วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม
วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม
-------------------------
ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้ ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา
ซึ่งผลิดอกออกผลแต่ต้นมา รวมเรียกว่าวรรณคดีไทย
อนึ่งศิลปงามเด่นเป็นของชาติ เช่นปราสาทปรางค์ทองอันผ่องใส
อีกดนตรีรำร่ายลวดลายไทย อวดโลกได้ไทยแท้อย่างแน่นอน
...
ได้รู้เช่นเห็นชัดสมบัติชาติ เหลือประหลาดล้วนเห็นเป็นศักดิ์ศรี
ล้วนไทยแท้ไทยแน่ไทยเรามี สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรม
บทประพันธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ปูชนียบุคคลของไทยและบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม (วรรณคดี) และการสื่อสารนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยในฐานะวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจประการหนึ่งของไทยและเป็นสมบัติชาติที่สืบต่อมาแต่บรรพชน โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บูรพกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้นอักษรไทย เมื่อพุทธศักราช 1826 ดังปรากฏหลักฐานในจารึกพ่อขุนรามคำแหงหรือศิลาจารึกหลักที่ 1 มรดกล้ำค่าของชาติ ซึ่งองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ด้วย
ในอดีต เด็กไทยมักเล่าเรียนเขียนอ่านกับพระสงฆ์ที่วัด จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาและมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรรู้หนังสือถ้วนหน้าเพื่อพัฒนาตนเองตลอดจนชาติบ้านเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั้งในพระนครและหัวเมืองเพื่อขยายการศึกษาให้ทั่วถึง อีกทั้งให้บรรดาขุนนางนักปราชญ์แต่งตำราวิชาการต่าง ๆ สำหรับกุลบุตรไว้ศึกษาเล่าเรียน เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมการศึกษาพระองค์แรก นิพนธ์แบบเรียนเร็วสำหรับสอนอ่าน เขียน และแต่งหนังสือ ซึ่งได้ใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยในโรงเรียนหลวง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งตำราปกีรณำพจนาดถ์และอนันตวิภาค การศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยจึงได้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางในหมู่ราษฎรนับแต่นั้นมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงร่วมอภิปรายปัญหาการใช้คำไทยกับผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทยของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ ความสนพระราชหฤทัย และความห่วงใยในภาษาไทย ด้วยเหตุนี้ ในวโรกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในพุทธศักราช 2542 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และธำรงภาษาไทยอันเป็นภาษาของชาติไว้ให้ยั่งยืนสืบไป
เรียบเรียงโดย นางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
-------------------------
อ้างอิง
คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติในโอกาส 100 ปี แห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในความทรงจำแห่งโลก. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2554.
ณัฏฐา กล้าหาญ และพุธิตา ขำบุญลือ. 2565. “มรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย.” ใน พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ. บรรณาธิการ. 111 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 41 - 50.
ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วันภาษาไทยแห่งชาติ. เล่ม 116 ตอนที่ 67 ง หน้า 12. 24 สิงหาคม 2542.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ.2/1 เรื่อง พระบรมราชโองการ เรื่องตั้งโรงเรียนในกรุงและหัวเมือง (ม.ท.)
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารเย็บเล่มชุดหนังสือกราบบังคมทูล ร.5 รล.-นก เล่ม 6/26 เรื่องพระศรีสุนทรโวหาร น้อมเกล้าถวายต้นฉบับหนังสือเรียนตัวสะกดคำกลอน เพื่อทรงพิจารณาให้โรงพิมพ์หลวงจัดพิมพ์ (จ.ศ. 1241)
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สบ.5.26/1 เรื่อง ปรู๊ฟคำประพันธ์ร้อยเรื่อง (พ.ศ. 2461 - 2505)
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ 002 หวญ 5/33(12) ภาพพระกับลูกศิษย์
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพที่อัดจากฟิล์มกระจกผนึกบนกระดาษแข็ง (ภาพเม้าท์) 10M/27 ภาพพระองค์เจ้าชายดิศวรกุมาร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. 2405 - 2486) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาชุ่ม โรจนดิศ ต้นสกุล ดิศกุล
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ฉ/จ/1629 ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ฉ/จ/13331 ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีพนมหมากและพนมดอกไม้วางสักการะอยู่ที่แท่นฐาน ในงานฉลองลายสือไทย ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย วันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2526
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพส่วนบุคคล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ภ สบ10.1/1 ภาพหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ใส่ชุดสากล
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพอัลบั้มชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภอ 001 หวญ 14/7 ภาพพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
(จำนวนผู้เข้าชม 387 ครั้ง)