ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,814 รายการ
ในบรรดาประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมด ไม่มียุคไหนที่มีเงื่อนงำคลุมเครือและฉงนสนเท่ห์มากเท่ากับประวัติศาสตร์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยเฉพาะในปลายรัชสมัยของพระองค์ โดยมีหลายประเด็นที่เป็นที่น่ากังขาเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เช่น
1. ทรงกู้เงินจากจีน 60,000 ตำลึง จริงหรือไม่ 2. ทรงพระสติฟั่นเฟือนจริง ๆ หรือทรงแกล้งทำเพื่อหนีหนี้จากจีน 60,000 ตำลึง หรือไม่ได้ทรงพระสติฟั่นเฟือนเลย 3. ทรงถูกสำเร็จโทษ หรือมีตัวแทนหน้าเหมือนพระองค์มารับโทษแทนจริงหรือไม่ 4. ทรงหนีไปผนวชที่นครศรีธรรมราชจริงหรือไม่
เนื่องจากในแต่ละประเด็นมีท่านผู้รู้หลายท่านได้เคยวิเคราะห์และวิจารณ์มาแล้ว1-8 โดยเฉพาะ คุณปรามินทร์ เครือทอง1, 2 แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนลงไปในทุกประเด็นที่ได้กล่าวมาแล้ว มีแต่การตั้งสมมติฐานไปต่าง ๆ นานา แม้กระทั่งประเด็นแรก “ทรงกู้เงินจากจีน 60,000 ตำลึง จริงหรือไม่” ก็ตาม ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ออกมาในรูปแบบพงศาวดารกระซิบเสียมากกว่าความจริง แล้วประเด็นต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวมาแล้วนั้นล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจทั้งสิ้น หากแต่เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ในยุคนั้นไม่ค่อยได้มีการบันทึกกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากนักเช่นในปัจจุบันนี้ อีกทั้งประวัติศาสตร์ที่เขียนในต้นรัตนโกสินทร์นั้นก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยฝ่ายตรงข้าม ทำให้อาจมีอคติในการเขียนประวัติศาสตร์ได้
ดังนั้น การที่จะเขียนวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในกรณีนี้จึงต้องอาศัยเหตุการณ์แวดล้อมที่ทำให้น่าเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เราสงสัยไม่น่าจะเป็นความจริงได้ ในบทความนี้ผมก็จะใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน
หลังจากที่ผมได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาพอสมควร (ในบทความนี้ขอเรียกพระองค์ว่า–พระเจ้าตาก) ผมรู้สึกว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเสมือนตัวต่อหรือจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ในยุคนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ผมจึงขอวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้โดยอิสระแยกเป็นประเด็น ๆ ไปโดยไม่นำประเด็นอื่น ๆ มาผูกกันซึ่งจะทำให้ยุ่งยากต่อการสรุป และเมื่อเราได้จิ๊กซอว์ที่สมบูรณ์แต่ละตำแหน่งแล้ว เราก็จะได้ประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ในยุคธนบุรีนี้ในที่สุด โดยในบทความนี้ผมขอวิเคราะห์ประเด็นแรก “ทรงกู้เงินจากจีน 60,000 ตำลึง จริงหรือไม่” ส่วนในประเด็นอื่น ๆ นั้น ในโอกาสต่อไปหากผมมีเวลาและ/หรือมีหลักฐานใหม่ที่สามารถวิเคราะห์ได้แล้ว ก็จะนำมาวิเคราะห์ท่านผู้อ่านต่อไปครับ
การที่ผมหาญกล้าขึ้นมาวิเคราะห์ประเด็นนี้ขึ้นมาก่อน ก็เพราะว่าผมได้หลักฐานใหม่ 3 เล่ม โดยเฉพาะจากหนังสือที่เพิ่งออกใหม่เมื่อ พ.ศ. 2559 นี้ คือ
1. หมิงสือลู่–ชิงสือลู่ : บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยามฯ9 ซึ่งเขียนโดย อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร โดยที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 ซึ่งมีความละม้ายคล้ายคลึงกับและอีก 2 เล่ม
2. ญาณบารมีหลวงปู่โต รู้ความจริงจากหลวงปู่โต…ใครทุรยศพระเจ้าตากสิน ของ เตโชไชยการ ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 255610 และ
3. มหาราช 2 แผ่นดิน ซึ่งแต่งโดย คุณ น.นกยูง ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2555 หมิงสือ ลู่ – ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยาม และหนังสือ ระยะทาง ราชทูตไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งแต่ ณ เดือน 8 ปีกุญตรีศกและปีชวด จัตวาศก ในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอินทรมนตรีแย้ม ได้เรียบเรียงไว้ในราชกาลที่ 6
โดยผมจะวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมที่ คุณปรามินทร์ เครือทอง1 ได้เคยวิเคราะห์ไว้โดยอาศัยหลักฐานมาจากหนังสือ 3 เล่ม คือ
1. ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน? ของ แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์5 2. ความหลงในสงสาร ของ สุทัสสา อ่อนค้อม6 3. เรื่องจริงอิงนิทาน พิเศษ ของ หลวงพ่อฤๅษี ลิงดำ1, 7
โดยผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมเขียนบทความนี้โดยที่ไม่ได้มีอคติใด ๆ ต่อผู้ใดทั้งสิ้น โดยพยายามวิเคราะห์ไปตามสิ่งที่มีการบันทึกไว้แล้วโดยหาเหตุผลสนับสนุนและคัดค้านที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันโดยพยายามนำความเห็นส่วนตัวใส่เข้าไปให้น้อยที่สุด
ผมขอย่อเรื่องแต่ละเรื่องสั้น ๆ โดยเริ่มจากเรื่อง ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน5 ก่อนเป็นเรื่องแรก
พระอนุชาของพระเจ้าตาก 2 พระองค์ ชื่อ เจียนซื่อ และเจียนจิ้น ทำมาค้าขายและได้ถวายผลกำไรแก่พระเจ้าตาก (แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน) และได้รวบรวมเงินจากผู้ช่วยเหลือคนอื่นได้แล้ว 5,000-10,000 ตำลึง
ต่อมากรมอาวุธได้กราบทูลว่า อาวุธส่วนมากชำรุดทรุดโทรม และเนื่องจากมีข่าวศึกใหญ่ซึ่งพระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพคุมพลมารบ ดังนั้น จึงต้องจัดดาบเหล็กดีอีกประมาณสามหมื่นเล่มเป็นดาบเหล็กดีและอาวุธของทหารจีนพวกง้าว หอก และทวนอีกห้าพันเล่มและพระองค์ได้ตรัสเรียกพระอนุชาและทหารจีนที่สนิทมาปรึกษาเป็นความลับเรื่องอาวุธนั้น พระยาราชาเศรษฐีจีนซึ่งเคยว่าราชการกรมท่ารับพระราชดำรัสแล้วออกไปปรึกษาหารือกันกับพรรคพวกเรื่องอาวุธนั้นเป็นการเร็ว และสรุปได้ว่า จีนคุงเซียนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมท่าและรู้จักนายทหารของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นผู้ตรวจด่านเข้าออกและผู้มีหน้าที่ทูลเรื่องราวต่าง ๆ แก่พระเจ้ากรุงปักกิ่งด้วย และอาสาว่าจะไปกู้เงินพวกพ่อค้าและข้าราชการของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แล้วนำเงินกู้นั้นซื้อดาบและเหล็กมาตีดาบกับอาวุธต่าง ๆ ให้พอใช้ในสงครามครั้งนี้
ส่วนเงินกู้นั้น ไทยจะเอาสินค้าออกไปขายแล้วเอาเงินใช้เขาหรือเอาของไปให้ตีราคาใช้หนี้ แต่คราวนี้เงินมากอย่างน้อยต้องเป็นแสนตำลึงจึงจะพอใช้ จะต้องได้จดหมายและลายมือชื่อของพระเจ้าอยู่หัวไปจึงจะได้ มิฉะนั้นพระเจ้ากรุงปักกิ่งหรือข้าราชการคงจะไม่เชื่อถือ และได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลว่า จะขอยืมเงินข้าราชการจีนหรือพระเจ้ากรุงปักกิ่งมาซื้อปืน เหล็กตีดาบ และซื้อดาบที่ดีจากเมืองใกล้ ๆ มาใช้ พร้อมทั้งหอก ง้าว และทวน
ต่อมาจีนคุงเซียมได้ดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ โดยยืมเงินจากข้าราชการ พ่อค้า และพระเจ้ากรุงปักกิ่ง รวมกันได้หกหมื่นตำลึง จึงได้จัดซื้อของมาจนครบที่ต้องการ ต่อมามีจดหมาย 3 ฉบับจากเมืองจีนถึงจีนคุงเซียม โดยมีฉบับหนึ่งส่งมาจากพ่อค้าพูดเรื่องเงินและทวงดอกเบี้ย และในที่สุดความทราบถึงแผนการของฝ่ายจีนซึ่งมีการวางแผนเป็น 3 แผน
แผนที่ 1 ให้เร่งเงินให้ได้อย่างจริงจังเร่งร้อน
แผนที่ 2 ให้พูดจาอ่อนโยนประเล้าประโลมใจให้ขอพระราชธิดาพระเจ้ากรุงปักกิ่งเป็นมเหสี โดยอ้างว่าเป็นญาติกันแล้ว พระเจ้ากรุงปักกิ่งจะได้ทรงช่วยเหลือเรื่องการเงินและเรื่องกองทัพจีนที่จะช่วยป้องกันบ้านเมือง
แผนที่ 3 บังคับให้พระเจ้าตากยอมรับว่าเป็นลูกจีนแม้เกิดในไทย แต่ทางพระเจ้ากรุงปักกิ่งถือว่าเป็นจีนตามพ่อและปู่ย่า ต้องเชื่อฟังพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ถ้าไม่เชื่อฟังจะยกทัพมาให้แตกใน 7 วัน
ฝ่ายพระเจ้าตากได้ทรงปรึกษากับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โดยได้ทรงวางแผนทำเป็นเสียพระสติหรือสวรรคตไป เรื่องหนี้สินพัวพันจะได้หมดปัญหาไป ซึ่งความจริงเรื่องเงินหกหมื่นตำลึงก็ไม่มากนัก หากจะมีเวลาให้หาใช้ก็คงได้ แต่เจ้าหนี้มีอุบายเกิดไม่ยอมผ่อนผันขึ้นมา และทางฝ่ายไทยก็ยังมีทัพพม่าอยู่และรับสั่งว่าพระองค์ต้องกู้ยืมเงินซื้อปืน ซื้อข้าวเลี้ยงทหาร และเบี้ยหวัดเงินปีทหารและพลเรือน ทรงปรึกษานัดแนะให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปเมืองเขมรกับพระโอรสของพระองค์ ถ้าตีได้เมืองเขมรก็ให้โอรสของพระองค์ครองอยู่เมืองเขมร ส่วนทางกรุงธนให้พระยาคนหนึ่งทำเป็นว่าจับพระเจ้าแผ่นดินให้บวชเสียแล้วรักษาแผ่นดินไว้ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เพื่อคนทั้งหลายจะได้ไม่นินทาว่าเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นกบฏชิงราชสมบัติ
แม่สงฆนีวรมัย กบิลสิงห์5 ไม่ได้เขียนว่าบทความของท่านอ้างอิงจากเอกสารใด แต่ผมได้อ่านพบในหนังสือ พระเจ้าตากสินยังไม่ตาย? ซึ่งเขียนโดย ว.วรรณพงษ์ และ ภมรพล ปริเชฏฐ์12 (2558) ได้เขียนบทความที่คล้ายคลึงของแม่สงฆนี (วรมัย) กบิลสิงห์มาก โดยอ้างหลักฐานจาก “บันทึกช่วยจำ สมุดบุดดำของพระยาบริรักษ์ภูเบศร์ (เอี่ยม ณ นคร)” ราชนัดดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (เจ้าน้อย) ราชบุตรของพระเจ้าตาก ความว่า
“ท่านไหฮอง (พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นชาวจีน) เป็นพระญาติกับพระเจ้ากรุงจีน (ฮ่องเต้เฉินหลง) ทำให้พระเจ้ากรุงจีนช่วยเหลือสนับสนุนด้านปืนไฟดินดำ อาวุธหอกดาบและเรือรบจำนวนหนึ่ง จึงทำให้สมเด็จพระเจ้าตากปราบก๊กต่าง ๆ ได้อย่างราบคาบ และได้สร้างเมืองใหม่ ณ กรุงธนบุรี ซึ่งนับได้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นเป็นหนี้พระเจ้ากรุงจีนก้อนโตเลยทีเดียว…”12
แต่ก็มีข้อแตกต่างของหนังสือพระเจ้าตากสินยังไม่ตาย?12 คือ ในหนังสือนี้กล่าวว่า พระเจ้ากรุงจีนเป็นพระองค์ใหม่ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะรัชกาลของพระเจ้าเฉียน (เฉิน) หลงนั้นยาวมาก ประมาณ 60 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2279-23393 นั่นคือทรงสละราชสมบัติในสมัยรัชกาลที่ 1
ส่วนในเอกสารชิ้นที่ 2 คือ ความหลงในสงสาร6 กล่าวถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการกู้เงิน 60,000 ตำลึง ดังนี้
“…ด้วง [รัชกาลที่ 1 – ผู้เขียน] เวลานี้ข้าเป็นหนี้ชาวจีนเขาอยู่ 60,000 ตำลึง ความจริงเงินจำนวนนี้ถ้าหากเขาจะให้เราผ่อนใช้เราก็จะพอหาได้ แต่ทางจีนเขาต้องการจะยึดประเทศไทยไปเป็นประเทศของเขา เขาต้องการจะกลืนเรา เขาจึงเร่งรัดจะเอาเงินจำนวนนี้ให้ได้ แล้วเจ้าก็รู้นี่ว่าข้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยากจนเข็ญใจมากเพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย เงินในท้องพระคลังก็ไม่มีสักแดงเดียว เวลานี้เบี้ยหวัดเงินปีของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนก็ยังติดค้างเขาอยู่มาก
ข้าได้กู้เงินจากประเทศจีนมาใช้จ่าย เวลานี้ข้ากันเงินไว้ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเงินสำหรับให้แก่ข้าราชการเป็นเบี้ยหวัดเงินปีที่คั่งค้างอยู่ อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ข้าเก็บรักษาไว้เพื่อเจ้าจะได้มีใช้จ่ายเมื่อเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะข้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินมาก่อนไม่มีเงินทองมีความลำบากมาก ข้าเห็นใจจึงไม่อยากให้เจ้าเป็นอย่างข้า แต่เรื่องที่จะต้องให้เจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มีอยู่ว่า เมื่อเจ้าหนี้เขามาทวงข้า เมื่อข้าพ้นจากความเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียแล้ว เจ้าก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้สินนี้แทนข้า เพราะเป็นคนละคนกัน
ที่ทำอย่างนี้ไม่ใช่เพราะข้าคิดจะโกงเขา แต่เขาจะเอาเราไปเป็นประเทศของเขา เขาคิดไม่ดีกับเราก่อน เราก็ต้องหาทางป้องกันรักษาประเทศของเราไว้ แต่การที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น จู่ ๆ จะยกให้เจ้าเป็นแล้วข้าสละราชสมบัติอย่างนั้นทำไม่ได้เพราะเขาจะรู้ทันแผนการของเรา เราจึงต้องใช้กุศโลบายที่แยบยล เวลานี้เมืองเขมรเกิดจลาจลข้าจะให้เจ้ากับเจ้าพระยาสุรสีห์น้องชายของเจ้ายกกองทัพไปปราบเมืองเขมร แล้วเวลาที่เจ้าไปก็ให้เอาลูกชายของข้าไปด้วย
