ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,355 รายการ

เลขทะเบียน : นพ.บ.266/1ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ : 46 หน้า ; 5 x 58.5 ซ.ม. : ทองทึบ-ลานดิบ ; ไม่มีไม้ประกับชื่อชุด : มัดที่ 116 ลาน2  (226-231) ผูก 1 (2565)หัวเรื่อง : อภิธมฺมตฺกสงฺคห(อภิธัมมัตถสังคหะ)--เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม




#ภาชนะรูปแบบเด่นที่พบในภูมิภาคอีสานใต้ กับ #ถ้วยสำริด ซึ่งความพิเศษมิได้อยู่ที่ลวดลาย เเต่เป็นของที่บรรจุอยู่ภายใน หากพูดถึง "ถ้วยสำริด" เป็นสิ่งที่สามารถพบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์นับตั้งเเต่สมัยสำริดเป็นต้นมา หรือราว 4,000-1,500 ปีมาเเล้ว นอกจากจะนำเสนอ ถ้วยสำริด ที่พบเเล้ว ยังจะนำเสนอสิ่งที่พบภายใน ถ้วยสำริด ที่พบจากการเก็บกู้โบราณวัตถุ ในเขตพื้นที่บ้านหนองแซงใหญ่ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพบโดยการปรับพื้นที่ จากการเก็บกู้โบราณวัตถุ เราพบถ้วยสำริดจำนวน 2 ชิ้น ซึ่งภายในบรรจุชิ้นส่วนกระดูกและฟันมนุษย์ ดังนี้ #ชิ้นที่1 ความสูง 4.5 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เซนติเมตร กลางภาชนะมีแท่งทรงกรวยสูง 2 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนขากรรไกรล่างและฟันมนุษย์ ได้แก่ 1. ชิ้นส่วนขากรรไกรล่างขวา และฟัรกรามใหญ่ซี่ที่ 1-2 2. ชิ้นส่วนขากรรไกรล่าง และหันกรามน้อยซี่ที่ 2 และฟันกรามใหญ่ซี่ที่ 1-2 และ 3. ฟันตัด 6 ซี่ ฟันกรามน้อย 5 ซี่ และฟันกรามใหญ่ 2 ซี่ #ชิ้นที่2 มีความสูง 4 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร บริเวณก้นมีการเจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เซนติเมตร ภายในถ้วยพบชิ้นส่วรกระดูกมนุษย์ 2 ชิ้น ได้ แก่ 1. กระดูกมือ (ระบุข้างไม่ได้) ส่วน Lunate 1 ชิ้น เเละส่วน Trapezoid จำนวน 1 ชิ้น นอกจากนี้จากการเก็บกู้โบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีบ้านหนองแซงใหญ่ยังพบโบราณวัตถุ อาทิ ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ แวดินเผา เบี้ยดินเผา กระสุนดินเผา โกลนขวานหินขัด ตลอดจนชามดินเผาเนื้อดินธรรมดา ปลายก้นตัด ซึ่ง ร.ศ.ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ ระบุว่า ภาชนะรูปแบบดังกล่าวเป็นตัวแทนของภาชนะดินเผาสมัยเหล็ก จึงกำหนดอายุเบื้องต้น ว่าเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยเหล็ก ทั้งนี้เป็นการกำหนดอายุเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากมิได้ดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบ จึงมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์หลักฐานที่พบ ข้อมูลโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ แหล่งอ้างอิงข้อมูล ธนิก เลิศชาญฤทธิ์. ภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส. 2560.


องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง” จันทบุรีเป็นเป็นเมืองผลไม้ ที่มีผลไม้นานาชนิด ทุเรียน เป็นผลไม้ปลูกกันมากที่สุด สามารถแปรรูปได้หลายอย่างเพื่อเก็บไว้กินนานๆ ในตอนนี้จะแนะนำพันธุ์ทุเรียนที่จันทบุรีปลูกกันมาก คือ หมอนทอง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมและขายได้ราคาดี ให้ผลผลิตขนาดกลาง บริเวณที่มีน้ำขังไม่เหมาะต่อการปลูกทุเรียนพันธุ์นี้ ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ มีการดูแลรักษาดี สามารถให้น้ำได้อย่างเพียงพอ จะให้ผลผลิตดีมาก ลักษณะเฉพาะของทุเรียนหมอนทอง จะเป็นทรงพุ่มโปร่งคล้ายรูปกรวยคว่ำ กิ่งใหญ่จะตั้งฉากกับลำต้นและจะยาวมาก จึงทำให้กิ่งอ่อนและลู่ลงด้านล่าง ลำต้นไม่ตั้งฉากกับพื้นดิน บริเวณด้านหน้าผิวเป็นลักษณะลุ่มๆดอนๆ ไม่เสมอเรียบ ใบมีช่องระหว่างใบต่อใบห่างมาก ความยาวของใบจะยาวมากกว่าพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะส่วนปลายของใบจะยาวมากจนสังเกตเห็นได้ชัด ดอกมีรูปร่างคล้ายผลละมุดฝรั่ง ส่วนของปลายดอกจะโค้งมน ก้านดอกสั้น มีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ผลเมื่อโตเต็มที่มีขนาดปานกลาง น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม รูปร่างค่อนข้างยาว ปลายผลแหลม ร่างพูมองเห็นชัดเจน มักจะพบมีพูใหญ่เพียงอันเดียว เรียกว่า “พูเอก” ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กวางแซมอยู่ทั่วไป เรียกหนามชนิดนี้ว่า “เขี้ยวงู” ก้านผลใหญ่แข็งแรง เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อค่อนข้างแห้ง ไม่แฉะติดมือ รสชาติหวานมัน เมล็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่ อ้างอิง : อภิชาติ ศรีสอาด. ทุเรียนยุคใหม่ และ ระยะชิด : นาคา อินเตอร์มีเดีย. ม.ป.ป.. ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี


วัชรินทร์  พันธุวิชิต, ร.อ. และธรรมเนียม  เลาหกัยกุล.  คู่มือการจัดโต๊ะอาหารและการพับผ้าเช็ดมือ.          พระนคร: บรรณากร, 2506.         เป็นคู่มือการจัดเลี้ยงตามแบบสากลนิยมที่ทางกองทัพเรือใช้ทำการจัดเลี้ยงรับรองแขกชาวต่างประเทศ ซึ่งมีสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับภาชนะต่าง ๆ ที่จัดทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น แก้ว กระเบื้อง โลหะ ผ้าชนิดต่าง ๆ   การจัดวาง การจัดโต๊ะอาหารเช้า การจัดโต๊ะอาหารกลางวันชนิดไม่มีอาหารคาวฝรั่ง  การจัดโต๊ะอาหารชนิดมีอาหารคาวฝรั่ง การจัดโต๊ะอาหารบ่ายชนิดไม่มีอาหารคาวฝรั่ง  การจัดโต๊ะอาหารบ่ายชนิดมีอาหารคาวฝรั่ง  การจัดโต๊ะอาหารค่ำ การจัดเลี้ยงแบบบุฟดฟ่ท์ การจัดเลี้ยงคอกเทลปาร์ตี้ การจัดนำพระสุธารส (น้ำชาจีน) เข้าเทียบ มารยาทของผู้บริการ  มีคำแนะนำเกี่ยวกับมารยาทสำหรับผู้ถูกเชิญไปรับประทาน  และที่สำคัญมีรูปแบบของการพับผ้าเช็ดมือประจำโต๊ะอาหารหลายรูปแบบให้เลือกฝึกปฏิบัติและนำไปใช้ได้อย่างสวยงามมากทีเดียว


        ชุดองค์ความรู้พร้อมรับประทาน ในหัวข้อ : “กูฑุเขาน้อย” ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง (ตอนที่ ๒) •••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••         ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงหลักฐานศิลปกรรมจากโบราณสถานภูเขาน้อย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พบว่าหลายชิ้นสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียที่มีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา สำหรับตอนนี้ จะเน้นที่โบราณวัตถุสำคัญของเจดีย์เขาน้อย คือ กูฑุ มาร่วมกันหาคำตอบว่ากูฑุคืออะไร สำคัญอย่างไรต่อการกำหนดอายุ การสันนิษฐานสภาพดั้งเดิมของเจดีย์เขาน้อย และบ่งบอกถึงชุมชนคนสงขลาก่อนการก่อตั้งเมืองที่หัวเขาแดงอย่างไรบ้าง ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• กูฑุ         กูฑุ (Kudu) เป็นภาษาทมิฬ ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า จันทรศาลา (Chandraśālā) หรือ ควากษะ (Gvākṣa) เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึงซุ้ม หรือหน้าต่างทรงวงโค้งรูปเกือกม้า นิยมใช้ประดับหลังคาลาดหรือเป็นลายประดับในสถาปัตยกรรมอินเดีย ตรงกลางของกูฑุมักสลักใบหน้ารูปบุคคลโผล่ออกมา  หน้าที่การใช้งาน ตำแหน่งที่ปรากฏ         กูฑุ เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเป็น “ปราสาท” หรือเรือนชั้นซ้อน ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมฐานันดรสูง สงวนการสร้างหรือใช้งานสำหรับเทพเจ้าหรือกษัตริย์เท่านั้น จึงพิเศษมากกว่าอาคารโดยทั่วไป           ตำแหน่งที่ประดับกูฑุมักพบได้บนชั้นหลังคา หรือประดับบนฐานของเทวาลัยที่ตกแต่งให้เหมือนอาคารจำลอง กูฑุเปรียบได้กับการจำลองหน้าต่างของอาคารชั้นบน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถขึ้นไปได้จริงเพราะข้อจำกัดทางโครงสร้าง จึงชดเชยด้วยการทำช่องขนาดเล็ก และมีใบหน้าบุคคลโผล่ออกมาเพื่อแสดงแทนหน้าต่างและคนที่ขึ้นไปชั้นบนได้         ลวดลายกูฑุพัฒนามาจากหลังคาเครื่องไม้ในศิลปะอินเดียโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๓-๖ หรือราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบตัวอย่างบนภาพสลักที่สถูปภารหุต ถ้ำโลมัสฤๅษี (Lomas Rishi) ถ้ำภาชา นำมาใช้ประดับเรื่อยมาจนถึงศิลปะคุปตะ-หลังคุปตะ พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑ ดังพบที่ถ้ำอชันตา หมายเลข ๑๙ เป็นต้น ต่อมาการสร้างกูฑุแพร่มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนคร ศิลปะชวา และศิลปะจาม           สำหรับในประเทศไทย พบหลักฐานกูฑุในวัฒนธรรมทวารวดี เช่น กูฑุพบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ภาพแกะสลักกูฑุบนฐานศิลา ได้จากเมืองนครปฐม จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนในวัฒนธรรมศรีวิชัย พบร่องรอยการทำกูฑุบนพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กูฑุเขาน้อย         ในจังหวัดสงขลา พบหลักฐานกูฑุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่โบราณสถานเขาน้อย อำเภอสิงหนคร โดยภาพถ่ายก่อนการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ แสดงตำแหน่งของกูฑุ (ชิ้นส่วนกโปตะ) ถูกค้นพบบริเวณกลางฐานชั้นบนของเจดีย์ ชิ้นหนึ่งตั้งอยู่บนเสา อีกชิ้นหนึ่งอยู่ในกองอิฐ ซึ่งน่าจะเคยเป็นฐานของสถูปประธาน และมีการค้นพบกูฑุในสภาพสมบูรณ์อีกจำนวน ๒ ชิ้น นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่แสดงความสัมพันธ์กับศิลปะอินเดีย สามารถกำหนดอายุได้ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖          - กูฑุชิ้นที่ ๑ แกะสลักจากหินตะกอน ลักษณะเป็นวงโค้งรูปเกือกม้า ยอดสอบเข้า ปลายตัด ปลายฐานทั้งสองข้างแกะสลักคล้ายลายใบไม้ หรือมกรคายอุบะ ขอบด้านในสลักให้มีวงโค้งออก ๔ วง ตรงกลางสลักรูปใบหน้าบุคคล ผมหวีเสยขึ้น คิ้วโค้ง จมูกเป็นสัน ปากอมยิ้ม สวมตุ้มหูขนาดใหญ่          - กูฑุชิ้นที่ ๒ แกะสลักจากหินทรายสีแดง มีลักษณะคล้ายกับชิ้นแรกแทบทุกประการ คือ เป็นวงโค้งรูปเกือกม้า ยอดสอบเข้า ปลายตัด ปลายฐานทั้งสองข้างแกะสลักคล้ายลายใบไม้ หรือมกรคายอุบะ ขอบด้านในมีวงโค้งออก ๔ วง ตรงกลางสลักรูปใบหน้าบุคคล แต่มีข้อแตกต่างจากชิ้นแรก คือ ใบหน้าชำรุดมีรอยแตก ผมเป็นลอนหนา คิ้วโค้ง ปากอมยิ้ม สวมตุ้มหูขนาดใหญ่          ลักษณะของกูฑุทั้งสองชิ้น ค่อนข้างกลม ยังคงรูปทรงเกือกม้า ส่วนปลายคล้ายลายใบไม้ม้วน อาจคลี่คลายจากลายมกรคายอุบะ เทียบเคียงได้กับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและวกาฏกะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำผมหวีเสยกลับไม่เป็นที่นิยมในศิลปะอินเดีย แต่เป็นงานท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานแล้ว จึงกำหนดอายุในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา          ข้อสังเกตอีกประการ คือ ลักษณะของหินที่นำมาแกะสลักเป็นกูฑุ เป็นหินประเภทเดียวกับที่พบบนภูเขาในอำเภอสิงหนคร เช่น เขาแดง เขาน้อย ซึ่งเป็นหินทรายสีแดง หรือหินตะกอน จึงเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่ากูฑุที่พบที่ภูเขาน้อย สร้างขึ้นโดยช่างท้องถิ่น ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ทั้งนี้ต้องทำการศึกษาในรายละเอียดเชิงวิชาการอีกครั้ง กูฑุเขาน้อย (กโปตะ)         นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนของกูฑุอีกสองชิ้นจากภูเขาน้อย แต่มีลักษณะต่างกัน คือ แกะสลักค่อนข้างเรียบง่ายกว่า และอยู่ติดกับแท่งหินยาว ที่มีหน้าตัดด้านข้างลาดลง สันนิษฐานได้ว่าหากอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะประกอบกันเป็นแถบหลังคาลาด มีกูฑุเรียงต่อกันเป็นแนวยาว เป็นส่วนประดับสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “กโปตะ” โดยทั่วไป มักประดับฐานหรือชั้นหลังคา กูฑุที่ปรากฏบนแถบหลังคาลาดจึงเป็นเสมือนช่องหน้าต่างบนอาคาร และทำให้องค์ประกอบที่ประดับกโปตะนั้นกลายเป็นปราสาทหรืออาคารเรือนชั้นซ้อน ข้อสันนิษฐานจากศิลปกรรมเจดีย์เขาน้อย         การพบกูฑุ และกโปตะ ซึ่งทั้งสองมีความหมายแทนหน้าต่างของอาคารซ้อนชั้น จึงทำให้สันนิษฐานได้ไปอีกว่า ศาสนสถานบนภูเขาน้อยสร้างตามคติ “ปราสาท” หรืออาคารแบบเรือนชั้นซ้อน ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงฐานะอันสูงส่ง ใช้กับสถาปัตยกรรมเนื่องในศาสนาและราชสำนัก         อย่างไรก็ตาม  ด้วยหลักฐานที่พบมีจำนวนน้อย จึงอาจไม่เป็นที่สรุปแน่ชัดว่าศาสนสถานบนภูเขาน้อยในช่วงก่อนสมัยอยุธยาจะมีรูปแบบเช่นไร หรือเป็นปราสาทแบบใด ข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ อาจต้องเปรียบเทียบกับเจดีย์ในศิลปะทวารวดี ที่มักสร้างให้ฐานของเจดีย์เป็นปราสาทที่มีเรือนธาตุทึบ ไม่สามารถเข้าไปได้ แต่มีองค์ประกอบของฐาน เรือนธาตุ และหลังคาครบถ้วน การประดับกูฑุและกโปตะจึงน่าจะอยู่ที่ส่วนฐาน ดังพบในเจดีย์ทวารวดีแห่งอื่น ๆ เช่น พระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เขาคลังนอก เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น        หรืออีกกรณีที่เป็นไปได้ คือ บนฐานขนาดใหญ่ มีปราสาทตั้งอยู่อีกหลังหนึ่ง ทั้งกูฑุและกโปตะอาจเคยประดับชั้นหลังคาของปราสาทหลังนั้น ก่อนที่เวลาต่อมา ปราสาทพังทลายลงหรือถูกรื้อถอนเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นเจดีย์สมัยอยุธยา         ทั้งนี้การสร้างศาสนสถานบนยอดภูเขา ยังส่งผลให้ภูเขาน้อยมีสถานะเป็น “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” เนื่องด้วยเป็นที่ตั้งของสักการสถานประจำชุมชนในบริเวณนั้น โบราณวัตถุที่พบโดยมีอายุสมัยแตกต่างกันสะท้อนความสืบเนื่องของการใช้งานพื้นที่ เปลี่ยนผ่านจากสถาปัตยกรรมเนื่องด้วยอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย สู่รูปแบบพื้นถิ่น  กูฑุภูเขาน้อย ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง         ในบรรดาโบราณวัตถุหลากหลายชิ้นที่พบจากการบูรณะขุดแต่งเจดีย์เขาน้อย “กูฑุ” ทั้งสี่ชิ้นนับเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่สุด ที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า “ชุมชนชาวสงขลา” บริเวณภูเขาน้อย-หัวเขาแดง ราวหนึ่งพันปีที่แล้ว มีการติดต่อและรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากอินเดีย ทั้งคติของการสร้างอาคารฐานันดรสูงที่เรียกว่า “ปราสาท” และรูปแบบของวัตถุที่สัมพันธ์กันโดยตรง คือลักษณะกรอบของกูฑุและการทำใบหน้าบุคคลประดับตรงกลาง  ขณะเดียวกัน ลักษณะงานแบบท้องถิ่นก็มาผสมผสานกับรูปแบบศิลปะจากดินแดนอื่น เช่นทรงผมของบุคคลในกูฑุที่ไม่เป็นที่นิยมในศิลปะอินเดียช่วงเวลานั้น          แม้ว่าหลักฐานที่พบในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภาพสันนิษฐานได้ว่า เจดีย์เขาน้อยก่อนสมัยอยุธยาจะเป็นอย่างไร กูฑุเหล่านี้ประดับที่ส่วนใดของสถาปัตยกรรม แต่จะเห็นร่องรอยการเติบโตของชุมชนในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรสทิงพระ การติดต่อกับชุมชนภายนอก ซึ่งยืนยันได้ว่าประวัติศาสตร์ของคนสงขลาสามารถนับย้อนไปได้ก่อนการกำเนิด “ซิงกอรา” ที่หัวเขาแดง         ผู้ที่สนใจ สามารถมาชมกูฑุ ตลอดจนโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ จากโบราณสถานภูเขาน้อย ได้ที่ห้องจัดแสดงหมายเลข ๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา หรือหากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับกูฑุและโบราณสถานภูเขาน้อยช่วงก่อนสมัยอยุธยา เชิญชวนมาแลกเปลี่ยนกันได้ในโพสต์นี้ โปรดติดตามตอนต่อไป... ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• เรียบเรียงข้อมูล/ ถ่ายภาพ/ ลายเส้น: เจิดจ้า รุจิรัตน์ และสิทธิศักดิ์ เหล่ากำเนิด นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• เอกสารอ้างอิง : กรมศิลปากร.  ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล).  สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 กรมศิลปากร, 2555.  เชษฐ์ ติงสัญชลี.  ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2565.  เชษฐ์ ติงสัญชลี.  อาคารศิขระ วิมานในศิลปะอินเดียกับอิทธิพลต่อศิลปะในเอเชียอาคเนย์.  กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2563.  นงคราญ ศรีชาย.  ตามรอยศรีวิชัย ศึกษาเชิงวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ศรีวิชัย.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2544. สมเดช ลีลามโนธรรม, “ลวดลายกูฑุในสถาปัตยกรรมอินเดียและที่ปรากฏในโบราณสถานของไทย,” ศิลปากร 61, 5 (กันยายน-ตุลาคม 2561): 5-19. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร.  ศัพทานุกรมโบราณคดี.  กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.   สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549. อมรา ศรีสุชาติ.  ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2557. ขอขอบคุณ :  - ข้อมูลอันเป็นประโยชน์จาก ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  - ข้อมูลเรื่องหินจาก คุณฟาอิศ จินเดหวา นักศึกษาภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  - ภาพถ่ายก่อนดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถานเขาน้อย พ.ศ. 2529 จากคุณสารัท ชลอสันติสกุล กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา


           กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง“ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ ในวันที่ ๑๒ - ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น ๕ ศูนย์การค้าสยามพารากอน    นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้มอบหมายให้กรมศิลปากร โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดโครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์และส่งเสริมเรื่องผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ผ้าไทยในแง่มุมต่าง ๆ และตระหนักถึงความสำคัญในการธำรงรักษามรดกภูมิปัญญาของชาติที่เป็นหัตถกรรมสิ่งทอท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ทั้งยังได้เป็นแนวทางให้เกิดการพัฒนาต่อยอดยกระดับผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการเสวนาประกอบด้วย             วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ การเสวนาหัวข้อ “ภูษาพัสตรา เฉลิมหล้าเฉลิมพระชนม์” โดย นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ทอผ้า) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นางพวงพร ศรีสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และนายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ดำเนินรายการโดย นางดาวรัตน์ ชูทรัพย์นักอักษรศาสตร์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาและวรรณกรรม) กรมศิลปากร           วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ การเสวนาหัวข้อ “อัตลักษณ์ผ้าไทย ๔ ภาค” โดย รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าล้านนา) นางสาวประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการอิสระ (ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าอินเดียสำหรับสยาม) รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าอีสาน) และนายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าดินแดนใต้)    นอกจากนี้ กรมศิลปากร โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดทำนิทรรศการออนไลน์เฉลิมพระเกียรติฯ “พระเกียรติคุณแผ่ไพศาล” ในรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง โดยนำเอกสารจดหมายเหตุที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ finearts.go.th/narama9 เพื่อให้พสกนิกรไทยได้ร่วมกันน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้


จี้ทองคำเลียนแบบเหรียญโรมัน จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง แผ่นทองคำทรงกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๘ เซนติเมตร ด้านหน้าตรงกึ่งกลางเป็นรูปบุคคลนูนต่ำ หันด้านข้างเห็นเฉพาะส่วนศีรษะถึงหน้าอกด้านขวา รูปบุคคลมีจมูกโด่ง ผมเป็นลอน โดยรอบตกแต่งด้วยลายจุดกลมหรือลายเม็ดประคำ ๒ ชั้นซ้อนกัน ด้านหลังเป็นรอยยุบและนูนตรงข้ามกับรูปด้านหน้า แสดงให้เห็นเทคนิคการผลิตที่อาจเกิดจากการดุนลายก็เป็นได้ ส่วนบนเหนือศีรษะรูปบุคคลมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่พบงอลงมา สันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจเป็นห่วงสำหรับร้อยกับเชือกหรือสายสร้อยสำหรับสวมใส่ เมื่อเปรียบเทียบลวดลายบนจี้กับเหรียญโรมัน ตัวอย่างเช่น เหรียญจักรพรรดิวิคโตรินุส (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙) จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง พบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือตรงกึ่งกลางมีรูปบุคคลหันด้านข้างขวา เห็นเฉพาะศีรษะและหน้าอก ส่วนลายจุดกลมบริเวณศีรษะทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง น่าจะปรับเปลี่ยนมาจากแถวตัวอักษรภาษาละตินซึ่งระบุพระนามของจักรพรรดิที่ล้อมรอบอยู่ริมขอบเหรียญ ส่วนการทำแถบลายจุดกลมล้อมรอบริมขอบอีกแถบหนึ่งก็พบในเหรียญโรมันเช่นกัน จี้ที่ทำเลียนแบบเหรียญโรมันยังพบที่แหล่งโบราณคดีคลองท่อมหรือควนลูกปัด จังหวัดกระบี่ เมืองออกแอว ประเทศเวียดนาม รวมถึงพบที่รัฐอานธรประเทศ ในประเทศอินเดียด้วย พบทั้งแบบที่มีภาพด้านหน้าเพียงด้านเดียว และแบบที่มีภาพสองด้านเลียนแบบเหรียญโรมันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บางชิ้นสามารถระบุได้ว่ามีต้นแบบจากเหรียญโรมันของจักรพรรดิองค์ใด เนื่องจากมีตัวอักษรภาษาละตินระบุพระนามค่อนข้างชัดเจน จี้จำนวนหนึ่งมีห่วงขดลวดทรงกระบอกสำหรับร้อยสายสร้อยติดอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าจี้ทองคำนี้เป็นของที่นำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อแลกเปลี่ยนกับคนพื้นถิ่น ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย - สมัยทวารวดี หรือบางชิ้นอาจผลิตขึ้นในดินแดนไทยก็เป็นได้ เนื่องจากพบหลักฐานแม่พิมพ์จี้เลียนแบบเหรียญโรมันที่แหล่งโบราณคดีคลองท่อม บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยด้วย  -------------------------------------------------- เอกสารอ้างอิง Brigitte Borell. The Power of Images – Coin Portraits of Roman Emperors on Jewelry Pendants in Early Southeast Asia. [Online]. Retrieved 14 May 2022, from: https://www.academia.edu/12682533/The_Power_of_Images_Coin_Portraits_of_Roma n_Emperors_on_Jewellery_Pendants_in_Early_Southeast_Asia. Brigitte Borell, Bérénice Bellina and Boonyarit Chaisuwan. Contacts between the Upper Thai - Malay Peninsula and the Mediterranean World. [Online]. Retrieved 14 May 2022, from: https://www.academia.edu/5625563/Contacts_between_the_Upper_Thai_Malay _Peninsula_and_the_Mediterranean_World.   -------------------------------------------------- ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง https://www.facebook.com/Uthongmuseum/posts/pfbid09cN9jGbmJ11DBJWJU82KC8SmDPsunyJU51PF84J97YAVEKW9LiXb3sPZYwdA7ss2l  


#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านเรื่อง "เรื่อง หน้ากากฝาโลงไม้"การผลิตสื่อเพื่อสื่อความหมายทางวัฒนธรรมครั้งที่ ๑จัดทำโดย นางสาวรุ่งรัตน์ มณีสุวรรณนิสิตฝึกงาน ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาพิเชษฐ ตันตินามชัย,ภูเดช แสนสา. เจ้าหลวงลำพูน. เชียงใหม่:วิทอินดีไซน์, ๒๕๕๘.



การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในมณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๑๘ . >> การศึกษาของคนไทยตั้งแต่อดีตนั้น เริ่มต้นขึ้นที่วัด กล่าวคือ ผู้ที่มีบุตรหลานมักจะนำไปฝากไว้กับพระสงฆ์ตามวัดใกล้บ้านตน และมอบตัวให้เป็นศิษย์ของพระสงฆ์ ด้วยวัดเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนแต่เดิมมา เมื่อ ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงปรึกษากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้ทรงเป็นพระธุระจัดการศึกษาในวัดตามหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร โปรดให้ทรงเลือกพระเถระที่มีคุณวุฒิความสามารถออกไปเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองประจำมณฑลต่างๆ . >> จากเอกสารจดหมายเหตุเรื่อง รายงานการศึกษามณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๑๘ พระสุคุณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี ได้รายงานการจัดการศึกษามณฑลจันทบุรี ต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ผู้จัดการพระศาสนาและการศึกษาในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร โดยเมืองจันทบุรีนั้น ระบุว่ามีวัดที่มีพระสงฆ์ ๑๐๕ วัด พระสงฆ์ ๘๕๘ รูป สามเณร ๗ รูป ศิษย์วัด ๙๔๐ คน การฝึกสอนศิษย์ ใช้แบบเรียนเร็ว ๔ วัด แบบมูลบท ๒ วัด นอกนั้นใช้แบบปฐม ก กา ทั้งสิ้น . >> พระสุคุณคณาภรณ์ ได้เสนอความเห็นว่า การศึกษาในเมืองจันทบุรี คงจะเจริญได้เร็วกว่าเมืองอื่นในมณฑล ด้วยมีผู้ที่นิยมในการศึกษาและการพระศาสนา ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสจำนวนมาก ซึ่งวัดที่เห็นสมควรจะจัดตั้งโรงเรียน มี ๕ แห่ง คือ วัดจันทนาราม, วัดสุวรรณติมพราราม, วัดเขาพลอยแหวน, วัดเขาบายศรี และวัดทองทั่ว “...เพราะวัดเหล่านี้ มีหมู่บ้านใกล้เคียงมาก และเป็นที่นิยมของราษฎร ทั้งสมภารก็เอาใจใส่ในการศึกษา หากจะตั้งโรงเรียนหลวง ควรตั้งที่วัดจันทนารามก่อน ด้วยอยู่ใกล้เมืองและใกล้ตลาด เมื่อตั้งได้แล้วคงจะเจริญได้โดยลำดับ...” . >> เมื่อมีการจัดการศึกษาตามหัวเมืองและตรวจตรากิจการต่างๆ แล้ว จึงได้มีการสอบความรู้นักเรียนในหัวเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก ใน ร.ศ.๑๑๘ โดยใช้หลักสูตรของมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเมืองจันทบุรีได้มีการจัดการสอบความรู้นักเรียนขึ้นที่วัดจันทนาราม ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ร.ศ.๑๑๘ มีนักเรียนสอบไล่ชั้นที่สาม ๓๗ คน ได้ ๒๗ คน ตก ๑๐ คน (การสอบไล่ชั้นที่สาม เป็นขั้นต่ำสุดจากระดับ ๓ ชั้น โดยมีวิชาที่สอบคือ อ่านหนังสือความพงศาวดาร เขียนตามคำบอกความสามัญ วิชาเลขคณิตขั้นบวกลบคูณหาร ซึ่งผู้เข้าสอบต้องสอบตั้งแต่ขั้นต่ำขึ้นไปโดยลำดับ) . บทความในตอนหน้าจะกล่าวถึงการจัดการพระศาสนาและการศึกษาในมณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๒๔ ผู้สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี และระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ https://archives.nat.go.th ผู้เรียบเรียง นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ------------------------------ อ้างอิง : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. รายงานศึกษามณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๑๘ (๒๒ - ๓๐ สิงหาคม ๑๑๘). พระมหาเจริญ กตปญฺโญ (กระพิลา) และคณะ. ๒๕๖๓. พระวิสัยทัศน์การศึกษาสงฆ์ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส. วารสารปรัชญาและศาสนา ๕ (๒) ก.ค. - ธ.ค. ๒๕๖๓ : ๖๑ – ๙๐. มณฑลจันทบุรีและปกิณณกคดี. ๒๕๑๕. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพสุทธิโมลี




สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 149/1 เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


Messenger