ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,775 รายการ
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สังกัด : สำนักพิพิธภัณฑสถ่านแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ที่ตั้ง : ภายในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
จัดสร้าง : พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๖
พิธีเปิด : วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๙.๐๐ น. โดยองค์ประธาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พร้อมเปิดให้บริการ : วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖
ภารกิจหน้าที่ :
กรมศิลปากรจัดสร้างอาคารคลังกลางโบราณวัตถุหลังใหม่ เพื่อกำหนดหน้าที่ให้เป็นคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินงานโดยกลุ่มทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและสารสนเทศ สังกัดสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. ศูนย์กลางรวบรวม จัดเก็บ และบริการด้านโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสังกัดกรมศิลปากร ดูแลรักษาโบราณวัตถุให้อยู่ในสภาพปลอดภัย พร้อมให้บริการหมุนเวียนไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร หรือนิทรรศการพิเศษในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ตลอดจนสนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ และประชาสัมพันธ์คุณค่ามรดกศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร และประเทศไทย
๒. เป็นต้นแบบมาตรฐานสากลการบริหารจัดการคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในการดูแลรักษาโบราณวัตถุให้มีความยั่งยืนและปลอดภัย
๓. ให้บริการศึกษาค้นคว้าโบราณวัตถุฯ (Study Collection) จากฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้งที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และทางแพลตฟอร์มออนไลน์ บริการภาพถ่ายโบราณวัตถุ และบริการการศึกษาชิ้นงานโบราณวัตถุในพื้นที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แก่นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชน ตามระเบียบวิธีการที่กรมศิลปากรกำหนด
๔. เก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ (แก้ไขเพิ่มเติมฯ พ.ศ.๒๕๓๕) และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
อาคาร :
อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอย ๓๐,๐๐๐ ตารางเมตร ความสูง ๔ ชั้น รูปทรงอาคารเป็นทรงไทยประยุกต์ นำเส้นสายฐานบัวในงานสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใช้เป็นกรอบด้านนอกของอาคาร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ไทยด้วยวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งการระบายอากาศที่ดี สามารถนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในอาคาร และเหมาะสมกับสถานที่ตั้งที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในอาคารเลือกใช้วัสดุประเภทเหล็ก คอนกรีต อลูมิเนียมและกระจกเป็นหลัก ไม่ใช้วัสดุประเภทไม้เพื่อลดโอกาสที่จะมีแมลงเข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งอาจทำลายโบราณวัตถุที่จัดเก็บอยู่ภายใน
ห้องคลังโบราณวัตถุ :
ปัจจุบันกรมศิลปากรดำเนินการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดิมและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ รวมจำนวน ๑๑๓,๘๔๙ รายการ เข้าเก็บรักษาตามประเภทวัสดุ ภายในอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ รวมพื้นที่ใช้สอย ๒๖,๑๔๐ ตารางเมตร จำแนกห้องคลังตามประเภทวัสดุ รวม ๑๐ ห้องคลัง ดังนี้
๑. คลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทหินและปูนปั้น
ด้วยปัจจัยของขนาดและน้ำหนักของโบราณวัตถุประเภทหินและปูนปั้น ห้องคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประเภทหินและปูนปั้น จึงกำหนดไว้ที่ชั้น ๑ รวมพื้นที่ ๓,๐๐๐ ตารางเมตร
๒. คลังโบราณวัตถุฯ ประเภทดินเผาและแก้ว
วัสดุโบราณวัตถุดินเผาและแก้วเป็นอนินทรีย์วัตถุที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงจัดวางในห้องคลังบนชั้น ๒ ฝั่งตะวันออก พื้นที่ ๒,๕๐๐ ตารางเมตร แยกเป็น ๒ ห้องย่อย ประกอบด้วย ห้องคลังเครื่องปั้นดินเผา ๑ จัดเก็บเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จัดวางเป็นกลุ่มตามแหล่งที่มาและกลุ่มวัตถุเอกลักษณ์พิเศษ ห้องคลังเครื่องปั้นดินเผา ๒ จัดเก็บเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี ถึงสมัยรัตนโกสินทร์