ถ้าตีเมืองเขมรได้เมื่อไรก็ให้ลูกชายของข้าครองเมืองที่นั่น แล้วข้าอยู่ทางนี้ก็จะทำเป็นวิกลจริต แล้วก็จะแนะให้ข้าราชการบางคนที่นี่จับข้าบวชเสีย ข้าก็จะทำเป็นบ้าไม่สามารถปกครองประเทศต่อไปได้ เมื่อเจ้ามาก็ให้ทำพิธีปราบดาภิเษกเถลิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วเนรเทศข้าไปอยู่หัวเมืองเสีย เรื่องมันก็หมดเท่านี้ เรื่องหนี้สินต่าง ๆ ก็เป็นอันว่าหมดกันไป พระเถรเจ้า [พระเจ้าตาก – ผู้เขียน] เล่าเรื่องราวของธนบุรีที่ไม่มีในประวัติศาสตร์…”
ในเอกสารชิ้นที่ 3 เรื่องจริงอิงนิทาน พิเศษ ของ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ได้เขียนไว้ตามที่ คุณปรามินทร์ เครือทอง1, 7 ได้อ้างไว้ ผมไม่สามารถหาต้นฉบับได้ แต่ได้อ่านหนังสือญาณพระอริยะ : ไขปริศนาพระจ้าตาก ที่เขียนโดย ทิพยจักร7 ประกอบกับหนังสือพระเจ้าตากเบื้องต้น ของ คุณปรามินทร์ เครือทอง ได้บรรยายเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงอธิบายว่า “…ท่านกู้เงินเพื่อใช้ทำสงครามกับเจ้าสัวใหญ่ของจีน อีกไม่นานเจ้าสัวคนนี้จะกลับจากเมืองจีนมาทวงเงินจากบ้านเมืองของเรา ถ้าเราไม่ให้มีหวังได้รบกับเมืองจีนอีก ตอนนี้แผ่นดินจีนมีอำนาจมากกว่าเราเห็นจะชนะลำบาก บ้านเมืองก็ผ่านสงครามมามากบอบช้ำมามากแล้ว…
…พระเจ้าตากทรงวางแผนผลัดแผ่นดินไว้ว่า ให้พระยาจักรีไปปราบกบฏเมืองเขมรซึ่งกำลังแข็งข้อขึ้นพอดี การรบครั้งนี้ให้เอาลูกชายท่าน 2 คนไปด้วย ถ้ายึดเขมรได้เรียบร้อยให้เอาลูกชายท่านไปครองไว้ที่นั่นไม่ต้องเอาลงมาพระนครอีก
หลังจากที่พระยาจักรีไปปราบขบถเมืองเขมรพอดีท่านก็ทราบข่าวในพระนครว่าเกิดกบฏมีการจับตัวพระเจ้าตาก เนื่องจากพระเจ้าตากมีสติฟั่นเฟือน พระยาสรรค์เป็นคนจับตัว พอทราบข่าวเจ้าพระยาจักรีรีบลงมาปราบกบฏในเมืองทันที พอเข้ามาถึงพระนครมีการอัญเชิญให้พระยาจักรีขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระเจ้าตาก…
เมื่อพระยาจักรีขึ้นทำหน้าที่แล้วก็รับสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าตากสินโดยเอานักโทษมาประหารแทน พอตกดึกก็ส่งไปที่ปากท่อ ระหว่างนั้นให้ค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อให้พระเจ้าตากสามารถเจริญภาวนาได้ ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 เห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นสถานที่สัปปายะและปลอดภัยจึงจัดส่งพระเจ้าตากไปอยู่ที่นั่น
…ในขณะที่เจ้าสัวผู้มาทวงเงิน เมื่อเดินทางไกลโพ้นมาจากเมืองจีนด้วยเรือสำเภาขณะเมื่อเข้าใกล้พัทยาถูกลมทะเลตีจนเรืออับปาง จากนั้นก็โดนโจรสลัดปล้นฆ่า เป็นอันว่าไม่ได้มาถึงเมืองหลวงตายไปซะก่อน…”7
ในเอกสารชิ้นที่ 4 ญาณบารมีหลวงปู่โต รู้ความจริงจากหลวงปู่โต…ใครทุรยศพระเจ้าตากสิน10 ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้ค้นคว้าจากเอกสารหลายชิ้นคล้าย ๆ กับงานของ คุณปรามินทร์ เครือทอง1, 2
คุณเตโชไชยการไม่เชื่อว่าพระเจ้าตากทรงกู้เงินจากจีน โดยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า
“…ข้อมูลนี้ไม่น่าที่จะเป็นไปได้ เพราะการที่เป็นนักรบ ผู้กล้าเยี่ยงพระองค์นี้ [สมเด็จพระเจ้าตากสิน – ผู้เขียน] มีหรือที่จะกระทำการไปลักษณะขลาดเขลา…ยอมลงจากบัลลังก์ด้วยเหตุผลแบบนี้ [ผลัดแผ่นดินแล้วหนี้ที่ค้างคากันนั้นก็ต้องแล้วต่อกันไม่ผูกพันกันกับแผ่นดินใหม่ ทำให้มีเรื่องราวต่าง ๆ ปรากฏมากมาย อาทิ เสียพระสติวิปลาส มีการนำพระองค์ไปสำเร็จโทษ เป็นต้น]
ผมว่าประวัติศาสตร์หน้านี้เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นในชั้นหลัง ๆ และเป็นการหาข้อมูลสนับสนุนเพื่อให้ข้อมูลการลงจากบัลลังก์ของพระองค์ดูดี แต่ความเป็นจริง…ไม่ดีอย่างที่คิด เพราะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติมากกว่า เพราะเป็นถึงชนชั้นนำการปกครองระดับกษัตริย์ จะกล่าวว่าชักดาบไม่ยอมใช้หนี้ได้อย่างไร…”
คุณเตโชไชยการยังให้เหตุผลต่อไปว่า “…ตอนที่อยู่ในยุคระบบทุนนิยม หรือเริ่มมีระบบทุนเข้ามาจึงมองไปว่าการกู้จะต้องใช้เงินนับว่าเป็นข้อมูลที่ผิดและคลาดเคลื่อนอย่างมากและเป็นข้อมูลที่ไม่ควรเชื่ออีกต่อไป เพราะยิ่งเชื่อก็จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติมากขึ้นไปอีกกับการยืมเงินแล้วไม่ชดใช้ให้
การกู้เงินจากจีนของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงไม่น่าจะใช่เรื่องจริง…”
นอกจากนี้ คุณเตโชไชยการยังเขียนต่อไปอีกว่า “…ต้องไม่ลืมว่า เราจะเห็นแต่จีนนั้นคอยรับเครื่องบรรณาการมากกว่าที่จะอุปถัมภ์ในลักษณะอื่น โดยเฉพาะอาณาจักรเล็ก ๆ อย่างกรุงศรีอยุธยา เพราะเราเองก็หาได้เป็นเมืองขึ้นของจีนไม่
การทำศึกสงครามในพื้นที่นั้น ๆ เรื่องของเงินจะไม่มีความหมาย สิ่งที่มีความหมายมากที่สุดคือเสบียงอาหาร กำลังพล อาวุธ ส่วนเรื่องเงินแม้ใครที่มีมากก็ไม่สามารถนำเอามาใช้ได้ เว้นเสียแต่ทองคำเพียงอย่างเดียวที่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นกลางและสากลทั้งโลก
การทำศึกสงครามจะอาศัยเพียงแค่เสบียงอาหาร กำลังพล และอาวุธ เท่านั้นจริง ๆ หากบอกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะต้องกู้เงินเพื่อเอามากู้ชาติฟังดูแปลก เรื่องนี้จึงเป็นเพียงแค่เรื่องของจินตนาการเท่านั้น บ้านเมืองมีศึกสงครามจะเอาเงินไปซื้ออะไรได้ ใครที่ไหนจะออกมาทำค้าขาย…
หากเราเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้เงินจากจีน คำว่าจีนคำนี้หมายถึงอะไร
1 คนจีน (ที่อาศัยในเมืองไทย) 2 ประเทศจีนที่อยู่ไกลโพ้นทะเล
หากบอกว่า ยืมคนจีนที่อยู่ในแผ่นดินไทย ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ก็เพราะเมื่ออยุธยาล่มสลาย คนจีนส่วนหนึ่งก็ลงเรือล่องกลับประเทศจีน โดยเฉพาะพ่อค้า จะไหวตัวทันก่อนผู้อื่นทั้งสิ้น และหากเชื่อว่ากู้ยืมเงินจากประเทศจีนแล้วไม่มีเงินชดใช้ เลยต้องผลัดแผ่นดิน ยิ่งเป็นเหตุผลที่แย่มาก ๆ ใครก็ตามที่เชื่อกันว่า เป็นเพราะเหตุนี้ ผมว่าหากเราลองไปศึกษาประวัติศาสตร์ของจีนโดยแท้แล้วจะมองเห็นทันทีว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้เงินจากจีนมานั้น เป็นเพียงแค่ลิเกการเมืองฉากหนึ่งเท่านั้นจริง ๆ…
