ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,403 รายการ

          ทางรถไฟเมืองราชบุรี จัดเป็นทางรถไฟหลวงสายตะวันตกของสยามก่อนจะผนวกรวมเป็นทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงโยธาธิการ ซึ่งมีกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน 2443 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2445           เส้นทางการเดินรถ เริ่มตั้งแต่สถานีบางกอกน้อย ตรงไปทางตะวันตกใกล้แนวคลองมหาสวัสดิ์   ข้ามแม่น้ำท่าจีนที่สะพานเสาวภา ไปจนถึงฝั่งแม่น้ำแม่กลองที่บ้านโป่ง เลี้ยวลงไปทางทิศใต้เลียบใกล้ฝั่งแม่น้ำและข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ช่วงเมืองราชบุรี ที่สะพานจุฬาลงกรณ์ แล้วตรงไปตามทางจนถึงเมืองเพชรบุรี รางรถไฟมีความกว้าง 1 เมตร และมีความยาวทั้งสิ้น 151 กิโลเมตร ในระหว่างเส้นทางดังกล่าวต้องสร้างสะพานรถไฟข้ามคลองและแม่น้ำถึง 3 แห่ง ได้แก่ 1. สะพานข้ามคลองตลิ่งชัน  2. สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน (สะพานเสาวภา) 3. สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองช่วงเมืองราชบุรี (สะพานจุฬาลงกรณ์)           สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองช่วงผ่านเมืองราชบุรีสร้างเมื่อ พ.ศ. 2444 ทางเดินรถแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 50 เมตร มีระยะทางทั้งสิ้น 150 เมตร นับได้ว่าเป็นสะพานรถไฟที่ยาวที่สุดของสยามประเทศ ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานชื่อว่า สะพานจุฬาลงกรณ์ ตามพระนามของพระองค์ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดทางรถไฟอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19  มิถุนายน 2446           ปัจจุบันมีก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ และมีการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นสะพานคานขึง (Extradose Bridge) คือ การผสมผสานระหว่างสะพานขึงและสะพานคอนกรีตที่ใช้สายเคเบิ้ลในการช่วยรับแรง เป็นสะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์ที่เป็นสะพานรถไฟเดิม สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ก่อสร้างอยู่จะเป็นสะพานรถไฟคานขึงที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย และอาจจะขึ้นแท่นเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองราชบุรีในอนาคตอีกด้วย   ----------------------------------------------------- ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี https://www.facebook.com/ilove.ratchaburi.national.museum/posts/pfbid022roHchq9frenkadVUqJLKErUdybsKtdcy3JqmfaHLV55EFb2cyMF4ZxTNju6rWsul -----------------------------------------------------     *เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร  


แนะนำ E - book หนังสือหายาก เรื่อง ลายพระหัตตุ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิต


ชื่อเรื่อง                                        สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม  (สงฺคิณี-มหาปฏฺฐาน) อย.บ.                                           41/6ประเภทวัดุ/มีเดีย                       คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                                     พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                              40 หน้า : กว้าง 4.5 ซม. ยาว 54 ซม.หัวเรื่อง                                        พุทธศาสนาบทคัดย่อ/บันทึก               เป็นคัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ฉบับทองทึบ ไม้ประกับธรรมดา ได้รับบริจาคมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 140/1ก เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 174/7 เอกสารโบราณ(คัมภีร์ใบลาน)


