ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,767 รายการ


ชื่อผู้แต่ง        - ชื่อเรื่อง         วันชุมนุมหนังตะลุง ครั้งที่พิมพ์     - สถานที่พิมพ์   สงขลา สำนักพิมพ์     ม.ป.ท. ปีที่พิมพ์        ๒๕๑๖ จำนวนหน้า    ๑๐๓ หน้า รายละเอียด    เป็นหนังสือที่ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งศิลปะการแสดงหนังตะลุงดั้งเดิม ให้ดำรงอยู่เป็นสัญลักษณ์การแสดงของชาวไทยภาคใต้ และเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังตะลุง       แก่ประชาชนในทางที่ถูกต้อง


          กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” ระหว่างวันที่ ๑๕ พฤษภาคม - ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร          ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นหนึ่งในความทุกข์ ๔ ประการของมนุษย์ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้คนต่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้วย่อมสร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจต่อตัวผู้ป่วยเอง จนต้องหาหนทางบำบัดรักษาให้หายจากโรคภัยนั้น แต่ถ้าหากโรคภัยเกิดขึ้นกับคนในสังคมพร้อม ๆ กัน ย่อมต้องมีความอลหม่าน วุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย แม้ว่าเราเรียนรู้ว่าโรคระบาดได้สร้างความเจ็บป่วยล้มตายแก่คนในสังคมมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันระบบสาธารณสุข มีการพัฒนาสามารถควบคุมและจัดการโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เราห่างไกลจากคำว่า “โรคระบาด” จนกระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ( Covid-19) สร้างวิกฤติให้กับประชากรโลกตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา จึงเกิดการเรียนรู้เพื่อสู้โรคขนานใหญ่ องค์ความรู้ด้านการรักษาโรคในอดีตถูกพลิกฟื้น ควบคู่ไปกับการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตยารักษา และวัคซีนป้องกันโรค มุ่งหมายเพื่อหาแนวทางการบำบัดแก้ไขโรคร้ายให้คลายลง          ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์พยายามแสวงหาหนทางให้พ้นจากโรค ไม่ว่าจะด้วยสัญชาตญาณ การสังเกตจากธรรมชาติและสัตว์ การลองผิดลองถูก จนสั่งสมขึ้นเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ในการรักษาโรค ซึ่งมีทั้งการรักษาเยียวยาทางกาย และจิตใจ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และยังคงต้องคิดหาหนทางใหม่ ๆ ที่จะต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ หากเราได้ศึกษาเรียนรู้โรคภัย ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรค ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่อันสำคัญของแต่ละบุคคล ชุมชน รัฐ และผู้นำ ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีต นำมาวิเคราะห์ ปรับใช้ ในการจัดการของทุกภาคส่วนของสังคมมนุษย์ก็อาจผจญกับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างเท่าทัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต          เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจโรคระบาดที่ประชากรโลกกำลังเผชิญอยู่ กรมศิลปากรจึงได้กำหนดจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” อันหมายถึงความปรารถนาที่จะให้ปวงมนุษยชาติพ้นจากโรค ประกอบด้วยหัวข้อ มนุษย์กับโรคภัย นำเสนอเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ โรคภัยของมนุษย์จากหลักฐานทางโบราณคดี นำเสนอโรคต่าง ๆ ที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากหลักฐานต่าง ๆ ทั้งทางด้านโบราณคดี ภาพจิตรกรรมฝาผนัง จารึก และบันทึกต่าง ๆ ศาสตร์แห่งการรักษา นำเสนอแนวทางการรักษาโรคที่มีวิธีอธิบายสมุฏฐานและวิธีบำบัดโรคมากกว่าหนึ่งวิธีได้แก่ ศาสตร์ด้านความเชื่อ ศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทย และศาสตร์ด้านการแพทย์แผนตะวันตก และสังคมระดมปัญญา สู่ชีวิตวิถีใหม่ นำเสนอการจัดการวิกฤติโรคระบาดในสังคมไทยให้ผ่านพ้นจากโรคร้ายด้วยพลังของทุกภาคส่วนในสังคม          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม จนถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)คัมภีร์พระตำรับแผนฝีดาษศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕           พระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นอักษรสาสนโสภนและหลวงสารประเสริฐทรงชำระและชำระเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้มาจากห้องสมุดกรมศึกษาธิการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สมุดไทยดำ อักษรขอมปนไทย เส้นชุบทอง ประกอบด้วยแผนภาพฝีดาษประจำ ๑๒ เดือน วิธีการรักษา พร้อมทั้งตำรับยาในการรักษาอาการระดับต่างๆ (ยามหาระงับ เอก โท) รวมไปถึงการอธิบายลักษณะของฝีขึ้นวันกำเนิดเป็นฝีร้ายและลักษณะฝีที่ขึ้นเครื่องประดับข้อพระกร ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา หอยเบี้ยจั่นพร้อมตลับและสายสร้อยข้อมือทองคำ พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ สันนิษฐานว่าเป็นการนำหอยเบี้ยมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง เนื่องด้วยหอยเบี้ยมีตลับปิดมิดชิด ในศาสนาฮินดูใช้หอยเบี้ยจั่นเป็นตัวแทนพระลักษมีในการบูชาพระนาง โดยที่พระนางลักษมี เป็นเทวีแห่งโชคลาภ การบูชาด้วยเบี้ยจั่นจึงถือว่าทำให้เกิดความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้ปกติแล้วเบี้ยจั่นใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนซื้อขายมาแต่โบราณ โดยใช้เป็นเงินปลีก ตัวตัวอย่างจารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาไทย) หลักที่ ๑ พ.ศ. ๑๙๐๔ กล่าวถึงการบำเพ็ญทานฉลองพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า “แล้วกระยาทานคาบนั้นทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน หมากสิบล้าน ผ้าจีวรสี่ร้อย บาตรีสี่ร้อย หมอนนั่งสี่ร้อย หมอนนอนสี่ร้อย...”