ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,845 รายการ
วีดีทัศน์เชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ชุด "ถึงครูผู้ให้" นำเสนอ
“ขุนพลพิทักษ์” : นายลาภ อำไพรัตน์
กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ร่วมเขียนภาพเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส นายศักย ขุนพลพิทักษ์ เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปี ๒๕๖๔
ระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔
ณ อาคารนิทรรศการ ๔ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
ติดหราง (ติดคุก) การตัดสินคดีความในสมัยโบราณนั้นเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้บังคับบัญชาตัดสินคดีความต่างพระเนตรพระกรรณพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น โดยอาศัยตัวบทกฎหมาย พระราชกำหนด พระไอยการต่างๆที่ตราไว้สำหรับแผ่นดินเป็นหลักในการพิจารณาคดี สำหรับการลงโทษนั้นจะหนักเบาสถานใดก็เป็นไปตามโทษานุโทษแห่งคดีของผู้ร้ายรายนั้นๆ ดังนั้นบ้านเมืองต่างๆจึงต้องจัดให้มีสถานที่กักขังหรือควบคุมตัวนักโทษสำหรับเมืองนั้นๆไว้เป็นการเฉพาะ สถานที่ควบคุมตัวนักโทษหรือผู้ร้ายนั้นตามปกตินิยมเรียกกันว่า “คุก” แต่สำหรับในพื้นที่ภาคใต้นั้นมักนิยมเรียกกันว่า “หราง”(ตะรางคุมขังนักโทษ) ผู้ร้ายที่ถูกควบคุมตัวก็เรียกกันว่า “ติดหราง” ทั้งนี้หรางในภาคใต้ในสมัยโบราณจะถูกสร้างขึ้นในบริเวณจวนเจ้าเมือง หรือบ้านของข้าราชการในตำแหน่งสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ตัดสินความ ตามลักษณะของคดีความในสมัยโบราณ ทั้งนี้เจ้าเมืองหรือข้าราชการที่ได้สิทธิในการตั้งหรางคุมขังนักโทษ ก็จะได้สิทธิประโยชน์ในการใช้แรงงานนักโทษตามธรรมเนียมที่กำหนดไว้แต่โบราณ แต่ก็จะต้องรับภาระเลี้ยงดูเจือจานแก่นักโทษทั้งหลายตามสมควรด้วยหรางเมืองสงขลา(บ่อยาง) เมื่อย้ายเมืองสงขลามาตั้งที่ฝั่งบ่อยางอย่างเป็นทางการเมื่อพ.ศ.๒๓๘๕ นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้ตั้ง “หราง” ไว้ ณ ที่ใด แต่ก็สันนิษฐานว่าคงอยู่ภายในบริเวณจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยลักษณะของหรางในสมัยนั้นก็สร้างเป็นอาคารง่ายๆ ไม่มีโรงเลี้ยงแต่อย่างใด ดังปรากฏในรายงานศก ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) ของพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า “...การเลี้ยงนักโทษเมืองนครศรีธรรมราช กับเมืองพัฒลุงอยู่ในคนหนึ่งวันละ ๔ อัฐ เมืองสงขลาคนหนึ่งวันละ ๕ อัฐ เพราะเมืองสงขลาเข้าสารแลกับเข้าแพงกว่าเมืองนคร แลที่เมืองพัฒลุง แต่การเลี้ยงนักโทษยังไม่เข้าระเบียบดีเพราะเกี่ยวข้องด้วยการปลูกสร้าง โรงเลี้ยงก็ยังไม่มี ได้ทำเปนแต่หลังคาขึ้นพออาไศรยรับประทานเท่านั้น ในศก ๑๑๘ คิดว่าจะขอรับพระราชทานเงินทำคุกหัวเมือง ๒ แห่ง เมืองนครศรีธรรมราชแห่ง ๑ จุคนประมาณ ๔๐๐ คน เมืองสงขลาแห่ง ๑ จุคนประมาณ ๒๐๐ คน...”ตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลา ตะรางคุมขังนักโทษแห่งนี้สันนิษฐานว่าได้รับงบประมาณจัดสร้างใน ร.ศ.๑๑๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) โดยใช้พื้นที่บริเวณตึกดิน (บริเวณโรงพยาบาลเมืองสงขลาในปัจจุบัน) เป็นที่ตั้ง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรตะรางคุมขังนักโทษแห่งนี้ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๓ ในพ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จไปทอดพระเนตรตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลา และทรงบันทึกสภาพตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลาไว้ว่า “......ห้องขังอยู่ข้างเล็กอัดแอเต็มที น่ากลัวอันตราย ได้แนะนำเขาว่าควรทำใหม่ เขาว่าได้คิดไว้แล้ว จะพาไปดูที่ซึ่งคิดกะว่าจะปลูกในวันอื่น โรงงานมีนิดหนึ่งแต่ไม่ได้ทำการอะไร นักโทษใช้ทำการโยธานอกเรือนจำหมด โรงครัวกินเข้าแลออฟฟิศกับสิ่งจำเปนมีพร้อม รักษาสะอาดพอควร...”ตะรางคุมขังนักโทษแห่งใหม่ : เรือนจำเมืองสงขลา สันนิษฐานว่าในช่วงเวลาระหว่างพ.ศ.๒๔๔๕-๒๔๕๒ ได้มีการก่อสร้างตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลาขึ้นใหม่ในพื้นที่ตอนเหนือของจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ตะรางแห่งใหม่นี้จึงได้อาศัยกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศเหนือส่วนหนึ่งเป็นกำแพงของตะรางใหม่ด้วย ทั้งนี้จากการขุดค้นในบริเวณกำแพงเมืองเมื่อปี ๒๕๕๔ ได้พบแผ่นป้ายชื่อประจำตัวนักโทษจำนวนหนึ่งและพบว่ามีการระบุระยะเวลาการพ้นโทษตั้งแต่ร.ศ.๑๒๘- ๑๓๒ (พ.ศ.๒๔๕๒-๒๔๕๖) ซึ่งหมายความว่าอย่างน้อยในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการย้ายสถานที่คุมขังนักโทษจากบริเวณตึกดินมายังสถานที่แห่งใหม่แล้ว จึงพบว่าในร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ได้มีผู้พ้นโทษและทิ้งป้ายชื่อดังกล่าวเอาไว้ที่บริเวณนี้ ส่วนตะรางเดิมนั้นก็จะต้องถูกรื้อถอนไปทั้งหมดก่อนพ.ศ.๒๔๖๔ เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์มาเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลเมืองสงขลา (สงขลาพยาบาล)จากเรือนจำสงขลา...สู่เรือนจำกลางสงขลา ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๗๘ จึงปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเรือนจำเมืองสงขลาบริเวณกำแพงเมืองสงขลามากขึ้น โดยระบุว่าในปีนั้นเรียกชื่อว่า “เรือนจำสงขลา” และในพ.ศ.๒๕๐๐ เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำเขตสงขลา” ต่อมาในพ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำกลางสงขลา” และในปีเดียวกันนี้กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการก่อสร้างเรือนจำขึ้นใหม่ที่ บ้านสวนตูล ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ก่อนที่จะย้ายที่ตั้งเรือนจำกลางสงขลาไปยังบ้านสวนตูลทั้งหมดในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๗พะทำมะรง “พะทำมะรง” เป็นชื่อตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นัยว่ามีฐานะเป็นหัวหน้าผู้ควบคุมนักโทษ ควบคู่กับตำแหน่งพัศดี คือตำแหน่งผู้ควบคุมนักโทษ ปรากฏหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และไอยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอด จนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงได้ถูกยกเลิกไป คำว่า “พะทำมะรง” เป็นคำเก่าในบางครั้งอาจเขียนว่า พะธำมะรงค์ หรือ พะทำมรงค์ ได้เช่นกัน รายชื่อพะทำมะรง เมืองสงขลาท่านก่อนๆตั้งแต่อดีตนั้นไม่มีการบันทึกไว้ มีเพียงหลวงวินิจทัณฑกรรม(บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งพะทำมะรงท่านสุดท้ายจนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งต่อหลังจากนี้มาได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งนี้เป็น “ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลา”ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลา เป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นตามกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา ๕๘ แห่ง พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๘๐ กำหนดให้ทุกเรือนจำมีผู้บัญชาการเรือนจำควบคุมอยู่ ให้มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชากิจการเรือนจำโดยทั่วไป และมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าพนักงานตลอดจนผู้ต้องขังทั้งปวงที่สังกัดกิจการเรือนจำนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลาระหว่างพ.ศ.๒๔๘๐-๒๕๐๐ มีทั้งสิ้น ๙ ท่าน ดังนี้ ๑.หลวงวินิจทัณฑกรรม ๒๔๘๐ – ๒๔๘๑ ๒.ขุนอนุรักษ์ทัณฑกรรม ๒๔๘๑ – ๒๔๘๓ ๓.ขุนสฤษดิอักษรศาสตร์ ๒๔๘๓ – ๒๔๘๔ ๔.ขุนประเสริฐราชกิจ ๒๔๘๔ – ๒๔๘๕ ๕.ร.ต.สุข ลาดประเสริฐราชกิจ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ – ๗ กันยายน ๒๔๘๖ ๖.นายชม ญาณหาญ ๘ กันยายน ๒๔๘๖ – ๒๖ มิถุนายน ๒๔๙๔ ๗.นายทอง สุดออมสิน ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๔ – ๓๐ มิถุนายน ๒๔๙๕ ๘.นายบุญรวม ถนัดบัญชี ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ – ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๙ ๙.นายสะอาด แย้มกลิ่น ๑ มกราคม ๒๕๐๐ – ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๐ผู้บัญชาการเรือนจำเขตสงขลา ในพ.ศ.๒๕๐๐ เรือนจำสงขลาเปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำเขตสงขลา” จึงกำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของเรือนจำไว้ในตำแหน่ง “ ผู้บัญชาการเรือนจำเขตสงขลา” โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงพ.ศ.๒๕๑๕ รวม ๔ ท่าน คือ ๑.นายสะอาด แย้มกลิ่น ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๐ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ ๒.นายเชาว์ เจริญพงศ์ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๐ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๓ ๓.ร.ท.ปัญจะ มัธยมจันทร์ ๑ มกราคม ๒๕๐๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๐๖ ๔.นายสุพันธ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ๑ ตุลาคม ๒๕๐๖ – ๑ ตุลาคม ๒๕๑๕ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา ในพ.ศ.๒๕๑๕ เรือนจำเขตสงขลาเปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำกลางสงขลา” จึงกำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของเรือนจำไว้ในตำแหน่ง “ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา” โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึง ปัจจุบัน รวม ๑๘ ท่าน คือ ๑.นายสุพันธ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ๒ ตุลาคม ๒๕๑๕ – ๓๐ กันยายน ๒๕๑๙ ๒.นายจรัญ เดชะปัญญา ๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ – ๓๐ กันยายน ๒๕๒๑ ๓.นายสมบูรณ์ ศิริลักษณ์ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ – ๓๐ กันยายน ๒๕๒๕ ๔.นายประมวล งามไตรไร ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ – ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ๕.นายสนิทวงศ์ มณีสว่างวงศ์ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๘ ๖.นายรักษ์ ศิกษมัต ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๑ ๗.นายขจัดภัย บัวกระจาย ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ – ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓ ๘.นายชลิต ประจงกิจ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ ๙.นายชุตินันท์ เพ็ชรเจริญ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ – ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘ ๑๐.นายอภิชาติ ขุนเทพ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ – ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ๑๑.นายณรงค์ ยงณรงค์เดชกุล ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ๑๒.นายอุดม คุ่ยณรา ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ ๑๓.นายสุชิน ดำกระเด็น ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ – ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ๑๔.นายอำนาจ ปรัชญาพันธ์ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘ – ๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ๑๕.พ.ต.ท.วรชัย อารักษ์รัฐ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ๑๖.นายวีรชัย เพชรรัตน์ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ – ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ ๑๗.นายทวีรัตน์ นาคเนียม ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ๑๘.พ.ต.ท.วรชัย อารักษ์รัฐ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ ๑๙.นางนิภา งามไตรไร ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ – ปัจจุบันแผนผังเรือนจำสงขลา ๒๔๙๕ ในช่วงเวลานี้พื้นที่ใช้สอยภายในเรือนจำสงขลาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ แดนนอก เป็นที่ตั้งของสำนักงานพัศดี เรือนพยาบาล ห้องเยี่ยมนักโทษ ห้องขังนักโทษหญิง โรงช่างไม้ โรงย่อยหิน โรงจักสาน ห้องเก็บโซ่ตรวน ห้องตีตรวน โรงตัดผม และสวนดอกไม้ แดนใน เป็นที่ตั้งของห้องขัง ๑-๓ โรงย่อยหิน ศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ บ่อน้ำสำหรับนักโทษ และลานซักล้างแผนผังเรือนจำสงขลา ๒๕๑๗ ในช่วงเวลานี้พื้นที่ใช้สอยภายในเรือนจำสงขลายังคงแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนแต่มีการปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานในบางพื้นที่คือ แดนนอก มีการเปลี่ยนโรงตัดผมเป็นศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ มีการย้ายเรือนพยาบาลสลับกับที่ปลูกต้นไม้ มีการย้ายโรงจักสานจากที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ให้ไปอยู่ทางทิศเหนือ และย้ายโรงช่างไม้จากทิศเหนือให้ไปอยู่ทางทิศใต้ ย้ายโรงเก็บเครื่องมือและโซ่ตรวนไปไว้ชิดกำแพงแดนใน และมีการเพิ่มขึ้นด้วยได้แก่ การเพิ่มพื้นที่สำนักงานฝ่ายควบคุม และโรงโลหะ ขึ้นในพื้นที่ส่วนนี้ แดนในมีการเพิ่มโรงเรียนในบริเวณชิดกับกับโรงเลี้ยงเดิม มีการเพิ่มบริเวณปลูกผักใกล้กับศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ด้านทิศตะวันตก และพื้นที่ลานเอนกประสงค์ในบริเวณใกล้กำแพงฝั่งทิศใต้ร่องรอยของเรือนจำสงขลา เมื่อมีการรื้อถอนเรือนจำกลางสงขลาในพ.ศ.๒๕๑๗ ได้มีการรื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่ คงเหลือไว้แต่แนวกำแพงฝั่งทิศใต้ ซึ่งเป็นกำแพงก่อด้วยหินลักษณะเดียวกันกับกำแพงเมืองสงขลาไว้แนวหนึ่ง กำแพงหินแนวนี้สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงสิ่งปลูกสร้างภายในจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา และเมื่อใช้พื้นที่ทางตอนเหนือของจวนเดิมเป็นเรือนจำแล้ว แนวกำแพงนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพงเรือนจำไปด้วย ปัจจุบันแนวกำแพงส่วนที่เหลืออยู่นี้ ปรากฏอยู่เป็นแนวสั้นๆแทรกตัวอยู่หลังอาคารพาณิชย์ภายในตลาดสดสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สงขลาร่องรอยของนักโทษเมืองสงขลา การขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงพ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๔ บริเวณกำแพงเมืองสงขลาถนนจะนะ ซึ่งได้ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำกลางส่วนขลานั้น ได้พบป้ายประจำตัวนักโทษ พบจำนวน ๒๑ ชิ้น ป้ายเหล่านี้ทำด้วยหินชนวน มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหรือคล้ายสี่เหลี่ยม บางชิ้นมีการเจาะรูด้านบน ๑ รู แต่ละชิ้นมีขนาดไม่แน่นอน พบมีจารึกเป็นตัวหนังทั้งสองด้าน ด้านละสามบรรทัด โดยด้านหนึ่งจะ มีจารึกเป็นชื่อนักโทษ เลขประจำตัวนักโทษ และข้อหาที่ถูกลงโทษอย่างละบรรทัด ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นวันที่ถูกจองจำ ระยะเวลาที่ถูกจองจำ และวันที่พ้นโทษอย่างละบรรทัดเช่นกัน ---------------------------------------------------------//เรียบเรียงโดย I นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ I กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา---------------------------------------------------------
-- องค์ความรู้เรื่อง.. --
"คืนชีพเตาถลุงเหล็กโบราณ 2 พันปี ด้วยงานโบราณคดีทดลอง"
ข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับผลผลิตจากแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
#ExperimentalArchaeology #Archaeometallurgy #Workshop
.
-- เมื่อปี พ.ศ. 2562 กลุ่มโบราณคดี โดยนายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ และนางสาววรรณพร ปินตาปลูก ผู้ช่วยนักโบราณคดี ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีแหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่บ้านแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีการค้นพบเตาถลุงเหล็กโบราณสภาพสมบูรณ์ที่ยังอยู่ในบริบทติดที่ดั้งเดิม (In Situ) เส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร
.
..
-- จากการศึกษาวิเคราะห์ พบว่า เตาถลุงเหล็กบ้านแม่ลานนี้มีอายุการผลิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 จัดเป็นเตาถลุงเหล็กที่มีความเก่าแก่ที่สุดในดินแดนล้านนา อยู่ในช่วงต้นยุคเหล็กของดินแดนประเทศไทย โดยเตาที่ค้นพบครั้งนี้เป็นเตาที่ใช้ในการถลุงเหล็กตามกระบวนการทางตรง (Direct Iron Smelting Process) รูปแบบทรงกระบอกตรงมีผนังสูง (Shaft Furnace) หากสมบูรณ์จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 70 – 90 เซนติเมตร และสูงประมาณ 150 – 180 เซนติเมตร ทำจากวัสดุดินเหนียวปั้นโดยไม่ใช้โครงสร้างอิฐ
.
..
-- จากการวิเคราะห์รูปทรงของเตาถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่ลานอย่างละเอียดทำให้พบร่องรอยภูมิปัญญาโบราณที่สำคัญ คือ การทำช่องเติมอากาศรูปทรงกรวยให้ทแยงมุมกับผนังเตาประมาณ 30 องศา เรียงรายรอบตัวเตา โดยเว้นระยะห่างประมาณ 10 เซนติเมตร การจงใจทำช่องเติมอากาศให้ถี่และทแยงไปในทิศทางเดียวกัน ทางผู้ศึกษาได้วิเคราะห์และตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะก่อให้เกิดสภาวะลมหมุนวนเป็นเกลียวขึ้นภายในตัวเตาอย่างทั่วถึง ซึ่งนำมาสู่ประเด็นคำถามต่อมา คือ ความตั้งใจในการก่อให้เกิดสภาวะอากาศหมุนวนเป็นเกลียวในเตาถลุง จะเป็นปัจจัยให้เกิดผลลัพธ์อย่างไรในกระบวนการถลุงเหล็ก
.
..
-- ข้อสันนิษฐานและประเด็นคำถามข้างต้นนำมาสู่ความพยายามในการไขปริศนาภูมิปัญญาโบราณด้วยกระบวนการโบราณคดีทดลอง (Experimental Archaeology) ซึ่งผู้ศึกษาพยายามจำลองรูปแบบเตาถลุงเหล็ก และควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้เหมือนโบราณมากที่สุดเท่าที่องค์ความรู้และวัสดุอุปกรณ์จะเอื้ออำนวย ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
.
..
-- 1. ขั้นตอนเตรียมการ ผู้ศึกษาได้เลือกใช้วัตถุดิบให้มีความใกล้เคียงกับที่พบในแหล่งโบราณคดีมากที่สุด ประกอบด้วย 1.1) แร่เหล็ก การถลุงครั้งนี้ใช้แร่เหล็กในกลุ่มแมกนีไทต์ (Magnetite) ซึ่งนำมาจากสายแร่ที่พบในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งโบราณคดี และนำมาย่อยให้มีขนาด 2 – 4 เซนติเมตร เหมือนกับที่พบในแหล่งโบราณคดี 1.2) ถ่าน เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ผู้ศึกษาจึงมีความจำเป็นต้องใช้ถ่านจากไม้ที่มีความหลากหลาย เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ลำไย และไม้มะขาม 1.3) ดิน ผู้ศึกษาได้นำดินมาจากบริเวณที่พบแหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่อำเภอลี้ (สิบดร) จังหวัดลำพูน ซึ่งมีลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย นำมาหมักแช่น้ำไว้ 3 วัน หลังจากนั้นจึงทำการนวดดิน เติมทรายและแกลบข้าวลงไปจนดินมีความหนืด
.
..