เพราะในยุคที่อยุธยาล่มสลายนั้นเป็นปลายรัชสมัยของจักรพรรดินามว่า เฉินหลง ซึ่งในขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ฟองสบู่แตก หรือถังแตกนั่นเอง เกิดจากมีขุนนางใหญ่คอร์รัปชั่นทุกรูปแบบและชอบแอบอ้างราชโองการเสมอ ๆ
ขุนนางคนนี้มีเงินสดและทองคำหลายร้อยไหทีเดียว กระทั่งสิ้นวาสนาของจักรพรรดิเฉินหลง จัดผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ลูกชายขึ้นมาครองราชย์แทน จึงได้กาหัวของขุนนางผู้นี้ไว้ เพราะทราบข้อมูลดีว่าเขาคอร์รัปชั่น ต่อมาสืบทราบในทางลับ จึงดำเนินการจับตัวและยึดทรัพย์มาเป็นจำนวนมาก
สุดท้ายก็ประหารชีวิตของขุนนางท่านนั้นด้วยวิธีที่พิสดาร
ประเทศจีนเกิดวิกฤตฟองสบู่ ไม่มีทางให้กู้เงินแน่นอน คนจีนในประเทศไทยที่เป็นพ่อค้าหนีกลับจีนหมด
ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเรื่องการกู้ยืมเงินจากจีนจึงเป็นเพียงตำนานเรื่องเล่าเท่านั้นเอง
หากเราจำกันได้ตามประวัติที่พระองค์ให้ทหารหาญกินข้าวแล้วทุบหม้อข้าวให้แตกเพื่อที่ว่าหากรบกับเมืองจันทร์แพ้ก็จะอดกันหมด ปรากฏว่ารบชนะ เมื่อเข้าเมืองจันทร์ได้นอกจากได้อาหาร อาวุธ กำลังพลแล้ว ยังได้ทรัพย์จากเมืองจันทร์อีกในคราวนั้น เพราะเมืองจันทร์เป็นเมืองอุดมสมบูรณ์
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กำลังคน กำลังทรัพย์ กำลังวัสดุในการต่อเรือพร้อมทั้งเรื่องของอาวุธพร้อมสรรพก็ที่เมืองจันทร์นี่เอง การตีเมืองจันทร์ยังมองในเชิงการศึกได้อีกว่า หากรบแพ้ยังสามารถหนีออกไปยังเขมรได้ ไปประเทศอื่น ๆ ได้อีก
ดังนั้นตำนานเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยืมกู้เงินจีนจึงเป็นเรื่องแต่งขึ้น ผมเขียนย้ำเรื่องนี้เพื่อที่จะให้ได้เห็นและเข้าใจอย่างชัดเจนว่า เลิกเชื่อเรื่องนี้ได้แล้วเพราะเป็นประวัติศาสตร์ทางความเชื่อที่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ”
หมู่บ้านที่ประสูติของบิดาพระเจ้าตากสิน ในอำเภอเท่งไฮ้ จังหวัดซัวเถา (ต้วน ลี่ เซิง, 2526)
เกี่ยวกับหนังสือของคุณเตโชไชยการนั้น ผมมีข้อสังเกตบางประการว่าจีนในยุคนั้นอาจจะไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจมากก็เป็นได้ เพราะคณะทูตได้รับพระราชทานของจากจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งเป็นจักรพรรดิจีนในขณะนั้นมากกว่าของที่ถวายแก่จักรพรรดิตามธรรมเนียมจีน7 แต่เหตุผลอื่นของคุณเตโชไชยการนั้นผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก
คราวนี้ผมขอประมวลทั้งหมดแล้วสรุปความเห็นของผมว่า “พระเจ้าตากไม่ได้ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากประเทศจีน” ที่ถูกอ้างว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้ในการผลัดแผ่นดิน โดยการสำเร็จโทษพระเจ้าตากจริง หรือมีตัวแทนก็ตามแต่ โดยเหตุผลของผม มีดังนี้
ก. การที่อ้างว่าหากผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชวงศ์แล้วก็ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าตากสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อหนี้ 60,000 ตำลึง
แต่จากหนังสือหมิงสือลู่–ชิงสือลู่9 บรรยายว่า “…การเมืองสยามสมัยต้นรัชกาลที่ 1 ในเอกสารชิงสือลู่ เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1782/พ.ศ. 2325 เป็นเวลาเดียวกันกับที่เรือคณะราชทูตสยามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล่นกลับมาถึงพระนครพร้อมกับสิ่งของมีค่าเต็มลำเรือ เรือทูตคณะนี้เป็นผลแห่งความเพียรพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าสิบสี่ปีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ติดต่อไปยังจีน แต่ถูกจีนตอบปฏิเสธมาทุกครั้ง กระทั่งครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1781/พ.ศ. 2324 จีนเพิ่งยอมรับสถานะกษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และยอมรับเครื่องราชบรรณาการจากสยาม
ปัญหาสำคัญที่จีนยกเป็นข้ออ้างในการไม่รับรองและไม่ติดต่อกับสยาม คือความชอบธรรมในการขึ้นเป็นกษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งจีนยึดมั่นในเรื่องการสืบสายเลือดวงศ์กษัตริย์เดิมอย่างเคร่งครัด ดังเห็นได้จากการตำหนิสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหลายครั้งที่ไม่ยอมสืบหาหรือยกเจ้านายในราชวงศ์เดิมขึ้นเป็นกษัตริย์…
…ดังนั้น เมื่อพระเจ้าเฉียนหลงทรงยอมรับสถานะของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในช่วงปีสุดท้ายของรัชกาล ภายหลังจากทรงพยายามอยู่หลายปี รัชกาลที่ 1 จึงทรงตระหนักดีว่าคงเป็นการยากที่จีนจะยอมรับการเปลี่ยนวงศ์กษัตริย์ใหม่ของสยามอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่จีนเพิ่งยอมรับสถานะราชวงศ์ธนบุรีไปไม่นาน และราชวงศ์จักรีคงต้องใช้เวลาอีกนานนับสิบปี กว่าที่จีนจะยอมรับรองและแต่งตั้งเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเผชิญมา
พระราชสาส์นฉบับแรกของพระองค์ที่ส่งไปเมืองจีนใน ค.ศ. 1782/พ.ศ. 2325 จึงระบุไว้ชัดเจนว่าพระองค์เป็น ‘พระราชโอรส’ ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยทรงเล่าให้ทางจีนทราบว่า ‘เจิ้งเจา พระบิดาประชวรถึงแก่พิราลัย’ ส่วนพระองค์คือ ‘เจิ้งหัว’ [แต้ฮั้ว – ภาษาแต้จิ๋ว] ผู้ได้รับการมอบหมายจากพระราชบิดาให้ปกครองดูแลอาณาประชาราษฎร์…”
นั่นก็คือรัชกาลที่ 1 ไม่ได้ทรงอ้างว่าเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ใหม่ แต่เป็นการสืบราชสมบัติต่อเนื่องกันมา ทำให้สมมติฐานที่ว่า “พระเจ้าตากทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึงจากประเทศจีน” ไม่เป็นความจริงนั่นเอง
นอกจากนี้ในหนังสือมหาราช 2 แผ่นดิน11 และหนังสือหมิงสือลู่–ชิงสือลู่9 เขียนไว้ว่า รัชกาลที่ 2-รัชกาลที่ 5 ก็ยังใช้แซ่แต้เดียวกันกับพระเจ้าตากอีกด้วย คือ
รัชกาลที่ 2 แต้ฮก (เจิ้งฝอ – ภาษาจีนกลาง) รัชกาลที่ 3 แต้ฮุด (เจิ้งฝู – ภาษาจีนกลาง) รัชกาลที่ 4 แต้เม้ง (เจิ้งหมิง – ภาษาจีนกลาง) รัชกาลที่ 5 แต้เจี่ย
ซึ่งผมเห็นว่าเหตุผลข้อ ก. นี้สำคัญที่สุดในการคัดค้านการกู้เงินของพระเจ้าตาก
ข. สืบเนื่องจากเหตุผลข้อ ก. คือเมืองจีนยังไม่ยอมรับฐานะของสยามในยุคกรุงธนบุรีแล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่เมืองจีน (ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้ากรุงจีน ขุนนาง หรือเจ้าสัวชาวจีน) จะยอมให้สยามกู้เงิน 60,000 ตำลึง เพราะการที่ยังไม่มีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันนั้นทำให้ไม่มีหลักประกันใด ๆ เลยว่าเงิน 60,000 ตำลึงที่ให้กู้ไปนั้นจะได้กลับคืนมา
ค. ในสมัยพระเจ้าตาก (พ.ศ. 2310-25) ได้ส่งคณะราชทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน 2 ครั้ง9 ครั้งแรก พ.ศ. 2320 ทรงส่งคณะทูต 3 คนโดยแต่งพระราชสาส์นถึงราชสำนักชิงว่า มีความประสงค์จะสถาปนาความสัมพันธ์กับราชวงศ์ชิง และได้คำตอบว่า “อนุญาตให้ดำเนินการได้”7
และครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2324 พระเจ้าตากทรงจัดแต่งคณะทูตคณะใหญ่โดยมีพระยาสุนทรอภัยเป็นราชทูต ไปเมืองจีน โดยมีเรือ 11 ลำ บรรทุกงาช้าง นอแรด ฝาง โดยเป็นเรือที่บรรทุกเครื่องราชบรรณาการ 4 ลำ เรือสินค้า 7 ลำ นอกจากนั้นยังมีฝางและงาช้างเป็นสิ่งของนอกบรรณาการ7
คณะทูตได้รับพระราชทานของจากจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งเป็นจักรพรรดิจีนในขณะนั้นมากกว่าของที่ถวายแก่จักรพรรดิตามธรรมเนียมจีน นอกจากนี้คณะทูตได้ซื้อถาดทองแดง เตาทองแดง วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง แต่เมื่อถึงสยามก็ปรากฏว่ามีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเป็นรัชกาลที่ 1 แล้ว7
คุณปรามินทร์ เครือทอง1 ได้อ้างเอกสารจดหมายเหตุที่บันทึกว่าการไป “จิ้มก้อง” ของคณะทูตสยามครั้งนี้ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 3,900,000 ตำลึง ดังนั้นทำไมพระเจ้าตากต้องแกล้งบ้า แกล้งตายเพื่อหนีหนี้เพียง 60,000 ตำลึง ยังเป็นข้อน่าสงสัยอยู่ในกรณีนี้
ดังนั้น หากสภาวะเศรษฐกิจในกรุงธนบุรีตกต่ำขนาดต้องกู้ยืมจีน 60,000 ตำลึงจริง ๆ แล้วก็ไม่ควรจะมีความสามารถส่งเรือที่บรรทุกเครื่องราชบรรณาการ 4 ลำ และเรือสินค้าอีก 7 ลำ ไปยังเมืองจีนได้อย่างแน่นอน
ง. ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และขุนนางในสมัยพระเจ้าตาก
เนื่องจากผมไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และขุนนางในสมัยพระเจ้าตาก ผมจึงขอยึดเอาเอกสารสมัยอยุธยาตอนปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ 2 ฉบับที่เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์13 และ นิโกลาส์ แชรแวส14 ประมาณ พ.ศ. 2231 หรือประมาณกว่า 80 ปี ก่อนยุคพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยผมตั้งสมมติฐานว่าทั้ง 2 ยุคนี้ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก โดย ลาลูแบร์13 ได้เขียนว่า
“…ไม่มีขุนนางคนใดในสยามที่ได้ค่าจ้างแรงงานเลย พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ พระราชทานที่อยู่อาศัยให้ ซึ่งก็มิใช่เรื่องใหญ่โตอะไรมากนักแล้วก็พระราชทานเครื่องอุปโภคลางสิ่งให้ เช่นหีบทองคำหรือหีบเงินสำหรับใส่หมากพลู พระราชทานสาตราวุธ เรือยาวลำหนึ่ง สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า และกระบือ เลกสมกำลังและเลกทาสสำหรับใช้สอย และที่ดินสำหรับทำเรือกสวนไร่นา แต่ของที่ได้รับพระราชทานทั้งปวงนี้ เมื่อต้องออกจากราชการเมื่อใดก็ต้องคืนกลับเป็นของหลวงทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาไปแล้วก็คล้ายกับว่า พระเจ้าแผ่นดินนั่นเองทรงเป็นทายาทของขุนนางทั้งปวง แต่รายได้สำคัญเกิดจากตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้นอยู่ที่การฉ้อราษฎร์บังหลวง…
…รายได้ของพระเจ้ากรุงสยามมีได้จากหลายทาง เช่น เงินภาษีอากร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภาษีอากรในตัวเมืองกับภาษีอากรค่านา ตัวอย่างภาษีเช่น
1. พื้นที่นาที่ประกอบการกสิกรรมได้ 40 ตารางวา เรียกอากรค่า 1 มะยนหรือเสี้ยวของบาทต่อปี แต่อากรนี้แบ่งครึ่งกับเจ้าเมือง (ถ้ามี) 2. ภาษีเรือต่อหรือเรือขุด โดยราษฎรจะต้องเสียเป็นพิกัดตามความยาวของลำเรือคิดวาละหนึ่งบาท 3. ภาษีขาเข้าและออก เรียกเก็บจากสรรพสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าหรือส่งออกทางด้านทะเล 4. อากรสุรา 5. อากรทุเรียน 6. อากรค้างพลู 7. อากรต้นหมาก 8. ภาษีอย่างใหม่ เช่น ภาษีโรงบ่อน”13
โดยมีพระคลังเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานผู้ใหญ่ว่าการกรมการพาณิชย์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ท่านเป็นผู้อำนวยการพระคลังมหาสมบัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามด้วย13 นอกจากจัดการเกี่ยวกับคลังสินค้าของพระมหากษัตริย์แล้ว “พระคลัง” ยังทำหน้าที่เป็นเอกอัครราชทูตและทำงานเกี่ยวกับการต่างประเทศทั้งสิ้น มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองประเทศด้านทะเลทั่วไป ตั้งแต่พิบพลี (เพชรบุรี) จรดถึงเทนนัสเซริม (ตะนาวศรี)14
เกี่ยวกับเรื่องเงินที่พระมหากษัตริย์ให้แก่ข้าราชการและทหารของพระองค์นั้น คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ4 ได้เขียนในหนังสือแผ่นดินพระเจ้าตาก โดยอ้างถึงจดหมายของบาทหลวงในสมัยกรุงธนบุรีได้เขียนไว้เกี่ยวกับเบี้ยหวัดเงินเดือนแก่ข้าราชการและทหาร ความว่า
“…เมื่อวันที่ 22 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2322 เป็นวันที่จะต้องแจกเบี้ยหวัดเงินเดือนแก่ข้าราชการและทหารที่เข้ารีต พระเจ้าตากจึงได้รับสั่งให้พวกนี้เข้าไปเฝ้าและได้รับสั่งว่าพวกนี้ไม่ได้ไปการทัพมาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นพวกนี้ไม่ได้ทำการใช้อาวุธอย่างใด จึงสมควรจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน [ข้อความตรงนี้ ผมว่าน่าจะผิด ที่ถูกน่าจะเป็นสมควรจะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน มากกว่า – ผู้เขียน] เพราะเงินพระราชทรัพย์ที่มีอยู่ในห้องพระคลังนั้นเป็นเงินที่พระเจ้าตากได้ทรงหามาได้ด้วยทรงกระทำการดีและทรงได้มาด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้า ก็เมื่อพวกเข้ารีตไม่ยอมทำการอย่างใดที่เกี่ยวด้วยการของพระพุทธเจ้าแล้ว พวกนี้ก็ไม่ควรได้รับเงินอย่างใด แต่ควรจะได้รับพระราชอาญาจึงจะถูก…”
จะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ในอดีตนั้นทรงมีรายได้มากกว่ารายจ่ายมากนัก แต่ก็อาจจะมีคนเถียงผมว่า ในสมัยพระเจ้าตากมีศึกสงครามเกือบตลอดรัชกาล แต่อย่าลืมว่าสงครามต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วเป็นสงครามที่ทรงปราบปรามศึกต่าง ๆ ที่อยู่ไกลจากธนบุรี ทำให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์สามารถทำมาหากินได้โดยไม่เดือดร้อน1
คุณปรามินทร์ เครือทอง15 ก็มีความเห็นสอดคล้องกับผู้เขียนโดยเห็นว่า
“…เป็นที่ทราบกันดีว่ากรุงธนบุรีต้องอยู่ในภาวะสงครามอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่การทำไร่ไถนาเมื่อต้นรัชกาลก็มักประสบปัญหา…”
แต่เมื่อถึงช่วงกลางรัชกาลเป็นต้นมา รัฐบาลกรุงธนบุรีก็สามารถจัดเก็บรายได้จากส่วนต่าง ๆ จนสามารถตั้งตัวได้ เช่นรายได้จากหัวเมืองขึ้นที่ทรงไปปราบ และยึดทรัพย์สินมาได้ครั้งละมาก ๆ ยังมีรายได้จากส่วยเมืองขึ้นการค้าต่างประเทศ มีการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก จดหมายบาทหลวงฝรั่งเศสกล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจกรุงธนบุรี เมื่อปีจุลศักราช 1141 ตอนปลายรัชกาลว่า
เวลานี้ในเมืองไทย การศึกสงครามได้สงบเงียบแล้ว พวกพม่าข้าศึกเก่าของเราไม่ได้คิดที่จะกลับมาตีเมืองไทยอีก และเสบียงอาหารข้าวปลา นาเกลือก็จะกลับบริบูรณ์ขึ้นอีกแล้ว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อถึงช่วงปลายรัชกาลกรุงธนบุรี การเฉลิมฉลองในงานต่าง ๆ มักจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ ใช้เงินทองจำนวนมาก เช่น งานเฉลิมฉลองพระแก้วมรกตในปีจุลศักราช 1141 เป็นงานใหญ่ใช้เงินจัดงานอย่างมหาศาล หรือแม้แต่ในเดือน 10 เดือน 11 ของปีฉลู “พระราชทานเงินคนยากจนแลข้าราชการน้อยใหญ่เป็นอันมาก” ซึ่งก็สอดคล้องกับความสามารถของกรุงธนบุรีที่ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องราชบรรณาการถึง 4 ลำ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อ ค. นั่นเอง
ดังนั้น รายได้ของพระเจ้าตากก็คงจะไม่น้อยไปกว่าพระมหากษัตริย์องค์อื่น ๆ ในอดีตเท่าไรนัก ความจำเป็นในการกู้ยืมเงิน 60,000 ตำลึง จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก
จ. การใช้แนวคิดของคนยุคปัจจุบันไปใส่ในความคิดของคนยุคกรุงธนบุรีทั้ง ๆ ที่บริบทต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาจทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ เช่น
จ.1 การกู้เงินจำนวนมาก (60,000 ตำลึง) นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าถ้าเมืองจีนยังไม่ยอมรับสยามในยุคพระเจ้าตากตั้งแต่ต้นดังที่ผมได้วิเคราะห์ไปแล้วในข้อ ข. นั้น แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่เมืองจีนจะให้สยามกู้เงิน
จ.2 ในเอกสารเรื่องจริงอิงนิทาน พิเศษ1, 7 ที่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้เขียนไว้นั้น ได้กล่าวถึงจีนเจ้าสัวเดินทางจากเมืองจีนเพื่อทวงเงินที่เมืองสยาม แต่สุดท้ายเรืออับปางและถูกโจรสลัดปล้นฆ่า ผมว่าเป็นเรื่องที่ดูจะไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก เพราะว่า เป็นถึงเจ้าสัวแต่ต้องเดินทางมาทวงเงินด้วยตนเอง ทั้งที่สามารถใช้ลูกน้องคนสนิทมาทวงเงินแทนได้โดยไม่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายจากการเดินทาง และถึงแม้ว่าเจ้าสัวเสียชีวิตก็น่าจะมีทายาทมาทวงเงินจากพระเจ้าตากต่อไปได้อยู่ดี ไม่ใช่ว่ายอมให้หนี้สูญไปอย่างนี้
จ.3 การที่จีนจะยกกองทัพมาตีกรุงสยามหากพระเจ้าตากไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้เป็นเรื่องค่อนข้างจะเพ้อฝันมาก เพราะระยะทางจากเมืองจีนมายังกรุงสยามเป็นระยะทางเกินกว่า 1,000 กิโลเมตร และอาณาเขตทั้ง 2 อาณาจักรยังไม่ติดต่อกัน ถ้าจะรบจีนต้องยกทัพผ่านหลายเมือง เช่น ลาว พม่า เป็นต้น
ฉ. เหตุผลที่ผมมีความเห็นสอดคล้องกับเหตุผลได้จากหนังสือของคุณเตโชไชยการ9 ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พระเจ้าตากทรงกู้เงินจากจีน กล่าวคือ
ฉ.1 การทำศึกสงครามไม่ได้ใช้เงินเป็นหลัก แต่ใช้เสบียงอาหาร กำลังพล และอาวุธ เป็นหลักมากกว่า ฉ.2 เมืองจีนในขณะนั้นกำลังเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ไม่น่าจะมีเงินให้กู้ยืมจำนวนมาก ฉ.3 พระเจ้าตากทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่กู้ชาติไทยจากพม่า ไม่น่าจะทรงกระทำการเบี้ยวหนี้ อันเป็นการเสียพระเกียรติอย่างยิ่งสำหรับกษัตริย์มหาราชเยี่ยงพระองค์
สรุป
ผมคิดว่าจากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากเมืองจีน เพราะว่าเมืองสยามกับเมืองจีนยังไม่ได้มีความสัมพันธไมตรีกันจนถึงปลายรัชกาลของพระองค์ โดยพระองค์ทรงส่งเครื่องราชบรรณาการถวายพระเจ้ากรุงจีนมากมาย 4 ลำเรือ
และในยุครัตนโกสินทร์โดยเฉพาะรัชกาลที่ 1 ทรงบอกทางจีนว่า พระเจ้าตากเป็นพระราชบิดาของพระองค์โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์แต่ประการใด
บรรณานุกรม
1 ปรามินทร์ เครือทอง. พระเจ้าตากเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.
2 ปรามินทร์ เครือทอง. บรรณาธิการ. ปริศนาพระเจ้าตากฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
3 วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง. รวมเรื่องสั้นใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2544.
4 วิบูล วิจิตรวาทการ. แผ่นดินพระเจ้าตาก. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2545.
5 ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์. ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2551.
6 สุทัสสา อ่อนค้อม. ความหลงในสงสาร. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2550.
7 ทิพยจักร. ญาณพระอริยะ ไขปริศนาพระเจ้าตาก. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : กรีน–ปัญญาญาณ, 2555.
8 สุภา ศิริมานนท์. ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข. พิมพ์ครั้งที่ 7. นนทบุรี : กรีน–ปัญญาญาณ, 2553.
9 วินัย พงศ์ศรีเพียร. หมิงสือลู่–ชิงสือลู่ : บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยามฯ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559.
10 เตโชไชยการ. ญาณบารมีหลวงปู่โต รู้ความจริงจากหลวงปู่โต…ใครทุรยศพระเจ้าตากสิน. กรุงเทพฯ : ปราชญ์, 2556.
