ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 40,813 รายการ

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๔๙ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีมหาพุทธาภิเษก การจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง ในโอกาสครบรอบ ๑๑๒ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๖๖ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร ผู้ตรวจกระทรวงวัฒนธรรม ผู้อำนวยการสำนักส่วนกลาง ผู้อำนวยการสำนักส่วนภูมิภาค ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ร่วมในพิธี ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลอง และเหรียญพระพุทธสิหิงค์ เพื่อหารายได้นำเข้ากองทุนโบราณคดี ใช้ในการบูรณะโบราณสถาน และกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ การจัดสร้างครั้งนี้ ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ด้วยฝีมืออันงดงาม ถือเป็นการจัดสร้างครั้งแรก และจัดสร้างจำนวนจำกัด พิเศษคือใต้ฐานพระพุทธสิหิงค์จำลองทุกองค์ได้บรรจุไม้ช่อฟ้าเดิมซึ่งเป็นส่วนสูงสุดของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และเทียนชัยเข้าพรรษา ซึ่งถวายองค์พระพุทธสิหิงค์เพื่อเป็นนิมิตแห่งความสว่างไสวของชีวิต กรมศิลปากรได้จัดพิธีมหาพุทธาภิเษก ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเถาะ เวลา ๑๓.๔๙ น. ซึ่งเป็นวันมหาสิทธิโชค และตรงกับราชาแห่งฤกษ์ โดยพระเถรานุเถระ ผู้ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน ได้แก่ หลวงพ่อสมชาย วัดปริวาสราชสงคราม เขตยานนาวา กรุงเทพฯ หลวงปู่จื่อ วัดเขาตาเงาะ จ.ชัยภูมิ หลวงพ่อพระมหาสุรศักดิ์ วัดประดู่ (พระอารามหลวง) จ.สมุทรสงคราม หลวงพ่อชำนาญ วัดชินวรารามวรวิหาร (พระอารามหลวง) จ.ปทุมธานี พระอาจารย์ธรรมนูญ วัดมณีชลขัณฑ์ จ.ลพบุรี หลวงพ่อวราห์ ปุญญวโร วัดโพธิ์ทอง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ หลวงพ่ออวยพร วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม หลวงพ่อเอื้อน วัดวังแดงใต้ จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อทอง วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ จะอัญเชิญวัตถุมงคลที่จัดสร้างทั้งหมดไว้ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นเวลา ๑ ราตรี เพื่อซึมซับความศักดิ์สิทธิ์จากองค์พระพุทธสิหิงค์ ถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง


          พระพุทธรูปปางประทานอภัย           แบบศิลปะ : ลพบุรี           ชนิด : สำริด           ขนาด : สูง 23 เซนติเมตร กว้าง 8.5 เซนติเมตร           อายุสมัย : พุทธศตวรรษที่ 18           ลักษณะ : ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ตกแต่งลายขูดเส้นขนานและมีลวดลายกดประทับเป็นรูปบุคคล(นักรบ)กำลังขึ้นขี่ม้า สวมเทริดและเครื่องประดับมีชายผ้าตกลงมาด้านหน้า ภายในกรอบสี่เหลี่ยม           สภาพ : ชำรุด ชิ้นส่วนนิ้วพระหัตถ์หักหายไปทั้งสองข้างและบริเวณพระอังสาขวาชิ้นส่วนเนื้อสำริดหักหายไป           ประวัติ : พบจากแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี           สถานที่จัดแสดง : ห้องแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี   แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/suphanburi/360/model/14/   ที่มา: hhttp://www.virtualmuseum.finearts.go.th/suphanburi


องค์ความรู้สุพรรณบุรี เรื่อง ครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ผู้เรียบเรียง : นางอภิญญานุช เผ่าพงษ์คล้าย บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ


-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : พืชผลพะเยา -- เมื่อ 32 ปีก่อน จังหวัดพะเยาเคยตั้งเป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญไว้ ความน่าสนใจคือคำว่า " พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ " เพราะหมายถึงพืชที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่า สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ตอบสนองการค้าขายของจังหวัด หรือเพิ่มปริมาณการส่งออกระดับประเทศ .  จากรายงานข้อมูลเป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ปรากฏพืชเศรษฐกิจจำนวน 35 ชนิด เรียงลำดับตามประเภท ได้แก่ 1. พืชตระกูลข้าวต่างๆ เช่น ข้าวนาปรัง ข้าวนาปี (ข้าวเจ้า) ข้าวบาร์เลย์ ข้าวบาสมาติ ข้าวเหนียว ฯลฯ 2. พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ฯลฯ 3. ผักสวนครัว เช่น กระเทียม พริกเล็ก พริกใหญ่ มะเขือเทศ หอมแดง เห็ดฟาง ฯลฯ 4. ผลไม้ เช่น มะขามหวาน มะขามเปรี้ยว ลิ้นจี่ กล้วยน้ำว้า ลำไย มะม่วง ฯลฯ 5. พืชอุตสาหกรรม เช่น ฝ้าย นุ่น ละหุ่ง หม่อนไหม และกาแฟอราบิก้า ฯลฯ. ดังได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า พืชเศรษฐกิจเหล่านี้สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร หรือเพิ่มปริมาณการส่งออกระดับประเทศนั้น รายงานข้อมูลเป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญฉบับนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดสนับสนุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด หากรายงานสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดพะเยา เพราะมีพืชเศรษฐกิจที่หลากหลาย อีกทั้งยังปลูกพืชแปลกใหม่ (ณ ขณะนั้น) ได้แก่ ข้าวบาสมาติ ข้าวพันธุ์ดีจากอนุทวีปอินเดีย และกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า ที่รสชาติเข้มข้นหอมมันเมื่อถูกคั่วสด. สำหรับอีกประเด็นที่ปรากฏในรายงานคือ เป้าหมายการผลิตกับเป้าหมายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งรายงานได้จำแนกเป็นตารางตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 - 2539 โดยเพิ่มยอดเป้าหมายตลอด 5 ปี แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อสงสัยว่า พืชจำพวก " งา เห็ดฟาง ข้าวสาลี ถั่วฝักยาว ละหุ่ง พริกเล็ก กาแฟอราบิก้า และมะม่วงหิมพานต์ " เหตุใดจึงกำหนดเป้าหมายการผลิตแค่หลักหน่วย - หลักร้อย (ตัน) เท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า จังหวัดอื่นๆ มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่าและเกษตรกรยังไม่นิยมเพาะปลูก ? เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป. และทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือภาพรวมของเป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพะเยาเมื่อ 32 ปีก่อน ในปัจจุบันจำนวนชนิดของพืช การกำหนดเป้าหมายต่างๆนั้น คงมีปริมาณมากขึ้น เพราะคู่แข่งสำคัญไม่ใช่อุปสงค์ - อุปทานภายในประเทศ หากเป็นตลาดจากประเทศจีนและอาเซียน ดังนั้น เป้าหมายต้องเน้นที่ " คุณภาพ " มากกว่าปริมาณอย่างแน่นอน.ผู้เขียน: นายธานินทร์ ทิพยางค์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)เอกสารอ้างอิง: หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา พย 1.13.1/15 เรื่อง เป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ [ 15 - 17 มิ.ย. 2535 ].#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ


-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ผสมเทียมปลาแค้ครั้งแรก -- ปลาแค้ หรือปลากดแค้ (Bagarius bagarius) เป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 70 – 80 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 1 – 1.5 เมตร ในอดีตพบมากในแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีกระแสน้ำไหลเย็นอยู่ตลอดปี โดยเฉพาะในแม่น้ำโขง ซึ่งมักจะอาศัยเกาะแก่งหินใต้ผิวน้ำ หรือตามพื้นท้องน้ำเพื่อหาสัตว์น้ำอื่นๆ กินเป็นอาหาร ปลาแค้เป็นปลาที่คนนิยมบริโภคเนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี จึงมีการจับปลาแค้ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และทำให้จำนวนปลาแค้ลดลงจนอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการศึกษาเพื่อเพาะพันธุ์ปลาแค้ โดยสถานีประมงจังหวัดพะเยา ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏอยู่ในเอกสารจดหมายเหตุ ชุด สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ดังนี้ ปี พ.ศ. 2524 นาวาโทสว่าง เจริญผล อธิบดีกรมประมงในขณะนั้น มอบหมายให้สถานีประมงจังหวัดพะเยาดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาแค้ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพาะพันธุ์ปลาบึกและปลาสำคัญชนิดอื่นๆ ในแม่น้ำโขง ในระยะแรกได้เริ่มทำการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาแค้เพื่อมาศึกษาและเพาะพันธุ์แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 คณะทำงานได้ซื้อพ่อแม่พันธุ์ปลาแค้จากชาวประมงอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และได้ทำการผสมเทียม ณ ริมแม่น้ำโขง โดยฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองปลาจีนให้แก่แม่ปลาในอัตรา 0.7 โดส (ส่วนพ่อปลาไม่ต้องฉีดเนื่องจากมีน้ำเชื้อดี) ต่อมาอีก 8 ชั่วโมง ไข่ปลาสุกได้ที่ จึงรีดไข่จากแม่ปลามาผสมกับน้ำเชื้อจากพ่อปลา ไข่ปลาแค้นี้มีขนาดเท่ากับไข่ปลาดุก แต่เป็นไข่ประเภทครึ่งจมครึ่งลอย (Semi-buoyant egg) หลังจากผสมไข่แล้วจึงนำไข่ทั้งหมดกลับไปฟักไข่ที่สถานีประมงจังหวัดพะเยา โดยใช้กระเช้าฟักไข่แบบไข่ปลาจีน หลังจากฟักไข่ได้ 18 ชั่วโมง ไข่จึงเริ่มฟักออกเป็นตัวในน้ำอุณหภูมิประมาณ 27 – 28 องศาเซลเซียส ได้ลูกปลาแค้ประมาณ 30,000 ตัว นำลูกปลาแค้ไปอนุบาลในตู้กระจกและถังซีเมนต์กลม ใช้น้ำประปาที่พักไว้แล้ว 2 – 3 วัน และต้องคอยเปลี่ยนน้ำทุกวัน ในระยะแรกให้ลูกปลาแค้กินไรน้ำเป็นอาหาร ต่อมาให้ลูกน้ำผสมไรน้ำจนลูกปลามีอายุครบ 30 วัน จึงเริ่มหัดให้กินเนื้อปลาสดบดผสมกับอาหารลูกไก่ในอัตราส่วน 7 : 3 ในระยะนี้จะเหลือลูกปลารอดชีวิตมา 5,000 ตัว ซึ่งทางกองประมงน้ำจืดได้นำลูกปลาแค้จำนวน 4,600 ตัวไปแจกจ่ายตามสถานีประมงใกล้เคียงต่อไป การทดลองเพาะพันธุ์ปลาแค้ด้วยวิธีการผสมเทียมนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาองค์ความรู้เกี่ยวกับปลาแค้และการเพาะพันธุ์ปลาแค้มีน้อยมาก ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของสถานีประมงจังหวัดพะเยา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาชีวประวัติของปลาแค้ และแนวทางการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ปลาแค้ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)เอกสารอ้างอิง: 1. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา หจช พย พย กษ 1.1.3/13 เรื่อง การเพาะพันธุ์และผสมเทียมปลากดแค้ของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา [ 16 ส.ค. 2526 ].2. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา หจช พย พย กษ 1.1.3/16 เรื่อง ความสำเร็จด้านการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา [ 19 ธ.ค. 2529 ].#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ






อาคารถาวรวัตถุ หอสมุดวชิราวุธ       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างขึ้นด้วยพระราชประสงค์ 2 ประการ ประการแรกมีพระราชดำริที่จะทรงสร้างสถานที่เรียนที่เหมาะสมสำหรับมหาธาตุวิทยาลัย (ภายหลังเปลี่ยนเป็นมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) ซึ่งพระองค์โปรดฯให้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 ณ วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์)   อีกประการหนึ่งประจวบกับที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2437 ซึ่งโดยราชประเพณีจะต้องทำพระเมรุขนาดใหญ่ตามพระเกียรติยศ ณ ท้องสนามหลวงแต่พระองค์ไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์และยากลำบากแก่คนเป็นจำนวนมากจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เป็นผู้บัญชาการก่อสร้างอาคารหลังนี้ขึ้น ณ บริเวณกุฏิสงฆ์วัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออกเพื่อเป็นที่เชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณาทานเสร็จแล้วจึงจะเชิญพระบรมศพไปประดิษฐานณพระเมรุมาศน้อย ณ ท้องสนามหลวงเพื่อพระราชทานเพลิงส่วนอาคารหลังนี้จะพระราชอุทิศถวายเป็นสถานที่เรียนสำหรับมหาธาตุวิทยาลัยต่อไป แต่การยังมิทำสำเร็จสมพระราชประสงค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างต่อมาจนแล้วเสร็จพระราชทานให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร โดยโปรดฯใหย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจากที่ตั้งเดิมในพระบรมมหาราชวังมาตั้งที่อาคารแห่งนี้และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอพระสมุดสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2459 ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหนังสือในหอพระสมุดส่วนพระองค์มาเพิ่มเติมในหอพระสมุดสำหรับพระนครปริมาณหนังสือมากขึ้นจึงโปรดฯ ให้แยกหอพระสมุดสำหรับพระนครออกเป็นหอพระสมุดวชิรญาณและหอพระสุมดวชิราวุธโดยโปรดฯให้หอพระสมุดวชิรญาณไปตั้งที่พระราชวังบวรสถานมงคล   รูปแบบสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5-6 อาคารหอพระสมุดวชิราวุธ หรือถาวรวัตถุ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอม มุงกระเบื้องกาบูสีคล้ำ ประดับด้วยบราลีสีเดียวกัน ตอนกลางอาคารมีลักษณะแบบครรภธาตุของพระปรางค์ถึง 3 หลัง ซึ่งน่าจะเป็นแบบที่ดัดแปลงจากยอดปรางค์ 3 ยอดเดิม และสุดปีกของอาคารมีเรือนธาตุแบบนี้อีกทั้งสองข้าง ปั้นลมอาคารประดับลายปูนปั้น เฉพาะหลังกลางหน้าบันลด 3 ชั้น นอกนั้นลด 2 ชั้น ลายที่หัวเสาและฐานเสาประดิษฐ์จากฐานกลีบบัว ประตูเฉพาะประตูกลางของเรือนกลางเป็นรูปโค้งแหลมแบบสถาปัตยกรรม Gothic นอกนั้นเป็นประตูสี่เหลี่ยมธรรมดา ทางเข้าออกอยู่กึ่งกลางของปีกซ้ายของอาคาร ซุ้มประตูรูปโค้งแหลมสูงจรดหลังคา หน้าบันมีเพียงชั้นเดียว ซึ่งกึ่งกลางปีกขวาของอาคารก็จะตกแต่งด้วยหน้าบันแบบเดียวกันนี้ อาคารด้านหลัง ประดับหน้าบันเหมือนด้านหน้า มีระเบียงตลอดความยาวของอาคาร ตัวอาคารยกพื้นสูง ฐานอาคารก่ออิฐถือปูนแบบฐานปัทม์ มีบันไดขึ้นทั้งหน้าและหลังเป็นระยะๆ ตลอดความยาวของอาคาร และมีบันไดขึ้นสู่ระเบียงจากทางเข้าออก สนามด้านหน้าและด้านหลังเป็นแนวแคบขนานไปกับอาคารปูหญ้าและปลูกไม้ดอก เฉพาะสนามด้านหน้ามีรั้วเหล็กโปร่งล้อม    


