ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,814 รายการ



ชื่อผู้แต่ง                  สอาด หงษ์ยนต์ ชื่อเรื่อง                   เครื่องถมไทย ครั้งที่พิมพ์               - สถานที่พิมพ์             พระนคร สำนักพิมพ์               โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ปีที่พิมพ์                  ๒๕๐๙ จำนวนหน้า              ๒๒     หน้า รายละเอียด              หนังสือเครื่องถมไทยเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายพยัคฆ์ เสถียรปุถิรณกร  อดีตเลขานการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้ที่รักในศิลปะเครื่องถมและยังส่งเสริมวิชา ช่างถมไทยช่วยเหลือสมทบเครื่องถมไทย



โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพได้พิจารณาการจัดตั้งโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดลำพูนขึ้นเนื่องจากเห็นว่าการจัดตั้งโรงเรียนแบบสหศึกษาไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมในสมัยนั้น นอกจากนี้ กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ก็ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้นักเรียนชายกับนักเรียนหญิงเรียนร่วมในโรงเรียนเดียวกัน สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพจึงมีหนังสือกราบทูลมหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าธานีนิวัต) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ขอประทานอนุมัติแยกโรงเรียนสตรีออกมาจากโรงเรียนประจำจังหวัดลำพูน เพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนสำหรับเยาวสตรีเป็นการเฉพาะ โดยใช้พื้นที่บริเวณถนนอัฏฐารสด้านเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารสำหรับก่อสร้างอาคารเรียน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จได้มีพิธีการทำบุญฉลองเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยมีนางคำปัน โภคะกุล เป็นผู้อำนวยการคนแรก ต่อมาโรงเรียนจักรคำคณาทรได้ย้ายออกจากบริเวณบ้านสันดอนรอม ไปอยู่ที่บ้านหนองเส้ง โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดลำพูนจึงย้ายมาใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดลำพูน ส่วนบุญโญปถัมภ์” ซึ่งได้รับชื่อมาจากนามของเจ้าหญิงส่วนบุญ* จักรคำขจรศักดิ์ ชายาในพลตรีมหาอำมาตย์โทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ให้การอุปถัมภ์โรงเรียนมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มก่อตั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการเปิดเป็นแบบสหศึกษา และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน และถือเอาวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนาโรงเรียนสืบมา* เจ้าหญิงส่วนบุญ เป็นธิดาเจ้าราชสัมพันธ์วงค์ ณ เชียงใหม่ กับเจ้าหญิงคำย่น ณ ลำพูน สมภพเมื่อวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีฉลู ตรงกับวันพุธที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๐ มีพี่น้อง ๔ คน คือ เจ้าเผ่าพรหม ณ เชียงใหม่ เจ้าชมชื่น ณ เชียงใหม่ เจ้ากุศลวงศ์ ณ เชียงใหม่ และเจ้าหญิงส่วนบุญ ณ เชียงใหม่ เจ้าหญิงส่วนบุญ ณ เชียงใหม่ ได้สมรสกับพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน มีทายาทสืบสกุล ๑ คน คือ เจ้าพัฒนา ณ ลำพูน ผู้เรียบเรียง : นางสาววิชุดา สุริยะวงค์ นักศึกษาฝึกงาน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพชุด การประกวดภาพถ่ายเก่าเกี่ยวกับจังหวัดลำพูน.อ้างอิง : ๑. เชียงใหม่นิวส์. ๙๖ ปี จาก รร. วิทยาคม สู่ รร.จักรคำคณาทรลำพูน โรงเรียนเก่าแก่ที่สุดของล้านนา. (Online).https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1350769/ , สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕.๒. โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน. ข้อมูลโรงเรียน. (Online). http://wck.sbycom.net/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8.../ , สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕.๓. สำนักหอสมุดและสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เจ้าหญิงส่วนบุญ ณ ลำพูน. (Online). , สืบค้นเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕.


