ผ้าทอเมืองอุบล : ซิ่นทิวมุกจกดาว
ผ้า คือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ส่วนการทอผ้าเป็นการนำรากฐาน ความเป็นท้องถิ่นมาร้อยเรียงกับความคิดและความเชื่อผ่านลวดลายสัญลักษณ์ ต่างๆ รวมกับสีสันแห่งธรรมชาติ จนก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ในสมัยที่การทำเกษตรกรรมยังเป็น พื้นฐานของการดำรงชีวิต เมื่อเสร็จสิ้นจากภาระในการเพาะปลูก หน้าที่การทอผ้าสำหรับใช้งานและทำเป็นเครื่องนุ่งห่มจะเป็นของฝ่ายหญิง ในขณะที่อุปกรณ์ในการทอผ้าตกเป็นของฝ่ายชาย วิชาความรู้เรื่องการทอผ้าที่ ถ่ายทอดให้กันนั้นเป็นการส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น นอกเหนือจากความรู้ที่สืบทอดกันมาและผืนผ้าที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน การทอผ้ายังเป็นการบ่มเพาะนิสัย ความละเอียด อดทน ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะให้แก่ลูกหลานอีกด้วย
ผ้าซิ่นทิวมุกจกดาว
ซิ่นทิวมุกจกดาว เป็นผ้าที่มีจำนวนน้อยมากและหาได้ยากยิ่ง ผ้าที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันไม่น่าจะเกิน ๗ ผืน ในส่วนที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี มี ๒ ผืน ผืนที่ ๑ บริจาคโดยนางสงวนศักดิ์ คูณผล ซึ่งได้รับสืบทอดมาจากมารดา คือ นางวรเวธวรรณกิจ (ทับทิม โชติบุตร) ผืนที่๒ เป็นสมบัติเดิมของญาแม่ลูกจันทน์ (ณ อุบล) ส่งศรี ซึ่งเป็นบุตรีของท้าวสิงห์ ณ อุบล นอกจากนี้พบเป็นผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อีก ๑ ผืน และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในความครอบครองของทายาทอาญาสี่ เช่น เรือตรีสุนัย ณ อุบล และพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล
รูปแบบ
ซิ่นทิวมุกจกดาว มีโครงสร้างหลัก แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนตัวซิ่น และหัวซิ่น เหมือนกับซิ่นทิว ซึ่งเป็นผ้าซิ่นชนิดเดียวของอีสานที่เป็นลายขวาง ซึ่งโดยปรกติการวางลวดลายจะวางแนวตั้งหรือลายล่อง กล่าวกันว่าเป็นซิ่นที่มีกระบวนยุ่งยากโดยเฉพาะในขั้นสืบเส้นยืน(ทางเครือ) เพราะต้องนับเส้น “หมี่แม่”, “หมี่ลูก” ให้เป็นระบบเท่าๆกันทั้งหมดทุกช่วง จนถึงขนาดว่าช่างทอบางคนจะไม่ยอมพูดคุยกับใครเลยขณะที่สืบเส้นยืนซิ่นทิว
แต่ซิ่นทิวมุกจกดาวจะมีลักษณะพิเศษมากกว่าซิ่นทิวทั่วไปคือ นอกจากจะต้องทางเครือเป็น “หมี่แม่”, “หมี่ลูก” ให้เกิดลายทิวแล้ว ยังต้องยกมุก
ซึ่งเป็นเทคนิคการทอโดยเพิ่มเส้นยืนพิเศษบนกี่ทอผ้า ทำให้เกิดเป็นลายริ้วสีเหลืองเล็กๆขวางไปตามตัวซิ่น และยังต้องใช้ไหมสีขาว หรือไหมเงินจกเป็นเส้นตั้งเรียงถี่ในช่วงที่เป็น “หมี่ลูก” จากนั้นก็จกด้วยลายตุ้มหรือลายหน่วย เป็นดาวเล็กๆตามช่อง เมื่อได้ขนาดเป็น “โต่ง” จึงนำมาต่อด้วยหัวซิ่นจกดาว ด้วยเหตุที่ผสมผสานหลายเทคนิคการทอคือ
(๑)สืบเส้นยืน เป็นเครือทิว (๒)ยกมุก (๓)จกลายดาวหน่วย และจกเส้นขาว จึงเรียกซิ่นชนิดนี้ตามเทคนิคว่า “ซิ่นทิวมุกจกดาว”
(จำนวนผู้เข้าชม 2582 ครั้ง)