ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,775 รายการ
ชื่อเรื่อง สตฺตปฺปกรณาภิธมฺมเทสนา (เทสนาสังคิณี-มหาปัฎฐาน)สพ.บ. 125/2ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 42 หน้า กว้าง 5 ซ.ม. ยาว 53 ซ.ม. หัวเรื่อง พระอภิธรรม
บทคัดย่อ/บันทึก
เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม เส้นจาร ฉบับล่องชาด ได้รับบริจาคมาจากวัดประสพสุข ต.ทับตีเหล็ก อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี
เทวดาหมายถึง ผู้ที่อยู่ต่างภพกับมนุษย์และมีอำนาจเหนือธรรมชาติ ดลบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นได้ทั้งร้ายและดี ในประเทศไทยคำว่า “เทวดา” เป็นคำยืมจากภาษาบาลี ซึ่งโดยความหมายแล้วกินความตั้งแต่เทวดาหรือเทพเจ้าในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) พุทธศาสนา รวมไปถึงเทวดาประจำถิ่นตามความเชื่อพื้นเมืองด้วย
ในดินแดนไทย คำว่าเทวดาหรือเทพยดาปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชความว่า “... มีพระขะพุงผี เทพยดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้...” ซึ่งในศิลาจารึกนี้ คำว่าเทวดาและผีจะถูกใช้ปะปนกันไป โดยเชื่อว่า คำว่า ผี น่าจะมีใช้มาก่อนคำว่า เทวดา อันเป็นคำในอารยธรรมอินเดียซึ่งแพร่เข้ามาในชั้นหลัง ต่อมาในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุมปรากฏว่ามีคำว่า ผีฟ้าเพิ่มเข้ามา ดังข้อความในจารึกว่า “... เมื่อก่อนผีฟ้าเจ้าเมืองสรีโสธรปุระ ...” จะเห็นได้ว่า คำว่าผีฟ้าในที่นี้มีความหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคติการนับถือพระเจ้าแผ่นดินในฐานะสมมติเทพมีอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว
การเกิดขึ้นของความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาในชั้นเดิมนั้น คงเริ่มจากการที่มนุษย์พิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติแล้วเห็นว่า อาจจะมีสิ่งใดบันดาลเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้น เทวดาในระยะแรกจึงสะท้อนลักษณะของธรรมชาติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เทวดาในลักษณะนี้เป็นบุคลาธิษฐานของอำนาจแห่งธรรมชาตินั่นเอง เช่น พระอัคนี (ไฟ) พระวรุณ (ฝน) เป็นต้น ในระยะแรกนี้ พิธีพลีกรรมหรือบวงสรวงต่อเทวดายังไม่มีความซับซ้อน ดังเช่น อาจตั้งสำรับอาหารไว้กับพื้นดินแล้วเชิญเทวดาลงมาเสวยเพียงเท่านั้น ต่อเมื่อชาวอารยันได้เข้ามาตั้งรกรากในเขตประเทศอินเดียแถบลุ่มแม่น้ำสินธุตอนบนราว ๖๕๐ ปีก่อนคริสตกาล จึงได้พัฒนาความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาจนกลายเป็นศาสนาพราหมณ์ขึ้น ซึ่งความเชื่อนี้ได้แพร่เข้ามาในดินแดนไทยในกาลต่อมา ความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาเนื่องในศาสนาพราหมณ์นี้เองที่ทำให้พิธีพลีกรรมหรือการบวงสรวงมีขั้นตอนและหลักการที่พิสดารซับซ้อนมากขึ้น
จากเดิมที่เทวดามีลักษณะพื้นฐานเกี่ยวพันกับธรรมชาติ ต่อมาในสมัยหลังโดยเฉพาะในศาสนาพราหมณ์ เทวดาบางองค์ได้ปรากฏขึ้นในลักษณะเฉพาะตน โดยที่เทวดาแต่ละองค์จะมีหน้าที่หรือลักษณะที่สำคัญแตกต่างกันไปด้วย เช่น พระพรหมได้รับการนับถือในฐานะเทพผู้สร้าง พระสุรัสวดีได้รับการนับถือว่าเป็นเทพแห่งสรรพวิทยา เป็นต้น โดยนัยนี้ ลักษณะที่เป็นสภาวะธรรมชาติที่เคยมีอยู่ได้ค่อยๆเลือนไป และภาวะที่แสดงถึงความเป็นเทพเช่น ความศักดิ์สิทธิ์จะโดดเด่นขึ้นมาแทน อย่างไรก็ดี ลักษณะที่เทวดาหรือเทพทั้งหลายมีร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเทวดาในฝ่ายร้ายหรือดีคือ ทรงไว้ซึ่งพลังอำนาจเหนือมนุษย์
ทั้งนี้ ในการนับถือเทวดาว่าองค์ใดมีสถานะเหนือองค์ใดหรือองค์ใดเป็นใหญ่ที่สุดนั้นจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นหรือกลุ่มชน เช่น ในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายจะนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ส่วนลัทธิไวษณพนิกายจะนับถือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นต้น
ในวัฒนธรรมไทย สามารถจำแนกได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเทวดามีอยู่ด้วยกัน ๓ กลุ่มคือ
๑. เทวดาในพุทธศาสนา
๒. เทวดาในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู
๓. เทวดาประจำถิ่นหรือประจำท้องถิ่น
๑. เทวดาในพุทธศาสนา คัมภีร์และอรรถกถาในพุทธศาสนาหลายเรื่องระบุว่ามีเทวดาหรือเทพต่างๆเป็นอันมากและจัดแยกเป็นกลุ่มไว้ชัดเจนดังปรากฏใน ไตรภูมิพระร่วง อันเป็นวรรณคดีสำคัญทางพุทธศาสนาของไทย แม้ในพระไตรปิฎกก็มีเนื้อความเกี่ยวกับเทวดาอยู่หลายเรื่อง เช่น ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค สิกขาบทที่ ๑ แห่งภูตคามวรรค ทั้งนี้เทวดาในพุทธศาสนามีกำเนิดที่แตกต่างจากเทวดาในศาสนาพราหมณ์ (กล่าวคือ เทวดาในศาสนาพราหมณ์บางส่วนเกิดโดยสยมภูหรือกำเนิดขึ้นมาเอง) ทว่า การกำเนิดเป็นเทวดาในพุทธศาสนานั้นเนื่องมาจากผลแห่งกุศลกรรม คือการจะถือกำเนิดเป็นเทวดาได้จะต้องกระทำความดีประการต่างๆ เช่น ทำบุญรักษาศีล ปฏิบัติสมาธิ ข้อสำคัญคือเทวดาในพุทธศาสนาย่อมอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม
เทวดาในพุทธศาสนาอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มคือ ๑. สมมติเทพ คือ กษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระราชา ซึ่งทรงมีอำนาจเปรียบประดุจเทวดา ๒. อุปปัตติเทพ คือ เทวดาผู้อยู่อีกภพหนึ่งโดยนับตั้งแต่เทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกภูมิขึ้นไปจนตลอด ๒๖ ชั้น ๓. วิสุทธิเทพ คือ พระขีณาสพซึ่งแบ่งได้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์
ในพระพุทธศาสนา ทวยเทพย่อมมาน้อมนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อสดับฟังพระธรรมเทศนา บางครั้งก็จะเข้าเฝ้าทูลถามข้อธรรมะ ในแง่นี้ วิสุทธิเทพจึงทรงไว้ซึ่งสถานะที่เด่นกว่าเทพทั้งหลาย บทบาทของเทวดาในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์จึงแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย เช่น พระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราชเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา กระทั่งในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชก็มีการกล่าวว่าพระอินทร์ลงมาช่วยหล่อจนสำเร็จ หรือท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นราชาของพรหมก็มีบทบาทในการผดุงพระธรรมในพุทธศาสนา เหล่านี้เป็นต้น
๒. เทวดาในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู คติจักรวาลวิทยาในคัมภีร์พระเวทได้ปรากฏความคิดหลายประการว่าด้วยการสร้างโลกและกำเนิดของเทวดา ซึ่งจุดร่วมของความเชื่อในพระเวทนี้ถือว่า มีเทพสูงสุดเพียงองค์เดียวซึ่งทรงสร้างทุกสิ่งทั้งเทพและอสูร และเทวดาต่างๆเหล่านี้เป็นอมตะ คือไม่มีวันสิ้นชีวิต ซึ่งแตกต่างจากเทวดาในพุทธศาสนาที่ยังคงอยู่ในวัฏสังสาร ทั้งนี้เทวดาในศาสนาพราหมณ์ยังมีอำนาจอันถาวรอีกด้วย
ตามพระเวทนั้น เทวดาเป็นที่มาของความมั่งคั่ง อำนาจ และคุณธรรม โดยคุณสมบัติที่สำคัญของเทวดาแต่ละองค์จะต่างกันไป และในแง่หนึ่งเทวดาในพระเวทคือ วิถีทางที่องค์เทพสูงสุดจะสำแดงองค์ให้มนุษย์ได้ประสบกับอำนาจที่เทวดาหรือเทพทั้งหลายมีอยู่ และอำนาจนั้นจะสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับอำนาจที่ปกครองสกลจักรวาล๓. เทวดาประจำถิ่นหรือประจำท้องถิ่น ในประเพณีไทยเทวดาประจำท้องถิ่นนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ เทวดาที่คอยดูแลรักษาประจำถิ่นที่ เช่น พระภูมิเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าป่า เจ้าเขา ซึ่งเป็นใหญ่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ บ้างก็เรียกว่า เทพารักษ์ หากเป็นกรณีเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้เรียกว่า รุกขเทวดา นอกจากนี้ ในหลายกรณี เมื่อบรรพบุรุษของครอบครัวหรือชุมชนเสียชีวิตลงก็อาจมีการยกย่องให้เป็นผีบรรพบุรุษ ซึ่งอาจรวมได้เป็นเทวดาประจำท้องถิ่นประเภทหนึ่งด้วย
นอกจากเทวดาประจำถิ่นที่ คติความเชื่อของไทยยังมีการนับถือเทวดาประจำเมืองอีกด้วย โดยเมื่อสถาปนาบ้านเมืองขึ้นครั้งแรกก็ต้องตั้งศาลหรือหอขึ้นไว้เพื่อเป็นที่สถิตของผีบ้านผีเมือง บางครั้งเราก็เรียกขานเทวดาประเภทนี้ว่า ผีเสื้อเมืองหรือ พระเสื้อเมือง บ้างก็เรียกว่า ผีหลวง ทั้งนี้ ยังมีเทวดาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับการนับถือด้วยว่าเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก เช่น พระแม่คงคา พระแม่โพสพ เป็นต้น
สำหรับคติในการบูชาบวงสรวงเทวดานั้นสามารถพบได้ในพิธีและประเพณีหลายอย่างของไทย นัยว่าหากเราต้องดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับพื้นที่หรือสิ่งใด รวมถึงถ้าจะทำกิจการงานใดเป็นพิเศษ ก็จำต้องสังเวยบอกกล่าวให้เทวดาทราบ เพื่อความสุขสวัสดีหรือบันดาลการบรรลุผลสำเร็จตามแต่กรณี มิฉะนั้นหากมิได้บวงสรวงสังเวยหรือปฏิบัติผิดจารีตธรรมเนียม เทวดาอาจจะบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ร้ายต่างๆได้ การบวงสรวงสังเวยนี้ มีอาทิ การตั้งศาลหรือหอ ในกรณีของเทวดาพระภูมิเจ้าที่ การไหว้ครู ในกรณีของเทวดาแห่งศิลปวิทยาต่างๆ การบวงสรวงเมื่อจะทำการตัดโค่นไม้ใหญ่ ในกรณีของรุกขเทวดา หรือหากคนไทยสมัยก่อนจะปลูกเรือนก็ต้องบวงสรวงทำบัตรพลีไหว้พระภูมิเจ้าที่เพื่อขอที่ดินต่อผู้รักษาพื้นดินก่อน บัตรพลีดังกล่าวมีหมากพลู มะพร้าวอ่อน ขนมต้ม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คติในการบูชาบวงสรวงเทวดานั้นจะพบเห็นโดยมากในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และความเชื่อท้องถิ่น ในพุทธศาสนานั้น การบูชาเทวดามิได้มีระบุไว้ในพระบาลีแต่อย่างใด และแม้ชาวพุทธจะทำการบูชาเทวดาหรือเทพ ก็จะให้สถานะด้อยกว่าพระพุทธรูป เช่นในบ้านเรือนทั่วไป หิ้งบูชาพระจะอยู่เหนือแท่นบูชาทวยเทพต่างๆ โดยที่ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ การบูชาเทวดามีหลักการปฏิบัติกำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งพิธีจำนวนมากต้องให้พราหมณ์เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างผู้บวงสรวงกับเทพเจ้า แม้ในสังคมไทยปัจจุบันคติการบูชาเทวดาก็มิได้เสื่อมถอยลงไปแม้แต่น้อย ดังจะเห็นได้จากศาลเทพเจ้าขนาดใหญ่ที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าไปสักการะกราบไหว้
กล่าวโดยสรุป คติความเชื่อเรื่องเทวดาหรือเทพเจ้าในสังคมไทยนี้มีมาแต่ครั้งก่อนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย โดยในชั้นต้นความเชื่อเรื่องเทวดาน่าจะมีอยู่ในรูปของเทวดาประจำถิ่น หรือเทวดาที่เกี่ยวพันกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่แล้วครั้นเมื่อชาวไทยยอมรับนับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเรื่องเทวดาจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบที่ชัดเจนโดยเฉพาะในคติทางศาสนาพราหมณ์อย่างไรก็ตาม คติความเชื่อเรื่องเทวดาก็ได้ผสมผสานกันในพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อท้องถิ่น โดยจะมีสัดส่วนแตกต่างกันไปตามกลุ่มชนหรือพิธีกรรมต่างๆ และยังคงเป็นความเชื่อที่ดำเนินคู่ไปกับหลักการทางศาสนามาตราบจนปัจจุบัน
บรรณานุกรม
พลูหลวง (นามแฝง). เทวโลก. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๐.
ส. พลายน้อย (นามแฝง). เทวนิยาย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, ๒๕๓๔.
สัจจาภิรมย์, พระยา (สรวง ศรีเพ็ญ). เทวกำเนิด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๖ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสุด สุทเธนทร์ ณ วัดบางขวาง อ. เมือง จ.นนทบุรี วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๖).
เสฐียรโกเศศ (นามแฝง). การศึกษาเรื่องประเพณีไทย. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๐๒.
เสฐียรโกเศศ (นามแฝง). เรื่องผีสางเทวดา. ม.ป.ท., ๒๕๐๒ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสาย ปิณฑะสุต ณ วัดหิรัญรูจีวรวิหาร (วัดน้อย) วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒).
อุดม รุ่งเรืองศรี. เทวดาพระเวท. ม.ป.ท.,๒๕๒๓.
นายชญานิน นุ้ยสินธุ์นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มจารีตประเพณีสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ค้นคว้าเรียบเรียง
เลขทะเบียน : นพ.บ.72/1ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 78 หน้า ; 4.6 x 50 ซ.ม. : ล่องชาด ; ไม้ประกับธรรมดา ชื่อชุด : มัดที่ 46 (35-51) ผูก 1 (2564)หัวเรื่อง : นิปฺณปทสงฺคห (นิปุณณปทสังคหะ) --เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
อาคารเก่าริมฝั่งโขงเมืองนครพนม (ตอนที่ ๒) อาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) ซึ่งเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเลียบถนนชยางกูร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับคนที่เดินทางมายังจังหวัดนครพนมต้องมาเชคอิน แต่อาคารหลังนี้ก็มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับจังหวัดนครพนมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยในปีพ.ศ.๒๔๕๕ พระวิจิตรคุณสาร (อุ้ย นาครทรรภ) นายอำเภอเมืองหนองคาย ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพนมนครานุรักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครพนม จนกระทั่งปี ๒๔๕๙ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” ให้เหมือนกันทั่วราชอาณาจักร เมืองนครพนมจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดนครพนม และคำว่าผู้ว่าราชการเมืองก็เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) นี้ ก็สร้างในสมัยของพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรภ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก โดยว่าจ้างช่างชาวญวนชื่อ นายกูบา เจริญ เป็นผู้ก่อสร้าง และต่อมาเมื่อท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาอดุลย์เดชเดชาสยามเมศวรภัคดีพิริยพาหนะ ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร จึงได้ขายอาคารหลังนี้ให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้เป็นที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ตามเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ ๕๓๑๗ ออกโดยกรมที่ดิน เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ กำหนดเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๔๒.๔๐ ตารางวา ระบุว่าได้ซื้อมาจากพระยาอดุลย์เดชาฯ ตามหนังสือซื้อขายลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย ๑) อาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงจั่ว ๒ ชั้น (จวนผู้ว่าราชการจังหวัด) ๑หลัง หลัง ๒) อาคารไม้ชั้นเดียวเรือน แถว ทรงจั่ว (บ้านพักเจ้าหน้าที่) ๑ หลัง และ ๓) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ทรงเพิง (โรงครัว) ๑ หลัง ลักษณะของอาคารหลังนี้อาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องว่าว ออกแบบโดยใช้ผนังรับน้ำหนักแทนการใช้เสา ตัวอาคารทาด้วยสีเหลือง ประตูและหน้าต่างทาด้วยสีเขียว พื้นชั้นล่างปูกระเบื้องซีเมนต์ลาย ชั้นบนปูไม้กระดานเข้าลิ้น การตกแต่งประดับพบที่การสร้างประตูโค้งครึ่งวงกลมและหน้าต่างโค้ง เหนือประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นรูปซุ้มโค้งระยะเวลาก่อสร้างอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๘ ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมหลังเก่า” พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๔ ไร่ ๔๒.๔ ตารางวา ในกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๖๙ ง หน้า ๑ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ /ปัจจุบันอาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) แห่งนี้ ได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) แบ่งเป็น ๕ ส่วน อยู่ในบริเวณชั้นล่าง ๓ ส่วน และชั้นบนอีก ๒ ส่วน ท่านใดที่เดินทางมาจังหวัดนครพนม สามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้นะคะ นอกจากจะสามารถถ่ายรูปกับสถาปัตยกรรมสวยๆแล้ว รับรองว่าจะได้รับสาระความรู้ดีๆกลับบ้านไปอย่างแน่นอนค่ะ ------------------------------------------------เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล - คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.๒๕๔๒.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว. - สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี.รายงานผลการตรวจสอบโบราณสถานขึ้นทะเบียน.โบราณสถานจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม(หลังเก่า) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม.
เลขทะเบียน : นพ.บ.133/2ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 56 หน้า ; 5 x 51.8 ซ.ม. : ล่องรัก ; ไม้ประกับธรรมดา ชื่อชุด : มัดที่ 79 (315-317) ผูก 2 (2564)หัวเรื่อง : เตปทุุมกุมาร--เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้รวบรวมบทความ เรื่อง ร่องรอยคติความเชื่อเรื่อง “วงศ์พระเจ้ามหาสมมุติ” ของกษัตริย์ลังกาและไทย และบทความเฉพาะที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีพระบรมศพนำมาพิมพ์
รวมไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการศึกษาค้นคว้า โดยมีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหา
และภาพประกอบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ใช้ชื่อหนังสือว่า “อันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์และโบราณราชประเพณี”
สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สังคิณี-มหาปัฎฐาน)
เลขที่ ชบ.บ.8/1-2
เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)
ลักษณะเป็นแผ่นทอง จารอักษร ๔ บรรทัด กล่าวถึงการบุญของเจ้านาย(หลานลุง?)สายวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมแห่งสุโขทัย ขุดได้ที่ฐานพระประธานของพระอุโบสถวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อ ๗๙ ปีก่อน (พ.ศ. ๒๔๘๔) โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงส่งคำอ่านที่แปลโดยมหาฉ่ำ พร้อมทั้งภาพถ่ายที่ฉายโดยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยลงจดหมายเวร ฉบับลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๔ ความว่า “...ที่พบจารึกแผ่นทองของพระมหาเถรจุฬามณี ณ เมืองสุโขทัย...พิจารณาดูตัวอักษรที่จารึกนั้นก็เก่าถึงสมัยพระธรรมราชาพระยาลิไทย ตรงกับศักราชที่ลงไว้ในนั้น อันร่วมสมัยพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา...ที่ได้จารึกแผ่นทอง ทำให้ความรู้แน่นอนขึ้น จึงนับว่าดีมาก...” ลานทองแผ่นนี้จึงสามารถกำหนดอายุได้ตามศักราชที่ปรากฏในจารึก คือ ปีจุลศักราช ๗๓๘ (ตรงกับปีพุทธศักราช ๑๙๑๙)
ทั้งนี้ นอกจากความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์-โบราณคดี จารึกหลักนี้ยังมีความพิเศษในแง่อักษรศาสตร์-ภาษาศาสตร์ ด้วยมีการใช้รูปอักษรไทยสุโขทัยจารภาษาไทย และรูปอักษรธรรมล้านนาจารภาษาบาลี ซึ่งจากการศึกษาในปัจจุบัน พบว่าอักษรธรรมล้านนาที่ปรากฏในจารึกหลักนี้เป็นรูปอักษรที่เก่าที่สุด ดังนั้น ลานทองพระมหาเถรจุฬามณี จึงถือว่ามีความสำคัญในฐานะหลักฐานที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับล้านนา รวมถึงเป็นหมุดหมายในการกำหนดช่วงเวลาการใช้รูปอักษรธรรมล้านนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐
อนึ่ง ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับจารึกหลักนี้ อยู่ในบทความของก่องแก้ว วีระประจักษ์ (ว.ศิลปากรปีที่ ๒๗, ๓) ว่าเมื่อคราวที่ได้จารึกหลักนี้มาเส้นจารอักษรน่าจะบางมากจนหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ถ่ายภาพไม่ติด จึงได้มีการเขียนเส้นหมึกดำทับลงไปบนเส้นอักษร ต่อมาจึงมีการลบรอยเส้นหมึกนั้นออกไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทุกท่านสามารถรับชมของจริงได้ในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ” ที่จะเปิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
(เผยแพร่ข้อมูลโดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / เทคนิคภาพโดย นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / ภาพประกอบจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
---เรื่อง “ตราประทับงาช้างรูปโคอุสุภราช : ดวงตราประจำเมืองน่าน”
-----ตราประทับรูปโคอุสุภราช เป็นตราประทับรูปทรงกลม ทำจากงาช้าง กลึงเป็นทรงกระบอกกลม ส่วนด้ามจับ หรือส่วนยอดกลมมน (สันนิษฐานว่าในอดีตเป็นยอดหัวเม็ดซึ่งสามารถถอดประกอบได้) ส่วนที่เป็นเครื่องหมาย หรือบริเวณด้านหน้าของตราเป็นรูปวงกลมแกะสลักเป็นลวดลายเส้นนูนรูปโคอุสุภราชทรงเครื่องยืนบนแท่น ล้อมรอบด้วยลายช่อกนกเปลวประกอบพื้นช่องไฟ ด้านล่างแท่นตกแต่งด้วยลายเมฆ ดวงตรานี้เป็นตราที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ – ๒๔๖๑ ทรงใช้เป็นตราเมืองสำหรับประทับในหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานข้อราชการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และประทับในหนังสือราชการงานเมืองต่างๆ
-----นอกจากนี้รูปโคอุสุภราชยังปรากฏที่หน้าบันของหอคำนครน่าน โดยหน้าบันหอคำทั้ง ๓ ด้าน ประดับไม้สลักลวดลายลายรูปพญานาคสองตัว หันหน้าตรงข้ามกัน ส่วนหางเกี้ยวรัดกันขึ้นไปตรงกลาง ล้อมรอบด้วยลายช่อกนกประกอบพื้นช่องไฟ ส่วนตรงกลางระหว่างพญานาคเป็นรูปโคอุสุภราชในกรอบวงกลมซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำนครน่าน หอคำเมืองน่าน สร้างขึ้นเมือปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าน่าน จึงสร้างหอคำสำหรับประดับเกียรติยศ ขึ้นแทนหอคำเดิม โดยหอคำหลังนี้ในปัจจุบันคืออาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ซึ่งหน้าบันหอคำนี้สัมพันธ์กับตราประทับรูปโคอุสุภราช
-----ตราประจำจังหวัดน่าน ตราประจำจังหวัดน่านเป็นภาพโคอุสุภราชยืนแท่น มีพระธาตุเจดีย์แช่แห้งประดิษฐานอยู่บนหลัง ขอบตราเป็นลายกระหนก พระธาตุบนหลังโคอุสุภราช หมายถึง พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตราประจำจังหวัดน่าน ความหมายของตราเมือง มีตำนานเล่าว่า สมัยพญาผากอง มีดำริจะสร้างเมืองน่านยังสถานที่ใหม่ ครั้งราตรีหนึ่งพระองค์ทรงสุบินนิมิตเห็นโคอุสุภราชวิ่งมาจากป่าทางตะวันออก ข้ามแม่น้ำน่านไปทางทิศตะวันตก แล้วถ่ายมูลไว้รอบบริเวณแห่งนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากนั้นก็อันตธานลับไป เมื่อพระองค์ตื่นบรรทมปรากฏว่า มีเหตุการณ์ตามที่ได้สุบินดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นศุภนิมิตหมายอันสำคัญ ประกอบกับพระองค์จะย้ายเมืองมายังที่ตั้งจังหวัดน่านปัจจุบันด้วย พระองค์จึงให้ก่อกำแพงเมืองทอดตามรอยมูลโคอุสุภราชที่ถ่ายไว้ และจึงใช้โคอุสุภราชเป็นตราประจำเมือง
----คำว่า อุสุภ มีความหมายถึง วัวตัวผู้ คำว่า อุสุภราช มีความหมายถึง พญาวัว หรือราชาแห่งโคทั้งปวง (เป็นเครื่องหมายแสดงความสามารถของบุรุษผู้นักรบ) ซึ่งทำให้โคอุสุภราชถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ หรือสิ่งแทนในความหมายต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไป
-----โคอุสุภราช ปรากฏในตำราวัวความว่า มีกายสีดำทั้งตัว มีส่วนด่าง ๗ ตำแหน่ง ได้แก่ หน้า หนอก หาง และเท้าทั้ง ๔ วัวที่มีลักษณะดังกล่าวมีความเชื่อว่าเป็นยอดของวัวทั้งปวง หรือพญาของวัวทั้งปวง เป็นตระกูลใหญ่เหนือวัวในตระกูลอื่น
-----คำว่าอุสุภราชปรากฏใน ในตำนาน หรือเทวปกรณ์ต่างๆ ดังเช่น กล่าวถึงโคอุศุภราช เป็นชื่อของพญาวัวที่เป็นพาหนะของพระศิวะ หรือพระอิศวร และยังเป็นพาหนะของพระศุกร์ ในตำนานเทวกำเนิดพระศุกร์เองเกิดจากโคอุสุภราช
-----บนดวงตราสัญลักษณ์รูปโคอุสุภราชถูกนำไปใช้ด้วย กล่าวคือ ดวงตราพระยาพลเทพ (เกษตราธิการ) ซึ่งเป็นดวงตราพระโคอุศุภราช หรือตราไพศุภราช ใช้ในการพระราชทานที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้างที่พระมหากษัตริย์พระราชทานอุทิศผลประโยชน์แก่วัด หรือศาสนา (กัลปนา) (สำหรับใช้ไปด้วยพระราชทานที่กัลปนา) และตรากรมปศุสัตว์ เป็นรูปวงกลม ล้อมรอบกึ่งกลางมีรูปโคอสุภราช (เผือกคู่) มีนามว่า พระนนทิ ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จตุบาท และม้าฉันท์ เป็นม้าขาวคู่บารมีของพระพุทธเจ้า
-----นอกจากนี้ยังปรากฏในงานวรรณกรรม วรรณคดี เช่น พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ เป็นต้น ทั้งนี้ยังปรากฏในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอีกด้วย
-----โคอุสุภราชปรากฏในลายมงคล ๑๐๘ ประการบนรอยพระพุทธบาท ชื่อ อุสภราช ซึ่งเป็นพระยาในหมู่โคจำนวนร้อย โดยคุณสมบัติของโคอุสุภราชเปรียบดังโลกุตรธรรม ๙
-----โคอุสุภราชกับสระอโนดาต ในวรรณกรรมกลุ่มโลกศาสตร์มีการกล่าวถึงสระอโนดาต ถือเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ประจำชมพูทวีป เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสำคัญผ่านทางมุขปากสัตว์ทั้งสี่ คือ ช้าง สิงห์ โค (อุสุภมุข) และม้า
-----โคอุสุภราชใน “อัฏฐพิธมงคล” หรือมงคล ๘ ประการ ได้แก่ ๑. อุณหิส หรือ กรอบหน้า ๒. คทา หรือ กระบอง ๓. สังข์ ๔. จักร ๕. ธงชัย ๖. อังกุศ หรือ ขอช้าง ๗. โคอุสภ ๘. กุมภ์ หรือ หม้อน้ำ สัญลักษณ์ของมงคล ๘ ประการนี้เป็นความเชื่อที่คนไทยแต่โบราณได้รับคติมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู โดยสิ่งที่เป็นมงคลทั้งแปดนี้ มีความสัมพันธ์เนื่องในพระเป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์
-----รูปโคอุสุภราช ที่ปรากฏบนตราประทับงาช้างที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน ใช้เป็นตราเมืองสำหรับประทับในหนังสือราชการงานเมืองต่างๆ นั้นสันนิษฐานว่ามาจากประวัติ หรือตำนานเมือง ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับปฐมเหตุของการสร้างบ้านแปงเมืองน่าน ซึ่งรูปโคอุสุภราชนั้นยังปรากฏที่หน้าบันหอคำที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครน่าน ทั้งนี้เมื่อมีการออกแบบดวงตราประจำจังหวัดน่านรูปโคอุสุภราชยังถูกนำไปใช้เป็น สัญลักษณ์ หรือสิ่งที่แสดงถึงความเป็นจังหวัดน่านอีกด้วย
-----คำว่าอุสุภราช มีความหมายถึงพญาวัว หรือราชาแห่งโคทั้งปวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับการเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นศิริมงคล หรือสัตว์มงคล จากหลักฐานทาประวัติศาสตร์โบราณคดีพบว่า วัวเป็นสัตว์ที่มนุษย์ใช้แรงงานทั้งภาคเกษตรกรรม เป็นพาหนะ เลี้ยงเพื่อการบริโภคเนื้อ และนม นอกจากนี้ยังเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และการแข่งขันในเกมกีฬา นอกจากนี้วัวยังมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา และพิธีกรรม ซึ่งยังปรากฏในงานวรรณกรรม วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน บทละคร การแสดง นาฏศิลป์ การเปรียบเทียบในสำนวนสุภาษิต รวมทั้งสร้างสรรค์เป็นงานศิลปกรรมอันหลากหลาย ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัวมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
-----เอกสารอ้างอิง
จตุพร บุญประเสริฐ. การวิเคราะห์ตำราวัว. อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๖.
ผาสุก อินทราวุธ, ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพ : โรงพิมพ์อักษรสมัย. ๒๕๔๒.
วรรณกวี โพธะ.“รอยพระพุทธบาทในศิลปะร่วมสมัยไทย : กรณีศึกษาพิชัย นิรันต์ และพัดยศ พุทธเจริญ”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๖.
ศิลปากร, กรม. ตราประจำจังหวัด. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๔๒.
สุพร ประเสริฐราชกิจ. รวมประวัติสัญลักษณ์จังหวัดของประเทศและตราประจำสถาบันต่างๆ ที่น่ารู้. กรุงเทพฯ : บำรุงสาสน์. ๒๕๓๒.
อิสรกุล คงธนะ. อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่ปรากฏบนตราลัญจกร สมัยอยุธยาถึงสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๕.
เอกสารออนไลน์
สาคร พิพวนนอก. ตราประจำจังหวัด. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เข้าถึงได้โดย https://www.nat.go.th/.../-1-2-3-4-5-6-7-8-9-10-11-12-13...
องค์ความรู้ : เครื่องถมนคร
เรียบเรียง/ภาพ : นางสาวจารุพัฒน์ นุกูล นักวิชาการวัฒนธรรม
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
"เครื่องถม" หรือมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถมนคร” เป็นงานศิลปหัตถกรรมชั้นสูงที่คนนครศรีธรรมราชและคนไทยภาคภูมิใจมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตใช้เป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์หรือเป็นเครื่องยศของขุนนางชั้นสูง ทั้งยังใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการสำหรับกษัตริย์ประเทศต่าง ๆ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายคำว่า "ถม" ว่า "เรียกภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยใช้ผงยาถมผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางามว่าเครื่องถม เช่น ถมนคร ถมเงิน ถมทอง"
สำหรับความเป็นมาของเครื่องถมนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มผลิตมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ หรือราว พ.ศ. ๒๐๖๑ ส่วนที่มาของการผลิตเครื่องถม ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างก็สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส เนื่องจากโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในราชอาณาจักรไทยได้ ๔ เมือง คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด ขณะที่สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีความเห็นว่า ชาวนครศรีธรรมราชได้รับรู้เรื่องเครื่องถมจากชาวอินเดีย ส่วนศาสตราจารย์วิศาลศิลปกรรมให้ความเห็นว่า ยาถมไทยมิได้รับต้นตำรับมาจากประเทศใด เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยแท้ คือเกิดที่นครศรีธรรมราช
เรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องถมในเมืองนครนี้ ปรากฏในเอกสารสำคัญหลายฉบับ เช่น ในหนังสือชุด "สาส์นสมเด็จ" ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโต้ตอบปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับศิลปะ วรรณคดี โบราณคดี และประวัติศาสตร์ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องเครื่องถมไว้ ดังความว่า
"....เรื่องเครื่องถม หม่อมฉันพบหลักฐานใหม่อีกแห่ง ๑ ในกฎมณเฑียรบาลว่า ขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง “กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม" ดูตรงกับเจียดรัชกาลที่ ๑ ถ้าเป็นแบบมาตั้งแต่กฎมณเฑียรบาลครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๐๐ ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว ๒๐๐ ปี ตำนานที่หม่อมฉันคาดไว้ดังทูลไปก็ผิด แต่นึกว่าจะเพิ่มลงในกฎมณเฑียรบาลเมื่อภายหลังก็เป็นได้..." นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่า "...จะทูลบรรเลงต่อไปถึงเรื่องถมเมืองนครฯ การทำเครื่องถมในเมืองไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทำแต่ในกรุงเทพฯ กับที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ แห่งเท่านั้น คนนับถือกันว่าฝีมือช่างถมเมืองนครฯทำดีกว่าในกรุงเทพฯ จนเครื่องถมที่ทำดีมักเรียกกันว่า “ถมนคร” เลยมีคำกล่าวกันว่าช่างถมเดิมมีแต่ที่เมืองนครฯ ชาวกรุงเทพฯไปเอาอย่างมาก็สู้ฝีมือครูไม่ได้..." และ "...เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยลงไปเมืองนครศรีธรรมราชอยากดูการทำเครื่องถม การนั้นพวกช่างก็ทำตามบ้านเรือนของตนอย่างเดียวกับที่บ้านพานถมในกรุงเทพฯ พวกกรมการพาไปดูหลายแห่ง สังเกตดูช่างถมแต่งตัวเป็นแขกมลายูทั้งนั้น ที่เป็นคนไทยหามีไม่ หม่อมฉันประหลาดใจถามเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เมื่อยังเป็นพระยานครฯ ท่านกล่าวความหลังให้ฟังจึงรู้เรื่องตำนานว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยานคร (น้อย) ยังเป็นพระยานครฯ ลงไปตีเมืองไทรได้เฉลยมลายูมามาก จึงเลือกพวกเฉลยให้หัดทำการช่างต่างๆ บรรพบุรุษของพวกนี้ได้หัดเป็นช่างถมสืบกันมาจนทุกวันนี้..."
ความสำคัญของเครื่องถมในแต่ละยุคสมัย มีดังนี้
สมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. ๒๐๓๒ - ๒๐๗๒ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น จัดหาช่างถมที่ฝีมือเยี่ยมที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งไปยังกรุงศรีอยุธยา เพื่อทำไม้กางเขนถมส่งไปถวายพระสันตปาปา ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และทำเครื่องถมดำลายอรหันไปบรรณาการพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) การทำเครื่องถมได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดีในช่วงสมัยนี้ ถือเป็นของสูงศักดิ์ ใช้เป็นเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชบรรณาการ ได้รับความนิยมอย่างสูงในราชสำนัก จากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เจ้าพระยานคร (น้อย) นอกจากจะมีฝีมือทางการรบแล้วยังเป็นช่างทำถมฝีมือดี ได้ทรงทำพระแท่นเสด็จออกขุนนางกับพระเสลี่ยงถวาย
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เจ้าพระยานคร (กลาง) เป็นผู้อุปถัมถ์ช่างถมคนสำคัญในนครศรีธรรมราชและชักชวนช่างถมหลายคนเข้าไปอยู่ในวัง ช่างเหล่านี้ได้ทำเก้าอี้ถมอนุโลมจากพระแท่นและพนักเรือพระที่นั่ง และในโอกาสที่กรุงสยามได้แต่งตั้งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้ช่างถมนครจัดทำเครื่องราชบรรณาการส่งไปถวายแด่พระนางเจ้าวิคตอเรีย ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังบัคกิ้งแฮม ประเทศอังกฤษ
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เป็นแม่กองให้ช่างถมนครทำพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ พระที่นั่งพุดตานถม ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเป็นศิลปกรรมเครื่องถมชิ้นเอกของประเทศไทย ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในโอกาสเสด็จออกมหาสมาคมวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คณะบุคคลถวายพระพรชัยมงคล
สมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำหีบบุหรี่ถมทองสำหรับพระราชทานแก่ประธานาธิบดีไอเซนเฮ้าว์ และ ดร.ริสบอร์ นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ และพระราชทานตลับแป้งถมทองแก่นางพยาบาลที่โรงพยาบาลในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
กระทั่งถึงยุคสมัยปัจจุบัน ช่างถมนครก็ยังได้รับความไว้วางใจให้สร้างผลงานสู่ราชสำนัก เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ประสานงานจัดหาช่างถมฝีมือดีในนครศรีธรรมราช จัดทำเครื่องราชูปโภคและเครื่องใช้ในพิธีต่างๆ เพื่อถวายแด่สำนักพระราชวัง เช่น ชุดขันพานตักบาตรถมทอง เป็นต้น
ขั้นตอนการทำเครื่องถม ปัจจุบันการทำเครื่องถมนคร มี ๒ แบบ คือ ถมเงิน และถมทองหรือถมตะทอง โดยนิยมทำตามขั้นตอน ดังนี้
๑. การทำถมเงิน
๑.๑) การทำน้ำยาถม เป็นหัวใจสำคัญในการทำเครื่องถม ลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยาถมของช่างนคร คือ มีลักษณะแข็ง สีดำเป็นนิล ขึ้นเงา ประกอบด้วยโลหะ ๓ ชนิด คือ ตะกั่ว ทองแดง และเงิน ตำราถมโบราณท่านมีไว้ว่า “วัว ๕ ม้า ๖ บริสุทธิ์ ๔ ผสมกันแล้วขัดด้วยกำมะถัน ได้ยาถมแล”
๑.๒) การทำรูปพรรณ หรือ การขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามต้องการ เช่น สร้อย แหวน กำไล ขัน เป็นต้น วัตถุดิบสำคัญที่ต้องใช้ คือ เนื้อเงินบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๒.๕ และทองคำบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๙๙
๑.๓) การเขียนและแกะลาย การวาดภาพหรือลวดลายลงบนภาชนะที่ขึ้นรูปเสร็จแล้ว และลงมือแกะสลักด้วยสิ่ว
๑.๔) การลงยาถม คือการนำยาถม ถมลงในร่องที่แกะลาย ใส่จนเต็มร่อง แล้วเกลี่ยให้เสมอกันทุกส่วน จากนั้นใช้ไฟเป่า หรือเรียกว่าวิธี “เป่าแล่น” ลงบนภาชนะนั้น รอให้เย็นแล้วใช้ตะไบถูบนส่วนที่ไม่ต้องการให้มียาถมนั้นออกไปให้เห็นเนื้อเงินที่พื้น ซี่งเรียกว่า “พื้นขึ้น”
๑.๕) การปรับแต่งรูป ในขั้นตอนลงยาถม จะต้องใช้ไฟด้วยความร้อนสูงเพื่อเผาภาชนะอยู่เป็นเวลานานพอสมควร อาจทำให้ภาชนะบิดเบี้ยว ขั้นตอนนี้จึงจำเป็นต้องปรับแต่งรูปทรงให้คงสภาพเดิมอีกครั้ง และแต่งผิว/ขัดผิวของภาชนะด้วยกระดาษทรายละเอียด เมื่อผิวเกลี้ยงแลดูเงาสวยแล้วจึงขัดด้วยยาขัดโลหะ จากนั้นนำไปล้างทำความสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
๑.๖) การแกะผิวและแกะแร วิธีการแกะผิวแกะแรหรือการเพลาลาย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะจะช่วยให้รายละเอียดของลายบนภาชนะมีความโดดเด่นขึ้น ขึ้นเงา ต้องแสงเป็นประกายสวยงาม โดยขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญของช่าง
๑.๗) การขัดเงา เป็นการทำความสะอาด ขัดเงา โดยการเช็ดกับผ้าที่นุ่มๆ ให้สะอาดและขึ้นเงาสวยงาม
๒.การทำถมทอง หรือ ถมตะทอง
การถมทองเป็นการทำให้เครื่องถมมีคุณค่าสูงขึ้นกว่าถมเงินธรรมดา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือช่างที่ชำนาญและมีประสบการณ์อย่างมาก โดยในขั้นตอนที่ ๑ – ๔ ใช้วิธีการเดียวกับการทำถมเงิน แต่เมื่อเสร็จขั้นตอนที่ ๔ คือ ลงยาถมและขัดยาถมส่วนเกินออกแล้ว ในส่วนของการทำถมทองจะเพิ่มวิธีการทาทอง หรือเรียกว่า “การเปียกทอง” เป็นการนำทองคำแผ่นบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙ บดจนเป็นผงแล้วเทปรอทบริสุทธิ์ลงไปผสมกับผงทอง บดด้วยครกหินจนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และใช้สำลีชุบทองเปียกถูบนภาชนะ เมื่อทาทองผสมปรอทเสร็จแล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งหรืออบด้วยความร้อนอ่อนๆบนเตา ประมาณ ๓ – ๔ ครั้ง และครั้งสุดท้ายใช้ความร้อนสูงกว่าเดิม เมื่อปรอทระเหยออกหมด ก็จะเหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นบนภาชนะ นำไปขัดเงาให้ผิวทองเกลี้ยงใสขึ้น ถือเป็นอันเสร็จขั้นตอนการทาทอง จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอน ที่ ๕ – ๗ เช่นเดียวกับการทำถมเงิน
ในปัจจุบันเครื่องถมไม่ได้มีใช้กันเฉพาะชั้นเจ้านายชั้นสูงเหมือนในอดีต แต่มีการปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยขึ้นเพื่อให้เข้าถึงคนทุกช่วงวัย โดยการทำเป็นของชิ้นเล็ก เช่น ต่างหู แหวน ที่ติดผม ล๊อกเกต กำไล จากการทำถมนครสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน การได้รับการทำนุบำรุงจากพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆ นับเป็นเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี รวมถึงมีการพัฒนาฝีมือการออกแบบลวดลายให้วิจิตรสวยงาม ด้วยลวดลายที่ยังคงแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงถือว่างานเครื่องถมเป็นงานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้คู่คนไทยสืบต่อไป
เรียบเรียง/กราฟิก : นางสาวจารุพัฒน์ นุกูล นักวิชาการวัฒนธรรม
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
อ้างอิง
๑) ไสว สุทธิพิทักษ์. “กระบวนการผลิตเครื่องถมนคร”, สารนครศรีธรรมราช ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๘.
๒) สาส์นสมเด็จ. นิตยสารศิลปากร. ปีที่ ๑๓ เล่ม ๓ กันยายน ๒๕๑๒.
๓) สถาบันทักษิณคดีศึกษา. (๒๕๒๙). สารานุกรมภาคใต้ เล่ม ๒. กรุงเทพ. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๔) สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘. (๒๕๐๕). องค์การค้าคุรุสภา
องค์ความรู้ทางวิชาการ
เรื่อง "เมืองเพีย" พัฒนาการทางโบราณคดีจากหลักฐานที่พบ
โดย นางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์
นักโบราณคดีชำนาญการ
สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น