ค้นหา


รายการที่พบทั้งหมด 39,014 รายการ

          วันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๖.๐๐ น. นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจราชการโบราณสถาน ณ วัดวรเชษฐาราม พระราชวังโบราณ วัดไชยวัฒนาราม ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา นายสมพจน์ สุขาบูลย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ทั้งนี้ท่านอธิบดีได้ให้แนวทาง ทิศทางในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ร่วมกัน



ชื่อเรื่อง                     หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหารผู้แต่ง                       -ประเภทวัสดุ/มีเดีย       หนังสือท้องถิ่นISBN/ISSN                 -หมวดหมู่                   พระพุทธศาสนาเลขหมู่                      294.31218 ห313สถานที่พิมพ์               กรุงเทพฯ   สำนักพิมพ์                 พิมพ์สวยปีที่พิมพ์                    2550ลักษณะวัสดุ               206 หน้า : ภาพประกอบ ; 21 ซม.หัวเรื่อง                     วัดป่าเลไลยก์วรวิหารภาษา                       ไทยบทคัดย่อ/บันทึก             วัดป่าเลไลยก์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง คือองค์หลวงพ่อโตที่บรรพบุรุษได้สร้างและช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายชั่วอายุ


กว่า ๒ ปี ท่ามกลางสภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐได้ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคออกมาหลายฉบับเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของคนหมู่มาก การปิดสถานที่ที่มีการชุมนุมของคนเช่นพิพิธภัณฑ์เป็นแนวทางหนึ่งที่กรุงเทพมหานครได้บังคับใช้ ส่งผลให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสังกัดสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเขตกรุงเทพมหานครต้องปิดให้บริการรวมระยะเวลานานเกือบ ๔ เดือน      สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการใช้สื่อสังคมออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมโครงการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ โครงการปรับปรุงพัฒนาทางกายภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการหลายโครงการที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีได้แล้วเสร็จ ได้แก่ นิทรรศการถาวรภายในหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ถือเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่งของการทำงานในปีงบประมาณนี้     สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมุ่งหวังว่า “รายงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ฉบับนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการตรวจสอบความก้าวหน้าและสืบค้นข้อมูลการดำเนินงานของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในรอบปีที่ผ่านมาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์


สวัสดิ์  จันทนี, นาวาเอก.  นิทานชาวไร่.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ: ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, 2515.      นิทานชาวไร่เป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกอารมณ์ขันไว้บ้างในบางตอนเพื่อให้การอ่านมีอรรถรสมากยิ่งขึ้นที่ไม่เหมือนกับอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป เล่าไปเรื่อย ๆ แต่ก็ชวนให้อ่านและอ่านแล้วสนุกชวนติดตามยิ่งนัก ซึ่งจะขอยกเป็นตัวมาอ่านพอเป็นสังเขป เช่น การใช้คำของคนโบราณใช้พูดกันให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ เช่น “ไข้บิดหัวลูก” ซึ่งเป็นโรคบิดที่เป็นแก่หญิงมีครรภ์แก่จวนจะคลอด  “อากรตือ” คือ คนขายหมู  “เสียโป” คือ ข้าวสุกกับเป็ดย่าง การจะฆ่าช้างที่อาละวาดสักตัวจะต้องใช้ยัดเข้าในกล้วยให้กิน มีเรื่องของคะนังที่พระพุทธเจ้าหลวงได้นำตัวไปจากปักษ์ใต้ที่มีตัวดำเจือแดงผมยาวเป็นสปริง เป็นคนชอบสีแดง โชคดีเคยได้เชิญธงนำเสด็จในหลวงรัชกาชลที่ 6 แต่ต้องตายด้วยโรคผู้หญิง ในกดายุค หรือสัตยยุคนั้นพระนารายณ์ อวตารมา 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เป็นปลา ครั้งที่ 2 เป็นเต่า ครั้งที่ 3 เป็นหมู และครั้งที่ 4 เป็น นรสิงห์ และมีเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมาย


ชื่อเรื่อง                    สพ.ส.20 จันทโครพประเภทวัสดุ/มีเดีย      สมุดไทยขาวISBN/ISSN                 -หมวดหมู่                  วรรณคดีลักษณะวัสดุ              25; หน้า : ไม่มีภาพประกอบหัวเรื่อง                    วรรณคดี           ภาษา                      ไทยบทคัดย่อ/บันทึก                   ประวัติวัดป่าเลไลยก์ ต.รั้วใหญ่  อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มอบให้หอสมุดฯ วันที่ 16 ส.ค.2538 


        ชุดองค์ความรู้พร้อมรับประทาน ในหัวข้อ : “กูฑุเขาน้อย” ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง (ตอนที่ ๒) •••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••         ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงหลักฐานศิลปกรรมจากโบราณสถานภูเขาน้อย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พบว่าหลายชิ้นสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียที่มีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา สำหรับตอนนี้ จะเน้นที่โบราณวัตถุสำคัญของเจดีย์เขาน้อย คือ กูฑุ มาร่วมกันหาคำตอบว่ากูฑุคืออะไร สำคัญอย่างไรต่อการกำหนดอายุ การสันนิษฐานสภาพดั้งเดิมของเจดีย์เขาน้อย และบ่งบอกถึงชุมชนคนสงขลาก่อนการก่อตั้งเมืองที่หัวเขาแดงอย่างไรบ้าง ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• กูฑุ         กูฑุ (Kudu) เป็นภาษาทมิฬ ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า จันทรศาลา (Chandraśālā) หรือ ควากษะ (Gvākṣa) เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึงซุ้ม หรือหน้าต่างทรงวงโค้งรูปเกือกม้า นิยมใช้ประดับหลังคาลาดหรือเป็นลายประดับในสถาปัตยกรรมอินเดีย ตรงกลางของกูฑุมักสลักใบหน้ารูปบุคคลโผล่ออกมา  หน้าที่การใช้งาน ตำแหน่งที่ปรากฏ         กูฑุ เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเป็น “ปราสาท” หรือเรือนชั้นซ้อน ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมฐานันดรสูง สงวนการสร้างหรือใช้งานสำหรับเทพเจ้าหรือกษัตริย์เท่านั้น จึงพิเศษมากกว่าอาคารโดยทั่วไป           ตำแหน่งที่ประดับกูฑุมักพบได้บนชั้นหลังคา หรือประดับบนฐานของเทวาลัยที่ตกแต่งให้เหมือนอาคารจำลอง กูฑุเปรียบได้กับการจำลองหน้าต่างของอาคารชั้นบน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถขึ้นไปได้จริงเพราะข้อจำกัดทางโครงสร้าง จึงชดเชยด้วยการทำช่องขนาดเล็ก และมีใบหน้าบุคคลโผล่ออกมาเพื่อแสดงแทนหน้าต่างและคนที่ขึ้นไปชั้นบนได้         ลวดลายกูฑุพัฒนามาจากหลังคาเครื่องไม้ในศิลปะอินเดียโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๓-๖ หรือราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบตัวอย่างบนภาพสลักที่สถูปภารหุต ถ้ำโลมัสฤๅษี (Lomas Rishi) ถ้ำภาชา นำมาใช้ประดับเรื่อยมาจนถึงศิลปะคุปตะ-หลังคุปตะ พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑ ดังพบที่ถ้ำอชันตา หมายเลข ๑๙ เป็นต้น ต่อมาการสร้างกูฑุแพร่มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนคร ศิลปะชวา และศิลปะจาม           สำหรับในประเทศไทย พบหลักฐานกูฑุในวัฒนธรรมทวารวดี เช่น กูฑุพบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ภาพแกะสลักกูฑุบนฐานศิลา ได้จากเมืองนครปฐม จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนในวัฒนธรรมศรีวิชัย พบร่องรอยการทำกูฑุบนพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กูฑุเขาน้อย         ในจังหวัดสงขลา พบหลักฐานกูฑุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่โบราณสถานเขาน้อย อำเภอสิงหนคร โดยภาพถ่ายก่อนการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ แสดงตำแหน่งของกูฑุ (ชิ้นส่วนกโปตะ) ถูกค้นพบบริเวณกลางฐานชั้นบนของเจดีย์ ชิ้นหนึ่งตั้งอยู่บนเสา อีกชิ้นหนึ่งอยู่ในกองอิฐ ซึ่งน่าจะเคยเป็นฐานของสถูปประธาน และมีการค้นพบกูฑุในสภาพสมบูรณ์อีกจำนวน ๒ ชิ้น นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่แสดงความสัมพันธ์กับศิลปะอินเดีย สามารถกำหนดอายุได้ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖          - กูฑุชิ้นที่ ๑ แกะสลักจากหินตะกอน ลักษณะเป็นวงโค้งรูปเกือกม้า ยอดสอบเข้า ปลายตัด ปลายฐานทั้งสองข้างแกะสลักคล้ายลายใบไม้ หรือมกรคายอุบะ ขอบด้านในสลักให้มีวงโค้งออก ๔ วง ตรงกลางสลักรูปใบหน้าบุคคล ผมหวีเสยขึ้น คิ้วโค้ง จมูกเป็นสัน ปากอมยิ้ม สวมตุ้มหูขนาดใหญ่          - กูฑุชิ้นที่ ๒ แกะสลักจากหินทรายสีแดง มีลักษณะคล้ายกับชิ้นแรกแทบทุกประการ คือ เป็นวงโค้งรูปเกือกม้า ยอดสอบเข้า ปลายตัด ปลายฐานทั้งสองข้างแกะสลักคล้ายลายใบไม้ หรือมกรคายอุบะ ขอบด้านในมีวงโค้งออก ๔ วง ตรงกลางสลักรูปใบหน้าบุคคล แต่มีข้อแตกต่างจากชิ้นแรก คือ ใบหน้าชำรุดมีรอยแตก ผมเป็นลอนหนา คิ้วโค้ง ปากอมยิ้ม สวมตุ้มหูขนาดใหญ่          ลักษณะของกูฑุทั้งสองชิ้น ค่อนข้างกลม ยังคงรูปทรงเกือกม้า ส่วนปลายคล้ายลายใบไม้ม้วน อาจคลี่คลายจากลายมกรคายอุบะ เทียบเคียงได้กับศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและวกาฏกะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำผมหวีเสยกลับไม่เป็นที่นิยมในศิลปะอินเดีย แต่เป็นงานท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานแล้ว จึงกำหนดอายุในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา          ข้อสังเกตอีกประการ คือ ลักษณะของหินที่นำมาแกะสลักเป็นกูฑุ เป็นหินประเภทเดียวกับที่พบบนภูเขาในอำเภอสิงหนคร เช่น เขาแดง เขาน้อย ซึ่งเป็นหินทรายสีแดง หรือหินตะกอน จึงเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่ากูฑุที่พบที่ภูเขาน้อย สร้างขึ้นโดยช่างท้องถิ่น ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น ทั้งนี้ต้องทำการศึกษาในรายละเอียดเชิงวิชาการอีกครั้ง กูฑุเขาน้อย (กโปตะ)         นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนของกูฑุอีกสองชิ้นจากภูเขาน้อย แต่มีลักษณะต่างกัน คือ แกะสลักค่อนข้างเรียบง่ายกว่า และอยู่ติดกับแท่งหินยาว ที่มีหน้าตัดด้านข้างลาดลง สันนิษฐานได้ว่าหากอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะประกอบกันเป็นแถบหลังคาลาด มีกูฑุเรียงต่อกันเป็นแนวยาว เป็นส่วนประดับสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “กโปตะ” โดยทั่วไป มักประดับฐานหรือชั้นหลังคา กูฑุที่ปรากฏบนแถบหลังคาลาดจึงเป็นเสมือนช่องหน้าต่างบนอาคาร และทำให้องค์ประกอบที่ประดับกโปตะนั้นกลายเป็นปราสาทหรืออาคารเรือนชั้นซ้อน ข้อสันนิษฐานจากศิลปกรรมเจดีย์เขาน้อย         การพบกูฑุ และกโปตะ ซึ่งทั้งสองมีความหมายแทนหน้าต่างของอาคารซ้อนชั้น จึงทำให้สันนิษฐานได้ไปอีกว่า ศาสนสถานบนภูเขาน้อยสร้างตามคติ “ปราสาท” หรืออาคารแบบเรือนชั้นซ้อน ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงฐานะอันสูงส่ง ใช้กับสถาปัตยกรรมเนื่องในศาสนาและราชสำนัก         อย่างไรก็ตาม  ด้วยหลักฐานที่พบมีจำนวนน้อย จึงอาจไม่เป็นที่สรุปแน่ชัดว่าศาสนสถานบนภูเขาน้อยในช่วงก่อนสมัยอยุธยาจะมีรูปแบบเช่นไร หรือเป็นปราสาทแบบใด ข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ อาจต้องเปรียบเทียบกับเจดีย์ในศิลปะทวารวดี ที่มักสร้างให้ฐานของเจดีย์เป็นปราสาทที่มีเรือนธาตุทึบ ไม่สามารถเข้าไปได้ แต่มีองค์ประกอบของฐาน เรือนธาตุ และหลังคาครบถ้วน การประดับกูฑุและกโปตะจึงน่าจะอยู่ที่ส่วนฐาน ดังพบในเจดีย์ทวารวดีแห่งอื่น ๆ เช่น พระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เขาคลังนอก เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น        หรืออีกกรณีที่เป็นไปได้ คือ บนฐานขนาดใหญ่ มีปราสาทตั้งอยู่อีกหลังหนึ่ง ทั้งกูฑุและกโปตะอาจเคยประดับชั้นหลังคาของปราสาทหลังนั้น ก่อนที่เวลาต่อมา ปราสาทพังทลายลงหรือถูกรื้อถอนเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นเจดีย์สมัยอยุธยา         ทั้งนี้การสร้างศาสนสถานบนยอดภูเขา ยังส่งผลให้ภูเขาน้อยมีสถานะเป็น “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” เนื่องด้วยเป็นที่ตั้งของสักการสถานประจำชุมชนในบริเวณนั้น โบราณวัตถุที่พบโดยมีอายุสมัยแตกต่างกันสะท้อนความสืบเนื่องของการใช้งานพื้นที่ เปลี่ยนผ่านจากสถาปัตยกรรมเนื่องด้วยอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย สู่รูปแบบพื้นถิ่น  กูฑุภูเขาน้อย ร่องรอยชุมชนคนสงขลาก่อนหัวเขาแดง         ในบรรดาโบราณวัตถุหลากหลายชิ้นที่พบจากการบูรณะขุดแต่งเจดีย์เขาน้อย “กูฑุ” ทั้งสี่ชิ้นนับเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่สุด ที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า “ชุมชนชาวสงขลา” บริเวณภูเขาน้อย-หัวเขาแดง ราวหนึ่งพันปีที่แล้ว มีการติดต่อและรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากอินเดีย ทั้งคติของการสร้างอาคารฐานันดรสูงที่เรียกว่า “ปราสาท” และรูปแบบของวัตถุที่สัมพันธ์กันโดยตรง คือลักษณะกรอบของกูฑุและการทำใบหน้าบุคคลประดับตรงกลาง  ขณะเดียวกัน ลักษณะงานแบบท้องถิ่นก็มาผสมผสานกับรูปแบบศิลปะจากดินแดนอื่น เช่นทรงผมของบุคคลในกูฑุที่ไม่เป็นที่นิยมในศิลปะอินเดียช่วงเวลานั้น          แม้ว่าหลักฐานที่พบในขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภาพสันนิษฐานได้ว่า เจดีย์เขาน้อยก่อนสมัยอยุธยาจะเป็นอย่างไร กูฑุเหล่านี้ประดับที่ส่วนใดของสถาปัตยกรรม แต่จะเห็นร่องรอยการเติบโตของชุมชนในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของคาบสมุทรสทิงพระ การติดต่อกับชุมชนภายนอก ซึ่งยืนยันได้ว่าประวัติศาสตร์ของคนสงขลาสามารถนับย้อนไปได้ก่อนการกำเนิด “ซิงกอรา” ที่หัวเขาแดง         ผู้ที่สนใจ สามารถมาชมกูฑุ ตลอดจนโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ จากโบราณสถานภูเขาน้อย ได้ที่ห้องจัดแสดงหมายเลข ๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา หรือหากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับกูฑุและโบราณสถานภูเขาน้อยช่วงก่อนสมัยอยุธยา เชิญชวนมาแลกเปลี่ยนกันได้ในโพสต์นี้ โปรดติดตามตอนต่อไป... ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• เรียบเรียงข้อมูล/ ถ่ายภาพ/ ลายเส้น: เจิดจ้า รุจิรัตน์ และสิทธิศักดิ์ เหล่ากำเนิด นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• เอกสารอ้างอิง : กรมศิลปากร.  ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล).  สงขลา : สำนักศิลปากรที่ 13 กรมศิลปากร, 2555.  เชษฐ์ ติงสัญชลี.  ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2565.  เชษฐ์ ติงสัญชลี.  อาคารศิขระ วิมานในศิลปะอินเดียกับอิทธิพลต่อศิลปะในเอเชียอาคเนย์.  กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2563.  นงคราญ ศรีชาย.  ตามรอยศรีวิชัย ศึกษาเชิงวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ศรีวิชัย.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2544. สมเดช ลีลามโนธรรม, “ลวดลายกูฑุในสถาปัตยกรรมอินเดียและที่ปรากฏในโบราณสถานของไทย,” ศิลปากร 61, 5 (กันยายน-ตุลาคม 2561): 5-19. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร.  ศัพทานุกรมโบราณคดี.  กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.   สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549. อมรา ศรีสุชาติ.  ศรีวิชัยในสุวรรณทวีป.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2557. ขอขอบคุณ :  - ข้อมูลอันเป็นประโยชน์จาก ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  - ข้อมูลเรื่องหินจาก คุณฟาอิศ จินเดหวา นักศึกษาภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  - ภาพถ่ายก่อนดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถานเขาน้อย พ.ศ. 2529 จากคุณสารัท ชลอสันติสกุล กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา


องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี เรื่อง พระโคตะโม แลพระศิรอะริโย : ร่มโพธิ์แห่งศรัทธาของชาวเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี www.facebook.com


          เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ๑๙ กันยายน ๒๕๖๕ นี้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ ๑๔๘ ปี วันพิพิธภัณฑ์ไทย โดยการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้เข้าชมเป็นกรณีพิเศษ โดยงดการเก็บค่าเข้าชม ในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐ น. - ๑๖.๐๐ น.            นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมนำผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย : สานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. บรรยายนำชมโดยวิทยากรจากทีมงานผู้จัดนิทรรศการฯ ทั้งนักโบราณคดี ภัณฑารักษ์และนักวิชาการอิสระ และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเข้าชมและฟังการบรรยายได้อย่างทั่วถึง จึงจัดการเข้าชมเป็นสองรอบคือ รอบแรกเวลา ๑๓.๓๐ น. (ลงทะเบียน เวลา ๑๓.๐๐ น.) และรอบที่สองเวลา ๑๔.๔๕ น. (ลงทะเบียนเวลา ๑๔.๐๐ น.) รอบละ ๓๐ คนเท่านั้น ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่หน้าห้องประชุม อาคารดำรงราชานุภาพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ และ ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓ เวลา ๐๘.๓๐ น. – ๑๖.๓๐ น. วันพุธ - วันอาทิตย์            สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ทางผู้จัดฯ มีของที่ระลึกแจกสำหรับผู้ที่แต่งกายเข้ากับบรรยากาศของนิทรรศการพิเศษ 


วันเข้าพรรษาคำว่า พรรษา แปลว่า ฤดูฝน ปีหนึ่งก็ผ่านฤดูฝนครั้งหนึ่ง คนที่อยู่มาเท่านั้นฝนเท่านี้ฝนก็คืออยู่มาเท่านั้นปี ดังนั้น ในที่ทั่วๆ ไป จึงแปลพรรษากันว่า ปีคำว่า เข้าพรรษา ก็คือ เข้าฤดูฝน คือถึงเวลาที่จะต้องหยุดการเดินทางในฤดูฝน พักอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ โดยไม่ไปแรมคืนที่อื่น เพราะเหตุนี้ จึงมีคำเกิดขึ้นอีกคำหนึ่งคือคำว่า จำพรรษาคำว่า จำพรรษา ก็คือ อยู่วัดประจำในฤดูฝน หมายความว่า พระสงฆ์จะต้องอยู่ในวัดที่ตนอธิษฐานพรรษาตลอดสามเดือนในฤดูฝน จะไปแรมคืนที่อื่นไม่ได้ นอกจากมีเหตุจำเป็นคำว่า วันเข้าพรรษา ก็คือ วันที่พระสงฆ์ทำพิธีอธิษฐานพรรษา ซึ่งเป็นวันแรกของการจำพรรษานั่นเอง“อธิษฐาน” แปลว่า ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป “อธิษฐานพรรษา” ก็คือ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไปว่าจะอยู่ประจำ ณ ที่นั้นตลอด ๓ เดือนในฤดูฝนเอกสารอ้างอิง วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)เข้าถึงได้โดย https://www.watnyanaves.net/th/book-reading/542/9





          วันนี้ (วันพุธที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๕) เวลา ๐๙.๑๙ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ร่วมสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๖๖ เป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร           เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมพิเศษ สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “มงคลพุทธคุณ” โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์  เป็นประธาน พร้อมทั้งอัญเชิญพระพุทธรูปประจำวันอีก ๙ องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๘ องค์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จำนวน ๑ องค์ ซึ่งล้วนมีประวัติความเป็นมายาวนาน และกอปรด้วยพุทธศิลป์อันงดงาม มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา   เพื่อความเป็นสิริมคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันพุธที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ (วันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ถึงวันจันทร์ที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๙.๓๐ น.) ทั้งนี้ พระพุทธรูปทั้ง ๑๐ องค์ ประกอบด้วย  ๑. พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขทัย - ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑   ๒. พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔  ๓. พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒  ๔. พระพุทธรูปไสยาสน์ พระพุทธรูปประจำวันอังคาร ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐  ๕. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปประจำวันพุธ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒  ๖. พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ พระพุทธรูปประจำวันพุธ กลางคืน (พระพุทธรูปบูชาแทนพระราหู) ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ๗. พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ๘. พระพุทธรูปปางรำพึง พระพุทธรูปประจำวันศุกร์ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ๙. พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำวันเสาร์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ ๑๐. พระหายโศกปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ) ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 149/6เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


Messenger