ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,380 รายการ
วันนี้ (วันพุธที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๖) เวลา ๐๙.๓๙ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงสมโภชพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ นำออกให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชนร่วมในพิธี
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์เป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลในปีใหม่ไทย เนื่องด้วยในสมัยโบราณ คนไทยมักไม่นิยมนับอายุตามวันเกิด แต่จะนับตามการเถลิงศักราชใหม่ในช่วงปีใหม่ไทยคือ สงกรานต์ หากปีใดมีความป่วยไข้ หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษา โดยเฉพาะเจ้านายก็จะขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ ด้วยเชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่ จึงได้อัญเชิญพระธาตุในพระกรัณฑ์ ซึ่งเดิมทีประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล มาเป็นประธานในพิธี และเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย ตามความเชื่อโบราณ มาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำขอพร ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อันเป็นวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ของไทย และเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงาม ตลอดจนสืบทอดองค์ความรู้ในอดีตจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้ เทวดานพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่ นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก ๘ องค์ รวมเป็น ๙ องค์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระจันทร์ ทรงม้า พระอังคาร ทรงมหิงสา พระพุธ ทรงคชสาร พระพฤหัสบดี ทรงกวาง พระศุกร์ ทรงโค พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์ พระราหู ทรงพญาครุฑ และ พระเกตุ ทรงนาค
สำหรับประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ ที่อัญเชิญมาประดิษฐานตามระบบทักษาในแผนผังอัฐจักรนี้ สร้างขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย แต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ ๗๐ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๒ ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์กับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งประติมากรรมเทวดานี้มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพยดาบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทวดา นพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทางและลักษณะได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพใน สมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
พุทธศาสนิกชนและประชาชนที่สนใจสามารถร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ชื่อเรื่อง สํยุตฺตนิกายกถา (สํยุตฺตนิกาย)ลบ.บ. 35/1หมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 62 หน้า กว้าง 4.5 ซม. ยาว 56.5 ซม.หัวเรื่อง พระไตรปิฎก
บทคัดย่อ/บันทึก เป็นคัมภีร์ใบลาน ฉบับล่องรัก ไม้ประกับธรรมดา
แบบศิลปะ / สมัย ศิลปะล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒
วัสดุ (ชนิด) สำริด
ขนาด หน้าตักกว้าง ๔๐.๕ เซนติเมตร สูง ๗๘ เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา ได้จากวัดศรีโขง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มอบให้
ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวหงายมีเกสร พระพักตร์มีไรพระศกเป็นเส้นขอบเล็ก ๆ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บาง พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาค่อนข้างเล็ก พระรัศมีรูปเปลวไฟ พระวรกายเพรียวบาง ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิยาวมาจรดพระนาภี ส่วนปลายสังฆาฏิแยกออกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์วางบนพระชานุ ปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันทั้ง ๔ นิ้ว
พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้แสดงให้เห็นอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่มีต่อศิลปะล้านนา อาจเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปที่วัดมณเฑียร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในพุทธศักราช ๒๐๓๕ จากรูปแบบที่คล้ายกันดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปนี้สร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน คือช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ขอเชิญรับฟังการบรรยายพิเศษโครงการเผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑสถานวิทยา และศิลปวัฒนธรรม ประจำปี 2566 ในวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30- 16.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
การบรรยายมีหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้
- เวลา 09.30 การบรรยาย เรื่อง พิพิธภัณฑสถาน อะไร อย่างไร โดย นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา.
- เวลา 11.00 การบรรยาย เรื่อง ชมเพลินแหล่งท่องเที่ยวอำเภอสังขะ โดย นางปริญญา สุขใหญ่ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
- เวลา 12.30 เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โดย นายกรภัทร์ สุขใหญ่ พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์
- เวลา 13.30 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ พิพิธภัณฑสถานกับชุมชน โดย คุณนพรัศม์ เมธีวราธนานันท์ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ นางสาวพรธิดา เข็มเพ็ชร์ เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน และนายกรภัทร์ สุขใหญ่ พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์
ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยาย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ โทร. 0 4451 3274 หรือทาง Facebook Page : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ กรมศิลปากร
การประชุมสรุปการดำเนินงานทางโบราณคดี ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยชุมชนโบราณ และมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก บริเวณต้นลำน้ำชี ในเขตพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
องค์ความรู้เรื่องเวียงเจ็ดลิน : จากหลักฐานการดำเนินงานทางโบราณคดีเรียบเรียงโดย : นางสาวนงไฉน ทะรักษานักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ที่ตั้งและสภาพปัจจุบันของพื้นที่ เวียงเจ็ดลินตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 3 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดเชิงเขาทางทิศตะวันออกของดอยสุเทพ พื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ผังเวียงเป็นรูปวงกลม ปัจจุบันยังคงเหลือกำแพงเวียงคูเวียงบางส่วน บริเวณทางทิศเหนือในพื้นที่ของสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 ทิศตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เรื่อยมาจนถึงทิศใต้ในพื้นที่สวนรุกขชาติห้วยแก้ว พื้นที่ทางทิศใต้ของเมืองถูกถนนห้วยแก้วตัดผ่าน ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถมองเห็นกำแพงเวียงได้อย่างชัดเจน บริเวณเกือบกึ่งกลางเวียงค่อนมาทางทิศเหนือ มีร่องรอยทางน้ำเก่าผ่ากลางจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกของเวียงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเวียงเจ็ดลิน ตำนานของล้านนาปรากฏเรื่องราวของพื้นที่เวียงเจ็ดลินว่าเป็นที่ตั้งชุมชนมาแต่ก่อนหน้าสมัยล้านนาแล้ว โดยในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมและตำนานสุวรรณคำแดงสามารถกล่าวถึงพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่บริเวณเดียวกับเวียงเจ็ดลิน ว่าบริเวณนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เวียงเชฏฐบุรี เป็นเวียงที่สร้างขึ้นก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวลัวะ ซึ่งได้กระจายตัวสร้างชุมชนลงไปตามแม่น้ำปิงและรับวัฒนธรรมจากภายนอก จนสามารถตั้งศูนย์กลางระดับแคว้นได้ คือเมืองหริภุญไชย และนับถือดอยสุเทพในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการเข้ามาตั้งถิ่นฐานชุมชนในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 และควรเป็นช่วงก่อนที่พระญามังรายจะเสด็จมาถึงแอ่งที่ราบเชียงใหม่ แต่ก็ต้องเป็นระยะเวลานานพอกระทั่งพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นที่รกร้าง เป็นป่า เพราะการสำรวจบริเวณดอยสุเทพของพระญามังรายที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่นั้น ได้กล่าวถึงพื้นที่ว่าเป็นทุ่งและราวป่า ไม่มีการอาศัยของชุมชนหนาแน่นจนมีลักษณะเป็นหมู่บ้าน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงการสร้างเวียงเจ็ดลินขึ้นในสมัยล้านนา ตามรับสั่งของพระญาสามฝั่งแกนที่ให้สร้างเวียงขึ้นบริเวณที่ได้รับชัยชนะแก่ศัตรู เนื่องจากเมื่อพญาไสลือไทได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ เคยได้สรงเกศยังผาลาดหลวงแล้วทำให้เกรงกลัวกองทัพของเชียงใหม่จนต้องยกทัพหนี ซึ่งเวียงเจ็ดลินได้ถูกสร้างแปงขึ้นในปี พ.ศ.1954 เป็นปีเดียวกับที่เจ้าสี่หมื่นเจ้าเมืองพะเยาได้ถวายหมู่บ้านและที่นากับพระสุวรรณมหาวิหาร สอดคล้องกับจารึกพระสุวรรณมหาวิหาร ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ยังกล่าวอีกว่าพระญาสามฝั่งแกนมาประทับอยู่ที่เวียงเจ็ดลินเป็นปกติ จนมีการลอบวางเพลิงพื้นที่ประทับทั้งหมดในช่วงปลายรัชสมัย ชื่อของเวียงเจ็ดลินปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ในสมัยพระมหาเทวีจิรประภา เมื่อเกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยาและล้านนา โดยสมเด็จพระไชยราชาทรงนำกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกมาตีเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ.2088 พระมหาเทวีจิรประภาใช้ยุทธวิธีแต่งเครื่องบรรณาการไปถวาย และได้นำเสด็จพระไชยราชาไปสรงน้ำที่เจ็ดลิน ซึ่งน่าจะเป็นเวียงเจ็ดลินหรือดอยเจ็ดลิน ที่เป็นจุดเดียวกับที่พญาไสลือไทได้มาสรงเกศการดำเนินการทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลิน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลิน จำนวน ๓ ครั้ง ในปี พ.ศ.2541 พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2562 โดยในปี พ.ศ.2541 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่ทางทิศใต้ของเวียงหรือพื้นที่สวนรุกขชาติห้วยแก้ว ซึ่งพบหลักฐานการใช้พื้นที่ในสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 ปี พ.ศ.2552 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี จำนวน 6 หลุม กระจายตามตำแหน่งต่างๆ ภายในเมือง ประกอบด้วย บริเวณกลางเวียง บริเวณทิศเหนือ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณทิศตะวันตก และบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลการขุดค้นฯในครั้งนั้นทำให้ทราบถึงการเลือกใช้พื้นที่ของเวียงเจ็ดลิน โดยพบว่าบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้พบโบราณวัตถุกระจายตัวค่อนข้างหนาแน่น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่กิจกรรมหลักของเวียงอยู่บริเวณทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีระดับความสูงมากกว่าพบหลักฐานเบาบางมาก ขณะที่พื้นที่กลางเวียงเป็นที่ลุ่มต่ำมาก มีสภาพชื้นแฉะ ชั้นดินเป็นโคลนเนื้อดินอัดกันแน่นพอสมควร และมีระดับน้ำใต้ดินที่สูงมาก ซึ่งบริเวณกลางเวียงนี้อาจเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค โดยสงวน โชติสุขรัตน์ ได้เขียนถึงเวียงเจ็ดลินไว้ในหนังสือนำเที่ยวเชียงใหม่-ลำพูน เมื่อ พ.ศ.2514 ว่าภายในเวียงเจ็ดลินมีสระน้ำก่อด้วยศิลาแลงอย่างแข็งแรง ยังปรากฏอยู่ในบริเวณปศุสัตว์เลี้ยงโคนมของเยอรมัน น่าจะเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ปัจจุบันเป็นตาน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี ส่วนโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นฯ ซึ่งสามารถกำหนดอายุช่วงที่มีการใช้พื้นที่ ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเวียงกาหลงและสันกำแพง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 อย่างไรก็ตาม การขุดค้นทางทิศเหนือของเวียงพบโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหินกะเทาะ ซึ่งนักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้นได้ระบุว่าเป็นหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และไม่พบโบราณวัตถุอื่นๆ ร่วมด้วย จึงไม่จะสามารถระบุถึงช่วงอายุสมัยที่แน่ชัดของเครื่องมือหินดังกล่าวได้ ปี พ.ศ.2562 ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีจำนวน 3 หลุม ภายในพื้นที่ทางทิศเหนือของเวียง บริเวณกำแพงเวียง/คันดินทิศเหนือ และพื้นที่กลางเวียงค่อนมาทางทิศตะวันออก ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้ พบการใช้พื้นที่ในสมัยล้านนาเช่นเดียวกัน ราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 โดยแบ่งได้เป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกเป็นช่วงของการก่อสร้างคูน้ำคันดินเวียงเจ็ดลินซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับเรื่องราวที่พระญาสามฝั่งแกนสร้างเวียงขึ้น ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ช่วงที่สองควรจะมีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยน่าจะมีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับรัชสมัยพระมหาเทวีจิรประภา จากการดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีทั้ง 3 ครั้งแสดงให้เห็นการใช้พื้นที่เวียงเจ็ดลินในสมัยล้านนา โดยไม่พบการใช้พื้นที่ในสมัยหริภุญไชยหรือสมัยก่อนล้านนาแต่อย่างใด มีเพียงชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบหริภุญไชย ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบแหล่งเตาที่ผลิตอย่างชัดเจน จึงยังไม่สามารถกำหนดช่วงอายุของผลิตภัณฑ์นี้ได้เช่นเดียวกัน โบราณสถานที่สัมพันธ์กับเวียงเจ็ดลิน จากการสำรวจทางโบราณคดีพบโบราณสถานใกล้กับเวียงเจ็ดลินในรัศมี 1 กิโลเมตร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วัดหมูบุ่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในเวียงเจ็ดลิน และ วัดกู่ดินขาว ตั้งอยู่ห่างจากกำแพงเวียง/คันดินเวียงเจ็ดลินทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 700 เมตร ปัจจุบันอยู่ภายในพื้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่ วัดกู่ดินขาว ได้รับการดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีและบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.2544 พบว่าวัดแห่งนี้มีลักษณะพิเศษ คือ อิฐที่ใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ประธานมีขนาดเฉลี่ย 26 x 55 x 15 เซนติเมตร มีน้ำหนักร่วม 50 กิโลกรัม ถือเป็นอิฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างโบราณสถานในเขตล้านนา โบราณสถานวัดกู่ดินขาว ประกอบด้วย เจดีย์ประธานซึ่งน่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง สันนิษฐานจากการก่ออิฐโครงสร้างเป็นเอ็นยึดภายในเจดีย์ที่ก่อเป็นเส้นทะแยงมุมผสมช่องกากบาทตารางถมอัดดิน ทำสลับกันเป็นระยะๆในส่วนเรือนธาตุ วิหาร อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่มีการยกเก็จหน้าและหลัง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าทางทิศตะวันออกและทางทิศเหนือตอนหน้า มีฐานชุกชีวางตัวในแนวขนานกับวิหาร ด้านหน้ายกพื้นคล้ายเป็นที่สำหรับบูชา และมีพื้นที่ทางด้านหลัง จึงสามารถเดินประทักษิณได้ ต่างจากฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปทั่วไปที่จะวางตัวขวางตัวแนวอาคารและติดกับผนังสกัดตะวันตกของวิหาร ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าภายในวิหารน่าจะเป็นมณฑปหรือโขงพระเจ้า ซึ่งพบชิ้นส่วนปูนปั้นรูปสัตว์และลวดลายตกแต่งอื่นๆ ที่ใช้ในการตกแต่งซุ้มพระ และเจดีย์รายแปดเหลี่ยม ที่พบเฉพาะส่วนฐานตอนล่าง ลักษณะเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม มีชั้นท้องไม้เตี้ยๆประดับด้วยเส้นลูกแก้วอกไก่คู่ โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นฯ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ และพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเคลือบจากแหล่งเตาเวียงกาหลง สามารถกำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีการใช้พื้นที่บริเวณเวียงเจ็ดลินสรุป จากการดำเนินการทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงเจ็ดลินทั้ง 3 ครั้ง ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ผลการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีร่วมกับเอกสารทางประวัติศาสตร์สามารถแบ่งช่วงเวลาของเวียงเจ็ดลิน ได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก : สมัยก่อนล้านนาหรือสมัยตำนาน โดยมีเพียงข้อมูลที่กล่าวถึงในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมและตำนานสุวรรณคำแดง ที่ปรากฏเรื่องราวของฤาษีวาสุเทพและท้าวสุวรรณคำแดง แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีไม่พบหลักฐานที่สามารถเชื่อมโยงหรือสอดคล้องกับช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งอุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล และพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้น เสนอว่าเป็นการสะท้อนถึงการต่อสู้และปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวลัวะและชาวไทยโดยอาศัยเรื่องเล่า พิจารณาจากการสถาปนาชื่อเวียงเจ็ดลินเป็นเวียงเชฏฐบุรี ซึ่ง หมายถึงผู้พี่ คือชาวลัวะ ที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมก่อนการเคลื่อนย้ายมาของเชื้อสายชาวไทยคือท้าวสุวรรณคำแดง ช่วงที่สอง : สมัยพระญาสามฝั่งแกน คือช่วงที่มีการสร้างแปงเวียงเจ็ดลินขึ้น เป็นช่วงเวลาที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมีความสอดคล้องกัน ช่วงที่สาม : น่าจะเป็นช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยน่าจะมีการทำกิจกรรมในเวียงเจ็ดลินที่เกี่ยวข้องกับรัชสมัยพระมหาเทวีจิรประภาทั้งนี้ หลักฐานทางโบราณคดียังไม่สามารถวิเคราะห์ลักษณะการใช้งานพื้นที่เวียงเจ็ดลินได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การสร้างเวียงเจ็ดลินมีความจำเป็นต้องสร้างคูน้ำคันดิน เพื่อผลของการควบคุมน้ำที่ไหลผ่านจากที่สูงบนเขาลงมายังที่ต่ำกว่าบริเวณเชิงเขา เพื่อใช้ในการเกษตรกรรมและสำหรับการอุปโภคบริโภคภายในเวียงเจ็ดลิน เอกสารอ้างอิงห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี ดี วัสดุภัณฑ์. เสนอต่อ สวนสัตว์เชียงใหม่, รายงานการบูรณะโบราณสถานในเขตสวนสัตว์เชียงใหม่ วัดกู่ดินขาว (ร้าง) ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สวนสัตว์เชียงใหม่. 2544.ห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเวียงเจ็ดลิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่. 2552.ห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเวียงเจ็ดลิน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. เสนอ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. 2562.
พระราชานุกิจ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2526
ผู้แต่ง : ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2405-2486., กรมศิลปากร
ต้นฉบับอยู่ที่ : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี (ห้องกรมศิลปากร)
โรงพิมพ์ : ด่านสุทธาการพิมพ์
ปีที่พิมพ์ : 2526
รูปแบบ : PDF
ภาษา : ไทย
เลขทะเบียน : น 32 บ 2023 จบ.
เลขหมู่ : 923.1593 ด495พค
สาระสังเขป : เรื่องพระราชานุกิจ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้จัดพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้เป็นพระราชานุกิจของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 8 ว่าด้วยกำหนดเวลาสำหรับพระราชกิจประจำวันของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งได้ทรงยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อันสะท้อนให้เห็นพระราชจริยาวัตร กฎเกณฑ์ ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบของสถาบันอันสำคัญยิ่งของไทย
ชื่อ "สุพรรณภูมิ" ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเก่าแก่ของเมืองโบราณแห่งนี้เป็นอย่างดี ปัจจุบันเชื่อกันว่าศูนย์กลางเมืองสุพรรณภูมิคือตำแหน่งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี โบราณสถานสำคัญที่มีการค้นพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ๆ จำนวนมาก อันอาจแสดงถึงความสัมพันธ์อย่างยิ่งระหว่างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุกับราชสำนักเมืองสุพรรณภูมิในอดีต อย่างไรก็ตามการศึกษาเกี่ยวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังต้องการหลักฐานชั้นปฐมภูมิ การตีความทางด้านประวัติศาสตร์จากหลักฐานต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญกันต่อไป วัดพระศรีรัตนมหาธาตุและชุมชน ร่วมกับชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายทางวิชาการเรื่อง "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มรดกสุพรรณภูมิ" ในวันพุธที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐ ถึง ๑๖.๐๐ น. ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี มา ณ ที่นี้
.
กำหนดการบรรยาย
13.30-14.20 น. "บรมราชา-ศรีนทราธิราช : ประวัติศาสตร์รัชกาลขุนหลวงพ่องั่ว"
โดย อาจารย์ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
14.20-15.10 น. "การใช้เทคนิคโฟโตแกรมเมตรีเพื่อการศึกษาสถาปัตยกรรมของวัดมหาธาตุ และวัดอื่นๆ ในเมืองสุพรรณ"
โดย นาย นฤดม แก้วชัย กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
15.10-16.00 น. "แกะรอยมหาธาตุ สุพรรณบุรี และพระธาตุ ศาลาขาว ผ่านมุมมองรูปทรงและสัดส่วนสัมพันธ์"
โดย ผศ. สิริเดช วังกรานต์ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
.
เชิญชมงานหัตถกรรมเครื่องจักสาน โดยชุมชนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
.
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/.../1FAIpQLSfoOWKMlhtVBy.../viewform
.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี 095-6498299
ชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ 081-6147237, 081-8384676
.
ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เพจวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี และ ชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ และพระพุทธรูปทองคำฐานบุด้วยเงิน ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ได้จากกรุภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า)
วัดบวรสถานสุทธาวาส อยู่ในพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เดิมบริเวณนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้สร้างวัดประทานแก่หลวงชีนักนางแม้น ผู้เป็นมารดาของนักองค์อีและนักองค์ภาพระสนมเอกของพระองค์ เรียกว่า “วัดหลวงชี”
ต่อมาวัดนี้ชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดให้รื้อวัดหลวงชีทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๓ ทรงอุทิศบริเวณสวนกระต่ายโปรดให้สร้างวัดขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า “วัดบวรสถานสุทธาวาส” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อทรงแก้บน หรือเฉลิมพระเกียรติเมื่อครั้งได้เสด็จยกกองทัพไปปราบกบฏเวียงจันทน์ในปีพุทธศักราช ๒๓๖๘
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวการก่อสร้างได้แล้วเสร็จ มีการเขียนจิตรกรรมเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ล้อมรอบ โดยมีพระราชดำริให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ให้มาประดิษฐาน แต่ก็ได้ล้มเลิกไป
“กรุ” หมายถึง ช่องว่างหรือห้องเล็ก ๆ ภายในสถูปเจดีย์ พระปรางค์ หรือพระอุโบสถ ทำไว้เพื่อบรรจุพระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องราชูปโภค หรือพระบรมสารีริกธาตุ
คติการสร้างกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมพระพุทธปฏิมาและเครื่องบูชาต่างๆ นั้น มีหลักฐานกล่าวถึงจำนวนมาก ทั้งตำนานการอัญเชิญพระบรมธาตุจากลังกามาบรรจุยังสถานที่ต่างๆ อาทิ ตำนานพระปฐมเจดีย์ และจารึกวัดบูรพาราม แสดงให้เห็นความเชื่อการรับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ผ่านการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ สอดคล้องกับคติพระมหาธาตุประจำเมือง ความศักดิ์สิทธิ์ และการอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา
จากคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถาเรื่อง “ธาตุนิธานกรรม” (การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ) กล่าวว่า “ครั้งพระมหากัสสปะรวบรวมและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในมหาสถูปกรุงราชคฤห์ ให้ขุดดินฝังพระธาตุลึกลงไป ๘๐ ศอก ...ทำรูปพระบรมโพธิสัตว์ ๕๕๐ ชาติ รูปพระอสีติ ๗ องค์ รูปพระเจ้าสุทโธทนะ พระนางสิริมหามายา และสหชาติทั้ง ๗ พร้องเครื่องราชปสาธนอลังการาภรณ์ อันพระเจ้าอชาตศัตรูถวายภายในเป็นการสัการบูชา แล้วปิดทวารห้องพระบรมธาตุอย่างมั่นคง”
ในคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา กล่าวถึง “...สมัยพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยโปรดให้สร้างธาตุคัพภจรนะ (ห้องพระบรมสารีริกธาตุ) เป็นห้องสี่เหลี่ยมขาวเหมือนก้อนเมฆตกแต่งอย่างวิจิตร ...ตั้งพระพุทธรูปทองคำประดับรัตนะบนบัลลังก์แวดล้อมด้วยพระพรหมถือฉัตร ท้าวสักกะถือสังข์ พระปัญจสิขรถือพิณ พญากาฬนาค และพญามารพันมือขี่ช้างพร้อมบริวาร สร้างรูปพุทธประวัติ รูปชาดก ท้าวมหาราชประจำ ๔ ทิศ รูปยักษ์ เทวดาประนมมือ ฟ้อนรำ ประโคมเครื่องดนตรี ถือสิ่งของเครื่องบูชาต่างๆ มีแถวตะเกียงสว่างไสว มุมทั้งสี่กองด้วยทอง แก้วมณี กองไข่มุก และกองเพชร จากนั้นกระทำธาตุนิธานะ แล้วก่อปิดสถูปไว้...”
