิธีลาออกจากราชการ การแทนข้าหลวงประจำนครหรือเมือง การแทนเจ้าผู้ครองเมือง การแทนเสนา 6 ตำแหน่ง หมวดที่ 15 ข้อห้าม ข้อห้ามข้าราชการ ข้อห้ามกองเค้าสนามหลวง หมวดที่ 16 ผลประโยชน์ข้าราชการกองเมือง พระราชทานเงินส่วนแบ่งให้เจ้าผู้ครองนคร ผู้แทนเจ้าผู้ครองเมือง คงได้รับผลประโยชน์ไม่เกินครึ่งที่เจ้าผู้ครองเมืองเคยได้ เบี้ยบำเหน็ดบำนาญ ประกาศมา ณ วันที่ 30 มิถุนายน ร.ศ. 119 ดำรงราชานุภาพ ประทับตราพระราชสีน้อยมาเป็นสำคัญเลขทะเบียนหนังสือหายาก : ๐๐๑๙๖๑๖เลขทะเบียนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ : E-book_๒๕๖๗_๐๐๑๙หมายเหตุ : โครงการจัดเก็บและอนุรักษ์หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ และเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗
วันที่ 4 กันยายน 2567 ร้อยเอก บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี พร้อมหัวหน้าส่วน เจ้าหน้าที่ในสังกัด และเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ นำโดย นางอภิญญานุช เผ่าพงษ์คล้าย รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรม Big Cleaning Day : ทำความสะอาดเอกสารโบราณเพื่อการอนุรักษ์และสงวนรักษา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดวรจันทร์ ตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
บทความจากนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๒ เดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๕๔ คอลัมน์ถามมา-ตอบไป : ประเภทของการแสดงโขน โดยวันเพ็ญ พรเลิศวดี เนื่องจากมีผู้สนใจทีชอบชมการแสดงโขนของกรมศิลปากร มีข้อสงสัยว่าการแสดงโขนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ท่านจะได้ทราบคำตอบจากในบทความนี้