ประเด็นข่าวสำคัญ   - พิพิธภัณฑ์บูรณะห้องจัดแสดง   - บูรณะครั้งใหญ่ ปลียอดทองคำองค์พระบรมธาตุเจดีย์   - CHANGING THE FUTURE TO PRESERVE THE PAST   - วธ.ตั้งศูนย์พัฒนาหนังสือไทยเอกสารเเนบ






วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะครูและนักเรียนโรงเรียนฮักสคูล (Hug School of Creative Arts) อ. เมือง จ.ขอนแก่น จำนวน ๓๐ คน เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น โดยมีนางแพรว ธนภัทรพรชัย และนักศึกษาฝึกประสบการณ์ ๓ คน คือ นายเจษฎาภรณ์ บุญสัตย์ นายสัมฤทธิ์ ภูดวง และนายวัชรวิทย์ ปัญญะพงษ์ เป็นวิทยากรนำชม


กรมศิลปากรชี้แจงประเด็นข่าวกุฏิพระโบราณ ที่วัดสิงห์ จังหวัดปทุมธานี พังทลายเสียหาย สาเหตุจากช่างที่กรมศิลปากรจ้างมาซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ กรมศิลปากรแถลงข่าวชี้แจงประเด็นกุฏิพระโบราณที่วัดสิงห์ จังหวัดปทุมธานี พังทลายเสียหาย โดยนายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร นายประทีป เพ็งตะโก ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี นายช่างโยธาและวิศกรควบคุมงาน เป็นผู้แถลงข่าว ณ ห้องประชุมกรมศิลปากร ตามที่รายการเรื่องเล่าเสาร์ – อาทิตย์ ประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ รายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ประจำวันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ และหนังสือพิมพ์ข่าวสด หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้เสนอข่าวเกี่ยวกับกุฏิพระโบราณ ที่วัดสิงห์ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พังทลายเสียหายทั้งหมด สาเหตุจากช่างที่กรมศิลปากรจ้างมาซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์ นั้น   กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ขอชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวดังนี้ ๑. วัดสิงห์ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งยังปรากฏเจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่าแก่ ควรค่าแก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พระพุทธรูปสำคัญของวัดคือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อเพชร) นอกจากนี้ยังมีโกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย ซึ่งเป็นพระมอญธุดงค์มาจำพรรษา ที่วัดสิงห์ บนกุฏิของวัดมีพิพิธภัณฑ์ เก็บรักษาของเก่า ได้แก่ ตุ่มสามโคก แท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสามโคก ใบลานอักษรมอญ ตู้พระธรรม และพระพุทธรูป ด้านหน้าวัดสิงห์มีการขุดค้นพบโบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ซึ่งถือ เป็นหลักฐานของการตั้งชุมชนมอญในสมัยแรกในบริเวณนี้นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เล่มที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๑๐๙   ๒. กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานที่ประสบอุทกภัย โครงการบูรณะโบราณสถานวัดสิงห์ จำนวน ๑๒,๐๒๐,๐๐๐ บาท โดยแบ่งเป็น ๒ โครงการ - โครงการงานบูรณะโบราณสถาน จำนวนเงิน ๔,๔๕๐,๐๐๐ บาท - โครงการงานปรับยกระดับ (ปรับดีด) วงเงินสัญญาจ้าง ๗,๕๓๙,๐๐๐ บาท ดำเนินการว่าจ้างบริษัทกันต์กนิษฐ์ ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑๒/๒๕๕๕ เริ่มสัญญาวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ สิ้นสุดวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยมีนายเฉลิมศักดิ์ ทองมา นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี เป็นผู้ควบคุมงาน   ๓. เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๒๑.๓๐ น. นายเฉลิมศักดิ์ ทองมา ได้รับแจ้งจากตัวแทนบริษัทกันต์กนิษฐ์ ก่อสร้าง จำกัด ในเวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น. ขณะที่คนงานอยู่ในช่วงพัก ไม่มีใครอยู่ภายในบริเวณอาคารกุฏิโบราณ ได้ยินเสียงพร้อมทั้งปูนฉาบของตัวอาคารกะเทาะหลุดร่วงลงมา แล้วมุมอาคารด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เกิดการทรุดตัวลง ทำให้กระเบื้องหลังคาและโครงสร้างหลังคาทั้งหมด ทรุดลงมากองอยู่บริเวณพื้นไม้ชั้นสองของอาคาร ทำให้น้ำหนักบรรทุกของพื้นมากขึ้นกว่าเดิม หลังจากนั้นผนังด้านทิศใต้ ก็ได้พังทลายตามลงมาเนื่องจากรับหนักของหลังคาที่ทรุดลงมาไม่ไหว   ๔. เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๙.๐๐ น.ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี (นายประทีป เพ็งตะโก) นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ วิศวกรชำนาญการพิเศษ นายจมร ปรปักษ์ประลัย สถาปนิกชำนาญการ นายเฉลิมศักดิ์ ทองมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามโคก และคณะกรรมการวัดสิงห์ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายและหาสาเหตุของการพังทลาย ได้ข้อสรุปดังนี้ ๔.๑ การที่อาคารเกิดการทรุดตัว เนื่องจากพื้นดินรับฐานรากอาคารอยู่ในที่ต่ำชุ่มน้ำตลอดทั้งปี ทำให้อ่อนตัวรับน้ำหนักอาคารไม่ไหวทำให้ผนังอาคารทรุดตัวลงมาประมาณ ๑ ใน ๔ ส่วน ๔.๒ ผนังอาคารมีร่องรอยแตกร้าวจำนวนมาก พบร่องรอยนี้จากการสำรวจเพื่อจัดทำรูปแบบรายการการอนุรักษ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๔ ๔.๓ ปูนสอเสื่อมสภาพจากการถูกน้ำแช่ขังและใช้งานอาคารมาเป็นเวลานาน ทำให้การยึดตัวของอิฐและปูนสอไม่ดี เป็นสาเหตุให้ตัวอาคารทรุดลงมา ๔.๔ สภาพอาคารที่ปูนฉาบผนังนอกหลุดร่อน ทำให้น้ำซึมผ่านเข้าไปในผนังทำให้ ปูนสอชุ่มน้ำ ทำให้แรงยึดเกาะระหว่างอิฐต่ำ ๔.๕ ขณะที่อาคารทรุดตัวอยู่ระหว่างการขุดเพื่อตรวจสอบฐานของอาคารส่วนที่ จมดินเพื่อเตรียมการกำหนดระยะที่ทำการตัดผนังเพื่อเสริมคานถ่ายแรง ยังไม่ได้ทำการตัดผนัง จึงยังมิได้มีการรบกวนโครงสร้างของอาคารโบราณ แต่ตัวอาคารก็เกิดการทรุดตัวลงมาเสียก่อน   หลังจากทำการตรวจสอบพื้นที่แล้ว สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้สั่งการให้บริษัทผู้รับจ้างทำการค้ำยันผนังส่วนที่เหลือโดยให้ดำเนินการตามคำแนะนำของวิศวกร และทำการจัดเก็บวัสดุส่วนที่สามารถนำมาก่อสร้างเพื่อคืนสภาพอาคารไปจัดเก็บในที่ให้เรียบร้อย รวมทั้งได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการบูรณะกุฏิให้คืนสภาพโดยเร็ว โดยให้บริษัทผู้รับจ้างร่วมกับสถาปนิก วิศวกร และผู้เกี่ยวข้อง ปรับปรุงรูปแบบรายการ และวิธีปรับดีดให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันของกุฏิ และให้ดำเนินการบูรณะกุฏิให้กลับคืนสภาพเดิม โดยให้เป็นไปตามรูปแบบรายการบูรณะที่ได้รับอนุญาต


Messenger