ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,482 รายการ
หลักฐานจากต่างชาติ : การเรียกขานนามเมือง “พริบพรี” หรือ “เพชรบุรี” ในประวัติศาสตร์ไทย
เพชรบุรี เป็นเมืองที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีนักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า เมืองเพชรบุรีนั้น คือ “อยุธยาที่มีชีวิต” เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองโบราณ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของขอมหรือเขมรโบราณในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คำว่า “เพชรบุรี” เองก็มีปรากฏเป็นหลักฐานว่าเรียกมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นกัน สันนิษฐานที่มาของชื่อมีอยู่ 2 ทางด้วยกัน ทางแรกเป็นการเรียกตามชื่อแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นการเรียกตามตำนานที่เล่าสืบกันมาว่าในสมัยโบราณเคยมีแสงระยิบระยับในเวลากลางคืนที่เขาแด่น ทำให้คนเข้าใจว่ามีเพชรพลอยบนเขานั้น
ชื่อจังหวัดหรือชื่อเมืองของไทยในสมัยโบราณหลักฐานค้นพบได้จากเอกสารต่าง ๆ ที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งศิลาจารึก พงศาวดาร จดหมายเหตุ รวมถึงเอกสารของชาวต่างชาติ ยกตัวอย่าง ในเอกสารของ De La Loubere ที่ได้บันทึกชื่อเมืองต่าง ๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน เช่น Laconcevan (นครสวรรค์), Campeng-pet (กำแพงเพชร), Tchainat (ชัยนาท) เป็นต้น
นอกจากนี้ชื่อเมืองที่ในปัจจุบันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจังหวัดหรือไม่ใช้เรียกแล้วในปัจจุบัน ทำให้สันนิษฐานกันว่าเป็นชื่อเมืองเดิมก่อนเปลี่ยนมาเป็นชื่อในปัจจุบัน ซึ่ง “#พริบพรี (Pipeli)” เป็นเมืองหนึ่งที่สันนิษฐานว่าจะถูกเปลี่ยนชื่อ และสันนิษฐานว่าเป็นชื่อเมืองเดิมของเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นชื่อเมืองที่ทางผู้จัด “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี” ต้องการศึกษานั้นเอง
“#พริบพรี” หรือที่รู้จักกัน “เพชรบุรี” คำว่า “พริบพรี” ชื่อจังหวัดหรือชื่อเมืองของเพชรบุรีในสมัยโบราณ จากการศึกษาพบว่ามีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ที่ให้ที่มาของคำนี้ว่า คือ ชื่อเดิมของจังหวัดเพชรบุรี บางสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบกับลักษณะเสียงของคำว่า เพชรบุรี ว่ามีบางหน่วยเสียงที่เหมือนกัน บางสันนิฐาน “เพชรบุรี” เป็นชื่อเมืองเดิมที่เป็นทางการ ส่วน “พริบพรี” เป็นชื่อเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการในภายหลัง
หลักฐานจากต่างชาติ : การเรียกขานนามเมือง “พริบพรี” หรือ “เพชรบุรี”
จากข้อมูลที่ปรากฏเกี่ยวกับชื่อเมืองพริบพรีว่าเป็นชื่อเมืองจังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน เท่าที่พบหลักฐานมีปรากฏชื่อเมืองมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเขมรหรือขอมโบราณ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปแต่ยังคงเค้าเสียงหรือความหมายเดียวกัน จากการสืบค้นจากหลักฐาน ซึ่งทางผู้เรียบเรียงจะยกตัวอย่างหลักฐานโดยเฉพาะหลักฐานจากชาวต่างชาติหรือหลักฐานที่มาจากชาติอื่น ๆ โดยปรากฏหลักฐานตามลักษณะช่วงเวลาดังต่อไปนี้
สมัยอาณาจักรขอมโบราณ
1. จารึกปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา (พ.ศ. 1734) นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเมือง “#ศรีชัยวัชรปุรี” คือ “เพชรบุรี” ปรากฏจากการโปรดเกล้าฯ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้สร้างจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา เพื่ออุทิศถวายแก่พระราชบิดาคือ พระเจ้าศรีธรณีนทรวรมันที่ 2 เกิดการขยายตัวของอาณาเขตการปกครอง อำนาจทางการเมือง และศาสนา ซึ่งการขยายตัวนั้นมาถึงเมืองเพชรบุรีด้วย ดังปรากฏชื่อในจารึกบทที่ 117 ที่แสดงให้เห็นว่าชื่อเมืองได้รับอิทธิพลจากรูปศัพท์เดิมในภาษาบาลี สันสกฤต ว่า
“. . . ศรีชัยวัชรปุรี ศรีชัยสตัมภปุรี ศรีชัยราชคีรี ศรีชัยวีรปุรี . . .”