           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “คู่แก้วจอมขวัญแผ่นดินไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา จัดแสดงให้ประชาชนได้ชมระหว่างวันที่ ๑ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕            นิทรรศการนี้บอกเล่าเรื่องราวพระราชปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ทรงมีจิตปฏิพัทธ์เมื่อทรงพบกันครั้งแรกในวัยเยาว์ กระทั่งโปรดฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส และทรงกลายเป็น "คู่แก้วจอมขวัญ" ของคนไทยทั้งแผ่นดิน          ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการ เรื่อง “คู่แก้วจอมขวัญแผ่นดินไทย" ได้ในระหว่างวันที่ ๑ - ๓๑ สิงหาคม เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. เปิดทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์และวันอังคาร ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จังหวัดสุโขทัย สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. ๐ ๕๕๖๔ ๑๕๗๑ หรือทาง Facebook Fanpage พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก : Sawanvoranayok National Museum


       สมัยล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑        ได้มาจากโบราณสถานวัดปางไม้ บ้านเสลี่ยม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓        ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร        กบดินเผาเคลือบ ตัดเส้นสีครามบนพื้นขาว ภายในกลวงเจาะรูวงกลมบริเวณปากและกลางสันหลัง สันนิษฐานว่าใช้ใส่น้ำสำหรับฝนหมึกจีน ตามประวัติซึ่งนายมานิต วัลลิโภดม (ขณะเป็นภัณฑารักษ์พิเศษ กองโบราณคดี กรมศิลปากร) ว่าได้มาจากวัดปางไม้ และกำหนดอายุสมัยว่าเป็นงานศิลปกรรมจีน ราชวงศ์หมิงตอนปลาย        กบลายคราม เป็นหนึ่งในตัวอย่างโบราณวัตถุที่สะท้อนถึงการติดต่อระหว่างเมืองในอาณาจักรล้านนากับจีนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ เนื่องจากพบเครื่องถ้วยลายครามและเครื่องถ้วยลายเขียนสีศิลปะจีนตามโบราณสถาน ในเมืองฮอด (อำเภอฮอด) หลายชิ้น ภาชนะบางชิ้นมีตัวอักษรระบุที่ก้นภาชนะตรงกับรัชสมัยพระเจ้าจาจิ้ง (พ.ศ. ๒๐๖๕-๒๑๑๐) แห่งราชวงศ์หมิง        ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองฮอดนั้นอยู่ริมแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ติดต่อกับบ้านเมืองพื้นที่ตอนใน (บริเวณจีนตอนใต้) และเมืองชายฝั่งบริเวณอ่าวเมาะตะมะ กล่าวคือ หากเดินทางจากเมืองฮอดขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านเมืองเชียงใหม่ เชียงราย จะเป็นเส้นทางที่ไปยังกลุ่มเมืองทางจีนตอนใต้ มีเมืองสำคัญเช่น  เมืองต้าหลี่ (Dali City) ในมณฑลยูนนาน และจากเมืองฮอดไปทางทิศตะวันตกเป็นเส้นทางไปสู่เมืองระแหงถึงเมืองเมาะตะมะ และลงทิศใต้ไปสู่กลุ่มเมืองทางใต้ล้านนาลงไป มีเมืองสำคัญคือเมืองอยุธยา ซึ่งมีหลักฐาน เช่น “โคลงมังทรารบเชียงใหม่” (แต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๑๕๘) ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองฮอดว่าอยู่ริมแม่น้ำปิง และเป็นจุดจอดเรือเพื่อรับส่งสินค้า ดังความว่า   เพราะเรือยุธิเยศค้า       เทียวเทิง มีกาดแกมรีเลิง             ชู่มื้อ ชาวเชียงหลั่งไหลเถิง   เมืองหอด เรียมเอย สนุกสนั่นขายแล้วซื้อ    พร่องถ้านเป็นเสฏฐี ฯ          ความตอนนี้ถอดความได้ว่า “เพราะเหตุว่าพ่อค้าเรือทางอยุธยาขึ้นมาค้าขายถึง จึงมีตลาดสดขายของตลอดวันทุกวัน ชาวเชียงใหม่พากันมาถึงเมืองหอด (ฮอด) ซื้อขายกันเป็นที่สนุกพลุกพล่าน บางคนถึงขั้นเป็นเศรษฐี ฯ”      อ้างอิง กรมศิลปากร. สมบัติศิลปจากบริเวณเขื่อนภูมิพล. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แพร่การช่าง. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายนกยูง พงษ์สามารถ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘). ณัฏฐภัทร จันทวิช. เครื่องถ้วยจีน ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๗. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, ๒๕๕๑. ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่ นายสิงฆะ วรรณสัย ทอดความเป็นภาษาไทยปัจจุบัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๕, จาก: https://vajirayana.org/โคลงเรื่อง-มังทรารบเชียงใหม่/๏.





องค์ความรู้ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี เรื่อง “โคนนทิ” เทพพาหนะพระศิวเทพ ปราสาทกู่กาสิงห์ ปราสาทกู่กาสิงห์ ตั้งอยู่บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ ปราสาท ๓ หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน เรียงในแนวเหนือ – ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทหลังกลางมีมณฑปยื่นออกไปทางด้านหน้า ภายในมณฑปประดิษฐานประติมากรรมโคสลักจากหินทรายสีแดงหมอบอยู่ ประติมากรรมดังกล่าวคือ “โคนนทิ” (Nandi) หรือ โคอุศุภราช ซึ่งพบจากการขุดแต่งบูรณะในช่วงปี ๒๕๓๓ – ๒๕๓๕ ลักษณะของโคนนทิที่ขุดพบ เป็นโคนั่งหมอบอยู่บนฐานเตี้ยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขาหน้าพับงออยู่ใต้ลำตัว ส่วนหางและขาหลังพับไปทางด้านขวา บนหลังมีโหนกสูง ที่คอมีเครื่องประดับสลักเป็นลายลูกประคำเรียงกัน ๓ แถว เป็นแผงสวยงาม ส่วนหัวชำรุดหักหายไป นับเป็นประติมากรรมนนทิในศิลปะขอมอายุนับพันปีที่พบเพียงแห่งเดียวในจังหวัดร้อยเอ็ด และพบเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ได้กล่าวถึงการกำเนิดนนทิไว้ว่า เมื่อครั้งการกวนเกษียรสมุทรระหว่างเทวดาและอสูร ก่อนที่หม้อน้ำอมฤตจะผุดขึ้นมานั้น ได้เกิดของวิเศษหลายอย่าง เช่น นางอัปสร ช้างเอราวัณ ดวงจันทร์ โคสุรภี หริธนู เป็นต้น โดยช้างเอราวัณพระอินทร์ได้นำไปเป็นเทพพาหนะ ในส่วนของโคสุรภีพระศิวะปรารถนาจะนำไปเป็นเทพพาหนะเช่นกันแต่ติดที่เป็นเพศเมีย พระกัศยปะจึงอาสาแปลงเป็นโคเพศผู้ไปผสมพันธุ์กับนางโคสุรภีจนตั้งครรภ์ และได้ให้กำเนิดโคเผือก (สีขาว) เพศผู้ นามว่า “นนทิ” จากนั้นได้นำบุตรของตนไปถวายเป็นเทพพาหนะของพระศิวะ บรรดาปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมที่สร้างถวายพระศิวะนอกจากพบศิวลึงค์ซึ่งประดิษฐานเป็นประธานในเทวาลัยแล้ว บางแห่งพบประติมากรรมโคนนทิด้วย เช่น ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ดังนั้น การพบโคนนทิที่ปราสาทกู่กาสิงห์จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะเช่นกัน นับเป็นปราสาทที่งดงามด้วยรูปแบบศิลปะและคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ - โบราณคดี หากท่านใดมีโอกาสผ่านมาที่จังหวัดร้อยเอ็ดอย่าลืมแวะมาชมปราสาทกู่กาสิงห์ และโคนนทิอายุนับพันปีนะครับ ผู้เรียบเรียง: นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี เอกสารอ้างอิง: กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด. อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด. ร้อยเอ็ด: กรมศิลปากร, ๒๕๔๗. กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการขุดแต่งปราสาทกู่กาสิงห์. นครราชสีมา: หน่วยศิลปากรที่ ๖, ๒๕๓๓. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี. รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานกู่กาสิงห์. อุบลราชธานี: สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี, ๒๕๔๑.


ชื่อเรื่อง                               สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม(ธาตุกถา) สพ.บ.                                  อย.บ.1/3ประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                               พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                           18 หน้า กว้าง 5 ซม. ยาว 58 ซม.หัวเรื่อง                                 พุทธศาสนา          บทคัดย่อ/บันทึก          เป็นคัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ฉบับทองทึบ ได้รับบริจาคมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา


ประเพณี “แห่ครัวตาน” (คัวตาน).      “คัว” หมายถึง ครัว ในภาษาถิ่นภาคเหนือ หมายถึง วัตถุ, สิ่งของ, เครื่องใช้, เครื่องประกอบ ส่วนคำว่า “ตาน” (ทาน) หมายถึง ถวาย, ทาน “คัวตาน” หมายถึง เครื่องไทยทาน (ของสำหรับทำทาน) หรือเครื่องไทยธรรม ชาวล้านนามักเรียกสิ่งของต่างๆ ที่นำมารวมกันแล้วตกแต่งให้สวยงามเพื่อถวายเป็นเครื่องไทยทานว่า ต้น, ต้นทานหรือต้นครัวทาน.        ประเพณีแห่ครัวตาน หรือการถวายเครื่องไทยทาน เป็นประเพณีที่คนท้องถิ่นภาคเหนือหรือล้านนา จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่หมู่บ้านนั้นมีเทศกาลงานสำคัญ เช่น งานตานสลากภัตร งานฉลองโบสถ์ วิหาร ศาลา ถาวรวัตถุที่เป็นสาธาณประโยชน์ของหมู่บ้าน และนำไปถวายวัดในเทศกาลประเพณีต่าง ๆ โดยการแห่ครัวตานชาวบ้านจะนำเอาสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค วัสดุอุปกรณ์ จตุปัจจัยไทยทาน ที่ช่วยกันรวบรวมหรือซื้อหามา จากนั้นจะมีการจัดทำเป็นรูปแบบต่างๆ นำไปถวายวัดในหมู่บ้านของตนหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ในการเคลื่อนต้นครัวทานเพื่อนำไปถวายเป็นทานนั้น มักจะมีการแห่แหนด้วยขบวนฆ้องกลองซึ่งอาจมีช่างฟ้อนทำหน้าที่ฟ้อนรำนำขบวนไปด้วย. รูปแบบครัวตานมีหลายลักษณะตามแนวคิดของชาวบ้านโดยชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่งครัวตานให้สวยงาม เช่น พุ่มดอกไม้ พุ่มเครื่องไทย-ทาน และมียอดเป็นธนบัตรหนีบด้วยไม้ตับ รูปจำลองโบราณสถานที่เคารพนับถือ รูปสัตว์ สัตว์หิมพานต์ในนิทานชาดกต่างๆ ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นต้น โดยเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ชาวบ้าน พระภิกษุสามเณร หรือวัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนพืชผักที่มีในท้องถิ่นตามฤดูกาล .        การแห่ครัวตานจะมีการจัดรูปขบวน มีป้ายชื่อหมู่บ้าน ขบวนเครื่องสักการะดอกไม้ ธูปเทียน พุ่มดอก ขบวนกลองยาวหรือกลองสิ้งหม้อง และขบสนฟ้อนรำหน้าครัวตาน ในบางครั้งจะมีการฮ่ำครัวตานอธิบายความหมายหรือพรรณนาขบวนครัวตาน เมื่อแห่เข้าวัดแล้วก็จำนำไปถวายพระสงฆ์ และรับศีลพรเป็นอันเสร็จพิธี.        การแห่ครัวตานเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการสร้างให้เกิดธรรมที่สำคัญ คือ คารวะธรรม คือมีความเคารพต่อกันให้เกียรติกัน เพื่อนบ้านมีงานบุญ งานประเพณี เกิดกิจกรรมร่วมกันของผู้สูงอายุ และคนหนุ่มสาว เกิดการถ่ายทอดแบ่งปันและบอกเล่า ปัญญาธรรม คือ การตระเตรียมเครื่องถวาย สมาชิกต้องช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน ช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อทำให้ดีที่สุด และสามัคคีธรรม คือส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในหมู่บ้าน เราในฐานะเพื่อนบ้านก็อาสาช่วยเหลือ มีน้ำใจให้แก่กันและกัน.ภาพ : การประกวดขบวนแห่มหกรรมครัวตานของแต่ละคุ้มวัดที่มาร่วมอนุโมทนาฉลองพระอุโบสถ วัดกู่คำ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน วันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕.เอกสารอ้างอิง"ต้นครัวทาน (เครื่องไทยทาน)." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 5. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 2292-2298.พระครูสังฆรักษ์ ศุภณัฐ ภูริวฑฺฆโน. การลดค่าใช้จ่ายในงานประเพณีแห่ครัวตานล้านนาเพื่อสร้างคุณค่า และความหมายที่เหมาะสมกับชุมชน โดยกลุ่มผู้สูงอายุบ้านท่าขัว ตำบลบ่อแห้ว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. วารสารวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2563)


ชื่อเรื่อง                                        สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม  (สงฺคิณี-มหาปฏฺฐาน) อย.บ.                                           49/5ประเภทวัดุ/มีเดีย                       คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                                     พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                              82 หน้า : กว้าง 4.5 ซม. ยาว 57 ซม.หัวเรื่อง                                        พุทธศาสนาบทคัดย่อ/บันทึก               เป็นคัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ฉบับทองทึบ ไม้ประกับธรรมดา ได้รับบริจาคมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา


สวดปวารณาออกพรรษา (สวดปวารณาออกพรรษา) ชบ.บ 116/1 เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 159/7 เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


Messenger