ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,867 รายการ
กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ขอเชิญชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เรื่อง “พระราชกรณียกิจประสิทธิ์ศิลป์” ระหว่างวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องโถงใหญ่ อาคารสำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ กำหนดจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖๓ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เรื่อง “พระราชกรณียกิจประสิทธิ์ศิลป์” รวบรวบภาพพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อเผยแพร่ให้พสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ซาบซึ้งในพระเกียรติคุณ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอุปถัมภ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ การจัดแสดงภายในนิทรรศการ ประกอบด้วย
ส่วนที่ ๑ นำเสนอภาพพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธาสธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระอิริยาบถที่น่าประทับใจต่างๆ ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ พร้อมทั้งพระฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายร่วมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระเชษฐภคินี
ส่วนที่ ๒ นำเสนอภาพพระราชกรณียกิจ ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ด้วยพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นผู้อุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติ จึงทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมน้อยใหญ่มาโดยตลอด
ส่วนที่ ๓ การฉายสไลด์ภาพพระราช ประวัติ และภาพพระราชกรณียกิจที่หาชมได้ยาก ที่รวบรวมเก็บรักษาไว้มาจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมพระเกียรติคุณ และร่วมแสดงความจงรักภักดีในโอกาสสำคัญนี้
ทั้งนี้ จะมีพิธีเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ เรื่อง พระราชกรณียกิจประสิทธิ์ศิลป์ ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๐๐ น. โดยมีนายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน และเปิดให้ประชาชนเข้าชม ระหว่างวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องโถงใหญ่ อาคารสำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โทร. ๐ ๒๒๘๑ ๑๕๙๙
กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต จะจัดการแสดงดนตรีสำหรับประชาชน ณ สังคีตศาลา ปีที่ ๕๙เพื่อเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้านการแสดงดนตรีสำหรับประชาชน ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ ถึง เดือนเมษายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
การจัดแสดงดนตรีสำหรับประชาชน ณ สังคีตศาลา ได้มีการดำเนินงานมานับแต่ปี ๒๔๙๑ สืบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยจัดการแสดงที่หลากหลายจากศิลปินของกรมศิลปากรและศิลปินรับเชิญ ได้แก่ การบรรเลงดนตรีสากล(วงดนตรีลูกทุ่ง วงสตริง วงหัสดนตรี วงสังคีตประยุกต์วงดุริยางค์สากล วงโยวาทิต)การแสดงนาฏศิลป์ โขน การแสดงนาฏศิลป์ละคร ละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครเสภา ละครชาตรี ละครดึกดำบรรพ์)การแสดงหุ่นกระบอก การแสดงโขนสด การแสดงหุ่นละครเล็ก การแสดงพื้นเมือง(ลำตัด เพลงอีแซว ลิเก)การบรรเลงดนตรีไทย (วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงมโหรี วงเครื่องสายปี่ชวา วงปี่พาทย์มอญ วงอังกะลุง วงปี่พาทย์ชวา)สักวาออกตัว การบรรเลงและการแสดงนาฏศิลป์จากต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานรายการดนตรีสำหรับประชาชน เป็นการเผยแพร่ความรู้ศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏดุริยางคศิลป์แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
โดยเก็บค่าเข้าชมคนละ ๒๐ บาท
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๕ ๙๐๙๗ เริ่มเปิดสังคีตศาลาวันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
วันที่ ๒๔-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา จัดโครงการเครือข่ายทางมรดกศิลปวัฒนธรรม โครงการสร้างภาคีเครือข่ายประชารัฐบุคลากรทางการศึกษาในการดูแลรักษาโบราณสถานเมืองพิมาย ณ ห้องประชุมสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา และเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง, หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน, เรือนไทพวนอนุสรณ์, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของชาวไทพวนบ้านเชียง และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี
“กันตรึม” เป็น เพลงพื้นบ้านนิยมกันมากในจังหวัดสุรินทร์ เนื้อเพลงกันตรึมใช้ภาษาเขมรขับร้อง กันตรึมถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้าน และการละเล่นพื้นบ้านอื่นๆ ของจังหวัดสุรินทร์
ประวัติความเป็นมา
ประวัติ การเล่นกันตรึมไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด ลักษณะของเพลงกันตรึมเป็นเพลงปฏิพากย์คล้ายๆ เพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัด จะแตกต่างที่เนื้อร้องกันตรึมเป็นภาษาเขมร
ดนตรีบรรเลงประกอบ คือ กลองโทน(สก็วล) และซอ(สุกัญญา สุจฉายา ๒๕๒๕ : ๘) เหมือนกับประเทศกัมพูชา วงดนตรีกันตรึมมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของชาวสุรินทร์มาแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีแบบใดๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ งานพิธีกรรมต่างๆ หรือใช้บรรเลงในพิธีเซ่นสรวงบูชา ทรงเจ้าเข้าผี เป็นต้น งานพิธีต่างๆ ของกลุ่มชาวไทยเขมรส่วนมากมักจะใช้วงกันตรึมบรรเลงยืนพื้นตลอดงาน
ปัจจุบันกันตรึมใช้ เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงโดยทั่วไป มีการสืบทอดตามแบบการละเล่นพื้นบ้านแบบรุ่นสู่รุ่น คือ เมื่อผู้เล่นกันตรึมคณะเดิมชราภาพ หรือย้ายถิ่นที่อยู่ ก็จะถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจเพื่อสานต่อ(สงบ บุญคล้อย ๒๕๒๒ : ๘)
วิวัฒนาการของเพลงกันตรึม
๑. ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงปฏิพากย์ของเขมร ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเพลงปฏิพากย์ภาคกลางของประเทศไทยทั้งโครงสร้างของ เพลง วิธีการแสดง และเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ ได้แก่ กลองโทน ซอ และใช้การปรบมือเข้าจังหวะ เพลงปฏิพากย์ที่เล่นกันในประเทศกัมพูชาจะมีเพลงปรบเกอย เพลงอายัย เพลงอมตูก และเจรียงต่างๆ เป็นต้น (สุกัญญา สุจฉายา ๒๕๒๕ : ๘)
๒. วิวัฒนาการจากการใช้กลอง(สก็วล) ซึ่งเสียงตีกลองจะดัง “โจ๊ะกันตรึม ตรึม”จึงได้นำเสียงที่ดังนั้นมาตั้งเป็นชื่อวงดนตรี เรียกว่า “กันตรึม”การเล่นกันตรึมจะมีผู้ร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ผู้แสดงจะร้อง และรำไปด้วย เป็นการรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำไม่มีแบบแผนตายตัว
ปัจจุบันคณะกันตรึมบางคณะที่ยังเล่นอยู่ก็มีแบบการรำที่ไม่แน่นอน เนื่องจากกันตรึมไม่เน้นทางด้านการรำ แต่จะเน้นที่ความไพเราะของเสียงร้อง และความสนุกสนานของท่วงทำนองเพลงกันตรึมที่มีหลากหลายมากกว่า
เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่นกันตรึม ประกอบด้วย กลองกันตรึม(สก็วล) ๒ ลูก ซอ(ตรัว) ๑ คัน ปี่อ้อ ๑ เลา ขลุ่ย ๑ เลา ฉิ่ง กรับ และฉาบ อย่างละ ๑ คู่ แต่ถ้ามีเครื่องดนตรีไม่ครบก็อาจจะอนุโลมใช้เครื่องดนตรีเพียง ๔ อย่าง คือ กลองกันตรึม ๑ ลูก ซอ ๑ คัน ฉิ่ง และฉาบ อย่างละ ๑ คู่
ในปัจจุบัน วงกันตรึมบางคณะได้นำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ เช่น กลองชุด กีตาร์ และไวโอลิน เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไปตามความนิยมของผู้ชม
การแต่งกาย
การแต่งกายทั้งของนักดนตรีและนักร้องชายหญิงไม่มีแบบแผนกฎเกณฑ์ที่แน่นอน จะแตกต่างตามความสะดวกสบาย ทันสมัยและถูกใจผู้ชม เช่น หญิงนุ่งผ้าไหมพื้นเมือง เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียง ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอว และมีผ้าขาวม้าไหมพาดไหล่ทั้งสองข้าง โดยชายผ้าทั้งสองจะห้อยอยู่ทางด้านหลัง
ผู้เล่นและโอกาสที่ใช้เล่น
การเล่นกันตรึม ใช้ผู้เล่นประมาณ ๖ –๘ คน ผู้ร้องเป็นชายและหญิง อาจจะมี ๑ –๒ คู่ หรือชาย ๑ คน หญิง ๒ –๓ คน แต่โดยทั่วไปนิยมให้มีชาย ๒ คน หญิง ๒ คน
การเล่นกันตรึมจะเล่นในโอกาสต่างๆ ทั้งในโอกาสเฉลิมฉลอง งานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานโกนจุก งานบวชนาค เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และลอยกระทง เป็นต้น หรืองานอวมงคล นอกจากนี้ยังใช้เล่นในพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อพื้นบ้าน
วิธีเล่นกันตรึม
วงกันตรึมจะเล่นที่ไหน ก่อนเริ่มการแสดงจะต้องมีพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นสิริมงคล ทั้งผู้ดูและผู้เล่น เมื่อไหว้ครูเสร็จก็จะเริ่มบรรเลงเพลง เป็นการโหมโรงเพื่อปลุกใจให้ผู้ดูรู้สึกตื่นเต้น และผู้แสดงก็จะได้เตรียมตัว จากนั้นจะเริ่มแสดง โดยเริ่มบทไหว้ครูตามธรรมเนียมโบราณดั้งเดิม วิธีการร้องจะขับร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย หญิง มีการรำประกอบการร้อง ไม่ต้องใช้ลูกคู่ช่วยร้องรับบทเพลง
บทเพลงกันตรึม
บทเพลงกันตรึมไม่มีเนื้อร้องเป็นการเฉพาะ แต่มักคิดคำกลอนให้เหมาะสมกับงานที่เล่น หรือใช้บทร้องเก่าๆ ที่จดจำกันมามีประมาณ ๒๒๘ ทำนองเพลง ไม่มีใครสามารถจดจำได้ทั้งหมด เพราะไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการจดจำต่อๆ กันมาเท่านั้น
การแบ่งประเภทบทเพลงกันตรึม
๑. บทเพลงชั้นสูงหรือเพลงครู เป็นบทที่มีความไพเราะ สูงศักดิ์ ทำนองเพลงอ่อนหวานกินใจ แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ เช่น เพลงสวายจุมเวื้อด ร่ำเป็อย –จองได มโหรี และเพลงเซร้ยสะเดิง เป็นต้น
๒. บทเพลงสำหรับขบวนแห่ มีทำนองครึกครื้นสนุกสนาน มีการฟ้อนรำประกอบการขับร้อง มีหลายทำนอง เช่น รำพาย ซมโปง ตร็อบตุม และเกาะเบอรมแบง เป็นต้น
๓. บทเพลงเบ็ดเตล็ดต่างๆ เป็นบทเพลงที่มีทำนองรวดเร็ว เร่งเร้า ให้ความสนุกสนาน ใช้เป็นบทขับร้องในโอกาสทั่วๆ ไป เช่น เกี้ยวพาราสี สั่งสอน สู่ขวัญ และรำพึงรำพัน เป็นต้น ทำนองเพลงจะมีหลายทำนอง เช่น อมตูก กัจปกาซาปาดาน กันเตรยโมเวยงูดตึก กะโน้ปติงต้อง และมลบโดง เป็นต้น
๔. บทเพลงประยุกต์ เป็นบทเพลงที่ใช้ทำนองเพลงลูกทุ่งเข้ามาประยุกต์เป็นทำนองเพลงกันตรึม เช่น ดิสโก้กันตรึม สัญญาประยุกต์ และเตียแขมประยุกต์ เป็นต้น
กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต จะจัดการแสดงดนตรีสำหรับประชาชน ณ สังคีตศาลา ปีที่ ๕๙เพื่อเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้านการแสดงดนตรีสำหรับประชาชน ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ ถึง เดือนเมษายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
การจัดแสดงดนตรีสำหรับประชาชน ณ สังคีตศาลา ได้มีการดำเนินงานมานับแต่ปี ๒๔๙๑ สืบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยจัดการแสดงที่หลากหลายจากศิลปินของกรมศิลปากรและศิลปินรับเชิญ ได้แก่ การบรรเลงดนตรีสากล(วงดนตรีลูกทุ่ง วงสตริง วงหัสดนตรี วงสังคีตประยุกต์วงดุริยางค์สากล วงโยวาทิต)การแสดงนาฏศิลป์ โขน การแสดงนาฏศิลป์ละคร ละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครเสภา ละครชาตรี ละครดึกดำบรรพ์)การแสดงหุ่นกระบอก การแสดงโขนสด การแสดงหุ่นละครเล็ก การแสดงพื้นเมือง(ลำตัด เพลงอีแซว ลิเก)การบรรเลงดนตรีไทย (วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงมโหรี วงเครื่องสายปี่ชวา วงปี่พาทย์มอญ วงอังกะลุง วงปี่พาทย์ชวา)สักวาออกตัว การบรรเลงและการแสดงนาฏศิลป์จากต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานรายการดนตรีสำหรับประชาชน เป็นการเผยแพร่ความรู้ศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏดุริยางคศิลป์แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