๓. คลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทโลหะ
คลังโบราณวัตถุฯ ประเภทโลหะอยู่บนชั้น ๒ ฝั่งตะวันตกมีพื้นที่ ๔,๑๐๐ ตารางเมตร แบ่งเก็บโบราณวัตถุตามหน้าที่ใช้สอบใน ๓ ห้องย่อย ได้แก่ ห้องคลังโลหะ ๑ ประกอบด้วยโบราณวัตถุเนื่องในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธรูป ศาสนสถานจำลอง รอยพระพุทธบาท พระศรีอารยเมตรัย พระสาวก พระพิมพ์ เป็นต้น
ห้องคลังโลหะ ๒ ประกอบด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ ได้แก่ อาวุธ เงินตรา วิทยุ โทรศัพท์ ภาชนะ กล้องส่องทางไกล กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องทำบัญชี เครื่องคิดเลข เครื่องบดยาสมุนไพร เป็นต้น
ห้องคลังโลหะ ๓ ประกอบด้วยโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาความเชื่ออื่นๆ ได้แก่ เทวรูป พระโพธิสัตว์ เทพเจ้า แม่โพสพ แม่ซื้อ บุคคล รูปสัตว์ และเครื่องดนตรี เป็นต้น
๔. คลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทไม้
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทไม้ จัดเก็บในห้องคลังชั้น ๓ ขนาด ๓,๖๐๐ ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทอินทรียวัตถุโดยเฉพาะ โดยแบ่งเป็น ๒ ห้องย่อยคือ
ห้องคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ไม้ ๑ จัดเก็บงานประณีตศิลป์ แบ่งกลุ่มจัดวางตามหน้าที่ใช้งาน ได้แก่ เครื่องเรือน ชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ห้องคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ไม้ ๒ จัดเก็บศาสนวัตถุ แบ่งกลุ่มจัดวางตามหน้าที่ใช้สอย ได้แก่ รูปเคารพในศาสนา และเครื่องใช้ในพิธีกรรม
๕. คลังโบราณวัตถุฯ ประเภทอินทรีย์วัตถุอื่นๆ
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทอินทรียวัตถุที่มีความอ่อนไหวสูงต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ความร้อน จัดเก็บตามประเภทในห้องคลังชั้น ๓ พื้นที่รวม ๓,๐๐๐ ตารางเมตร แบ่งกลุ่มวัตถุออกเป็น ๒ ห้องย่อย คือห้องคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประเภทผ้า กระดาษ กระดูก งา เขาสัตว์ และห้องคลังโบราณวัตถุศิลปวัตถุประเภทหนังสัตว์
โบราณวัตถุ :
จำนวนโบราณวัตถุ ๑๑๓,๘๔๙ รายการ ที่จัดเก็บภายในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีที่มาจากการดำเนินงานปกป้องมรดกศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
๑. โบราณวัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดิม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
๒. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานของกรมศิลปากร
๓. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการรับมอบ รับบริจาค และจัดซื้อจากหน่วยงานและภาคประชาชน
๔. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากคดีลักลอบค้าโดยผิดกฎหมาย
๕. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
๖. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นำส่งมาเก็บรักษาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่าง ๆ
การบริการ คลังเพื่อการศึกษา Study Collection :
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกได้พัฒนางานบริการทางวิชาการ โดยออกแบบและบริหารจัดการคลังพิพิธภัณฑ์ให้สามารถให้บริการในรูปแบบ “คลังเพื่อการศึกษา” แก่นักวิชาการ นักศึกษาที่สนใจศึกษาวัตถุพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ ทั้งโดยการศึกษาวัตถุ และสอบค้น จากฐานข้อมูลโบราณวัตถุศิลปวัตถุบนแพลตฟอร์มออนไลน์
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงจัดการให้บริการศึกษาค้นคว้าโบราณวัตถุ เป็น ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับแรก คือบริการการศึกษาค้นคว้าในห้องฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ห้องสมุด และแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งผู้ศึกษาสามารถเข้าใช้บริการได้ในพื้นที่บริการทั่วไป ระดับที่ ๒ คือการศึกษาโบราณวัตถุ ซึ่งต้องแจ้งขออนุญาตเข้าศึกษาในพื้นที่ชั้นใน โดยการดูแลของเจ้าหน้าที่
