ค้นหา


รายการที่พบทั้งหมด 31,556 รายการ

เลขทะเบียน : นพ.บ.267/1ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 60 หน้า ; 5 x 58.5 ซ.ม. : ทองทึบ-ลานดิบ ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 116 ลาน2  (226-231) ผูก 1 (2565)หัวเรื่อง : อภิธมฺมปิฎก สงฺเขป(พระอภิธรรมรวม)--เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม






“ สถานพระนารายณ์ ” จาก สถานรวบรวมโบราณวัตถุ สู่ ศักดิ์สิทธิ์สถาน ของชาวโคราช ___________________________________ บริเวณจุดกึ่งกลางเมืองนครราชสีมา นอกจากจะเป็นจุดสูงสุดของเมืองนครราชสีมาแล้ว พื้นที่บริเวณนี้นับว่าเป็น หัวใจของเมืองอีกด้วย เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู ที่ชาวโคราชให้ความเคารพศรัทธามาอย่างยาวนาน อันได้แก่ วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) ศาลหลักเมือง และสถานพระนารายณ์ ที่จะนำมาเสนอในวันนี้ครับ . จุดเริ่มต้นของ สถานพระนารายณ์ นั้น คงเริ่มต้นจากการเป็นจุดที่ผู้คนในอดีต นำโบราณวัตถุ ประเภทชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมหินทราย อาทิ ทับหลัง ปราสาทจำลอง กรอบประตู ประติมากรรมรูปเคารพ และรูปบุคคลหินทราย ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ โดยกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 มารวบรวมไว้ ทางด้านทิศใต้ของคูน้ำรอบอุโบสถ วัดกลางนคร แต่จะเริ่มต้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไป จุดรวบรวมโบราณวัตถุแห่งนี้ จึงถูกขนานนามหรือเรียกชื่อใหม่ โดยยึดโยงจากรูปเคารพพระนารายณ์ที่พบ ว่า หอนารายณ์ ศาลพระนารายณ์ และสถานพระนารายณ์ ในเวลาต่อมา . จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เราเห็นว่า สถานพระนารายณ์ ถูกยกให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวโคราชให้ความสำคัญ เป็นระยะเวลาอย่างน้อยกว่า 122 ปี โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์คราวล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตร และสักการะ ณ หอนารายณ์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2443 โดยจากภาพถ่ายเก่าจะเห็นได้ว่า สถานพระนารายณ์ในอดีต ถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายไม่ถาวร กระทั่ง พ.ศ.2511 สถานพระนารายณ์ถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารถาวรดังเช่นในปัจจุบัน . ใน พ.ศ.2507 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานมหาวีรวงศ์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย สถานพระนารายณ์ ในวันนี้ จึงหลงเหลือโบราณวัตถุเพียง 2 รายการเท่านั้น ได้แก่ 1. ประติมากรรมรูปพระนารายณ์ และ 2. ประติมากรรมพระคเณศวร์ ให้ประชาชน ได้เคารพจวบจนถึงปัจจุบัน และจากการขุดค้นทางโบราณคดีใน พ.ศ. 2562 ไม่พบหลักฐาน หรือร่องรอยศาสนสถานใต้ผิวดิน จึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า โบราณวัตถุดังกล่าวถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น แต่จะเป็นที่ใดนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน . ในอนาคตอันใกล้ สถานพระนารายณ์ หลังนี้ กำลังจะถูกรื้อ และสร้างใหม่ ให้งดงาม สมเกียรติ คนโคราช โดยได้รับความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลาย พ.ศ.2565 ที่จะถึงนี้ การนำเสนอในครั้งนี้ จึงมีความตั้งใจให้ทุกท่านได้รำลึก และรู้จัก สถานพระนารายณ์ แห่งนี้ไปพร้อมกัน ครับ เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา


สวัสดีค่ะ วันนี้อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ได้นำสาระน่ารู้เรื่อง บัวยอดปราสาท ไปชมกันได้เลยค่ะ บัวยอดปราสาท บัวยอดปราสาทเป็นส่วนประดับยอดของปราสาทในศิลปะเขมร มีลักษณะกลมแป้นเป็นลอนโดยรอบ บัวยอดปราสาทมีหน้าที่รองรับชิ้นส่วนคล้ายหม้อน้ำด้านบนสุดซึ่งเรียกว่า “กลศ”(กะ-ละ-สะ) สำหรับการสร้างบัวยอดเทวสถานได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากอินเดียโบราณเรียกว่า “อมลกะ” (อะ-มะ-ละ-กะ) ซึ่งมาจากคำว่า “อมลกิ” ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “ลูกมะขามป้อม” สำหรับบัวยอดปราสาทในสถาปัตยกรรมอินเดียสันนิษฐานว่าเริ่มปรากฏครั้งแรกบนยอดเสาอโศกมหาราชในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อเข้าสู่สมัยคุปตะ(พุทธศตวรรษที่๙ - ๑๐ )บัวยอดปราสาทจึงพัฒนารูปแบบเพื่อประดับบนยอดศิขร (สิ-ขะ-ระ) หรือส่วนเรือนยอดอาคาร และรองรับหม้อน้ำกลศด้านบนอย่างแพร่หลาย โดยในคติความเชื่อของฮินดูอมลกะเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดอันบริสุทธิ์และความเป็นอมตะ สำหรับบัวยอดปราสาทของปราสาทสด๊กก๊อกธมพบทั้งหมดสองชิ้นได้แก่ - บัวยอดปราสาทชิ้นที่ ๑ ทำด้วยหินทราย ด้านบนรองรับกลศซึ่งมีการเจาะรูสี่เหลี่ยมขนาด ๒๐x๒๐ เซนติเมตร เพื่อติดตั้งตรีศูล/นพศูล ปัจจุบันอยู่บนยอดปราสาทประธาน - บัวยอดปราสาทชิ้นที่ ๒ ทำจากหินทราย สลักตกแต่งเป็นรูปกลีบดอกบัวด้านบนรองรับกลศ สันนิษฐานว่าในอดีตประดับบนยอดของซุ้มประตูโคปุระด้านตะวันออก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในอาคารศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม อ้างอิง - อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (๒๕๖๒). ทิพนิยายจากปราสาทหิน. นนทบุรี: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ : หน้า ๔๕. - กรมศิลปากร.สำนักโบราณคดี. (๒๕๕๐). ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร : หน้า ๕๕๑. - วสุ โปษยะนันทน์, อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หน้า ๔๑-๔๒,๔๕,๖๔,๘๓ - Amalaka. Accessed May 25. Available from https://en.wikipedia.org/wiki/Amalaka


เกษตรศาสตร์.  คู่มือปลูกผัก ไม้ผล ไม้ประดับ และทำสวนครัว.  พระนคร: มหารัชตะการพิมพ์, 2512.         เป็นหนังสือที่แนะนำการปลูกไม้ผลไม้ประดับและทำสวนครัวซึ่งสามารถยึดทำเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสุขสบาย ซึ่ที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการเตรียมและดูแล เช่น  จอบ คราด เสียม ช้อนปลูก สองเขาขุด เครื่องรดน้ำ ต้องเลือกสถาน วางรูปสวน เลือกเมล็ดพันธ์ ศึกษาวิธีการปลุก การบำรุง การกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว การเก็บพันธุ์ และหากส่งขายต้องเลือกตลาดให้เป็น และต้องเข้าใจว่าอย่าเก็บพันธุ์จากแปลงหรือไร่ที่ปลูกผักต่าง ๆ ปะปนกันหลายชนิดไว้ปลูก อย่าใช้เม็ดพันธุ์ที่ไม่รู้ที่มา และเก็บไว้นานเกินควรสำหรับปลูก ยาที่ใช้สำหรับกำจัดโรคผักทั่ว ๆ ไป คือยาบอโคมิกซ์เจอร์ส่วนการปลูกผลไม้นั้นต้องเข้าใจในการขยายพันธ์ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การตอน การติดตา การต่อกิ่ง  การปักชำ และก การโน้มกิ่ง  ส่วนการเตรียมดินต้องเตรียมล่วงหน้าและเลือกให้เหมาะสมกับพันธุ์และชนิดที่ปลูก


 “ภูเขาน้อย” ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง (ตอนที่ ๑) ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• ภูเขาน้อย          ภูเขาน้อยเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา หลายคนอาจรู้จักจากสื่อต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา หรือการเป็นที่ตั้งป้อมหมายเลข ๙ ป้อมปราการที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาหรือพุทธศตวรรษที่ ๒๒        แม้จะเป็นที่เข้าใจกันว่า เมืองสงขลาเริ่มต้นในสมัยของดาโต๊ะ โมกอล รุ่งเรืองในสมัยสุลต่านสุไลมาน และเปลี่ยนศูนย์กลางหลังสมัยสุลต่านมุสตาฟา แต่ทราบหรือไม่ว่า พื้นที่รอบหัวเขาแดงมีผู้คนอยู่อาศัยก่อนการก่อตั้งเมืองสงขลา หรือ “ซิงกอรา” เป็นเวลาหลายร้อยปี หลักฐานสำคัญที่จะบ่งบอก “ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวแขาแดง” ได้ คือโบราณสถานภูเขาน้อยแห่งนี้          ภูเขาน้อย เป็นภูเขาหินทรายขนาดย่อม สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๓๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเขาแดง ใกล้กับแนวคูเมือง ซึ่งเชิงเขาด้านตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งของป้อมหมายเลข ๙ เนื่องจากภูเขาลูกนี้อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล จึงใช้เป็นจุดสังเกตสำหรับการเดินเรือมาตั้งแต่ในอดีต เอกสารทั้งแผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ อายุกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ และแผนที่เมืองสงขลา วาดโดย เดอ ลามาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๐ ล้วนระบุตำแหน่งของภูเขาน้อยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง          ภูเขาน้อย ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ และต่อมาได้รับประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมืองสงขลาเก่าฝั่งหัวเขาแดง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เจดีย์เขาน้อย         บนยอดภูเขาน้อยปรากฏเจดีย์ขนาดใหญ่ ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ ๒๐ เมตร ก่อด้วยอิฐและหิน สภาพปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐาน แต่พอสังเกตได้ว่าเหนือขึ้นไปมีเจดีย์ประธานตั้งอยู่กึ่งกลาง และอาจมีเจดีย์บริวารตั้งอยู่ที่มุม หลักฐานศิลปกรรมที่พบจากการขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ กำหนดอายุของโบราณสถานได้ถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีและศรีวิชัย ขณะที่เจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นหรือบูรณะใหม่ในสมัยอยุธยา แต่ลักษณะบางประการกลับคล้ายคลึงหรืออ้างอิงจากศิลปกรรมที่มีอายุก่อนหน้านั้น ผังเจดีย์เขาน้อย         ผังของเจดีย์เขาน้อยเป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเก็จนูนออกมาจากแนวระนาบของฐาน ด้านละสามเก็จ เทียบเคียงได้กับผังที่เรียกว่า ตรีรถะ (ภาษาสันสกฤต ตรี หมายถึง สาม, รถะ หมายถึง เก็จ) ประกอบด้วยเก็จประธาน ๑ เก็จอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางด้าน และ เก็จมุม ๒ เก็จ ผังนี้พบมาก่อนแล้วในสถาปัตยกรรมอินเดีย และเป็นรูปแบบที่พบร่วมกันกับวัฒนธรรมทวารวดี สังเกตได้ว่ามีเก็จที่ยื่นออกมา และส่วนผนังที่ยุบเข้าไปคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและทวารวดี มากกว่าที่พบในศิลปะเขมรและชวาภาคกลาง         อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา พบว่าฐานของเจดีย์ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นงานก่อสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยา มีการต่อเติมซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละด้าน และส่วนของฐานที่ลึกเข้าไประหว่างเก็จ  ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาบด้วยประติมากรรมพระสาวก ทั้งนี้ ยังคงลักษณะผังหรือฐานที่ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย หรือสถาปัตยกรรมทวารวดี แต่ระบบฐานอาจซับซ้อนน้อยลง กลายเป็นงานแบบพื้นถิ่นที่เรียบง่ายกว่า ชิ้นส่วนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม พบที่เจดีย์เขาน้อย         การบูรณะขุดแต่งเจดีย์เขาน้อยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ พบหลักฐานศิลปกรรมที่มีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ หลายชิ้น ส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่อาจเคยประดับศาสนสถานมาก่อน โบราณวัตถุจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา มีดังต่อไปนี้         - ชิ้นส่วนศิลาแกะสลักลวดลาย (?)  แกะสลักลวดลายที่ส่วนปลายคล้ายลายพรรณพฤกษา หรือลายมกรคายพรรณพฤกษา อาจเคยเป็นส่วนปลายของกรอบหน้าบันซุ้มที่เคยประดับฐานเจดีย์ หรืออาจเป็นเท้าแขน ที่ยื่นรองรับองค์ประกอบอื่น โดยมีเดือยสำหรับเชื่อมกับโครงสร้างสถาปัตยกรรม                 - ศิลาแกะสลักลายเส้น (?) สันนิษฐานว่าเป็นอุบะหรือพวงดอกไม้ห้อยประดับบนสถาปัตยกรรม การห้อยอุบะสื่อถึงดอกไม้สวรรค์ นำมาใช้เป็นลวดลายแกะสลักเพื่อตกแต่งแทนดอกไม้สดและความเป็นมงคล ลักษณะของอุบะที่พบที่เขาน้อยมีด้วยกัน ๒ รูปแบบ คืออุบะแบบลายเส้น มีลักษณะเป็นพวงดอกไม้ที่ห้อยลงมาเป็นเส้นขีดตรง รวบส่วนปลายด้านบนเข้าด้วยกัน และอุบะลายไข่มุก ลักษณะเป็นไข่มุกที่ร้อยเป็นเส้น ส่วนปลายด้านล่างเป็นกลีบดอกไม้         - องค์ประกอบสถาปัตยกรรม (ลวดบัว?) ลวดบัว เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึง เส้นที่ประดับเป็นแนวนอนมีส่วนนูนพ้นระนาบราบของแท่น ฐาน คาดอยู่รอบสถาปัตยกรรม ชิ้นส่วนลวดบัวที่ขุดพบที่เจดีย์เขาน้อยมีทั้งที่เป็นลวดบัวลูกแก้ว (ขอบนอกโค้งมน) และแกะสลักเป็นลายกลีบบัว สันนิษฐานว่าชิ้นส่วนที่พบเป็นส่วนประกอบของฐานเจดีย์ขนาดเล็ก หากสมบูรณ์จะต่อเนื่องกันเป็นฐานกลม อาจรองรับส่วนองค์ระฆัง เมื่อประกอบกับลายกลีบบัว จึงเป็นไปได้ว่าศาสนสถานบนภูเขาน้อยจะเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา         - องค์ระฆัง หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งอาจยืนยันได้ว่าเจดีย์เขาน้อยเคยเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนามาก่อน คือ ชิ้นส่วนองค์ระฆังขนาดเล็ก ทำจากดินเผา         - แผ่นหินสลักรูปบุคคล  แผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปรากฏรูปบุคคลตั้งแต่ศีรษะถึงไหล่ สวมมงกุฎทรงกระบอก (กิรีฏมกุฎ) มีตาบหรือแผ่นสามเหลี่ยมสามแผ่น อยู่กึ่งกลางหนึ่งแผ่น และด้านข้างอีกด้านละแผ่น สันนิษฐานว่าเป็นรูปของเทวดาหรือชนชั้นสูง ทำท่าพนมมือเพื่อสักการะเจดีย์หรือสิ่งเคารพในตำแหน่งใกล้เคียงกัน โดยมงกุฎทรงกระบอกมักใช้ระบุสถานะกษัตริย์ จึงเป็นไปได้ว่ารูปบุคคลนี้ก็มีฐานะเป็นกษัตริย์เช่นกัน         - ลายเม็ดกลมสลับสี่เหลี่ยม ชิ้นส่วนศิลาแกะสลักลายเม็ดกลมหรือเม็ดพลอย สลับสี่เหลี่ยม เรียงต่อกันเป็นแถบแนวนอน ลวดลายนี้อาจนำมาจากลายบนเครื่องประดับ และใช้ตกแต่งงานสถาปัตยกรรมเพื่อความสวยงาม ทดแทนการใช้วัสดุมีค่าจริง ลวดลายดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะจนถึงสมัยปาละ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา) แล้วส่งทอดมายังศิลปะทวารวดี และศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนคร ตัวอย่างที่พบ เช่น ลายประดับต้นสาละในถ้ำฝาโถ ราชบุรี ชิ้นส่วนตกแต่งลายประดับพบที่เมืองโบราณยะรัง ปัตตานี เสาประดับกรอบประตูที่ปราสาทออกยม ปราสาทไพรปราสาท กัมพูชา เป็นต้น         - กูฑุ หรือจันทรศาลา  ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบบนภูเขาน้อย นับเป็นหลักฐานทางศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับศิลปะอินเดีย สามารถกำหนดอายุได้ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖  ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันถึงการอยู่อาศัยของผู้คนบริเวณรอบเขาแดงมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา หรือก่อนที่ดาโต๊ะ โมกอล จะก่อตั้งเมืองสงขลา โปรดติดตามตอนต่อไป... ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• เรียบเรียงข้อมูล/ ถ่ายภาพ: เจิดจ้า รุจิรัตน์ และสิทธิศักดิ์ เหล่ากำเนิด นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• เอกสารอ้างอิง : 1. เชษฐ์ ติงสัญชลี.  ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2565. 2. กรมศิลปากร.  ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล).  สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 กรมศิลปากร, 2555. 3. ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล.  ภูเขาน้อย.  เข้าถึงเมื่อ 27 เมษายน 2565.  เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/813.   4. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร.  ศัพทานุกรมโบราณคดี.  กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.   5. สันติ เล็กสุขุม.  พัฒนาการของลายไทย : กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย.  กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2553.


          หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เรื่อง "๙๐ วัสสา ผืนป่าห่มหล้า ผืนผ้าห่มเมือง" ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕           สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยความมุมานะ ตรากตรำพระวรกายเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ด้วยมีพระราชประสงค์รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และพระราชทานพระราชดำริให้จัดทำโครงการพัฒนาที่หลากหลาย ให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์และยั่งยืน     หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมของไทย และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงงานด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย            นิทรรศการมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องในพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นำเสนอเนื้อหา ๙ หัวข้อ ได้แก่ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระมหากรุณาธิคุณแผ่ผืนหล้า ทรงพระเมตตาประชาประจักษ์ สองพระหัตถ์โอบอุ้มผืนพสุธา อนุรักษ์พัฒนาผืนผ้าไทย นำพัสตราไทยแผ่ไกลทั่วแดนดิน พัฒนาศาสตร์ศิลป์ภูมิปัญญา ทรงรักษาคุณค่ามรดกชาติ และนำราษฎร์รุ่งเรืองพัฒนาชีวิต รวมทั้งจัดแสดงลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ๕ จังหวัด ได้แก่ ลายหงส์ในโคม จังหวัดเชียงใหม่, ผ้ายก ลายดอกพิกุล จังหวัดลำพูน,   ลายเชียงแสนหงส์ดำ จังหวัดเชียงราย, ลายเอื้องแซะ ราชินีกล้วยไม้หอมแห่งเมืองสามหมอกจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ ลายละกอนไส้หมู จังหวัดลำปางลายหงส์ในโคม ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ผ้ายก ลายดอกพิกุล ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดลำพูนลายเชียงแสนหงส์ดำ ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงรายลายเอื้องแซะ ราชินีกล้วยไม้หอมแห่งเมืองสามหมอก ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนลายละกอนใส้หมู่ ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดลำปาง   ประชาชนที่สนใจเข้าชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ "๙๐ วัสสา ผืนป่าห่มหล้า ผืนผ้าห่มเมือง" สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดตามประกาศทางราชการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ทั้งนี้ ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้รับของที่ระลึกเป็นต้นไม้มงคล ท่านละ ๑ ต้น สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๕๓๒๘ ๑๔๒๔ ในวันและเวลาราชการ


      สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว)       นายห่วง มงคล ขุดได้ที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอบางโพธิ์ (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองอุตรดิตถ์) จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่งมาให้พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องก่อนประวัติศาสตร์ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร        กลองมโหระทึก สัมฤทธิ์ รูปทรงกลองแบ่งออกเป็นสามส่วนอย่างชัดเจน ส่วนหน้ากลองผายออกแล้วสอบลง กึ่งกลางหน้ากลองเป็นลายดาวหรือดวงอาทิตย์ ๑๐ แฉก ล้อมรอบด้วยเส้นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ช่องว่างแต่ละชั้นมีลวดลายประดับ คือ ลายบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนก ลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา และลายซี่หวี ตามลำดับ ขอบหน้ากลองประดับหอยโข่งสัมฤทธิ์ ๔ ตัว ส่วนตัวกลองทรงกระบอก ตกแต่งผิวเป็นลายซี่หวีและลายวงกลม หูกลองตกแต่งลวดลายคล้ายลายรวงข้าว ติดเป็นคู่อยู่ ๔ ด้านของกลอง และส่วนฐานกลองผายออก เรียบไม่มีลวดลายใด ๆ        รูปทรงและลวดลายของกลองมโหระทึกใบนี้จัดอยู่ในประเภทกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I)* ซึ่งกำหนดอายุได้ตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สันนิษฐานว่ากลองมโหระทึกใช้ตีประโคมในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์และความตาย กล่าวคือหอยโข่งที่ประดับอยู่บนขอบกลองนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ โดยหอยโข่งเป็นสัตว์ที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ เช่นเดียวกับกบหรือคางคกซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำหรือฝน ขณะเดียวกันรูปบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนก สะท้อนถึงการแต่งกายสำหรับประกอบพิธีกรรม หรือสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่ทางสังคมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ลายนกที่บินวนรอบดวงอาทิตย์หรือลายแฉกกึ่งกลางกลองนั้น ยังเป็นลวดลายหลักของกลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son Culture) ทางเวียดนาม        แม้กลองมโหระทึกประดับหอยสัมฤทธิ์ที่หน้ากลองจะไม่พบอย่างแพร่หลายมากนัก แต่ยังมีชิ้นส่วนหน้ากลองมโหระทึกประดับหอยโข่งอีกชิ้นเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต ในทางตรงกันข้ามมีกลองมโหระทึกอีกหลายใบที่ด้านข้างตัวกลองประดับหอยโข่งสัมฤทธิ์ร่วมกับสัตว์อื่น  แมลง ช้าง เป็นต้น มีตัวอย่างคือ กลองมโหระทึกประเภท เฮเกอร์ ๓ (Heger III) ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์       สำหรับพื้นที่ที่มีการขุดพบกลองมโหระทึกใบนี้ พร้อมทั้งโบราณวัตถุสัมฤทธิ์ต่าง ๆ มีประวัติกล่าวว่าขุดพบที่ม่อน (หรือเนินเขาเตี้ย ๆ) บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลจังหวัดอุตรดิตถ์ และวัดเกษมจิตตาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งต่อมาได้นำไปจัดแสดงในงานประจำปีวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตำบลทุ่งยั้ง ครั้นเมื่อทางราชการได้ไปตรวจพบจึงได้อายัดและส่งเข้ามาที่กรุงเทพฯ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐          *การกำหนดรูปแบบกลองตามความเห็นของ Franz Heger ที่กำหนดกลองมโหระทึกไว้ ๔ ประเภท คือ เฮเกอร์ ๑-๔ (Heger I - IV) โดยกำหนดให้กลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I) เป็นรูปแบบเก่าที่สุดในบรรดากลองมโหระทึกทั้ง ๔ ประเภท   อ้างอิง พิเชฐ สายพันธ์. มานุษยวิทยาอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๖๔. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี: ไทยภุมิ พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๕. เมธินี จิระวัฒนา. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๖. “แจ้งความราชบัณฑิยสภา.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๔๔ ตอน ๐ง (วันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๗๐): ๓๙๑๗.


          ลาวโซ่ง ลาวทรงดำ หรือ ไทยทรงดำ เป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สิบสองจุไทย หรือ เมืองแถง อยู่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม และถูกกวาดต้อนเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มชาวลาวโซ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันกลุ่มชาวลาวโซ่งมีการเคลื่อนย้ายและตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น           เรือนลาวโซ่งทำจากวัสดุธรรมชาติ เป็นเรือนมีใต้ถุนสูง ตัวเสาเรือนทำจากไม้เนื้อแข็งทั้งต้นที่มีง่ามสำหรับวางคาน พื้นบ้านใช้ไม้กระดานหรือใช้ฟากที่ทำจากไม้ไผ่ทุบเป็นแผ่นแล้วปูแผ่ หลังคามุงด้วยหน้าแฝกด้านหน้าและด้านหลังเป็นทรงโค้งมาเสมอกับชายคา และลาดต่ำคลุมลงมาถึงพื้นเรือนรอบผนังบ้านทุกด้าน ยอดจั่วประดับไม้แกะสลักคล้ายเขากวางไขว้ เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนลาวโซ่ง เนื่องจากถิ่นฐานเดิมของลาวโซ่งอยู่ในเขตหนาวมาก่อน การทำผนังลาดต่ำจึงช่วยป้องกันลมหนาวได้           การแบ่งพื้นที่การใช้งานภายในบ้าน บริเวณใต้ถุนบ้านใช้สำหรับเป็นพื้นที่ทอผ้า ตำข้าว สีข้าว เลี้ยงหมู เก็บเครื่องใช้ในการทำนาและจับปลา มีบันไดขึ้นที่ทางชานหน้าบ้าน มีผนังด้านสกัดกั้นภายในบ้านกับชานบ้าน ภายในบ้านไม่มีการกั้นห้องแต่มีการแบ่งพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร รับประทานอาหาร และที่นอน มุมของเสาบ้านเป็นที่เซ่นไหว้ผีเรือนทุกวันที่ ๕ และ ๑๐ วัน เรียกว่า “ปาดตง” โดยมีขันน้ำและชามข้าววางอยู่           สิ่งสำคัญที่คู่กับเรือนลาวโซ่งคือ ยุ้งข้าว สำหรับเก็บข้าวเปลือก ซึ่งมีขนาดและรูปทรงคล้ายตัวบ้าน อาจมีสะพานทอดเดินถึงกันได้ และที่สำคัญคือ มีฝาผนังที่สามารถเปิดเพื่อขนข้าวได้ มีพื้นสูงกว่าพื้นเรือน อาจเป็นเพราะชาวลาวโซ่งถือว่าข้าวมีพระแม่โพสพ ต้องเทิดทูนไว้ให้สูงกว่าบ้าน           ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นที่ตั้งของเรือนลาวโซ่งที่มีความสมบูรณ์ เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนชาติพันธุ์ลาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) อย่างแท้จริง จำนวน ๒ หลัง ได้แก่ เรือนผู้ท้าว ซึ่งเป็นเรือนหลักสำหรับพักอาศัยและประกอบพิธีกรรม และเรือนยุ้งข้าว นอกจากนั้นยังจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี และความเชื่อของชาวลาวโซ่ง อีกด้วย ------------------------------------------------------------ เอกสารอ้างอิง บังอร ปิยพันธุ์. ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๑. ธิดา ชมพูนิช. การศึกษาศิลปหัตถกรรมไทยโซ่งในจังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครปฐม, ๒๕๓๙. ------------------------------------------------------------- ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง https://www.facebook.com/153378118193282/posts/1831062817091462/  


#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านเรื่อง "ซิ่นลายน้ำไหล"จัดทำโดยนางสาวปุณธิฌา ประสาสน์ศักดิ์ นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชาการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จันทบุรี เสนอองค์ความรู้เรื่อง "เตาเชิงกราน"