ในปลายปีมะเมีย พุทธศักราช ๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเรื่องออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา ด้วยทรงพระราชดำริ “...ตริตรองในการจะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อยสำเร็จประโยชน์ทั่วถึง แลแน่นอนให้ดีขึ้นไปกว่าแต่ก่อน..”ทรงเห็นว่า ในเวลามีราชการต่างๆ อาจมีการถ่ายทอดคำสั่งไปผิดบ้างถูกบ้าง ประกอบกับราษฎรที่รู้หนังสือมีน้อยกว่าที่ไม่รู้หนังสือ จึงทำให้มีการคดโกง ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรและสร้างความเสื่อมเสียพระเกียรติยศ จึงโปรดให้ตีหนังสือขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “ราชกิจจานุเบกษา” แปลว่า หนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ สันนิษฐานว่า ได้โปรดให้ทรงออกประกาศมหาสงกรานต์ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาด้วย โดยให้คัดเฉพาะเนื้อความ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “...มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่คนทั้งปวง บรรดาคนที่ถือพระพุทธศาสนาแลธรรมเนียม ปี เดือน คืน วัน อย่างเช่นใช้ในเมืองไทยรู้ทั่วกัน ว่าในปีมะเมียนี้ วันอาทิตย์ เดือนห้า แรมสิบสามค่ำ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันจันทร์ เดือนห้า แรมสิบสี่ค่ำ แลวันอังคารเดือนหก ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันเนาว์ วันพุธเดือนหก ขึ้นสองค่ำ เป็นวันเถลิงศก ขึ้นศักราชใหม่เป็น ๑๒๒๐ ในปีนี้การทำบุญแลเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์เป็น ๔ วันด้วยกัน คือ เดือนห้า แรมสิบสามค่ำ สิบสี่ค่ำ แลเดือนหก ขึ้นค่ำหนึ่ง และสองค่ำเป็นแน่แล้ว คนฟั่นๆ เฟือนๆ เลือนๆ ไหลๆ จำการหลังไม่ได้ อย่าตื่นถามว่าทำไมสงกรานต์จึงเป็นสี่วันก็สงกรานต์สี่วันนี้โดยบังคับตามคัมภีร์โหราศาสตร์ลางปีก็เคยมีมาแต่ก่อนดอก...” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในวิชาคำนวณ ดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งทรงผนวช ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงใช้ความรู้ที่สนพระราชหฤทัยดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในประการต่างๆ ตลอดรัชสมัย ประการหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่องของเวลาและปฏิทิน แม้ว่าในขณะนั้น ไทยยังไม่มีปฏิทินที่อ้างอิงกับระบบสากลใช้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาและทรงเข้าพระทัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว หากแต่ในขณะเดียวกัน ยังทรงให้ความสำคัญกับการนับวันเดือนปีตามระบบเดิม ซึ่งคือระบบจันทรคติ ทรงเห็นว่า ราษฎรในขณะนั้น ยังไม่ทราบชัดเกี่ยวกับวันสงกรานต์ อันเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศมหาสงกรานต์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังทรงมีพระบรมราชาธิบาย ว่าด้วยการเขียนวันเดือนปีที่ถูกต้องสำหรับช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันระหว่างปีใหม่และปีใหม่ไว้โดยละเอียดด้วย ในประกาศคราวเดียวกันนี้ ยังมีประกาศที่น่าสนใจอีกฉบับหนึ่ง ที่สะท้อนสภาพสังคมของสยามครั้งรัชกาลที่ ๔ ได้อย่างแจ่มชัด นั่นคือ ประกาศเรื่องคนเสพสุราเมาในวันสงกรานต์ มีความว่า “...ด้วยเจ้าพระยายมราชชาติเสนางคนรินทรมหินทราธิบดี ศรีวิไชย ราชมไหศวรรย์บริรักษ์ ภูมิพิทักษโลกากรณ ทัณฑฤทธิธรนครบาลสมุหบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า เปนเยี่ยงอย่างสืบมาแต่โบราณยามตรุษยามสงกรานต์ผู้ชายโดยมาก เปนนักเลงบ้างมิใช่นักเลงบ้าง พากันเสพสุราเมามายไปทุกหนทุกแห่ง แล้วก็ออกเที่ยวเดินไปในถนนแลซุกซนเข้าไปในวัดวาอาราม ก่อถ้อยความวิวาทชกตีแทงฟันกัน ตรุษสามวันเปน ๔ ทั้งวันจ่ายเปน ๕ ทั้งวันส่งสงกรานต์สามวันหรือสี่วันเปน ๔ หรือ ๕ ทั้งวันจ่ายเปน ๕ หรือ ๖ ทั้งวันส่งนั้น มักเกิดถ้อยความวิวาทตีรันฟันแทงกันหลายแห่งหลายตำบลนัก ทั้งในกำแพงพระนคร แลภายนอกพระนคร เหลือกำลังที่นายอำเภอแลกกองตระเวนจะระวังดูแล แต่นี้ไปเวลาตรุษแลสงกรานต์ ให้เจ้าของบ้านเอาใจใส่ระวังรักษาหน้าบ้านของตัว ถ้ามีคนเมาสุรามาเอะอะอื้ออึงที่หน้าบ้าน ก็ให้จับเอาตัวมาส่งกรมพระนครบาลที่หน้าหับเผย ให้ทันเวลาที่ผู้นั้นยังเมาอยู่อย่าให้ทันส่างเมา แต่ห้ามไม่ให้พวกบ้านอื่นๆ มาพลอยกลุ้มรุมจับด้วย ถ้าคนเมามีพวกมากต่อสู้เจ้าของบ้าน ถึงเจ้าของบ้านจะชกตีมีบาดเจ็บก็ดี ถ้าเมื่อจับตัวไปส่งกรมพระนครบาลๆ ชันศูจน์รู้แน่ว่าคนนั้นเมาจริงก็ให้เจ้าของบ้านเปนชนะ ถ้าผู้จับมาส่งเหนว่าถ้าจับตัวคนผู้บุกรุกไปส่ง จะมีพวกของผู้นั้นคอยสกัดกั้นทาง แก้ไขตามทางที่จะไปส่งจะเกิดวิวาทกัน ถ้าอย่างนั้นก็ให้ยึดเอาไว้ มาบอกเล่ากับกรมพระนครบาลหรือนายอำเภอคนใดคนหนึ่งให้ไปชันศูจน์ว่าเมาฤๅไม่เมา อย่าให้ทันคนเมานั้นส่าง จะเปนคำโต้เถียงกันไป อนึ่งในยามตรุษยามสงกรานต์นั้น ผู้ใดจะเสพย์สุราเมามากก็ให้อยู่แต่ในบ้านเรือนของตัว ถึงจะมีที่ไปก็ให้งดรอต่อส่างเมาแล้วจึงไป หมายประกาศมาณวันอาทิตย์ เดือนห้าขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีมะเมียยังเปนนพศก เปนวันที่ ๒๕๑๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้...” ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช ที่มา : พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ. พระราชพิธีสิบสองเดือน.กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๖. พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๘. ผู้เรียบเรียง : นายวสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี