เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
วัดอาวาสใหญ่ เมืองกำแพงเพชร
วัดอาวาสใหญ่เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยฐานไพที ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ เป็นฐานไพทีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง ๑.๒๐ เมตร หักมุมฉากเป็นรูปตัว L จำนวน ๒ ฐาน บนฐานไพทีมีฐานเจดีย์รายทรงระฆังฐานละ ๘ องค์ถัดไปทางทิศตะวันตกเป็นวิหารประธานขนาด ๗ ห้อง ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้น ๓ ทาง คือ ด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศใต้ ผนังด้านข้างก่อด้วยศิลาแลงเป็นราวลูกกรงเตี้ย ๆ สูง ๐.๔๕ เมตร ในลักษณะเดียววัดพระสี่อิริยาบถ ส่วนของฐานวิหารที่อยู่ด้านบนมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป
ถัดจากวิหารไปทางทิศตะวันตกเป็นเจดีย์ประธาน สร้างติดกับฐานวิหาร มีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม ฐานล่างสุดเป็นแบบฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวแปดเหลี่ยมย่อมุม ต่อด้วยฐานบัวที่มีการยืดส่วนหน้ากระดานท้องไม้ให้เป็นผนังสูงประดับลูกแก้วอกไก่สองแถว ส่วนยอดเจดีย์ที่ถัดขึ้นไปพังทลาย ไม่ปรากฏรูปทรงเดิมที่แน่ชัด ฐานเจดีย์ประธานของวัดอาวาสใหญ่มีความคล้ายกับฐานเจดีย์ประธานของวัดเจดีย์สูงและวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามที่เมืองสุโขทัย สันนิษฐานได้ว่าส่วนยอดของเจดีย์ประธานของวัดอาวาสใหญ่อาจมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบวัดเจดีย์สูงและวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม
ด้านทิศตะวันออกของวัดอาวาสใหญ่มีบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ประชาชนในท้องถิ่นเรียกกันว่า “บ่อสามแสน” มีขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๑๖.๕๐ เมตร ลึก ๖.๐ เมตร โดยเป็นการขุดลึกลงไปในชั้นของศิลาแลง เพื่อนำศิลาแลงมาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคารภายในวัดและปรับให้บ่อศิลาแลงนั้น เป็นบ่อน้ำในภายหลัง บ่อสามแสนเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดกำแพงเพชรที่นำมาเป็นน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ระบุถึงการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ โดยได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ดังนี้
“…ต่อนั้นไปจึงถึงวัดใหญ่ซึ่งมีวิหารอย่างเดียวกัน กลางเป็นรูปไม้สิบสอง จะเป็นเจดีย์ฤๅปรางค์อันใดพังเสียฤๅไม่แล้ว ด้านหลังก็เป็นวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง ในลานวัดนั้นเต็มไปด้วยพระเจดีย์ ที่เป็นฐานเดียวกันหลายๆ องค์บ้างองค์เดียวบ้าง ลักษณะเดียวกับวัดหน้าพระธาตุลพบุรีแลวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจะเป็นวัดอื่นนอกจากวัดหน้าพระธาตุไม่ได้เลย วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมี ข้างหน้าวัดมีสระ ๔ เหลี่ยม กว้างยาวลึกประมาณสัก ๕ วา ขุดลงไปในแลงเหมือนอ่างศิลา ไม่มีรอยก่อเลย มีห้องฝาแลงกั้นสำหรับพระสรงน้ำ คงจะใช้โพงคันชั่ง น้ำในนั้นมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้...”
การเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๗มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ดังนี้
“…ทั้งที่กำแพงและที่ประตูมีรูปสลักเป็นยักษ์บ้าง เทวดาบ้าง ฝีมือการแกะสลักงดงามน่าดูมาก…บ่อนั้นหาได้มีสิ่งอะไรก่อเป็นผนังไม่ ที่แผ่นดินตรงนั้นเป็นแลง ขุดบ่อลงไปในแลง ข้าง ๆ บ่อนั้น พอถูกอากาศก็แข็งเป็นศิลา จึงดูเหมือนก่อเรียบร้อย เพราะฉะนั้นเป็นของควรดูอย่างหนึ่งและเมื่อดูแล้วจะออกรู้สึกอิจฉาว่าเขาทำบ่อได้ดีและถาวร...”
“วัดอาวาสใหญ่” เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในทรัพยากรการก่อสร้าง ความปราดเปรื่องในสรรพวิชางานฝีมือที่ปรากฏให้เห็นเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม ตลอดจนเรื่องราวที่ถูกบันทึกผ่านทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ล้วนแล้วแต่เป็นประจักษ์พยานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี.
---------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
---------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 2906 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน