การเข้ามาของชาวอินเดียในภาคใต้
หลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้ของประเทศไทยตอน การเข้ามาของชาวอินเดียในภาคใต้
          หลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อระหว่างอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อชาวอินเดียได้เดินเรือออกไปติดต่อค้าขายทางทิศตะวันออกเพื่อแสวงหาความร่ำรวยยังดินแดนห่างไกลที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi) หรือ สุวรรณทวีป (Suvarnadvipa)
          สุวรรณภูมิ หรือ สุวัณณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป แปลตามรากศัพท์ได้ว่า ดินแดนแห่งทองคำ เชื่อกันว่ามีทองคำมากมาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวอินเดีย รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่มีทรัพยาการทางธรรมชาติและเครื่องเทศซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก
          สุวรรณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป ในปัจจุบันหมายถึง ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ - ผืนแผ่นดินใหญ่ (Mainland) คือ พม่า ลาว ไทย เขมร เวียดนาม มาเลเชีย สิงคโปร์ - ผืนแผ่นดินคาบสมุทร (Peninsular) คือ คาบสมุทรพม่า คาบสมุทรมลายู และคาบสมุทรอินโดจีน - ดินแดนที่เป็นเกาะ (Islands) คือ หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก และอินโดนีเชีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และติมอตะวันออก
           ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริเวณภาคใต้ของไทยและแหลมมลายูมีการติดต่อกับชาวอินเดียและชาวต่างชาติในสมัยโบราณ คือ
          ๑. ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ภาคใต้ของไทยตั้งอยู่บนแหลมมลายู ซึ่งมีลักษณะเหมือนแท่งเดือยอยู่ตรงกลางของคาบสมุทร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการคมนาคม การค้า การทหาร
          ๒. ตั้งอยู่ในเขตมรสุม คือ ลมมรสุมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม–ตุลาคม) พัดข้ามมหาสมุทรอินเดียจากเส้นศูนย์สูตร และลมมรสุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน–เมษายน) พัดจากตะวันออกจากฝั่งทะเลจีนและข้ามทะเลจีนมาบรรจบกันที่บริเวณปลายแหลมมลายูหรือมาบรรจบกันที่บริเวณช่องแคบมะละกา ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นจุดนัดพบของเรือสินค้าจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก เช่น อินเดีย อาหรับ จีน เวียดนาม เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นจุดนัดพบของพ่อค้านักเดินเรือชาวต่างชาติและชาวท้องถิ่นเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ ๓. มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ คือ มีพืชพันธ์ไม้เศรษฐกิจและผลผลิตจากป่าที่เป็นที่ต้องการในสมัยโบราณ เช่น ไม้เนื้อหอมต่างๆ หนังสัตว์ เขาสัตว์ ผลผลิตจากทะเล เช่น กระดองเต่า ไข่มุก แร่ธาตุ เช่น ดีบุก ตะกั่ว ทองคำ เป็นต้น
          จากปัจจัยทั้ง ๓ ประการ ส่งผลให้ภาคใต้ของไทยและแหลมมลายูมีพัฒนาการเป็นชุมชนหรือเมืองท่าโบราณที่สำคัญในเวลาต่อมา
          สันนิษฐานว่าในการเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย พ่อค้าชาวอินเดียน่าจะนำเครื่องรางหรือรูปเคารพขนาดเล็กหรืออาจมีนักบวชของแต่ละศาสนาติดตามมาด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทาง เนื่องจากการเดินทางทางทะเลมักมีอันตรายจากธรรมชาติและโจรสลัด รวมทั้งเพื่อให้ประสบความสำเร็จทางการค้า และอาจด้วยเหตุนี้ที่ทำให้คติความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของอินเดียได้ปรากฏและหยั่งรากลงในดินแดนสุวรรณภูมิหรือพื้นที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดินแดนในภาคใต้ของไทยในเวลาต่อมา


ภาพ : แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของปโทเลมี นักเขียนแผนที่ชาวยุโรปในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ที่มา : Wheatley,Paul. The Golden Khersonese. Kuala Lumpur: University of Malay Press, ๑๙๖๑.


ภาพ : แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน
ที่มา : อมรา ศรีสุชาติ. ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.


ภาพ : เรือสำเภาและนักเดินทาง บุโรพุทโธ ชวาภาคกลาง เกาะชวา อินโดนีเซีย
ที่มา : อมรา ศรีสุชาติ. ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.

-------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
-------------------------------------

อ้างอิง :
- ผาสุข อินทราวุธ, ศ.ดร. สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘. - Wheatley,Paul. The Golden Khersonese. Kuala Lumpur: University of Malay Press, ๑๙๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 10446 ครั้ง)

Messenger