ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,828 รายการ
เลขทะเบียน : นพ.บ.604/9 ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณ หมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 52 หน้า ; 4 x 55 ซ.ม. : ล่องรัก ; ไม้ประกับธรรมดา มีฉลากไม้ชื่อชุด : มัดที่ 193 (399-407) ผูก 9 (2566)หัวเรื่อง : อภิธัมมา--เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน”
วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ
คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้มีมติเห็นชอบคำจำกัดความคำว่ามรดกไทย คือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่างๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา"
คณะรัฐมนตรีซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย"
ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา
โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฯ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนรวม 28 คน ได้มีการจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์มรดกไทยขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย เนื่องจากงบประมาณของรัฐมีไม่เพียงพอ
การจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทยได้ดำเนินการผ่านมาแล้วหลายปี โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัด หน่วยงานเอกชน หน่วยงานของรัฐบาลและประชาชนในการจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์มรดกไทยในช่วง สัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย 2 - 8 เมษายน ของทุกปี บางจังหวัด บางหน่วยงานก็จัดกิจกรรมสนับสนุนตลอดทั้งปี ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง
นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2535 เป็นต้นมา คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดงานใหม่โดยให้มีทิศทางในการจัดงานแน่นอน คือการกำหนดหัวเรื่องของการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งในปีพุทธศักราช 2535 คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทยได้กำหนดให้เป็นปีอนุรักษ์การดนตรีไทย ปีพุทธศักราช 2536 เป็นปีอนุรักษ์การช่างศิลป์ไทย
การจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดการแสดง การฉายภาพยนตร์ ทัศนศึกษาโบราณสถาน และสถานที่สำคัญทางศาสนา กิจกรรมเสริมสร้างและสนับสนุนให้เกิดทัศนคติที่จะยังประโยชน์ต่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทย ได้การรณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะและทำความสะอาดโบราณสถานศาสนสถาน ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมอื่น ๆ พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม
กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ดำเนินการจัดกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อเป็นแนวทางในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อันเนื่องด้วยการอนุรักษ์มรดกไทยให้แพร่หลายกว้างขวาง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตื่นตัวในการร่วมกันดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ การจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นกิจกรรมหลักที่กรมศิลปากรและหน่วยงานในสังกัดดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
ชื่อเรื่อง เลขที่1มัด1 ตำราไสยศาสตร์ประเภทวัสดุ/มีเดีย สมุดไทยISBN/ISSN -หมวดหมู่ ตำราไสยศาสตร์ลักษณะวัสดุ กว้าง 12 ซม. ยาว 37 ซม. : 158; หน้า : มีภาพประกอบหัวเรื่อง ตำราไสยศาสตร์ ภาษา ไทยบทคัดย่อ/บันทึก ประวัตินายวีระศักดิ์ เข็มเงินมอบให้หอสมุดฯ
ที่มา: https://datasipmu.finearts.go.th/academic/56
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เรื่อง “เทิดไท้ภูวไนย ถวายใจสดุดี” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย
ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เทิดไท้ภูวไนย ถวายใจสดุดี” จัดแสดงระหว่างวันที่ ๑ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จังหวัดสุโขทัย เปิดวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖. ๐๐ น. ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๕๕๖๔ ๑๕๗๑, ๐ ๕๕๖๔ ๓๗๖๖
กาน้ำเปลือกไข่นกกระจอกเทศ
เดิมเป็นทรัพย์สินของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ (ต้นราชสกุลสวัสดิวัฒน์) ตกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับมาจากกระทรวงการคลัง เมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๘๒ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ได้ส่งเก็บรักษาในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
ตัวกาน้ำทำจากเปลือกไข่นกกระจอกเทศ ประกอบเข้ากับทองแดงหล่อเป็นเชิง หู ฝา และพวย ตกแต่งเป็นลายเถาไม้ ฝาทำเป็นลายดอกไม้พร้อมก้านดอกประดับโซ่คล้องกับหูกาน้ำ มีหูปละพวยโค้งสูง งานประณีตศิลป์ชิ้นนี้งดงาม หายาก มีมูลค่าสูง โดยสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อการสะสมของชนชั้นสูง ที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๕ โดยเฉพาะสิ่งของจากวัตถุเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา
ปัจจุบันจัดแสดงในนิทรรศการ “Museum Unveiling” เรื่องลึกเบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ไทยในอดีตที่เก็บสะสมโบราณวัตถุหายาก