สมุดไทยขาวตำราแม่ซื้อ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร หนังสือสมุดไทยขาว หมวดเวชศาสตร์ เลขที่ ๑๐๒ เขียนภาพลงสี ลักษณะแม่ซื้อประจำวันต่างๆ และลำบองราหู ลักษณะที่เกิด พร้อมทั้งวิธีแก้ บรรยายภาพด้วยอักษรไทย ลายเส้นสีดำ จิตรกรรมลำบองราหู ที่ปรากฏในสมุดไทยเล่มนี้ เป็นรูปอมนุษย์ ที่แสดงลักษณะอาการของโรคในเด็กทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบขวบปี โดยความเจ็บไข้ของเด็กในช่วงปีแรกเกิดขึ้นเพราะอำนาจของลำบองราหู ที่มีอาการและรูปลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน รูปลักษณ์ของลำบองราหูจึงปรากฏการใช้สัญลักษณ์ประจำจักรราศี (๑๒ ราศี) มาเป็นองค์ประกอบของรูปเพื่อสื่อความหมายถึงโรคภัยในเดือนนั้นๆ ด้วย ภาพลำบองราหูที่ปรากฏในหนังสือสมุดไทยขาวเล่มนี้ มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรลำบองราหู บริเวณคอสองเฉลียงศาลาราย (ศาลาแม่ซื้อ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหารพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ นายเสียง ปาลวัฒน์ (เป้า) สร้างอุทิศให้นายสำรวย ปาลวัฒน์ (บุตร) รูปเคารพทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่มีเค้าลางเรื่องการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ เรียกว่า พระช่วยชีพ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงจีวรลายดอก ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ถือเป็นพระพุทธรูปกลุ่มที่นิยมสร้างเพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา มีการเว้นที่ว่างสำหรับจารคำอธิษฐาน ขออำนาจพุทธเทวดาบันดาลให้บุตรหายป่วย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องการต่ออายุด้วยการอุทิศรูปเคารพ ในลักษณะเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปถวายเจ้านายพระองค์สำคัญอย่าง พระนิรโรคันตราย พระพุทธนิรโรคันตราย หรือ พระพุทธศรีสงขลานครินทร์พระกริ่งบาเก็ง ศิลปะจีน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม พระเครื่องจำลองรูปพระไภษัชยคุรุ นิยมนำไปใส่ลงในภาชนะเพื่อทำน้ำมนต์ สำหรับดื่มชำระโรคภัยและใช้ประพรมเพื่อความเป็นสิริมงคล มีต้นแบบสำคัญอยู่ในประเทศทิเบต แล้วแพร่หลายต่อไปยังประเทศจีน โดยพระกริ่งกลุ่มนี้พบบนเขาพนมบาเก็ง ประเทศกัมพูชา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ทั้งนี้ แม้ความเชื่อเรื่องการดื่มน้ำมนต์เพื่อรักษาโรคจะถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการใช้ประพรมก็ตาม แต่อำนาจพุทธคุณของพระกริ่งยังคงเป็นที่นับถือสืบมาจนปัจจุบันแท่นหินบดยา มีจารึกเยธมฺมาฯ ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พบที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๕๐๗ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ แท่นหินบดยา พบเหลือครึ่งแท่นตามแนวขวาง ใต้แท่นหินบดยา มีคาถา เยธมฺมาฯ จำนวน ๕ บรรทัด อักษร ปัลลวะ ภาษาบาลี นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร) ได้อธิบายว่า การนำคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนามาจารึกบนแท่นหินบดยาจะทำให้ตัวยาศักดิ์สิทธิ์ด้วยพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะพ้นจากโรคคือการพ้นจากทุกข์ ปัจจุบันพบแท่นหินบดยาที่มีจารึกคาถาเยธมฺมาเพียง ๒ ชิ้น จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนในสมัยทวารวดีที่มีต่อพระพุทธศาสนาและปรุงยารักษาโรคหน้ากากให้ยาสลบแบบชิมเมลบุช สเตนเลส พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน หน้ากากชิมเมลบุช เป็นเครื่องมือทางวิสัญญีวิทยา ประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2433 โดย นพ.เคอร์ท ชิมเมลบุช ศัลยกรรมชาวเยอรมัน มีลักษณะเป็นตะแกรงหน้ากากโปร่ง หุ้มด้วยผ้าสำสีหรือผ้าก็อซสำหรับหยดยาสลบ แล้วนำไปครอบจมูกและปากให้ผู้ป่วยสูดดม ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ยุคเริ่มแรกสำหรับการผ่าตัดภายในโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ศัลยแพทย์ในการผ่าตัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยได้อย่างดีประติมากรรมฤาษีดัดตน ศิลปะรัตนโกสินทร์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณ และศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำริเอาท่าดัดตนของโยคีอินเดียที่เป็นการออกกำลังกายที่ใช้ศิลปะ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง และแก้ปวดเมื่อย ปั้นด้วยดินเป็นฤาษีดัดตนท่าต่างๆ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้หล่อเป็นเนื้อชินปืนกลพระสุบินบันดาล ศิลปะรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๔) คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น ตามที่ทรงพระสุบินว่ามีปืนอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปปืนใหญ่แต่ยิงได้หลายๆ นัด ตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปืนตามกระแสพระสุบิน เมื่อสร้างเสร็จ ทอดพระเนตรแล้วก็รับสั่งว่าไม่เหมือนที่ทรงพระสุบิน แต่ยิงได้หลายนัดคล้ายคลึงกัน จึงพระราชทานชื่อว่า “พระสุบินบันดาล”


องค์ความรู้จากกองโบราณคดีใต้น้ำ เรื่อง ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูนที่พบในแหล่งเรือจมที่มาของข้อมูล : กองโบราณคดีใต้น้ำ  www.facebook.com


      ประติมากรรมรูปพุทธประวัติ ตอน มารวิชัย       สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔       กรมพระราชพิธีส่งมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔       ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร       ประติมากรรมทองเหลืองประดับแก้วสี แสดงตอนมารวิชัย กึ่งกลางเป็นฐานชุกชี และเบื้องหลังคือต้นโพธิ์ที่ใบประดับแก้วสี เบื้องล่างมีรูปพระแม่ธรณียืนบิดมวยผม ด้านซ้ายของฐานชุกชีเป็นรูปหมู่พญามาร ซึ่งมีพระยาวัสวดีมาราธิราชทรงอาวุธประทับบนคอช้างคีรีเมขลามหาคชสาร และบริวารถือวารถืออาวุธมุ่งไปยังโพธิบัลลังก์ ด้านขวาเป็นรูปพระยาวัสวดีมาราธิราชยกมือไหว้ มืออื่นแสดงการถือดอกบัว (ยอมแพ้ต่อพระบารมีของพระพุทธเจ้า) ส่วนบริวารจมไปกับสายน้ำ บางตนแสดงการยกมือไหว้เหนือศีรษะ บางตนถูกจระเข้สังหาร       ประติมากรรมพุทธประวัติชิ้นนี้เป็น ๑ ใน ๒๗ รายการ ที่เล่าเรื่องปฐมสมโพธิตอนต่าง ๆ แม้ไม่ปรากฏประวัติของผู้สร้างและปีที่สร้าง แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เนื่องด้วยในรัชกาลของพระองค์มีการเรียบเรียงพุทธประวัติขึ้นใหม่ชื่อว่า “ปฐมสมโพธิกถา” โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ประกอบกับเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงได้คิดค้นรูปแบบของพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าที่สัมพันธ์กับเรื่องราวพุทธประวัติเป็นปางต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมรวม ๔๐ ปาง       เหตุการณ์ตอนมารวิชัย เป็นเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ ในเรื่องปฐมสมโพธิกถา ปริเฉทที่ ๙ มารวิชัยปริวรรต กล่าวว่าเป็นตอนที่พระโพธิสัตว์ (เจ้าชายสิทธัตถะ) เผชิญหน้ากับเหล่าพญามารที่ประสงค์จะทำร้ายพระองค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ถึง ๙ ประการ แต่ก็มิอาจทำอันตรายใดๆ แก่พระโพธิสัตว์ได้ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า    “...ลำดับนั้น [ฝ่ายพญามาร-ผู้เขียน] ก็แสดงฤทธิให้เป็นห่าฝนนานาวิธาวุธวิเศษ มีประเภทคือคมข้างเดียวแลคมทั้งสองข้าง บ้างก็เป็นพระขรรค์แลดาบหอกจักรธนูศรเสน่าเกาทัณฑ์เป็นต้น ให้ตกลงมาเป็นควันเป็นเปลวเพลิงมาบนอัมพราประเทศ พอถึงพระกายก็กลายเป็นทิพยมาลาเลื่อนลอยลงบูชาทั้งสิ้น...”         ในท้ายที่สุดพระโพธิ์สัตว์ทรงใช้พระดัชนี (นิ้วชี้) แตะที่พื้นแผ่นดินพร้อมเปล่งวาจาเรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานในการแสดงพระบารมีของพระองค์ที่ได้สั่งสมไว้เพื่อขจัดเหล่ามารทั้งปวง เมื่อพระแม่ธรณีปรากฏขึ้นเบื้องหน้าพระโพธิสัตว์ได้บิดน้ำจากเมาลี ซึ่งแทนด้วยคุณธรรมที่พระโพธิ์สัตว์สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติ กลายเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกรากพัดพาเหล่าพญามารทั้งปวง ดังข้อความว่า    “...ครั้งนั้นหมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำปลาตนาการ*ไปสิ้น ส่วนคีรีเมขลคชินทรที่นั่งทรงองค์พระยาวัสวดีก็มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ก็ลอยไปตามธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร...”        หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ พระโพธิ์สัตว์จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดับสิ้นซึ่งกิเลสทั้งปวง ดังข้อความว่า “...พอเป็นเวลาตัมพารุณสมัย** ไขแสงทองส่องอร่ามฟ้า สมเด็จพระมหาสัตว์ก็ตรัสรู้พระสัพพัญญุตัญญาณ ดับสูญสิ้นอาสวกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน***...” ซึ่งการตรัสรู้ของพระองค์ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ อีกทั้งวันดังกล่าวยังตรงกับเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้าอีกสองเหตุการณ์ คือ การประสูติ และปรินิพพานของพระองค์ด้วยเช่นกัน       ดังนั้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี จึงถูกกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่รู้จักกันในนามของวันวิสาขบูชา (Vesak Day) และถือเป็น “วันสำคัญของโลก” อีกด้วย   *ปลาตนาการ หมายถึง การหนีหายไปสิ้น **ตัมพารุณสมัย หมายถึง เวลารุ่งอรุณ ***สมุจเฉทปหาน หมายถึงการละกิเลสได้ขาดอย่างพระอรหันต์     อ้างอิง ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระ. ปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๓๐. (รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐). . เสริมกิจ ชัยมงคล. “ประติมากรรมขนาดเล็ก เล่าเรื่องปฐมสมโพธิหรือพระพุทธประวัติที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.” ใน พิพิธวิทยาการ รวมบทความวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์วิทยา ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๔.




1. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ชุด ภ สข สบ 1 นางสาวกษมาณัชญ์ นิติยารมย์ (รหัสดิจิทัล na04d-img001) 2. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ชุด ภ สข สบ 2 นายสาคร จันทมณีโชติ (รหัสดิจิทัล na04d-img002) 3. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ชุด ภ สข สบ 3 นายจรัส จันทร์พรหมรัตน์ (รหัสดิจิทัล na04d-img003) 4. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ชุด ภ สข สบ 4 นายอัมพร จังคุณากร (รหัสดิจิทัล na04d-img004) 5. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ชุด ภ สข สบ 5 นายอนันต์ คำเรืองศรี (รหัสดิจิทัล na04d-img005) 6. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ชุด (2) ภ สข สบ 5 นายอนันต์ คำเรืองศรี (รหัสดิจิทัล na04d-img006) 7. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ชุด ภ (2) สข (อ) ภาพรับมอบโครงการรวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา (รหัสดิจิทัล na04d-img008) 8. เอกสารลายลักษณ์ ชุด สฎ 0016 กระทรวงมหาดไทยมณฑลชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี (รหัสดิจิทัล na04d-tex001) 9. เอกสารลายลักษณ์ ชุด (6) กค 3 เอกสารกระทรวงการคลัง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (รหัสดิจิทัล na04d-tex003) 10. เอกสารลายลักษณ์ ชุด (12) ศธ 2 เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา (รหัสดิจิทัล na04d-tex005) 11. เอกสาร แผนที่ แผนผัง แบบแปลน ชุด ผ หจช สข สข ศธ 13 สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา (รหัสดิจิทัล na04d-cat004) 12. เอกสาร โสตทัศนจดหมายเหตุ (ฟิล์มเนกาทีฟ) ชุด ฟ หจช สข สบ 1 นายธนู แก่นทับทิม (ภาพข่าวเหตุการณ์สำคัญจังหวัดชุมพร) (รหัสดิจิทัล na04d-neg001) 13. เอกสาร โสตทัศนจดหมายเหตุ (ฟิล์มเนกาทีฟ) ชุด ฟ หจช สข สศก 12 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช (รหัสดิจิทัล na04d-neg002) ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.finearts.go.th/songkhlaarchives/ categorie/valuable-gallery  



ชื่อเรื่อง                                    สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม  (สงฺคิณี-มหาปฏฺฐาน) อย.บ.                                       25/1ประเภทวัสดุ/มีเดีย                 คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                                 พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                            82 หน้า : กว้าง 4.6 ซม. ยาว 55.8 ซม.หัวเรื่อง                                     พุทธศาสนาบทคัดย่อ/บันทึก               เป็นคัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ฉบับทองทึบ ไม้ประกับธรรมดา ได้รับบริจาคมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา


องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เรื่อง  ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดีเรียบเรียงโดย  นายสายกลาง  จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี  สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่---------------------------------     การนำเสนอข้อมูลครั้งนี้ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่าเนื้อหาอาจจะยาวกว่าทุกครั้งที่เคยเรียบเรียง เนื่องจากเป็นการประมวลข้อมูลเพื่อให้เห็นทั้งภาพกว้างและรายละเอียด ซึ่งครั้งนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมค่อนข้างมาก รวมถึงมีศัพท์เฉพาะทางประวัติศาสตร์ศิลปะตลอดทั้งเนื้อหา ผู้เขียนจึงอยากให้ผู้อ่านค่อยๆทำความเข้าใจและดูภาพประกอบตาม คิดว่าสิ่งที่ผู้เขียนนำมาบอกเล่าในวันนี้คงไม่ยากเกินที่ผู้อ่านทุกท่านจะทำความเข้าใจได้แน่นอน และเรื่องราวที่จะนำเสนอในวันนี้ คือ “ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี”     สุโขทัยและล้านนา คือ สองอาณาจักรยิ่งใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงและสถาปนาขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สุโขทัยสถาปนาขึ้นก่อนในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ส่วนล้านนาสถาปนาต่อมาในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ทั้งสองอาณาจักรมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งในแบบมิตรภาพช่วยเหลือและเป็นคู่แข่งทางการเมืองตามวิถีการก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาหลงเหลือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีจวบจนปัจจุบันสะท้อนออกมาในรูปแบบผังเมือง สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ฯ     ครั้งนี้เราจะมาลองคลี่ร่องรอยหลักฐานและแนวคิดของสุโขทัย ที่ทิ้งไว้ในพื้นที่ล้านนา ว่ามีอะไร และปรากฏที่ใดบ้าง     ก่อนอื่นถ้าลองลิสต์เรื่องราวที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ของล้านนามาคร่าวๆ เราพอจะเห็นกรอบความสัมพันธ์ว่าล้านนากับสุโขทัยสัมพันธ์ในเรื่องใด ห้วงเวลาใด     ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังรายว่าได้เชิญพญางำเมืองกับพญาร่วง(พ่อขุนรามคำแหง) มาให้คำปรึกษาในการสร้างเมือง      ตำนานมูลศาสนา กล่าวถึง พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาจำพรรษาที่เชียงใหม่เพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์     ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงท้าวยี่กุมกามพาพระยาไสลือไทเข้ามาตีเอาเมืองเชียงใหม่จากพญาสามฝั่งแกน แต่ไม่สำเร็จ ส่วนหลักฐานเชิงประจักษ์ อะไรคืออัตลักษณ์แห่งสุโขทัยที่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ความเป็นสุโขทัยได้มาตั้งมั่นอยู่ในที่ต่างๆของล้านนาแล้ว     เท่าที่ผู้เขียนพอจะวิเคราะห์ได้ อัตลักษณ์ความเป็นสุโขทัยที่เด่นชัดในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประกอบด้วยสิ่งดังนี้1.เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์2.บัวถลา (องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเจดีย์)3.เจดีย์ช้างล้อม4.มณฑป5.การขุดคูน้ำล้อมรอบศาสนสถานนอกจากนั้นยังมีหลักฐานสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักที่น่าจะเป็นอิทธิพลแนวคิดของสุโขทัยที่ปรากฏในล้านนา คือ รูปแบบผังเมืองที่เมืองที่เชียงใหม่อาจได้รับอิทธิพลการวางผังเมืองและระบบน้ำจากสุโขทัย     จากการเปรียบเทียบผังเมืองเชียงใหม่และสุโขทัย พบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมีนัยยะทั้งในเรื่องรูปแบบ แผนผังและขนาด โดยพบว่าผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยทิศตะวันตกของเมืองเป็นภูเขา มีการชักน้ำจากเขาด้านตะวันตกมาสัมพันธ์กับเมือง เมืองสุโขทัยมีการวางระบบชลประทานด้วยการสร้างคันดินกั้นระหว่างเขาเกิดเป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำที่เรียกกันว่า สรีดภงส์ น้ำจากสรีดภงส์ไหลเข้าสู่คูเมืองสุโขทัยบริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้  ส่วนเมืองเชียงใหม่นั้นชักน้ำจากดอยสุเทพผ่านห้วยแก้วมาเข้าคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือแจ่งหัวลิน ทั้งสองเมืองมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สุโขทัยมีบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เป็นทำนบ 3 ด้าน ระบบชลประทานเหล่านี้ของสุโขทัยน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ดังปรากฏคำจารึกจากศิลาจารึกหลักที่ ๑  (พ.ศ.1835) ว่า “เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏี พิหาร ปู่ครูอยู่ มี สรีดภงส์...”  ถ้าดูในส่วนของเมืองเชียงใหม่จะพบว่าแผนที่โบราณนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 แสดงตำแหน่งสระขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หนองบัว” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกเมือง สอดคล้องกับเนื้อความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงชัยมงคลข้อหนึ่งในการสร้างเมืองที่เป็นหนองน้ำใหญ่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง  ด้านขนาดพบว่าทั้งสองเมืองมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยเมืองเชียงใหม่มีขนาดกว้างด้านละประมาณ 1,600 เมตร ส่วนเมืองสุโขทัย กว้าง 1,400 เมตร ยาว 1,810 เมตร เมื่อเทียบเวลาการครองราชย์และช่วงเวลาสร้างเมืองพบว่าพญาร่วงครองราชย์ปี 1822 โดยเวลานั้นมีการย้ายเมืองจากบริเวณวัดพระพายหลวงมาเป็นเมืองสุโขทัยที่มีผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่นี้แล้ว โดยเมืองเชียงใหม่ถูกการสถาปนาขึ้นให้หลังไปอีกเล็กน้อยในปี 1839 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเมืองเชียงใหม่อาจได้รับรูปแบบการวางผังเมืองจากสุโขทัย (ในประเด็นนี้ได้มีการเสนอแนวคิดใหม่ในปัจจุบันว่า อาจมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ผังเมืองเชียงใหม่จะได้รับอิทธิพลจากทางพม่าหรือจีนด้วยอีกทาง)     มาสู่เรื่องหลักฐาน รูปแบบ องค์ประกอบเจดีย์ของสุโขทัย ที่ปรากฏตามที่ต่างๆของล้านนา อัตลักษณ์แรกของสุโขทัยที่จะหยิบยกมากล่าว คือ “เจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์” ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด เพราะไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ชนิดที่ว่าไปอยู่ที่ไหน เหมือนมีเสียงตามสายประกาศว่า สุโขทัยมาแล้วจ้า     ในล้านนาพบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งหมด 4 องค์ คือ เจดีย์ธาตุกลาง ซึ่งเป็นวัดร้างนอกประตูเมืองเชียงใหม่ทิศใต้ เจดีย์วัดพระเจ้าดำ เจดีย์ประจำมุมของวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ และเจดีย์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน ปัจจุบันปรากฏสภาพหลงเหลือเพียง 2 องค์ คือ เจดีย์ธาตุกลาง และเจดีย์วัดพระเจ้าดำ     เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ คืองานรังสรรค์ออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของสุโขทัย เพราะเป็นการนำของเก่า คือ องค์ประกอบของปราสาทขอม ล้านนา ผสมผสานเข้ากับการออกแบบใหม่ การนำฐานบัวลูกแก้วอกไก่แบบล้านนา ต่อด้วยฐานบัวลูกฟักแบบขอม เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุแบบขอมที่บีบให้สูงเพรียวประดับด้วยกลีบขนุนที่มุม คือการนำอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมประยุกต์และผนวกเข้ากับส่วนยอดที่เป็นองค์ระฆังแบบดอกบัวตูมซึ่งเป็นการออกแบบใหม่ ทำให้เกิดเป็นเจดีย์รูปแบบใหม่ต่างจากเจดีย์ทุกแบบที่มีในโลก ทั้งนี้เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ในล้านนาที่มีความเหมือนกับต้นแบบในเมืองสุโขทัยมากที่สุด  คือ เจดีย์วัดพระเจ้าดำ โดยมีสัดส่วนและระเบียบเหมือนกับที่มีในสุโขทัย ประกอบกับการพบกำแพงแก้วล้อมรอบวัดเป็นลักษณะเสาระเนียด แบบเดียวกันกับที่ปรากฏที่เมืองศรีสัชนาลัยที่วัดช้างล้อม ต่างเพียงเสาระเนียดของวัดช้างล้อมสร้างด้วยศิลาแลง แต่วัดพระเจ้าดำสร้างด้วยอิฐหน้าวัวก่อเรียงขึ้นรูปเป็นเสากลม จึงกล่าวได้ว่าวัดแห่งนี้มีความเป็นสุโขทัยอย่างแท้จริง ในส่วนเจดีย์วัดธาตุกลางนั้น มีลักษณะที่กลายไปจากต้นแบบพอสมควร คือ เหนือเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังแทนที่จะเป็นลักษณะดอกบัวตูมตามแบบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ และเหนือองค์ระฆังมีบัลลังค์ในผังกลม ซึ่งตามระเบียบเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ไม่มีองค์ประกอบดังกล่าวนี้ ส่วนเจดีย์อีกสององค์ที่ไม่ปรากฏสภาพในปัจจุบันแต่ทราบได้จากภาพถ่ายเก่าคือเจดีย์วัดสวนตาล จังหวัดน่าน และเจดีย์ประจำมุมวัดสวนดอก ซึ่งถูกก่อครอบในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เมื่อพิจารณาถึงอายุสมัยและเนื้อหาประวัติศาสตร์พบว่า เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนรัชสมัยพระเจ้าลิไท ของสุโขทัย เนื่องจากปรากฏข้อความในจารึกเขาสุมนกูฎ ที่ระบุว่าพระยาลิไทเสด็จไปปิดทองพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.1912 แสดงให้เห็นว่าเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และได้กลายเป็นรูปแบบหลักของเจดีย์ประธานช่วงสมัยพระเจ้าลิไท ในพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งช่วงดังกล่าวนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการแพร่เข้ามาของอิทธิพลสุโขทัยในล้านนา คือ การที่พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย มาประดิษฐานศาสนาพุทธแบบลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่ ทำให้รูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของสุโขทัยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาแพร่หลายเข้าสู่ล้านนาในช่วงเวลานี้     อัตลักษณ์ความเป็นสุโขทัยลำดับสองที่จะขอกล่าวถึง คือ “บัวถลา” ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มักจะพบในเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย     ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย มีลักษณะอย่างไร      เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีรูปแบบเรียบง่าย ประกอบด้วยฐานเขียงผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสและต่อด้วยบัวคว่ำซ้อนกันหรือที่เรียกว่าบัวถลาซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆังมีขนาดใหญ่ ส่วนบนเป็นปล้องไฉนและปลียอด  ในล้านนามีการนำองค์ประกอบสำคัญในเจดีย์สุโขทัยมาประยุกต์ใช้กับเจดีย์ล้านนา คือ การนำบัวถลา (ชุดบัวคว่ำ) มารองรับองค์ระฆังแทนชุดบัวคว่ำ-หงาย     เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยที่เหมือนกับต้นแบบในสุโขทัยที่สุดที่พบในล้านนา คือ กู่ม้า จังหวัดลำพูน โดยเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่อยู่บนฐานเขียงแบบเรียบง่าย องค์เจดีย์รองรับด้วยบัวถลาซ้อน 3 ชั้น กู่ม้านี้กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 จากการเทียบเคียงกับเครื่องถ้วยล้านนาจากการขุดทางโบราณคดีในพื้นที่ เมื่อพิจารณาร่วมกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานได้ว่ากู่ม้าอาจสร้างขึ้นในคราวที่พระสุมนเถระพำนักอยู่ที่เมืองลำพูนก่อนจะไปจำพรรษายังเมืองเชียงใหม่ อีกแห่งคือเจดีย์วัดป่าแดงบุนนาค จังหวัดพะเยา วัดแห่งนี้พบจารึกระบุผู้สร้างคือพญาร่วง ซึ่งน่าจะหมายถึง พญายุธิษฐิระ ที่มาจากเมืองสองแควมาสวามิภักดิ์ต่อพญาติโลกราชและได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองพะเยา ภายในเจดีย์พบพระพุทธรูปที่ระบุว่าสร้างปี 2019 หลักฐานดังกล่าวจึงยืนยันถึงอิทธิพลสุโขทัยที่มีอย่างต่อเนื่องในต้นพุทธศตวรรษที่ 21     การปรากฏของบัวถลาในล้านนาในเวลาต่อมาเริ่มมีการนำส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นบัวถลาผสมผสานเข้ากับชุดฐานบัวแบบล้านนา ดังปรากฏในเจดีย์กลุ่มเมืองลำปาง อาทิ เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่น่าจะกำหนดอายุได้ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ตามหลักฐานจารึกที่กล่าวถึงการบูรณะพระธาตุลำปางหลวงในปี 2019 และเจดีย์วัดพระแก้วดอนเต้า ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบดูว่าการนำบัวถลาไปเป็นองค์ประกอบเจดีย์ทรงระฆังปรากฏอยู่ที่พื้นที่ใดของล้านนามากที่สุด พบว่าเชียงใหม่คือพื้นที่ที่ปรากฏบัวถลาในเจดีย์มากที่สุด อาทิ บัวถลาในผังกลม ที่วัดป่าพร้าวใน วัดหนองหล่ม วัดแสนตาห้อย วัดกลางเวียง (เวียงท่าท่ากาน)  / บัวถลา 8 เหลี่ยม  วัดเชษฐา วีดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น วัดป่าอ้อย วัดอุโมงค์อารยมณฑล / บัวถลา 12 เหลี่ยม พระธาตุดอยสุเทพ วัดชมพู วัดหมื่นพริก วัดหัวข่วง วัดต้นโพธิ์ (เวียงท่ากาน) ฯ ในส่วนของบัวถลาที่ปรากฏในเจดีย์พื้นที่เมืองแพร่นั้น เป็นกรณีพิเศษแยกออกมากล่าวถึงเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีการสร้างรูปแบบเป็นลักษณะโดดเด่นเฉพาะตน โดยขอหยิบยกเจดีย์พระธาตุช่อแฮมาเป็นกรณีศึกษา     พระธาตุช่อแฮมีความเป็นสุโขทัยปรากฏในการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นบัวถลา  ส่วนความเป็นล้านนา คือ การทำส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม หากพิจารณาถึงหลักฐานการมีขึ้นของเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม พบว่าเกิดขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 สมัยพระเจ้าติโลกราช ปรากฏที่เจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้หากทบทวนการเกิดขึ้นของรูปแบบเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ที่รัตนเจดีย์ เมืองหริภุญชัย(ลำพูน)ก่อน จากนั้นจึงมาปรากฏหลักฐานในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ที่เจดีย์อินทขิล เชียงใหม่ และมาปรากฏหลักฐานอีกครั้งที่อนิมิสเจดีย์ หนึ่งในสัตมหาสถานของวัดเจ็ดยอดในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงค่อนข้างแน่ชัดว่ารูปแบบการสร้างเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยมเกิดขึ้นบริเวณล้านนาฝั่งตะวันตก (แอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน) แต่สิ่งที่เมืองแพร่ปรับปรุงให้มีความเป็นเฉพาะตนคือ การมีหน้ากระดานของชุดบัวถลาแต่ละชุดมีขนาดใหญ่กว่าบัวถลาค่อนข้างมาก บัวถลาในผังแปดเหลี่ยมของวัดพระธาตุช่อแฮ (และในเมืองแพร่) มีพัฒนาการต่อเนื่องจากบัวถลาซ้อน 7 ชั้น สู่ 10 ชั้น ที่เจดีย์วัดพระธาตุจอมแจ้ง ส่วนในพื้นที่เมืองเชียงใหม่พบการทำชั้นบัวถลาเพียง 3 – 5 ชั้น จึงกล่าวได้ว่าเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยมซ้อน 7 – 10 ชั้น เป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์เมืองแพร่ที่ผนวกทั้งความเป็นสุโขทัย ล้านนาฝั่งตะวันตก และความเป็นตัวของตัวเอง     ผู้เขียนมีข้อสันนิษฐานประการหนึ่งเกี่ยวกับการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นรูปแบบต่างๆ ว่าตั้งแต่ช่วงพญาสามฝั่งแกน – พญาติโลกราช (กลางพุทธศตวรรษที่ 20 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 21) รูปแบบเจดีย์น่าจะเป็นเรื่องสำคัญของสังคมสงฆ์ในเวลานั้นที่ค่อนข้างแบ่งฝักฝ่าย แต่ละนิกายจึงต้องมีรูปแบบทางศิลปกรรมของตนเองที่ชัดเจนและพยายามรักษารูปแบบของตนเองเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของนิกาย เมื่อพิจารณาข้อมูลพื้นฐาน เจดีย์แบบดั้งเดิมที่นิยมในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน เชียงแสน คือเจดีย์ทรงทรงปราสาท (เจดีย์กู่กุด เจดีย์เชียงยืน เจดีย์วัดธาตุเขียว เจดีย์วัดป่าสัก เจดีย์กู่คำ) โดยมีการปรากฏขึ้นของเจดีย์ทรงกลมที่เก่าแก่ที่สุดคือ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ เจดีย์องค์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ในพุกามที่เป็นศิลปะลังกา คือ เจดีย์ฉปัฏ ที่สร้างขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ถ้าพิจารณาตามนี้จะเห็นว่ารูปแบบเจดีย์ในนิกายพื้นเมืองเดิมก่อนการเข้ามาของพระสุมนเถระ คือ เจดีย์แบบปราสาทยอดที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากหริภุญชัย และเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาที่ได้รับมาจากพุกาม ซึ่งอย่างหลังนี้ได้ถูกพัฒนาต่อโดยการรักษาส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดบัวคว่ำ-หงายไว้ แต่ดัดแปลงเปลี่ยนเส้นลูกแก้วทั้งสองเส้นที่คาดที่ท้องไม้ชุดบัวไปเป็นลูกแก้วอกไก่ และเปลี่ยนจากฐานเขียงไปเป็นชุดฐานบัวสองฐานในผังยกเก็จ ซึ่งรูปแบบนี้มีระเบียบสมบูรณ์ครั้งแรกในเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย     ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเจดีย์ที่เป็นจุดเปลี่ยนทางรูปแบบที่สำคัญ คือ เจดีย์วัดป่าแดง และเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ ถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่า พญาติโลกราชเลือกสร้างเจดีย์วัดป่าแดง (พ.ศ.1991) ให้มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นเป็นบัวถลาและฐานมีช้างล้อมแทนที่จะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เพราะเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน) และพระราชมารดา ซึ่งสองพระองค์น่าจะอุปถัมป์สงฆ์นิกายวัดสวนดอก(ลังกาวงศ์สายรามัญ) ที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยพญากือนา  และพญาติโลกราชน่าจะมองเห็นว่าบัวถลาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับลังกา (พอๆกับการทำประติมากรรมช้างล้อม) พญาติโลกราชจึงเก็บบัวถลาไว้เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับนิกายที่พระองค์อุปถัมป์เป็นพิเศษ คือนิกายวัดป่าแดงที่เป็นลังกาวงศ์สายใหม่ โดยจะเห็นการผสมผสานองค์ประกอบสำคัญในรัชสมัยพระองค์คือ การสร้างประติมากรรมช้างล้อมรอบฐานเจดีย์ทรงปราสาท อาทิ เจดีย์วัดป่าแดง เจดีย์หลวง เจดีย์วัดเชียงมั่น  ซึ่งเดิมก่อนหน้าสมัยพระเจ้าติโลกราชพบหลักฐานการทำช้างล้อมปรากฏเฉพาะกับเจดีย์องค์ระฆัง อาทิ เจดีย์วัดสวนดอก (เชียงใหม่)  และพระธาตุช้างค้ำ (น่าน) นอกจากนั้นยังผนวกบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมเหนือหลังคาลาดของเรือนธาตุ ดังนั้นบัวถลาในผังแปดเหลี่ยมจึงน่าจะริเริ่มและเป็นที่นิยมขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช พร้อมๆกับความซบเซาลงของเจดีย์ทรงระฆังที่มีบัวถลาในผังกลมที่อาจเป็นตัวแทนของนิกายวัดสวนดอก และเจดีย์ทรงระฆังกลมแบบล้านนา(แบบหริภุญชัย) ที่น่าจะสัมพันธ์กับนิกายพื้นเมืองเดิมที่มีรูปแบบสืบมาตั้งแต่เจดีย์วัดอุโมงค์     คราวนี้มากล่าวถึงอีกหนึ่งอัตลักษณ์ ที่ปรากฏที่ไหนก็ต้องคิดถึงสุโขทัยอยู่ร่ำไป “เจดีย์ช้างล้อม”     ปัจจุบันในล้านนาพบเจดีย์ช้างล้อมทั้งหมด 13 องค์ จาก 7 พื้นที่ คือ เมืองเชียงใหม่ สบแจ่ม แม่อาย เวียงกุมกาม เมืองเชียงแสน เมืองแพร่ และเมืองน่าน ที่พบในเมืองเชียงใหม่ประกอบด้วย เจดีย์วัดป่าแดงหลวง เจดีย์หลวง เจดีย์วัดเชียงมั่น เจดีย์วัดพระสิงห์ เจดีย์วัดสวนดอก ที่พบในเวียงกุมกาม ประกอบด้วยเจดีย์วัดหัวหนองและเจดีย์วัดช้างค้ำ ที่เมืองเชียงแสน ประกอบด้วยเจดีย์วัดช้างค้ำและเจดีย์วัดภูข้าว ที่เมืองน่าน คือ เจดีย์วัดช้างค้ำ เมืองแพร่ คือ เจดีย์วัดหลวง  ส่วนเจดีย์ช้างค้ำสององค์ที่พบใหม่ล่าสุดของล้านนา คือ เจดีย์วัดช้างค้ำ ที่แหล่งโบราณคดีสบแจ่ม ซึ่งเป็นบริเวณที่ลำน้ำแจ่มสบกับลำน้ำปิงในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งโบราณคดีนี้ยังพบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีความเหมือนกับของสุโขทัยที่สุด ทำให้พื้นที่นี้ได้รับการขนานนามว่า “สุโขทัยน้อยแห่งล้านนา” และเจดีย์ช้างล้อมอีกแห่ง คือ วัดส้มสุก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าจากทั้งหมดนี้พบการทำช้างล้อมคู่กับการทำบัวถลารองรับองค์ระฆังถึง 6 แห่ง คือ เจดีย์วัดป่าแดง เจดีย์หลวง(เชียงใหม่) เจดีย์วัดเชียงมั่น เจดีย์วัดช้างค้ำ(น่าน) เจดีย์วัดหลวง(แพร่) และเจดีย์วัดส้มสุก(เชียงใหม่) นอกนั้นคือเจดีย์วัดสวนดอกและวัดพระสิงห์ ส่วนรองรับองค์ระฆังไม่ใช่บัวถลาแบบสุโขทัยแต่เป็นชุดบัวคว่ำ-หงายในผังกลมแบบล้านนา และเจดีย์อื่นๆไม่ปรากฏส่วนที่จะสันนิษฐานรูปแบบของส่วนรองรับองค์ระฆังได้      ออกจากเรื่องเจดีย์ มาเข้าสู่อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ ที่สะท้อนถึงความเป็นสุโขทัย “มณฑป”     มณฑป คือ อาคารที่มีผังเป็นรูปที่เหลี่ยม ภายในมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนขึ้นไป เชื่อกันว่ามณฑปหมายถึง คันธกุฎี สถานที่พำนักของพระพุทธเจ้าขณะยังพระชนม์ชีพ     มณฑปท้ายวิหารโถงที่วัดพระธาตุภูเข้า อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีองค์ประกอบที่แสดงถึงอิทธิพลแบบสุโขทัย เหนือเรือนธาตุเป็นชั้นหลังคาลาด หลังคาเป็นชั้นซ้อน รูปแบบมณฑปที่มีหลังคาเช่นนี้พบโดยทั่วไปในศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะที่เมืองสุโขทัย เช่น มณฑปวัดกุฏีราย มณฑปวัดสวนแก้วอุทยานน้อย อายุสมัยการสร้างมณฑปแบบหลังคาซ้อนชั้นนี้ไม่อาจกำหนดอายุจากรูปแบบได้มากนัก แต่หลักฐานจากการขุดค้นที่วัดสระปทุม ศรีสัชนาลัย ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพระธาตุภูเข้า พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง จึงกำหนดอายุที่ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทั้งนี้มณฑปในล้านนาอาจมิใช่การรับอิทธิพลจากสุโขทัยเพียงสายเดียว แต่อาจเป็นการรับรูปแบบจากพุกามในอีกทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากมณฑปของวัดเกาะกลาง จังหวัดลำพูน กับมณฑปวัดล่ามช้าง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีระบบเสาแกนกลางรับน้ำหนักแบบศิลปะพม่าที่พุกาม     และร่องรอยสุดท้ายของสุโขทัยในล้านนาที่นำมาบอกเล่าในวันนี้ คือ การขุดคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน ในเมืองสุโขทัยพบหลักฐานคูน้ำล้อมศาสนสถานแทบทุกแห่ง คูน้ำนี้อาจเป็นสัญลักษณ์แทนมหานทีสีทันดรที่ล้อมเขาพระสุเมรุที่เหนือขึ้นไปเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์จุฬามณี ที่มีเจดีย์ประธานของวัดเป็นตัวแทน และอาจเป็นประโยชน์ในเชิงการกักเก็บและจัดการน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่ จากการศึกษาพบว่าวัดในล้านนาแทบจะไม่ปรากฏการทำคูน้ำล้อมรอบวัด มีเพียงสองแห่งที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน คือ วัดเสาหิน อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ที่มีการขุดคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำคูน้ำล้อมเป็นเขตของวัดในล้านนาว่าน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพระสุมนเถระมาจำพรรษที่เมืองเชียงใหม่ เห็นได้จากวัดสวนดอกที่พระสุมนเถระจำพรรษามีลักษณะเป็นเวียงพระธาตุ คือ เป็นวัดที่มีคูน้ำ-คันดินล้อมรอบ มีเจดีย์วัดสวนดอกเป็นประธานกลางพื้นที่ จึงกล่าวได้ว่าเวียงสวนดอกนี้คือการรับอิทธิพลแนวคิดในการสร้างศาสนสถานโดยการสถาปนาเป็นพื้นที่ศักด์สิทธิ์ตามคติจักรวาลวิทยาที่ได้มาจากสุโขทัย แนวคิดนี้น่าจะมีการขยายและนำไปปรับใช้ในระยะเวลาต่อๆมาในล้านนา ดังจะเห็นได้ว่าในล้านนามีศาสนสถานหลายแห่งที่มีลักษณะเป็นเวียงพระธาตุ ที่สร้างศาสนสถานบนเนินหรือยอดเขาโดยมีการขุดคูล้อมรอบ จำนวนตั้งแต่ 1-3 คูคันดิน     และที่นำมาบอกเล่าในวันนี้ คือภาพรวมของร่องรอยความเป็นสุโขทัยในสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และแนวคิดการก่อสร้างต่างๆที่ปรากฏในล้านนา ที่ผู้เขียนพยายามเรียบเรียงนำมาบอกเล่าให้กระชับที่สุดด้วยเกรงว่าผู้อ่านจะเบื่อหน่ายเนื่องด้วยมีเรื่องราวรูปแบบและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจในรายละเอียดพอสมควร ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่ยังไม่กระจ่างและต้องการการอธิบายเพิ่มเติม ขอผู้อ่านพิมพ์ข้อคำถามทิ้งไว้ใต้การนำเสนอนี้ได้ ผู้เขียนจักได้ตอบเพื่อความเข้าใจของทุกท่านยิ่งขึ้น และขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามการนำเสนอองค์ความรู้ของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เสมอมา-----------------------------------     สุดท้ายนี้อยากจะขอฝากติดตามชม การบรรยายทางวิชาการ ในหัวข้อเรื่อง "ร่องรอยสุโขทัยในล้านนาจากหลักฐานทางโบราณคดี" โดย นายสายกลาง  จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี  สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ผ่านทาง  Facebook live เพจ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย


ชื่อเรื่อง                                        สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม  (สงฺคิณี-มหาปฏฺฐาน) อย.บ.                                           32/6ประเภทวัดุ/มีเดีย                       คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่                                     พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ                              42 หน้า : กว้าง 5 ซม. ยาว 53 ซม.หัวเรื่อง                                        พุทธศาสนาบทคัดย่อ/บันทึก               เป็นคัมภีร์ใบลาน เส้นจาร ฉบับทองทึบ ไม้ประกับธรรมดา ได้รับบริจาคมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา


จากการสำรวจขุดค้นแหล่งเรือจมบางกะไชย 2 อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี พบปืนใหญ่จำนวน 2 กระบอก ซึ่งใช้เป็นอาวุธประจำเรือ ที่สามารถป้องกันการบุกรุกจากเรือโจรสลัดได้ในระยะไกล วันนี้จึงขอนำเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับหลักฐานปืนใหญ่ที่พบจากแหล่งเรือจมลำนี้


ปทฺวาทสปริตฺต (ทฺวาทสปริตฺต-ตติยภาณวาร-ภาณปลาย) ชบ.บ 124/1ก เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 162/2 เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


          นางหาริตี           สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔           วัสดุสัมฤทธิ์           ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระราชทานมาให้พิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร          รูปสตรีสัมฤทธิ์ รวบผมเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย สวมกระบังหน้ามีกรรเจียกจร กรองศอ สร้อย รัดต้นแขน และกำไลข้อมือ นุ่งผ้ายาว อยู่ในท่านั่งเท้าแขนซ้ายกับแท่น พับขาซ้าย ห้อยขาขวา โดยที่มือขวาประคองกุมารที่กำลังดูดนมจากอก  ด้านหลังมีหมอนอิง ส่วนกุมารสวมตุ้มหู กรองศอ ในมือขวาถือวัตถุ มือซ้ายโอบหลังสตรี กุมารนุ่งผ้ายาวจรดข้อเท้า และสวมกำไลข้อเท้า         ประวัติที่มาของประติมากรรมชิ้นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในลายพระหัตถ์ทูล สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “...ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อหม่อมฉันตามเสด็จขึ้นไปมณฑลพายัพ ไปเห็นรูปหล่อของโบราณทำเป็นรูปผู้หญิงอุ้มทารกมีอยู่ที่ บ้านพระพิทักษ์นายตำรวจภูธร หม่อมฉันเห็นแปลกขอเขาเอาลงมาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถาน ทีหลังสังเกตดูรูปนั้นออกประหลาดใจด้วยรูปทารกทำแบบโบราณ เช่นใส่ตุ้มหูเป็นกะแปะเหมือนอย่างภาพที่นครปฐม แต่ตัวนางนั้นทำหน้าและเกล้าผมเป็นแบบใหม่เหมือนอย่างเจ้าพราหมณ์ที่เล่นละคร เกิดสงสัยเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ให้เอารูปนั้นออกขัดสีดู ก็แลเห็นทองที่หล่อหัวนางผิดสีกับทองที่หล่อตัว หัวเป็นของหล่อต่อภายหลัง ส่อให้เห็นว่าหัวเดิมคงจะถูกต่อยทิ้งในพิธีเสียกะบาล ได้ความรู้เพิ่มขึ้นว่าพิธีเสียกะบาลนั้น ต้องเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ทีเดียว...”         รูปสตรีสัมฤทธิ์นี้ สันนิษฐานว่า เป็นรูปนางหาริตี (Hārītī) ยักษินีในพุทธศาสนานิกายมหายาน มีหน้าที่คุ้มครองเด็กและเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา ตามตำนานกล่าวว่าเดิมนางชื่อ อภิรตี เป็นน้องสาวของยักษ์ชื่อศาตศิริ (ยักษ์ผู้รักษาเมืองราชคฤห์) ต่อมานางแต่งงานกับยักษ์ปาญจิกาและมีลูก ๕๐๐ ตน อย่างไรก็ตามด้วยอุปนิสัยชอบกินเด็ก ทำให้นางมักขโมยเด็กเมืองราชคฤห์มากินเสียเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า “หาริติ” แปลว่า ผู้ขโมยเด็ก ชาวเมืองราชคฤห์ได้รับความเดือดร้อนมากจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอให้พระองค์ช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าจึงได้นำลูกคนเล็กในบรรดาบุตร ๕๐๐ ตน นามว่า “ปริยังกร” ไปซ่อน เมื่อนางหาริตีหาปริยังกรไม่เจอก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อให้พระองค์ช่วยตามหา พระองค์จึงตรัสสั่งสอนจนนางหาริตีสำนึกผิดและกลับใจได้ พระพุทธเจ้าจึงคืนบุตรคนเล็กให้นาง ซึ่งต่อมาบุตรทั้ง ๕๐๐ ตนได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าจนบรรลุธรรมทั้งหมด รูปเคารพนางหาริตีพบได้แพร่หลายทั้งใน ธิเบต เนปาล จีน ชวา โดยทั่วไปมักทำเป็นรูปยักษินี (หาริตี) ทั้งแบบนั่งห้อยขาข้างหนึ่งหรือยืน ทำท่าอุ้มเด็กไว้บนหน้าตักหรือแนบอก โดยที่มือข้างหนึ่งถือผลทับทิมอันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ บางครั้งประติมากรรมนางหาริตียังปรากฏคู่กับยักษ์ปาญจิกา สามีของนาง       อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมรูปสตรีอุ้มเด็กที่กำลังดูดนมดังกล่าว ยังอาจสื่อถึงตอนพระกฤษณะดูดนมอสูรปุตนะ (Putana) ตามเนื้อเรื่องกฤษณาวตาร มีเนื้อเรื่องว่า พระกฤษณะเติบโตท่ามกลางหมู่คนเลี้ยงโค ในช่วงขวบปีแรกพญากังสะส่งอสูรถึงสามตนเพื่อทำร้ายพระองค์ อสูรตนแรกคือปุตนะ (Putana) แปลงร่างเป็นหญิงสาวมาให้นมพระกฤษณะ โดยใส่ยาพิษไว้ในนม แต่พระกฤษณะรู้ทันจึงดูดนมจนอสูรปุตนะทนไม่ไหวสิ้นชีพลงในที่สุด   อ้างอิง กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๐. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๐. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๘ มกราคม ๒๕๖๕, จาก httpsvajirayana.orgสาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๐พฤศจิกายนวันที่-๑๘- พฤศจิกายน-พศ-๒๔๘๐-ดรfbclid=IwAR2ddusVr2G627J1-ELwQ1LQMvjbZadK2M1P- p7ira10rDyMlRjoCxLmqcY ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ อักษรสมัย, ๒๕๔๓. ส. พลายน้อย (นามแฝง). เทวนิยาย. พิมพ์ครั้งที่๔. กรุงเทพฯ ยิปซี, ๒๕๕๕.


Messenger