ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,814 รายการ

#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเมืองชากังราวในกฎหมายตราสามดวงสมัยอยุธยา...พระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสันนิษฐานว่าเมืองชากังราวคือเมืองกำแพงเพชร และเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งนี้จากเอกสารต่าง ๆ ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้แน่ชัด อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบหลักฐานชั้นรองหรือทุติยภูมิ (secondary source) ซึ่งหมายถึงหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ไม่ได้เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ ปรากฏชื่อ “ชากังราว” อยู่ติดกับคำว่า “กำแพงเพชร” ในกฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. 1899 รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง)..กฎหมายตราสามดวง คือ ประมวลกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่าที่มีมาแต่ครั้งโบราณแล้วรวบรวมเป็นประมวลกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2347 โดยประทับดวงตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว ไว้เป็นสำคัญจึงเรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” ดังความในประกาศพระราชปรารภของกฎหมายตราสามดวงว่า.“...ศุภมัศดุ 1166 (พ.ศ. 2347) ...จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จัดข้าทูลลอองทุลีพระบาท ที่มีสติปัญญยได้...ชำระ พระราชกำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวงตั้งแต่พระธรรมสาตรไปให้ถูกถ้วนตามบาฬีแลเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเปนหมวดเปนเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงพระอุสาหทรงชำระดัดแปลงซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้ ด้วยพระไทยทรงพระมหากรรุณาคุณจให้เปนประโยชน์แก่กระษัตรอันจดำรงแผ่นดินไปในภายหน้าครั้นชำระแล้วให้อาลักษณชุบเส้นมึก สามฉบับไว้ห้องเครื่องฉบับหนึ่ง ไว้หอหลวงฉบับหนึ่ง ไว้ณสานหลวงสำหรับลูกขุนฉบับหนึ่ง ปิดตรา พระราชสีห พระคชสีห บัวแก้ว ทุกเล่มเปนสำคัญ ถ้าพระเกษม ไกรสี เชิญพระสมุดพระราชกำหนดบทอายการออกมาพิภากษากิจคดีใดใด ลูกขุนทั้งปวงไม่เหนปิดตราพระราชสีห พระคชสีห บัวแก้ว สามดวงนี้ไซ้ อย่าให้เชื่อฟังเอาเปนอันขาดทีเดียว...”.ตราทั้งสามดวงนั้น ในบทพระธรรมนูญได้กล่าวถึงการใช้ตราประจำตำแหน่งหน้าที่ของขุนนางและเสนาบดีจตุสดมภ์ทั้งหลายว่า ตราพระราชสีห์ ประจำตำแหน่งกรมมหาดไทย เจ้าพระยาจักรีเป็นผู้ถือตรา ตราพระคชสีห์ ประจำตำแหน่งกรมพระกลาโหม เจ้าพระยามหาเสนาธิบดีเป็นผู้ถือตรา และตราบัวแก้ว ประจำตำแหน่งกรมพระคลัง เจ้าพระยาศรีธรรมราชเป็นผู้ถือตรา ..ในพระอัยการลักษณะลักพาของกฎหมายตราสามดวงเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานลักพาเอาข้าคน ลูกเมีย ทาส ของผู้อื่นไปในลักษณะต่าง ๆ โดยปรากฏข้อความกล่าวถึงชื่อเมือง “ชาวดงราวกำแพงเพชร” ไว้คู่กัน ความว่า.“...ศุภมัศดุ 1899 (พ.ศ. 1899) มแมนักสัตวเดือนอ้ายขึ้นเจดค่ำพุทธวารปริเฉทกาลกำหนด จึ่งนายสามขลาเสมิยนพระสุภาวะดีบังคมทูลแต่สมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวประสงด้วยข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลมีผู้เอาไปถึงเชลียงศุกโขไททุ่งย้างบางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพช เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดั่งนี้ แลมีผู้เอาทาษเอาไพร่ท่านมาขายแลเจ้าทาษเจ้าไพร่แห่งพระนครศรีอยุธยาพบแลมากล่าวพิภาษว่า ให้ผู้ไถ่ไปไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายนั้นคืน...มีพระราชโองการพิพากษาด้วยพฤฒามาตราชมลตรีทังหลายว่าขายกันแต่ในพระนครศรีอยุธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชศุกโขไทใตล่าฟ้าเขียว...จะมาพิภาษฉันเมืองเพชบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรีย สพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหมนั้นมิชอบเลย...จะให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายฉันขายกันในพระนครศรีอยุทธยานั้นมิได้เลย ผี้แลผู้ใดมิทำตามพระราชกฤษฎีกานี้ไซ้ ผู้นั้นเลมิดพระราชอาชา ให้ไหมโดยยศถาศักดิ...”.ความส่วนหนึ่งในพระอัยการลักษณะลักพาข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เสมียนสุภาวดีทูลถามข้อปฏิบัติต่อพระเจ้าแผ่นดินถึงกรณีการลักพาข้าบริวารไปถึงเมือง “เชลียงศุกโขไททุ่งย้างบางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพช” และพระราชโองการตัดสินโทษ หากพิจารณาจากลำดับชื่อเมืองที่ถูกอ้างถึงจำนวนสองครั้งในข้อความ ไม่ได้ปรากฏการเรียงลำดับแบบเดียวกันทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นว่า ชื่อ “ชากังราว” ที่อยู่ติดกับคำว่า “กำแพงเพชร” นั้น ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงการเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กัน หรือเป็นชื่อเมืองเดียวกันแต่อย่างใด นอกจากนี้ชื่อเมืองที่ถูกกล่าวถึงอาจเป็นเพียงการสื่อถึงกลุ่มเมืองในการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยอันห่างไกลจากอาณาจักรอยุธยาเท่านั้น...เอกสารอ้างอิง : กฤษฎา บุณยสมิต. (2565). กฎหมายตราสามดวง. ใน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 30 (พิมพ์ครั้งที่ 9). (หน้า 99-127). โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. (2542). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรมศิลปากร.ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 1 (2482). มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 2 (2482). มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2559). โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 2). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง.มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. ราชบัณฑิตยสถาน.สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2546). ประชุมประกาศตราประจำตำแหน่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรมศิลปากร.


#บทความวิชาการ เรื่อง ห้องสมุดมิชชันเชียงใหม่ ห้องสมุดชุมชนแห่งแรกของล้านนา (Chiang Mai Mission Library: Lanna’s First Community Library) โดยนางวรรณภา ปะวิโน บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการหอสมุดแห่งชาติ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2566 (Link: https://so04.tci-thaijo.org/index.php/nlt/issue/current)อ่านบทความได้ที่ https://anyflip.com/gjdys/axzk/


"มหานาคราชาใหญ่"สะพานพญานาคราช ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวงสร้างในสมัยเจ้าฟ้าอัตวรปัญโญ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๙ และซ่อมในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘จากหนังสือราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ความว่า• เถิงจุลศักราชได้ ๑๑๖๘ ตัวปีรวายยี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เม็งวันอังคารไทยเบิกไจ๊ยามเที่ยงวัน ท่านซ้ำมีอาชญาเกณฑ์เอากำลัง ๕๐๐ คน ก่อสร้างยังรูปมหานาคราชาใหญ่ ๒ ตัว ยาว ๖๘ วา ตัวใหญ่แต่แผ่นดินขึ้นสูง ๔ ศอก ยอฉัวเลิกพังพานขึ้นสูง ๑๐ ศอก ฐาปนาตั้งไว้ ๒ ปางข้างหนทางที่อันขึ้นเมือนมัสการพระมหาธาตุเจ้านั้นแล้ว ก็ซ้ำได้สร้างแปงยังศาลาบาตร เรียบแวดตามกำแพงภายทางในบริเวณข่วงมหาธาตุเจ้า แลได้ก่อรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ กับบริวารแลสอง แลสอง อยู่รักษาพระธาตุเจ้าทั้ง ๔ แจ่งหั้นแล เถิงเดือน ๖ เพ็งท่านก็ยาดหมายทานหั้นห้องหนึ่งก่อนแลจากหนังสือพื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด ความว่า•   เถิงสักราชได้ ๑๑๖๘ ตัว ปีรวายยี เดือน ๔ ออก ๑๕ ค่ำ วันอังคารไต เบิกใจ้ ยามเที่ยงวัน ท่านซ้ำมีอาชญาเกณฑ์เอากำลัง ๔๐๐ คน ก่อสร้างยังรูปมหานาคราชใหญ่สองตัวยาว ๖๘ วา ตัวใหญ่ แต่แผ่นดินขึ้น ๔ ศอก ยอหัวเลิกพังพานขึ้นสูง ๑๐ ศอก ถะปันนาตั้งไว้ ๒ พ่าง ข้างหนทางที่อันขึ้นเมือนมัสการแห่งพระมหาชินะธาตุเจ้านั้นแล ก็ซ้ำได้สร้างแปงยังศาลาบาตร แวดเลียบตามกำแพงภายทางในบริเวณข่วงพระธาตุเจ้า และได้ก่อรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ กับบริวารแล ๒ แล ๒ อยู่รักษาพระธาตุเจ้าทั้ง ๔ แจ่ง แล เถิงเดือน ๖ เพ็ง ได้เบิกบายฉลองหยาดน้ำหมายทานวันนั้นแลจากหนังสือพื้นเจ้าตนเสวยเมืองน่าน ฉบับวัดศรีพันต้น ปริวรรตโดย พระอธิการอุดร ชินวํโส กล่าวว่า•  ศักราชได้ ๑๑๖๘ ตัว ปีรวายยี เจ้าฟ้าส้างนาค ๒ ตัวลงขันใด วัดแช่แห้งแลส้างสาลานางย้องแล เจ้าอุปราชส้างสาลาพื้นหลังเหนือแลฯจากพงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร กล่าวว่า• ถึงจุฬสกราชได้ ๑๑๖๘ ตัว ปีรวายยี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เม็งวันอังคารไทย เบิกใจ้ ยามเที่ยงวัน ท่านซ้ำมีอาชญาเกณฑ์เอากำลัง ๕๐๐ คน ก่อส้างยังรูปมหานาคราชใหญ่ ๒ ตัว ยาว ๖๘ วา ตัวใหญ่แต่แผ่นดินขึ้นสูง ๔ ศอก ยกหัวเลิกพังพานขึ้นสูง ๑๐ ศอก ถาปะนาตั้งไว้ ๒ พ่างข้างหนทางที่อันขึ้นเมือนมัสการพระมหาธาตุเจ้านั้นแล้ว ก็ซ้ำได้ส้างแปงยังศาลาบาตร เลียบแวดตามกำแพงภายทางในบริเวณข่วงมหาธาตุเจ้า แลได้ก่อรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ กับบริวารและสอง และสอง อยู่รักสาพระธาตุเจ้าทั้ง ๔ แจ่งหั้นแล เถิงเดือน ๖ เพ็งท่านก็หยาดน้ำหมายทานหั้นห้องหนึ่งก่อนแลจากตำนานพระธาตุแช่แห้ง ฉบับพระสมุหพรหม กล่าวว่า•   จุลศักราชได้ ๑๒๖๗ ตัว (พ.ศ. ๒๔๔๘) ปีมะเส็ง ราชศรัทธาพระเจ้าน่านได้ทรง แปงวิหารหลวงแช่แห้งขึ้นใหม่ กว้าง ๗ วา ยาว ๑๗ วา ๒ ศอก สูง ๗ วา ๑ ศอก ก่ออิฐกําแพง ศาลาบาตรมุงด้วยกระเบื้องดินเป็นบริวัตถมันต ๔ ด้าน ด้านวันตกวันออกยาว ๔๐ วา ด้านใต้ด้านเหนือด้านละ ๓๘ วา มีประตูโขงออก ๔ ด้านแลสร้างใบสีแวดล้อมมหาธาตุเจ้าแล สร้างรูปสิงโตสองตัว สร้างพระวิหารพระทันใจกุ้มพระบาท สร้างรูปนาค ๒ ตัวใหญ่ ๒๐ กำ ยาว ๕๐ วา ยอหัวสูง ๓ วา ๒ ศอก สร้างถนนระหว่างนาคกว้าง ๒๐ วา ยาว ๕๐ วา สร้างท้องที่ ช่วงภูเพียงแช่แห้งแล้วก็ได้ถวายหื้อเป็นทานแก่พระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ภายในมีพระครูชยานันทมุนีเป็นประทานแลสงฆ์ทั้งหลายเข้ามารับเทอยทานถวายอาหารบิณฑบาตตั้งแต่วันเดือน ๗ น่าน แรม ๑ ค่ำ จิ่งเป็นปริโยสาร คณะสงฆ์มี ๑,๑๘๒ พระองค์แล รวมพระราชทรัพย์ได้บริจาคการทําบุญเสี้ยงเงิน ๔๘,๖๙๙ บาทกับ ๑๒ อัฐ เป็นครั้งต้นแลที่มาภาพ : โทน ซอยสิบเอ็ด เข้าถึงได้โดย https://www.facebook.com/groups/871540246741769/permalink/985764928652633/


ชื่อเรื่อง                    ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 28 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาผู้แต่ง                      กรมศิลปากรประเภทวัสดุ/มีเดีย      หนังสือท้องถิ่นISBN/ISSN                978-616-283-654-1หมวดหมู่                  ศาสนาเปรียบเทียบและศาสนาอื่นๆเลขหมู่                     294.3135 สถานที่พิมพ์              กรุงเทพฯสำนักพิมพ์                กรมศิลปากรปีที่พิมพ์                   2565ลักษณะวัสดุ              274 หน้า : ภาพประกอบ ; 26 ซม.หัวเรื่อง                    ศาสนาเปรียบเทียบและศาสนาอื่นๆภาษา                      ไทยบทคัดย่อ/บันทึก         หนังสือปกิณกศิลวัฒนธรรมจัดพิมพ์มาตั้งแต่พุทธศักราช 2538 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นหนังสือที่ระลึกในโอกาสที่กรมศิลปากรนำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ฯ พระอารามหลางนั้นๆ เป็นวิทยาทานแก่สาธารณชนผู้ร่วมกิจกรรมกับกรมศิลปากร


กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการธำรงรักษาด้านวัฒนธรรมของชาติมาเป็นเวลายาวนาน นับแต่พุทธศักราช 2454 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกการช่างกรมโยธา กระทรวงโยธาธิการ และกรมพิพิธภัณฑ์ กระทรวงธรรมการ มารวมเป็นกรมใหม่ พระราชทานว่า “กรมศิลปากร”ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 28 หน้า 567 วันที่ 27 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 130 เรื่อง ประกาศจัดราชการ แลเปลี่ยนนามกระทรวงโยธาธิการใหม่ กับตั้งกรมศิลปากรใหม่กรมหนึ่ง ความว่า“...ให้ยกกรมโยธา ออกจากกระทรวงโยธาธิการ แลให้แยกพแนกการช่างก่อสร้างส่วนหนึ่งมาบวกอยู่ในกรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาล แยกการช่างที่เป็นประณีตศิลปะไว้ส่วนหนึ่ง แลให้ยกกรมพิพิธภัณฑ์จากกระทรวงธรรมการมารวมกันตั้งขึ้นเป็นกรมศิลปากร มีผู้บัญชากรมขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดในกระทรวงใดฤากรมใดเป็นผู้บัญชาการเมื่อใดก็ได้ แล้วแต่จะทรงพระราชดำริห์ให้เห็นเหมาะกับบุคคล ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ซึ่งจะเป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรอีกส่วนหนึ่งด้วย...”การจัดตั้งกรมศิลปากร ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรพระองค์แรกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดากลิ่น พระสนมเอก เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 แรม 7 ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 ตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2398พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เช่นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับราชการตำแหน่งในออดิตออฟฟิศ พนักงานตรวจบัญชีเงินพระคลัง ทรงรับหน้าที่จัดการพระที่นั่งและพระราชวังบางปะอิน ทรงคิดแบบอย่างสร้างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรต่อมาพุทธศักราช 2418 ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ โปรดให้เป็นราชทูตสยามประจำ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาครั้นพุทธศักราช 2429 ได้รับแต่งตั้งเป็นคอมมิตตีกรมพระนครบาล ทรงดูแลรักษาพระนครและพิจารณาบังคับการกรมพระนครบาลพุทธศักราช 2435 เมื่อมีการยุบเลิกตำแหน่งคอมมิตตีเปลี่ยนเป็นตำแหน่งเสนาบดี และยกเลิกกรมพระนครบาลเป็นกระทรวงนครบาล ได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล ทรงดูแลหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงนครบาล เช่น กรมกองตระเวน กรมรักษาความสะอาด กรมพระสุรัสวดี เป็นต้นพุทธศักราช 2437 เป็นรัฐมนตรีสภาพุทธศักราช 2442 ได้รับเลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ต่อมาพุทธศักราช 2450 ได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เป็นผู้จัดการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญชาการสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงพุทธศักราช 2454 ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เป็นสมุหมนตรี เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร เป็นเสนาบดีที่ปรึกษา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บัญชาการกรมศิลปากรอีกตำแหน่งหนึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พุทธศักราช 2468 พระชันษาได้ 71 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2469 เป็นต้นราชสกุล กฤดากร ณ อยุธยาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรผู้เรียบเรียง : นางสาวพนิดา วงศ์บุญ นักจดหมายเหตุชำนาญการ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติอ้างอิง :กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, 2554.ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 28 วันที่ 27 มีนาคม 130 หน้า 567-569 เรื่อง ประกาศจัดราชการ แลเปลี่ยนนามกระทรวงโยธาธิการใหม่ กับตั้งกรมศิลปากรใหม่กรมหนึ่งอุดม ประมวลวิทยา. 101 เจ้าฟ้าและเสนาบดี. พระนคร: ร.พ. อักษรบริการ, 2505.หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภ หวญ 12/74 ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เรื่องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรางฉายภาพกับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. 13 M 00004, 13 M00014, 13 M0006813, M00070 (ภาพเม้าท์) ภาพที่อัดจากฟิล์มกระจกผนึกบนกระดาษแข็ง เรื่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 รล 5/5 เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กรมราชเลขานุการ เรื่อง ประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี 12 กระทรวง (1 เมษายน 111)หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 รล 2/6 เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กรมราชเลขานุการ เรื่อง ประกาศตั้งเสนาบดี (1) กระทรวงมุรธาการและปลัดทูลฉลอง (2) กระทรวงโยธาธิการ (3) กระทรวงเกษตราธิการ (4 มีนาคม 2454 – 14 มี.ค. 2463)หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 ว 9/1 เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงวัง เรื่อง ยกกรมช่าง มารวมอยู่ในกรมศิลปากร (16 เมษายน 2454 – 28 ส.ค. 2456)หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.6 ว 9/3 เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่6 กระทรวงวัง เรื่อง ยกกรมโยธามหาดเล็ก ไปสมทบกรมศิลปากร (20 กุมภาพันธ์ 2456)หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 ต 4/11 เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง รายงานทูตสยามครั้งกรมพระนเรศร์เป็นทูต (รศ 102)หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.10.11.3/3 เอกสารเอกสารส่วนบุคคล พันเอกแสง จุละจาริตต์ เรื่องสำเนารายงานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เสด็จประเทศอเมริกา พ.ศ. 2427 (พ.ศ. 2517)


วันลำดับที่ ๔ ในเทศกาลสงกรานต์คือวันปากปี ซึ่งถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ ในวันนี้ชาวบ้านจะพากันไปดำหัววัด คือไปทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันวันนี้คนล้านนาจะกินแกงขนุน ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” กันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนนำชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ชื่อ "ขนุน" พ้องเสียงกับคำว่า ""หนุน" การเกื้อหนุน ค้ำจุน สนับสนุน อุดหนุน ดันให้สูงขึ้นพิธีกรรมในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป เช่น พิธีไหว้พระรับศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้วอาจารย์โอกาสเวนทานถวายเครื่องไทยทาน  ในวันนี้จะมีพิธีทั้งที่วัดและที่บริเวณใจบ้าน เรียกว่า เป็นการส่งเคราะห์บ้านหรือเป็นวันสระพระเคราะห์ มีการปูชาเข้าลดเคราะห์  ปูชาเคราะห์ปีใหม่ ปูชาสระพระเคราะห์ ส่งเคราะห์วันปีใหม่ เป็นต้น ที่วัดเชื่อว่าผู้ที่บูชาดังว่าในวันปากปี จะได้รับความคุ้มครองไปตลอดปี ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคล แก่ครอบครัว เอกสารอ้างอิง"วันปากปี (ถัดจากวันเถลิงศกไปหนึ่งวัน)." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 12. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 6228-6228.



วันที่ 9-10 มิถุนายน 2566 งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ "วิถีถิ่น วิถีไทย" กรมศิลปากร โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ณ ศาลาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธี


วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.30 น. ร้อยเอก บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรีและหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 60 คน ร่วมจัดกิจกรรม Big Cleaning Day เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ โบราณสถานคูเมือง – กำแพงเมืองสุพรรณบุรี ด้านทิศตะวันตก (ฝั่งใต้) ถนนอาชาสีหมอก ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี


-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : เลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทราย -- ปี พ.ศ. 2515 นายอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) มีโครงการที่จะส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาในอำเภอแม่ใจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และเพิ่มปริมาณปลาให้มีเพียงพอต่อการบริโภค สามารถหาซื้อปลาในท้องที่ได้ในราคาถูก โดยเลือกหนองเล็งทราย ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในอำเภอแม่ใจเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ และกำหนดว่าจะส่งเสริมการเลี้ยงปลาจีนชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าปลาซ่งฮื้อ (Hypophthalmichthys nobilis) โครงการนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานีประมงจังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) มาร่วมดำเนินการทดลองเลี้ยงปลาในหนองเล็งทรายด้วย ดังมีรายละเอียดปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ดังนี้ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515 นายสืบพงษ์ ฉัตรมาลัย นักวิชาการประมงตรี สถานีประมงจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาร่วมกับเจ้าหน้าที่สภาตำบล และเจ้าหน้าที่อำเภอแม่ใจ ได้รายงานผลการปฏิบัติงานทดลองส่งเสริมการเลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทราย โดยเริ่มต้นจากการทำ “คอก” ซ้อนกันสองชั้น ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 60 เมตร ระดับน้ำลึกโดยเฉลี่ย 1 – 1.60 เมตร ซึ่งก่อนที่จะปล่อยพันธุ์ปลาสำหรับการเลี้ยง ต้องกำจัดปลาเบญจพรรณและศัตรูปลาเสียก่อนเพื่อป้องกันการแย่งอาหาร ต่อมาหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ จึงเริ่มทำการปล่อยพันธุ์ปลา แต่เนื่องจากทางสถานีฯ ไม่มีพันธุ์ปลาจีนตามที่โครงการกำหนด จึงนำพันธุ์ปลานิลและปลาไนปล่อยแทนไปก่อนในงวดแรก โดยปล่อยปลาไน 1,700 ตัว และปลานิล 500 ตัว น้ำหนักรวม 47.93 กิโลกรัม เมื่อมีพันธุ์ปลาจีนขนาดพอเหมาะแล้วจึงจะจับปลานิลและปลาไนไปขายแล้วนำปลาจีนลงเลี้ยงต่อไป นอกจากนี้ ผู้ดำเนินโครงการยังได้ให้คำแนะนำกับผู้เลี้ยงในการให้อาหารปลาว่า ใช้รำ ปลายข้าว สาหร่าย ต้มผสมกัน โดยให้อาหารปริมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาที่ปล่อยลงไป (ประมาณ 1.43 กิโลกรัม)  ต่อวัน ตอนท้ายของรายงานผลการปฏิบัติงานระบุว่า จะทำการติดตามผลการเลี้ยงปลา โดยหาอัตราการเจริญเติบโตในทุกๆ เดือนเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า เราพบเรื่องราวเกี่ยวกับการทดลองเลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทรายในเอกสารจดหมายเหตุแต่เพียงเท่านี้ จึงไม่อาจทราบได้ว่า การทดลองเลี้ยงปลาในคอกประสบความสำเร็จเพียงใด และในที่สุดแล้วสามารถนำพันธุ์ปลาซ่งฮื้อมาเลี้ยงในหนองเล็งทรายได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)เอกสารอ้างอิง: หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา หจช พย พย กษ 1.1.3/2 เรื่อง การทดลองเลี้ยงปลาในคอกของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา [ 17 ส.ค. 2515 – 11 มิ.ย. 2529 ].#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ








Messenger