ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 40,813 รายการ
เลขทะเบียน : นพ.บ.130/9ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 34 หน้า ; 4.7 x 54.6 ซ.ม. : ล่องรัก ; ไม้ประกับธรรมดา ชื่อชุด : มัดที่ 76 (288-301) ผูก 9 (2564)หัวเรื่อง : ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสุตฺตฎีกา (ฎีกาธมฺมจกฺก)--เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม
นับจากเหตุการณ์การรื้อถอนบ้านเขียว เมื่อ ๖ เดือนก่อน ซึ่งขณะนั้นเราเรียกอาคารสีเขียวหลังนี้ว่า "อาคารบอมเบย์เบอร์มาร์" กรมศิลปากรได้เข้ามารื้อฟื้นอาคารหลังนี้โดยกระบวนการทางวิชาการ และกรมศิลปากรได้มีการประชุมเผยแพร่การดำเนินงานต่อภาคส่วนต่างๆของจังหวัดแพร่ ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานผู้แทนกรมศิลปากรในพื้นที่ ที่เป็นทั้งผู้ประสานงานและผู้ดำเนินการ อยากเล่าให้ฟังว่ากรมศิลปากรทุ่มเทและนำองค์ความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาใช้ในงาน ทั้งด้านโบราณคดี สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวิศวกรรม ในการวิเคราะห์องค์ประกอบอาคารและพัฒนาการอาคารที่ถูกรื้อถอนไป เพื่อค้นหารูปแบบอาคารที่จะบูรณะฟื้นคืน โดยงานนี้ถือเป็นงานที่ยากที่สุดงานหนึ่ง เนื่องจากกรมศิลปากรต้องทำแข่งกับเวลาและงานอยู่บนฐานความศรัทธาของประชาชนที่มีต่ออาคาร รวมถึงความศรัทธาเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกรมศิลปากรในฐานะองค์กรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่จะมาช่วยฟื้นคืนอาคารหลังนี้ขึ้นมาอีกครั้ง
ตลอดการดำเนินงาน สิ่งที่กรมศิลปากรยึดถือเป็นหลักการมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้น คือ กรมศิลปากรจะต้องฟื้นคืนอาคารหลังนี้อย่างมีหลักวิชาการ เพื่อหลักวิชาการนั้นจะเป็นสิ่งยืนยันกับทุกศรัทธาว่า อาคารหลังที่จะกลับคืนมาสู่ทุกท่านเป็นอาคารของแท้หลังเดิม ไม่ใช่ของก๊อปเกรดเอ
โดยหลักการความเป็นของแท้ดั้งเดิมที่กรมศิลปากรใช้และใช้อย่างเป็นสากลทั่วโลก คือ ความเป็นของแท้ ๕ ประการ
๑. สถานที่ ๒. รูปแบบ ๓. วัสดุ ๔. ฝีมือเชิงช่าง ๕. การใช้งานและจิตวิญญาณของพื้นที่
กล่าวโดยรวมคือ เมื่อเราฟื้นคืนอาคารมาได้ อาคารนี้ยังสามารถรักษาความหมายในเชิงที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ ที่จะสื่อถึงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำที่สถานที่แห่งนั้นมี เปรียบเหมือนเรามีบ้าน หากยกบ้านเราไปตั้งไว้ที่อื่น ความรู้สึกและความทรงจำที่เรามีต่อบ้านจะถูกลดทอน เพราะความทรงจำที่เรามีต่อบ้านหมายรวมถึงความเป็นสถานที่
ถ้าสถานที่ ยังตั้งอยู่ ณ ที่เดิม เราสามารถรักษารูปแบบเดิมของอาคารไว้ได้หรือไม่ แน่นอนว่า "รูปแบบ" เป็นกายภาพหลักที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้เพราะเป็นสิ่งที่ที่คนรู้สึกและสัมผัสได้ว่านั่นเป็นของเดิมหรือเปลี่ยนไปจากเดิม แต่การจะรักษารูปแบบไว้โดยคงคุณค่าที่แท้จริงของอาคาร จำเป็นต้องคงไว้ซึ่งวัสดุและฝีมือเชิงช่างเดิม เพราะนั่นคือภูมิปัญญาที่อาคารหลังนั้นเกิดขึ้นมา โดยผ่านการสั่งสมเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่ออาคารนั้นๆ
.......และสุดท้าย คือ การรักษาหน้าที่การใช้งานและจิตวิญญาณ กล่าวคือ เราจำเป็นต้องรักษาการใช้งานที่สามารถสื่อถึงตัวตนและประวัติศาสตร์ของอาคารนั้น ไม่ทำให้ผู้คนหลงลืมคุณค่าของอาคารนั้นไป และทำให้จิตวิญญาณยังคงอยู่กับอาคารนั้น....แม้คำว่าจิตวิญญาณจะเป็นนามธรรม แต่คำนี้ทรงความหมายที่สุดต่ออาคาร สถานที่ โบราณสถานต่างๆ
.........หลายสิบปีก่อน พระธาตุพนม พังทลายลงทั้งองค์ กรมศิลปากรได้บูรณะใหม่ขึ้นมาทั้งหมด หากผู้คนไม่เชื่อถือว่าพระธาตุพนมที่กรมศิลปากรบูรณะฟื้นคืนขึ้นมาเป็นของจริง เราคงได้พระธาตุพนมที่เป็นอนุสาวรีย์ แต่ไม่ใช่ปูชนียสถาน ดังนั้นการทำงานอย่างเป็นวิชาการที่กรมศิลปากรยึดถือ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