ในพุทธศักราช ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “มิวเซียมหลวง”จากในพระบรมมหาราชวังมายังพระราชวังบวรสถานมงคล “มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” ในยุคนั้นจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป การจัดแสดงวัตถุจึงเป็นการรวบรวมวัตถุจากทุกสาขาวิชา อาทิ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ และวัตถุทางธรรมชาติวิทยา เพื่อนำเสนอของแปลก ของหายาก เครื่องราชบรรณาการ และศิลปวัตถุอันมีค่า ตอบสนองคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ซึ่งแปลว่า นานาวัตถุ
ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๙ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงปรับปรุงการจึงแสดงพิพิธภัณฑสถาน เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทโบราณคดีและศิลปะ จึงมีการเคลื่อนย้ายและจัดส่งโบราณวัตถุศิลปวัตถุส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับโบราณคดีไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น สัตว์ชำแหละเนื้ออาบน้ำยาส่งไปโรงเรียนเพาะช่าง ตัวอย่างแร่ธาตุส่งให้กรมโลหะกิจ และตัวอย่างสินค้าพื้นเมืองส่งไปให้กรมพาณิชย์ เป็นต้น
ส่วนโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ไม่สามารถจำแนกให้หน่วยงานอื่นๆ ได้เก็บรวบรวมไว้ในคลังพิพิธภัณฑสถาน ทั้งนี้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ของสะสมของชนชั้นสูงส่วนหนึ่ง ได้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและใช้ในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วย
อ้างอิง
ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. “ดุริยางค์แห่งราชสำนัก : นิทรรศการรำลึก ๑๔๐ ปี พิพิธภัณฑ์ไทย”. ศิลปากร. ๕๗ ๔ (กันยายน-ตุลาคม) ๒๕๕๗.
กรมสิลปากร, วัธนธัมไทย เรื่องของไนพิพิธภันทแห่งชาติ. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันท, ๒๔๘๖.
องค์ความรู้ เรื่อง “เลาะลัดถิ่น ชมซากปราสาทพบใหม่ ณ บ้านเก่าณรงค์ ตำบลณรงค์ อำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์”
เลาะลัดจังหวัดสุรินทร์ เพื่อชมร่องรอยปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่พบใหม่ล่าสุด ณ บ้านเก่าณรงค์ หมู่ที่ 1 ตำบลณรงค์ อำเภอศรีณรงค์
ซึ่งราษฎรในพื้นที่เรียกชื่อบริเวณนี้ว่า “ปราสาทบ้านเก่าณรงค์” นั่นเอง
ผลจากการสำรวจทางโบราณคดี เราพบร่องรอยคูน้ำล้อมรอบปราสาทที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ลักษณะเป็นรูปปีกกา เว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยเมื่อเดินเข้าไปด้านใน จะพบก้อนศิลาแลงกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ โดยไม่ปรากฏสภาพเป็นปราสาทหรือร่องรอยอาคารแล้ว ซึ่งปัจจุบัน ราษฎรในพื้นที่ได้ก่อสร้างศาลปู่ตาประจำชุมชนทับบริเวณที่เป็นตำแหน่งเดียวกับปราสาทประธาน และนำก้อนศิลาแลงที่กระจัดกระจายอยู่บนผิวดินมาก่อไว้ทางด้านทิศเหนือ เบื้องต้นกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 โดยอ้างอิงจากชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบน้ำเคลือบสีน้ำตาลที่พบบนผิวดิน ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเวลาดังกล่าว
“ซากปราสาทบ้านเก่าณรงค์” ที่เราพบในครั้งนี้ นับเป็นปราสาทหลังใหม่ที่พบในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และเป็นปราสาทหลังแรกที่พบในเขตอำเภอศรีณรงค์ด้วย หากมีโอกาสก็เชิญชวนแวะไปชมซากปราสาทหลังนี้กันนครับ
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา
วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๐๘.๐๐ น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร วางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ โดยมีข้าราชการ เหล่าทัพ หน่วยงานต่างๆ และประชาชนเข้าร่วมในพิธี
กรมศิลปากร ร่วมกับชมรมกองทุนพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗ มกราคม) เป็นประจำทุกปี โดยจัดพิธีถวายราชสักการะและพิธีบวงสรวงถวายเครื่องสักการะสังเวย ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ฯ โรงละครแห่งชาติ และบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ ในเวลา ๑๖.๓๐ น. สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้จัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภา ครั้งที่ ๒๐ ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อน้อมรำลึกพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ต่อบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมของชาติ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๑ ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่ออกพระนามกันว่า "วังหน้า" มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปศาสตร์หลายสาขา ทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม โดยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก นอกจากนี้ ทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี ๔ ชนิด เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องใหญ่" เบื้องปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๘
สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ขอเชิญฟังการเสวนาทางวิชาการ "สุดยอดการค้นพบใหม่" ในทศวรรษที่ผ่านมาของกรมศิลปากร ในหัวข้อ “70 แหล่งศิลปะบนหินค้นพบใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน” วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. - 12.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีทีมนักโบราณคดีมาเปิดเผยข้อมูลการค้นพบ และการเก็บข้อมูลต่าง ๆ แบบจริงใจ “ไม่ต้องปีนเขาก็เหมือนได้ไปกับเราแน่นอน” พบกับวิทยากร คุณจักรพันธ์ เพ็งประไพ คุณมนัสวิน นาคศิริ คุณทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ คุณประวินัส ภารสุวรรณ และคุณทรัพย์อนันต์ ซื่อสัตย์ นักวิชาการวัฒนธรรม
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมฟังการเสวนาได้โดยการแสกน QR Code หรือตามลิ้งนี้ https://www.finearts.go.th/main/view/48102 สอบถามเพิ่มเติมได้ทาง Facebook : สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น โทร. 0 4324 2129
#เรื่องเล่าจากบันทึกเหตุการณ์ : โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
----------------------
-บึงสีไฟ-
บึงสีไฟเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีมาตั้งแต่อดีต มีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำคัญต่อชาวจังหวัดพิจิตรมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีพื้นที่จำนวน 5,390 ไร่ จัดเป็นบึงน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีความสำคัญในภาคการเกษตร การชลประทาน และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เมื่อปี 2556 บึงสีไฟได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอย่างหนัก ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานทำให้น้ำในบึงแห้งขอด และในปี 2560 เกิดไฟไหม้บริเวณเกาะกลางบึงสีไฟ เนื่องจากมีวัชพืชแห้งทับถมกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ทำให้ประชาชนเกิดความเดือนร้อน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการปรับปรุงและพัฒนาบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวพิจิตร
ในปี 2567 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จังหวัดพิจิตร จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ” เพื่อพัฒนาบึงสีไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือตอนล่าง ตลอดจนเป็นสนามแข่งขันจักรยานระดับนานาชาติ โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานชื่อสนามจักรยานว่า “สนามจักรยานสราญจิตมงคลสุข” มีความหมายว่า สนามจักรยานเป็นสถานที่ทำให้ใจสำราญเป็นมงคลและสุขสบาย ภายในสนามมีการสร้างทางจักรยาน ทางเดิน และลู่วิ่ง รอบบริเวณบึงสีไฟ ระยะทางยาว 10.28 กิโลเมตร พร้อมทั้งสร้างสนามจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ (BMX) สนามปั๊มแทร็ค (Pumptrack) และสนามขาไถสำหรับเด็กเล็ก (Balance Bike)
สนามจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ สนามปั๊มแทร็ค ออกแบบโดย นางมารี เครปส์ และนายฮาวี่ เครปส์ จากสมาพันธรัฐสวิสชาวสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ฝึกสอนจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ทีมชาติไทย สนามจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ มีความยาว 356 เมตร ความสูง 5 เมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด 8,400 ตารางเมตร เป็นสนามที่ได้มาตรฐานของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (Union Cycliste Internationale: UCI) และสามารถจัดการแข่งขันในระดับ World Cup และ World Championships ได้ ส่วนสนามปั๊มแทร็ค มีความยาว 350 เมตร ความกว้าง 2 เมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,683 ตารางเมตร สนามจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็ก ออกแบบโดยนายอัถร ชัยมาโย ผู้ฝึกสอนจักรยานบีเอ็มเอ๊กซ์ทีมชาติไทย มีความยาว 120 เมตร พื้นที่รวมทั้งหมด 1,600 ตารางเมตร ทั้ง 3 สนาม ผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง คือ แขวงการทางจังหวัดพิจิตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” และทรงเปิดสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข” ณ บริเวณโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ ฯ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
เรียงเรียงโดย นายวันชัย ภูมิซองแมว นักจดหมายเหตุ
----------------------
เอกสารอ้างอิง
- คำกราบบังคมทูลรายงานการแสดงปั่นจักรยานของพลเอก เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- คำกราบบังคมทูลของนายอดิเทพ กมลเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตรงกับวันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกระบวนพยุหยาตรา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบ 150 ปี และมีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร
ในปีต่อมาทางราชการได้ประกาศให้ถือวันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่ระลึกมหาจักรีฯ และเป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่งที่กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการและให้ชักธงชาติ กำหนดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ สำนักพระราชวังได้ออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระบรมรูปที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ และถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดร