ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,355 รายการ

สิงห์โต  ปุกหุต.  ประวัติดาราศาสตร์ย่อ ๆ.  พระนคร : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๐๗.      ดาราศาสตร์เป็นวิชาที่เก่าแก่ที่ไม่เคยจางหายจากความสนใจของมนุษย์ในยุคสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยของบาบิโลเนียน อียิปต์โบราณ กรีซโบราณ สมัยกลางนิโคลาสโคเปอร์นิคัน และสมัยปัจจุบัน มีวิชาของโหราศาสตร์ไทยและความเชื่อเกี่ยวกับดาวประจำราศี ซึ่งได้แบ่งจักรวาลออกเป็น ๓ ภาค คือ เหนือ กลาง ใต้   ให้ความรู้ว่าดาวฤกษ์จะมีแสงยิบ ๆ ส่วนดาวเคราะห์แสงจะนิ่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒๗ กลุ่มด้วยกัน ตามรูปร่างของว่าละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งใด เช่น กลุ่มที่ ๑ กล้ายม้า ให้ชื่อ วัศวินี แปลว่า ม้า   โหราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกิดก่อนดาราศาสตร์ เคยเรียกดาวพระเคราะห์แต่ตัดเหลือดาวเคราะห์เพื่อให้โน้มเอียงมาทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง ในหนังสือเล่มนี้มีกระรับสั่งรัชกาลที่ ๔ เรื่องสุริยปราคา เมื่อปีมะโรง พศ. ๒๔๑๑ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จดหมายเหตุการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ 



ชื่อเรื่อง : อู้กำเมือง คู่มือหัดพูดภาษาไทยเหนือ ผู้แต่ง : อัมพร พันธ์ุพายัพ ปีที่พิมพ์ : 2511 สถานที่พิมพ์ : เชียงใหม่ สำนักพิมพ์ : นพบุรีการพิมพ์



หลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้ของประเทศไทยตอน การเข้ามาของชาวอินเดียในภาคใต้           หลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อระหว่างอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อชาวอินเดียได้เดินเรือออกไปติดต่อค้าขายทางทิศตะวันออกเพื่อแสวงหาความร่ำรวยยังดินแดนห่างไกลที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi) หรือ สุวรรณทวีป (Suvarnadvipa)           สุวรรณภูมิ หรือ สุวัณณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป แปลตามรากศัพท์ได้ว่า ดินแดนแห่งทองคำ เชื่อกันว่ามีทองคำมากมาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวอินเดีย รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่มีทรัพยาการทางธรรมชาติและเครื่องเทศซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก           สุวรรณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป ในปัจจุบันหมายถึง ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ - ผืนแผ่นดินใหญ่ (Mainland) คือ พม่า ลาว ไทย เขมร เวียดนาม มาเลเชีย สิงคโปร์ - ผืนแผ่นดินคาบสมุทร (Peninsular) คือ คาบสมุทรพม่า คาบสมุทรมลายู และคาบสมุทรอินโดจีน - ดินแดนที่เป็นเกาะ (Islands) คือ หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก และอินโดนีเชีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และติมอตะวันออก            ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริเวณภาคใต้ของไทยและแหลมมลายูมีการติดต่อกับชาวอินเดียและชาวต่างชาติในสมัยโบราณ คือ           ๑. ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ภาคใต้ของไทยตั้งอยู่บนแหลมมลายู ซึ่งมีลักษณะเหมือนแท่งเดือยอยู่ตรงกลางของคาบสมุทร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการคมนาคม การค้า การทหาร           ๒. ตั้งอยู่ในเขตมรสุม คือ ลมมรสุมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม–ตุลาคม) พัดข้ามมหาสมุทรอินเดียจากเส้นศูนย์สูตร และลมมรสุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน–เมษายน) พัดจากตะวันออกจากฝั่งทะเลจีนและข้ามทะเลจีนมาบรรจบกันที่บริเวณปลายแหลมมลายูหรือมาบรรจบกันที่บริเวณช่องแคบมะละกา ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นจุดนัดพบของเรือสินค้าจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก เช่น อินเดีย อาหรับ จีน เวียดนาม เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นจุดนัดพบของพ่อค้านักเดินเรือชาวต่างชาติและชาวท้องถิ่นเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ ๓. มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ คือ มีพืชพันธ์ไม้เศรษฐกิจและผลผลิตจากป่าที่เป็นที่ต้องการในสมัยโบราณ เช่น ไม้เนื้อหอมต่างๆ หนังสัตว์ เขาสัตว์ ผลผลิตจากทะเล เช่น กระดองเต่า ไข่มุก แร่ธาตุ เช่น ดีบุก ตะกั่ว ทองคำ เป็นต้น           จากปัจจัยทั้ง ๓ ประการ ส่งผลให้ภาคใต้ของไทยและแหลมมลายูมีพัฒนาการเป็นชุมชนหรือเมืองท่าโบราณที่สำคัญในเวลาต่อมา           สันนิษฐานว่าในการเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย พ่อค้าชาวอินเดียน่าจะนำเครื่องรางหรือรูปเคารพขนาดเล็กหรืออาจมีนักบวชของแต่ละศาสนาติดตามมาด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทาง เนื่องจากการเดินทางทางทะเลมักมีอันตรายจากธรรมชาติและโจรสลัด รวมทั้งเพื่อให้ประสบความสำเร็จทางการค้า และอาจด้วยเหตุนี้ที่ทำให้คติความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของอินเดียได้ปรากฏและหยั่งรากลงในดินแดนสุวรรณภูมิหรือพื้นที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดินแดนในภาคใต้ของไทยในเวลาต่อมา ภาพ : แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของปโทเลมี นักเขียนแผนที่ชาวยุโรปในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ที่มา : Wheatley,Paul. The Golden Khersonese. Kuala Lumpur: University of Malay Press, ๑๙๖๑. ภาพ : แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ที่มา : อมรา ศรีสุชาติ. ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗. ภาพ : เรือสำเภาและนักเดินทาง บุโรพุทโธ ชวาภาคกลาง เกาะชวา อินโดนีเซีย ที่มา : อมรา ศรีสุชาติ. ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.-------------------------------------เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช -------------------------------------อ้างอิง : - ผาสุข อินทราวุธ, ศ.ดร. สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘. - Wheatley,Paul. The Golden Khersonese. Kuala Lumpur: University of Malay Press, ๑๙๖๑.


องค์ความรู้ เรื่อง โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประเภทโลหะ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ค้นคว้า/เรียบเรียง/กราฟิก : น.ส.ชุติณัฐ ช่วยชีพ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช


ผู้แต่ง : หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ฉบับพิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ 1 สถานที่พิมพ์ : กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์พระจันทร์ ปีที่พิมพ์ : 2472 หมายเหตุ : พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอกหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) มีมะเส็ง พ.ศ. 2472          เป็นหนังสือที่ใช้คำประพันธ์ร้อยกรองคำฉันท์ เพื่อเล่านิทานเรื่องนิบาตชาดก


ประวัติความเป็นมา           “ถ้าจะอาศัยโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ เป็นหลัก แล้วสร้างเป็นนาฏศิลป์ขึ้นเป็นชุด ๆ ก็จะทำให้ศิลปโบราณวัตถุแต่ละสมัยมีชีวิตชีวาขึ้น หากสร้างขึ้นได้ตามยุคตามสมัย ก็จะเกิดเป็นนาฏศิลป์ไทยที่นำเอาศิลปต่างยุคต่างสมัยอันมีลักษณะท่าทางและสำเนียงดนตรีที่มีความสวยงามและความไพเราะแตกต่างกันมารวมไว้ให้ชมในที่แห่งเดียวกัน อันจะจูงใจให้ผู้ดูผู้ชมปรารถนาที่จะศึกษาหาความรู้จากโบราณวัตถุสถานแพร่หลายออกไป ข้าพเจ้าจึงพยายามศึกษาศิลปและโบราณวัตถุ สมัยต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยอาศัยภาพปั้นหล่อจำหลักของศิลปโบราณวัตถุจากโบราณสถานสมัยนั้น ๆ เป็นหลักและค้นคว้าเปรียบเทียบกับภาพและเอกสารทางศิลปกรรมและโบราณคดีจากประเทศใกล้เคียงแล้ววางแนวสร้างระบำประจำสมัยของศิลปโบราณวัตถุแต่ละชุด เรียกรวมกัน ที่หมายรวมกันไว้ว่า “ ระบำชุดโบราณคดี” (ธนิต อยู่โพธิ์, ๒๕๐๑ : ๑๑๕ – ๑๑๖)           นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีในสมัยนั้น ได้สนับสนุนให้สร้างอาคารใหม่จำนวน ๒ หลัง คือ อาคาร มหาสุรสิงหนาถและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นด้วยความตั้งใจจะจัดสร้างเครื่องแต่งกายตามสมัยโบราณคดีถวายทอดพระเนตรในงานเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารแสดงศิลปโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งกำหนดไว้ในพุทธศักราช ๒๕๑๐ โดยทูลขอร้องให้หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสถาปนิกพิเศษในกรมศิลปากร ทรงศึกษาแบบอย่างและทรงเขียนเลียนแบบเครื่องแต่งกายสมัยลพบุรี กับขอให้นายพรศักดิ์ ผลปราชญ์ ศึกษาและเขียนเลียนแบบเครื่องแต่งกายสมัยทวารวดีบางรูป แต่ในขณะที่เตรียมงานอยู่นั้น (ประมาณพุทธศักราช ๒๕๐๙) ได้รับแจ้งจากนายประสงค์ บุญเจิม เอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า “ท่านตนกู อับดุล รามานห์ นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย ต้องการจะได้นาฏศิลป์จากประเทศไทยไปถ่ายทำประกอบภาพยนตร์เรื่อง Raja Bersiong ซึ่งท่านตนกู แต่งขึ้น โดยขอให้กรมศิลปากรจัดระบำจำนวน ๒ ชุด ชุดหนึ่งคือรำซัดชาตรี และอีกชุดหนึ่ง คือระบำแบบศรีวิชัย” ด้วยเหตุที่ท่านตนกู ขอระบำแบบศรีวิชัยไปแสดงประกอบ ภาพยนตร์ จึงทำให้นายธนิต อยู่โพธิ์ เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างระบำโบราณคดีตามสมัยของศิลป-โบราณวัตถุค้นพบ ประกอบด้วย สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน และสมัยสุโขทัย           การจัดทำระบำโบราณคดีนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ เรื่อง คือ เพลงดนตรีที่ใช้ประกอบระบำ ท่ารำและเครื่องแต่งกาย ทั้งหมดจะต้องมีความสอดคล้องกลมกลืนกัน ทั้งนี้นายธนิต อยู่โพธิ์ได้มอบหมายให้นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง นางลมุล ยมะคุปต์ และนางเฉลย ศุขะวณิช ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ นายสนิท ดิษฐพันธ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นางชนานันท์ ช่างเรียน สร้างเครื่องแต่งกาย นายชิต แก้วดวงใหญ่ สร้างศิราภรณ์ และเครื่องประดับ //เพลงประกอบ “ระบำทวารวดี”           คำว่า “ระบำ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า การฟ้อนรำเป็นชุด หรืออีกนัยหนึ่ง ระบำ คือการฟ้อนรำมุ่งหมายเพียงเพื่อความงามของศิลปะการรำและความรื่นเริงบันเทิงใจ ไม่มีการดำเนินเป็นเรื่องราว ระบำในยุคแรก อาทิ ระบำสี่บท ระบำย่องหงิด ระบำพรหมาสตร์ ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่องพระ - นาง ลักษณะของระบำชนิดนี้ผู้แสดงจะรำตามบทหรือตีท่ารำตามบทขับร้อง ต่อมาได้มีการคิดประดิษฐ์เพลงระบำมากขึ้น แต่การแต่งกายจะไม่ได้แต่งกายยืนเครื่องหากแต่แต่งกายตามรูปแบบการแสดง นั้น ๆ จึงเรียกระบำที่มีมาแต่เดิมว่า“ระบำมาตรฐาน” และระบำที่เกิดขึ้นที่ภายหลังเรียกว่า“ระบำเบ็ดเตล็ด”ระบำเบ็ดเตล็ดที่แต่งขึ้นภายหลังจะประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแทรกอยู่ในการแสดง อาทิ ระบำเริงอรุณ จากการแสดงโขน ตอนศึกวิรุณจำบัง ระบำไกรลาสสำเริง จากการแสดงละครเรื่องมโนห์รา ระบำนพรัตน์ จากละครเรื่องสุวรรณหงส์ ตอนชมถ้ำ ระบำเหล่านี้ผู้แสดงต้องตีท่าตามบทขับร้องด้วยกันทั้งสิ้น           ต่อมาได้มีการประดิษฐ์ระบำที่เลียนแบบกิริยาอาการของสัตว์เพื่อนำมาแทรกอยู่ในการแสดง เช่น ระบำม้าหรือระบำอัศวลีลา จากการแสดงโขน ชุดพระรามครองเมือง (ตอนปล่อยม้าอุปการ) เพลงที่ประกอบคือเพลงม้ารำและเพลงม้าย่อง ระบำมยุราภิรมย์ แทรกอยู่ในละครในเรื่องอิเหนา ตอนย่าหรันตามนกยูง เพลงที่ประกอบระบำ คือเพลงมยุราภิรมย์ เที่ยวช้าและเที่ยวเร็ว และมีส่วนลงจบ เพลงระบำเหล่านี้มักจะไม่มีบทขับร้องมีแต่การบรรเลงดนตรี แนวคิดในการประพันธ์เพลงนำมาจากกิริยาอาการของสัตว์นั้น ๆ การประพันธ์เพลงระบำที่ไม่มีบทขับร้องนี้ ส่วนใหญ่จะประพันธ์ทำนองเพลงเป็น ๒ ส่วน คือ ประพันธ์อัตราจังหวะ ๒ ชั้น หรือเรียกว่า เที่ยวช้าและอัตราชั้นเดียวหรือเรียกว่า เที่ยวเร็ว           สำหรับแนวคิดการประพันธ์เพลงประกอบระบำโบราณคดี ได้แบ่งทำนองออกเป็น ๒ ส่วนเช่นกัน ซึ่งนอกจากประพันธ์ทำนองเพลงตามยุคสมัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงให้สอดคล้อง กับยุคสมัยด้วย จึงจำเป็นต้องจัดสร้างขึ้นใหม่บ้างตามภาพจำหลักที่พบในสมัยนั้นด้วยแนวคิดที่ต้องการ จะสะท้อนภาพเรื่องราวและร่องรอยของมนุษย์ในอดีตตามหลักฐานที่ได้มาจากการศึกษาสำรวจขุดค้น ศิลปโบราณวัตถุตามหลักวิชาการทางโบราณคดี โดยต้องการที่จะทำให้ศิลปโบราณวัตถุที่ปรากฏในแต่ละยุคสมัยนั้น ได้เคลื่อนไหวเป็นท่าทางนาฏศิลป์ที่สวยงาม และมีสำเนียงดนตรีที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของศิลปโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ โดยเฉพาะระบำทวารวดี นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ได้มีแนวคิดที่จะสร้างเครื่องดนตรีบางชิ้นเลียนแบบตามยุคสมัยทวารวดี และประสมวงขึ้นใหม่ให้มีความเหมาะสมตาม ยุคสมัย เครื่องดนตรีที่จัดประสมเป็นวงดนตรีสำหรับประกอบการแสดงระบำโบราณคดีนี้ถือว่าเป็น “วงเฉพาะ” ด้วยใช้สำหรับประกอบการแสดงระบำโบราณคดีนี้โดยตรง วงดนตรีแต่ละวงประกอบด้วยเครื่องดำเนินทำนอง และเครื่องกำกับจังหวะ โดยยึดจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องภาพแกะสลักนักดนตรีในสมัยทวารวดี ที่ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี ที่มาของภาพ : สมุดภาพแสดงเครื่องแต่งกายตามสมัยประวัติศาสตร์และโบราณคดี หน้า ๑๐           สำหรับแนวคิดเรื่องเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบระบำชุดทวารวดีนี้ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ได้ศึกษาจากภาพแกะสลัก ที่ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี จากภาพเริ่มจากด้านซ้ายประกอบด้วยนักร้อง ๒ คน เครื่องดนตรีมีพิณ ๕ สาย ฉิ่ง และด้านขวาสุดสันนิษฐานว่าเป็นพิณน้ำเต้า จากการสัมภาษณ์ นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้บรรเลงระนาดตัดครั้งแรกในระบำทวารวดี ได้กล่าวว่า           “วงดนตรีในระบำโบราณคดีทั้ง ๕ ชุด คุณพ่อมนตรี มีความเห็นว่าเมื่อเรามองย้อนยุคสมัยไป ขณะที่นาฏศิลป์ไปเอาภาพจำหลักมาทำให้มีชีวิตขึ้นมาได้ คุณพ่อมนตรีจึงนำเอาเครื่องดนตรีที่อยู่ในภาพจำหลักนั้นมาสร้างใหม่ โดยมอบให้ นายจรูญ ซึ่งเป็นช่างซ่อมเครื่องดนตรีและสามารถทำเครื่องดนตรีได้เป็นผู้สร้างเครื่องดนตรีตามภาพจำหลัก ได้แก่ พิณ ๕ สาย แล้วก็หาหลักฐานว่าในยุคสมัยนั้นหรือก่อนหน้านั้นมีเครื่องดนตรีอะไรบ้าง ก็พบว่า มีเครื่องดนตรีลักษณะคล้ายระนาดตัด แต่ให้ทำทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จะได้มีเสียงสูง - เสียงต่ำต่างกัน หลังจากนั้นก็พิจารณาว่าสมัยสุโขทัย มีเครื่องดนตรีอะไรบ้าง และในสมัยอยุธยามีเครื่องดนตรีอะไรบ้าง พบว่ามี จะเข้ ที่มีการสันนิษฐานว่าไทยได้รับอิทธิพลมาจากมอญ จึงนำเข้ามาประสมด้วย นำขลุ่ยเข้ามาประสม แต่ทั้งนี้ต้องมี “ตะโพนมอญ” เพราะสมัยทวารวดี มีชนชาติมอญอาศัยอยู่ ทั้งทำนองเพลงที่ประพันธ์ก็มีสำเนียงมอญจึงใช้ตะโพนมอญตีกำกับหน้าทับ เครื่องกำกับจังหวะย่อยใช้กรับ “กรับไม้ไผ่” ไม่ใช้กรับพวง แต่ไม่มีเครื่องสีเพราะไม่ปรากฏว่ามีเครื่องสีในภาพจำหลัก           หลังจากนั้น จึงนำมาบรรเลงรวมวง ฝึกซ้อมกันอยู่หลายสิบครั้ง จนเกิดความกลมกลืนทั้งวง ทั้งนี้ได้กำหนดให้จะเข้ทำหน้าที่ดำเนินทำนองเป็นหลัก ของวง พิณ ๕ สาย มีเสียงเบา ก็ดีดตามทำนองเพลงเช่นกัน ระนาดตัดที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ๒ ราง คุณพ่อมนตรี จึงให้ระนาดตัดรางใหญ่(เสียงต่ำ)เสียงต่ำทำหน้าที่ดำเนินตามทำนองเพลง ส่วนระนาดรางตัดรางเล็ก(เสียงสูง) ให้บรรเลงตามทำนองและบรรเลงสอดแทรกเพื่อให้มีเสียงดังกังวาน หรือสร้างสีสันให้กับทำนองเพลง ตะโพนมอญ ตีกำกับหน้าทับและทำหน้าที่ขึ้นนำทำนองเพลง ส่วนเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ทำหน้าที่ตีกำกับจังหวะย่อย” (สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ,สัมภาษณ์: วันที่ ๓๐ กรกฏาคม ๒๕๖๓) เครื่องดนตรีที่บรรเลงประกอบระบำทวารวดี ประกอบด้วย พิณ ๕ สาย จะเข้ ขลุ่ย ระนาดตัดรางใหญ่ (เสียงต่ำ) ระนาดตัดรางเล็ก (เสียงสูง) ตะโพนมอญ ฉิ่ง ฉาบใหญ่และฉาบเล็ก กรับไม้ไผ่           เมื่อนำมาประสมเป็นวงดนตรีแล้ว แบ่งออกเป็นเครื่องดำเนินทำนอง ได้แก่ พิณ ๕ สาย จะเข้ ขลุ่ย ระนาดตัดรางใหญ่(เสียงสูง) ๑ ราง และระนาดตัดรางเล็ก (เสียงต่ำ) ๑ ราง เครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ตะโพนมอญ ฉิ่ง ฉาบใหญ่และฉาบเล็ก และกรับไม้ ๒ คู่           ทำนองเพลงระบำทวารวดีที่นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ประพันธ์ขึ้นใหม่เป็นเพลงสำเนียงมอญ แบ่งทำนองเพลงออกเป็นสองส่วน ส่วนที่ ๑ ทำหน้าที่เป็นทำนองนำและทำนองลงจบ เรียกว่า “รัวทวารวดี” ส่วนที่ ๒ เป็นทำนองเพลงที่ใช้ประกอบระบำทวารวดีเป็นเพลงท่อนเดียวให้บรรเลงทั้ง เที่ยวช้าและเที่ยวเร็วตามรูปแบบเพลงระบำที่ได้เคยทำไว้ แต่เพลงระบำทวารวดีนี้จะใช้ทำนองเดียวกัน บรรเลงทั้งอัตรา ๒ ชั้น และอัตราชั้นเดียว ซึ่งจะแตกต่างกับระบำโบราณคดีชุด อื่น ๆ อาทิ ระบำลพบุรี โน้ตเพลงระบำทวารวดี ภาพ : โน้ตเพลงระบำโบราณคดีลายมือ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ภาพ : โน้ตเพลงระบำทวารวดี ที่คัดลอกใหม่ (ที่มาของภาพ : หนังสือระบำชุดโบราณคดี หน้า ๓๖ )          เที่ยวช้า (อัตรา ๒ ชั้น) ใช้เพลงระบำลพบุรีที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เที่ยวเร็ว (อัตราชั้นเดียว) นำเพลงเขมรชมดง ๒ ชั้นมาตัดลงเป็นชั้นเดียว แล้วนำมาใช้เป็นเที่ยวเร็วของระบำลพบุรี           ดังนั้นเพลงที่ใช้ประกอบระบำทวารวดี ได้แก่ เพลงรัวทวารวดี เพลงทวารวดี (เที่ยวช้าและเที่ยวเร็ว) และรัวทวารวดี ลงจบ           ระบำทวารวดี นำออกแสดงครั้งแรกในงานดนตรีมหกรรมประจำปี ณ เวทีสังคีตศาลา เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ และได้แสดงถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ รายนามผู้บรรเลงเพลงระบำทวารวดี ที่บรรเลงถวายหน้าพระที่นั่ง มีดังนี้ เครื่องดนตรี - ผู้บรรเลง พิณ ๕ สาย-  ปกรณ์  รอดช้างเผื่อน จะเข้ - ทองดี สุจริตกุล ขลุ่ย - สุรพล  หนูจ้อย ระนาดตัดรางเล็ก - ศิลปี  ตราโมท ระนาดตัดรางใหญ่ - สิริชัยชาญ  ฟักจำรูญ ตะโพนมอญ - ปฐมรัตน์  ถิ่นธรณี ฉิ่ง - วิเชียร  อ่อนละมูล ฉาบ - อนุชาติ  วรรณมาศ กรับคู่ ๑ - ยงยุทธ  ปลื้มปรีชา กรับคู่ ๒ - บุญช่วย  โสวัตร   ------------------------------------------------ข้อมูล : นางบุญตา เขียนทองกุล รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการละครและดนตรีเชี่ยวชาญ สำนักการสังคีต ------------------------------------------------บรรณานุกรม - ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน.พุทธศักราช ๒๕๒๕, กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๕ - ศิลปากร, กรม. ทะเบียนข้อมูล วิพิธทัศนา ชุด ระบำ รำ ฟ้อน เล่ม ๒ กรุงเทพฯ : บริษัท ไทยภูมิ พับลิชชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๐. - ศิลปากร, กรม. ทะเบียนข้อมูล วิพิธทัศนา ชุด ระบำ รำ ฟ้อน เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์ ปริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๑. - ศิลปากร,กรม.