กรมศิลปากร เริ่มต้นกระบวนการการฟื้นคืนอาคารโดยการคัดแยกและจัดประเภท ทำทะเบียนไม้ว่ามาจากองค์ประกอบไหนของอาคาร รวมถึงประเมินข้อมูลไม้ในรูปแบบอาคารที่จัดทำเป็นแบบสามมิติ โดยพบว่ามีไม้ ๘๐ เปอร์เซ็น ที่น่าจะนำกลับไปประกอบยังส่วนเดิมของอาคารได้ ส่วนไม้ที่เหลืออาจต้องประเมินความแข็งแรงและความสมบูรณ์ ซึ่งก็นับได้ว่า เราได้ "วัสดุ" ที่เป็นของเดิมของอาคารกลับคืนมาในกระบวนการบูรณะในอนาคต
แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดตรวจฐานรากอาคารบ้านเขียวแห่งนี้ เพื่อตรวจสอบรูปแบบและความเปลี่ยนแปลงอาคารว่ามีทั้งสิ้นกี่ระยะ และระยะใดควรนำมาเป็นรูปแบบในการบูรณะฟื้นคืน
เนื่องด้วยอาคารที่เราเห็นก่อนการรื้อถอน เป็นอาคารที่มีการปรับปรุงใหม่ในยุคปัจจุบัน กรมศิลปากรจึงใช้กระบวนการนี้เพื่อแสวงหา รูปแบบหน้าตาของอาคารที่แท้จริงในอดีตกลับคืนมาให้ชาวเมืองแพร่ โดยจากการขุดตรวจทางโบราณคดีพบพัฒนาการอาคาร ๕ ระยะ โดยระยะที่ถือว่ามีความเป็นของแท้ดั้งเดิมโดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับหนักแน่น คืออาคารในระยะที่ ๔ ที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่าปี ๒๔๙๘ โดยอาคารในระยะนี้เป็นอาคารสองชั้น ตัวอาคารหลักมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาด้านข้างทั้งสองด้าน (ซึ่งเป็นรูปแบบที่สืบมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๔๘๗ เป็นอย่างน้อย จากการปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศเก่า) โดยกรมศิลปากรได้นำเสนอข้อมูลทั้งหมดต่อภาคส่วนต่างๆของจังหวัดแพร่ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งในขั้นต่อไปจะมีการนำข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบอาคารที่มีความเหมาะสมจะฟื้นคืนมานี้ ต่อภาคประชาสังคมในวงกว้าง เพื่อให้เป็นฉันทามติของประชาชนชาวจังหวัดแพร่ในการจะเลือกรื้อฟื้นอาคารว่ารูปแบบใด
และในประเด็นสุดท้ายคือ กรมศิลปากร ได้นำเสนอข้อมูลศึกษาที่ว่า อาคารบ้านเขียวหลังนี้ คือ "อาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ มิใช่อาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์ เบอร์มาร์"
จากการศึกษา พบหลักฐานที่สามารถระบุถึงตำแหน่งของอาคารทั้ง ๒ แห่ง ว่าหลังไหนควรเป็น ที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ และหลังไหนเป็นอาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์ เบอร์มาร์ โดยบันทึกการตรวจราชการของกรมการปกครองในปี ๒๔๖๕ ระบุถึงการมีอยู่ของที่ทำการกองป่าไม้และบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ว่าอยู่นอกกำแพงเมืองริมแม่น้ำยม แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดในเชิงความสัมพันธ์ทางที่ตั้งว่าหลังใดตั้งอยู่ตำแหน่งไหน ทั้งนี้เอกสารที่ให้รายละเอียดที่กระจ่างชัด คือ บันทึกของ Reginald Le May ในปี ๒๔๖๙ ที่ระบุถึงการเดินทางไปเมืองแพร่โดยข้ามแม่น้ำยมมาที่ท่าเชตวัน เมื่อขึ้นฝั่งได้ระบุว่า ซ้ายมื้อเป็นที่ทำการของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ และขวามือเป็นที่ทำการป่าไม้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับภาพถ่ายทางอากาศในปี ๒๔๘๗ ที่ปรากฏให้เห็นกลุ่มอาคารด้านซ้ายมือ และขวามือของถนนเชตวัน ฟากละ ๑ กลุ่ม โดยจากการทับซ้อนภาพถ่ายทางปี ๒๔๘๗ กับภาพพื้นที่ปัจจุบันพบว่า กลุ่มอาคารด้านทิศเหนือของถนนเชตวัน (ถ้านับจากการเดินทางขึ้นมาจากตลิ่งของ Le May คือฟากซ้ายมือซึ่งก็คือที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์) ได้กลายเป็นพื้นที่แม่น้ำยมไปแล้วทั้งหมด จึงสรุปได้ว่า อาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาร์ ได้พังทลายลงแม่น้ำยมไปแล้วทั้งหมด (โดยการพังทลายนั้นน่าจะอยู่ราวปี ๒๔๘๘ - ๒๕๐๐)
กรมศิลปากรรู้ว่าสิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึกประชาชนจำนวนมาก ด้วยประชาชนเกือบทั่วประเทศรับรู้ เชื่อ และผูกพันไปแล้วว่าอาคารหลังนี้ ชื่อ บอมเบย์เบอร์มาร์ แต่สิ่งที่กรมศิลปากรยึดถือมาโดยตลอด คือ กรมศิลปากร ต้องเป็นหลักยึดแก่สังคมที่เสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านการค้นคว้าและไตร่ตรองทางวิชาการโดยมิได้มีความเอนเอียงใดๆ กรมศิลปากรจึงต้องขอบอกเล่าข้อเท็จจริงนี้ให้ประชาชนได้รับทราบ และอยากให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องโดยปราศจากอคติ
และท้ายที่สุดที่กรมศิลปากรอยากบอกเล่าแก่ทุกท่าน คือ แม้อาคารหลังนี้จะไม่ใช่อาคารบอมเบย์เบอร์มาร์ อย่างที่หลายคนคิด คุณค่าที่มีในตัวอาคารก็มิได้ลดน้อยลงแต่ประการใด เพราะคุณค่ามิได้ขึ้นอยู่กับชื่ออาคาร แต่คุณค่าขึ้นอยู่กับว่าอาคารนั้นเคยเป็นและเคยทำอะไร หากเรามองเห็นเพียงความเป็นอาคารของรัฐหลังหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า "อาคารป่าไม้ภาค" นั่นคือเรากำลังตัดสินความสำคัญของอาคารเพียงชื่อ แต่ถ้าเรามองเห็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาคารหลังนี้ในฐานะ พัฒนาการกิจการอุตสาหกรรมป่าไม้ในประเทศไทย ชื่อ "อาคารป่าไม้ภาค" คือ ชื่อ ที่ชาวเมืองแพร่ และประชาชนทุกท่านควรภาคภูมิใจในฐานะที่อาคารแห่งนี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของกิจการป่าไม้ของเมืองแพร่และประเทศ
สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สังคิณี-มหาปัฎฐาน)
เลขที่ ชบ.บ.5/1-6
เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาพิธีท้องสนามหลวง
การค้าสังคโลกเริ่มต้นขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยเริ่มจากการติดต่อค้าขายกับเมือง ที่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยและเมืองท่าริมชายฝั่งทะเลในภาคใต้ และเริ่มเฟื่องฟูมากขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การส่งออกเครื่องถ้วยของจีนซบเซาลงเนื่องจากนโยบายทางการค้าและการเมืองภายใน ของราชวงศ์หมิง ทำให้เครื่องสังคโลกและเครื่องถ้วยจากเวียดนามก้าวขึ้นมาครองตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนเครื่องถ้วยจีน เราจึงพบเครื่องถ้วยทั้งสองกลุ่มในแหล่งโบราณคดีและแหล่งเรือจมจากหลาย ๆ พื้นที่ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ก่อนที่การผลิตและการค้าสังคโลกจะค่อย ๆ ลดปริมาณลง จนหายไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ศูนย์กลางสำคัญในการส่งออกเครื่องสังคโลก คือ กรุงศรีอยุธยาซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคและมีอำนาจเหนืออาณาจักรสุโขทัย ส่งผลให้อาณาจักรสุโขทัยกลายเป็นฐาน ในการผลิตสังคโลกให้กับกรุงศรีอยุธยา โดยสังคโลกที่เป็นสินค้าส่งออกมีหลายรูปแบบ อาทิ เครื่องเคลือบสีเขียว ที่เรียกว่า เซลาดอน เครื่องเคลือบสีน้ำตาล เครื่องถ้วยเขียนลายสีดำหรือสีน้ำตาลใต้เคลือบ มีแหล่งผลิต ทั้งจากเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัย สิ่งเหล่านี้บอกเล่าให้เราทราบว่าการผลิตสังคโลกมีการขยายตัวมากขึ้น จากการผลิตเพื่อใช้ในท้องถิ่นมาสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กันของดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผนที่เส้นทางการค้าเครื่องสังคโลก--------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก--------------------------------------------------
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เรื่อง กุฏิพระพุทธเจ้าที่เมืองกำแพงเพชร
มณฑป เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบหนึ่งที่พบในโบราณสถานวัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาในหัวเมืองเหนือ โดยเฉพาะที่เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย และส่งอิทธิพลมายังเมืองกำแพงเพชร แม้จะพบจำนวนไม่มากเท่ากับทั้งสองเมืองข้างต้น แต่ยังคงปรากฏว่ามีการส่งผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว รูปแบบของมณฑปที่พบโดยมากมีแผนผังเป็นสี่เหลี่ยมมีลักษณะทึบตันตั้งแต่ผนังไปถึงหลังคา ที่ก่อสร้างด้วยวัสดุก่อ (อิฐ หิน หรือศิลาแลง) โดยหลังคาจะก่อวัสดุให้เหลื่อมเป็นซุ้ม (Corbel Arch) และภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปรากฏรูปแบบมณฑปอยู่สองประเภท คือ มณฑปท้ายวิหารมีลักษณะการเชื่อมต่อหรือก่อสร้างมณฑปไปชนกับวิหารที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของมณฑปและมณฑปมณฑปที่สร้างแยกออกมาไม่เชื่อมต่อกับวิหาร โดยพบเฉพาะห้องประดิษฐานพระพุทธรูปหรือก่อสร้างออกมาเป็นเอกเทศ
อาคารที่ไว้สำหรับประดิษฐานรูปเคารพพบมาก่อนแล้วในศิลปะอินเดียมีแผนผังประกอบด้วยส่วนประดิษฐานรูปเคารพเรียกว่า “ครรภคฤหะ” และส่วนที่สร้างยื่นออกมาด้านหน้าเรียกว่า “มณฑป” ทั้งในศิลปะอินเดียใต้ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔)และในศิลปะอินเดียเหนือ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗) ได้ส่งอิทธิพลไปยังศิลปะลังกาเรียกอาคารสำหรับประดิษฐานรูปเคารพว่า“ปฏิมาฆระ”รวมทั้งส่งต่อรูปแบบไปให้ปราสาทในศิลปะเขมร และศิลปะพุกามคือ “เจติยวิหาร” รูปแบบและแนวคิดของอาคารดังกล่าวทั้งในศิลปะลังกา พุกาม และเขมรที่ได้รับมาจากศิลปะอินเดียนั้นต่างส่งแรงบันดาลใจให้กับช่างในสมัยสุโขทัยนำไปสร้างสรรค์รูปแบบอาคารที่ประดิษฐานรูปเคารพดังกล่าวให้มีเอกลักษณ์เฉพาะในเวลาต่อมา
คติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างสถาปัตยกรรมหรือมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูป น่าจะมีแนวคิดมาจากการสร้าง “คันธกุฎี” หรือกุฏิส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ปรากฏข้อความในพระอรรถกถาแห่งกสิสูตร อุปาสกวรรคที่ ๒ กล่าวว่าในแต่ละวันพระพุทธเจ้าปฏิบัติพุทธกิจ ตามช่วงเวลาและในบางเวลาจะเสด็จประทับภายในคันธกุฎีเพื่อพักผ่อนพระวรกาย เช่น “...ทรงให้เวลาล่วงไป ณ เสนาสนะที่สงัดจนถึงเวลาเสด็จภิกขาจาร... แล้วเสด็จโปรดสัตว์ เสวยพระกระยาหาร ทรงรอจนภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ จึงเสด็จเข้าพระคันธกุฎี...”
สำหรับที่เมืองกำแพงเพชรพบมณฑปสองรูปแบบ คือ มณฑปท้ายวิหาร และมณฑปที่แยกออกมาเป็นเอกเทศไม่เชื่อมต่อกับส่วนของโบราณสถานอื่น
๑. มณฑปท้ายวิหาร พบจำนวน ๒ แห่ง คือ โบราณสถานวัดพระนอน อยู่ด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน เป็นมณฑปในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาก่อด้วยศิลาแลงเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักระหว่างเสาก่อศิลาแลงเป็นผนังของมณฑป ภายในมณฑปมีฐานชุกชีกว้างเกือบเต็มพื้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งซึ่งเหลือเพียงโกลนศิลาแลง ด้านทิศตะวันออกของมณฑปเชื่อมต่อกับวิหาร
มณฑปท้ายวิหารอีกแห่งที่พบในเมืองกำแพงเพชร คือ โบราณสถานวัดป่ามืดใน พบมณฑปท้ายวิหารตั้งอยู่กึ่งกลางของวัด มณฑปอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใช้โครงสร้างผนังรับน้ำหนักและสันนิษฐานว่ามีการก่อศิลาแลงเหลื่อมเป็นซุ้ม แบบที่นิยมที่เมืองศรีสัชนาลัยเช่นที่โบราณสถานวัดสวนแก้วอุทยานน้อยและวัดกุฎีราย ภายในมณฑปวัดป่ามืดในพบโกลนพระพุทธรูปนั่งประดิษฐานอยู่เต็มพื้นที่ของมณฑป ด้านหน้าของมณฑปมีการลักษณะของการก่อศิลาแลงให้เป็นซุ้มด้านหน้าเพื่อเชื่อมต่อกับวิหาร
๒. มณฑปที่สร้างแยกออกมาไม่เชื่อมต่อกับวิหาร ได้แก่ มณฑปที่วัดพระสี่อิริยาบถ เป็นมณฑปแบบจตุรมุขหรือมีมุขยื่นออกมาจากมณฑปทั้งสี่ด้าน ในแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่อิริยาบถ ได้แก่ เดิน นั่ง ยืน นอน มณฑปรูปแบบดังกล่าวใช้แกนกลางที่มีลักษณะทึบตันเป็นโครงสร้างรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบในเจติยวิหารแบบแกนกลางรับน้ำหนักศิลปะพุกาม
นอกจากนี้ที่เมืองกำแพงเพชรยังพบมณฑปพระอัฏฐารส (พระพุทธรูปยืนสูง ๑๘ ศอก) ที่โบราณสถานวัดพระแก้วบริเวณด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ช้างเผือก แบบเดียวกับที่มณฑปพระอัฏฐารสวัดเจ้าจันทร์ เมืองศรีสัชนาลัย และวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบมณฑปเป็นหนึ่งในศิลปกรรมที่แสดงให้เห็นการรับอิทธิพลผ่านการรับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา แม้จะพบว่ารูปแบบสถาปัตยกรรม ขนาด และการเรียกชื่อจะแตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่พบว่าทั้งปฏิมาฆระ เจติยวิหาร และมณฑปมีความเหมือนด้านการแบ่งพื้นที่ของสถาปัตยกรรมออกเป็นสองส่วนคือ พื้นที่สำหรับพระพุทธรูปและพื้นที่สำหรับประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับความเชื่อว่าพื้นที่สำหรับพระพุทธเจ้าเป็นกุฏิส่วนพระองค์หรือคันธกุฎี
เอกสารอ้างอิง
เกรียงไกร เกิดศิริ. พุกาม : การก่อรูปของสถาปัตยกรรมจากก้อนอิฐแห่งความศรัทธา. กรุงเทพฯ : อุษาคเนย์, ๒๕๕๑.
เชษฐ์ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: รูปแบบ พัฒนาการ ความหมาย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
โชติมา จตุรวงค์. วิหารพระพุทธรูป สถาปัตยกรรมเปรียบเทียบไทย เมียนมา และศรีลังกา. กรุงเทพฯ : อี.ที. พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๓.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “จุ๊จุ๊ อย่าดัง พระกำลังปลีกวิเวก”. หาพระ หาเจ้า :รวมบทความทางวิชาการเกี่ยวกับความหมายทางสังคมและวัฒนธรรมของโบราณวัตถุและโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕. หน้า ๘๗-๙๘.
ธาดา สุทธิธรรม.สถาปัตยกรรมสุโขทัย = Sukhothai architecture.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๖.
องค์ความรู้เรื่อง “จักสานย่านลิเภา”
“ย่านลิเภา” หรือ “ลิเภา” (ภาษาท้องถิ่นภาคใต้เรียกเถาไม้เลื้อยว่า “ย่าน”) เป็นพืชตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่ทอดเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น มีความยาวราว 1-2 เมตร บางชนิดยาวถึง 5 เมตร เมื่อแก่ลำต้นจะมีสีดำและเป็นมัน พบมากในป่าภาคใต้ของไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ด้วยคุณสมบัติที่มีความเหนียว ทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงทำให้ในอดีตมีการนำย่านลิเภามาสานเป็นภาชนะและเครื่องใช้พื้นบ้านประเภทต่างๆ เช่น เชี่ยนหมาก พาน กระเป๋าถือ กระเป๋าหมาก หมวก กล่องใส่ยาเส้น ปั้นชา และขันดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น
ย่านลิเภาสำหรับใช้ในงานจักสานมี 2 ประเภท คือ ย่านลิเภาดำและย่านลิเภาน้ำตาล โดยจะเลือกใช้เส้นย่านลิเภาที่ด้านนอกมีสีเขียวเข้ม ด้านในมีสีน้ำตาลเข้ม เริ่มต้นด้วยการนำเส้นย่านลิเภาใหญ่ไปลอกหรือปอกเปลือกออก จากนั้นจึงนำมาผึ่งลมให้แห้ง และนำมาแบ่งเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการใช้งาน เสร็จแล้วนำไปแช่น้ำให้ชุ่ม และนำกลับมาแบ่งเป็นเส้นที่มีขนาดเล็กลงตามความต้องการใช้งานอีกครั้ง จากนั้นจึงทำการ “ชักเลียด” ในขั้นตอนของการชักเลียดนั้น จะนำกระป๋องนมหรือสังกะสีชนิดหนามาเจาะรูให้ได้ขนาดต่างๆ ตามที่ต้องการ ประมาณ 5 รู ให้มีขนาดจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กที่สุด นำเส้นย่านลิเภามารูดทีละช่องจนได้เส้นย่านลิเภาขนาดที่ต้องการ ซึ่งการเหลาเส้นจักตอกโดยวิธีชักเลียดนี้จะทำให้ตอกมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งเส้น ผิวตอกจะเรียบลื่นสวยงาม ส่วนย่านลิเภาที่ยังไม่ได้ใช้ให้เก็บใส่ถุงพลาสติกแช่ตู้เย็นเอาไว้เพื่อกักเก็บความชื้น เมื่อนำออกมาใช้จะทำให้สานได้ง่ายกว่าเส้นลิเภาที่แห้ง
การจักสานย่านลิเภาจะเริ่มด้วยการสานส่วนฐานของผลิตภัณฑ์เป็นลำดับแรกด้วยวิธีการดัดให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ อาจใช้รูปแบบการดัดหวายเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกลม รูปทรงรี รูปทรงเหลี่ยม ส่วนการเลือกเส้นหวายสำหรับทำโครงจะต้องเลือกตัดเส้นหวายให้ได้ขนาด แล้วจึงนำมาชักเลียดหวายจนได้เป็นขนาดที่พอเหมาะสำหรับการสาน เมื่อชักเลียดหวายเสร็จแล้วจึงนำมาตัดให้ได้ขนาดตามผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นจึงใช้เข็มเจาะนำที่หวายให้เป็นรูแล้วใช้ย่านลิเภาสอดตามเข้าไปเพื่อสานประกอบเป็นก้นของผลิตภัณฑ์
การสานลายย่านลิเภามี 2 รูปแบบ คือ การสานแบบโปร่ง (หรือแบบขดขึ้นรูป) ต้องขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ หรือ ไม้เนื้ออ่อน สานเส้นลิเภาด้วยวิธีการขัดลายคล้ายกับวิธีการสานเสื่อ ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือวิธีการสานแบบทึบ ซึ่งจะเริ่มสานจากก้นของภาชนะหรือเครื่องใช้นั้น โดยใช้หวายขดขึ้นรูปในการขึ้นโครงเป็นวงกลมแบบก้นหอย ในการสานจะต้องใช้เบ้าเป็นเครื่องกำหนดรูปทรง เวียนขึ้นไปตามเบ้าที่ใช้เป็นแบบ ตัวเบ้านิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ขึ้นรูปทรงที่ความต้องการตามเบ้า จากนั้นใช้เข็มเจาะนำแล้วสานต่อเส้นลิเภาทีละเส้นด้วยวิธีการถักเส้นลิเภาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ยากและต้องอาศัยความละเอียดในการถัก ในขั้นตอนนี้อาจมีการสร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ บนผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภา เช่น ลายดอกสี่เหลี่ยม ลายสอง ลายตาสับปะรด ลายลูกแก้ว ลายคชกริช ลายพิมพ์ทอง ลายเม็ดแตง ลายมัดหมี่ ลายเม็ดมะยม และลายดาวกระจาย เป็นต้น
เมื่อได้ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภาตามต้องการแล้ว จะต้องขัดผิวด้วยกระดาษทราย เก็บรายละเอียดหรือแต่งชิ้นงานให้มีความเรียบร้อย จากนั้นจึงใช้น้ำยาเคลือบผิวหรือชักเงาทาเพื่อเคลือบรักษาเนื้อผิวของผลิตภัณฑ์จักสานจากย่านลิเภาให้มีความคงทน เพิ่มความมันวาว สวยงาม (สมัยโบราณนิยมทาด้วยน้ำมันยางใสป้องกันมอดและแมลงบางชนิดกัดกิน) ก่อนนำประดับตกแต่งด้วยการบุผ้า หุ้มขอบด้วยถมเงินและถมทอง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ชิ้นงาน
ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา เป็นงานหัตถกรรมเครื่องจักสานพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์พิเศษของภาคใต้ ซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษมาหลายร้อยปี สันนิษฐานว่าเริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ที่นิยมทำกันมากในสำนักของเจ้าพระยาเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวกันว่า เจ้าเมืองนครได้เคยนำถวายเจ้านายในกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก จนกระทั่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ครั้งที่ดำรงตำแหน่งพระยาสุขุมนัยวิปัต-สมุนเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ฟื้นฟูส่งเสริมงานจักสานย่านลิเภาจนเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นสูงในกรุงเทพมหานคร และได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5
จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรม “จักสานย่านลิเภา” ที่มีชื่อเสียงและมีกลุ่มคนที่มีทักษะฝีมือในการจักสานย่านลิเภาอยู่หลายกลุ่ม มีการสร้างสรรค์และพัฒนาการขึ้นรูปงานจักสานย่านลิเภาเป็นผลิตภัณฑ์รูปทรงต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานตามยุคสมัย โดยมีการผสมผสานกับโลหะหรือวัสดุมีค่า เช่น ทองคำ นาก เงิน งาช้าง และเครื่องถมเมืองนคร ทำให้เกิดลวดลายที่วิจิตรงดงาม มีเอกลักษณ์และคุณค่า จนทำให้เครื่องจักสานย่านลิเภาเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช
รวบรวมโดย นางสาวอาพาภรณ์ หมื่นรักษ์ บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช
อ้างอิง
งานศิลปกรรมประเภทจักสานย่านลิเภา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.sacict.
http://or.th/.../_2c7d707bf2e9b8a3008abe05c37f96fb.pdf
จักสานย่านลิเภา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.museumthailand.com/.../%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0.../
“ย่านลิเภา” วัชพืชมากมูลค่าแห่งเมืองคอน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 จาก https://mgronline.com/travel/detail/9500000089870
อาจินต์ ศิริวรรณ. (2562). วิถีชาวบ้าน ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.technologychaoban.com/folkways/article_116667
อ้างอิงภาพประกอบ
https://herb.in.th/
https://nakhon.live/equipment/
https://nakhon.live/procedure/
https://program.tpbs.ndev.pw/Lui/episodes/77842
https://readthecloud.co/lipao-craft-by-boonyarat/
https://www.creativethailand.net/en/article/detail/374-
จอมพลผิน ชุณหะวัณ และนางเพทาย พยุงเวชชศาสตร์ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพยุงเวชชศาสตร์ (พยุง พยุงเวช) และแพทย์หญิงสุภาณี พยุงเวช วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสนพระทัยในศิลปวิทยาการหลายแขนง โดยเฉพาะในทางศิลปะ ดนตรี ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในรัชกาลที่ ๕ ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราชในหลายด้าน ถึงปลายรัชกาลจึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการด้วยเหตุที่พระสุขภาพทรุดโทรม ไม่อาจทำราชการได้ทันตามพระราชประสงค์ เมื่อทรงว่างจากราชการประจำแล้ว ทรงมีเวลาว่างมากขึ้น จึงได้ทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะเรื่อยมา ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลานี้ ทรงมีลายพระหัตถ์ไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเชษฐาซึ่งทรงรอบรู้ในสรรพวิทยาโดยเฉพาะทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ลายพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์ มีมากขึ้นเมื่อทั้งสองพระองค์ทรงพ้นจากราชการทั้งหลายแล้ว และมีเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความรู้ ไม่เฉพาะสิ่งที่ทั้งสองพระองค์สนพระทัยเท่านั้น หากยังมีเรื่องราวที่สะท้อนภาพของสังคม วัฒนธรรมในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ลายพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์ ในเวลาต่อมาทายาทได้รวบรวมจัดพิมพ์ และรู้จักกันในชื่อหนังสือเรื่อง “สาส์นสมเด็จ”
ในลายพระหัตถ์ “สาส์นสมเด็จ” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีไปถึงสมเด็จฯเจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๔ มีเนื้อความเกี่ยวข้องกับ “พัดวไลย” ดังนี้
บ้านซินนามอน ปีนัง
วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ
... หม่อมฉันได้รับหนังสือแจกงานพระศพทูลกระหม่อมหญิงวลัย ชุด ๑ เห็นใบปกสมุดเล่ม ๑ มีรูปพระสถูปเป็นประธาน แต่แรกเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายพระธรรมปริยายที่พิมพ์ในสมุดเล่มนั้น พิจารณาไปเห็นรูปกำไลก้านบัว ๒ วงกับดอกประจำยามอยู่ข้างใต้ ได้เค้าว่าหมายว่า “วลัยกับอลงกร” แลกลับขึ้นไปดูรูปพระสถูปเห็นมีช่องคูอยู่ที่ฐานก็รู้ได้ว่าเขาหมายจะทำรูป “พระธาตุจอมเพชร์” บนยอดเขามหาสวรรค์ที่เมืองเพชร์บุรีเป็นเครื่องหมายนามกรมหลวงเพชรบุรี ก็ต้องชมว่าเขาช่างคิดเลือกจะหารูปสิ่งอื่นหมายให้เหมาะกว่าเห็นจะไม่มี...
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ดำรงราชานุภาพ
ลายพระหัตถ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ทราบว่า ผลงานออกแบบของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากที่ใช้เป็นแบบของพัดรองที่ระลึก เนื่องในงานพระเมรุพระราชเพลิงพระศพแล้ว ยังใช้เป็นภาพปกของหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานพระเมรุครั้งนั้นด้วย โดยหนังสือดังกล่าว คือหนังสือเรื่อง “ประชุมโอวาท คณะครูโรงเรียนราชินี พิมพ์น้อมเกล้าสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร งานพระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ.๒๔๘๔” สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ “สนองลายพระหัตถ์” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๘๔
กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท
...สนองลายพระหัตถ์ (ฉบับหลัง)
...พระตราทูลกระหม่อมหญิงเพชรบุรี ซึ่งมีพระธาตุจอมเพชรอยู่ด้วยนั้นเป็นของเกล้ากระหม่อมคิดขึ้นเอง สมเด็จพระพันวัสสาตรัสสั่่งมาให้เขียนพัด เมื่อเขียนถวายไปแล้วโรงเรียนราชินีเขาก็ถ่ายทำเป็นใบปกหนังสือไปอีกต่อหนึ่ง ในการที่เกล้ากระหม่อมทำนั้นคิดหลบสิ่งที่เป็นของพระบรมราชาฯ เหตุด้วยมีกฎหมายบังคับ ว่าถ้าทำแล้วให้ขอพระบรมราชานุญาตก่อน เห็นว่าขอพระบรมราชานุญาตนั้นลำบาก จึงไปฉวยเอาพระธาตุจอมเพชรมาทำ ฝ่าพระบาทก็เก่งทายาดที่ทรงทราบได้ว่าพระธาตุจอมเพชร ภายใต้นั้นตั้งใจจะทำเป็นกลุ่มใบตาล เป็นเขาเป็นดงตาลเสร็จไปในตัว แต่ตาไม่เห็นลำบากในการเขียน ต้องหาคนช่วย ต่อลงสีแล้ว จึงเห็นว่ามันบางกะหรอนไปจนเกือบจะไม่เห็นว่าเป็นกลุ่มใบตาล เพราะสีทำให้จะแจ้งขึ้น จะแก้ก็ไม่ทราบว่างานจะช้า กลัวจะไม่ทันการ จึ่งปล่อยไปเลยตามเลย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
นริศ
จากลายพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์ข้างต้น เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี ถึงข้อสันนิษฐาน ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีเมื่อได้เห็นภาพปกหนังสือดังกล่าวว่าเป็นพระธาตุจอมเพชร บนพระนครคีรี และต่อมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงอธิบายถึงที่มาของแนวคิดในการออกแบบพัดรองที่ระลึก เนื่องในงานพระเมรุ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร ว่า ทรงเลี่ยงการใช้สิ่งซึ่งต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทรงเลือกใช้ภาพพระธาตุจอมเพชร พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรีมาเป็นภาพหลักในพัดรองดังกล่าว เพราะมีความสอดคล้องกับพระนาม “กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร” นั่นเอง นอกจจากนี้ ยังทรงแทรกภาพของภูเขา และใบตาล อันหมายถึงเขามหาสวรรค์ และต้นตาล ต้นไม้ที่มีอยู่มากในท้องที่จังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ตรัสถึงเรื่อง “พัดวไลย” โดยทรงยกย่องในความคิดเรื่องการออกแบบพัดรอง ดังความว่า
บ้านซินนามอน ปีนัง
วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔
ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ
...ตราพัดรองงานพระศพทูลกระหม่อมหญิงกรมหลวงเพชรบุรีนั้น หญิงพิลัยเธอตีความที่หม่อมฉันยังคิดไม่เห็นออกอีกอย่าง ๑ ที่มีวงจักร์ต่อกำไลก้านบัวหมายเป็นอักษร ว ข้าง ๑ เป็นอักษร อ ข้าง ๑ ที่หม่อมฉันทูลชมตรานั้นนับได้ว่าชมอย่างบริสุทธิ์ เพราะเมื่อชมไม่รู้ว่าใครคิด ถ้ารู้ก่อนว่าเป็นพระดำริของท่าน คำชมก็ระคนด้วยความนับถือส่วนพระองค์ท่านหาบริสุทธิ์ปลอดบัลลัยทีเดียวไม่...
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ดำรงราชานุภาพ
หนังสือ “สาส์นสมเด็จ” นอกจากจะเป็นลายพระหัตถ์ที่เจ้านายทั้งสองพระองค์ทรงแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ศิลปะแขนงต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องราวของเหตุการณ์บ้านเมือง ตลอดจนสภาพสังคมเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้วที่น่าสนใจอย่างยิ่ง “สมเด็จ” ทั้งสองพระองค์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ จนกระทั่งปี ๒๔๘๖ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์จึงเป็นอันสิ้นสุด และทรงมีลายพระหัตถ์สุดท้าย ประทานแก่หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ความว่า
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๖
หญิงจง
ที่ให้ลายพระหัตถ์เด็จพ่อนั้นดีเต็มที ในเรื่องเรือนคนทำตามประเทศนั้นดีมาก ถ้าหาไม่ก็จะเขียนหนังสือกราบทูลถวาย เสียดายเต็มทีที่สิ้นพระชนม์เสีย จะกราบทูลอะไรไม่ได้ทั้งนั้น
นริศ
อ้างอิง
สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๔. โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔,
จาก: https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๔
สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๖. โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔,
จาก: https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๖/ธันวาคม
ราชินี, โรงเรียน. ประชุมโอวาท.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยเขษม, ๒๔๘๔. (คณะครูโรงเรียนราชินี พิมพ์น้อมเกล้าฯ
ถวายสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีราช สิรินธร งานพระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๘๔)
ภาพประกอบ
ภาพปกหนังสือ “ประชุมโอวาท” ซึ่งโรงเรียนราชินี จัดพิมพ์สนองพระเดชพระคุณ ในงานพระเมรุ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชรบุรีสิรินธร พุทธศักราช ๒๔๘๔
องค์ความรู้ทางวิชาการ
เรื่อง ภาพถ่ายเก่าเล่าเรื่อง@ปราสาทเปือยน้อย
เรียบเรียง : นางสาวกุลวดี สมัครไทย
นักโบราณคดีชำนาญการ
สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น
ARTWORK: นายเหมณัฐ โจทก์มีชัย
นักวิชาการวัฒนธรรม