เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
การเข้ามาของชาวอินเดียในภาคใต้
หลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้ของประเทศไทยตอน การเข้ามาของชาวอินเดียในภาคใต้
หลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อระหว่างอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อชาวอินเดียได้เดินเรือออกไปติดต่อค้าขายทางทิศตะวันออกเพื่อแสวงหาความร่ำรวยยังดินแดนห่างไกลที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi) หรือ สุวรรณทวีป (Suvarnadvipa)
สุวรรณภูมิ หรือ สุวัณณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป แปลตามรากศัพท์ได้ว่า ดินแดนแห่งทองคำ เชื่อกันว่ามีทองคำมากมาย ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวอินเดีย รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่มีทรัพยาการทางธรรมชาติและเครื่องเทศซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก
สุวรรณภูมิ หรือ สุวรรณทวีป ในปัจจุบันหมายถึง ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ - ผืนแผ่นดินใหญ่ (Mainland) คือ พม่า ลาว ไทย เขมร เวียดนาม มาเลเชีย สิงคโปร์ - ผืนแผ่นดินคาบสมุทร (Peninsular) คือ คาบสมุทรพม่า คาบสมุทรมลายู และคาบสมุทรอินโดจีน - ดินแดนที่เป็นเกาะ (Islands) คือ หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก และอินโดนีเชีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และติมอตะวันออก
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริเวณภาคใต้ของไทยและแหลมมลายูมีการติดต่อกับชาวอินเดียและชาวต่างชาติในสมัยโบราณ คือ
๑. ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ภาคใต้ของไทยตั้งอยู่บนแหลมมลายู ซึ่งมีลักษณะเหมือนแท่งเดือยอยู่ตรงกลางของคาบสมุทร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการคมนาคม การค้า การทหาร
๒. ตั้งอยู่ในเขตมรสุม คือ ลมมรสุมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม–ตุลาคม) พัดข้ามมหาสมุทรอินเดียจากเส้นศูนย์สูตร และลมมรสุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน–เมษายน) พัดจากตะวันออกจากฝั่งทะเลจีนและข้ามทะเลจีนมาบรรจบกันที่บริเวณปลายแหลมมลายูหรือมาบรรจบกันที่บริเวณช่องแคบมะละกา ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นจุดนัดพบของเรือสินค้าจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก เช่น อินเดีย อาหรับ จีน เวียดนาม เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นจุดนัดพบของพ่อค้านักเดินเรือชาวต่างชาติและชาวท้องถิ่นเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ ๓. มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ คือ มีพืชพันธ์ไม้เศรษฐกิจและผลผลิตจากป่าที่เป็นที่ต้องการในสมัยโบราณ เช่น ไม้เนื้อหอมต่างๆ หนังสัตว์ เขาสัตว์ ผลผลิตจากทะเล เช่น กระดองเต่า ไข่มุก แร่ธาตุ เช่น ดีบุก ตะกั่ว ทองคำ เป็นต้น
จากปัจจัยทั้ง ๓ ประการ ส่งผลให้ภาคใต้ของไทยและแหลมมลายูมีพัฒนาการเป็นชุมชนหรือเมืองท่าโบราณที่สำคัญในเวลาต่อมา
สันนิษฐานว่าในการเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย พ่อค้าชาวอินเดียน่าจะนำเครื่องรางหรือรูปเคารพขนาดเล็กหรืออาจมีนักบวชของแต่ละศาสนาติดตามมาด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทาง เนื่องจากการเดินทางทางทะเลมักมีอันตรายจากธรรมชาติและโจรสลัด รวมทั้งเพื่อให้ประสบความสำเร็จทางการค้า และอาจด้วยเหตุนี้ที่ทำให้คติความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของอินเดียได้ปรากฏและหยั่งรากลงในดินแดนสุวรรณภูมิหรือพื้นที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดินแดนในภาคใต้ของไทยในเวลาต่อมา
ภาพ : แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของปโทเลมี นักเขียนแผนที่ชาวยุโรปในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ที่มา : Wheatley,Paul. The Golden Khersonese. Kuala Lumpur: University of Malay Press, ๑๙๖๑.
ภาพ : แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน
ที่มา : อมรา ศรีสุชาติ. ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.
ภาพ : เรือสำเภาและนักเดินทาง บุโรพุทโธ ชวาภาคกลาง เกาะชวา อินโดนีเซีย
ที่มา : อมรา ศรีสุชาติ. ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.
-------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
-------------------------------------
อ้างอิง :
- ผาสุข อินทราวุธ, ศ.ดร. สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘. - Wheatley,Paul. The Golden Khersonese. Kuala Lumpur: University of Malay Press, ๑๙๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 9885 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน