ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,577 รายการ

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นพระธิดาพระองค์เดียวในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต กับหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ (เทวกุล) บริพัตร ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2474 ณ วังบางขุนพรหม ภายหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้ตามเสด็จพระบิดาไปประทับที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย พ.ศ. 2484 เสด็จกลับประเทศไทยและเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษา จากนั้นเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสเปน หม่อมเจ้ามารศีฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวรรณคดี จากมหาวิทยาลัย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2497 และปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด ประเทศสเปน เมื่อ พ.ศ. 2502 จากนั้นได้ทรงงานในแวดวงวิชาการอยู่ระยะหนึ่ง ทรงสอนวิชาศิลปะตะวันออกที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมาดริด และเมื่อเสด็จกลับประเทศไทย ทรงเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมตะวันตกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงสนพระทัยในด้านการวาดภาพ เมื่อมีพระชันษาราว 30 ปี ทรงยุติการทำงานวิชาการและเริ่มศึกษาศิลปะด้วยพระองค์เองจากผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง ทรงเข้าร่วมกลุ่มศิลปินในประเทศฝรั่งเศสเพื่อจัดแสดงนิทรรศการ หม่อมเจ้ามารศีฯ โปรดการสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก มีรูปแบบเหนือจินตนาการ และสะท้อนปรัชญาชีวิต ทรงเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างโดดเด่น งดงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตามแนวทางของศิลปะเซอร์เรียลลิสต์ – แฟนตาสติก (Surrealism – Fantastic Art) ทรงจัดแสดงนิทรรศการที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง ต่อมาทรงซื้อที่ดินที่เมือง Annot ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเพื่อสร้างพระตำหนัก Vellara ซึ่งเป็นทั้งที่ประทับและสตูดิโอสำหรับทรงงานศิลปะตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ภาพเขียนของหม่อมเจ้ามารศีฯ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ผลงานในระยะแรก (พ.ศ. 2503 – 2513) ทรงทดลองเขียนภาพเหตุการณ์ประกอบฉากหลังที่เป็นโขดหิน โดยใช้สีเอกรงค์ (Monochrome) เน้นสีขาว – ดำเป็นหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2513 – 2523) ทรงเขียนรูปบุคคล โดยมีโขดหินเป็นฉากหลัง นอกจากนี้ ทรงเริ่มเขียนภาพดอกไม้และใช้สีสันหลากหลายกว่าผลงานในระยะแรก ผลงานในระยะนี้มีขนาดใหญ่ สอดแทรกเรื่องราวทางศาสนา ปกรณัม เรื่องปรัมปรา สัญลักษณ์ และเรื่องตามจินตนาการ ผลงานในระยะที่ 3 (พ.ศ. 2523 – 2546) หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงพัฒนาฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานจากช่วงก่อนหน้า ภาพเขียนในระยะนี้มีความหลากหลายทั้งเรื่องราวและสีสัน ปรากฏรูปบุคคล โดยเฉพาะผู้หญิง สิงสาราสัตว์ อาคารสถาปัตยกรรม รวมทั้งฉากหลังที่เป็นธรรมชาติ ผสมผสานกันจนเป็นเรื่องราวเหนือจินตนาการตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน หม่อมเจ้ามารศีฯ ทรงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายที่เมือง Annot กว่า 40 ปี แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ลำธาร และขุนเขา รวมทั้งสัตว์เลี้ยงนานาชนิด ทั้งสุนัข แมว และนก ซึ่งเป็นตัวละครและองค์ประกอบหลักในการสร้างสรรค์ผลงานภาพเขียน พ.ศ. 2547 ทรงประชวรและไม่สามารถเขียนภาพได้เช่นเดิม แต่ยังคงประทับที่พระตำหนักในเมือง Annot ท่ามกลางธรรมชาติ เสียงดนตรี และสัตว์เลี้ยง จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 สิริพระชันษา 82 ปี พระญาติสนิทและพระสหายผู้ใกล้ชิดได้ดำเนินการตามพระปณิธานในการก่อตั้งมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการและเผยแพร่ผลงานของหม่อมเจ้ามารศีฯ ทั้งในและต่างประเทศ มอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิตนักศึกษาทางด้านศิลปะ และสนับสนุนทุนทรัพย์ในการจัดแสดงงานนิทรรศการแก่ศิลปินรุ่นใหม่ เพื่อช่วยสนับสนุนและผลักดันวงการทัศนศิลป์ในประเทศไทยให้ขับเคลื่อนและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง #หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์บริพัตร #ศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่๙ #ศิลปินแห่งนวสมัย #หอศิลป์แห่งชาติ #หอศิลป์แห่งชาติถนนเจ้าฟ้า ที่มา 1. หนังสือ “Beauty & Ugliness: Aesthetic of Marsi” โดย มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร 2. หนังสือ “MARSI” โดย Michel Steve ที่มาภาพ โดย มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร


         วันอาทิตย์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๔๕ น. ณ วัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี (พระศรีรัตนโมลี) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๖ กิจกรรมรณรงค์ดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ณ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ เครือข่ายการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม จิตอาสา รวมถึงประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า ๑๒๐ คน            อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กิจกรรมทำความสะอาดโบราณสถานวัดประดู่ฉิมพลีในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาโบราณสถาน ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของชาติ อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรม ทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมให้เห็นเป็นตัวอย่างตลอดมา การดำเนินการในครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ รวมถึงเพื่อสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม และร่วมกันปกป้อง พัฒนาโบราณสถานหรือแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าให้คงอยู่ต่อไป           วัดประดู่ฉิมพลี เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ เดิมชื่อว่า “วัดฉิมพลี” แต่ประชาชนนิยมเรียกกันว่า “วัดประดู่นอก” คู่กับ “วัดประดู่ใน” (วัดประดู่ในทรงธรรม) ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เป็นวัดที่สถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงยศเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า เริ่มสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ซึ่งตรงกับช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) การก่อสร้างแล้วเสร็จและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) กรมศิลปากร ได้ประกาศรายชื่อโบราณสถานวัดประดู่ฉิมพลี ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ พระอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ สร้างตามรูปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๙ ภายในประดิษฐานพระประธานศิลปะสุโขทัย ปัจจุบันกรมศิลปากรกำลังดำเนินโครงการบูรณะพระอุโบสถ ระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๕ – กันยายน ๒๕๖๖   


เลขทะเบียน : นพ.บ.503/6ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 46 หน้า ; 4 x 56 ซ.ม. : ล่องรัก ; ไม้ประกับธรรมดาชื่อชุด : มัดที่ 167  (205-215) ผูก 6 (2566)หัวเรื่อง : รามชาตก--เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม




องค์ความจากหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ เรื่อง “ยาแผนไทย” : กรรมวิธีการแปรสภาพและเก็บสมุนไพร ตลอดจนการเตรียมเครื่องยาในการผลิตยาสมุนไพรไทยอย่างถูกวิธี"เรียบเรียงโดย นางสาวสุภาพัฒน์ นำแปง นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาสารสนเทศศาสตร์และบรรณรักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่        สุขภาพร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่ให้สุขภาพแข็งสมบูรณ์อยู่เสมอ แต่ตัวเราเองก็ไม่สามารถหลีกหนีการเจ็บป่วยได้เช่นกัน จึงต้องมีการหาหนทางรักษาเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งการแพทย์แผนไทยก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการบำรุง บำบัด บรรเทาและรักษาโรค โดยการใช้ยาสมุนไพรเข้ามาช่วยในการรักษานั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนยังมีความเชื่อแบบผิด ๆ ที่ว่า การใช้สมุนไพรนั้นไม่มีอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เมื่อขึ้นชื่อว่ายา ย่อมเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ทั้งสิ้น หากเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายไม่สามารถรับได้ ในบริบทของยาแผนไทยก็คือ การใช้ยาในปริมาณที่ไม่ถูกส่วน ซึ่งอาจส่งผลกับร่างกายได้ เช่น การแพ้ยา กระตุ้นโรคจนอาการหนักขึ้น หรือใช้ยาไม่ถูกส่วนกับโรค เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมตัวยาเพื่อใช้ปรุงยาตามตำรับต่าง ๆ ทางการแพทย์แผนไทยมีวิธีการเก็บ การทำให้แห้งและรักษาสมุนไพรให้เกิดตัวยาที่มีคุณภาพสูงสุด ปรุงแล้วสามารถรักษาโรคตามต้องการ โดยวิธีการต่าง ๆ อาจแตกต่างกันออกไปตามชนิดของสมุนไพร นอกจากนี้สมุนไพรหรือส่วนประกอบในการปรุงยาบางชนิดยังต้องผ่านกระบวนการบางอย่าง ก่อนจะนำมาใช้ปรุงยาเพื่อลดหรือเพิ่มฤทธิ์ตัวยาสมุนไพร ทำให้พิษของตัวยาลดลง ทำให้ตัวยาปราศจากเชื้อโรค เป็นต้น ซึ่งวิธีการต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมผ่านประสบการณ์อันยาวนาน ถ่ายทอดผ่านปากจากรุ่นสู่รุ่น


          เนื่องในเดือนแห่งการเริ่มต้นการกสิกรรม กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ครั้งที่ ๕ และ ครั้งที่ ๖ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ..................................................................... ช่วงเช้า เวลา ๐๘.๓๐ น. - ๑๒.๐๐ น.  การเสวนาวิชาการและบรรยายนำชม เรื่อง  “พืช-พันธุ์-ธัญญาหาร จากโบราณวัตถุในมิวเซียม” วิทยากรในการเสวนาฯ ๑. นายธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ๒. นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ๓. นายวิศวะ ชินโย ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้ดำเนินรายการ วิทยากรบรรยายนำชม  ๑. นายพนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ๒. นางสาวมุทิตา อร่ามรุ่งทรัพย์ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร .................................................................... ช่วงบ่าย เวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. การบรรยายและสาธิต เรื่อง “ข้าวหนม-ชาข้าว-เหล้าพื้นบ้าน” วิทยากรในการบรรยายและสาธิต ๑. นายธนพันธุ์ ขจรพันธุ์ นักวิชาการอิสระ ๒. นางสาวจนัญญา ดวงพัตรา มือกระบี่สตูดิโอ ๓. นางสาวศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้ดำเนินรายการ ................................................................... นอกจากนี้เตรียมพบกับกาชาปองชุดพิเศษ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ๑. ชุด “ขบวนแรกนาขวัญ” โดย Little Gods Studio  ๒. ชุด “พระโคเสี่ยงทาย” โดย Playground Studio หมุนละ ๑๐๐ บาท จำนวนจำกัดเฉพาะในงานนี้เท่านั้น และยังมีงานอาร์ตทอยอีกมากมาย ................................................................... สอบถามเพิ่มเติม/สำรองที่นั่งโทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓ (วันพุธ-อาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐ น. - ๑๖.๓๐ น.)   ***รับจำนวนจำกัด


          ส่องสัตว์ฯ ครั้งนี้จะพาไปทำความรู้จัก ‘หงส์’ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช หงส์ที่จะกล่าวถึงนี้ไม่ใช่สัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้จริงๆ แต่เป็นหงส์สำริด จากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ซี่งเป็นโบราณสถานสำคัญที่อยู่คู่เมืองนครศรีธรรมราชมายาวนาน   หงส์สำริดนี้พบที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพบร่วมกับประติมากรรมรูปเคารพสำคัญหลายองค์ ได้แก่ พระศิวนาฏราช พระวิษณุ พระหริหระ พระอุมา และพระคเณศ ซึ่งกรมศิลปากรได้เคลื่อนย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าโบสถ์พราหมณ์สร้างขึ้นราวสมัยอยุธยา