ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,347 รายการ
วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นางรักชนก โคจรานนท์ รองอธิบดีกรมศิลปากร และเจ้าหน้าที่กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ร่วมแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 การก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยมี นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ ณ ชั้น G อาคารสำนักงาน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)
ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ สลักดุนโลหะ ปิดทอง ลงยาสีและประดับคริสตัล กว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๖๐ เซนติเมตร กลุ่มงานช่างบุและช่างศิราภรณ์The Royal Emblem on the Auspicious Occasion of the Coronation of King Rama X Gilded and enameledsheet metal with repousse technique and crystal embellishment w.30 cm,h 60 cm Sheet Metal ant Headdress Groupข้อมูล: นิทรรศการเถลิงรัชช์หัตถศิลป์
องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์
โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โบสถ์พราหมณ์ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับหอพระอิศวร โดยอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ ๘ เมตร โบสถ์พราหมณ์เป็นศูนย์รวมของพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อประกอบพิธีกรรมที่สำคัญมาแต่โบราณ โดยเฉพาะพิธีตรียัมปวายและตรีปวายอันเป็นพิธีสำคัญมากของพราหมณ์ทั้งลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย
เทวรูปสำคัญที่พบหรือมีประวัติว่าเคยนำมาเก็บรักษาที่โบสถ์พราหมณ์ได้แก่ พระศิวนาฎราชสี่กรสำริด ศิลปะอินเดียภาคใต้ ราชวงศ์โจฬะ พระอุมาสำริด ศิลปะอินเดียภาคใต้ พระวิษณุ ๔ กร สำริด ศิลปะลพบุรี พระหริหระ ๔ กร สำริด ศิลปะสุโขทัย พระคเณศ ๔ กร สำริด จำนวน ๒ องค์ และพระคเณศ ๒ กร สำริด นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมหงส์ สำริด ศิลปะอินเดียภาคใต้ และนางกระดานไม้ ปัจจุบันภายในโบสถ์พราหมณ์เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ศิลา ซึ่งเดิมเคยประดิษฐานอยู่ในโบสถ์พราหมณ์ แต่หลังจากโบสถ์พราหมณ์ชำรุดจึงมีการย้ายมาประดิษฐานอยู่ในหอพระอิศวรอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงย้ายศิวลึงค์ศิลาองค์ดังกล่าวกลับมาประดิษฐานยังโบสถ์พราหมณ์ดังเดิม
จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ พบว่าร่องรอยฐานรากอาคารของโบสถ์พราหมณ์ มีลักษณะเป็นฐานอาคารก่ออิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๒๒ เมตร ด้านในอาคารเป็นห้องคูหา ส่วนด้านหน้าเป็นอาคารโถง ลักษณะแบบเดียวกันกับโบราณสถานฐานพระสยม ซึ่งตั้งอยู่บนถนนท่าชี ภายในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช จากหลักฐานโบราณสถานและหลักทางโบราณคดีที่พบ จึงสามารถกำหนดอายุสมัยโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ได้ในราวสมัยอยุธยา ปัจจุบันโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙
จัดทำโดย
นายสรรชัย แย้มเยื้อน และ นายสหภาพ ขนาน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
๑) นภัคมน ทองเฝือ. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๓.
ขอเชิญเข้าร่วมเสวนาทางวิชาการ สุดยอดการค้นพบใหม่ ในทศวรรษที่ผ่านมาของกรมศิลปากร "เปิดโลกใบใหม่ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ไทย ง่ายเพียงปลายนิ้ว" วันจันทร์ ที่ 8 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น. - 18.00 น.
ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
วิทยากร: ธนชัย อุชชิน (ป๊อด โมเดิร์นด็อก)
ภูมิ์พัฒน์ ไชยรัตน์ (FB:เที่ยวแล้วเที่ยวอีก)
ดำเนินรายการ: วิรยาร์ ชำนาญพล ผอ.กลุ่มระบบสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม
พระพุทธรูปบุเงิน จีนซืนปางมารวิชัยขนาด หน้าตัก ๓ ซม. สูง ๘.๕ ซม. ย้ายมาจากวัดพระธาตุหริภุญชัยเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ที่ฐานมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ความว่า"จีนซืน นางคำแปง ๒๔๕๗"
กรมศิลปากร ขอเชิญรับชมถ่ายทอดสด Facebook Live รายการไขความรู้จากครูกรมศิลป์ ตอน “ภาพจิตรกรรมการสถาปนาเทวดาจีนแห่งเดียวในประเทศไทย ณ เก๋งนุกิจราชบริหาร” วิทยากร นางสาวศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้ดำเนินรายการ นายสิทธิพร บุปผา นักวิชาการเผยแพร่ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ - ๑๑.๔๕ น. ผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook Live : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ Facebook : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
รายการ “ไขความรู้จากครูกรมศิลป์” มีรูปแบบเนื้อหาของรายการเกี่ยวกับประวัติความเป็นไทย เกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญ ประเพณี วัฒนธรรม วีถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ผ่านการบอกเล่า ถ่ายทอดความรู้ แนวความคิด เนื้อหาวิชาการ จากประสบการณ์ของผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร กำหนดถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊กไลฟ์ (facebook live) ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๑.๐๐ น. ตลอดปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ - กันยายน ๒๕๖๗
เขาโคคุดจำหลักรูปพระพุทธรูป
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
สมบัติเดิมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เขาโคคุดจำหลักรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยไว้สามด้าน ฐานเขากลม เขามีส่วนโค้งเว้า ปลายคดงอ พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะ พระรัศมีทรงกรวยขนาดใหญ่ อุษณีษะนูน พระเศียรเรียบ พระเนตรปิด พระนาสิกโด่ง พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ประทับขัดสมาธิราบ ไม่ปรากฏประวัติที่มาของเขาโค แต่จากบัญชีโบราณวัตถุ “บาญชีสิ่งของพิพิธภัณฑ์ในศก ๑๑๖” (พ.ศ. ๒๔๔๐) ระบุไว้ว่า “[รายการที่] ๑๒๔ เฃางัวแกะเป็นพระติดกัน ๓ องค์ [จำนวน] ๑ องค์”
ความเชื่อเกี่ยวกับ “เขาโค” ในสังคมไทย มีตัวอย่างปรากฏใน “ตำราโค” ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงลักษณะโคมงคล ๘ ชนิด รวมทั้งลักษณะเขาโคที่มี สี การให้คุณให้โทษ และราคาต่างกันออกไป อาทิ เขาสีดำนิลถือเป็นของมงคล กันอุบาทว์ทั้งปวง (บางฉบับกล่าวว่าแก้ปวดเมื่อยได้) ราคาทอง ๙ ตำลึง, เขาสีเหลือง มีคุณบันดาลให้เกิดสวัสดิ์มงคล อยู่เรือนผู้ใดผู้นั้นจะเป็นเศรษฐี ราคาทอง ๘-๑๐ ตำลึง, เขาสีขาวดั่งงาช้าง มีอานุภาพป้องกันไฟ ราคาทอง ๑ บาท ฯลฯ ดังนั้นเขาโคจึงเป็นสิ่งมงคลตามความเชื่อในสังคมไทย ผู้ที่ศึกษาตามตำราเกี่ยวกับลักษณะโค ย่อมรู้ว่าเขาโคลักษณะใดเป็นเขาที่ดี* ดังพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เรื่องตามเสด็จไทรโยค ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “เรื่องเขาโคเปนของผู้รู้วิธี ชั่วแลดีเลือกทำตามตำรา”
สำหรับเขาโคคุด เป็นสิ่งที่ถือกันว่าไม่ปรกติ (คำว่าคุด หมายถึง งอกงออยู่ภายในไม่โผล่ออกมาตามปรกติ) และเป็นของที่ถือกันว่า “ทนสิทธิ์” คือมีอานุภาพเกิดขึ้นเองสถิตอยู่ในวัตถุนั้น ๆ จัดเป็นเครื่องรางประเภทหนึ่ง อาทิ เขี้ยวสัตว์ เขาสัตว์ นอ งา คด แร่ หินธรรมชาติต่าง ๆ ฯลฯ วัตถุเหล่านี้มักจะนำมาลงอักขระหรือแกะเป็นรูปมงคลต่าง ๆ รวมถึงพระพุทธรูป นอกจากนี้เขาโคยังเป็นสิ่งมงคลที่ใช้ตกแต่งในพิธี มีตัวอย่างปรากฏในบันทึกเกี่ยวกับแบบแผน “พระราชพิธีฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล”** กล่าวถึงการจัดสถานที่ภายในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย สำหรับพิธีเทศมหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งจัดขึ้นในเดือน ๑๑ (ราวเดือนตุลาคม) กล่าวว่าบริเวณระหว่างเสาร่วมในฝั่งทิศใต้ถัดจากที่ประทับตั้งโต๊ะกลมวางเครื่องนอระมาดเขาโคเขาต่าง ๆ หลังโต๊ะผูกงาพลายปราบดัษกรสวมปลอกทองคำ
มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับตำราลักษณะวัวไว้บ้างแล้ว อาทิ จตุพร บุญประเสริฐ. การวิเคราะห์ตำราวัว. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาภาษาไทย). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖. ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเนื้อหาในตำราลักษณะวัวที่เก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติ และเอกสารที่พบในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งสิ้น ๒๐ ฉบับ
**ตำราฉบับนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นไว้ เนื่องด้วยพระองค์ทรงเป็นผู้บัญชาการพระราชพิธีของวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๔
อ้างอิง
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. กลอนไดเอรีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๐. สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า โปรดให้พิมพ์ประทานช่วยพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง ในงานทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปี บริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ๒๖ ภาค เล่ม ๑ ภาคที่ ๑-๑๓. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ, ๒๕๕๘.
พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ. “ตำราโค : ศาสตร์แผนโบราณของไทย” ศิลปากร ๔๑, ๓ (พฤษภาคม-มิถุนายน๒๕๔๑), ๗๓-๙๒.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ น.๔๙.๒/๑. เอกสารกระทรวงนครบาล รัชกาลที่ ๕. เรื่อง บัญชีสิ่งของพิพิธภัณฑ์ (๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๐).
ขอเชิญชม Facebook Live รายการไขความรู้จากครูกรมศิลป์ “เปิดบ้านหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นครพนม”
กรมศิลปากร ขอเชิญรับชมถ่ายทอดสด Facebook Live รายการไขความรู้จากครูกรมศิลป์ ตอน “เปิดบ้านหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม” วิทยากร นางลัดดาวัลย์ ทิพย์สิงห์ หัวหน้าหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม ผู้ดำเนินรายการ นายสิทธิพร บุปผา นักวิชาการเผยแพร่ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๑.๔๕ น. ผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ทาง Facebook Live : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ Facebook : กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร
รายการ “ไขความรู้จากครูกรมศิลป์” มีรูปแบบเนื้อหาของรายการเกี่ยวกับประวัติความเป็นไทย เกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญ ประเพณี วัฒนธรรม วีถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ผ่านการบอกเล่า ถ่ายทอดความรู้ แนวความคิด เนื้อหาวิชาการ จากประสบการณ์ของผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร กำหนดถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊กไลฟ์ (facebook live) ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๑.๐๐ น. ตลอดปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ - กันยายน ๒๕๖๗
กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ขอเชิญชมนิทรรศการ “Blending Souls : Indonesia - Thailand Painting Exhibition” จัดแสดงผลงานจิตรกรรมของ 24 ศิลปิน จากอินโดนีเซียและไทย ระหว่างวันที่ 4 - 30 ตุลาคม 2567 ณ อาคารนิทรรศการ 6 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ นิทรรศการ “Blending Souls : Indonesia - Thailand Painting Exhibition” เป็นนิทรรศการความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรมศิลปากร และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย จัดแสดงผลงานจิตรกรรมของศิลปินที่มีชื่อเสียงของทั้งสองประเทศ แสดงถึงมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน โดยนิทรรศการในครั้งนี้ มีศิลปินชาวอินโดนีเซีย จำนวน 12 คน นำภาพจิตรกรรมหลากหลายเทคนิคมาร่วมแสดงผลงานกับศิลปินไทย จำนวน 12 คน เช่น ภานุพงศ์ คงเย็น, ปานพรรณ ยอดมณี, สมโภชน์ สิงห์ทอง, สุชาติ วงษ์ทอง, สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2560 รวมผลงานที่นำมาจัดแสดงกว่า 40 ชิ้น ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ สร้างความรับรู้และเข้าใจในความหลากหลายผ่านผลงานศิลปะ เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “Blending Souls : Indonesia – Thailand Painting Exhibition” ระหว่างวันที่ 4 – 30 ตุลาคม 2567 ณ อาคารนิทรรศการ 6 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท นักเรียน นักศึกษา ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และนักบวชทุกศาสนา เข้าชมฟรี สอบถามหรือติดตามข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทาง Facebook : The National Gallery of Thailand