๑. พื้นที่ให้บริการระดับแรก
๑.๑ ห้องสมุดเฉพาะด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์วิทยา
๑.๒ ห้องสืบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
ผู้ศึกษาสามารถเข้าใช้บริการคอมพิวเตอร์สอบค้นโบราณวัตถุ จากฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการค้นคว้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งที่อยู่ในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และประสานขอข้อมูลโบราณวัตถุที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ทั้งนี้ผู้ศึกษายังสามารถเข้าศึกษาฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ findantique.finearts.go.th
สำหรับผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นสืบค้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จะต้องลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกทาง https://findantiue.finearts.go.th กำหนดรหัสผ่านส่วนตัว และยืนยันรหัสผ่านส่วนตัวแล้วจึงสามารถเข้าสืบค้นฐานข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ
๑.๓ บริการสำเนาไฟล์ภาพถ่ายโบราณวัตถุ โดยมีค่าธรรมเนียมตามระเบียบกรมศิลปากร
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีภาพถ่ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจัดเก็บไว้จำนวนมากกว่าหนึ่งแสนรูป พร้อมให้บริการไฟล์ภาพถ่ายเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้ โดยผู้ศึกษาไม่ต้องถ่ายภาพโบราณวัตถุด้วยตนเอง ผู้สนใจสามารถยื่นคำร้องได้ที่ห้องสอบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หรือสืบค้นด้วยตนเองทางช่องทางเว็บไซต์ findantique.finearts.go.th แล้วยื่นคำร้องขอสำเนาไฟล์ภาพถ่ายโบราณวัตถุทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ registraonm@gmail.com หรือเว็บเพจ facebook.com/nationalmuseumstorage
๒. พื้นที่ให้บริการระดับที่ ๒
๒.๑ บริการศึกษาโบราณวัตถุ
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้บริการศึกษาโบราณวัตถุแก่ผู้ยื่นคำร้องขอเข้าศึกษาโบราณวัตถุ ในพื้นที่ควบคุมชั้นใน ตามขั้นตอนและระเบียบวิธีที่กรมศิลปากรกำหนด ดังนี้
- สืบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเลือกรายการโบราณวัตถุที่ต้องการศึกษา
- กรอกคำร้องขอเข้าศึกษาโบราณวัตถุ โดยระบุรายละเอียดโบราณวัตถุ เช่น ชื่อโบราณวัตถุ เลขทะเบียน ชนิด จำนวน ให้ถูกต้องครบถ้วน แล้วยื่นคำร้องขอเข้าศึกษาโบราณวัตถุต่อผู้ช่วยภัณฑารักษ์
- เมื่อได้รับอนุญาต จะได้เข้าใช้บริการในห้องศึกษาโบราณวัตถุในพื้นที่ควบคุม โดยการอำนวยความสะดวกของผู้ช่วยภัณฑารักษ์
- เมื่อศึกษาโบราณวัตถุเสร็จสิ้น ผู้ช่วยภัณฑารักษ์จะตรวจสอบสภาพโบราณวัตถุว่าไม่มีการทำลายหรือทำให้โบราณวัตถุชำรุดเสื่อมสภาพ จากนั้นลงนามส่งคืนโบราณวัตถุกลับห้องคลังพิพิธภัณฑ์ กรณียื่นคำร้องผ่านช่องทางออนไลน์ จะได้รับการนัดหมายวันเวลาเข้าศึกษาโบราณวัตถุจากเจ้าหน้าที่
๒.๒ บริการศึกษา ดูงาน และการอบรมต่างๆ
องค์กรหรือหน่วยงานที่สนใจศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการคลังพิพิธภัณฑ์ สามารถส่งหนังสือแจ้งขออนุญาตเข้าศึกษาดูงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ วัน เพื่อจัดเตรียมเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและข้อมูลที่จำเป็น ทั้งนี้คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังให้บริการห้องประชุมขนาด ๔๐ ที่นั่ง โดยมีขั้นตอนการขอใช้บริการดังนี้
- ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แจ้งขออนุญาตเข้าศึกษาดูงาน หรือขอใช้พื้นที่ฝึกอบรม โดยระบุชื่อหน่วยงานหรือโครงการที่จะอบรม วัน เวลา จำนวนผู้เข้าศึกษาดูงาน หรือรายละเอียดการฝึกอบรม หมายเลขติดต่อ ตลอดจนความต้องการวิทยากร โดยขอให้แจ้งขออนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
- กรณีขออนุญาตใช้พื้นที่จัดการฝึกอบรม จะมีค่าธรรมเนียมตามระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการขออนุญาตใช้สถานที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2548
๓. ระบบให้บริการคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง Virtual Smart Museum
กรมศิลปากรออกแบบจัดทำสื่อ “คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง” เพื่อให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาผู้สนใจได้ “สร้างประสบการณ์เสมือนจริง” เสมือนได้เข้ามาภายในพื้นที่ควบคุมของคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ด้วยระบบ Virtual Reality คือ การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงของห้องคลังโบราณวัตถุต่างๆ ผ่านซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ ผู้ใช้สื่อสามารถรับรู้จากการมองเห็น การได้ยินผ่านจอคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์แสดงผลสามมิติ นอกจากนี้ยังนำเสนอภาพโบราณวัตถุชิ้นสำคัญแบบ 360 องศา ที่ผู้ชมสามารถขยายภาพชมรายละเอียดได้โดยสะดวก
๔. ระบบให้บริการ FADiscovery
กรมศิลปากรได้พัฒนาระบบนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผ่านแอพพลิเคชั่น FADiscovery โดยเชื่อมโยงความสนใจของผู้เข้าชมเข้ากับข้อมูลองค์ความรู้ผ่านฐานข้อมูลองค์ความรู้ของกรมศิลปากร ระบบ FADiscovery จะจัดเก็บข้อมูลความต้องการของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติผ่านกำไลข้อมืออัจฉริยะ (Wristband) หรือแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ ระบบจะจดจำเส้นทาง บันทึกความชื่นชอบ ความสนใจในการเข้าชม แล้วแยกความสนใจออกเป็นประเภท เช่น ห้องจัดแสดง โบราณวัตถุ แล้วประมวลผลในทันที เพื่อให้ได้ทราบความสนใจพิเศษ แล้วระบบจะส่งข้อมูลความรู้ที่สนใจกลับไปยังผู้เข้าชมทันทีแบบรายบุคคล (Individual Experience) เช่น ระบบประมวลผลพบว่าผู้เข้าชมสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ระบบจะสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลกรมศิลปากร แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังผู้เข้าชมคนนั้นทันที
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเทคนิคการประดับตกแต่งอาคารด้วยหินชนวนในเมืองกำแพงเพชร..โบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีการแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็นเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วิหาร เจดีย์ กุฏิ ศาลา วัจจกุฎีหรือห้องส้วม บ่อน้ำ และแหล่งตัดศิลาแลง .ลักษณะพิเศษของวัดกรุสี่ห้องที่ปรากฏเพียงแห่งเดียวของเมืองกำแพงเพชรคือ การใช้หินชนวนปูพื้นวิหารและอาสน์สงฆ์ในลักษณะวางเรียงต่อกันจนเต็มพื้นที่ โดยแผ่นหินชนวนชิ้นสมบูรณ์ที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีปีงบประมาณ 2542 มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหนาประมาณ 4 เซนติเมตร ขนาดกว้าง 45 เซนติเมตร ยาว 60-78 เซนติเมตร และลักษณะแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ 45 เซนติเมตร ด้านหน้าของแผ่นหินชนวนมีลักษณะขัดเรียบ ด้านหลังของหินชนวนแต่ละแผ่นปรากฏรอยสกัดเป็นร่องกว้างขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นจำนวนมาก จากร่องรอยที่พบคาดว่าเกิดจากการใช้เครื่องมือโลหะประเภทสิ่ว ใช้สำหรับเพิ่มการยึดเกาะปูนที่เป็นตัวประสาน..หินชนวน (Slate) หินแปรประเภทหนึ่ง เกิดจากการแปรสภาพของหินดินดานในความร้อนและความกดดันภายในโลก และอาจแปรมาจากหินอัคนี มีลักษณะเนื้อละเอียด มักแยกออกเป็นแผ่น ๆ โดยมีผิวรอยแยกเรียบ ส่วนใหญ่ประกอบด้วย แร่ควอร์ต แร่ไมกา และแร่คลอไรต์ พบหินชนวนในประเทศไทย เช่น จังหวัดสุโขทัย กาญจนบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ระยอง นครศรีธรรมราช และนราธิวาส คนในสมัยโบราณใช้หินชนวนทำศิลาจารึก กระดานชนวน และปูพื้น.โบราณสถานวัฒนธรรมสุโขทัยปรากฏร่องรอยการนำหินชนวนมาใช้ประกอบสถาปัตยกรรมอย่างหลากหลาย โดยในเมืองสุโขทัยพบการปูพื้นด้วยหินชนวนทั้งในลักษณะปูพื้นวิหาร เช่น วัดศรีสวาย (พุทธศตวรรษที่ 18) วัดเจดีย์งาม (พุทธศตวรรษที่ 19-20) วัดเขาพระบาทน้อย (พุทธศตวรรษที่ 19-22) ปูพื้นอุโบสถ เช่น วัดโบสถ์ (พุทธศตวรรษที่ 19-20) วัดมังกร (พุทธศตวรรษที่ 20-21) วัดพระยืน (พุทธศตวรรษที่ 20-21) นอกจากนี้ที่วัดเชตุพน (พุทธศตวรรษที่ 19-22) ยังพบการนำหินชนวนมาใช้ปูพื้นและเป็นวัสดุก่อสร้างกำแพงล้อมรอบมณฑปประธาน สร้างช่องประตูทางเข้าด้วยหินชนวนแท่งใหญ่ รวมถึงนำมาปูพื้นโดยรอบวิหาร และเขาพระบาทใหญ่ (พุทธศตวรรษที่ 20-22) พบการปูพื้นด้วยหินชนวนบนวิหารและพื้นที่โดยรอบ.โบราณสถานวัดกรุสี่ห้องสามารถกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Dating) ได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 จากการพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ กระปุกทรงคอขวดมีหูเคลือบสีน้ำตาล แหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย อายุพุทธศตวรรษที่ 20–21 ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง อายุพุทธศตวรรษที่ 20-22 เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัย เช่น ชิ้นส่วนมกรและปั้นลมลายเทพนม อายุพุทธศตวรรษที่ 20-21 พระพุทธรูปสำริดอิริยาบถเดิน ศิลปะสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษที่ 20 อันเป็นพุทธศิลป์ที่นิยมในวัฒนธรรมสุโขทัย เช่น ภาพปูนปั้นที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง เมืองสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 20) รวมถึงภาพจารด้านหนึ่งบนศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ (พ.ศ. 1960).จากการกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าว สันนิษฐานว่าวัดกรุสี่ห้องสร้างในวัฒนธรรมสุโขทัย จึงมีความเป็นไปได้ว่าการประดับตกแต่งด้วยการปูพื้นวิหารด้วยแผ่นหินชนวนของวัดกรุสี่ห้องอาจเป็นลักษณะการรับอิทธิพลประการหนึ่งจากศูนย์กลางการปกครองในขณะนั้น..เอกสารอ้างอิงกรมศิลปากร. (2557). นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรมศิลปากร.กฤษฎา พิณศรี, ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และอุษา ง้วนเพียรภาค. (2535). เครื่องถ้วยสุโขทัย พัฒนาการของเครื่องถ้วยไทย. โอสถสภา. อ้างถึงใน อนันต์ ชูโชติ, ธาดา สังข์ทอง และนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. (2561). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (พิมพ์ครั้งที่ 4). สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย.กฤษฎา พิณศรี, ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และอุษา ง้วนเพียรภาค. (2535). เครื่องถ้วยสุโขทัย พัฒนาการของเครื่องถ้วยไทย. โอสถสภา.จิราภรณ์ อรัณยนาค. (2549). เทคนิคการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุประเภทประติมากรรมหิน. ใน สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ความรู้ด้านการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทประติมากรรมหิน (หน้า 1-10). กรมศิลปากร. ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, สว่าง เลิศฤทธิ์, และกฤษฎา พิณศรี. (2539). ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). โอสถสภา.สุรศักดิ์ก่อสร้าง. (2542). การขุดแต่งวัดกรุสี่ห้องในเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร. โครงการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แหล่งโบราณสถานจังหวัดกำแพงเพชรแผนงานเงินกู้เพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมการสร้างงานภายใต้โครงการ SIP พ.ศ. 2542.สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2548). ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.อนันต์ ชูโชติ, ธาดา สังข์ทอง และนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. (2561). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (พิมพ์ครั้งที่ 4). สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย.อรกุล โภคากรวิจารณ์, จุมพล คืนตัก, อารยะ นาคะนาท, ธีรวัชร อินทรสูต, งามพิศ แย้มนิยม, เดชนา ชุตินารา และผาณิต กุลชล. (2526). ทรัพย์ในดิน กำแพงเพชร (เอกสารทรัพยากรธรณี เล่มที่ 2). กรมทรัพยากรธรณี.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2561). การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย ปีงบประมาณ 2561. โครงการการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2561). ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (พิมพ์ครั้งที่ 2). อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2563). รายงานการดำเนินงานทางโบราณคดี โครงการขุดแต่งทางโบราณคดี เพื่อออกแบบบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์กลุ่มโบราณสถานเขาพระบาทใหญ่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ปีงบประมาณ พุทธศักราช 2563. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร.
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า หลังจากที่ยูเนสโกประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกแล้ว ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นจำนวนมาก จึงได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ จัดทำโครงการฝึกอบรมการสร้างงานศิลปกรรมแก่ ชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะงานศิลปกรรมด้านงานช่างสิบหมู่ โดยหวังว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประกอบเป็นอาชีพ สร้างรายได้ นำต้นทุนมรดกทางวัฒนธรรมสร้างเป็นมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน ตอบสนองนโยบายซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ของกระทรวงวัฒนธรรม
การอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการฝึกอบรมการสร้างงานศิลปกรรมแก่ชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 9 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงเรียนเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีวิทยากรผู้ชำนาญการของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้ดำเนินการถ่ายทอดให้ความรู้ และประสบการณ์อันเป็นประโยชน์โดยรวมแก่ชุมชน จัดกิจกรรมฝึกอบรมจำนวน 5 หลักสูตร มีผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรละ 20 คน ประกอบด้วย หลักสูตรงานปั้นประดิษฐ์ หลักสูตรงานแกะโฟม หลักสูตรงานทำพิมพ์ยางซิลิโคนต้นแบบนูนต่ำ หลักสูตรงานลายฉลุ และหลักสูตรงานทำเทียนเจล ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของงานช่างศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ พัฒนาต่อยอดเป็นของที่ระลึกจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นเครือข่ายด้านงานศิลปกรรมให้กับสำนักช่างสิบหมู่ต่อไปด้วย
เศียรพระพุทธรูป
แบบศิลปะ : อยุธยา (ศิลปะอู่ทอง)
ชนิด : สำริด
ขนาด : สูง 25 เซนติเมตร กว้าง 15 เซนติเมตร
ลักษณะ : พระรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม เม็ดพระศกเล็กแหลม มีกรอบไรพระศก พระพักตร์เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงต่อเป็นปีกกา พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์แย้มพระสรวล
สภาพ : ชำรุด พระกรรณขวาหัก, มีรอยร้าวบริเวณพระปรางขวา และพระศอด้านขวามีชิ้นส่วนหักหายไป
ประวัติ : ได้จากจังหวัดสุพรรณบุรี ย้ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544
สถานที่จัดแสดง : จัดแสดงห้องศาสนศิลป์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/suphanburi/360/model/11/
ที่มา: hhttp://www.virtualmuseum.finearts.go.th/suphanburi
ศรีรัตนไตรยสรณารักษ์
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับพระราชกรณียกิจด้านการพระศาสนา
วิหารจำลองวัสดุ : ไม้ ลงรัก เขียนสี ปิดทอง ประดับกระจกแบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะล้านนา พื้นเมืองน่าน พ.ศ. ๒๔๔๐ประวัติ : วัดนาซาว ตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่านวิหารจำลองวัดนาซาว สร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งหลัง แผนผังวางตามแนวยาวในรูปผังพื้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นลักษณะวิหารปิด หมายถึงวิหารที่มีการผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน ยกพื้นสูงทำเป็นชั้นฐานบัว ท้องไม้คาดด้วยเส้นลูกแก้วอกไก่ ด้านหน้าทำเป็นบันไดเพื่อเป็นทางเข้า พนักบันไดทำเป็นกนกตัวเหงา ช่องประตูพร้อมประตูด้านหน้า มีการยกเก็จเป็นห้องออกทางด้านหน้า ๑ ห้อง ทั้งอาคารมีทั้งหมด ๔ ห้อง ที่ผนังทำเป็นหน้าต่าง สามารถเปิดปิดได้ ชายคายื่น มีคันทวยรับชายคาลักษณะโครงสร้างหลังคาที่เรียกว่า “ขื่อม้าต่างไหม” หรือ “ม้าตั่งไหม” หลังคาวิหารมีการซ้อนชั้นหลังคา ๒ ตับ มีการลดชั้นสันหลังคาลงทางด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ ๑ ช่วง หลังคาลดหลั่นซ้อนกัน มุงหลังคาเป็นไม้ขัดสานกัน ประดับช่อฟ้า นาคลำยองหรือตัวลำยอง เรียก นาคสะดุ้ง โดยมีครีบประดับเรียงเป็นแถวเรียก ใบระกา และหางหงส์ ทำเป็นรูปเศียรนาค ๓ เศียร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปไม้ศิลปะล้านนา พื้นเมืองน่าน สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๓๙วิหารจำลอง หมายถึง การจำลองรูปแบบอาคารจากโบสถ์ หรือวิหาร ตามคติการอุทิศถวายตัวอาคารเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยใช้รูปจำลองแทนตัวอาคารจริงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ที่ https://www.facebook.com/NanNationalMuseum1987/posts/pfbid0bbUNHJ2iWp8wAf9yWCWtoQWGEL2U8g5RB3ryqLgbmwhiwDv1ZFUSJfhmNdAuQb9Ulเอกสารอ้างอิงวรลัญจก์ บุณยสุรัตน์. ศาสตร์ ศิลป์ จิตวิญญาณ วิหารล้านนา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๖๕.
คุณทองโบราณแนะนำ…แหล่งมรดกโลกที่ไม่ควรพลาด@บ้านเชียง อุดรธานีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง (จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอายุกว่า 5,000 ปี)เรือนไทพวน (เรือนโบราณที่ได้รับการบูรณะแล้ว แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้)หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน (หลุมขุดค้นทางโบราณคดีขนาดใหญ่ ซึ่งพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก)คุณทองโบราณคือใคร อยากรู้แตะลิงก์เลยhttps://www.facebook.com/bcnmfinearts/posts/432038448156631#อุดรธานี #มรดกโลกบ้านเชียง #มรดกโลก #สำนักศิลปากรที่8ขอนแก่น #ความรู้ #อีสาน #กรมศิลปากร
ชื่อโบราณวัตถุ : ภาชนะดินเผาทรงบาตรแบบศิลปะ : สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชนิด : ดินเผาขนาด : สูง 18 เซนติเมตร ปากกว้าง 16.3 เซนติเมตรอายุสมัย : วัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยต้น 4,500 - 3,000 ปีมาแล้วลักษณะ : ภาชนะดินเผาทรงบาตร มีสัน มีการตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ขูดขีด ปั้นแปะ และรมควันให้เป็นสีดำสภาพ : ...ประวัติ : ...สถานที่จัดแสดง :พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีแสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/banchiang/360/model/05/ที่มา: http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/banchiang
ชื่อโบราณวัตถุ : ตราประทับดินเผาแบบศิลปะ : สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชนิด : ดินเผาขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.6 เซนติเมตรสูง 4 เซนติเมตรอายุสมัย : วัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยปลาย 2,300 - 1,800 ปีมาแล้วลักษณะ : ตราประทับดินเผา ทรงกลม ลวดลายคล้ายสามเหลี่ยมภายในวงกลมสภาพ : ...ประวัติ : อาจารย์ พะนอ กำเนิดกาญจน์ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2530สถานที่จัดแสดง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีแสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/banchiang/360/model/22/ที่มา: http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/banchiang
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดี
- ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑ต)
- หิน
- ขนาด กว้าง ๓๔ ซม. สูง ๕๓.๕ ซม.
พบในจังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปปางประทานธรรมประทับยืนอยู่เหนือสัตว์ผสมชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า พนัสบดี ซึ่งแปลว่า เจ้าป่า หรือ ต้นไม้ใหญ่ หรือแสงสว่าง ซึ่งอาจเป็นสัตว์ผสมของเทพพาหนะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ปรากฎูรูปบุคคลยืนถือแส้ บางแหล่งมือถือฉัตร ดอกบัว และหม้อน้ำทั้งเบื้องขวา และซ้ายขององค์พระพุทธรูป ประติมากรรมนี้อาจเคยใช้ประดับบนสถาปัตยกรรม หรือบนธรรมจักร เพื่อสื่อความหมายเกี่ยวกับแสงสว่างและการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เนื่องจากชิ้นประติมากรรมมีการเจาะรูตรงกลาง หรือมีเดือยอยู่ข้างหลัง อาจใช้เพื่อใช้สวมติดกับส่วนดุมของธรรมจักรซึ่งมีรูในลักษณะเดียวกัน
แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=40217
ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th