ชื่อเรื่อง : พระบรมราโชวาท ในรัชกาลที่ 5 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายบุศย์ มังคละ ณเมรุวัดทรงธรรม อำเภอพระปะแดง จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 ชื่อผู้แต่ง : - ปีที่พิมพ์ : 2501 สถานที่พิมพ์ : กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์ตำรวจ จำนวนหน้า : 70 หน้า สาระสังเขป : พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้จัดพิมพ์ในเล่มนี้ มีทั้งหมด 3 ภาค ได้แก่ พระบรมราโชวาทฉบับที่ 1 ที่1/3254 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมราโชวาทฉบับที่ 2 ที่2/6134 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ถึงลูกชายใหญ่ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระบรมราโชวาทฉบับที่ 3 พระที่นั่งอมรพิมานมณี ถึงลูกชายโต พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. 2428



ชื่อผู้แต่ง            ไพโรจน์  คุ้มไพโรจน์ ชื่อเรื่อง              พุทธประวัติจากสังเวชนียสถานในอินเดีย ครั้งที่พิมพ์           - สถานที่พิมพ์         กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์           โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร ปีที่พิมพ์              ๒๕๑๙ จำนวนหน้า          ๑๒๗  หน้า                          เจ้าภาพจัดทำเป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางพิจิตรจำนง (ยิ่ง  สังขดุลย์) ประวัติย่อและคุณความดี รวมทั้ง พุทธประวัติจากสังเวชนียสถานในอินเดีย  ประวัติย่อ นางพิจิตรจำนง (ยิ่ง  สังขดุลย์) เป็นธิดาคนสุดท้ายของพระยาแผลงผลาญศึก(กฐิน  ไตลังคะ) และคุณหญิงถมยา  ไตลังคะ เกิดเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑ ณ บ้าน ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน รวม ๗ คน


ชื่อผู้แต่ง         เอี่ยม ยูวะนิยม,ผู้เรียบเรียง         ชื่อเรื่อง           พิธีชีวิตและพระพุทธประวัติสังเขป ศักราชแก้ว... ครั้งที่พิมพ์       - สถานที่พิมพ์     กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์       โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ปีที่พิมพ์          ๒๕๓๖ จำนวนหน้า      ๙๘  หน้า หมายเหตุ        พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนางกิมลุ้ย(ซุ้ย)   อุนนาทรวรางกูล รายละเอียด                หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ คุณแม่กิ้มลุ้ย (ซุ้ย) อุนนาการวรางกุร ท่านเจ้าคุณพระปริยัติโศภณ วัดสระเกศได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่องพิธีชีวิตและนอกจากนั้นยังได้รวบรวมเรื่องพระพุทธประวัติสังเขป ศักราชป่าหรือศักราชแก้ว  คำนมัสการลายลักษณ์พระพุทธบาทและคำอธิษฐานเวลาตักบาตรทำบุญ  คำกรวดน้ำอธิษฐานบทสวด คำกลอนอาการ ๓๒ และบทสวดคำกลอนปลงสังขาร


เลขทะเบียน : นพ.บ.505/2ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 52 หน้า ; 4.5 x 54.5 ซ.ม. : รักทึบ-ล่องชาด ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 169  (224-232) ผูก 2 (2566)หัวเรื่อง : แปดหมื่นสี่พันขันธ์--เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม



องค์ความรู้ทางวิชาการเรื่อง : ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ปัทมปาณี) แห่งเมืองไชยา สัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรศรีวิชัย   พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของพุทธศาสนานิกายมหายาน เนื่องจากหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือหลักแห่งพระโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแต่ละนิกายยอมรับนับถือ มหายานทุกนิกายย่อมมุ่งหมายโพธิสัตวภูมิ ซึ่งเป็นเหตุที่ให้บรรลุพุทธภูมิ บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะบรรลุถึงพุทธภูมิได้ ต้องผ่านการบำเพ็ญจริยธรรมแห่งพระโพธิสัตว์มาก่อน ด้วยเหตุนี้รูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จึงกลายเป็นรูปเคารพสำคัญของพุทธศาสนานิกายมหายาน เนื่องจากเชื่อกันว่าพระองค์เป็นผู้คุ้มครองชาวพุทธที่นับถือนิกายดังกล่าวในยุคปัจจุบัน   ในภาคใต้ของประเทศไทย รูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พบมากบริเวณจังหวัดยะลา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองฯ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะประติมากรรมชิ้นเอกซึ่งพบในอำเภอไชยา คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๒ กร หรือพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ พระนาม “อวโลกิเตศวร” แปลว่า “พระผู้มองลงต่ำ” หรือ “พระผู้มีแสงสว่าง” ส่วนพระนาม “ปัทมปาณี” แปลว่า “ผู้ถือดอกบัว” ศิลปะสมัยศรีวิชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พบในเมืองไชยา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่สันนิษฐานกันว่าเคยเป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเจริญขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘   ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ปัทมปาณี) องค์นี้ มีขนาดเท่าบุคคลจริง สภาพชำรุด ท่อนล่างตั้งแต่บั้นพระองค์หายไป ทรงยืนอยู่ในท่าตริภังค์ (เอียงสะโพก ) พระพักตร์กลม มีอุณาโลมที่พระนลาฏ พระเนตรเหลือบมองต่ำ ทรงเครื่องประดับ อาทิ สร้อยประคำ กรองศอ ครองผ้าเฉวียงพระอังสาหรือไหล่ซ้าย คาดทับด้วยสายยัชโญปวีตหรือสายธุรำ อันเป็นสายมงคลที่พราหมณ์หรือนักบวชใช้คล้อง โดยมีหัวกวางประดับอยู่บนสายนั้น ลวดลายเครื่องประดับคล้ายกับประติมากรรมในชวาภาคกลางอันเป็นการสนับสนุนหลักฐานจากจารึกหลักที่ ๒๓ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสกุลวงศ์ของกษัตริย์แห่งศรีวิชัย (ไชยา) และราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาภาคกลาง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ องค์จริงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นประติมากรรมศิลปะศรีวิชัยที่มีชื่อเสียงที่สุด และจัดได้ว่างดงามที่สุด ถือเป็นหลักฐานที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนความสำคัญในด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองไชยาโบราณในสมัยศรีวิชัยรูปเคารพนี้ และนับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานของผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย    เรียบเรียง/กราฟิก : นายธนรักษ์ แพวขุนทด นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี    อ้างอิง  ๑. พระราชสุธรรมเมธี. (๒๕๔๒). เมืองไชยา (พิมพ์ครั้งที่ ๑). โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  ๒. นงคราญ ศรีชาย,และวรวิทย์ หัศภาค. (๒๕๔๓). โบราณคดีศรีวิชัย มุมมองใหม่การศึกษาวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน (พิมพ์ครั้งที่ ๑). โรงพิมพ์เม็ดทราย.  ๓. ธีรนาฎ มีนุ่นและคณะ. (ม.ป.ป.). พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในคาบสมุทรสทิงพระ. https://www.finearts.go.th/promotion/view/๑๖๘๑๑-  ๔. เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์. (๒๕๖๓). พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะศรีวิชัยที่ค้นพบในภาคใต้ของดินแดนประเทศไทยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๘-๑๓. วารสารศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ๑๒(๑), ๑๕๗-๑๗๙.


เหรียญเงินลายธรรมจักรและจารึก สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ พบที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม จ่าสิบเอกอำนวย ดีไชย ประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด ให้เมื่อ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร __________________________________ เหรียญเงินแผ่นกลม มีลายทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นลายธรรมจักร อีกด้านหนึ่งมีข้อความอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ความว่า “ศฺรีสุจริต วิกฺรานฺต” แปลว่า “วีรบุรุษผู้สุจริต”   จักร สื่อถึง “กงล้อ” (wheel) ที่หมุนเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ดังกงล้อรถศึกของพระเจ้าจักรพรรรดิกล่าวคือ กษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพซึ่งทำสงครามขยายอำนาจเหนือกษัตริย์ดินแดนอื่น และตามคติของผู้มีสถานะเป็นจักรพรรดิจะต้องครอบครอง “จักรรัตนะ” หรือจักรแก้ว ๑ ใน แก้ว ๗ สิ่งของพระจักรพรรดิ ดังนั้นทั้งศาสนาพุทธและพราหมณ์จึงปรากฏรูปจักรกับบุคคลที่แสดงถึงอำนาจหรือผู้เป็นใหญ่ กรณีศาสนาพราหมณ์มีตัวอย่างชัดเจนคือ พระวิษณุทรงจักรเป็นอาวุธ ส่วนในพุทธศาสนาคือ ธรรมจักร หรือ กงล้อแห่งพระธรรม โดยพระพุทธเจ้าทรงมีฐานะเป็นธรรมจักรพรรดิ หรือ ผู้ที่หมุนกงล้อแห่งธรรม ด้วยการประกาศเผยแผ่หลักธรรม โดยหลักธรรมแรกของพระองค์คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี  ในงานศิลปกรรมการสร้างรูปธรรมจักรจึงมักจะพบอยู่คู่กับรูปกวางหมอบ เพื่อแสดงว่าคือสวนกวางสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา   ปัจจุบันเหตุการณ์พุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา หรือแสดงพระธรรมครั้งแรกนั้นตรงกับวัน “อาสาฬหบูชา” (วันเพ็ญเดือน ๘) เนื้อหาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ในครั้งนั้นกล่าวถึง การดำรงตนในทางสายกลาง หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ประกอบด้วยอริยมรรค ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (ทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (เพียรพยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (ตั้งจิตชอบ) การปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวนี้เป็นทางสายกลางเพื่อไปสู่การตรัสรู้และนิพพาน    “...ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้นที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯ...”    จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรม อริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ (ความไม่สบายกายและใจ) สมุหทัย (สาเหตุแห่งการเกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์)  มรรค (หลักปฏิบัติการดับทุกข์) การแสดงธรรมครั้งนี้โกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ฟังก็เกิดบรรลุทางธรรม    “...ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่าท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่าอัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะด้วยประการฉะนี้ฯ...”   กล่าวคือภายหลังจากโกณฑัญญะได้ฟังพระธรรมครั้งนี้ จึงทูลขอบรรพชาเป็นพระสาวก ถือว่าเป็นวันที่พระสาวกรูปแรกบังเกิดขึ้น และพุทธศาสนามีองค์ประกอบครบสามประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ที่รู้จักกันในนาม “พระรัตนตรัย”   ในวัฒนธรรมทวารวดี “ธรรมจักร” เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา สื่อถึงการเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้รูปธรรมจักรในวัฒนธรรมทวารวดียังปรากฏใน พระพิมพ์ รอยพระพุทธบาท* และเหรียญเงิน อีกด้วย   *ตัวอย่างเช่น รอยพระพุทธบาทคู่ ที่โบราณสถานสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี --------------------------------------------------   อ้างอิง - พุทธมงคล (นางแฝง). สารัตถสมุจจัย อธิบายธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร. กรุงเทพฯ: แสวงสุทธิการพิมพ์, ๒๕๒๗. - ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒. - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน). จารึกในประเทศไทย (จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 1). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖, จาก:https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/695 ---------------------------------------------------   ที่มาของข้อมูล Facebook:  National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร https://www.facebook.com/nationalmuseumbangkok/posts/pfbid0Hsx39MKk8Fd4GiddxP2Pcaexye62XVTekuh2UMfaC66KH7Cp47fxW2Rr3tHTYrDQl



องค์ความรู้สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่เรื่อง : พัฒนาการ การอนุรักษ์โบราณสถานเมืองเชียงใหม่เรียบเรียงโดย : สายกลาง  จินดาสุ  นักโบราณคดีชำนาญการ          นับตั้งแต่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ โบราณสถานแต่ละแห่งของเมืองเชียงใหม่ผ่านการซ่อมสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์มานับครั้งไม่ถ้วน  หากพิจารณาจากเอกสารประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าการปรับปรุงซ่อมแซมโบราณสถานในล้านนาเป็นเรื่องปกติที่นิยมทำแม้ไม่มีปัจจัยด้านการชำรุดเสื่อมโทรม ครั้งนี้เราจะมาดูพัฒนาการการอนุรักษ์โบราณสถานเมืองเชียงใหม่ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดและวิธีการอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา มีจุดเปลี่ยนและสาระสำคัญอะไรบ้าง          เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ พบว่า มักปรากฏเนื้อความในเอกสารประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง ที่กล่าวถึงกษัตริย์ให้ซ่อมเสริมหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบโบราณสถานไปจากเดิม เช่น การที่พระเจ้าติโลกราช โปรดให้มีการขยายขนาดเจดีย์หลวง ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา และให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบยอดเจดีย์ “ให้ขุดรอบๆพระธาตุเจดีย์หลวงองค์เก่า กว้างประมาณ ๑๐ ศอก ลึกแค่ศรีษะคนเพื่อทำฐานรากเจดีย์ ก่อให้เป็นวัตถุมั่นคงยิ่งขึ้นแล้วให้เอาแผ่นศิลาอันเป็นมงคลปิดทองคำเปลว...พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วมีระเบียบกระพุ่มยอดเดียว          จะเห็นได้ว่าแนวคิดด้านการบูรณะโบราณสถานในอดีตมิได้ยึดถือในเรื่องการรักษารูปแบบดั้งเดิม หากแต่การบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่แห่งองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องด้วยสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา คือ เครื่องมือสะท้อนพระราชอำนาจของกษัตริย์ ในสถานะที่กษัตริย์ล้านนาเป็นองค์อุปถัมป์แห่งพุทธศาสนา ประวัติหรือตำนานบูรพกษัตริย์ในพื้นที่ภาคเหนือมักจะกล่าวถึงการเป็นผู้รับใช้พระศาสนาและได้รับความชอบธรรมให้เป็นกษัตริย์ ดังเรื่องของปู่เจ้าลาวจก ปฐมวงษ์ของพญามังราย ที่มิได้มีเชื้อสายกษัตริย์ แต่เป็นคนพื้นเมืองที่ถวายตนเป็นข้าเฝ้าพระธาตุดอยตุง เมื่อตายผลบุญจากการเป็นข้าเฝ้าพระธาตุเป็นอานิสงให้จุติเป็นเทวดาและสุดท้ายจึงโอปาติกะลงมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองหิรัญนครเงินยางในแอ่งที่ราบเชียงแสน ดังนั้นแนวคิดด้านการบูรณะโบราณสถานในอดีตของล้านนาจึงผูกติดกับความเป็น “ธรรมราชา” ของกษัตริย์ผู้ปกครอง          เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์มังรายประสบความสำเร็จในการปกครอง พบว่าจักต้องมีพระราชกรณียกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น อาทิ สมัยพระเจ้ากือนา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้อาราธนาพระสุมนเถระ จากสุโขทัยมายังเชียงใหม่เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่และล้านนา รวมถึงสร้างวัดสวนดอก (บุพพารามมหาวิหาร) และวัดพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  พระเจ้าติโลกราช ให้ทำการบูรณะเจดีย์หลวง ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ รวมถึงสร้างวัดเจ็ดยอด และสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดแห่งนี้  พระเมืองแก้ว บูรณะวัดต่างๆทั่วล้านนา บวชกุลบุตรล้านนาเป็นจำนวนมาก ดังที่ปรากฏหลักฐานการบวชกลางเกาะดอนทรายแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงแสน รวมถึงสร้างพระพุทธรูปจำนวนมาก ซึ่งจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในล้านนาหลายองค์ระบุถึงศักราชในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเมืองแก้วครองราชย์          โบราณสถานในล้านนาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ระลอกใหญ่อีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ สมัยครูบาศรีวิชัย   งานบูรณะของครูบาศรีวิชัยมีแนวคิดที่คล้ายกับการบูรณะของกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายของล้านนา คือ มิได้ยึดถือในเรื่องรูปแบบดั้งเดิมเป็นสาระสำคัญ หากแต่เป็นการบูรณะเพื่อสืบต่อพระศาสนา เป็นการบูรณะเพื่อให้โบราณสถานเหล่านั้นกลับมาใช้งานได้ดังเดิม ภารกิจสำคัญของครูบาศรีวิชัยประการหนึ่ง คือ การบูรณะและฟื้นวัดร้าง รูปแบบวิธีการบูรณะของครูบาศรีวิชัย โดยเฉพาะกับเจดีย์ ใช้วิธีการเดียวกับที่มีมาแต่อดีต คือการก่อครอบ ไม่มีการทำลายเจดีย์องค์เดิมแล้วจึงสร้างเจดีย์องค์ใหม่ ลักษณะเช่นนี้พบได้ในเจดีย์ทั่วล้านนา อาทิ เจดีย์วัดพระบวช เจดีย์วัดอาทิต้นแก้ว เมืองเชียงแสน เจดีย์วัดสะดือเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเจดีย์องค์หลังนี้ ครูบาศรีวิชัยได้ก่อครอบไว้ราว พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๓ ซึ่งการก่อครอบนี้น่าจะเป็นคติของการรักษาพระบรมสารีริกธาตุที่มีมาแต่เดิม          หากจะนับเอาจุดเริ่มต้นการบูรณะโบราณสถานอย่างเป็นสากลในพื้นที่ล้านนา (ภาคเหนือตอนบน) ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงเวลาใด จำเป็นต้องกล่าวเชิงองค์รวมของการอนุรักษ์ว่าการบูรณะ คือ กระบวนการหนึ่งของการอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมาย ไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่และวิธีดำเนินการ จุดเปลี่ยนของการบูรณะโบราณสถานในล้านนาเกิดขึ้นหลังจากการออกกฎหมายอนุรักษ์โบราณสถานฉบับแรกของสยามที่ชื่อ “พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗”  กฎหมายดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิดและระบบการอนุรักษ์โบราณสถานไปจากอดีต เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแล รักษา ตรวจสอบตามกฏหมาย ให้เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร  ซึ่งก็คือ กรมศิลปากรได้เข้ามาเป็นตัวแทนของรัฐในการดูแลโบราณสถานตามที่กฏหมายกำหนดหน้าที่เอาไว้ ทั้งนี้ในปี ๒๔๗๘ กรมศิลปากร ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นครั้งแรก โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนในปีดังกล่าว ๑๕ แห่ง ประกอบด้วย พระธาตุจอมทอง ข่วงช้าง ข่วงสิงห์ วัดกู่เต้า วัดเจ็ดยอด กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ วัดการะเกด วัดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น พระธาตุดอยสุเทพ วิหารเก้าตื้อ (วัดสวนดอก) วัดป่าแดงหลวง วัดร่ำเปิง วัดสวนดอก วัดอุโมงค์(นอก)          การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในปี ๒๔๗๘ เป็นการประกาศขึ้นทะเบียนโดยกำหนดเพียงชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและอาคารที่ขึ้นทะเบียนแต่ละหลัง แต่ยังไม่มีแผนผังการประกาศขึ้นทะเบียนประกอบ (แผนผังแสดงรายละเอียดรายการและขอบเขตพื้นที่โบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน) ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว ข้อมูลการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแต่ละแห่งไม่มีรายละเอียดขอบเขตพื้นที่ประกาศขึ้นทะเบียน ว่ามีอาณาบริเวณถึงไหน ทำให้ปี ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔ มีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั้ง ๑๕ แห่งอีกครั้ง โดยมีแผนผังพื้นที่ประกาศขึ้นทะเบียนประกอบ สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ ที่มีการออกหลักการการอนุรักษ์อย่างเป็นสากล คือ กฎบัตรเวนิช (Venice Charter) ในปี ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นกฎบัตรการอนุรักษ์โบราณสถานที่ยึดถือเป็นหลักทั่วโลกและใช้มายาวนานกว่า ๕๐ ปี และการออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติในปี ๒๕๑๕ และกฎบัตรบูรา หรือที่เรียกว่า บูรา ชาเตอร์ (The Burra Charter) ซึ่งจัดทำขึ้น ณ ประเทศออสเตรเลีย ในปี ๒๕๒๒ ทำให้ความตื่นตัวในการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเป็นสากลเกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น  จนกระทั่งปี ๒๕๒๘ การอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเป็นสากลจึงได้เกิดขึ้นในประเทศไทยและล้านนาอย่างเต็มเต็มตัว จากการที่กรมศิลปากรได้ออก ระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน ปี ๒๕๒๘ ซึ่งเนื้อหาต่างๆในระเบียบนี้อ้างอิงได้กับ พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปี ๒๕๐๔ และนิยามที่เกี่ยวกับประเภทการอนุรักษ์ที่กล่าวไว้ใน บูรา ชาเตอร์ และ เวนิส ชาเตอร์ ทำให้ห้วงปี ๒๕๒๒ - ๒๕๒๘ งานบูรณะโบราณสถานในเมืองเชียงใหม่ มีการดำเนินการโดยใช้หลักการอนุรักษ์อย่างเป็นสากลเต็มรูปแบบ          โบราณสถานแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏหลักฐานว่ามีการอนุรักษ์โดยอ้างอิงหลักการสากล คือ การบูรณะวัดสะดือเมืองและวัดอินทขิล ในปี ๒๕๒๖ การดำเนินการอนุรักษ์ในครั้งนั้นทำตามหลักการสากลที่กฎบัตรเวนิชวางไว้ คือ มีการขุดค้นทางโบราณคดี และการอนุรักษ์ประกอบกัน  โดยมีการขุดตรวจทางโบราณคดีเพื่อพิสูจน์ทราบโครงสร้างของเจดีย์ จากการขุดเปิดชั้นดินและเศษอิฐที่ทับถมส่วนฐานทำให้ทราบว่าเจดีย์วัดสะดือเมือง  เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ก่อหุ้มเจดีย์องค์เดิมที่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทด้านใน ส่วนวัดอินทขิล ไม่พบการสร้างซ้อนทับ แต่ปรากฏร่องรอยแสดงให้เห็นว่าได้รับการซ่อมแซมบ้างแต่ไม่มากนัก  การดำเนินงานมีการอนุรักษ์โบราณสถานโดยมีข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นพื้นฐาน การอนุรักษ์เจดีย์สะดือเมืองได้ทำการเสริมความมั่นคงฐานรากด้วยการเทเสาตอม่อและเทคอนกรีตเสริมเหล็กรับที่ส่วนฐาน (footing) และเทคานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ส่วนฐานสี่เหลี่ยม ส่วนเจดีย์วัดอินทขิล ได้ดำเนินการเสริมความมั่นคงชั้นฐานด้วยการเทคอนกรีตเชื่อมระหว่างแกนในองค์เจดีย์กับแนวอิฐที่ก่อเสริมใหม่ และเสริมแกนเหล็กไว้ตรงกลางปลียอด ทั้งนี้หากใช้นิยามความหมายการอนุรักษ์ที่ปรากฏในกฏบัตรเวนิช และระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานปี ๒๕๒๘ การอนุรักษ์โบราณสถานวัดสะดือเมืองและวัดอินทขิลจะจัดอยู่ในประเภท Restoration หรือ การบูรณะ เนื่องจากกฎบัตรเวนิช และระเบียบกรมศิลปากรฯ ให้มีการใช้วัสดุใหม่เข้าไปได้บ้างในกรณีที่มีความจำเป็น และต้องสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างของเก่าและของใหม่จากตัววัสดุแต่ต้องกลมกลืนในภาพรวม          ถ้าการการดำเนินงานทางโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถานที่วัดสะดือเมือง/อินทขิล คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์อย่างเป็นสากล ปี๒๕๒๗ ก็คือหมุดเริ่มต้นแห่งการอนุรักษ์ที่ใช้หลักการที่นานนาอารยประเทศใช้  หลังจากการดำเนินงานที่วัดสะดือเมือง/อินทขิล  ได้มีการอนุรักษ์โบราณสถานตามหลักสากลอีกหลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ อาทิ วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดเชียงมั่น กำแพงและป้อมมุมเมือง ทั้งนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการบูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่ในปี ๒๕๓๙ คือ อิฐที่เป็นอิฐก้อนใหม่ที่ใช้บูรณะแทนที่อิฐเก่าที่เสื่อมสภาพ มีการประทับปีพุทธศักราชที่อิฐ (ประทับปี ๒๕๓๙) แสดงให้เห็นการนำแนวคิดการอนุรักษ์อย่างเป็นสากลมาใช้ ที่ต้องการรักษาหลักการในการอนุรักษ์ว่า วัสดุที่นำมาเปลี่ยนต้องกลมกลืนแต่ก็ต้องแสดงให้เห็นความต่างระหว่างของเดิมที่มีอยู่และของที่ใส่ลงไปใหม่          โบราณสถานในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นโบราณสถานสำคัญ ล้วนมีการบูรณะปฎิสังขรณ์มาโดยตลอด วัดพระสิงห์ เป็นตัวอย่างของวัดที่มีการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างต่อเนื่อง มีการบูรณะคันธกุฎี (ท้ายวิหารลายคำ) สมัยเจ้าหลวงเศรษฐีคำฟั่น ใน พ.ศ.๒๓๖๔-๒๓๖๗ ซ่อมแซมและสร้างมุขหน้าวิหารหลวง พ.ศ.๒๔๑๖-๒๔๑๙ สมัยเจ้าอินทวิชยนนท์ และบูรณะวิหารหลวง ในพ.ศ.๒๔๔๔ - ๒๔๕๒ สมัยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ และบูรณะอุโบสถโดยตัดปลายแปหน้าแหนบและปั้นปูนปั้นปิดโดยครูบาศรีวิชัย          ในราว พ.ศ.๒๕๓๘ – ๒๕๔๒ การดำเนินการอุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปกรที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ได้เริ่มเข้าสู่รูปแบบการดำเนินงานแบบองค์รวม คือ วางกรอบทิศทางการดำเนินงานโดยมีเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นกรอบหลักที่ครอบคลุมโบราณสถานต่างๆ โดยมีการเริ่มต้นจัดทำแผนแม่บทโครงการบูรณะและอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๘ และจัดทำฉบับแก้ไข ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๒  การจัดทำแผนแม่บททั้ง ๒ ครั้ง คือ ก้าวสำคัญของการอนุรักษ์เมืองเก่าเชียงใหม่ภายใต้บริบทของการอนุรักษ์โบราณสถาน  แผนแม่บทดังกล่าวนำไปสู่การวางแผนงานอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานในพื้นที่เมืองเก่าอย่างเป็นระบบ     มีการสำรวจโบราณสถานในเมืองและพื้นที่รอบเมือง และจัดแบ่งโบราณสถานเป็นประเภทต่างๆ (วัดร้างที่ขึ้นทะเบียนฯ / วัดร้างที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ/ วัดที่มีการใช้งานที่ขึ้นทะเบียนฯ / วัดที่มีการใช้งานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ) รวมถึงมีการรวบรวมข้อมูลด้านต่างๆที่มีผลกระทบ และวิเคราะห์ปัจจัยปัญหาที่มีผลต่อเมืองเก่าเชียงใหม่ แผนแม่บทนี้นำไปสู่การจัดตั้งโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ทำให้โบราณสถานสำคัญที่ได้รับการอนุรักษ์ตามแผนดังกล่าว ในทศวรรษปัจจุบันนี้ กรมศิลปากรพยายามขยายขอบเขตกระบวนการงานอนุรักษ์ไปสู่การประยุกต์ใช้วิทยาการด้านอื่นๆ เช่น ด้านธรณีวิศวกรรม และฟิสิกส์ประยุกต์ ฯ เพื่อนำองค์ความรู้เฉพาะด้านมาช่วยในการรักษาโบราณสถาน ติดตามประเมินผล คาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง  และวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์อย่างแม่นยำ  รวมถึงพยายามแสวงหาพันธมิตรทั้งจากสถาบันการศึกษา และเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนางานและดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การอนุรักษ์โบราณสถานมีประสิทธิภาพสูงสุดและก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


Messenger