องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์
องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์
โบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โบสถ์พราหมณ์ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับหอพระอิศวร โดยอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ ๘ เมตร โบสถ์พราหมณ์เป็นศูนย์รวมของพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อประกอบพิธีกรรมที่สำคัญมาแต่โบราณ โดยเฉพาะพิธีตรียัมปวายและตรีปวายอันเป็นพิธีสำคัญมากของพราหมณ์ทั้งลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย
เทวรูปสำคัญที่พบหรือมีประวัติว่าเคยนำมาเก็บรักษาที่โบสถ์พราหมณ์ได้แก่ พระศิวนาฎราชสี่กรสำริด ศิลปะอินเดียภาคใต้ ราชวงศ์โจฬะ พระอุมาสำริด ศิลปะอินเดียภาคใต้ พระวิษณุ ๔ กร สำริด ศิลปะลพบุรี พระหริหระ ๔ กร สำริด ศิลปะสุโขทัย พระคเณศ ๔ กร สำริด จำนวน ๒ องค์ และพระคเณศ ๒ กร สำริด นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมหงส์ สำริด ศิลปะอินเดียภาคใต้ และนางกระดานไม้ ปัจจุบันภายในโบสถ์พราหมณ์เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ศิลา ซึ่งเดิมเคยประดิษฐานอยู่ในโบสถ์พราหมณ์ แต่หลังจากโบสถ์พราหมณ์ชำรุดจึงมีการย้ายมาประดิษฐานอยู่ในหอพระอิศวรอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๖๕ จึงย้ายศิวลึงค์ศิลาองค์ดังกล่าวกลับมาประดิษฐานยังโบสถ์พราหมณ์ดังเดิม
จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ พบว่าร่องรอยฐานรากอาคารของโบสถ์พราหมณ์ มีลักษณะเป็นฐานอาคารก่ออิฐ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๒๒ เมตร ด้านในอาคารเป็นห้องคูหา ส่วนด้านหน้าเป็นอาคารโถง ลักษณะแบบเดียวกันกับโบราณสถานฐานพระสยม ซึ่งตั้งอยู่บนถนนท่าชี ภายในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช จากหลักฐานโบราณสถานและหลักทางโบราณคดีที่พบ จึงสามารถกำหนดอายุสมัยโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ได้ในราวสมัยอยุธยา ปัจจุบันโบราณสถานโบสถ์พราหมณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙
จัดทำโดย
นายสรรชัย แย้มเยื้อน และ นายสหภาพ ขนาน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
๑) นภัคมน ทองเฝือ. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 711 ครั้ง)