ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,784 รายการ
เอกสารจดหมายเหตุมีความหลากหลายสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ลายลักษณ์ โสตทัศนจดหมายเหตุ แบบแปลน แผนผัง และสื่อวัสดุคอมพิวเตอร์ "ปฏิทิน"นับเป็นเอกสารจดหมายเหตุชนิดหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในประเภทโสตทัศนจดหมายเหตุ นอกจากภาพ ฟิล์ม ส.ค.ส. โปสเตอร์ ฯลฯ "ปฏิทิน"บอกอะไรเราได้บ้าง? อาจมีใครบางคนสงสัย สำหรับผู้เขียนเองที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานหลากหลายหน้างาน จึงขอเปรียบเทียบปฏิทินว่าเหมือนบทคัดย่อหรือสาระสังเขป ที่บริษัทจัดทำปฏิทินได้นำเสนอในรูปแบบชุดความรู้แบบย่อที่ผ่านการวิเคราะห์จากเอกสารชั้นต้นและชั้นลอง แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการอ้างอิงให้ไปค้นคว้าต่อ "สายทางสามล้อไทย"เป็นปฏิทินขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ประจำปีพ.ศ.2537 ได้จัดทำไว้อย่างน่าสนใจว่า... บนสายทางของการเดินทาง หลากหลายพาหนะที่นำไปสู่จุดหมาย"สามล้อ"เป็นวิถีหนึ่งของสายทาง ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป หากสายทางของสามล้อก็ยังคงผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมไทยเป็นภาพลักษณ์ของความภูมิใจในความสามารถแห่งการประดิษฐ์ของคนไทย ที่นำไปประยุกต์เข้ากับการประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างกลมกลืน ได้เล่าถึงการกำเนิดสามล้อว่า... พ.ศ.2476 รถสามล้อได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมาโดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำ"รถลาก" หรือ"รถเจ๊ก"มาดัดแปลงร่วมกับรถจักรยาน รถสามล้อแบบนี้ถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อที่ใช้รับส่งผู้โดยสารแพร่หลายไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน ในระยะเวลาต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นพาหนะอย่างอื่นให้สะดวกและรวดเร็วขึ้นตามประโยชน์ใช้สอย เช่นสามล้อเครื่อง ซาเล้ง ตุ๊ก-ตุ๊ก ทั้งแบบเดอลุกซ์และแบบสองแถว สามล้อเครื่องรถยนต์(ยังมีให้เห็นที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี)สกายแล็บ ไก่นา และอื่นๆ นอกจากปฏิทินชุดนี้ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปฏิทินชุดอื่นๆอีกมากที่น่าสนใจ เพื่อนๆลองกลับไปค้นในกล่องเก็บหนังสือเก่าๆที่วางทิ้งไว้บนชั้น อาจพบเรื่องราวของปฏิทินเก่ามากมาย หรือเมื่อได้ชมจนเบื่อแล้ว อยากส่งต่อ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ยินดีรับมอบด้วยความเต็มใจยิ่งค่ะ ------------------------------------------------------ผู้เขียน : นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี------------------------------------------------------อ้างอิง หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี.ปท หจช จบ 148 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เรื่อง สายทางสามล้อไทย.พ.ศ.2537
องค์ความรู้ทางโบราณคดี
เรื่อง “เตาถลุงเหล็กของเมืองลองโบราณ อำเภอลอง จังหวัดแพร่”
โดย นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เมืองลองโบราณเป็น 1 ใน 57 หัวเมือง ของล้านนาในอดีตโดยเป็นเมืองบริวารของเมืองลำปางมีพันธะต้องส่งส่วยเหล็กให้เมืองลำปางทุกปี โดยปฏิบัติเป็นธรรมเนียมตั้งแต่ยุคจารีตจนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 25 ดังปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุความว่า “... เมืองลองเสียส่วยแก่เมืองนคร (เมืองนคร=เมืองลำปาง) มีแต่เหล็กสิ่งเดียว ถ้ามีราชการขึ้นก็จะเกณฑ์เอากับแสนหลวงเจ้าเมืองลองตามการใหญ่แลน้อย ถ้าเป็นการใหญ่ก็เคยเกณฑ์ตั้งแต่ 50 40 คนลงมา บาญชีคนชะกันสำมะโนครัวเมืองลองไม่มีมาแต่เดิมจะมีคนมากน้อยเท่าไหร่ก็เรียกส่วยปีละ 40 หาบเท่านั้น...” (40 หาบ เท่ากับ 2,400 กิโลกรัม)
เหล็กเมืองลองจะถูกถลุงที่หมู่บ้านนาตุ้ม (แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองลองประมาณ 6 กิโลเมตร และห่างจากเหมืองแร่เหล็กโบราณดอยเหล็ก ประมาณ 1 กิโลเมตร จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ ปี พ.ศ.2562 พบเตาถลุงเหล็กในแหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้มจำนวน 10 เตา เรียงตัวเป็นแนวยาวขนาดไปกับลำเหมืองโบราณของหมู่บ้าน
เตาถลุงเหล็กของเมืองลอง (แหล่งโบราณคดีบ้านนาตุ้ม) มีลักษณะเป็นเตาถลุงทรงสูง (Shaft Furnace) มีขนาดกว้างประมาณ 100 เซนติเมตร ยาวประมาณ 120 เซนติเมตร สูงประมาณ 80 – 90 เซนติเมตร ห้องถลุงมีขนาด 30 - 40 เซนติเมตร มีรูสอดปลายหุ้มท่อลมดินเผา ด้านหลังเตา ขนาด 10 - 13 เซนติเมตร โดยก่อเตาเรียงตัวติดต่อกันหลายๆ เตาเป็นแนวยาวโดยใช้เศษตระกัน อิฐ ก้อนหิน และดิน ก่อเป็นฐานในช่องว่างระหว่างเตาเพื่อเสริมความมั่นคงของผนังเตาแต่ละเตา กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 24 – 25
เทคโนโลยีการถลุงเหล็กของเมืองลองโบราณ เป็นการถลุงเหล็กทางตรง (Direct Process) มีอุณหภูมิในการถลุงไม่เกิน 1,300 องศาเซลเซียส โดยมีการคลุกเคล้าแร่เหล็กและเชื้อเพลิงในอัตราส่วนแร่เหล็ก 1 ส่วน ต่อเชื้อเพลิง 3 ส่วน และสร้างท่อลมไว้ด้านหลังเตาต่อเข้ากับเส่า (เครื่องสูบลม) เพื่อใช้สูบลมอัดเข้าไปในห้องเตาเพื่อเร่งอุณหภูมิในห้องเตาจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เหล็กออกไซต์กลายเป็นเหล็กและปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดตะกรันแร่เหล็กเหลว (Liquid Slag) เมื่อสิ้นสุดกระบวนการถลุงจะมีการทุบทำลายเตาส่วนลำตัวและปากเตาเพื่อเอาก้อนเหล็กเหนียวหนืด (Bloom) ออกจากเตาถลุง และนำไปกำจัดเอามลทินออกจนเหลือแต่ก้อนเหล็กอ่อนบริสุทธิ์ (Wrought Iron) สามารถนำไปตีเครื่องมือเครื่องใช้ได้ต่อไป
สำหรับแหล่งแร่เหล็กของเมืองลอง ตั้งอยู่บริเวณดอยเหล็ก ซึ่งเป็นแหล่งแร่เหล็กชนิดฮีมาไทต์ โดยอยู่ห่างจากแหล่งถลุงเหล็กบ้านนาตุ้มไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร จากบันทึกชาวต่างชาติระบุไว้ว่าอย่างน้อยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 แร่เหล็กดอยเหล็กเป็นที่รู้จักว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพ โดยปรากฏในเอกสารการเดินทางชาวตะวันตกที่ระบุว่าเมืองลองเป็นแหล่งทรัพยากรแร่เหล็กที่สำคัญและมีคุณภาพดินแดนล้านนา อาทิ บันทึกของคาร์ล อัลเฟรด บ็อค กล่าวว่า
“...เมืองลคอร (ในที่นี้หมายรวมถึงเขตเมืองลองซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองลำปางด้วย) ไม่เพียงแต่ร่ำรวยป่าไม้เท่านั้นแต่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ ใกล้ตัวเมือง มีเหมืองแร่เหล็กที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง หนึ่งถึงสองแห่ง ข้าพเจ้าได้เห็นแร่กาลีนา จำนวนหนึ่งซึ่งคาดว่าแร่เหล่านี้มีอยู่เต็มภูเขาละแวกนี้ นอกจากนี้ยังมีทองแดงด้วยชาวพื้นเมืองที่นี่เป็นช่างฝีมือโลหะและผลิตปืนใช้เอง..”
จากผลการยิงรังสี X-Ray ด้วยเครื่องมือ Portable XRF แสดงให้เห็นว่าก้อนแร่เหล็กจากดอยเหล็กมีปริมาณแร่เหล็กออกไซต์มากถึงร้อยละ 70 ตรงกับผลการสำรวจทางธรณีวิทยาบริเวณดอยเหล็กของกรมทรัพยากรธรณีเมื่อ ปี พ.ศ. 2500 เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลแล้วจะพบว่าแร่เหล็กดอยเหล็กเป็นเหล็กที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานขององค์กร “International Organization for Standard” มาตรฐานที่ “ISO/R1248-1970.E” ที่จัดแบ่งแร่เหล็กตามกลุ่มสี โดยแร่เหล็กที่ได้จากดอยเหล็กจัดเป็นแร่เหล็กสีแดง (Red Iron Ore) เกรด “B” ที่มีเหล็กออกไซต์ในก้อนแร่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
ด้วยคุณภาพแร่เหล็กที่ดีทำให้ผลผลิตเหล็กของเมืองลองในท้องตลาดถือว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพสูงดังปรากฏในงานกวีภาคเหนือช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 หลายฉบับ เช่น ค่าวฉลองคุ้มเจ้าหลวงนครแพร่ของศรีวิไชยกวีในราชสำนักแพร่ เมื่อ พ.ศ.2453 ความว่า“...มีเจ็ดสิบสอง เหล็กลองกล๋มเกลี้ยงจดจันเจียงแซ่ไว้ ...ห้าสิบสอง เหล็กลองไหลดั้นข่ามคงกะพันมากนัก... ถ้วนเจ็ดสิบสอง เหล็กลองแข็งนักต๋ำหนักมิ่งแก้วมงคล...” หรือวลีในภาคเหนือของประเทศไทยที่มักกล่าวว่า “เหล็กดีเหล็กเมืองลอง ตองดีตองเมืองพะเยา” เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง :
ภูเดช แสนสา. “เมืองลอง : ความผันแปรของเมืองขนาดเล็กในล้านนาจากรัฐจารีตถึงปัจจุบัน,” .วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552.
สุรพล นาถะพินธุ. รากเหง้า บรรพชนคนไทย : พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ .กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.
ศรีศักร วัลลิโภดม. เหล็ก โลหปฏิวัติ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว : ยุคเหล็กในประเทศไทย : พัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคม .กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.
Carl Alfred Bock. Temples and Elephant The Narrative of a journal of Exploration through Upper Siam and Lao .New York: Cornell University Library, 1884.
Ineke Joosten. Technology of early historical iron production in the Netherland .Amsterdam : Vrije University, 2004.
Roberts, Benjamin W. and others, Archaeometallurgy in Global Perspective : Methods and Syntheses .NewYork : Springer, 2014.
"ศักย ขุนพลพิทักษ์" นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปี 25642021 Honorary Art Exhibition Dedicated to Senior Artist "SAKAYA KHUNPOLPITAK"-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ระยะเวลา : ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน จนถึง 30 พฤษภาคม 2564 (ขยายเวลาจัดแสดงถึง 25 กรกฎาคม 2564)สถานที่ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – อังคาร)
๑. การเขียนภาพในเรื่องของพระอสุภกรรมฐานในแต่ละห้องภาพนั้น เน้นจุดเด่นคือตัวภาพที่บรรยายลักษณะของพระภิกษุกำลังพิจารณาสภาพซากศพในลักษณะต่างๆ ตัวภาพมีขนาดใหญ่อยู่บริเวณด้านล่างของแต่ละห้องภาพ ตัวภาพที่เขียนเป็นภิกษุจะมีการเขียนสีตัวภาพแล้วตัดเส้นแบบแผนโบราณ แต่ผ้านุ่งหรือจีวรมีการไล่น้ำหนักของสี แสดงให้เห็นถึงผ้าที่พริ้วและทับซ้อนเสมือนจริง ทั้งตัวภาพที่เป็นซากศพแต่ละลักษณะ ช่างก็เขียนไปในทางเสมือนจริงเช่นกัน การเขียนภาพในเรื่องเกี่ยวกับจริยวัตรของพระภิกษุเช่นนี้เป็นราชนิยมในช่วงรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในงานจิตรกรรมฝาผนัง โดยการกำหนดอายุของจิตรกรรมฝาผนังวัดเสม็ดนี้ก็คงไม่ได้พิจารณาในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องราวของภาพเพียงอย่างเดียวจะต้องพิจารณาในเรื่องของเทคนิคหรือมุมมองของการเขียนภาพของช่างเขียนและองค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาคารสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏ หรือ การเขียนตัวภาพที่มีต่างชาติร่วมด้วยทั้งเสื้อผ้าอาภรณ์ก็เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาได้เช่นกัน ภาพที่ ๑ การเขียนภาพในเรื่องของพระอสุภกรรมฐาน ๒. การเขียนธรรมชาติ จิตรกรรมฝาผนังวัดเสม็ด เป็นการเขียนบรรยากาศโดยส่วนใหญ่มีมุมมองที่กว้างและลึกระยะใกล้ ไกล ไม่ว่าจะเป็นการเขียนท้องฟ้า ภูเขา ต้นไม้ หรือ ทะเล แม่น้ำ ช่างเขียนเป็นภาพลักษณะเสมือนจริงมีการไล่น้ำหนักแสงเงา ตามแบบแผนการเขียนภาพทางตะวันตก เนื่องจากในช่วงสมัยนั้นมีการนิยมการเขียนภาพลักษณะนี้ ทั้งยังเขียนภาพแบบมีระยะเช่นต้นไม้ที่อยู่ใกล้มีขนาดใหญ่ ต้นไม้ที่อยู่ระยะไกลออกไปมีขนาดที่เล็กลงเรื่อยตามลำดับ การเขียนใบไม้ใช้วิธีแต้มสี และกระทุ้งเพื่อไล่น้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับแสงที่กระทบกับใบไม้ ภาพที่ ๒ การเขียนธรรมชาติ ๓. การเขียนภาพอาคารสิ่งก่อสร้างและวิถีชีวิต มีการเขียนอาคารในรูปแบบทางตะวันตกผสมผสาน เขียนภาพอาคารแบบภาพเปอร์สเปคทีฟ (Perspective)แสดงถึงความลึกทั้งยังใช้เรื่องของสี ร่วมด้วย คือในระยะที่ลึกเข้าไปภายในอาคารจะไล่น้ำหนักของสีใช้สีเข้มทึบดำเพื่อแสดงให้เห็นถึงความลึกเข้าไปภายในเสมือนกับแสงที่ไม่สามารถส่องเข้าไปได้ ทั้งยังมีการเขียนสอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นเข้าไปในภาพด้วย เช่นชีวิตของชาวเล การทำประมง รูปแบบเรือต่างๆ ซึ่งภาพที่ปรากฏนี้เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปศึกษาค้นคว้าในเรื่องของประวัติศาสตร์ต่อไปได้อีกด้วยภาพที่ ๓,๔ การเขียนภาพอาคารสิ่งก่อสร้างและวิถีชีวิต ๔. มีการนำศิลปะ ๒ แขนง มาผสมผสานกัน ผนังด้านหน้าพระประธาน คือประติมากรรมและจิตรกรรม ภาพที่ ๕ การเขียนผสมผสาน ๕. ยังคงมีการเขียนตัวภาพแบบประเพณีอยู่ คือ ภาพเทพชุมนุม นักสิทธิวิทยาธร โดยเขียนเครื่องทรงอาภรณ์ มีชฎาผ้านุ่งตัดเส้นแบบไทยประเพณี และมีการเขียนคั่นภาพด้วยเส้นสินเทาภาพที่ ๖,๗ การเขียนตัวภาพแบบประเพณี
“ขยันให้ถูกที่ ทำดีให้ถูกเวลา” เป็นคำคมที่มักได้ยินจากทั้งสุภาษิตไทยและจีน อีกทั้งยังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริง ดังเหตุการณ์ที่ปรากฎในเอกสารจดหมายเหตุจังหวัดนครพนม แผนกมหาดไทย เรื่อง ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นคนขยันประจำอำเภอในปี ๒๔๙๔ ในระหว่างพ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๔๙๗ กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเสนอรายชื่อบุคคล เพื่อพิจารณาเข้ารับขันเงินรางวัลคนขยันประจำปี และนำรางวัลมามอบให้แก่ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ โดย “ขันเงิน” ที่จะได้รับเป็นรางวัลนั้น มีลักษณะเป็นขันเงินตักบาตรขนาดกลาง พร้อมด้วยทัพพีและพานรอง จำนวน ๑ ชุด โดยการมอบจะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทยตามที่ระบุในหนังสือว่า “ในการแจกจ่ายขันเงินรางวัลแก่คนขยันประจำอำเภอและกิ่งอำเภอ กระทรวงมหาดไทยใคร่ขอให้จังหวัดปฏิบัติการให้เป็นไปโดยสมเกียรติแก่ผู้รับตามสมควร โดยจะจัดมอบในงานพิธีใด ๆ ของทางราชการหรือจะจัดเป็นพิธีแจกโดยเฉพาะก็ได้ ทั้งนี้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะกระตุ้นเตือนใจแก่ผู้ที่ได้ร่วมพิธีได้ทราบและถือเป็นแบบอย่าง กับเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นคนขยันอีกด้วย” จังหวัดนครพนมจึงได้เสนอรายชื่อคนขยันของแต่ละอำเภอ ประจำปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จำนวน ๘ คน คนละ ๑ อำเภอ ได้แก่ ๑.นายทุ่ม คำหุ่ง อำเภอเมืองนครพนม ๒.นายมาก ก่านจันทร์ อำเภอท่าอุเทน ๓.นายป่าน คำชนะ กิ่งอำเภอบ่อศรีสงคราม ๔.นายอุ่นแก้ว เชียงใหม่ อำเภอธาตุพนม ๕.นายคอน แสนสุภา อำเภอนาแก ๖.นายอาน จำใบรัตน์ อำเภอมุกดาหาร ๗.นายจันทร์ ศรีษาพันธ์ กิ่งอำเภอคำชะอี ๘.นายอ้วน อภัยโส กิ่งอำเภอบ้านแพง--------------------------------------------------------------เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวพัชราภรณ์ สุวรรณะ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี --------------------------------------------------------------เอกสารอ้างอิง - กรมศิลปากร. (๒๕๔๔). งานศิลปกรรมช่างโลหะ. กรุงเทพฯ: เอ.พี.กราฟิค ดีไซน์และการพิมพ์ - หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี. นพ ๑.๒/๓๑ ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นคนขยันประจำอำเภอในปี ๒๔๙๔ (๘ พ.ค. - ๒๒ มิ.ย. ๒๔๙๗)
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : ภูเขาไฟพนมรุ้ง
จังหวัดบุรีรัมย์นับเป็นดินแดนแห่ง “ภูเขาไฟ” ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศที่ราบสูงเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อประมาณ ๙ แสนถึง ๑ ล้านปีมาแล้ว โดยเป็นจังหวัดที่มีภูเขาไฟมากที่สุดถึง ๖ ลูกด้วยกัน ได้แก่ เขาพนมรุ้ง เขาอังคาร เขาไปรบัด เขาหลุบ เขากระโดง และเขาคอก
ในบรรดาภูเขาไฟทั้ง ๖ ลูก “เขาพนมรุ้ง” เป็นภูเขาไฟที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว เช่นเดียวกับเขาอังคารและเขาไปรบัด วางตัวยาวตามแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ประมาณ ๕ กิโลเมตร และกว้างตามแนวทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก ประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร บริเวณไหล่เขามีความลาดชันประมาณ ๖ - ๑๕ องศา ส่วนยอดเขาสูงสุดจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๓๘๖ เมตร มีส่วนของปล่องปะทุภูเขาไฟครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๖๐ ไร่ หรือประมาณ ๒๕๖,๐๐๐ ตารางเมตร โดยขอบปากปล่องด้านทิศเหนือเป็นสถานที่ตั้งสถานีรายงานเขาพนมรุ้ง กองทัพอากาศ ส่วนด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้งศาสนสถานในวัฒนธรรมขอมที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ด้วยความอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุของเถ้าภูเขาไฟทำให้ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยปรากฏหลักฐานแหล่งโบราณคดีโดยรอบ เช่น แหล่งโบราณคดีโคกฝรั่ง แหล่งโบราณคดีโคกเขว้า-ห้วยตะแบง และต่อมาในสมัยวัฒนธรรมเขมรได้สถาปนาให้ภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์สร้างปราสาทพนมรุ้งเพื่อให้เป็นเขาไกลาส ที่ประทับของพระศิวะตามความเชื่อแบบไศวนิกาย
อีกทั้งคนโบราณได้ดัดแปลงบริเวณปากปล่องภูเขาไฟทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทพนมรุ้งให้เป็นสระสำหรับกักเก็บน้ำ มีทั้งหมด ๗ สระ เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ยังมีการนำเอาหินบะซอลต์ที่ได้จากภูเขาไฟมาใช้ในการก่อสร้างด้วย เช่น กำแพงแก้วของพลับพลาเปลื้องเครื่อง กำแพงแก้วของสระน้ำโบราณ และพื้นระเบียงคตด้านทิศเหนือของปราสาทพนมรุ้ง โดยสันนิษฐานว่าแหล่งตัดหินน่าจะเป็นบริเวณขอบสระน้ำหมายเลข ๖ ที่เคยเป็นปากปล่องภูเขาไฟมาก่อนเนื่องจากพบร่องรอยการสกัดหิน
ภูเขาไฟพนมรุ้งแห่งนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยแร่ธาตุ และแหล่งอาหาร ทำให้ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยใช้งานต่อเนื่องหลายยุคสมัย โดยมีปราสาทพนมรุ้งที่สร้างอยู่บนยอดเขา เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อของผู้คนแถบนี้มาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย: นายวิธาน ศรีขจรวุฒิศักดิ์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง:
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔.
จรรยา มาณะวิท และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ. พิมพ์ครั้งที่ ๔. นครราชสีมา: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.
พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
วสันต์ เทพสุริยานนท์. รายงานการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี สระน้ำโบราณประจำปราสาทพนมรุ้ง. บุรีรัมย์: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง, ๒๕๖๐.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. สมุทรปราการ: เรือนบุญ, ๒๕๔๙.
องค์ความรู้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เรื่อง ไหเคลือบสีเขียว : หลักฐานพบใหม่จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๑๔ (โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ฺ ๓) เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
ชื่อเรื่อง มาเลยฺยสุตฺต (มาลัยหมื่น-มาลัยแสน)
สพ.บ. 257/1กประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 40 หน้า กว้าง 5 ซ.ม. ยาว 58 ซ.ม. หัวเรื่อง พุทธศาสนา ชาดก เทศน์มหาชาติ คาถาพัน
บทคัดย่อ/บันทึก
เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ-ล่องรัก ได้รับบริจาคมาจากวัดทุ่งอุทุมพร ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
เลขทะเบียน : นพ.บ.153/1ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 54 หน้า ; 4.5 x 53 ซ.ม. : ล่องชาด ; ไม้ประกับธรรมดา ชื่อชุด : มัดที่ 93 (1-16) ผูก 1 (2565)หัวเรื่อง : สทฺทสารตฺชาลินี(ศัพท์สัททสารัตถชาลินี)--เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
สตฺตปฺปกรณาภิธมฺมเทศนา (สังคิณี-มหาปัฎฐาน)
ชบ.บ.36/1-5
เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)