ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,849 รายการ


องค์ความรู้ เรื่อง “เลาะลัดถิ่น  ชมซากปราสาทพบใหม่ ณ บ้านเก่าณรงค์ ตำบลณรงค์ อำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์”     เลาะลัดจังหวัดสุรินทร์ เพื่อชมร่องรอยปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่พบใหม่ล่าสุด  ณ บ้านเก่าณรงค์ หมู่ที่ 1 ตำบลณรงค์ อำเภอศรีณรงค์ ซึ่งราษฎรในพื้นที่เรียกชื่อบริเวณนี้ว่า “ปราสาทบ้านเก่าณรงค์” นั่นเอง   ผลจากการสำรวจทางโบราณคดี เราพบร่องรอยคูน้ำล้อมรอบปราสาทที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ลักษณะเป็นรูปปีกกา เว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยเมื่อเดินเข้าไปด้านใน จะพบก้อนศิลาแลงกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ โดยไม่ปรากฏสภาพเป็นปราสาทหรือร่องรอยอาคารแล้ว ซึ่งปัจจุบัน ราษฎรในพื้นที่ได้ก่อสร้างศาลปู่ตาประจำชุมชนทับบริเวณที่เป็นตำแหน่งเดียวกับปราสาทประธาน และนำก้อนศิลาแลงที่กระจัดกระจายอยู่บนผิวดินมาก่อไว้ทางด้านทิศเหนือ เบื้องต้นกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 โดยอ้างอิงจากชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบน้ำเคลือบสีน้ำตาลที่พบบนผิวดิน ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเวลาดังกล่าว   “ซากปราสาทบ้านเก่าณรงค์” ที่เราพบในครั้งนี้ นับเป็นปราสาทหลังใหม่ที่พบในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และเป็นปราสาทหลังแรกที่พบในเขตอำเภอศรีณรงค์ด้วย หากมีโอกาสก็เชิญชวนแวะไปชมซากปราสาทหลังนี้กันนครับ   เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา


วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๐๘.๐๐ น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร วางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ โดยมีข้าราชการ เหล่าทัพ หน่วยงานต่างๆ และประชาชนเข้าร่วมในพิธี  กรมศิลปากร ร่วมกับชมรมกองทุนพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗ มกราคม) เป็นประจำทุกปี โดยจัดพิธีถวายราชสักการะและพิธีบวงสรวงถวายเครื่องสักการะสังเวย ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ฯ โรงละครแห่งชาติ และบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ ในเวลา ๑๖.๓๐ น. สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้จัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภา ครั้งที่ ๒๐ ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อน้อมรำลึกพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ต่อบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมของชาติ  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๑ ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่ออกพระนามกันว่า "วังหน้า" มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปศาสตร์หลายสาขา ทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม โดยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก นอกจากนี้ ทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี ๔ ชนิด เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องใหญ่" เบื้องปลายพระชนม์ชีพ  พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๘  


           สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ขอเชิญฟังการเสวนาทางวิชาการ "สุดยอดการค้นพบใหม่" ในทศวรรษที่ผ่านมาของกรมศิลปากร ในหัวข้อ “70 แหล่งศิลปะบนหินค้นพบใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน” วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. - 12.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีทีมนักโบราณคดีมาเปิดเผยข้อมูลการค้นพบ และการเก็บข้อมูลต่าง ๆ แบบจริงใจ “ไม่ต้องปีนเขาก็เหมือนได้ไปกับเราแน่นอน” พบกับวิทยากร คุณจักรพันธ์ เพ็งประไพ คุณมนัสวิน นาคศิริ คุณทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ คุณประวินัส ภารสุวรรณ และคุณทรัพย์อนันต์ ซื่อสัตย์ นักวิชาการวัฒนธรรม             ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมฟังการเสวนาได้โดยการแสกน QR Code หรือตามลิ้งนี้ https://www.finearts.go.th/main/view/48102 สอบถามเพิ่มเติมได้ทาง Facebook : สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น  โทร. 0 4324 2129


#เรื่องเล่าจากบันทึกเหตุการณ์ : โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ---------------------- -บึงสีไฟ- บึงสีไฟเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีมาตั้งแต่อดีต มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญต่อชาวจังหวัดพิจิตรมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีพื้นที่จำนวน 5,390 ไร่ จัดเป็นบึงน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีความสำคัญในภาคการเกษตร การชลประทาน และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เมื่อปี 2556 บึงสีไฟได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอย่างหนัก ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานทำให้น้ำในบึงแห้งขอด และในปี 2560 เกิดไฟไหม้บริเวณเกาะกลางบึงสีไฟ เนื่องจากมีวัชพืชแห้งทับถมกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ทำให้ประชาชนเกิดความเดือนร้อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการปรับปรุงและพัฒนาบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวพิจิตร ในปี 2567 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จังหวัดพิจิตร จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ” เพื่อพัฒนาบึงสีไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือตอนล่าง ตลอดจนเป็นสนามแข่งขันจักรยานระดับนานาชาติ โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานชื่อสนามจักรยานว่า “สนามจักรยานสราญจิตมงคลสุข” มีความหมายว่า สนามจักรยานเป็นสถานที่ทำให้ใจสำราญเป็นมงคลและสุขสบาย ภายในสนามมีการสร้างทางจักรยาน ทางเดิน และลู่วิ่ง รอบบริเวณบึงสีไฟ ระยะทางยาว 10.28 กิโลเมตร พร้อมทั้งสร้างสนามจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ (BMX) สนามปั๊มแทร็ค (Pumptrack) และสนามขาไถสำหรับเด็กเล็ก (Balance Bike) สนามจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ สนามปั๊มแทร็ค ออกแบบโดย นางมารี เครปส์ และนายฮาวี่ เครปส์ จากสมาพันธรัฐสวิสชาวสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ฝึกสอนจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ทีมชาติไทย สนามจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ มีความยาว 356 เมตร ความสูง 5 เมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด 8,400 ตารางเมตร เป็นสนามที่ได้มาตรฐานของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (Union Cycliste Internationale: UCI) และสามารถจัดการแข่งขันในระดับ World Cup และ World Championships ได้ ส่วนสนามปั๊มแทร็ค มีความยาว 350 เมตร ความกว้าง 2 เมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,683 ตารางเมตร สนามจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็ก ออกแบบโดยนายอัถร ชัยมาโย ผู้ฝึกสอนจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ทีมชาติไทย มีความยาว 120 เมตร พื้นที่รวมทั้งหมด 1,600 ตารางเมตร ทั้ง 3 สนาม ผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง คือ แขวงการทางจังหวัดพิจิตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” และทรงเปิดสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข” ณ บริเวณโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ ฯ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เรียงเรียงโดย นายวันชัย ภูมิซองแมว นักจดหมายเหตุ ---------------------- เอกสารอ้างอิง - คำกราบบังคมทูลรายงานการแสดงปั่นจักรยานของพลเอก เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ - คำกราบบังคมทูลของนายอดิเทพ กมลเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567


วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตรงกับวันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกระบวนพยุหยาตรา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบ 150 ปี และมีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร ในปีต่อมาทางราชการได้ประกาศให้ถือวันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่ระลึกมหาจักรีฯ และเป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่งที่กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการและให้ชักธงชาติ กำหนดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ สำนักพระราชวังได้ออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระบรมรูปที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ และถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดร



         พระมาลัย          ลักษณะ : ใบหน้ารูปไข่ คิ้วโก่ง จมูกโด่ง ปากหยักอมยิ้ม เส้นผมขมวดเป็นปุ่มกลมขนาดเล็ก ไม่มีอุษณีษะและเกตุมาลา ครองจีวรห่มเฉียงลายดอกพิกุล สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง มือขวาวางหงายบนหัวเข่าขวาถือดอกมณฑา มือซ้ายวางบนตักทำท่ากำด้ามตาลปัตรซึ่งสูญหายไปแล้ว นั่งขัดสมาธิราบเหนือฐานบัวหงายประดับผ้าทิพย์รองรับด้วยฐานเชิงบาตรและฐานหน้ากระดานยกเก็จ พระมาลัยเป็นพระอรหันตสาวกผู้มีฤทธิ์มาก เหาะเหินเดินอากาศท่องนรกและสวรรค์ นำผลของการทำบุญและทำบาปมาสั่งสอนผู้คนให้สั่งสมบุญบารมี ละเว้นการทำความชั่ว เพื่อให้ผู้คนได้ตั้งความปรารถนาเกิดทันยุคพระศรีอาริย์ประติมากรรมพระมาลัยที่รู้จักกันแพร่หลายนิยมทำเป็นรูปภิกษุนั่งหรือยืนถือตาลปัตรในมือซ้าย แต่ประติมากรรมพระมาลัยรูปนี้มีความพิเศษที่มือขวาถือดอกไม้ชนิดหนึ่ง พิจารณาจากรูปพรรณแล้วมิใช่ดอกบัว กลับคล้ายดอกมณฑามากกว่า ตามคติในพระพุทธศาสนา ดอกมณฑาเป็นดอกไม้ทิพย์ จะปรากฏเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา จาตุรงคสันนิบาต และปรินิพพาน เมื่อดอกมณฑาปรากฏในมือพระมาลัยองค์นี้ อาจจะอธิบายได้ว่าพระมาลัยขึ้นไปบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงเด็ดดอกมณฑา ทิพยบุปผาลงมาเป็นประจักษ์พยานให้ชาวพุทธบนโลกมนุษย์ได้ล่วงรู้ว่า สวรรค์มีจริง เร่งสร้างบุญกุศลจะได้ไปเกิดบนสวรรค          ขนาด : ตักกว้าง 15 เซนติเมตร สูงรวมฐาน 22 เซนติเมตร          ชนิด : โลหะผสม ลงรักปิดทอง          อายุ/สมัย : รัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ 25 (ประมาณ 150 - 160 ปีมาแล้ว)          ประวัติ/ตำนาน : กองป้องกันและปราบปราม กรมศุลกากร มอบของกลางกรณีลักลอบส่งโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2522 ซึ่งเป็นของกลางที่ได้จากการตรวจยึดกรณีลักลอบส่งโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร   แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=64859   ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th




ชื่อเรื่อง :  หนังสือค่าวซอเรื่องดอยสุเทพ เชียงใหม่ผู้แต่ง : เพ็ง กาวิโลปีที่พิมพ์ : ๒๔๗๖สถานที่พิมพ์ :  เชียงใหม่ สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์อเมริกันจำนวนหน้า : ๓๔ หน้าเนื้อหา : หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า ร่ำดอยสุเทพ เชียงใหม่ พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อักษรที่โรงพิมพ์อเมริกัน ถนนเจริญเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2476 ผู้แต่งคือ นายหนานเพง กาวิโล อักษรล้านนา ภาษาล้านนา หนานเพ็ง กาวิโล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แต่งคร่าวร่ำตำนานดอยสุเทพเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2476 สรุปความว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยสุเทพพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเพื่อโปรดสัตว์ ได้มอบพระเกสาให้แก่ ย่าแสะ ชาวบ้านผู้ถวายภัตตาหาร ทรงกล่าวว่าหากพระองค์ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว จะมีลูกศิษย์ชื่อว่า พระสุมณ มาเผยแผ่ศาสนา พระอินทร์ได้พระเกศาจากมือย่าแสะแล้วเนรมิตพระธาตุขึ้นพร้อมด้วยเนรมิตโกฐ เงินชั้นนอก ชั้นในเป็นทองคำและสมบัติมากมาย เช่นแก้ว 7 ประการ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ในวันศุกร์ ที่ 15 เดือนแปดเป็ง และในทุกปีเมื่อตรงกับวันดังกล่าว พระยาอินทากับศรัทธาจะมาสระสรงพระธาตุบรรจุพระเกศาธาตุนั้น ณ ดอยสุเทพ บทที่ 2 กล่าวถึง กุมารลูกของย่าแสะได้บวชเรียนเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ถือศีล 227 ข้อ แล้วทำนุบำรุงศาสนาต่อไป เนื้อความกล่าวถึงวัดเก่าที่ผาลาดหลวงและธรรมชาติบริเวณดอยสุเทพ บทที่ 3 กล่าวถึง ราชครูเจ้าสมเด็จดับภัย วัดฝายหิน เจ้าคณะมณฑล ซึ่งพ่อเจ้าหลวงเชียงใหม่ และ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีให้ความเคารพนับถือ ได้ร่วมปฏิสังขรณ์และสร้างวิหารหลวง แต่งเรื่องนี้เมื่อปี 2475 เดือนมีนาคม หากจักพัทธศีลธาตุที่ไหนก็ดีให้หันหน้าไปทางทิศใต้แล้วกล่าวว่า “โสภควาอิติปิอรหํ” 3 รอบ เช่น ไหว้พระเจ้าดอยสุเทพทั้ง 4 องค์ พระเจ้าทันใจ พระพุทธะ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตัวอย่างข้อความปริวรรตคร่าวร่ำตำนานดอยสุเทพ เชียงใหม่ หน้าที่ 1 บทที่ 1 นมัสการ                   ถวายสาส์น            นบน้อม                   สิบนิ้วตั้งเกล้า ก่ายดวงเกสา           ติรตฺตนา                 สามดวงแก้วเจ้า       ได้วิคหํ ฅ่าวธัมม์พระเจ้า      หื้อเป็นนิยาย           เล่าไว้                      ม่อนได้แต่งกลอน คำวอนค้อนไค้         ตามออกอั้น            ในธัมม์                    ที่พระกล่าวไว้ แน่หมั้นสจฺจํ            ตามออกตำนาน      สุเทพธาตุเจ้า           ตถาคโต พระองค์จอมเกล้า   เสด็จมายังที่นี้          กับสาวก                 พระองค์กล่าวชื่อ ห้าร้อยว่าอั้น          ตามมา                    พระอินท์เจ้าฟ้า        ก็ทวยรักษา โสภควา                 โคตมเจ้า                 ท่านแอ่วเมตตา        โปรดสัตโสกเจ้า หื้อได้บรรเทา[1]     บาปร้าย                  เสด็จมาเถิง              รอดเถิงเขตค้าย ดอยสุเทพเจ้า         เทพา                       บาฬีกล่าวไว้            อุจุปพฺพตา พระเสด็จมา           บิณฑบาตข้าว         ยังมีย่าแสะ               แถะสวนหมากเต้า กับองค์ชายเราลูกไธ้ พากันเพี่ยวสวน      ตัดฟันบั่นไม้             แปงไร่ข้าวนา เหลียวหันยังพระ    พุทโธสตฺถา              สะพายบาตรมาฯลฯ เลขทะเบียนหนังสือหายาก : ๗๒๒เลขทะเบียนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ : E-book_๒๕๖๗_๐๐๑๘หมายเหตุ : โครงการจัดเก็บและอนุรักษ์หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ และเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ [1] ปนฺโท / บรรเทา


ประวัติการดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถาน วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช   ข้อมูล ณ วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘




โครงการจัดการความรู้พื้นฐานการประพันธ์ร้อยกรองไทย กรมศิลปากร โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์  จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “พื้นฐานการประพันธ์ร้อยกรองไทย”(การประพันธ์โคลง) ในวันพุธที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖. ๓๐ น. ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ  “ร้อยกรอง” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน จำแนกด้วยฉันทลักษณ์ออกเป็น ๕  ชนิด คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ทุกชนิดมีแบบแผน ข้อบังคับ และรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน กวีมีการนำรูปแบบฉันทลักษณ์ต่างๆ มาประพันธ์เป็นเรื่องราวหลากหลายรูปแบบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายเรื่องเป็นวรรณคดีสำคัญของชาติ ผู้ที่จะเข้าใจและเข้าถึงภาษาและวรรณคดีของชาติจึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับร้อยกรองไทยแบบต่างๆ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จึงจัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับร้อยกรองไทยประเภทโคลง แก่ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน  เป็นการส่งเสริมให้ผู้ศึกษาด้านภาษาและวรรณกรรมไทยมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของวรรณกรรมร้อยกรองประเภทโคลงมากยิ่งขึ้น                            การอบรมประกอบด้วยการอภิปรายเรื่อง “โคลงภาคเหนือและโคลงอีสาน” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภณ สมจิตศรีปัญญา ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง “โคลงภาคกลาง” โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ “ภาคปฏิบัติการการแต่งคำประพันธ์ :โคลง” โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ และนายวัฒนะ บุญจับ                          ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมฯได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ โทร. ๐ ๒๖๒๘ ๕๐๒๑ ต่อ ๕๑๔ – ๕๑๖ ภายในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๓


Messenger