11 น.นกยูง. มหาราช 2 แผ่นดิน. นนทบุรี : กรีน–ปัญญาญาณ, 2555.
12 ว.วรรณพงษ์, ภมรพล ปริเชฏฐ์. พระเจ้าตากสินยังไม่ตาย?. กรุงเทพฯ : คลังสมอง, 2558
13 ลาลูแบร์, มองซิเออร์ เดอ. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559. (แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร).
14 แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. (แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร)
15 ปรามินทร์ เครือทอง. ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
เรื่องที่ 354 พระคัมภีร์ใบลานนี้ ได้มาจากวัดบึงชนัง ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เป็นคัมภีร์อักษรขอมทั้งผูก ชื่อเรื่องแปลเป็นภาษาบาลี-ไทย ตัวอักษรหนังสือเป็นเส้นจาร ฉบับล่องชาติ ไม่มีไม้ประกับ มีทั้งหมด 9 ผูก หอฯ1-2,1ก-2ก,4,4ก,6,8-9เนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ เรื่องอานิสงส์ในการฟังธรรม ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนามีทั้งหมด 5 ประการ ได้แก่ 1. อสฺสุตํ สุณาติ คือ ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง, ได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้ 2. สุตํ ปริโยทเปติ คือ สิ่งที่เคยได้ฟัง ก็ทำให้แจ่มแจ้ง เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น 3. กงฺขํ วิหนติ คือ แก้ข้อสงสัยได้, บรรเทาความสงสัยเสียได้ 4. ทิฏฺฐึ อุชุ กโรติ คือ ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ 5. จิตฺตมสฺส ปสีทติ คือ จิตของเขาย่อมผ่องใส เลขทะเบียน จบ.บ.354/1-2:1ก-2ก,4:4ก
อ้วน สุจินต์ นิยม. ทุเรียนกวนแบบโบราณ. จันท์ยิ้ม. 2 , (4) :20 ; เม.ย. - พ.ค. 60.
ภายในเล่มเป็นการเล่าความถึงทุเรียนกวนแบบโบราณของคุณป้าอ้วน สุจินต์ นิยม ที่กวนทุเรียนแบบโบราณ มายาวนานกว่า 60 ปี ทุเรียนพันธุ์โบราณที่ใช้กวน จะมี กบ นกหยิบ พวงมณี กบสุวรรณ เป็นต้น คุณป้าเล่าอีกว่าสมัยก่อนทุเรียนพันธุ์โบราณหล่นเหลือเยอะ ก็เลยแกะเอาเม็ดออกแล้วนำมาใส่กระทะกวนน้ำตาลให้มีรสชาติหวานหน่อย สำหรับการกวนทุเรียนแบบโบราณนั้นจะใช้ไม้พายในการกวน คนกวนจะต้องออกแรงในการกวนอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญต้องระวังไม่ให้ก้นกระทะไหม้ กวนไปเรื่อยๆนานประมาณ 2-3 ชั่วโมง จนเนื้อทุเรียนเหนียวนุ่มเนียนละเอียด คุณป้าบอกด้วยว่า กวนทุเรียนมาตั้งแต่กระทะละ 10 -20 บาท ทุเรียนประมาณ 10 กิโลกรัมต่อกระทะ 1 วันก็จะได้ประมาณ 5 กระทะ เมื่อก่อนจะใช้ถ่านกับฟืนตั้งกระทะกวน ปัจจุบันหาคนกวนทุเรียนแบบโบราณได้ยากแล้ว เนื่องจากผู้ผลิตส่วนมากหันไปใช้เครื่องกวนแทน
ผู้แต่ง : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ฉบับพิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ ๕
สถานที่พิมพ์ : โรงพิมพ์พระจันทร์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๑๑
หมายเหตุ : พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางชะอุ่ม จุฑาสมิต
ตำนานพระปริตร
ตำนานพระปริตร เป็นคำอธิบายมูลเหตุที่จะเกิดมีราชปริตรและลักษณะการสวดพระปริตร ตำนานคณะสาธยาด ตำนานสาธยายธรรม ตำนานสาธยายปริตร พระปริตรภาณวาร ราชปริตรสวดพระพุทธมนต์ในประเทศสยาม สวดสาธยายพระธรรม สวดภาณวาร สวดพระปริตร สวดทำน้ำพระพุทธมนต์ มหาทิพมนต์ สวดพระพุทธมนต์เนื่องกับไสนศาสตร์ และสวดนวคหายุสมธรรม
ชื่อเรื่อง : มอญซ่อนสยาม : จากสาละวินถึงถิ่นแม่กลอง (เล่ม 1)
ความผูกพันสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน (เล่ม 2)
ลุ่มน้ำจากเหนือจรดใต้ (เล่ม 3)
ผู้เขียน : บุญยงค์ เกศเทศ
สำนักพิมพ์ : กากะเยีย
ปีพิมพ์ : 2561
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ : 978-616-7661-57-5 (ล.1)/978-616-7661-58-2 (ล.2)/978-616-7661-59-9 (ล.3)
เลขเรียกหนังสือ : 305.89593 บ532ม ล.1- ล.3
ประเภทหนังสือ : หนังสือทั่วไป
ห้องบริการ : ห้องหนังสือทั่วไป 1
สาระสังเขป : ชาติพันธุ์มอญ เริ่มสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่นราวพุทธศตวรรษที่ 12 ปรากฎชื่อเมืองสะเทิมหรือสุธรรมวดี ทะละ ตะวันเต หรือทวันเท หงสาวดี หรือพะโค เมาะตะมะ ในแถบลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำอิระวดี ต่อมาขยับขยายอาณาบริเวณไปยังลุ่มน้ำต่างๆ และตั้งถิ่นฐานในราชอาณาจักรสยาม โดยชาวมอญมีความเชี่ยวชาญด้านการทำนา ทำสวน การประมง นอกจากนี้ยังมีความชำนาญในด้านศิลปกรรมหลากหลายแขนง เช่น การปั้นดิน ภาชนะดินเผา การปั้นอิฐ (อิฐมอญ) การขึ้นล่องทางเรือ เป็นต้น รวมถึงอาหารการกิน ศิลปะ ภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวมอญสืบทอดมาจากบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่องยาวนาน "มอญซ่อนสยาม" เป็นสารคดีว่าด้วยชาติพันธ์ุมอญในอาณาจักรสยาม ซึ่งผู้เขียนได้ลงพื้นที่ภาคสนามเก็บข้อมูลทุกภูมิภาค จากการพบปะพูดคุยกับชาวมอญเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาในหลากหลายสาระ โดยมอญซ่อนสยามได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 เล่ม ประกอบด้วย "จากสาละวินถึงถิ่นแม่กลอง (เล่ม 1)" ได้แก่ พื้นภูมิความเป็นมา : ตำนานหินรูปหัวฤาษี ราชอาณาจักรมอญ มหาเจดีย์มุเตา ต้นบูซายัค เมืองมะละแหม่ง / ลุ่มน้ำแม่กลองตอนบน : สังขละบุรีหรือเมืองท่าขนุน ทองผาภูมิ มณีเมืองกาญจน์ ด่านเจดีย์สามองค์ บ้านม่วง ชุมชนมอญโบราณจากอดีตถึงปัจจุบัน / ลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง : มอญ บางช้าง ปากคลองอัมพวา จิตรกรรมฝาผนังอันทรงคุณค่าในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม ถนนเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นที่ดอนกระเบื้อง "ความผูกพันกับสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีน (เล่ม2)" ได้แก่ ความผูกพันกับสยาม ลุ่มน้พดจ้าพระยาและท่าจีน : ตำนานตุ่มสามโคก ชุมชนมอญวัดศาลาแดงเหนือเชียงรากน้อย เล่าย้อนมอญปากเกร็ด คลองบางหลวง วัดรามัญประดิษฐาราม ตำนานการสร้างเขื่อนนครเขื่อน ชุมชนมอญเสากระโดง วัดทองบ่อ ขนอนหลวง บางปะอิน / ลุ่มน้ำท่าจีน : วัดเกาะ ภูมิสถานคนมอญเมืองสมุทรสาคร ชุมชนกระทุ่มมืด วัดสโมสร คลองหม่อมแช่ม คลองบางกระดี่ แขวงแสมดำ บางขุนเทียน บางจะเกร็ง วัดศรัทธาธรรม เจ็ดริ้ว บ้านแพ้ว และ "ลุ่มน้ำจากเหนือจรดใต้ (เล่ม3)" ได้แก่ ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก-ปิง-วัง-ยม-น่าน ได้แก่ ป่ามะม่วง ชุมชนมอญน้ำปิงสมัยพระยาตาก หลากหลายสกุลมอญในเมืองระแหง บ้านหนองดู่-บ่อคาว-หนองคอบ วัดนามอญ ศรีสำโรง สุโขทัย / ลุ่มน้ำตะวันตก-สะแกกรัง ได้แก่ มอญทุ่งเข็น ตำบลทุ่งคอก ชุมชนมอญบ้านเก่า หนองฉาง เมืองอุทัยธานี จากตำบล บางมอญ ผ่านบางนา ถึงบางสงบ / ลุ่มน้ำตะวันออก-ปราจีนบุรี-บางปะกง : ตำนานขุนอินทร์ นายกองมอญ บ้านพระเพลิง ตำบลนกออก บ้านพลับพลา เมืองกระโทก คุ้งตำหนัก บางตะบูน มอญปลายแม่น้ำเพชรบุรี หม้อตะนน และ หม้อตาล ศิลปะภูมิปัญญาของคนมอญ / ลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง : บ้านคนเมืองใน ที่ไผ่พระ ใต้โค้งทุ่งอ่าว เมืองพุนพิน สุราษฎร์ธานี ตำนานพญาท่าข้าม แม่น้ำสองสี ตาปี-พุมดวง คนมอญ ปรากฎในจารึกพงศาวดารเมืองนครฯ และวัดท่ามอญ ต้นตระกูลมอญ ตำบลท่าประตูช้าง ซึ่งทั้ง 3 เล่มมีเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงถึงกันทุกเล่มทุกเรื่องราวเสมือนเป็นบันทึกชุมชนมอญในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคที่น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของผู้คนชาวมอญที่ทรงคุณค่าควรแก่ศึกษาและถ่ายทอดสืบต่อไปของชาวมอญในประเทศไทย
เรื่องเล่าจากคลังโบราณวัตถุ : หอยเบี้ย ค้นคว้า/เรียบเรียง/กราฟิก : น.ส.ชุติณัฐ ช่วยชีพ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
***บรรณานุกรม***
ผดุงถิ่นยุคข่าวเศรษฐกิจ
ปีที่ 15(6)
ฉบับที่ 646(240)
วันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2534
ชื่อเรื่อง : ไกลบ้าน เล่ม 1-2 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อผู้แต่ง : จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ ปีที่พิมพ์ : 2497 สถานที่พิมพ์ : กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์คุรุสภา จำนวนหน้า : 1,082 หน้า สาระสังเขป : หนังสือไกลบ้าน เล่ม 1-2 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเล่มนี้ กล่าวถึงการเสด็จไปยุโรปครั้งหลัง ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพรรณาถึงสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทอดพระเนตรเห็น และกิจการที่ทรงทราบ รวมทั้งกระแสพระราชวินิจฉัยในเรื่องนั้น ๆ พรรณาว่าด้วยถิ่นฐานบ้านเมือง แลบรรยายถึงขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของนานาประเทศ
วัดอาวาสใหญ่เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยฐานไพที ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ เป็นฐานไพทีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง ๑.๒๐ เมตร หักมุมฉากเป็นรูปตัว L จำนวน ๒ ฐาน บนฐานไพทีมีฐานเจดีย์รายทรงระฆังฐานละ ๘ องค์ถัดไปทางทิศตะวันตกเป็นวิหารประธานขนาด ๗ ห้อง ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้น ๓ ทาง คือ ด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศใต้ ผนังด้านข้างก่อด้วยศิลาแลงเป็นราวลูกกรงเตี้ย ๆ สูง ๐.๔๕ เมตร ในลักษณะเดียววัดพระสี่อิริยาบถ ส่วนของฐานวิหารที่อยู่ด้านบนมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดจากวิหารไปทางทิศตะวันตกเป็นเจดีย์ประธาน สร้างติดกับฐานวิหาร มีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม ฐานล่างสุดเป็นแบบฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวแปดเหลี่ยมย่อมุม ต่อด้วยฐานบัวที่มีการยืดส่วนหน้ากระดานท้องไม้ให้เป็นผนังสูงประดับลูกแก้วอกไก่สองแถว ส่วนยอดเจดีย์ที่ถัดขึ้นไปพังทลาย ไม่ปรากฏรูปทรงเดิมที่แน่ชัด ฐานเจดีย์ประธานของวัดอาวาสใหญ่มีความคล้ายกับฐานเจดีย์ประธานของวัดเจดีย์สูงและวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามที่เมืองสุโขทัย สันนิษฐานได้ว่าส่วนยอดของเจดีย์ประธานของวัดอาวาสใหญ่อาจมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบวัดเจดีย์สูงและวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม ด้านทิศตะวันออกของวัดอาวาสใหญ่มีบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ประชาชนในท้องถิ่นเรียกกันว่า “บ่อสามแสน” มีขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๑๖.๕๐ เมตร ลึก ๖.๐ เมตร โดยเป็นการขุดลึกลงไปในชั้นของศิลาแลง เพื่อนำศิลาแลงมาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคารภายในวัดและปรับให้บ่อศิลาแลงนั้น เป็นบ่อน้ำในภายหลัง บ่อสามแสนเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดกำแพงเพชรที่นำมาเป็นน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ระบุถึงการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ โดยได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ดังนี้ “…ต่อนั้นไปจึงถึงวัดใหญ่ซึ่งมีวิหารอย่างเดียวกัน กลางเป็นรูปไม้สิบสอง จะเป็นเจดีย์ฤๅปรางค์อันใดพังเสียฤๅไม่แล้ว ด้านหลังก็เป็นวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง ในลานวัดนั้นเต็มไปด้วยพระเจดีย์ ที่เป็นฐานเดียวกันหลายๆ องค์บ้างองค์เดียวบ้าง ลักษณะเดียวกับวัดหน้าพระธาตุลพบุรีแลวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจะเป็นวัดอื่นนอกจากวัดหน้าพระธาตุไม่ได้เลย วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมี ข้างหน้าวัดมีสระ ๔ เหลี่ยม กว้างยาวลึกประมาณสัก ๕ วา ขุดลงไปในแลงเหมือนอ่างศิลา ไม่มีรอยก่อเลย มีห้องฝาแลงกั้นสำหรับพระสรงน้ำ คงจะใช้โพงคันชั่ง น้ำในนั้นมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้...” การเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๗มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ดังนี้ “…ทั้งที่กำแพงและที่ประตูมีรูปสลักเป็นยักษ์บ้าง เทวดาบ้าง ฝีมือการแกะสลักงดงามน่าดูมาก…บ่อนั้นหาได้มีสิ่งอะไรก่อเป็นผนังไม่ ที่แผ่นดินตรงนั้นเป็นแลง ขุดบ่อลงไปในแลง ข้าง ๆ บ่อนั้น พอถูกอากาศก็แข็งเป็นศิลา จึงดูเหมือนก่อเรียบร้อย เพราะฉะนั้นเป็นของควรดูอย่างหนึ่งและเมื่อดูแล้วจะออกรู้สึกอิจฉาว่าเขาทำบ่อได้ดีและถาวร...” “วัดอาวาสใหญ่” เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในทรัพยากรการก่อสร้าง ความปราดเปรื่องในสรรพวิชางานฝีมือที่ปรากฏให้เห็นเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม ตลอดจนเรื่องราวที่ถูกบันทึกผ่านทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ล้วนแล้วแต่เป็นประจักษ์พยานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี. ---------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ---------------------------------------------------เอกสารอ้างอิง กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.