สมุดภาพแสดงเครื่องแต่งกายตามประวัติศาสตร์และโบราณคดี. กรมศิลปากร รวบรวมจัดพิมพ์ประกอบการแสดงแต่งกายเนื่องในงานฉลองครบ ๒๐ ปี สภาการพิพิธภัณฑ์ ระหว่างชาติ ๖ มีนาคม ๒๕๑๑. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนศิวพร, ๒๕๑๑ - ศิลปากร,กรม. ระบำชุดโบราณคดี. กรมศิลปากรจัดแสดงในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนศิวพร, ๒๕๑๐ //ศิลปากร,กรม. อธิบายเพลงแผ่นเสียงลองเพลย์ ชุดที่ ๖. กรุงเทพฯ:ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, ๒๕๑๔. - สัมภาษณ์ นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุม สำนักการสังคีต


                 วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ เดือน ๘ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเมื่อ ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก โดยทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงเรื่องอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ให้แก่ปัญจวัคคีย์ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย เกิดพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก          พุทธศักราช ๒๕๖๓ นี้ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ ๕ กรกฎาคม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ขอนำเสนอโบราณวัตถุสำคัญชิ้นหนึ่งที่อาจสร้างขึ้นเพื่อแทนความหมายของวาระสำคัญดังกล่าว          ภาพพระพุทธรูปนูนสูงสลักจากหิน  สูง ๑๕๕ เซนติเมตร กว้าง ๙๕ เซนติเมตร พบที่วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สลักภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิ พระหัตถ์สองข้างวางประสานกันบนพระเพลา            สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ฐานด้านล่างบริเวณกึ่งกลาง สลักภาพธรรมจักรด้านข้าง หันส่วนที่เป็นสันออก ขนาบข้างด้วยรูปกวางหมอบเหลียวหลัง ๒ ตัว  ซึ่งอาจหมายถึงเหตุการณ์แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือป่าสวนกวาง แขวงเมืองพาราณสี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปจะแสดงปางสมาธิ ไม่ใช่ปางแสดงธรรมก็ตาม แต่จากภาพสลักที่ฐานของพระพุทธรูป สื่อถึงการแสดงพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาอย่างชัดเจน และสะท้อนถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะอย่างแท้จริง กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือเมื่อประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว เอกสารอ้างอิง จิรา จงกล. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง. พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๙. สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะอินเดีย. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๓๔. สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. “วิวัฒนาการของประติมากรรมสมัยทวารวดี”, ท่องอารยธรรม เล่ม ๒, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธุรกิจก้าวหน้า, ๒๕๔๐. ศิลปากร, กรม. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี: โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.




ชื่อเรื่อง                                ปฐมสมโพธิ (ปฐมสมฺโพธิเผด็จ)สพ.บ.                                  139/11ประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                               พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                           46 หน้า กว้าง 5 ซ.ม. ยาว 56 ซ.ม. หัวเรื่อง                                 ธรรมะ บทคัดย่อ/บันทึก เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม เส้นจาร ฉบับล่องชาด ได้รับบริจาคมาจากวัดศรีบัวบาน ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี




เนื่องในอภิลักขิตสมัยครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะทรงสถาปนาสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ถาวรเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระราชดำริว่าประเทศสยามยังไม่มีหอสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือที่เป็นสมบัติของชาติเช่นเดียวกับนานาประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอสมุดซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ ๓ แห่ง ได้แก่ หอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธสาสนสังคหะ จัดตั้งเป็นหอสมุดสำหรับให้บริการประชาชนทั่วไป และพระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” โดยได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มีที่ทำการอยู่ที่หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม) หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มีการบริหารจัดการโดยสภานายกและกรรมการ ๔ คน สภาสมัยแรกประกอบด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสภานายก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาโบราณบุรานุรักษ์ และพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เป็นกรรมการ นายออสการ์ แฟรงเฟิร์ตเตอร์ (Oscar Frankfurter) หัวหน้าบรรณารักษ์ของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ได้เขียนบันทึกเรื่องหอพระสมุดวชิรญาณฯ ไว้ในหนังสือเรื่อง “Twentieth Century Impressions of Siam: Its History, People, Commerce, Industries, and Resources” ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ว่า ในระยะแรกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครมีการจัดหนังสือแบ่งออกเป็น ๓ แผนก ได้แก่ แผนกหนังสือพระพุทธศาสนา แผนกหนังสือไทย และแผนกหนังสือทั่วไป (ซึ่งในหนังสือ “ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร” จัดพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เรียกว่า แผนกหนังสือต่างประเทศ) นอกจากหนังสือแล้วหอสมุดฯ ยังได้เก็บรักษาภาพถ่ายและตราประทับซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และประเพณี ตลอดจนเอกสารสำคัญของกระทรวงมหาดไทยและรายงานของรัฐบาลที่ออกโดยกรมต่าง ๆ ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจากเดิมที่ตั้งอยู่ที่ศาลา สหทัยสมาคม มาที่ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุเรียกว่า ตึกถาวรวัตถุ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่การให้บริการในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเป็น ๒ แห่งคือ หอพระสมุดวชิราวุธ เก็บรักษาและให้บริการหนังสือฉบับพิมพ์และหนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย ตู้ลายรดน้ำ ย้ายไปให้บริการที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระราชทานนามว่า หอพระสมุดวชิรญาณ และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอพระสมุดวชิรญาณและหอพระสมุดวชิราวุธ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ครั้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๖ กำหนดให้หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเป็นกองหอสมุด ขึ้นอยู่ในกรมศิลปากร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติได้พัฒนามาเป็นลำดับ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคารทรงไทย สูง ๕ ชั้นขึ้นที่บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสน ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ และเริ่มให้บริการ ณ สถานที่แห่งใหม่มาจนถึงปัจจุบัน หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสืออันมีค่าของชาติ เป็นหน่วยงานที่มีการวางรากฐานการจัดห้องสมุดตามมาตรฐานสากลหลายประการ เช่น การจัดทำหมวดหมู่หนังสือ บัตรรายการค้นหนังสือ บรรณานุกรม ฯลฯ ตลอดจนจัดพิมพ์หนังสือที่มีประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยเป็นอันมาก ยังผลให้คนไทยมีความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การศึกษาของชาติได้มีการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ ................................................................................. ชรัตน์ สิงหเดชากุล นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มแปลและเรียบเรียง



Messenger