ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,346 รายการ
ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย อักษร/ภาษา : อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุ : ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ประวัติ : พบเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๒ โดยนายจรง ชูกลิ่น และนายถวิล ช่วยเกิด ที่หุบเขาช่องคอย หมู่ที่ ๕ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ลักษณะของศิลาจารึก : ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย เป็นจารึกที่ทำขึ้นโดยใช้แผ่นหินธรรมชาติขนาดใหญ่ รูปทรงเหมือนเรือ กว้าง ๑๖๐ ซม. ยาว ๖๘๓ ซม. หนา ๑๒๐ ซม. อยู่ใกล้กับร่องน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขา จารึกมีทั้งหมด ๓ ตอน มีความหมายต่อเนื่องกัน ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ด้านที่ ๑ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๑ คำอ่าน - ตอนที่ ๑ ศฺรีวิทฺยาธิการสฺย คำแปล - ตอนที่ ๑ (ศิลาจารึกนี้เป็น) ของผู้เป็นเจ้าแห่งวิทยาการ (พระศิวะ) ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ด้านที่ ๒ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๑ คำอ่าน - ตอนที่ ๒ บรรทัดที่ ๑ นโมสฺตุตไสฺมปตเยวนานำ บรรทัดที่ ๒ นโมสฺตุตไสฺมปตเยสุราณาม บรรทัดที่ ๓ ปฺโยชนาจฺฉิวนมาคตาเสฺต บรรทัดที่ ๔ ทาตวฺยมิตฺยตฺร ภวทฺภิเรภยะ คำแปล - ตอนที่ ๒ ขอความนอบน้อม จงมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งป่า ขอความนอบน้อม จงมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าแห่งเทพ ทั้งมวล ชนทั้งหลายผู้เคารพต่อพระศิวะ คิดว่า ของอัน ท่านผู้เจริญ (พระศิวะ) นี้จึงให้มีอยู่ในที่นี้ จึงมาเพื่อประโยชน์ (นั้น) ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ด้านที่ ๓ อักษรปัลลวะ ภาษาสันสฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๑ คำอ่าน -ตอนที่ ๓ บรรทัดที่ ๑ เยษานฺนิลยเทเศษุ ดิษฺฐติมานุชาวราะ บรรทัดที่ ๒ ยทิ เตษําปฺรสาทาจฺจ การฺยฺยนฺเตษํา ภวิษฺยติ II คำแปล - ตอนที่ ๓ ถ้าคนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุข และผล (ประโยชน์) จักมีแก่ชนเหล่านั้น (นายชูศักดิ์ ทิพย์เกสร และนายชะเอม แก้วคล้าย อ่าน-แปล) การค้นพบศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ทำให้ทราบว่าในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีกลุ่มคนและนักบวชที่ใช้ภาษาสันสกฤต นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย จากอินเดียเดินทางเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณหุบเขาช่องคอยเพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามลัทธิของตนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ถือเป็นจารึกอักษรปัลลวะ ที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ที่เก่าที่สุดในประเทศไทย โดยมีอายุร่วมสมัยกับศิลาจารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จารึกเยธฺมาฯ ๑ และ ๒ จังหวัดนครปฐม จารึกเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจารึกเหรียญเงินเมืองพรหมทิน จังหวัดลพบุรี จากการพบจารึกหุบเขาช่องคอย กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๙๘ง หน้า ๓ วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๘ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ----------------------------------------ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ ----------------------------------------อ้างอิง : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔. พิมพ์ครั้งที่ ๒. แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร,๒๕๕๙.
ผู้แต่ง : กรมศิลปากร
ฉบับพิมพ์ :พิมพ์ครั้งที่ 2
สถานที่พิมพ์ : กรุงเทพฯ
สำนักพิมพ์ : กรมศิลปากร
ปีที่พิมพ์ : 2553
หมายเหตุ : -
เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ประจำชาติที่มีการพัฒนาสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นมหรสพของหลวงที่เล่นสมโภชในงานพระราชพิธีสำคัญ ๆ โขน เป็นประมวลวิจิตรศิลป์หลายสาขาไว้ด้วยกัน กล่าวคือ กระบวนท่ารำและกระบวนรำจัดเป็นนาฏศิลป์ หน้าโขนหรือหัวโขนที่ผู้แสดงสวมใส่ต้องขึ้นรูปด้วยดินจัดเป็นงานประติมากรรม หัวโขนที่ทำด้วยกระดาษ เขียนลวดลายลงสีเป็นงานจิตรกรรม ส่วนประกอบของอาภรณ์เครื่องประดับต่าง ๆ ปักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจงด้วยงานหัตถศิลป์ชั้นสูง เรื่องราวที่นำมาแสดงคือรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่ง และในการแสดงต้องมีวงปี่พาทย์ประกอบ จึงนับว่าเป็นมหรสพที่ประกาศความเป็นอัจฉริยลักษณ์ของงานประณีตศิลป์ไทยได้อย่างเต็มภาคภู
เหรียญอาหรับ พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ปัจจุบันมีหลักฐานการพบเหรียญอาหรับจากเมืองโบราณอู่ทอง จำนวนไม่น้อยกว่า ๙ เหรียญ สำหรับเหรียญอาหรับ จำนวน ๒ เหรียญ ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นเหรียญทองแดง ขนาดเล็ก ผ่านศูนย์กลาง ๑.๙ เซนติเมตร ทั้ง ๒ ด้านมีจารึกตัวอักษรอาหรับ ภาษาอาหรับตรงกลางเหรียญและริมขอบเหรียญ จารึกบางส่วนค่อนข้างลบเลือนทำให้เกิดข้อจำกัดของการอ่านและแปลความ จากการอ่านและแปลความของนักวิชาการทำให้ทราบว่า เนื้อหาบนเหรียญทั้ง ๒ ด้าน มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาอิสลาม ดังนี้ ด้านที่ ๑ จารึกข้อความว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ ไม่มีภาคีใดเสมอพระองค์ ด้านที่ ๒ จารึกข้อความว่า มุฮัมมัดศาสนทูตของอัลลอฮ์ อัดล์(ยุติธรรม?) เหรียญของชาวอาหรับ ผลิตขึ้นหลังการปฏิรูปเหรียญตรา โดยเปลี่ยนจากต้นแบบเหรียญโรมัน-เปอร์เซียที่มีรูปบุคคล เป็นเหรียญแบบที่มีแต่ตัวอักษรอาหรับ ระบุข้อความที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาอิสลาม เช่น ข้อความจากคัมภีร์อัล-กุรอ่าน คำปฏิญาณ รวมถึงปีและสถานที่ผลิตเหรียญ เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๓๙ ในสมัยคอลีฟะฮ์อับดุลมาลิค บิน มัรวาน (Caliph Abd al-Malik ibn Marwan) คอลีฟะฮ์หรือกาหลิบแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad Dynasty, พ.ศ. ๑๒๐๔ – ๑๒๙๓) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม เหรียญอาหรับที่ผลิตขึ้นในสมัยดังกล่าว ใช้วัสดุแตกต่างกัน ๓ ชนิด ได้แก่ เหรียญทอง ดีนาร์ (Dinar) เหรียญเงิน ดิรฮัม (Dirham) และเหรียญทองแดง ฟิลส์ (Fils) เหรียญอาหรับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยสันนิษฐานว่าผลิตขึ้นในสมัยคอลีฟะฮ์อัล-มันซูร (Caliph al-Mansur) แห่งราชวงศ์อับบาสิยะห์ (Abbasid Dynasty, พ.ศ. ๑๒๙๓ – ๑๘๐๑) ทรงครองตำแหน่งในระหว่าง พ.ศ. ๑๒๙๗ – ๑๓๑๘ เป็นผู้ทรงริเริ่มก่อสร้างนครแบกแดด (ปัจจุบันกรุงแบกแดดเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐอิรัก) ซึ่งในเวลานั้นเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าสำคัญที่มีการติดต่อค้าขายทางทะเลกับประเทศจีน และดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบเหรียญอาหรับจากเมืองโบราณอู่ทอง ถือเป็นหลักฐานหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ มีการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนจากดินแดนตะวันออกกลาง มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากเหรียญที่พบมีจำนวนไม่มากนัก จึงสันนิษฐานว่า เหรียญดังกล่าว อาจไม่ได้ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนหรือค้าขาย แต่อาจเป็นของที่ระลึก หรือของที่นำติดตัวมากับพ่อค้าชาวตะวันออกกลาง ซึ่งเดินทางเข้ามาในพื้นที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทองในช่วงเวลาดังกล่าว --------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง --------------------------------------------------เอกสารอ้างอิง โครงการศิลป์เสวนา ฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑). สุนิติ จุฑามาศ. โบราณคดีอิสลาม การค้าทางทะเลสู่อิสลามานุวัตรในยุคโบราณทวารวดี-ศรีวิชัย สู่รัฐสุลต่านมลายูปาตานี. ศิลป์เสวนาเรื่อง “โบราณคดีอิสลาม จากรัฐทวารวดี ศรีวิชัย ถึงอยุธยา”. [Video file]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=8INszwEqcuA วิภาดา อ่อนวิมล. “เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖”. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. ทวารวดี : ประตูสู่การค้าบนเส้นทางสายไหมทางทะเล. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๘.
ชื่อเรื่อง สงฺคีติกถา (ปฐมสังคายนา)สพ.บ. 128/1ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 38 หน้า กว้าง 5 ซ.ม. ยาว 56 ซ.ม. หัวเรื่อง ธรรมเทศนา
บทคัดย่อ/บันทึก
เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม เส้นจาร ฉบับล่องชาด ได้รับบริจาคมาจากวัดประสพสุข ต.ทับตีเหล็ก อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
วัดตองปุ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ด้านนอกของกำแพงเมืองลพบุรีชั้นในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คำว่า “ตองปุ” เป็นภาษามอญ แปลว่าที่รวมพลหรือรวมทหาร มีเสาหงส์ จำนวน 1 ต้น อยู่ด้านข้างการเปรียญ ศิลปะภายในวัดตองปุ ส่วนหนึ่งมีรูปแบบของชาวมอญหรือลาว คือ จำหลักไม้เก็บคัมภีร์ในอุโบสถ สิ่งสำคัญภายในวัดประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร การเปรียญ หอไตร หอระฆัง และเจดีย์ เป็นต้น คำว่าการเปรียญนี้ไม่ทราบที่มาแน่ชัด สันนิษฐานว่า การเปรียญอาจมาจากคำว่า “บา - เรียน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกชั้นต่างๆ ของหลักสูตรการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม การเปรียญเป็นเสมือนโรงเรียนสำหรับพระสงฆ์ที่สอนพระให้เปรียญ เดิมนั้นวัดจะมีวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและทำบุญฟังเทศน์ ฟังธรรม รวมทั้งเป็นที่สำหรับพระสงฆ์เล่าเรียนพระธรรมวินัย แต่เมื่อจำนวนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเพิ่มขึ้นคงต้องการสถานที่เพิ่มเติม จึงเกิดคตินิยมในการสร้างการเปรียญเพื่อใช้เป็นที่เรียนของพระสงฆ์ และประกอบศาสนกิจของสงฆ์กับฆราวาส ต่อมาการศึกษาของพระสงฆ์มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมเกิดขึ้นแทน การเปรียญจึงเปลี่ยนเป็นที่สำหรับพุทธศาสนิกชนมาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม ในวันธรรมสวนะ องค์ประกอบที่สำคัญของการเปรียญคือบุษบกธรรมาสน์ สำหรับพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา อาสนสงฆ์ยกพื้นสูง และแท่นที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป เป็นต้น ลักษณะทางสถาปัตยกรรม การเปรียญ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 7 ห้อง ฐานบัวลักษณะตกท้องช้าง หันข้างไปทางทิศตะวันตก กว้าง 7.24 ม. ยาว 21.45 ม. เป็นสถาปัตยกรรมทรงนิยม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงแบบตึกคือทำชายคากุด ทั้งในด้านสกัด (จั่วทั้งหน้า-หลัง) กับด้านข้างอีกสองด้าน หลังเป็นผืนเดียวไม่ซ้อนชั้น ใช้โครงสร้างผนังรับน้ำหนัก หลังคาทรงจั่ว โครงสร้างเป็นไม้มุงกระเบื้องดินเผาแบบกาบกล้วย (กาบู) ปิดชายกระเบื้องด้วยกระเบื้องเชิงชายลายเทพพนม (ปัจจุบันชำรุดเสียหาย ต้องทำโครงหลังคาใหม่โดยใช้สังกะสีมุง) ผนังด้านสกัดก่อต่อเป็นรูปจั่วตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นขึ้นเป็นหน้าบัน รองรับด้วยบัวคอสอง ส่วนขอบหน้าจั่วประดับตัวลำยองปูนปั้น และลวดบัวซึ่งจะอมอยู่ในขอบจั่ว ผนังส่วนที่อยู่ใต้บัวคอสองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน (ด้วยเสาหลอก) ผนังส่วนกลาง (ด้านหน้า) เจาะประตูด้วยช่องสันโค้งแหลม (Pointed Arch) ผนังส่วนกลางด้านหลังทึบ ส่วนแถบผนังอีกสองข้างรองรับปีกนก และเจาะเป็นหน้าต่างด้วยช่องสันโค้งแหลมจำนวน 2 ช่อง (ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง) ผนังด้านข้างทำเสาหลอกประดับบัวปลายเสา เป็นหน้าต่างด้วยช่องสันโค้งแหลม จำนวนด้านละ 7 ช่อง ผนังภายในฉาบปูนเรียบ ด้านหลัง เจาะทำเป็นช่องสันโค้งแหลมเพื่อตามประทีปโคมไฟที่ประดับขื่อสูงจรดอกไก่ ไม่มีฝ้าเพดาน พื้นภายในปูอิฐขนาดใหญ่ทับหน้าด้วยปูนทราย และก่ออิฐยกพื้นสูงทำเป็นอาสนะ 3 ด้าน (ด้านหลัง และด้านข้างทั้งสอง) ด้านหน้าทำชานพักและบันไดทางขึ้นสองข้าง ปัจุบันโบราณสถานวัดตองปุได้รับการบูรณะแล้ว ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ โดย กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี-----------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี-----------------------------------------------------อ้างอิง : รายการประกอบแบบบูรณะซ่อมแซมการเปรียญวัดตองปุ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี-----------------------------------------------------เผยแพร่ข้อมูล : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์-----------------------------------------------------
คาถาต่างๆ ชบ.ส. ๑๑๐
เจ้าอาวาสวัดเขาคันธมาทน์ ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
มอบให้หอสมุด ๒๓ ก.ค. ๒๕๓๕
เอกสารโบราณ (สมุดไทย)
สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สังคิณี-มหาปัฎฐาน) เลขที่ ชบ.บ.33/1-1 เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)