เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
วัดตองปุ จังหวัดลพบุรี
วัดตองปุ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ด้านนอกของกำแพงเมืองลพบุรีชั้นในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คำว่า “ตองปุ” เป็นภาษามอญ แปลว่าที่รวมพลหรือรวมทหาร มีเสาหงส์ จำนวน 1 ต้น อยู่ด้านข้างการเปรียญ ศิลปะภายในวัดตองปุ ส่วนหนึ่งมีรูปแบบของชาวมอญหรือลาว คือ จำหลักไม้เก็บคัมภีร์ในอุโบสถ สิ่งสำคัญภายในวัดประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร การเปรียญ หอไตร หอระฆัง และเจดีย์ เป็นต้น คำว่าการเปรียญนี้ไม่ทราบที่มาแน่ชัด สันนิษฐานว่า การเปรียญอาจมาจากคำว่า “บา - เรียน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกชั้นต่างๆ ของหลักสูตรการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม การเปรียญเป็นเสมือนโรงเรียนสำหรับพระสงฆ์ที่สอนพระให้เปรียญ เดิมนั้นวัดจะมีวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและทำบุญฟังเทศน์ ฟังธรรม รวมทั้งเป็นที่สำหรับพระสงฆ์เล่าเรียนพระธรรมวินัย แต่เมื่อจำนวนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเพิ่มขึ้นคงต้องการสถานที่เพิ่มเติม จึงเกิดคตินิยมในการสร้างการเปรียญเพื่อใช้เป็นที่เรียนของพระสงฆ์ และประกอบศาสนกิจของสงฆ์กับฆราวาส ต่อมาการศึกษาของพระสงฆ์มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมเกิดขึ้นแทน การเปรียญจึงเปลี่ยนเป็นที่สำหรับพุทธศาสนิกชนมาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม ในวันธรรมสวนะ องค์ประกอบที่สำคัญของการเปรียญคือบุษบกธรรมาสน์ สำหรับพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา อาสนสงฆ์ยกพื้นสูง และแท่นที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป เป็นต้น
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
การเปรียญ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 7 ห้อง ฐานบัวลักษณะตกท้องช้าง หันข้างไปทางทิศตะวันตก กว้าง 7.24 ม. ยาว 21.45 ม. เป็นสถาปัตยกรรมทรงนิยม สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงแบบตึกคือทำชายคากุด ทั้งในด้านสกัด (จั่วทั้งหน้า-หลัง) กับด้านข้างอีกสองด้าน หลังเป็นผืนเดียวไม่ซ้อนชั้น ใช้โครงสร้างผนังรับน้ำหนัก หลังคาทรงจั่ว โครงสร้างเป็นไม้มุงกระเบื้องดินเผาแบบกาบกล้วย (กาบู) ปิดชายกระเบื้องด้วยกระเบื้องเชิงชายลายเทพพนม (ปัจจุบันชำรุดเสียหาย ต้องทำโครงหลังคาใหม่โดยใช้สังกะสีมุง) ผนังด้านสกัดก่อต่อเป็นรูปจั่วตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นขึ้นเป็นหน้าบัน รองรับด้วยบัวคอสอง ส่วนขอบหน้าจั่วประดับตัวลำยองปูนปั้น และลวดบัวซึ่งจะอมอยู่ในขอบจั่ว ผนังส่วนที่อยู่ใต้บัวคอสองแบ่งออกเป็น 3 ส่วน (ด้วยเสาหลอก) ผนังส่วนกลาง (ด้านหน้า) เจาะประตูด้วยช่องสันโค้งแหลม (Pointed Arch) ผนังส่วนกลางด้านหลังทึบ ส่วนแถบผนังอีกสองข้างรองรับปีกนก และเจาะเป็นหน้าต่างด้วยช่องสันโค้งแหลมจำนวน 2 ช่อง (ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง) ผนังด้านข้างทำเสาหลอกประดับบัวปลายเสา เป็นหน้าต่างด้วยช่องสันโค้งแหลม จำนวนด้านละ 7 ช่อง ผนังภายในฉาบปูนเรียบ ด้านหลัง เจาะทำเป็นช่องสันโค้งแหลมเพื่อตามประทีปโคมไฟที่ประดับขื่อสูงจรดอกไก่ ไม่มีฝ้าเพดาน พื้นภายในปูอิฐขนาดใหญ่ทับหน้าด้วยปูนทราย และก่ออิฐยกพื้นสูงทำเป็นอาสนะ 3 ด้าน (ด้านหลัง และด้านข้างทั้งสอง) ด้านหน้าทำชานพักและบันไดทางขึ้นสองข้าง
ปัจุบันโบราณสถานวัดตองปุได้รับการบูรณะแล้ว ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ โดย กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
-----------------------------------------------------
อ้างอิง :
รายการประกอบแบบบูรณะซ่อมแซมการเปรียญวัดตองปุ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี
-----------------------------------------------------
เผยแพร่ข้อมูล : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
-----------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 4083 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน