พุทธปรินิพพาน
ย้อนรำลึกเหตุการณ์ “พุทธปรินิพพาน"
ล่วงผ่านพุทธศาสนกาล ๒๕๖๔ ปี
++ พระยามารกราบบังคมทูลขอโปรดเสด็จดับขันธ์ ปฐมบทสู่การปรินิพพาน
ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ(เดือน ๓) ก่อนพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน พระยาวัสวดีมาร มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี กราบทูลขอให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ดังปรากฏความในมหาปรินิพพานสูตรว่า
“...ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคสมบูรณ์แล้ว กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ฯ
------------------------------------------------------------------------
++ พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี
ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้ตอบแก่พระยามารว่า
“...ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน...ดูกรอานนท์
วันนี้เมื่อกี้นี้ ตถาคตมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขารแล้ว ที่ปาวาลเจดีย์ ฯ...” และเมื่อทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว “ ...ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ และขนพองสยองเกล้าน่าสะพรึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น...”
-----------------------------------------------------------------------
++ นายจุนทกัมมารบุตร ถวายสุกรมัทวะ
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเมืองปาวา นายจุนทกัมมารบุตร นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์รับถวายภัตตาหาร ณ เรือนของตน ครั้งนั้นได้จัดโภชนาหารอันประณีตชื่อว่า “สุกรมัทวะ” ถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้ามีพระดำรัสให้ถวายสุกรมัทวะแด่พระองค์เพียงผู้เดียว ส่วนเหลือเท่าใดให้นำไปฝังเสียทั้งหมด “...พระผู้มีพระภาครับสั่งกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า ดูกรนายจุนทะ ท่านจงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือเสียในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ซึ่งบริโภคสุกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดีได้นอกจากตถาคต...”
--------------------------------------------------------------------
++ ทรงประชวรลงพระโลหิต ++
หลังจากเสวยภัตตาหารซึ่งนายจุนทกัมมารบุตรถวายแล้ว ก็ทรงประชวรถึงกับพระบังคล(ขับถ่าย)เป็นเลือด ดังปรากฏความว่า “...ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว
ก็เกิดอาพาธอย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต ใกล้จะนิพพาน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนาเหล่านั้นไว้ มิได้ทรงพรั่นพรึง ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิดอานนท์ เราจักไปยังเมืองกุสินารา...”
------------------------------------------------------------------------
++ ทรงกระหายน้ำระหว่างทางไปกุสินารา ++
ในระหว่างทางเสด็จไปเมืองกุสินารา พระพุทธเจ้าทรงกระหายน้ำ จึงกล่าวแก่พระอานนท์ว่า “..ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียน
บดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำกกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ และจักทรงสรงสนานพระองค์...” พระพุทธเจ้าทรงดำรัสสั่งถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์จึงไปตักน้ำมาถวายตามรับสั่ง และเมื่อถึงแม่น้ำก็พบว่าน้ำที่ขุ่นมัวนั้นกลับใสสะอาดอย่างอัศจรรย์ด้วยฤทธานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า
------------------------------------------------------------------------
++ ปุกกุสมัลลบุตรถวายผ้าสิงคิวรรณ ++
ระหว่างทางไปเมืองกุสินารา ปุกกุสมัลลบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และสนทนาธรรมเรื่องบรรพชิตย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันสงบ หลังได้ฟังพุทธาธิบายแล้วเกิดความเลื่อมใสปวารณาตนเป็นอุบาสก มีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ และในกาลนั้นได้น้อมถวาย “ผ้าสิงคิวรรณ” ดังปรากฏความว่า “...ลำดับนั้น ปุกกุสมัลลบุตรสั่งบุรุษคนหนึ่งว่า ดูกรพนายท่านจงช่วยนำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเรามา บุรุษนั้นรับคำปุกกุสมัลลบุตรแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงของเขามาแล้ว ปุกกุสมัลลบุตร จึงน้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้น เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาค…”
-----------------------------------------------------------------------
++ ทรงไสยาสน์ ณ อัมพวัน ริมฝั่งน้ำกกุธานที ++
ก่อนถึงเมืองกุสินารา พระพุทธเจ้าทรงสรงน้ำในแม่น้ำกกุธานที และทรงไสยาสน์ ณ อัมพวัน ดังปรากฏความว่า “...ครั้นแล้วเสด็จลงสู่แม่น้ำกกุธานที ทรงสรงแล้ว เสวยแล้ว เสด็จขึ้น เสด็จไปยังอัมพวัน ตรัสเรียกท่านพระจุนทกะมารับสั่งว่า ดูกรจุนทกะ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนอนพัก...”
