การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในมณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๑๘
การจัดการพระศาสนาและการศึกษาในมณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๑๘
.
>> การศึกษาของคนไทยตั้งแต่อดีตนั้น เริ่มต้นขึ้นที่วัด กล่าวคือ ผู้ที่มีบุตรหลานมักจะนำไปฝากไว้กับพระสงฆ์ตามวัดใกล้บ้านตน และมอบตัวให้เป็นศิษย์ของพระสงฆ์ ด้วยวัดเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนแต่เดิมมา เมื่อ ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงปรึกษากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้ทรงเป็นพระธุระจัดการศึกษาในวัดตามหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร โปรดให้ทรงเลือกพระเถระที่มีคุณวุฒิความสามารถออกไปเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองประจำมณฑลต่างๆ
.
>> จากเอกสารจดหมายเหตุเรื่อง รายงานการศึกษามณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๑๘ พระสุคุณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี ได้รายงานการจัดการศึกษามณฑลจันทบุรี ต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ผู้จัดการพระศาสนาและการศึกษาในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร โดยเมืองจันทบุรีนั้น ระบุว่ามีวัดที่มีพระสงฆ์ ๑๐๕ วัด พระสงฆ์ ๘๕๘ รูป สามเณร ๗ รูป ศิษย์วัด ๙๔๐ คน การฝึกสอนศิษย์ ใช้แบบเรียนเร็ว ๔ วัด แบบมูลบท ๒ วัด นอกนั้นใช้แบบปฐม ก กา ทั้งสิ้น
.
>> พระสุคุณคณาภรณ์ ได้เสนอความเห็นว่า การศึกษาในเมืองจันทบุรี คงจะเจริญได้เร็วกว่าเมืองอื่นในมณฑล ด้วยมีผู้ที่นิยมในการศึกษาและการพระศาสนา ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสจำนวนมาก ซึ่งวัดที่เห็นสมควรจะจัดตั้งโรงเรียน มี ๕ แห่ง คือ วัดจันทนาราม, วัดสุวรรณติมพราราม, วัดเขาพลอยแหวน, วัดเขาบายศรี และวัดทองทั่ว “...เพราะวัดเหล่านี้ มีหมู่บ้านใกล้เคียงมาก และเป็นที่นิยมของราษฎร ทั้งสมภารก็เอาใจใส่ในการศึกษา หากจะตั้งโรงเรียนหลวง ควรตั้งที่วัดจันทนารามก่อน ด้วยอยู่ใกล้เมืองและใกล้ตลาด เมื่อตั้งได้แล้วคงจะเจริญได้โดยลำดับ...”
.
>> เมื่อมีการจัดการศึกษาตามหัวเมืองและตรวจตรากิจการต่างๆ แล้ว จึงได้มีการสอบความรู้นักเรียนในหัวเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก ใน ร.ศ.๑๑๘ โดยใช้หลักสูตรของมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเมืองจันทบุรีได้มีการจัดการสอบความรู้นักเรียนขึ้นที่วัดจันทนาราม ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ร.ศ.๑๑๘ มีนักเรียนสอบไล่ชั้นที่สาม ๓๗ คน ได้ ๒๗ คน ตก ๑๐ คน (การสอบไล่ชั้นที่สาม เป็นขั้นต่ำสุดจากระดับ ๓ ชั้น โดยมีวิชาที่สอบคือ อ่านหนังสือความพงศาวดาร เขียนตามคำบอกความสามัญ วิชาเลขคณิตขั้นบวกลบคูณหาร ซึ่งผู้เข้าสอบต้องสอบตั้งแต่ขั้นต่ำขึ้นไปโดยลำดับ)
.
บทความในตอนหน้าจะกล่าวถึงการจัดการพระศาสนาและการศึกษาในมณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๒๔
ผู้สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี และระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ https://archives.nat.go.th
ผู้เรียบเรียง
นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
------------------------------
อ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. รายงานศึกษามณฑลจันทบุรี ร.ศ.๑๑๘ (๒๒ - ๓๐ สิงหาคม ๑๑๘).
พระมหาเจริญ กตปญฺโญ (กระพิลา) และคณะ. ๒๕๖๓. พระวิสัยทัศน์การศึกษาสงฆ์ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส. วารสารปรัชญาและศาสนา ๕ (๒) ก.ค. - ธ.ค. ๒๕๖๓ : ๖๑ – ๙๐.
มณฑลจันทบุรีและปกิณณกคดี. ๒๕๑๕. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพสุทธิโมลี
(จำนวนผู้เข้าชม 436 ครั้ง)