ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,356 รายการ

          พระวิษณุพบที่โบราณสถานหมายเลข 25 ซึ่งมีลักษณะเป็นโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเป็นระเบียงล้อมรอบอาคารระหว่างระเบียงถึงตัวอาคารชั้นในใช้ดินลูกรังอัดเป็นพื้นโบราณสถาน ส่วนอาคารชั้นในเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีช่องทางเข้าด้านทิศตะวันตก มีผนังล้อมรอบตรงกลางเพื่อประดิษฐานรูปเคารพ ที่มุมอาคารชั้นในมีเสาศิลาแลงทรงกลมทั้ง 4 มุม แนวผนังอาคารชั้นในและความลึกของเสาไปสิ้นสุดที่พื้นเทลาดด้วยศิลาแลง ส่วนที่ประดิษฐานรูปเคารพอาคารชั้นในทางด้านหน้าทำเป็นมุขยื่นออกไปทางด้านทิศตะวันออกเล็กน้อย ด้านข้างของแท่นทำเป็นรอยบากรูปครึ่งวงกลม อาจจะใช้เสาไม้อีก 2 ต้น           พระวิษณุจตุรภุช หรือ พระวิษณุ 4 กร พบที่โบราณสถานหมายเลข 25 เมืองศรีมโหสถ อำเภอ ศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี แสดงให้เห็นว่าเมืองศรีมโหสถได้มีการเคารพนับถือและมีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกายซึ่งได้รับอิทธิ-พลจากอินเดียผ่านเส้นทางการค้าประกอบกับศาสนาฮินดูมีการกำหนดชนชั้นและวรรณะชัดเจน จึงเอื้ออำนวยต่อชนชั้นการปกครองและชนชั้นผู้ประกอบพิธีกรรม หลักฐานที่แสดงถึงศาสนาฮินดูจึงพบได้ทั่วไปภายในบริเวณเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลาง ในขณะที่หลักฐานในศาสนาพุทธจะกระจายอยู่ทั่วไป           พระวิษณุองค์นี้มีลักษณะใกล้เคียงกลุ่มพระวิษณุในศิลปะเขมรซึ่งเป็นลักษณะที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียหรืออาจได้รับอิทธิพลมาจากเมืองศรีมโหสถรวมทั้งพระวิษณุองค์นี้ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับพระวิษณุที่พบในแถบภาคใต้ของประเทศไทยอีกด้วย ---------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ---------------------------------------------------อ้างอิง : กรมศิลปากร. “นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี” กรุงเทพฯ, 2542. กรมศิลปากร. “โบราณคดีเมืองศรีมโหสถ” กรุงเทพฯ, 2548. กรมศิลปากร. “ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมืองศรีมโหสถ”กรุงเทพฯ, 2535.





คาถาอาคมและหมอดู ชบ.ส. ๒๕ เจ้าอาวาสวัดต้นสน ต.บางปลาสร้อย เขต ๑ อ.เมือง จ.ฃลบุรี มอบให้หอสมุด ๒๐ ก.ค. ๒๕๓๕ เอกสารโบราณ (สมุดไทย)


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สังคิณี-มหาปัฎฐาน) เลขที่ ชบ.บ.20/1-7 เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


ผ้าทอเมืองอุบล : ซิ่นทิวมุกจกดาว ผ้า คือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ส่วนการทอผ้าเป็นการนำรากฐาน ความเป็นท้องถิ่นมาร้อยเรียงกับความคิดและความเชื่อผ่านลวดลายสัญลักษณ์ ต่างๆ รวมกับสีสันแห่งธรรมชาติ จนก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ในสมัยที่การทำเกษตรกรรมยังเป็น พื้นฐานของการดำรงชีวิต เมื่อเสร็จสิ้นจากภาระในการเพาะปลูก หน้าที่การทอผ้าสำหรับใช้งานและทำเป็นเครื่องนุ่งห่มจะเป็นของฝ่ายหญิง ในขณะที่อุปกรณ์ในการทอผ้าตกเป็นของฝ่ายชาย วิชาความรู้เรื่องการทอผ้าที่ ถ่ายทอดให้กันนั้นเป็นการส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น นอกเหนือจากความรู้ที่สืบทอดกันมาและผืนผ้าที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน การทอผ้ายังเป็นการบ่มเพาะนิสัย ความละเอียด อดทน ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะให้แก่ลูกหลานอีกด้วย ผ้าซิ่นทิวมุกจกดาว ซิ่นทิวมุกจกดาว เป็นผ้าที่มีจำนวนน้อยมากและหาได้ยากยิ่ง ผ้าที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันไม่น่าจะเกิน ๗ ผืน ในส่วนที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี มี ๒ ผืน ผืนที่ ๑ บริจาคโดยนางสงวนศักดิ์ คูณผล ซึ่งได้รับสืบทอดมาจากมารดา คือ นางวรเวธวรรณกิจ (ทับทิม โชติบุตร) ผืนที่๒ เป็นสมบัติเดิมของญาแม่ลูกจันทน์ (ณ อุบล) ส่งศรี ซึ่งเป็นบุตรีของท้าวสิงห์ ณ อุบล นอกจากนี้พบเป็นผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อีก ๑ ผืน และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในความครอบครองของทายาทอาญาสี่ เช่น เรือตรีสุนัย ณ อุบล และพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล รูปแบบ ซิ่นทิวมุกจกดาว มีโครงสร้างหลัก แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนตัวซิ่น และหัวซิ่น เหมือนกับซิ่นทิว ซึ่งเป็นผ้าซิ่นชนิดเดียวของอีสานที่เป็นลายขวาง ซึ่งโดยปรกติการวางลวดลายจะวางแนวตั้งหรือลายล่อง กล่าวกันว่าเป็นซิ่นที่มีกระบวนยุ่งยากโดยเฉพาะในขั้นสืบเส้นยืน(ทางเครือ) เพราะต้องนับเส้น “หมี่แม่”, “หมี่ลูก” ให้เป็นระบบเท่าๆกันทั้งหมดทุกช่วง จนถึงขนาดว่าช่างทอบางคนจะไม่ยอมพูดคุยกับใครเลยขณะที่สืบเส้นยืนซิ่นทิว แต่ซิ่นทิวมุกจกดาวจะมีลักษณะพิเศษมากกว่าซิ่นทิวทั่วไปคือ นอกจากจะต้องทางเครือเป็น “หมี่แม่”, “หมี่ลูก” ให้เกิดลายทิวแล้ว ยังต้องยกมุก ซึ่งเป็นเทคนิคการทอโดยเพิ่มเส้นยืนพิเศษบนกี่ทอผ้า ทำให้เกิดเป็นลายริ้วสีเหลืองเล็กๆขวางไปตามตัวซิ่น และยังต้องใช้ไหมสีขาว หรือไหมเงินจกเป็นเส้นตั้งเรียงถี่ในช่วงที่เป็น “หมี่ลูก” จากนั้นก็จกด้วยลายตุ้มหรือลายหน่วย เป็นดาวเล็กๆตามช่อง เมื่อได้ขนาดเป็น “โต่ง” จึงนำมาต่อด้วยหัวซิ่นจกดาว ด้วยเหตุที่ผสมผสานหลายเทคนิคการทอคือ (๑)สืบเส้นยืน เป็นเครือทิว (๒)ยกมุก (๓)จกลายดาวหน่วย และจกเส้นขาว จึงเรียกซิ่นชนิดนี้ตามเทคนิคว่า “ซิ่นทิวมุกจกดาว”  



 ย้อนรำลึกเหตุการณ์ “พุทธปรินิพพาน"  ล่วงผ่านพุทธศาสนกาล ๒๕๖๔ ปี    ++ พระยามารกราบบังคมทูลขอโปรดเสด็จดับขันธ์ ปฐมบทสู่การปรินิพพาน  ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ(เดือน ๓) ก่อนพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน พระยาวัสวดีมาร มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี กราบทูลขอให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ดังปรากฏความในมหาปรินิพพานสูตรว่า “...ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคสมบูรณ์แล้ว กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ฯ ------------------------------------------------------------------------ ++ พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี  ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้ตอบแก่พระยามารว่า  “...ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน...ดูกรอานนท์  วันนี้เมื่อกี้นี้ ตถาคตมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขารแล้ว ที่ปาวาลเจดีย์ ฯ...” และเมื่อทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว “ ...ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ และขนพองสยองเกล้าน่าสะพรึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น...” ----------------------------------------------------------------------- ++  นายจุนทกัมมารบุตร ถวายสุกรมัทวะ   เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเมืองปาวา นายจุนทกัมมารบุตร นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์รับถวายภัตตาหาร ณ เรือนของตน ครั้งนั้นได้จัดโภชนาหารอันประณีตชื่อว่า “สุกรมัทวะ” ถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้ามีพระดำรัสให้ถวายสุกรมัทวะแด่พระองค์เพียงผู้เดียว ส่วนเหลือเท่าใดให้นำไปฝังเสียทั้งหมด “...พระผู้มีพระภาครับสั่งกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ ท่านจงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสียในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ซึ่งบริโภคสุกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดีได้นอกจากตถาคต...” -------------------------------------------------------------------- ++ ทรงประชวรลงพระโลหิต ++ หลังจากเสวยภัตตาหารซึ่งนายจุนทกัมมารบุตรถวายแล้ว ก็ทรงประชวรถึงกับพระบังคล(ขับถ่าย)เป็นเลือด ดังปรากฏความว่า “...ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ก็เกิดอาพาธอย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต ใกล้จะนิพพาน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนาเหล่านั้นไว้ มิได้ทรงพรั่นพรึง ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิดอานนท์ เราจักไปยังเมืองกุสินารา...” ------------------------------------------------------------------------ ++ ทรงกระหายน้ำระหว่างทางไปกุสินารา ++ ในระหว่างทางเสด็จไปเมืองกุสินารา พระพุทธเจ้าทรงกระหายน้ำ จึงกล่าวแก่พระอานนท์ว่า “..ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียน บดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำกกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ และจักทรงสรงสนานพระองค์...” พระพุทธเจ้าทรงดำรัสสั่งถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์จึงไปตักน้ำมาถวายตามรับสั่ง และเมื่อถึงแม่น้ำก็พบว่าน้ำที่ขุ่นมัวนั้นกลับใสสะอาดอย่างอัศจรรย์ด้วยฤทธานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า  ------------------------------------------------------------------------ ++ ปุกกุสมัลลบุตรถวายผ้าสิงคิวรรณ ++  ระหว่างทางไปเมืองกุสินารา ปุกกุสมัลลบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และสนทนาธรรมเรื่องบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบ หลังได้ฟังพุทธาธิบายแล้วเกิดความเลื่อมใสปวารณาตนเป็นอุบาสก มีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ และในกาลนั้นได้น้อมถวาย “ผ้าสิงคิวรรณ” ดังปรากฏความว่า “...ลำดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตรสั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ดูกรพนายท่านจงช่วยนำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา บุรุษนั้นรับคำปุกกุสมัลลบุตรแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเขามาแล้ว ปุกกุสมัลลบุตร จึงน้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค…” ----------------------------------------------------------------------- ++ ทรงไสยาสน์ ณ อัมพวัน ริมฝั่งน้ำกกุธานที ++  ก่อนถึงเมืองกุสินารา พระพุทธเจ้าทรงสรงน้ำในแม่น้ำกกุธานที และทรงไสยาสน์ ณ อัมพวัน                  ดังปรากฏความว่า “...ครั้นแล้วเสด็จลงสู่แม่น้ำกกุธานที ทรงสรงแล้ว เสวยแล้ว เสด็จขึ้น เสด็จไปยังอัมพวัน ตรัสเรียกท่านพระจุนทกะมารับสั่งว่า ดูกรจุนทกะ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนอนพัก...”  ------------------------------------------------------------------------ ++ ทรงไสยาสน์ใต้ต้นรังคู่ ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา++  เมื่อออกจากอัมพวันริมฝั่งแม่น้ำกกุธานีแล้ว “...ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี เมืองกุสินารา และสาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ ครั้นแล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยตั้งเตียงให้เรา หันศีรษะไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เราเหน็ดเหนื่อยแล้ว จักนอน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ตั้งเตียงหันพระเศียรไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่ พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัสเบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะฯ…” ------------------------------------------------------------------------ ++ ทรงตรัสสังเวชนียสถาน ++  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “...ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา...ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่าพระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ…” ---------------------------------------------------------------------- ++ พระอานนท์แจ้งข่าวแก่มัลลกษัตริย์ ++   ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้ามีพระดำรัสให้พระอานนท์เข้าไปแจ้งข่าวแก่เหล่ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา ดังปรากฏความว่า “...จงไปเถิดอานนท์ เธอจงเข้าไปใน เมืองกุสินารา แล้วบอกแก่พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลายพระตถาคตจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปกันเถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าพระตถาคตในกาลครั้งสุดท้าย ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปในเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียว...”  ------------------------------------------------------------------------ ++ โปรดสุภัทธปริพาชก ++  ครั้งนั้นสุภัททปริพาชก เดินทางมายังสาลวโนทยาน และกล่าวกับพระอานนท์เพื่อขอโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์กล่าวว่า “...อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม...” พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำท่านพระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชก จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า “...อย่าเลยอานนท์ เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้าตถาคต สุภัททะจักถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งกะเรา จักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียน อนึ่ง เราอันสุภัททะถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อความนั้นโดยฉับพลันทีเดียวฯ...” และเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว “...พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด...” นับเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้ายที่ได้บรรพชาต่อหน้าพระพุทธเจ้า ------------------------------------------------------------------------ ++ ตรัสพระธรรมและวินัยจักเป็นศาสดา ++ “...ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้วพระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา…” ------------------------------------------------------------------------ ++ ปัจฉิมโอวาท ++  “...ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาพวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดฯ นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคตฯ…” ------------------------------------------------------------------------ ++ พุทธปรินิพพาน ++  เมื่อจะเข้าสู่พระปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเข้าฌานและสมาบัติไปตามลำดับจนถึงนิโรธสมาบัติ “...แล้วก็กลับเข้ารูปาวจรสมาบัติทั้ง ๔ แลอรูปาวจรสมาบัติทั้ง ๔ โดยอนุโลมแลปฏิโลม กลับไปกลับมาโดยปคุณานุโยคอันรวดเร็วถึง ๒๔ แสนโกฏิสมาบัติ...เมื่อออกจากจตุต์ถฌานในวาระเปนที่สุด ก็ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานในสมัยกาลระหว่างนั้น ในวันวิศาขบุณมีราตรีปัจจุสสมัย... ขณะนั้นอันว่าปฐวีกัมปนาการก็บังเกิดปรากฎพิฦกพึงกลัวทั่วโลกธาตุทั้งปวง อีกทั้งห้วงมหรรณพก็กำเริบตีฟองคนองคลื่นครืนครั่น นฤนาทสนั่นในมหาสมุทสาคร ทั้งหมู่มัจฉาชาติมังกรผุดดำกระทำให้ศัพท์สำนานนฤโฆษ ครุวณาดุจเสียงปริเทวกถาแซร่ซร้อง โสกาดุรกำสรด ทั้งขุนเขาพระสิเนรุราชบรรพตก็น้อมยอดโอนอ่อน มีอาการปานประหนึ่งว่ายอดหวายอันอัคคีลน อเนกมหัศจรรย์ก็บันดานทั่วเมทนีดลสกลนภากาศ ปางเมื่อพระบรมโลกนารถ เข้าสู่พระปรินิพพาน...” ------------------------------------------------------------------------ ++ สังเวคกถาแห่งท้าวสหัมบดีพรหม++ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จักต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แต่พระตถาคตผู้เป็นศาสดาเช่นนั้น หาบุคคลจะเปรียบเทียบมิได้ในโลก เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระกำลัง ยังเสด็จปรินิพพานฯ ------------------------------------------------------------------------ ++ สังเวคกถาแห่งพระอินทร์++ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป               ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุขฯ ------------------------------------------------------------------------ ++ สังเวคกถาแห่งพระอนุรุธะ ++ ลมอัสสาสะปัสสาสะของพระมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงปรารภสันติ ทรงทำกาละ  มิได้มีแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงอดกลั้นเวทนาได้แล้ว ความพ้นแห่งจิตได้มีแล้ว เหมือนดวงประทีปดับไปฉะนั้นฯ ------------------------------------------------------------------------ ++  สังเวคกถาแห่งพระอานนท์ เมื่อพระสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวงเสด็จปรินิพพานแล้ว ในครั้งนั้นได้เกิดความอัศจรรย์น่าพึงกลัว และเกิดความขนพองสยองเกล้าฯ -------------------------------------------------------------- เรียบเรียงโดย นาย สารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา กราฟฟิค โดย นันธ์ทิกา นิชรานนท์ เจ้าหน้าที่กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา


          จากเอกสารจดหมายเหตุจังหวัดนครพนม แผนกมหาดไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๘ กรมโลหกิจ (ปัจจุบันคือ กรมทรัพยากรธรณี) ได้มีหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เรื่อง ขอทราบแหล่งเต๊กไต๊ท์ ตามเนื้อความระบุว่า           “เนื่องจากปรากฏในรายงานธรณีวิทยาของต่างประเทศว่าวัตถุชะนิดหนึ่งชื่อเต๊กไต๊ท์ (Tectite) ได้พบแพร่หลายในประเทศออสเตรเลีย, หมู่เกาะฟิลิปปินส์, อินโดจีน และในภาคอีสานของประเทศไทยบางท้องที่ วัตถุนี้มีประโยชน์ในงานธรณีวิทยา และกรมโลหกิจใคร่จะได้ทราบว่ามีปรากฏที่ใดบ้าง จึงได้แนบภาพถ่ายของเต๊กไต๊ท์ที่พบในอินโดจีนมากับหนังสือนี้สองภาพ เพื่อขอความร่วมมือจากท่านช่วยสืบค้นว่ามีผู้พบ หรือมีแหล่งปรากฏที่ใดบ้าง และหากจะได้ตัวอย่างด้วยก็เป็นการดีมาก วัตถุเหล่านี้มักพบปรากฏอยู่ตามผิวดิน ปนกับกรวดทรายในร่องห้วย ตามลาดเนิน ลักษณะคล้ายหินหรือแก้วหรือเหล็กเป็นสนิม ผิวมักจะขรุขระดังผิวลูกมะกรูดหรือเป็นร่อง เป็นแอ่ง เป็นรูเล็ก ๆ มีขนาดต่างกันตั้งแต่ขนาดผลพุดซาไปจนถึงขนาดผลส้มโอขนาดใหญ่ วัตถุเหล่านี้เป็นวัตถุเดียวกับที่ชาวบ้านเรียกว่า คดพระจันทร์ ขวานพระจันทร์ หรือขวานฟ้า”           แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบเอกสารจดหมายเหตุที่ได้รับมอบไม่พบเอกสารแนบภาพถ่าย ผู้เรียบเรียงจึงขอยกตัวอย่างแร่เต๊กไต๊ท์ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรธรณี ดังนี้ Tektite เป็นหินอุลกมณี หรือหินดาวตกประกอบด้วยแร่ซิลิกา ลักษณะเป็นเนื้อแก้วที่ผิวมีหลุมเล็ก ๆ หรือเป็นร่องยาว มีหลายขนาดและรูปแบบ เช่น ทรงกลมคล้ายผลส้ม กลมและแบนแบบจาน รูปหยดน้ำ รูปดัมเบล และรูปกระสวย ในประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ          จากข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมมีหนังสือแจ้งไปยังส่วนราชการในอำเภอต่าง ๆ ให้สำรวจและรายงานข้อมูล พบว่า จากการสำรวจของนายไพฑูรย์ เก่งสกุล นายอำเภอนาแก ในบริเวณพื้นที่ตำบลกกตูม อำเภอนาแก มีการพบหินที่สงสัยว่าจะมีแร่ธาตุบางชนิดรวม ๑๔ ชิ้น กรมโลหกิจ จึงส่ง นายเกษตร พิทักษ์ไพรวัน นายช่างธรณีวิทยา และนายวิลเลี่ยม เอ. แคสซิตี้ ให้มาดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างหิน ๑๔ ชิ้น กลับมายังกรมโลหกิจ เพื่อดำเนินการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างหิน แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่           ๑. ตัวอย่างหินที่ได้จากภูกะติ๊บ บ.โคกกลาง อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นแร่ทองแดง จำนวน ๗ ชิ้น ๒. ตัวอย่างจาก ตำบลกกตูม อำเภอนาแก จ.นครพนม เป็นแร่และวัตถุต่าง ๆ คือ ๒.๑ แร่เหล็ก ชนิดไลโมไน้ท์ จำนวน ๑ ชิ้น ๒.๒ แร่เหล็ก ชนิดไพไร้ท์ จำนวน ๑ ชิ้น ๒.๓ กรวดมีคราบแร่ทองแดง จำนวน ๓ ชิ้น ๒.๔ ซากกระดูกกลายเป็นหิน จำนวน ๒ ชิ้น           ภายหลังจากที่มีการวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ กรมโลหกิจ ได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการจัดการหากราษฎรพบหินที่มีลักษณะดังกล่าวไว้ว่า           “ตัวอย่างแร่ทองแดงจากภูกระติ๊บ แสดงลักษณะของแร่ซึ่งเคยพบเป็นก้อนในหินทรายในที่อื่น ๆ และมักจะไม่เป็นแหล่งใหญ่ แต่ก็ควรสนใจติดตามให้ทราบแน่นอนว่ามีมากสักเพียงใด ส่วนแร่เหล็กและทองแดงจากตำบลกกตูม ไม่แสดงลักษณะสำคัญควรแก่การสนใจ แต่ทรากกระดูกกลายเป็นหิน ๒ ชิ้น ควรจะได้สืบทราบแหล่งที่มาแน่นอน และถ้ายังมีส่วนใดเหลืออยู่เอาออกจากหินได้ยาก ก็ควรจะได้รับความคุ้มครองจากผู้ปกครองท้องที่มิให้ถูกทำลายไปโดยชาวบ้าน เพื่อจักได้ทำการศึกษาในโอกาสอันควรข้างหน้า เพราะวัตถุเหล่านี้มีค่าในทางการศึกษาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาตร์”------------------------------------------------------------เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวพัชราภรณ์ สุวรรณะ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี ------------------------------------------------------------เอกสารอ้างอิง- กรมทรัพยากรธรณี. (ม.ป.ท.). ประวัติความเป็นมาของกรมทรัพยากรธรณี. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/dmr_web/n_more_news.php... - กรมทรัพยากรธรณี. (ม.ป.ท.). tektite เกิดได้อย่างไร ส่วนประกอบทางเคมีเป็นอย่างไร ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/fq_more.php?page=8&f_id=19&f_sub_id=21 - หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี. นพ ๑.๒/๓๒ ให้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดนครพนม (๑๘ ม.ค. - ๑๗ ก.ย. ๒๔๙๘) ภาพประกอบ - อุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก. (ม.ป.ท.). เมื่อไม้กลายเป็นหิน. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จาก http://www.dmr.go.th/.../article/article_20171002133400.pdf - https://www.mindat.org/min-10859.html






          ทวารบาล หมายถึง นายประตูหรือผู้ปกปักรักษาประตู ไม่ให้สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งชั่วร้ายผ่านไปสู่พื้นที่ด้านหลังบานประตูนั้นได้ ศาสนสถานเปรียบเสมือนที่ประทับแห่งเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างรูปทวารบาลของศาสนสถานที่ดูน่าเกรงขามหรือทำให้เชื่อว่าป้องกันสิ่งที่ชั่วร้ายได้เพื่อเอาไว้คุ้มครองและอำนวยพรแก่ผู้มาสักการะให้รู้สึกปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย จึงปรากฏการสร้างประติมากรรมรูปบุคคล และรูปสัตว์ชั้นสูงหรือสัตว์ที่เป็นมงคล บริเวณทางเข้าหรือประตูเพื่อเป็นทวารบาลในการปกป้องและคุ้มครองศาสนสถานแห่งต่าง ๆ           สิงห์ ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔ หมายถึง สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกำลังมาก และมีที่มาจากสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ในท้องถิ่นของประเทศอินเดีย เป็นตัวแทนของราชาแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย สิงห์จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งกษัตริย์ เมื่อพระพุทธเจ้านั้นเคยเป็นบุคคลในวรรณะกษัตริย์ สิงห์จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง ดังนั้นจึงปรากฏประติมากรรมรูปสิงห์ในฐานะทวารบาลบริเวณทางเข้าของศาสนสถาน ก่อนจะส่งต่อคติดังกล่าวไปยังจีนและเขมรในเวลาต่อมา ในพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามลักษณะทางสัตวภูมิศาสตร์ไม่ปรากฏสิงโตตามธรรมชาติ แต่รูปสิงห์นี้ก็ปรากฏอยู่ในลวดลายเครื่องประดับของเขมรตามแบบที่ได้รับมาจากอินเดีย ต่อมาประติมากรรมรูปสิงห์ลอยตัวของเขมรก็ปรากฏขึ้น และตั้งอยู่หน้าบันไดทางเข้า ณ ศาสนสถานหลายแห่ง เช่น ปราสาทหมู่กลางหลังที่ ๑ ที่สมโบร์ไพรกุก และปราสาทถมอดอบ รวมถึงทางเข้าของปราสาทหินพิมายในประเทศไทย           ที่เมืองกำแพงเพชรปรากฏประติมากรรมสิงห์ในฐานะทวารบาลบริเวณทางเข้าโบราณสถานหลายแห่ง เช่น โบราณสถานวัดช้างรอบ พบโกลนศิลาแลงประติมากรรมรูปสิงห์และด้านหลังสิงห์เป็นโกลนประติมากรรมรูปบุคคลบริเวณเชิงบันไดทางขึ้นลานประทักษิณของเจดีย์ประธาน           โบราณสถานวัดสิงห์ พบร่องรอยประติมากรรมรูปสิงห์และด้านหลังเป็นโกลนประติมากรรมรูปบุคคลตั้งเป็นคู่กัน บริเวณด้านหน้าชานชาลาของอุโบสถ และโบราณวัดพระนอนพบร่องรอยประติมากรรมรูปสิงห์จำนวน ๑ คู่ บริเวณบันไดต่อจากทางเข้าวัดด้านทิศใต้ แต่ไม่ปรากฏร่องรอยประติมากรรมของรูปบุคคลด้านหลังแบบที่พบในวัดช้างรอบและวัดสิงห์ แม้ว่าร่องรอยประติมากรรมสิงห์ที่พบที่วัดสิงห์และวัดพระนอนปรากฏสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก แต่พบหลักฐานจากภาพถ่ายเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๙ ปรากฏประติมากรรมรูปสิงห์ที่บริเวณดังกล่าวอย่างชัดเจน           นอกจากการพบประติมากรรมรูปสิงห์ในฐานะทวารบาลบริเวณทางเข้าของศาสนสถานแล้ว ที่เมืองกำแพงเพชรยังพบเจดีย์ทรงระฆังที่มีประติมากรรมสิงห์ล้อมที่ฐานเจดีย์พบที่วัดพระแก้ว ซึ่งเจดีย์รูปแบบดังกล่าวเป็นเจดีย์รูปแบบพิเศษพบที่กรุงศรีอยุธยา ๒ แห่ง คือเจดีย์ประธานวัดแม่นางปลื้มและเจดีย์ประธานวัดธรรมิกราช การประดับประติมากรรมรูปสิงห์ล้อมฐานเจดีย์ดังกล่าวนี้คงเทียบได้กับการทำรูปช้างล้อม กล่าวคือระเบียบในการประดับประติมากรรมรูปสัตว์ที่ฐานได้รับรูปแบบมาจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย แต่การประดับรูปสิงห์นั้นคงดัดแปลงเอามาจากศิลปะอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลดังกล่าวมาจากศิลปะเขมร นอกจากนี้ที่โบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ บริเวณฐานไพทีรูปตัวแอล (L) ที่รองรับเจดีย์บริวารจำนวน ๘ องค์ด้านบน ส่วนด้านทิศเหนือของวิหาร พบโกลนประติมากรรมรูปสิงห์ สันนิษฐานจากร่องรอยของสลักศิลาแลงที่ยื่นต่อออกมาจากฐานไพทีดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนที่เคยรองรับประติมากรรมรูปสิงห์มาก่อน ซึ่งพบหลักฐานเฉพาะส่วนด้านทิศเหนือเท่านั้น และไม่พบสลักหรือโกลนประติมากรรมรูปสิงห์ที่ส่วนอื่นและฐานไพทีด้านทิศใต้แต่อย่างใด นอกจากนี้จากภาพถ่ายเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ยังคงปรากฏประติมากรรมรูปสิงห์บริเวณชานชาลาหน้าวิหารในฐานะของทวารบาลอีกด้วย           จากรูปแบบการพบประติมากรรมรูปสิงห์ที่เมืองกำแพงเพชรทั้งส่วนที่เป็นประติมากรรมในฐานะทวารบาลและส่วนที่เป็นประติมากรรมล้อมฐานเจดีย์ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าที่เมืองกำแพงเพชรมีคติความเชื่อเรื่องการสร้างทวารบาลเพื่อปกป้องศาสนสถาน โดยใช้สิงห์เพื่อแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของความมีพลังอำนาจและความดุร้ายเพื่อคุ้มครองดูแลศาสนสถาน------------------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร------------------------------------------------------------เอกสารอ้างอิง : กรมศิลปากร. ทวารบาลผู้รักษาศาสนสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒ .กรุงเทพฯ : บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง), ๒๕๔๖. สุรพล ดำริห์กุล. “เจดีย์ช้างล้อมและเจดีย์สิงห์ล้อมในกรุงศรีอยุธยา” .วารสารวิจิตรศิลป์. ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๕๗) หน้าที่ ๑๐๑ – ๑๓๑. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๔. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะขอม.กรุงเทพฯ : บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๗.


ชื่อเรื่อง                                วินยธรสิกฺขาปท...(สิกขาบท) สพ.บ.                                  300/10ประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                               พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                           64 หน้า กว้าง 4.9 ซ.ม. ยาว 55 ซ.ม. หัวเรื่อง                                 พุทธศาสนา                                           พระวินัยปิฎก บทคัดย่อ/บันทึก         เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับทองทึบ ได้รับบริจาคมาจากวัดบ้านหมี่ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี      


ชื่อเรื่อง                                สิริสากุมารชาดก (สิริสากุมาร) สพ.บ.                                  351/2ประเภทวัสดุมีเดีย                    คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                               พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                           66 หน้า กว้าง 5 ซม. ยาว 57 ซม.หัวเรื่อง                                 พุทธศาสนา                                           ชาดก บทคัดย่อ/บันทึก          เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับทองทึบ ได้รับบริจาคมาจากวัดลานคา ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี


Messenger