------------------------------------------------------------------------
++ ทรงไสยาสน์ใต้ต้นรังคู่ ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา++
เมื่อออกจากอัมพวันริมฝั่งแม่น้ำกกุธานีแล้ว “...ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี เมืองกุสินารา และสาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ ครั้นแล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยตั้งเตียงให้เรา หันศีรษะไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ เราเหน็ดเหนื่อยแล้ว จักนอน ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ตั้งเตียงหันพระเศียรไปทางทิศอุดรระหว่างไม้สาละทั้งคู่ พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัสเบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะฯ…”
------------------------------------------------------------------------
++ ทรงตรัสสังเวชนียสถาน ++
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “...ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา...ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่าพระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ…”
----------------------------------------------------------------------
++ พระอานนท์แจ้งข่าวแก่มัลลกษัตริย์ ++
ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้ามีพระดำรัสให้พระอานนท์เข้าไปแจ้งข่าวแก่เหล่ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา ดังปรากฏความว่า “...จงไปเถิดอานนท์ เธอจงเข้าไปใน เมืองกุสินารา แล้วบอกแก่พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลายพระตถาคตจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปกันเถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าพระตถาคตในกาลครั้งสุดท้าย ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปในเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียว...”
------------------------------------------------------------------------
++ โปรดสุภัทธปริพาชก ++
ครั้งนั้นสุภัททปริพาชก เดินทางมายังสาลวโนทยาน และกล่าวกับพระอานนท์เพื่อขอโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์กล่าวว่า “...อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม...” พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำท่านพระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชก จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า “...อย่าเลยอานนท์ เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้าตถาคต สุภัททะจักถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งกะเรา จักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียน อนึ่ง เราอันสุภัททะถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อความนั้นโดยฉับพลันทีเดียวฯ...” และเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว “...พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด...” นับเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้ายที่ได้บรรพชาต่อหน้าพระพุทธเจ้า
------------------------------------------------------------------------
++ ตรัสพระธรรมและวินัยจักเป็นศาสดา ++
“...ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้วพระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา…”
------------------------------------------------------------------------
++ ปัจฉิมโอวาท ++
“...ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาพวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดฯ นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคตฯ…”
------------------------------------------------------------------------
++ พุทธปรินิพพาน ++
เมื่อจะเข้าสู่พระปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเข้าฌานและสมาบัติไปตามลำดับจนถึงนิโรธสมาบัติ “...แล้วก็กลับเข้ารูปาวจรสมาบัติทั้ง ๔ แลอรูปาวจรสมาบัติทั้ง ๔ โดยอนุโลมแลปฏิโลม กลับไปกลับมาโดยปคุณานุโยคอันรวดเร็วถึง ๒๔ แสนโกฏิสมาบัติ...เมื่อออกจากจตุต์ถฌานในวาระเปนที่สุด ก็ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานในสมัยกาลระหว่างนั้น ในวันวิศาขบุณมีราตรีปัจจุสสมัย... ขณะนั้นอันว่าปฐวีกัมปนาการก็บังเกิดปรากฎพิฦกพึงกลัวทั่วโลกธาตุทั้งปวง อีกทั้งห้วงมหรรณพก็กำเริบตีฟองคนองคลื่นครืนครั่น นฤนาทสนั่นในมหาสมุทสาคร ทั้งหมู่มัจฉาชาติมังกรผุดดำกระทำให้ศัพท์สำนานนฤโฆษ ครุวณาดุจเสียงปริเทวกถาแซร่ซร้อง โสกาดุรกำสรด ทั้งขุนเขาพระสิเนรุราชบรรพตก็น้อมยอดโอนอ่อน มีอาการปานประหนึ่งว่ายอดหวายอันอัคคีลน อเนกมหัศจรรย์ก็บันดานทั่วเมทนีดลสกลนภากาศ ปางเมื่อพระบรมโลกนารถ เข้าสู่พระปรินิพพาน...”
------------------------------------------------------------------------
++ สังเวคกถาแห่งท้าวสหัมบดีพรหม++
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จักต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แต่พระตถาคตผู้เป็นศาสดาเช่นนั้น หาบุคคลจะเปรียบเทียบมิได้ในโลก เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระกำลัง ยังเสด็จปรินิพพานฯ
------------------------------------------------------------------------
++ สังเวคกถาแห่งพระอินทร์++
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุขฯ
------------------------------------------------------------------------
++ สังเวคกถาแห่งพระอนุรุธะ ++
ลมอัสสาสะปัสสาสะของพระมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงปรารภสันติ ทรงทำกาละ มิได้มีแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงอดกลั้นเวทนาได้แล้ว ความพ้นแห่งจิตได้มีแล้ว เหมือนดวงประทีปดับไปฉะนั้นฯ
------------------------------------------------------------------------
++ สังเวคกถาแห่งพระอานนท์
เมื่อพระสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวงเสด็จปรินิพพานแล้ว ในครั้งนั้นได้เกิดความอัศจรรย์น่าพึงกลัว และเกิดความขนพองสยองเกล้าฯ
--------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นาย สารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
กราฟฟิค โดย นันธ์ทิกา นิชรานนท์ เจ้าหน้าที่กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน13.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน14.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน15.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน16.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน17.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน18.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน19.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน20.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พุทธปรินิพพาน21.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 58708 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน