ประวัติและบทบาทหน้าที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เดิมเป็นศาลากลางจังหวัด สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ บนที่ดินที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว (มลฑลอีสาน) ประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี ได้ทรงขอมาจากทายาทของราชบุตร (สุ่ย บุตรโลบล) คือ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์)เพื่อให้เป็นที่ สาธารณประโยชน์สำหรับก่อสร้างสถานที่ราชการลักษณะของอาคาร เป็นตึกชั้นเดียวยกสูง ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงปันหยา แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ ภายในอาคารประกอบด้วยห้องโถงใหญ่อยู่ตรงกลาง มีระเบียงทางเดินและห้องขนาดเล็กอยู่โดยรอบ เหนือกรอบประตูและหัวเสารับชายคาที่ระเบียงประดับด้วยไม้ฉลุลายพันธู์พฤกษา ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเติบโตขึ้นอาคารศาลากลางหลังนี้มีสภาพคับแคบไม่เพียงพอ กับหน่วยงานราชการที่เพิ่มขึ้น จึงได้สร้างอาคารศาลากลางหลังใหม่ทางด้านตะวันตกของทุ่งศรีเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ส่วนอาคารศาลากลางหลังเก่าได้ใช้เป็นสำนักงานของหน่วยราชการต่างๆมาตลอด ใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ นายบุญช่วย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบอาคารศาลากลางหลังเก่าให้กรมศิลปากรบูรณะ และใช้ประโยชน์จัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อการบูรณะซ่อมแซมตัวอาคาร และจัดนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จ กรมศิลปากรได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กรมศิลปากรจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการ ของท้องถิ่นที่จะเป็นศูนย์อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจึงมุ่งเน้นเรื่องราวต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และชาติพันธุ์วิทยา
โดยแบ่งหัวข้อเรื่องนิทรรศการเป็น ๑๐ ห้อง ดังนี้
ห้องจัดแสดงที่ ๑ ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี
ห้องจัดแสดงที่ ๒ ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ห้องจัดแสดงที่ ๓ สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ห้องจัดแสดงที่ ๔ สมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรก วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเจนละ (ขอมหรือเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร) ระหว่างพุทธศัตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕
ห้องจัดแสดงที่ ๕ วัฒนธรรมหรือเขมรสมัยเมืองพระนคร ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘
ห้องจัดแสดงที่ ๖ วัฒนธรรมไทย - ลาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๕
ห้องจัดแสดงที่ ๗ ผ้าโบราณและผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี
ห้องจัดแสดงที่ ๘ ดนตรีพื้นเมือง
ห้องจัดแสดงที่ ๙ ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และเครื่องใช้ในครัวเรื่อน
ห้องจัดแสดงที่๑๐ การปกครองและงานประณีตศิลป์เนื่องในพุทธศาสนา
(จำนวนผู้เข้าชม 409 ครั้ง)