-- 2. ขั้นตอนปั้นเตาถลุง การศึกษาครั้งนี้ได้พยายามสร้างให้มีขนาดและรูปทรงใกล้เคียงกับแบบสันนิษฐานของโบราณถลุงเหล็กโบราณมากที่สุด โดยทำการปั้นเตาถลุงที่มีโครงสร้างเป็นดินเหนียวล้วน ๆ ขนาดความกว้างของฐานเตา 100 เซนติเมตร ความสูง 140 เซนติเมตร ปากเตากว้าง 80 เซนติเมตร ความหนาของผนังเตา 20 เซนติเมตร บริเวณฐานเตาเจาช่องระบายตะกรันรูป 4 เหลี่ยม ทั้ง 4 ด้าน ขุดหลุมดักตะกรันไว้ภายนอกตัวเตา ส่วนช่องเติมอากาศรูปทรงกรวย เจาะไว้ทั้งสิ้น 16 ช่อง ทำมุมทแยงกับผนังเตา 30 องศา ตัวช่องอยู่สูงขึ้นมาจากฐานเตา 20 เซนติเมตร หลังจากปั้นเตาเสร็จทำการสุมไฟด้วยไม้ฟืนภายในเตาเพื่อให้ดินแห้ง และทิ้งไว้ 18 ชั่วโมง
.
..
-- 3. ขั้นตอนถลุงเหล็ก ดำเนินการถลุงเหล็กตามกระบวนการทางตรง (Direct Iron Smelting Process) ตัวเตาเติมอากาศโดยใช้เครื่องเป่าลม (Blower) ขนาด 4 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง แบ่งช่องเติมอากาศเข้าเตาถลุงผ่านทางท่อขนาด 1 นิ้ว เครื่องละ 8 ช่อง รวมเป็น 16 ช่อง จนก่อให้เกิดสภาวะหมุนวนเป็นเกลียวของอากาศขึ้นภายในตัวเตา ในส่วนกระบวนการเติมเชื้อเพลิงและแร่ ทำการเติมสลับกันระหว่างแร่เหล็กและถ่าน ความถี่ของเวลาอยู่ระหว่าง 5 – 10 นาที โดยสังเกตอัตราการยุบตัวของถ่านเป็นหลัก ส่วนการระบายตะกรันใช้วิธีสังเกตปริมาณตะกรันภายในห้องไฟผ่านทางช่องเติมอากาศ และเจาะระบายออกมาทางช่องระบายตะกรันทั้ง 4 ทิศทาง สรุปกระบวนการถลุงเหล็กใช้เวลาตั้งแต่การอุ่นเตาจนถึงการทุบเตาเพื่อนำผลผลิตออกจากตัวเตา ทั้งสิ้น 4 ชั่วโมง 30 นาที ใช้แร่เหล็กในการถลุง 100 กิโลกรัม และใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น 380 กิโลกรัม ข้อสังเกตจากการถลุงครั้งนี้ คือ มีปริมาณตะกรัน (Slag) จากการถลุงออกมาน้อยมาก น้ำหนักรวมทั้งสิ้นเพียงแค่ 5 กิโลกรัม
.
..
-- 4. ผลผลิตที่ได้จากกระบวนการถลุงเหล็ก ผลผลิตที่ได้จากการถลุงในครั้งนี้ คือ ก้อนโลหะเหล็ก (Iron Bloom) มีลักษณะพิเศษในแบบวงแหวน (Ring shape) มีน้ำหนัก 47 กิโลกรัม ซึ่งหากรวมกับก้อนเหล็กอื่น ๆ ที่แยกตัวออกมา ผลผลิตที่ได้จากการถลุงครั้งนี้จะมีน้ำหนักมากถึง 50 กิโลกรัม
.
..
-- สรุปและอภิปรายผล ประเด็นการใช้ทรัพยากรและผลผลิต การทดลองถลุงครั้งนี้พบว่าใช้แร่เหล็ก 100 กิโลกรัม และถ่านเชื้อเพลิง 380 กิโลกรัม หากคิดเป็นสัดส่วนของเหล็กและถ่านจะอยู่ที่ประมาณ 1 : 4 ซึ่งยังอยู่ในระดับมาตรฐานของการถลุงเหล็กที่มีคุณภาพโดยทั่วไป ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุดิบและผลผลิตที่ได้ การถลุงครั้งนี้ใช้แร่เหล็กกลุ่มแมกนีไทต์ (Magnetite) น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ได้ผลผลิตออกมาเป็นก้อนโลหะเหล็ก (Iron Bloom) น้ำหนัก 50 กิโลกรัม หากคิดเป็นสัดส่วนระหว่างผลิตที่ได้กับแร่ต้นทุนจะอยู่ที่ 1 : 2 หรือครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าเตาถลุงเหล็กแบบโบราณโดยทั่วไป ที่มักมีสัดส่วนระหว่างผลผลิตกับแร่ต้นทุนอยู่ที่ 1 : 3 ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถบ่งชี้เบื้องต้นให้เห็นว่า เตาถลุงเหล็กที่ผู้ศึกษาพยายามจำลองรูปแบบและเทคนิคจากเตาถลุงเหล็กโบราณนั้นมีประสิทธิภาพสูงในการสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการถลุงเหล็ก ส่งผลให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป เป็น นัยยะที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้และความเชี่ยวชาญของช่างถลุงเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว ได้เป็นอย่างดี
.
..
-- สรุปและอภิปรายผล ประเด็นรูปทรงของผลผลิต กระบวนการเติมอากาศผ่านช่องทแยงมุม 30 องศา จำนวน 16 ช่อง ก่อให้เกิดสภาวะหมุนวนของอากาศเป็นเกลียวภายในตัวเตา ส่งผลให้เกิดความร้อนสูงบริเวณใกล้ปากช่องเติมอากาศรอบ ๆ ด้านในตัวเตา แต่ความร้อนเหล่านี้กลับไปไม่ถึงแกนกลางของเตา ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เหล็กมาจับตัวเป็นก้อนบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงจนเกิดเป็นก้อนโลหะเหล็ก (Iron Bloom) ที่มีลักษณะเป็นรูปทรงวงแหวน (Ring shape) ซึ่งถือเป็นผลผลิตที่มีลักษณะพิเศษและเป็นจุดเด่นของเตาถลุงที่ใช้เทคนิคนี้ ต่างกับผลผลิตจากเตาถลุงเหล็กรูปแบบทั่วไป ที่มักได้ผลผลิต (Iron Bloom) เป็นก้อน หรือ ทรงก้นถ้วยตามรูปร่างของก้นเตา จากลักษณะที่ปรากฏจึงตั้งข้อสันนิษฐานทางโบราณคดีเบื้องต้นได้ว่าผลผลิต (Iron Bloom) จากแหล่งเตาถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อาจมีลักษณะเฉพาะเป็นรูปทรงแบบวงแหวน หรือปรากฏลักษณะเป็นแท่งที่มีความโค้งตามลักษณะพื้นผิวด้านในของเตาถลุง
.
..
-- ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการศึกษาครั้งต่อไป การศึกษาโบราณคดีทดลองครั้งนี้ เป็นการศึกษาที่ดำเนินการภายใต้ปัจจัยข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะด้านวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ผลการศึกษาที่นำเสนอมุ่งเน้นไปที่ข้อสังเกตซึ่งเป็นผลในเชิงประจักษ์เป็นหลัก ขณะนี้อยู่ในระหว่างส่งตัวอย่างที่ได้จากการถลุงไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม ผู้ศึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้มีการศึกษาด้านโบราณโลหะวิทยาผ่านกระบวนการโบราณคดีทดลองต่อไปในอนาคต ทั้งนี้หากมีการศึกษาครั้งต่อไป ผู้สนใจศึกษาควรเตรียมอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์อ่านค่าต่าง ๆ ให้มีความพร้อม ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถวิเคราะห์องค์ความรู้จากกระบวนการถลุงให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลผลผลิตที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ ยังสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบทางโบราณคดีเพื่อศึกษา วิเคราะห์ปลายทางของผลผลิตจากแหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่อำเภอลี้ ได้ต่อไปในอนาคต
.
===========================================
-- บทความเรียบเรียงโดย นายยอดดนัย สุขเกษม
นักโบราณคดีปฏิบัติการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
.
..
-- กิตติกรรมประกาศ ขอขอบคุณกรมศิลปากร ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ขอขอบคุณ รศ. สุรพล นาถะพินธุ ดร. ภีร์ เวณุนันทน์ และ คุณประพจน์ เรืองรัมย์ ที่กรุณาให้ความรู้ คำแนะนำ เกี่ยวกับด้านโบราณโลหะวิทยาและกระบวนการถลุงเหล็ก ท้ายที่สุดขอขอบคุณ นายวิวัฒน์ จันทร์โอภาส นายอำเภอลี้ นายเจริญทิพย์ อร่ามรุ่งโรจน์ ปลัดอำเภอลี้ นายเสน่ห์ จินาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ นายครรชิต สายชู กำนันตำบลแม่ลาน ทีมงานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลแม่ลาน คุณพรชัย ตุ้ยดง ตลอดจนคณะอาจารย์และนักศึกษา หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่สนับสนุนกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๓ มีนาคม ๒๔๒๖ วันประสูติสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๐ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๒๕ (นับแบบปัจจุบันเป็นพุทธศักราช ๒๔๒๖) ทรงมีพระเชษฐภคินี พระเชษฐา พระขนิษฐา และพระอนุชาร่วมพระบรมราชชนนี ๗ พระองค์ คือ
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
- สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
- สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
พุทธศักราช ๒๔๓๕ ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท นริศรราชมหามกุฏวงษ์ จุฬาลงกรณนรินทร์ สยามพิชิตินทรวรางกูร สมบูรณพิสุทธิชาติ วิมโลภาศอุภัยปักษ์ อรรควรรัตนขัตติยราชกุมาร กรมขุนพิศณุโลกประชานารถ ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ แล้วเสด็จไปประทับอยู่ในราชสำนักสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งประเทศรัสเซีย ทรงศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารบกด้วยที่ประเทศรัสเซีย สอบได้ชั้นสูงสุด เป็นราชทูตพิเศษเมื่อประทับอยู่ในยุโรป ได้เสด็จแทนพระองค์ไปในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ แห่งอิตาลี งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ และพระราชินีแมรี แห่งประเทศอังกฤษ ครั้นเสด็จกลับมา ทรงรับราชการในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นนายพลตรี ราชองครักษ์ และเป็นเสนาธิการทหารบก
ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ส่งบัญชาการกรมทหารมหาดเล็กแทนพระองค์โปรดเก้าให้เลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท นริศรราชมหามกุฏวงษ์ จุฬาลงกรณนรินทร์ สยามพิชิตินทรวรางกูร สมบูรณพิสุทธิชาติ วิมโลภาศอุภัยปักษ์ อรรควรรัตนขัตติยราชกุมาร กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เลื่อนเป็นนายพลโท นายพลเอก และเป็นจอมพลทหารบก ราชองครักษ์ คงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และองคมนตรี และทรงเป็นรัชทายาทจนเสด็จทิวงคต
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จทิวงคตในรัชกาลที่ ๖ ที่ประเทศสิงคโปร์ ขณะเสด็จราชการทหาร เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๖๓ พระชนมายุ ๓¬๘ ปี ทรงสถาปนาพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถในปีนั้น และพระราชทานเศวตฉัตร ๕ ชั้น เป็นต้นราชสกุล จักรพงศ์
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ นับเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่สืบสายทั้งจากพระบรมชนกนาถ และพระบรมราชชนนี
ภาพ : จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะประทับศึกษาวิชาการทหารในประเทศรัสเซีย (ทรงฉลองพระองค์สำหรับร่วมงานเลี้ยงที่พระราชวังฤดูหนาวของรัสเซียในปี พุทธศักราช ๒๔๔๖)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ขอเชิญชมนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ประจำปี ๒๕๖๔ ในหัวข้อ "อดีต - ปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา" ระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๔ - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ณ อาคารจัดแสดง ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะมีวิทยากรให้ความรู้เรื่องประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และผู้เข้าชมจะได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมถาม - ตอบ เกี่ยวกับความรู้ที่ได้จากการชมนิทรรศการ เพื่อลุ้นรับของรางวัล (กระเป๋าผ้า สมุดบันทึก และหน้ากากอนามัย) ทั้งนี้ เพื่อปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด ๑๙ อย่างเคร่งครัด ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเข้าชม และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้เข้าชมทุกท่าน
เวียงแก้ว หมายถึง เวียงของกษัตริย์ หรือเขตพระราชฐานที่ประทับของกษัตริย์ ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมือง ภายในประกอบด้วยอาคารหลายหลังมีหน้าที่ใช้สอยแตกต่างกัน เวียงแก้วมีมาตั้งแต่ยุคต้นของเมืองเชียงใหม่ และในยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ พญากาวิละได้สร้างหอคำหรือคุ้มหลวงอยู่ในบริเวณเวียงแก้ว เดิมเรียกว่า “คุ้มเวียงแก้ว” และได้เป็นที่ประทับของกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ สืบเนื่องยาวนานมาถึงสมัยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์ทิพยจักร นับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์เชียงใหม่องค์สุดท้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับเวียงแก้ว โดยพระองค์ได้มอบพื้นที่เวียงแก้วให้ทางการสยามนำไปสร้างเป็นเรือนจำ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ เรื่อยมาจนกระทั่งกรมราชทัณฑ์ได้ย้ายนักโทษหญิงออกจากทัณฑสถานหญิงเดิมที่สร้างบนพื้นที่เวียงแก้วในพุทธศักราช ๒๕๕๕ ไปตั้งในพื้นที่แห่งใหม่ที่ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ถึงปัจจุบัน ภายหลังจากที่ทัณฑสถานหญิงเดิมได้ย้ายออกไปตั้งในที่แห่งใหม่แล้ว ประชาชนชาวเชียงใหม่จำนวนมากได้มีการลงประชามติให้มีการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเดิมให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และฟื้นฟูเวียงแก้วซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ล้านนาโดยปัจจุบัน สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อศึกษาหลักฐานการตั้งอยู่รวมถึงพัฒนาการของเวียงแก้ว ประกอบกับการศึกษาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ล้านนา ส่งผลให้ปัจจุบันการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเวียงแก้วเป็นสิ่งที่ชาวเชียงใหม่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผลการดำเนินงานด้านวิชาการโบราณคดีพบหลักฐานเครื่องถ้วยจำนวนมาก ที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของเวียงแก้วผ่านเครื่องถ้วยต่างๆ ที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีเวียงแก้ว เพราะเครื่องถ้วยเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่สามารถกำหนดอายุสมัยโดยใช้การเปรียบเทียบ เครื่องถ้วยจีนที่ในแต่ละแหล่งเตาที่จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัยของจักรพรรดิพระองค์นั้นๆ หรือเครื่องถ้วยล้านนาจากแหล่งผลิตต่างๆ ก็มีเอกลักษณ์จนสามารถระบุความสัมพันธ์ของเมืองเชียงใหม่กับเมืองที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยเหล่านั้น จึงเป็นที่น่าสนใจหากจะศึกษาพัฒนาการแต่ละยุคสมัยของเวียงแก้ว รวมถึงศึกษาการติดต่อสัมพันธ์กับบ้านเมืองอื่น ๆ ผ่านหลักฐานประเภทเครื่องถ้วย โดยนำมาเทียบกับหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์และพัฒนาการของเวียงแก้วได้มากยิ่งขึ้น การขุดค้นทางโบราณคดีในเวียงแก้ว “เวียงแก้ว” เป็นชื่อเขตพระราชฐานของกษัตริย์ล้านนาที่อยู่ในสำนึกของชาวเชียงใหม่มาช้านานแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนาต่างให้ความสำคัญกับพื้นที่แห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทนับได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญอันเป็นเสมือน “หัวใจ” หรือ “หลักเมือง” ภายหลังจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่เดิมตั้งอยู่ในพื้นที่ของเวียงแก้วได้ย้ายออกไปตั้งยังสถานที่แห่งใหม่บนถนนโชตนา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ชาวเชียงใหม่และกลุ่มนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนาต่างตื่นตัวที่จะเรียกร้องให้มีการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ออกทั้งหมด โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ชาวเชียงใหม่ได้ทำประชาพิจารณ์ให้มีการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานเดิมนี้ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ควบคุมดูแลงบประมาณและการก่อสร้าง ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว” ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน ๙๕ ล้านบาท โดยมีกำหนดเริ่มต้นดำเนินโครงการเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ - ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ อย่างไรก็ตาม การจะสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่บนสถานที่ที่คาดว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก่อนนั้นยังไม่สามารถทำได้โดยทันที เพราะต้องมีการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเสียก่อน เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่จริงของเวียงแก้ว และป้องกันมิให้เกิดการทำลายหลักฐานที่อาจมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก การดำเนินงานด้านโบราณคดีในเวียงแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาโครงการข่วงหลวงเวียงแก้วของจังหวัดเชียงใหม่ โดยกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการขุดค้น การดำเนินงานทางโบราณคดี แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ๑ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐ ทำการขุดค้นและขุดแต่งในพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเดิม พื้นที่บางส่วนของสำนักงานยาสูบ (เดิมเป็นคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ แก้วมุงเมือง) และพื้นที่บ้านพักผู้บัญชาการเรือนจำเดิม ซึ่งบริเวณเหล่านี้เมื่อนำมาเทียบกับแผนที่เมืองเชียงใหม่ที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็พบว่าตรงกับพื้นที่สี่เหลี่ยมด้านทิศใต้ของเวียงแก้ว ระยะที่ ๒ เริ่มช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๓ - เดือนมีนาคม ๒๕๖๔ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องภายหลังจากการรื้อถอนอาคารของทัณฑสถานหญิงเดิมรุ่นหลังบางอาคารที่ทับกับหลักฐานแนวอิฐที่พบจากการขุดค้นในระยะที่ ๑ จากการดำเนินงานตลอดปี พ.ศ. ๒๕๕๙ - เดือนมีนาคม ๒๕๖๔ พบหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงพัฒนาการของเวียงแก้ว ได้แก่ แนวอิฐที่ก่อเป็นกำแพงและฐานรากอาคาร ที่บ่งบอกถึงลำดับการก่อสร้างภายในเวียงแก้วมาตั้งแต่สมัยล้านนา (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒) โดยสันนิษฐานว่า การสร้างเวียงแก้วน่าจะเริ่มจากบริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยมด้านทิศตะวันออกก่อน แล้วจึงปรับเปลี่ยน ขยับขยายพื้นที่เรื่อยมาหลายยุคสมัยจนกระทั่งมีลักษณะดังเช่นปัจจุบัน นอกเหนือจากหลักฐานสำคัญอย่างแนวกำแพงและฐานรากอาคารแล้ว หลักฐานโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีในเวียงแก้วก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยโบราณวัตถุที่พบนั้นมีจำนวนนับหมื่นชิ้น ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาแบบเนื้อดิน อาทิ ครก สาก หินบดยา เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาในล้านนาและท้องถิ่น รวมไปถึงเครื่องถ้วยจากต่างประเทศ ทั้งเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน หมิง และชิง แม้กระทั่งเครื่องถ้วยจากประเทศญี่ปุ่นและเวียดนามก็พบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เช่นกัน การดำเนินงานขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์โบราณวัตถุ หากมีการวิเคราะห์เสร็จสิ้นแล้วก็จะช่วยให้มองเห็นภาพพัฒนาการของเวียงแก้วได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น การดำเนินงานขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โดยทางสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้ทำการขุดค้น ขุดแต่งจนถึงชั้นดินพื้นที่ใช้งานเดิมสมัยล้านนา และทำการรื้อถอนอาคารทัณฑสถานเดิมออกบางส่วน เหลือเพียงอาคารที่ยังคงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านการศาลไว้ ๓ หลัง คือ อาคารบัญชาการ เรือนเพ็ญ และอาคารแว่นแก้ว รวมไปถึงป้อมปราการด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้และกำแพงเรือนจำบางส่วนเท่านั้น ขณะที่แนวอิฐที่เป็นกำแพงเวียงแก้วและฐานรากอาคารต่างๆ ที่ขุดค้นพบ จะทำการถมกลับไว้ เพื่อป้องกันการถูกทำลายจากปัจจัยต่างๆ และจะทำการขุดเปิดอีกครั้งเมื่อมีแผนการปรับปรุงพื้นที่ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต เครื่องถ้วยที่จัดแสดงในนิทรรศการ ๑. เครื่องถ้วยจีน ได้แก่ - สมัยราชวงศ์หยวน ได้แก่ กลุ่มเครื่องถ้วยลายคราม เขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบ และกลุ่มเครื่องเคลือบสีเขียวภาพ : เครื่องถ้วยจีนจากราชวงศ์หยวน (ซ้ายมือ) และราชวงศ์ชิง (ขวามือ) - สมัยราชวงศ์หมิง ได้แก่ กลุ่มเครื่องถ้วยเคลือบสีนํ้าเงิน จากแหล่งเตาเต๋อฮั่ว มณฑลฝูเจี้ยน กลุ่มเครื่องถ้วยลายคราม เขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบ จากแหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี และเตาในมณฑลฝูเจี้ยน ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว จากแหล่งเตาฉือเส้า มณฑลฝูเจี้ยน เครื่องถ้วยเขียนสีบนเคลือบ จากแหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซีภาพ : เครื่องถ้วยจีนราชวงศ์หมิง - สมัยราชวงศ์ชิง ได้แก่ เครื่องถ้วยลายคราม เขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบ สมัยราชวงศ์ชิง แหล่งเตาเต๋อฮั้ว มณฑลฝูเจี้ยน และแหล่งเตาจิ่งเจ๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี - สมัยสาธารณรัฐจีน ได้แก่ กระปุกเคลือบสีนํ้าตาล แหล่งเตาจิโจว และเศษเครื่องถ้วยเขียนสีบนเคลือบ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ชามตราไก่” จากแหล่งเตาต้าปู้ มณฑลกว่างตง และเครื่องถ้วยเขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบภาพ ; เครื่องถ้วยจีนสมัยสาธารณรัฐ (ซ้าย) และเครื่องถ้วยจากเวียดนามและญี่ปุ่น (ขวา) ๒. กลุ่มเครื่องถ้วยแหล่งเตาล้านนา/ท้องถิ่น อาทิ เบี้ยขุดลายจากแหล่งเตาพะเยา (เวียงบัว) ก้นภาชนะเขียนลายสีดำบนพื้นขาวจากแหล่งเตาสุโขทัย เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวขุดลายจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย เครื่องถ้วยเคลือบสีขาว และเขียนสีดำบนพื้นขาวใต้เคลือบจากแหล่งเตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวจากแหล่งเตาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตุ๊กตาดินเผาเคลือบสีเขียว ชิ้นส่วนพระพุทธรูปดินเผา รวมถึงภาชนะดินเผาเนื้อดินที่ผลิตในแหล่งเตาท้องถิ่น เช่น กุณฑี (คนโท) ตะคันดินเผา หม้อปากผายออกขนาดเล็ก และครกดินเผา ครกหิน และสาก ที่ได้จากการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีเวียงแก้วด้วยภาพ : เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาในล้านนาและภาคเหนือภาพ : กุณฑี (คนโท) และภาชนะดินเผาเนื้อดินชนิดอื่นๆ ที่พบในแหล่งโบราณคดีเวียงแก้วภาพ : ครกดินเผา ครกหิน และสาก ๓. กลุ่มเครื่องถ้วยจากประเทศเวียดนาม และญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว และเขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบจากประเทศเวียดนาม ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเขียนสีแดงลายโชกุน สมัยเอโดะ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยพิมพ์ลายสีนํ้าเงินใต้เคลือบ สมัยเมจิ - ไทโช และแจกันเขียนลายสีนํ้าเงินและทอง ราวสมัยเมจิ จากประเทศญี่ปุ่น นิทรรศการเครื่องถ้วยเวียงแก้วครั้งนี้ ได้นำเอาเครื่องถ้วยที่ได้จากการขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีเวียงแก้ว มาจัดลำดับตามอายุสมัยของเครื่องถ้วย เทียบกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเวียงแก้วจากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยนำเสนอในรูปแบบของไทม์ไลน์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าใจบริบทของเครื่องถ้วยที่พบในเวียงแก้วได้มากยิ่งขึ้น นิทรรศการพิเศษ เรื่อง "เครื่องถ้วยเวียงแก้ว จากวัตถุสู่พัฒนาการวังหลวงแห่งเวียงเชียงใหม่" จัดแสดงระหว่างวันที่ ๑ กันยายน - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ อาคารจัดแสดงชั้น ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๕๓๒๒ ๑๓๐๘
ชื่อผลงาน: จิตรกรรมประกอบโคลงพระราชพงศาวดาร
ศิลปิน: ไม่ปรากฏนาม
เทคนิค: จิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้
ขนาด: กว้าง 70 ซม. สูง 48 ซม.
อายุสมัย: รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 พุทธศักราช 2430
รายละเอียดเพิ่มเติม: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกวดแต่งโคลงประกอบพระราชพงศาวดาร และเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ประกอบโคลง ในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ พุทธศักราช 2430 งานจิตรกรรมชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเด่นของภาพชุดโคลงพงศาวดาร ซึ่งถ่ายทอดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ตอน เพลิงไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากเหตุฟ้าผ่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อพุทธศักราช 2332
Title: illustrated chronicle painting with poetry
Artist: anonymous
Technique: tempera on wooden panel
Size: 70 × 48 cm.
Period: Rattanakosin era, 1887 in the reign of King Chulalongkorn (Rama V)
Detail: His Majesty King Chulalongkorn (Rama V) ordered to ran a painting competition as illustrations for the royal Thai chronicle, in a memorable event upon the royal cremation ceremony for His Majesty’s child in 1887. One of these paintings which considered a remarkable piece, depicted a historical event of a fire incident at Amarindara Bishek Throne Hall in The Royal Grand Palace complex as an effect of a lightning strike, occurred in 1789 in the reign of Somdej Phra Puttha Yodfah (King Rama I).
เขตพระราชฐานชั้นใน หรือที่บางคนเรียกว่า “ฝ่ายใน” นั้น เป็นคําที่ใช้เรียกพื้นที่ส่วนหนึ่ง ในพระบรมมหาราชวัง มีบริเวณอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่ประทับสําหรับ พระมเหสี พระราชเทวี พระชายา พระราชธิดาและเป็นที่อยู่ของเจ้าจอมมารดา เจ้าจอม เหล่าข้าราชบริพารและข้าราชการฝ่ายใน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สาหรับผู้หญิงล้วนและห้ามผู้ชายที่มีอายุเกิน ๑๓ ปีเข้าไป เว้นแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะประทับในเขตพระราชฐานชั้นในได้ หากผู้ชายมีความจําเป็นจะต้องเข้าไปทําธุระในเขตพระราชฐานชั้นใน จะต้องมีโขลนคอยกํากับ ควบคุมและดูแลโดยตลอด การพระราชพิธีต่าง ๆ นับแต่โบราณ เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าจะต้องมีวงดนตรีต่าง ๆ เข้าไปประโคมเพื่อประกอบพระอิสริยยศอยู่ด้วย โดยงานพระราชพิธีที่จัดขึ้นนั้นมีทั้งงานที่จัดขึ้นนอกพระบรมมหาราชวังและงานที่จัดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ถ้าหากงานพระราชพิธีนั้นจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง ของพระบรมมหาราชวังหรือจัดขึ้น นอกพระบรมมหาราชวัง นักดนตรีที่บรรเลงในงานพระราชพิธีนั้นโดยมากจะนิยมใช้ผู้ชาย แต่ถ้าหากงานพระราชพิธีนั้นจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน อันเป็นเขตพื้นที่หวงห้ามสาหรับบุรุษเพศแล้ว ย่อมเป็นที่แน่นอนว่านักดนตรีที่บรรเลงในงานพระราชพิธีดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นผู้หญิง ดังที่ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวถึง การประโคมดุริยางคดนตรีในพระราชพิธีที่จัดขึ้น ในเขตพระราชฐานชั้นใน ไว้ในหนังสือการบรรเลงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี ความว่า “..อนึ่ง งานที่ประกอบขึ้น ณ พระราชฐานชั้นใน อันมีแต่ข้าราชการ และเจ้านายฝ่ายในนั้น การประโคมใช้วงปี่พาทย์ผู้หญิง ซึ่งแต่ก่อนมีประจําอยู่วงหนึ่ง ผู้บรรเลงเป็นสตรีล้วน...” (มนตรี ตราโมท, ๒๕๐๑: ๔) จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นักดนตรีที่ทําหน้าที่ประโคมดุริยางคดนตรีในงานพระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในแต่โบราณนั้นเป็นนักดนตรีที่เป็นผู้หญิงล้วน ซึ่งข้อมูลสําคัญ อีกประการที่แสดงให้เห็นว่างานพระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน มีการใช้วงดนตรีที่มีผู้บรรเลงเป็นผู้หญิงล้วนในการประโคมก็คือ ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ที่สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึงเรื่อง “การประโคมเมื่อเจ้านายประสูติ” ซึ่งเป็นการประโคมดุริยางคดนตรีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน ไว้ว่า “...ปี่พาทย์ประโคมเมื่อพระเจ้าลูกเธอประสูตินั้น ผู้หญิงทําทั้งปี่พาทย์และแตรสังข์...” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ, ๒๕๕๒: ๒๔๐) ถึงแม้ว่าปี่พาทย์พิธีและแตรสังข์ที่ใช้ประโคมในเขตพระราชฐานชั้นในจะใช้ผู้หญิงล้วนในการบรรเลงเครื่องดนตรี แต่สาหรับ “ฆ้องชัย” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่อยู่ในแตรสังข์ของงานเครื่องสูงนั้น ยังคงใช้ผู้ชายเข้าไปทําหน้าที่อยู่ โดยจะใช้พนักงานผู้ชายคุมเข้าไปคอยอยู่กับปี่พาทย์พิธี ที่บรรเลงด้วยผู้หญิงล้วนเพื่อทาหน้าที่ลั่นฆ้องชัย สาหรับสาเหตุที่ฆ้องชัยไม่ใช้ผู้หญิงลั่นนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ไว้ในหนังสือสาสน์สมเด็จ ความว่า “...ในการที่เอาผู้ชายไปตีฆ้องชัยนั้น สันนิษฐานว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วผู้หญิงจับไม่ได้ ที่ปี่พาทย์ผู้หญิงไม่มีฆ้องชัยก็เพราะถ้ามี ก็ไม่เป็นชัย ไปได้ ด้วยผู้หญิงถูกต้องฆ้องนั้น...” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๕๒: ๒๔๑) นอกจากนี้นางเจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ บุตรีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ผู้เคยถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ และได้อยู่งานฉลองพระเดชพระคุณเป็นนักร้องประจําวงมโหรีของพระราชสํานัก ยังได้บรรยายถึงบรรยากาศการฝึกซ้อมดนตรีและการบรรเลงดนตรีในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า “...ข้าพเจ้าจะเล่าถึงงานหลวงที่ได้ปฏิบัติมาตลอดรัชกาลที่ ๗ งานเฉลิม พระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล วงมโหรีหลวงต้องเข้าไปบรรเลงในพระราชวังชั้นในซึ่งไม่มีผู้ชายเข้าได้ ข้าพเจ้าเป็นคนระนาดทอง วันเฉลิมพระชนมพรรษามีพระราชพิธี ๓ วัน เช้า – เย็น มโหรีต้องทํารับพระ – ส่งพระ งานฉัตรมงคลก็เช่นเดียวกัน และตอนเย็นของวันสุดท้าย จะมีงานราชอุทยานสโมสร ที่สวนศิวาลัย หลังพระที่นั่งบรมพิมาน จะมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงและคณะทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ มาถวายพระพร มีมโหรีพวกเราบรรเลงทุกปีที่เสด็จอยู่...งานหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่ตลอด การทํางานของเราก็คล้ายกรมศิลปากรเดี๋ยวนี้ แต่เล็กกว่า แสดงแต่เฉพาะของพระเจ้าอยู่หัวและแล้วแต่จะทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ส่งไปช่วย...” (เจริญใจ สุนทรวาทิน, ๒๕๕๕: ๑๓๒-๑๓๓) จากข้อมูลของนางเจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ จะเห็นได้ว่า ในอดีตงานพระราชพิธี ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในนั้น นอกจากจะมีการใช้วงปี่พาทย์ผู้หญิงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในข้างต้น การประโคมดุริยางคดนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีการใช้วงมโหรีผู้หญิงล้วนสําหรับบรรเลงในงานพระราชพิธีสําคัญต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในอีกด้วย หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพุทธศักราช ๒๔๗๕ ชีวิตนักดนตรีผู้หญิง ในพระราชสํานักก็เปลี่ยนไป บางท่านย้ายกลับภูมิลําเนาเดิมของตนเอง บางท่านย้ายสังกัดมาขึ้นตรงกับกรมศิลปากร ที่แผนกดุริยางค์ไทย ซึ่งปัจจุบันคือกลุ่มดุริยางค์ไทย สํานักการสังคีต กรมศิลปากร ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะไม่มีวงดนตรีที่บรรเลงด้วยผู้หญิงล้วนเข้าไปประโคมฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในเช่นแต่ก่อน แต่ทว่าหากมีงานพระราชพิธี ที่จัดขึ้นในเขตพระราชชั้นในครั้งใด อย่างไรเสียก็ยังคงต้องมีวงดนตรีเข้าไปทําหน้าที่ประโคมดังเดิม เช่น พระราชพิธีสรงมูรธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นประจําทุกปี ฯลฯ ซึ่งพระราชพิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็น พระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในทั้งสิ้นและในการพระราชพิธีดังกล่าวยังคงมีปี่พาทย์พิธี ซึ่งบรรเลงโดยดุริยางคศิลปิน จากกลุ่มดุริยางค์ไทย สํานักการสังคีต กรมศิลปากร เข้าไปประโคม อยู่ด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ข้อกาหนดเรื่องเพศของผู้บรรเลงนั้นไม่ได้เคร่งครัดเช่นแต่ก่อน มีการใช้ผู้บรรเลงทั้งชายและหญิงเข้าไปฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในทุกครั้ง------------------------------------------------------------------ผู้เขียน : นายธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สํานักการสังคีต กรมศิลปากร------------------------------------------------------------------รายการอ้างอิง เจริญใจ สุนทรวาทิน, ข้าพเจ้าภูมิใจที่เกิดเป็นนักดนตรีไทย. ใน จารุวรรณ ชลประเสริฐ และ พรทิพย์ จันทิวโรทัย, บรรณานุสรณ์ เจริญใจ สุนทรวาทิน, หน้า ๑๓๒-๑๓๓. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จากัด (มหาชน), ๒๕๕๕. ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา และนริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. ประโคมเจ้านายประสูติ. ใน พูนพิศ อมาตยกุล, เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จากสาส์นสมเด็จ, หน้า ๒๔๐-๒๔๑. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้ว การพิมพ์, ๒๕๕๒. มนตรี ตราโมท, การบรรเลงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงบํารุงจิตรเจริญ และนางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑. ม.ป.ท., ๒๕๐๑.