โดยเก็บค่าเข้าชมคนละ ๒๐ บาท
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๕ ๙๐๙๗ เริ่มเปิดสังคีตศาลาวันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ สังคีตศาลา บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหนังสือที่ระลึกเพื่อแจกเป็นอภินันทนาการแก่บรรดาผู้ที่ไปร่วมงานในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานครั้งนี้ เนื้อรวบรวมข้อมูลตำนานเมืองนครศรีธรรมราชฉบับของพระยาโกมารกุลมนตรี ประวัติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารของพระครูปลัดวิริยะวัฒน์ (สมภพ ป.) วัดราชผาติการาม กับตำนานเรื่องพระครูกา
โครงการเครือข่ายการบันทึกเหตุการณ์ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลเวียงอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2561 หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี ได้จัดงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 โดย นางสาวระเบียบ หงส์พันธ์ หัวหน้าหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก กาญจนบุรี กล่าวเปิดงาน ได้เชิญนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี มาร่วมจับรางวัลใหญ่ให้แก่เด็กๆ หลังจากนั้นมีกิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัล เกมส์เหยียบลูกโป่ง เกมส์วิบาก มีการแสดงจากน้องๆ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดกาญจนบุรี และจับฉลากแจกรางวัล มีหน่วยงานต่างๆที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม มาแจกฟรีตลอดงาน และมีน้องๆเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย โดยหอสมุดแห่งชาติขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุกท่านที่ได้ช่วยสนับสนุนทรัพย์และสิ่งของในกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 ให้แก่หอสมุดแห่งชาติฯ กาญจนบุรี ขอขอบพระคุณการสนับสนุนในครั้งนี้ค่ะ
วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น.นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงก่อนการซ่อมปรับปรุงอาคารในโครงการพัฒนาการจัดแสดงอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พร้อมด้วยนางสาวนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นางพูลศรี จีบแก้ว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และข้าราชการเจ้าหน้าที่ กรมศิลปากร ร่วมในพิธี กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ปรับปรุงอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ทั้งด้านเนื้อหาวิชาการที่มีความก้าวหน้า และมีรูปแบบการจัดแสดงที่ทันสมัยทัดเทียมพิพิธภัณฑ์สากลในปัจจุบัน เพื่อเปิดให้เข้าชมได้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ภายใต้หัวเรื่อง นิทรรศการประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙
รายงานการเดินทางไปราชการประเทศญี่ปุ่น
1.ชื่อโครงการ
โครงการ “จัดแสดงนิทรรศการพิเศษฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๓๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย –
ญี่ปุ่น” ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาค้นคว้าอารยธรรมของสองประเทศ ไทย – ญี่ปุ่น กับโลกภายนอก
2.วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อขอยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว และพิพิธภัณฑสถานแห่งอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่น
2.2 เพื่อประชุมหารือความคืบหน้าโครงการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษฯ ระหว่างทั้งสองประเทศที่จะจัดขึ้นในปีพ.ศ. 2560
2.3 เพื่อศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล, วิธีการดูแลรักษา, การเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวิธีการจัดแสดงที่เหมาะสมกับโบราณวัตถุของประเทศญี่ปุ่น
3.กำหนดเวลา
ตั้งแต่วันที่ 21 – 26 กันยายน พ.ศ. 2558
4.สถานที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู 4-7-2, Ishizaka, Dazaifu-city, Fukuoka, Japan, รหัสไปรษณีย์ 818-0118
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว 13-9 Uenokoen, Taito, Tokyo, Japan, รหัสไปรษณีย์ 110-8712
5.หน่วยงานผู้จัด
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว ร่วมกับกรมศิลปากร
6.หน่วยงานสนับสนุน
สำนักกิจการวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น
7.กิจกรรม
7.1 คณะผู้แทนจากกรมศิลปากรเข้าพบหารือกับผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู เพื่อประชุมรายงานความคืบหน้าโครงการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษฯ ระหว่างทั้งสองประเทศที่จะจัดขึ้นในปีพ.ศ. 2560
7.2 คณะผู้แทนจากกรมศิลปากรเดินทางไปคัดเลือกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของ Tachibana Museum ตั้งอยู่เลขที่ 1 Shinhoka-machi, Yanagawa-shi City, Japan, รหัสไปรษณีย์ 832-0069
7.3 คณะผู้แทนจากกรมศิลปากรเข้าพบหารือกับผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว เพื่อประชุมรายงานความคืบหน้าโครงการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษฯ ระหว่างทั้งสองประเทศที่จะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2560
7.4 คณะผู้แทนจากกรมศิลปากรเข้าพบหารือผู้อำนวยการสำนักมรดกทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมเพื่อประชุมรายงานความคืบหน้าโครงการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษฯ ระหว่างทั้งสองประเทศที่จะจัดขึ้นในปีพ.ศ. 2560
8.คณะผู้แทนจากกรมศิลปากร
8.1 นายธนากร กำทรัพย์ หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักโบราณคดี
8.2 นางสุภาวรรณ วิไลนำโชคชัย หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายใน
8.3 นางศาริสา จินดาวงศ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
8.4 นางวัญญา ประคำทอง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ
8.5 นางนฤมล เก่าเงิน หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
8.6 นางเบญจวรรณ พลประเสริฐ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
8.7 นางสาววิภารัตน์ ประดิษฐ์อาชีพ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ
8.8 นางสาวธนิกานต์ วรธรรมานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการ
8.9 นางสาวปัทมา ก่อทอง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ
8.10 นางจิราพร กิ่งทัพหลวง นักโบราณคดีชำนาญการ
8.11 นายจักรพันธ์ วัชระเรืองชัย สถาปนิกชำนาญการ
8.12 นายวรเดช วลัยจำนง นิติกรชำนาญการ
8.13 นางศิริพร คล้ำงาม นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
8.14 นางสาวเอื้อมพร ผิวผ่อง นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
8.15 นางวรานี เนียมสอน นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
8.16 นางรัชนี งามเจริญ เจ้าพนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ชำนาญงาน
8.17 นางสาวศิริจิตราภร อ่อนแสงจันทร์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
8.18 นายอนันต์ พุ่มแจ่ม เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
8.19 นางสาวขนิษฐา อ่วมอิ่มพืช เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
8.20 นายนราชัย แซ่อึง นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ
8.21 นางสาวชลธิชา มูลเนียม นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ
9.สรุปสาระของกิจกรรม
9.1 ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแจ้งฝ่ายผู้แทนญี่ปุ่นให้ทราบว่ารายการโบราณวัตถุรวมทั้งสิ้น 100 รายการ ที่ประเทศญี่ปุ่นประสงค์ขอยืมจัดแสดงนิทรรศการพิเศษในปี พ.ศ.2560 นั้น กรมศิลปากรอนุมัติให้ยืมและประเมินราคา จำนวน 97 รายการเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ มีโบราณวัตถุ 3 รายการ ประกอบด้วย พระสุวรรณมาลา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20, พระแสงขรรค์ทองคำ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20 เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และใบเสมาสลักภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 14 เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ซึ่งกรมศิลปากรพิจารณาแล้วเห็นว่าโบราณวัตถุทั้ง 3 รายการ มีสภาพชำรุดมากอาจเกิดปัญหาขณะทำการเคลื่อนย้าย จึงไม่อนุมัติให้ยืมโบราณวัตถุทั้ง 3 รายการดังกล่าว โดยให้คัดเลือกใบเสมาชิ้นอื่นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่นทดแทน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ผ่านการประชุมประเมินราคา แต่จะเร่งดำเนินการและจะแจ้งให้ทางฝ่ายญี่ปุ่นทราบต่อไป ส่วนโบราณวัตถุรูปพระโพธิสัตว์หรือเทวดาดินเผา ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12 – 13 เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสภาพโดยนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ของกรมศิลปากร จากนั้นจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้ยืมโบราณวัตถุดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง และจะรีบแจ้งให้ทราบในโอกาสแรกต่อไป ทั้งนี้ได้สอบถามความประสงค์ฝ่ายญี่ปุ่นว่าจะคัดเลือกโบราณวัตถุรายการอื่นทดแทนหรือไม่ อนึ่ง โบราณวัตถุอีก 2 รายการ ได้แก่ สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา และสมุดภาพจำลองกระบวนพยุหยาตราสถลมารคซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักหอสมุดแห่งชาตินั้น หากทางญี่ปุ่นยืนยันว่าโบราณวัตถุ 2 รายการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ทางสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะประสานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติต่อไป โดยฝ่ายไทยชี้แจงว่าโบราณวัตถุทั้งหมดที่กรมศิลปากรอนุมัติให้ยืมจัดแสดงครั้งนี้ บางรายการมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น บางรายการมีคุณค่าสูง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางรายการเป็นเครื่องใช้สอยส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ บางรายการไม่เคยให้ยืมจัดแสดงที่ใดมาก่อน การประเมินราคาจึงกระทำอย่างระมัดระวัง ราคาประเมินมูลค่าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอาจสูงมาก ฝ่ายประเทศญี่ปุ่นแจ้งให้ผู้แทนไทยทราบว่า เมื่อขอยืมโบราณวัตถุจากรัฐบาลประเทศใดก็ตาม จะมีการรับประกันอย่างดีที่สุด ขั้นต่ำ คือ 5,000 ล้านเยน สูงสุด คือ 100,000 ล้านเยน ขอให้ฝ่ายไทยวางใจได้ว่า ราคาประเมินที่ฝ่ายไทยแจ้งให้ทราบอยู่ในวงเงินประมาณ 6,000 ล้านเยน อยู่ในงบประมาณที่ฝ่ายญี่ปุ่นรับประกันได้อย่างแน่นอน
9.2 ทางฝ่ายผู้แทนญี่ปุ่นแจ้งให้ทราบว่า กำหนดการระยะเวลาจัดนิทรรศการพิเศษในประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. 2560 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู และระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว มีแผนดำเนินงานร่วมกันระหว่างภัณฑารักษ์ของทั้งสองประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุออกจากประเทศไทยภายในเดือนมีนาคมจนกระทั่งส่งคืนกลับประเทศไทยช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 6 เดือน โดยใช้บริษัทนิปปอน เอ็กซ์เพรส ซึ่งมีความชำนาญเชี่ยวชาญการบรรจุหีบห่อและเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุ ซึ่งฝ่ายผู้แทนญี่ปุ่นประสงค์จะขอยืมโบราณวัตถุประเภทผ้าไหมและใบเสมาเพิ่มเติม จะทำหนังสือขออนุมัติรายการมาโดยเร็ว พร้อมเน้นย้ำขอให้ฝ่ายไทยเร่งดำเนินการ เนื่องจากทราบว่าขั้นตอนการพิจารณาประเมินราคาของฝ่ายไทยใช้ระยะเวลาพอสมควร
9.3 ผู้แทนจากกรมศิลปากรสอบถามขั้นตอนและความเป็นไปได้ที่กรมศิลปากรมีความประสงค์จะขอยืมโบราณวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของวัดและพิพิธภัณฑ์เอกชนในประเทศญี่ปุ่น ได้รับคำตอบว่ามีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้ระยะเวลานาน ขอให้ฝ่ายไทยเตรียมรายการโบราณวัตถุที่สนใจและเกี่ยวข้องกับบทจัดแสดงนิทรรศการพิเศษที่จะจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เช่นกัน ฝ่ายญี่ปุ่นจะประสานและดำเนินการเสนอขอยืมโบราณวัตถุของวัดและพิพิธภัณฑ์เอกชนต่อไป ทั้งนี้ฝ่ายผู้แทนจากกรมศิลปากรเสนอในที่ประชุมว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ปรับปรุงพระที่นั่งศิวโมกขพิมานเพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมของชาติ มีความเหมาะสมจะจัดแสดงนิทรรศการพิเศษที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ โดยนิทรรศการความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ไทย-ญี่ปุ่น จะเป็นนิทรรศการ แรกที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน บทจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้เน้นให้เห็นพัฒนาการทางศิลปวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น โบราณวัตถุแต่ละชิ้นจะเล่าเรื่องราวความเป็นมาแต่ละยุคสมัยได้ดี โดยจะจัดแสดงควบคู่กับโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานไปพร้อมกัน เป็นการเปรียบเทียบช่วงเวลาระหว่างยุคสมัยศิลปวัฒนธรรมของไทยกับญี่ปุ่นซึ่งมีความเชื่อในพระพุทธศาสนาร่วมกัน
9.4 ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอหัวข้อบทจัดแสดงนิทรรศการพิเศษที่จะจัดขึ้น ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมานว่า คัดเลือกโบราณวัตถุจำนวน 50 รายการ ซึ่งสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น เครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี จิตรกรรม ประติมากรรม งานประณีตศิลป์และเอกสารโบราณ ตั้งแต่ยุคโจมอน (Jomon Period) จนถึงยุคเอโดะ (Edo Period) จุดเด่นในนิทรรศการครั้งนี้ คือ เครื่องมือเครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และงานศิลปะที่สะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่โดดเด่นเป็นพิเศษและสามารถทำความเข้าใจศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้ง เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาอันยาวนานของประเทศญี่ปุ่นได้ดี ประกอบด้วยบทจัดแสดง 5 หัวข้อ ดังนี้
บทที่ 1 อรุณรุ่งแห่งศิลปะญี่ปุ่น (The dawn of Japanese art) วัตถุจัดแสดงที่สำคัญ คือ เครื่องปั้นดินเผา รูปปั้นดินเผาโดกูและฮานิวะ ภาชนะสำริด แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการเพาะปลูก ตลอดจนพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์
บทที่ 2 พุทธศิลปะ (Buddhist art) ศาสนาพุทธเริ่มเข้ามาในดินแดนประเทศญี่ปุ่นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 6 ไม่เน้นยุคใดยุคหนึ่ง แต่จะแสดงให้เห็นพัฒนาการและความเปลี่ยนการนับถือพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งพุทธแบบมหายาน ต่อมาภายหลังรับอิทธิพลจากจีนมีการนับถือพระพุทธศาสนาแบบตันตระ มีโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจัดแสดง เช่น รูปเคารพ Fudo Myouo สมัย เฮอัน (Heian Period) คริสต์ศตวรรษที่ 11
บทที่ 3 การปกครองโดยสภาขุนนางและซามูไร (Court aristocracy and Samurai) แนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักศิลปะญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากชนชั้นสูงและกลุ่มซามูไรซึ่งมีอำนาจมากในช่วงเวลานั้น งานศิลปะในยุคนี้จะมีพลังน่าเกรงขาม มีโบราณวัตถุประเภท ชุดเกราะซามูไร ดาบซามูไร
บทที่ 4 วิถีเซนและพิธีชงชา (Zen and Tea Ceremony) วิถีเซนมีอิทธิพลต่อคนญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยคามาคูระ (Kamakura Period) พิธีชงชามีพื้นฐานมาจากวิธการคิดแบบเซนและเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งของชาวญี่ปุ่น
บทที่ 5 วัฒนธรรมเอโดะอันรุ่งเรืองเจิดจรัสา (The multifaceted Edo culture) ตลอดช่วงระยะเวลาของสมัยเอโดะ กลุ่มคนในสังคมเมืองที่เรียกว่า โชนิน (Chonin) กลายมาเป็นกระดูกสันหลังของวัฒนธรรมญี่ปุ่น กลุ่มคนเมืองพัฒนาไปสู่สังคมหรูหราฟุ้งเฟ้อและนำไปสู่วัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบเอกัตถบุคคล วัตถุชิ้นสำคัญ เช่น ชุดกิโมโน ภาพจิตรกรรมโบราณ
ผู้แทนญี่ปุ่นเสนอว่าโบราณวัตถุทั้ง 50 รายการที่คัดเลือกมามีความสำคัญและเป็นชิ้นเยี่ยมของชาติหลายรายการ มีความเห็นว่าจำนวนไม่น้อยเกินไป น่าจะเหมาะสมกับขนาดพื้นที่จัดแสดง เพราะบางรายการโบราณวัตถุมีขนาดใหญ่มาก ต้องใช้พื้นที่จัดแสดงมาก อีกทั้งบรรยากาศการจัดแสดงของประเทศญี่ปุ่นเน้นพื้นที่เปิดกว้างโล่ง ชูวัตถุแต่ละชิ้นให้โดดเด่น โบราณวัตถุน้อยชิ้นจะไม่ข่มกันเอง แต่ยังไม่อาจยืนยันได้ในขณะนี้ว่าจะให้ยืมโบราณวัตถุทั้ง 50 รายการนี้ทั้งหมดหรือไม่ อาจจะคัดเลือกเพิ่มจากพิพิธภัณฑ์เอกชนหรือวัดเพิ่มเติม ขอให้มีการประชุมคณะทำงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชูและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียวก่อน
นิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการพิเศษที่ร่วมมือกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น กับกรมศิลปากรภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมของไทย กำหนดระยะเวลาจัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ในการประชุมหารือครั้งนี้ ฝ่ายผู้แทนญี่ปุ่นมีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิในตู้จัดแสดง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อโบราณวัตถุที่มีความบอบบาง ละเอียดอ่อน เช่น ภาพจิตรกรรม ผ้า กระดาษ และโลหะ ผู้แทนจากกรมศิลปากรยืนยันว่าโบราณวัตถุของประเทศญี่ปุ่นที่ขอยืมมาจัดแสดงนิทรรศการพิเศษครั้งนี้จะได้รับการดูแลอย่างดีตามมาตรฐานสากล โดยนักวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ทั้งการใช้หลอดไฟ เครื่องควบคุมความชื้นในตู้จัดแสดง ระบบป้องกันอัคคีภัย โดยขอความอนุเคราะห์ภัณฑารักษ์ของญี่ปุ่นเป็นผู้ให้คำแนะนำ ควบคุมการติดตั้งจัดแสดงให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่นยินดีส่งนักอนุรักษ์และภัณฑารักษ์มาช่วยเหลือแลกเปลี่ยนความรู้อย่างใกล้ชิด
9.5 ผู้แทนจากกรมศิลปากรสอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับงบประมาณในการบรรจุหีบห่อ ค่าประกันภัย และค่าขนส่งออกจากประเทศญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ฝ่ายประเทศไทย จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในประเทศ ได้รับการยืนยันจากผู้แทนญี่ปุ่น ทั้งนี้จะมีการประชุมเจรจารายละเอียดความคืบหน้าเพิ่มเติมครั้งต่อไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง
10. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม
การเดินทางมาประชุมและคัดเลือกโบราณวัตถุเพื่อเตรียมการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จและได้รับความรู้จากการทัศนศึกษาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบวิธีการบริหารจัดการระดับมาตรฐานสากล ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสองประเทศในโอกาสต่อไป
นางสาววิภารัตน์ ประดิษฐ์อาชีพ ผู้จัดทำรายงานการเดินทางไปราชการ