วัดอาวาสใหญ่ เมืองกำแพงเพชร
          วัดอาวาสใหญ่เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก
           สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยฐานไพที ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ เป็นฐานไพทีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง ๑.๒๐ เมตร หักมุมฉากเป็นรูปตัว L จำนวน ๒ ฐาน บนฐานไพทีมีฐานเจดีย์รายทรงระฆังฐานละ ๘ องค์ถัดไปทางทิศตะวันตกเป็นวิหารประธานขนาด ๗ ห้อง ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้น ๓ ทาง คือ ด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศใต้ ผนังด้านข้างก่อด้วยศิลาแลงเป็นราวลูกกรงเตี้ย ๆ สูง ๐.๔๕ เมตร ในลักษณะเดียววัดพระสี่อิริยาบถ ส่วนของฐานวิหารที่อยู่ด้านบนมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป
           ถัดจากวิหารไปทางทิศตะวันตกเป็นเจดีย์ประธาน สร้างติดกับฐานวิหาร มีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม ฐานล่างสุดเป็นแบบฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวแปดเหลี่ยมย่อมุม ต่อด้วยฐานบัวที่มีการยืดส่วนหน้ากระดานท้องไม้ให้เป็นผนังสูงประดับลูกแก้วอกไก่สองแถว ส่วนยอดเจดีย์ที่ถัดขึ้นไปพังทลาย ไม่ปรากฏรูปทรงเดิมที่แน่ชัด ฐานเจดีย์ประธานของวัดอาวาสใหญ่มีความคล้ายกับฐานเจดีย์ประธานของวัดเจดีย์สูงและวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามที่เมืองสุโขทัย สันนิษฐานได้ว่าส่วนยอดของเจดีย์ประธานของวัดอาวาสใหญ่อาจมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบวัดเจดีย์สูงและวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม
           ด้านทิศตะวันออกของวัดอาวาสใหญ่มีบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ประชาชนในท้องถิ่นเรียกกันว่า “บ่อสามแสน” มีขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๑๖.๕๐ เมตร ลึก ๖.๐ เมตร โดยเป็นการขุดลึกลงไปในชั้นของศิลาแลง เพื่อนำศิลาแลงมาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคารภายในวัดและปรับให้บ่อศิลาแลงนั้น เป็นบ่อน้ำในภายหลัง บ่อสามแสนเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดกำแพงเพชรที่นำมาเป็นน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
           พระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ระบุถึงการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ โดยได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ดังนี้
           “…ต่อนั้นไปจึงถึงวัดใหญ่ซึ่งมีวิหารอย่างเดียวกัน กลางเป็นรูปไม้สิบสอง จะเป็นเจดีย์ฤๅปรางค์อันใดพังเสียฤๅไม่แล้ว ด้านหลังก็เป็นวิหารใหญ่อีกหลังหนึ่ง ในลานวัดนั้นเต็มไปด้วยพระเจดีย์ ที่เป็นฐานเดียวกันหลายๆ องค์บ้างองค์เดียวบ้าง ลักษณะเดียวกับวัดหน้าพระธาตุลพบุรีแลวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจะเป็นวัดอื่นนอกจากวัดหน้าพระธาตุไม่ได้เลย วัดนี้ดูบริบูรณ์มากกว่าวัดอื่น ซุ้มประตูใหญ่น้อยก็ยังมี ข้างหน้าวัดมีสระ ๔ เหลี่ยม กว้างยาวลึกประมาณสัก ๕ วา ขุดลงไปในแลงเหมือนอ่างศิลา ไม่มีรอยก่อเลย มีห้องฝาแลงกั้นสำหรับพระสรงน้ำ คงจะใช้โพงคันชั่ง น้ำในนั้นมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้...”
          การเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๗มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ ดังนี้
          “…ทั้งที่กำแพงและที่ประตูมีรูปสลักเป็นยักษ์บ้าง เทวดาบ้าง ฝีมือการแกะสลักงดงามน่าดูมาก…บ่อนั้นหาได้มีสิ่งอะไรก่อเป็นผนังไม่ ที่แผ่นดินตรงนั้นเป็นแลง ขุดบ่อลงไปในแลง ข้าง ๆ บ่อนั้น พอถูกอากาศก็แข็งเป็นศิลา จึงดูเหมือนก่อเรียบร้อย เพราะฉะนั้นเป็นของควรดูอย่างหนึ่งและเมื่อดูแล้วจะออกรู้สึกอิจฉาว่าเขาทำบ่อได้ดีและถาวร...”
          “วัดอาวาสใหญ่” เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในทรัพยากรการก่อสร้าง ความปราดเปรื่องในสรรพวิชางานฝีมือที่ปรากฏให้เห็นเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม ตลอดจนเรื่องราวที่ถูกบันทึกผ่านทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ล้วนแล้วแต่เป็นประจักษ์พยานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี.




















---------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
---------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 3028 ครั้ง)

Messenger