ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,823 รายการ

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันสงกรานต์ 13 เมษายน” วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี คำว่า "สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง คือวันขึ้นปีใหม่นั่นเองตามความหมายในภาษาสันสกฤตสงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียก "สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสรุยคติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ 13-14-15 เมษายน โดยเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก สมัยก่อนถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยโบราณจึงคิดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกันและเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือนเมษายน ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พิธีสงกรานต์นั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ ในพิธีสงกรานต์จะใช้ น้ำ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่เกิดเป็นประเพณีกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว อีกทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่าง การสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำในคนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือเยาว์กว่า เป็นความงดงามของประเพณี การสืบทอดจรรโลงประเพณีสงกรานต์จึงน่าจะช่วยกันรักษาคุณค่าทางใจ ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและกตัญญู การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อธรรมชาติต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อว่า คนไทยทุกคนรู้จัก "นางสงกรานต์" แต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่า นางสงกรานต์ มีที่มาจากไหน โดยตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั้น ได้มีปรากฏในศิลาจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ ตรงกับวันอาทิตย์ จะชื่อ “ทุงษเทวี” ตรงกับจันทร์ ชื่อ “โคราดเทวี” ตรงกับวันอังคาร ชื่อ”รากษสเทวี” ” ตรงกับวันพุธ ชื่อ”มัณฑาเทวี” ตรงกับวันพฤหัสบดีชื่อ “กิริณีเทวี” ตรงกับวันศุกร์ ชื่อ “กิมิทาเทวี” ตรงกับวันเสาร์ ชื่อ”มโหทรเทวี” ธรรมบาลกุมาร เป็นเทพบุตรที่พระอินทร์ประทานให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย จนวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเอง โดยธรรมบาลกุมารได้ขอตอบคำถามใน 7 วัน เมื่อถึงเวลา ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมแพ้ในการตอบคำถามครั้งนี้ และก่อนจะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหม ได้เรียก ธิดาทั้ง 7 องค์ ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และในทุกๆ ปี ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ จึงเป็นที่มาของ นางสงกรานต์ โดยแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง คติความเชื่อของไทยถือว่าในวันสงกรานต์ถ้าหากได้มีการปล่อยนกปล่อยปลาแล้ว จะเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ และเป็นการสะเดาะเคราะห์ร้าย ให้คงไว้แต่ความสุขความเจริญในวันขึ้นปีใหม่ การปล่อยนกปล่อยปลาที่ทำเป็นพิธีและติดต่อกันทุกๆปี จะเห็นได้ที่ปากลัดที่มีขบวนแห่ที่สวยงาม และเอกเกริกในตอนเย็น ตอนกลางคืนจะมีการละเล่นต่างๆ เช่น การเล่นสะบ้า คนหนุ่มสาวจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกัน วันที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์คือวันตรุษไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยโบราณคู่กับวันสงกรานต์ ที่เรียกว่า “ตรุษสงกรานต์” ตรุษ แปลว่า ยินดี หมายถึงยินดีที่มีชีวิตยั่งยืนจนถึงวันนี้ จึงจัดพิธีแสดงความยินดี โดยการทำบุญ ไม่ให้ประมาทในชีวิต ปกติจะจัด 3 วัน วันแรก คือแรม 14 ค่ำ เป็นวันจ่าย วันกลาง คือแรม 15 ค่ำ เป็นวันทำบุญ มีการละเล่นจนถึงวันที่ 3 คือขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปัจจุบันนิยมรวบยอดมาทำบุญและเล่นสนุกสนานในวันสงกรานต์ช่วงเดียว วันสงกรานต์ ปี 2566 นางสงกรานต์ ทรงนามว่า "กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน วันที่ 14 เม.ย. เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาทีวันที่ 16 เม.ย. เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้วันเสาร์ เป็น ธงชัย , วันพุธ เป็น อธิบดี , วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ , วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ ปี 2566 นี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอด๊ อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549. บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541. คำทำนาย : จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี






         ท้าวขัตตคาม บนรอยพระพุทธบาทวัดเสด็จ          ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐          วัดเสด็จ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร          มุมขอบล่างแผ่นโลหะรูปรอยพระพุทธบาทสลักรูปบุคคลยืนบนแท่น ศีรษะสวมกรัณฑมงกุฎ ใบหน้ารูปไข่ ดวงตาเปิดมองตรง จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา คางเป็นปม รอบศีรษะมีรัศมี ลำตัวท่อนบนสวมเครื่องประดับ ได้แก่ กรองคอ สังวาล ทับทรวงรูปดอกไม้ พาหุรัด กำไลข้อมือ มือขวาแนบลำตัว มือซ้ายถือพระขรรค์ นุ่งผ้าสั้น สวมกำไลข้อเท้า ยืนอยู่บนฐานสิงห์ เหนือรูปสลักมีข้อความอักษรขอมสุโขทัย ภาษาไทย จารึกว่า “พระขตฺตคาม”          รูปบุคคลดังกล่าวคือ “ท้าวขัตตคาม” เนื่องจากวรรณกรรมของล้านนาเรื่อง “ชินกาลมาลินี” หรือ “ชินกาลมาลีปกรณ์” แต่งโดย พระรัตนปัญญา ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ กล่าวว่าเป็นเทวดาทำหน้าที่ปกปักรักษาเกาะลังกา ร่วมกับเทวดาองค์อื่น ๆ อีก ๓ องค์ ได้แก่ ท้าวสุมนเทวราช ท้าวรามเทวราช และท้าวลักขณเทวราช ดังปรากฏในเนื้อความตอนตำนานพระพุทธสิหิงค์ กล่าวถึงเทวดาอารักษ์ที่รักษาเกาะลังกาว่า “...ยังมีเทวดาทั้ง ๔ พระองค์ คือสุมนะเทวราชพระองค์ ๑ คือท้าวรามราชพระองค์ ๑ ท้าวลักขณราช ๑ ท้าวขัตตะคามราช ๑ แลท้าวทั้ง ๔ พระองค์นี้ มีฤทธานุภาพเป็นอันมาก พิทักรักษาซึ่งเกาะลังกาเป็นอันดี...”           ขณะที่ “นิทานพระพุทธสิหิงค์” แต่งเป็นภาษาบาลีโดย พระโพธิรังสี ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ กล่าวถึงเทวดา ๔ ตนที่ทำหน้าที่ปกปักรักษา “พระพุทธสิหิงค์” ซึ่งขณะนั้นประดิษฐาน ณ เกาะลังกา ต่างออกไปโดยไม่ปรากฏชื่อท้าวขัตตคาม ดังความว่า “...ทั้งยังมีเทพเจ้า ๔ องค์ คือ สุมนเทพ รามเทพ ลักษณเทพ กามเทพผู้มีฤทธิ์ รักษาพระพุทธรูปนั้นทุกเมื่อ...”          คติเกี่ยวกับเทวดาอารักษ์ของเกาะลังกาในข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมสุโขทัย รับความเชื่อดังกล่าวเข้ามาพร้อมการรับพุทธศาสนาสายลังกาวงศ์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมสุโขทัยตั้งแต่ช่วงแรกของรัฐสุโขทัย กระทั่งในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ครองราชย์ช่วง พ.ศ. ๑๘๙๐ ถึงประมาณทศวรรษ๑๙๑๐ พระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนาลังกาวงศ์อย่างมาก มีพระราชกรณียกิจที่สำคัญคือการจำลองรอยพระพุทธบาทตามคติรอยพระพุทธบาทเขาสุมนกูฏเกาะลังกาไว้หลายแห่ง รวมทั้งทรงอาราธนาพระอุทุมพรบุบผามหาสวามีจากเมืองพัน (เมาะตะมะ) เป็นพระอุปัชฌาย์ เสด็จออกผนวชจำพรรษา ณ วัดป่ามะม่วง ซึ่งพระอุทุมพรบุบผามหาสวามี เป็นพระภิกษุที่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่เกาะลังกา และในเวลาต่อมาพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงส่งพระสงฆ์ที่ศึกษาพุทธศาสนาลังกาสายรามัญนี้ไปยังบ้านเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงส่งพระสุมนเถระขึ้นไปเผยแผ่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ในล้านนา ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ากือนา (ครองราชย์ช่วง พ.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๒๘) จนเกิดเป็นนิกายสวนดอกในเวลาต่อมา     อ้างอิง รักชนก โคจรานนท์. การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. กรุงเทพฯ: เฮงศักดิ์มั่นคง, ๒๕๕๙. สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. พระพุทธสิหิงค์ “จริง” ทุกองค์ไม่มี “ปลอม” แต่ไม่ได้มาจากลังกา. กรุงเทพฯ:มติชน, ๒๕๔๖. สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๒.


         เนื่องด้วย “วันนวมินทรมหาราช” วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี          ตลอดระยะเวลา 70 ปี พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม เพื่อให้บ้านเมืองและประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”           นับจากวันนั้น พระองค์ทรงอุทิศพระวรกาย ในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ มากมาย นำพาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ สะท้อนออกมาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ          โบราณสถานที่สำคัญอย่างอุทยานประวัติศาสตร์ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ก็เป็นหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมอบให้ จากการที่พระองค์ได้เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2496 ทรงทอดพระเนตรเห็นความรกร้าง ขาดการดูแล หมู่พระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ ล้วนแต่ชำรุดทรุดโทรมทั่วกันตามกาลเวลา เช่น สีหมองมัว มีคราบรา และตะไคร่น้ำขึ้นทั่วไป อาคารบางหลังเหลือเพียงเสาและผนัง หลังคารั่ว ปูนเปื่อยยุ่ยผุกร่อนและอาคารบางหลังพังทลายลงในที่สุด พระองค์จึงมีพระราชดำริให้บูรณปฏิสังขรณ์พระนครคีรีขึ้นให้คงสภาพ          ดังนั้น ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี จึงขอนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 – 2558 ซึ่งเป็นเวลาถึงสามทศวรรษ ผ่านหนังสือ “รอยเสด็จฯ เพชรบุรี”   


           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เปิดสำรองที่นั่งล่วงหน้าในการเข้าร่วมกิจกรรม Museum Tour ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของงาน Music and Night at the Museum ครั้งที่ 3 ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 1 - 2 มีนาคม 2567  ขั้นตอนสำรองที่นั่ง Museum Tour 1. เปิดสำรองที่นั่ง วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00น. เป็นต้นไป 2. ทัก inbox เพจ Facebook : Songkhla National Museum : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา 3. แจ้งจำนวนที่นั่งที่ต้องการสำรอง 4. ลงทะเบียนในแบบฟอร์มเพื่อยืนยัน หมายเหตุ ทักมาแล้ว รอแอดมินตอบกลับ ทักก่อนมีสิทธิ์ก่อน !!!----------------------------------------------------ประสบการณ์ใหม่ในการชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ที่ครบทั้ง “รูป รส กลิ่น เสียง” พบกับ            1. เล่าเรื่องเมืองสงขลาผ่านดวงดาว โดยวิทยากร ธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ และ ชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา            2. รับชมชุดการแสดง Site Specific Dance ออกแบบการแสดงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรวรรณ โภชนาธาร ประธานสาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ            3. เสิร์ฟ Set Box สำรับเสน่ห์สงขลา ที่รังสรรค์วัตถุดิบท้องถิ่นให้โดดเด่น และเฉิดฉาย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ สร้างสรรค์เมนูโดย Lunaray พร้อมตกแต่งด้วยผ้ามัดย้อมบาติกเพ้นท์ ME-D นาทับ            4. ลิ้มรสเครื่องดื่มสร้างสรรค์ "Shining Songkhla" โดย เล่ากาแฟ: Laow Kafae : Specialty Coffee and Creative Cafe             5. รับของที่ระลึก "กลิ่นสงขลา" โดย San.Songkhla                 วันที่ 1-2 มีนาคม 2567 จำนวนวันละ 2 รอบ รอบละ 40 คน (มีค่าใช้จ่าย)                รอบที่ 1 เวลา 18.00น.-19.00 น.                รอบที่ 2 เวลา 19.00น.-20.00 น.


           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขอเชิญชวนทุกท่านไปเก็บภาพความสวยงามและแปลกตาของซุ้มต้นลีลาวดีที่เรียงรายสองข้างโน้มกิ่งโค้งเข้าหากันเป็นอุโมงค์ ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเชคอิน หรือไฮไลท์เมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองน่านต้องมาให้ได้สักครั้ง โดยบรรยากาศในแต่ละฤดูก็จะแตกต่างกันไป ในเดือนมีนาคมนี้ "ซุ้มลีลาวดี" กำลังออกดอกสีชมพูสดใสต้อนรับฤดูร้อน            พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เปิดให้บริการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร) ค่าธรรมเนียม ชาวไทย ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท เด็ก/นักเรียน/นักศึกษา ผู้สูงอายุ พระภิกษุสงฆ์ และนักบวชทางศาสนา เข้าชมฟรี ไม่เสียค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ ซุ้มลีลาวดี และพื้นที่ด้านนอกอาคารจัดแสดง เปิดให้บริการทุกวัน เวลา ๐๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม


           กรมศิลปากร ขอเชิญชวนร่วมงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2567 ระหว่างวันที่ 2- 8 เมษายน 2567 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พบกับการแสดงแสดงนาฏศิลป์ - ดนตรี และการเสวนาทางวิชาการ “สุดยอดการค้นพบใหม่” ในทศวรรษที่ผ่านมาของกรมศิลปากร (สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมฟังการเสวนาได้ตามลิ้งนี้ https://www.finearts.go.th/main/view/48102



         ภาพเล่าเรื่องบุคคลนั่งชันเข่า          - ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔)          - ปูนปั้น และดินเผา          - ขนาด กว้าง ๗๖.๕ ซม. ยาว ๘๐ ซม. หนา ๕ ซม.          เดิมประดับที่ฐานลานประทักษิณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เจดีย์จุลประโทน อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ได้จาการขุค้นทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ภาพปูนปั้นนี้เป็นรูปบุคคลนั่งหลังตรง หันด้านขวาของลำตัวออก ชันเข่าขวาขึ้น มือขวาประคองสิ่งของคล้ายภาชนะทรงกลมสูงตั้งบนเข่า ที่เบื้องหน้าของบุคคลดังกล่าว มีแท่นสี่เหลี่ยมตกแต่งด้านข้างด้วยลายวงกลมสลับรูปสี่เหลี่ยมฐานเว้า ด้านบนของแท่นมีชายผ้ารูปหางปลาติดอยู่ ถัดไปทางซ้ายของแท่นมีขาของอีกบุคคลหนึ่งในท่าก้าวเดิน อย่างไรก็ตาม ภาพนี้สามารถสะท้อนให้เห้นถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น เช่น ภาชนะทรงกลมมีฝาปิดเป็นรูปกรวยแหลม   แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=40076   ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th