โดยมีฐานะเป็นเทวสถานประจำเมืองนครศรีธรรมราช ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ ปัจจุบันโบสถ์พราหมณ์ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ และสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓   ลักษณะของหงส์สำริดนี้เป็นประติมากรรมรูปหงส์ยืน บนหัวมีหงอนยาว ปากคล้ายปากเป็ด มีลวดลายคล้ายเครื่องประดับอยู่บริเวณรอบคอ บนหลังทำช่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่คล้ายเป็นที่บรรจุหรือรองรับวัตถุบางอย่าง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๓ การพบประติมากรรมรูปหงส์ร่วมกับเทวรูปองค์สำคัญในเทวสถานศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อาจมีความเป็นไปได้ว่าในอดีตมีการใช้หงส์สำริดเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกรรม   “ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช” ซึ่งตีพิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์คำนำว่าได้รับมาจากเมืองนครศรีธรรมราชนานแล้ว แต่ยังมิได้ตรวจทำคำอธิบาย ภายในเล่มกล่าวถึงการจัดพิธีตรีพวาย-ตรียัมปวายเพื่อบูชาเทวรูปที่เมืองนครในเดือนอ้าย ประกอบด้วย ‘พระนารายณ์เทวรูป พระศรีลักษณมี พระมเหวารีย์ บรมหงษ์ และชิงช้าทองแดง’ อีกทั้งมีข้อความที่กล่าวถึงการแขวน ‘บรมหงษ์’ ไว้กับเสาชิงช้า และ ‘พราหมณ์สี่ตนทำบูชาอ่านหนังสือสถิตย์บรมหงษ์’ สอดคล้องการทำพิธีช้าหงส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวายของราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ อันเป็นพระราชพิธีที่มีขึ้นในเดือนยี่ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน”    พิธีช้าหงส์ หรือกล่อมหงส์ เป็นพิธีการส่งเสด็จเทพกลับสู่สวรรค์ก่อนเสร็จสิ้นพระราชพิธีตรีพวาย-ตรียัมปวาย ประกอบด้วยการส่งเสด็จพระอิศวร พระอุมา พระคเณศ พระพรหม และพระนารายณ์ โดยพระมหาราชครูจะอัญเชิญเทวรูปขึ้นบุษบกหงส์ซึ่งแขวนไว้กับเสาคู่คล้ายเสาชิงข้าขนาดย่อม แล้วอ่านเวทบูชาหงส์พร้อมกับพราหมณ์อีก ๒ คน พราหมณ์อีก ๑ คนไกวเปลหงส์เป็นจังหวะสอดคล้องกับการอ่านเวทบูชา หลังจากนั้นจึงอ่านเวทปิดประตูเทวสถานเป็นอันเสร็จพิธีส่งเสด็จ พระราชพิธีตรีพวาย-ตรียัมปวายเป็นพิธีต่อเนื่องที่กระทำเป็นเวลา ๑๕ วัน เนื่องจากมีพิธีกรรมหลายขั้นตอน ยกตัวอย่างเช่น พิธีแห่นางดาน พิธีโล้ชิงช้า พิธีช้าหงส์ ฯลฯ นับว่าเป็นพระราชพิธีโบราณที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ส่วนในจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งมีชุมชนพราหมณ์มาแต่เดิมก็ได้นำพิธีโล้ชิงช้ามาถือปฏิบัติด้วย โดยเรียกว่า พิธีแห่นางดาน เพื่อมิให้พ้องกับประเพณีราชสำนัก   นอกจากจะปรากฏบนประติมากรรมดังกล่าวแล้ว หงส์ยังปรากฏในงานศิลปกรรมที่พบในประเทศไทยหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น หงส์บนเสาตุงในศิลปะล้านนาสื่อถึงการนำพาดวงวิญญาณผู้ล่วงลับไปสู่สวรรค์โดยการเกาะตุงหรือธงที่ห้อยลงมาจากหงส์  หงส์ที่ปรากฏร่วมกับสัตว์หิมพานต์ต่างๆ บนลายรดน้ำหรือลายทองในศิลปะอยุธยาและงานจิตรกรรมในศิลปะรัตนโกสินทร์ มักเป็นหงส์ที่แตกต่างจากหงส์ตามธรรมชาติ มีการตกแต่งลวดลายบนตัวด้วยลายไทย แสดงถึงสถานะพิเศษของหงส์ที่มีความสง่างาม สูงส่ง และเป็นมงคล สอดคล้องกับการนำลักษณะของหงส์มาสร้างเป็นเรือพระที่นั่งในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เหมาะสมกับสถานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นสมมุติเทพ โดยรากความเชื่อนี้อาจมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่เชื่อว่าหงส์เป็นเทพพาหนะของพระพรหม และเป็นสัตว์ที่สามารถแยกน้ำนมหรือน้ำโสมออกจากน้ำได้ คือแยกสิ่งที่ดีออกจากสิ่งแปลกปนได้    ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกที่ในประเทศไทยจะพบงานศิลปกรรมรูปหงส์เป็นจำนวนมากทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งต่างก็มีมีบทบาทในด้านความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ทั้งศาสนาพุทธและพราหมณ์-ฮินดู เป็นการแสดงออกในเชิงช่างที่จะแสดงความเชื่อนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม และช่วยให้พิธีกรรมลุล่วงไปได้ด้วยดี หากมีโอกาสได้ออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมื่อไร ขอให้ลองสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวดูซักนิด เพื่อนๆ อาจจะพบหงส์อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งก็เป็นได้ -------------------------------------------------- อ้างอิง ๑. กรมศิลปากร. ย้อนรอยพิธีโล้ชิงช้าในสยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๖๓.  ๒. อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ตรีมูรติอภิมหาเทพของฮินดู. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 25๖๒. ๓. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สินธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา). โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๓. ๔. กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์. การศึกษาเรื่องหงส์จากศิลปกรรมในประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, จาก https://www.thaiscience.info/Journals/Article/NRCT/10440239.pdf ๕. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. เข้าถึงเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, จาก https://vajirayana.org/ ๖. ปรีชา นุ่นสุข. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ภาพของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ 19-23. เข้าถึงเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, จาก http://dspace.nstru.ac.th:8080/dspace/handle/123456789/289   ---------------------------------------------------   ค้นคว้า/เรียบเรียง/กราฟิก : นางสาวชุติณัฐ ช่วยชีพ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ---------------------------------------------------   *เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร  





อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แนะนำแผนที่การท่องเที่ยวศรีเทพ จัดทำโดย DRIVE SITHEP ผู้สนใจสามารถสแกนคิวร์โค้ด ดูข้อมูลได้ "ฟรี" ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องโหลด APP โดยมีแผนที่ดิจิทัล แสดงตำแหน่ง ข้อมูลศรีเทพเมืองมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เขาคลังนอก เขาถมอรัตน์ และฟื้นที่ใกล้เคียง ร้านอาหารแนะนำ คาเฟ่ จุดถ่ายรูปยอดนิยม พร้อมแสดงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้งานเมื่ออยู่ในพื้นที่บริการ



            ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร ขอแนะนำหนังสือ มหาเวสสันดรชาดก คาถาพัน และ นิบาตชาดก ราคา ๒๗๐ บาท ผู้ที่สนใจสามารถซื้อหนังสือได้ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์) โทรศัพท์ ๐-๒๑๖๔-๒๕๐๑ ต่อ ๑๐๐๔ (ในวันและเวลาราชการ) หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ https://bookshop.finearts.go.th และสามารถติดตามข่าวสารหนังสือต่าง ๆ ของกรมศิลปากรได้ที่ facebook ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร             หนังสือ มหาเวสสันดรชาดก คาถาพัน และ นิบาตชาดก ฉบับสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นหนังสือที่นำเสนอเรื่องมหาเวสสันดรชาดก นิทานชาดกที่ว่าด้วยการบำเพ็ญบารมีของพระเวสสันตรโพธิสัตว์ อันเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยหลายเรื่อง ประกอบด้วย คาถาพัน คือเวสสันตรชาดกในมหานิบาตชาดกที่แต่งเป็นคาถาหรือร้อยกรองภาษาบาลีในพระไตรปิฎก (ตรวจสอบจากฉบับกรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่พุทธศักราช ๒๕๑๔) และ นิบาตชาดก คืออรรถกถาเวสสันตรชาดกที่พระภิกษุและคฤหัสถ์ผู้รู้ภาษาบาลีแปลและเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วภาษาไทย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรวจสอบจากหนังสือ “นิบาตชาดก เล่ม ๒๒ เวสสันตรชาดก ในมหานิบาต” ฉบับพุทธศักราช ๒๔๗๔ พร้อมทั้งนำพระบรมราชาธิบายเรื่องนิบาตชาดก พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มารวมพิมพ์ไว้ด้วย หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจเรื่องชาดกและวรรณคดีพุทธศาสนาต่อไป