จากหลักฐานข้างต้น ทำให้เห็นว่าคติความเชื่อการสร้างกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องอุทิศถวายฯ ยังได้ส่งต่อมายังสมัยอยุธยาด้วยทั้งจากพระปรางค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระศรีมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และการบรรจุพระพุทธรูปภายในพระอุระของพระมงคลบพิตร
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ยังมีการพบกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมพระพุทธรูปและเครื่องบูชาต่างๆ ทั้งภายในสถูปเจดีย์และเพดานพระอุโบสถด้วย
เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๗ ได้มีการสำรวจพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส และได้พบพระพุทธรูปพร้อมเครื่องอุทิศถวายต่างๆ จำนวนหนึ่งภายในเพดานของพระอุโบสถ ซึ่งสร้างมาจากแก้วผลึกหรือหินมีค่า ทองคำ และสัมฤทธิ์ สามารถกำหนดอายุได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
โดยนำไปจัดแสดงอยู่ภายในส่วนของมุขกระสันด้านหลังพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า “ห้องมหรรฆภัณฑ์” เป็นห้องนิรภัยสำหรับเก็บรักษาเครื่องทองหลวง และของมีค่าหายาก อันเป็นสมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและได้จากการขุดค้นหรือสำรวจทางโบราณคดี ต่อมามีการปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงได้ย้ายมาเก็บรักษา ณ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ได้มีการนำพระพุทธรูปแก้วผลึกส่วนหนึ่งออกมาให้ประชาชนได้สักการะบูชาตามโอกาสสำคัญด้วย
____________________
อ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณวัตถุ กรุพระเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร ๒๕๖๔
กรมศิลปากร. วัดบวรสถานสุทธาวาส “วัด”ในเขตพระราชวังบวรสถานมงคล เข้าถึงเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/T5ezS
กรมศิลปากร. สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : ทศพุทธปฏิมาวังหน้า. เข้าถึงเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/OhEQ2
กรมศิลปากร. พระพุทธรูปและพระพิมพ์จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา : วิเคราะห์รูปแบบ แนวคิดและคติความเชื่อในการบรรจุในกรุเจดีย์. เข้าถึงเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/BukAO
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ขอเชิญผู้สนใจร่วมฟังการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “สานสัมพันธ์ด้วยสัญญา” ภายใต้งานนิทรรศการพิเศษ เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 - 16.00 น. วิทยากรโดย นางพวงพร ศรีสมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ นางสาวทรายทอง ทองเกษม นักจดหมายเหตุชำนาญการ และ นายพงษ์ชนก โคจรานนท์ นักวิชาการอิสระ ดำเนินรายการโดย นางภาวิดา สมวงศ์ นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานรับฟังการเสวนาได้ผ่านการสแกน QR Code หรือผ่าน Link https://forms.gle/ZvyL3Qkbtq5MojXP6 พร้อมลุ้นรับของที่ระลึก (รับจำนวนจำกัด จำนวน 100 ท่าน) ลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้ หรือจนกว่าจะเต็ม https://www.facebook.com/share/p/CbZLRK5gT6tYXavu/?mibextid=WC7FNe