         พัดรองที่ระลึกในงานเฉลิมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ณ พระราชวังบางปะอิน          ลักษณะ : พัดเปรียญฆราวาสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ พื้นพัดเป็นผ้าตาดทองสีแดง ปักดิ้นทองและไหม ตรงกลางปักลายกลีบบัว ประดับเลื่อมขลิบทองเป็นแนวรัศมีและกระหนกล้อมรอบ ปักขอบปัดเป็นเส้นคั่นและกรอบกระหนก ด้ามไม้คาดกลางทาบตับพัด ตรงกลางทำเป็นปุ่มนูนสองด้าน ยอดพัดเป็นงากลึงรูปหัวเม็ด มีงาแกะสลักลายกระหนกตรงคอพัดรองรับขอบพัดด้านล่าง ปลายเป็นสันงานช้างกลึง มีขนาดเล็กกว่าพัดยศทั่วไป สำหรับฆราวาสที่มีความรู้ความสามารถสอบได้เปรียญ 9 ประโยค รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่พระบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ซึ่งนับเป็นพัดพิเศษ          ความสำคัญ : ตาลปัตร หรือพัดหน้านาง ตัวพัดทำจากผ้าพื้นสีแดง ปักลายด้วยดิ้นเลื่อมเป็นริ้ว ด้ามพัดทำจากไม้ ยอดพัดและส้นพัดทำจากงาช้าง สันนิษฐานว่าเป็นพัดเปรียญ 5 ประโยค สำหรับฆราวาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์          คำว่า ตาลปัตร หรือ ตาลิปัตร นั้น มาจากคำว่า ตาล หมายถึง ชื่อต้นไม้ประเภทปาล์ม และคำว่า ปัตร หมายถึง ใบ ดังนั้น ตาลปัตร จึงแปลได้ว่า ใบตาล 7 ส่วนราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายคำว่า ตาลปัตร หมายถึง พัดทำด้วยใบตาล มีด้ามยาว สำหรับพระภิกษุถือบังหน้าในพิธีกรรมเช่นในเวลาให้ศีล ต่อมาอนุโลมเรียกพัดที่ทำด้วยผ้าหรือไหมซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นว่า ตาลปัตร หรือตาลิปัตร 8          ธรรมเนียมพระภิกษุถือตาลปัตรในการสวดแสดงธรรม และการถวายพัดยศเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ให้แก่พระภิกษุนั้น มีหลักฐานปรากฏว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ยังดินแดนประเทศไทย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างช้า          พัดเปรียญ เป็นพัดที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุสามเณร สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ที่มีการแบ่งสีพัดตามลำดับชั้นนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ สีเขียว หมายถึง พัดเปรียญธรรม 3 ประโยค สีน้ำเงิน หมายถึง พัดเปรียญธรรม 4 ประโยค สีแดง หมายถึง พัดเปรียญธรรม 5 ประโยค และสีเหลือง หมายถึง พัดเปรียญธรรมตั้ง 6 ประโยคขึ้นไป 9 นอกจากนี้พัดเปรียญยังพระราชทานแก่          คฤหัสถ์ผู้มีความชำนาญในภาษาบาลีสันสกฤตถึงขั้นเปรียญธรรม ทั้งนี้การพระราชทานพัดเปรียญแก่คฤหัสถ์ มีปรากฏด้วยกัน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพัดเปรียญ 5 ประโยคให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ผู้ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นบัณฑิตทางอรรถคดีธรรมจารีตในพระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณเจ้า ครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพัดเปรียญเป็นเกียรติยศให้แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ผู้ซึ่งเถรสมาคมยกย่องว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีเทียบเท่าเปรียญธรรม 5 ประโยค          ขนาด : ยาว 97 กว้าง 36          ชนิด : ผ้าแพร ไม้          อายุ/สมัย : รัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2432   แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=64875   ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th


            วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อพุทธศักราช 2535             นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้รับการประกาศในปีที่ผ่านมา โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา จึงขอเชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองในโอกาสที่ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะพยายามผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง              นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน   ภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้              ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 - 16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า) ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน


เทศบาลตำบลบางพลีน้อย จ.สมุทรปราการ (เวลา 11.00 น.) จำนวน 80 คน วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๐๐ น. คณะจากกองสวัสดิการสังคม สำนักงานเทศบาลตำบลบางพลีน้อย ต.บางพลีน้อย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จำนวน ๘๐ คน เข้าศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ โดยมีนางสาว ณัฏฐกานต์ มิ่งขวัญ ตำแหน่ง เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน และว่าที่ร้อยตรีรุ่งเรือง ชื่นชม ตำแหน่ง พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ เป็นวิทยากรนำชมในครั้งนี้


Messenger