สมัยสุโขทัย
2. เอกสารจีนในราชวงศ์หงวน (พ.ศ. 1837) ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเพชรบุรีของกรมศิลปากร กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีที่ปรากฏในเอกสารจีนว่า
“. . . กันมู่ติง (กมรเตง) ส่งทูตจากเมือง #ปี้ชาปู้หลี่ (เพชรบุรี) มาถวายเครื่องราชบรรณาการ . . .”
คำว่า “ปี้ชาปู้หลี่” ในเอกสารจีนมีเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “เพชรบุรี” สันนิษฐานว่าจะเป็นสำเนียงของชาวจีนที่ได้บันทึกชื่อเมืองตามการออกเสียงของคนไทยในท้องถิ่น และยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยสุโขทัยออกเสียงชื่อเมืองนี้เป็น 4 พยางค์ คือ เพ็ด – ชะ – บุ – รี
สมัยกรุงศรีอยุธยา
3. The Suma oriental of Tome Pires ของ Tome Pires (ค.ศ. 1511 / พ.ศ. 2054) โดย Tome Pires ชาวโปรตุเกส ได้ทำบันทึกเกี่ยวกับเมืองที่มีบทบาททางการค้าระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก โดยกล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญเมืองหนึ่งในเขตฝั่งตะวันออก โดยการออกเสียงชื่อเมืองที่ Tome Pires ได้บันทึกไว้ออกเสียงว่า “#Peperim” และ “#Peport” ซึ่งใกล้เคียงกับการออกเสียงว่า เพ็ด - บุ – รี หรือ เพ็ด – พุ – รี
4. Description of the Kingdom of Siam ของ Jeremias Van Vliet (ค.ศ. 1633 – 1642 / พ.ศ. 2176 – 2185) Jeremias Van Vliet พ่อค้าชาวฮอลันดา ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยาม โดยหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่า
“. . . แม่กลอง (Meclongh) #พิบพรี (Pypry) ราพพรี (Rappry) ราชบุรี (Ratsjebeury) และกุย (Cuy) ล้วนเป็นเมืองเปิดทั้งสิ้น ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำ ไม่ห่างจากทะเล . . .”
5. Journal du Voyage de Siam Fait en 1685 & 1685 ของ De Choisy (ค.ศ. 1685 – 1686 / พ.ศ. 2228 – 2229) De Choisy คณะราชทูตที่อัญเชิญพระสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝั่งเศส มาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้เขียนหนังสือบันทึกการเดินทางครั้งนี้ชื่อ “Journal du Voyage de Siam” แปลเป็นภาษาไทยว่า “จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ. 1685 และ ค.ศ. 1686” โดยได้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีไว้ว่า
“. . . ครู่ต่อมา #เจ้าเมืองพริบพลี (Pipeli – เพชรบุรี) ก็ปรากฏตัวมาพร้อมด้วยเรือตามขบวนอีกเป็นอันมาก เราเห็นแต่เรือบัลลังก์เต็มไปทั้งแม้น้ำ เรียงรายกันเป็นสองแถวยาวเหยียด . . .”
6. Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam ของ Nicolas Geraise (ค.ศ. 1688 / พ.ศ. 2231) Nicolas Geraise ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้เขียนหนังสือเรื่อง “Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam” แปลไทยก็คือ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)” ได้กล่าวถึงเพชรบุรีไว้ว่าด้วยเมืองบางกอกและเมืองท่าอื่น ๆ ความว่า
“. . . #เมืองพิบพลี (Piply : เพชรบุรี) ซึ่งอยู่กันเมืองละฟากอ่าว อยู่ไกลจากปากน้ำเพียง 10 หรือ 12 ลี้ เท่านั้น เป็นเมืองเก่ามาก กล่าวกันว่าเคยเป็นเมืองที่งดงาม และมีพระเจ้าแผ่นดินหลายองค์ทรงโปรดประทับแปรพระราชฐานยิ่งกว่าที่เมืองอื่น ๆ . . .”
7. Description Du Royaume de Siam ของ De La Loudere (ค.ศ. 1688 / พ.ศ. 2231) De La Loudere ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้เขียนจดหมายเหตุตอนหนึ่งกล่าวถึงปฐมกษัตริย์ของชาวสยาม และมีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อมาจนกระทั่งถึงกษัตริย์พระองค์ที่ 12 ได้เสด็จไปสร้างเมืองเพชรบุรี โดยตำนานการสร้างเมืองเพชรบุรีปรากฏในจดหมายเหตุดังต่อไปนี้
“. . . ในปี พ.ศ. 1731 พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 12 สืบต่อจากพระองค์นี้ซึ่งพระนามว่า พระพนมไชยศิริ . . . แต่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มิได้ประทับอยู่ ณ เมืองนครไทยตลอดมา หากได้เสด็จไปสร้างและประทับอยู่ ณ #เมืองพิบพลี (Pipeli) บนฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง ซึ่งปากน้ำนั้นอยู่ห่างราว 2 ลี้ ข้างทิศตะวันตก . . .”
8. The history of Japan, together with a description of the kingdom of Siam, 1690 – 92 ของ Engelbert Kaempfer (ค.ศ. 1960 / พ.ศ. 2233) Engelbert Kaempfer นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2233 และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศสยาม หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรี ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า
“. . . ต่อจากนี้ก็ถึงชะอำ (Czam) ถัดขึ้นไปก็คือ #เพชรบุรี (Putprib) แล้วก็ถึงยี่สาน (Isan) ต่อจากนั้นไปเป็นแม่กลอง (Mayaklon) แล้วก็ถึงท่าจีน (Satzyn) แล้วจึงไปถึงปากแม่น้ำซึ่งภาษาไทยเรียกว่า ปากน้ำเจ้าพระยา (Pagnam Taufia) . . .”
สมัยธนบุรี
9. Histoire du Royaume de Siam ของ Francois Henri Turpin (ค.ศ. 1771 / พ.ศ. 2314) Francois Henri Turpin ชาวฝรั่งเศสผู้รวบรวมข้อมูลจากประมุขมิสซังกรุงสยามและมิชชันนารีที่เคยเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในประเทศสยาม แล้วเขียนเป็นหนังสือ โดยในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีไว้ว่า
“. . . #เพชรบุรี (Pipli) เป็นท่าเรือติดทะเล ค้าข้าว ผ้าและฝ้ายมาก บ้านทุกหลังมีสวน จึงเก็บพลู มะพร้าว ทุเรียน กล้วย ส้มเขียนหวาน และผลไม้ดีอื่น ๆ ได้มาก . . .”
สมัยรัตนโกสินทร์
10. Narrative of a Residence at the Capital of the Kingdom of Siam ของ Frederick Arthur Neale (ค.ศ. 1840 – 1841 / พ.ศ. 2383 – 2384) Frederick Arthur Neale นักเผชิญโชคชาวอังกฤษที่เข้ามาทำงานในประเทศสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วงปี พ.ศ. 2383 – 2384 ได้เขียนหนังสือ ซึ่งภายในเล่มมีภาพวาดแผนที่ประเทศสยามระบุชื่อเมืองเพชรบุรีว่า Puchpuri และในตำแหน่งใกล้เคียงกันปรากฏอีกชื่อหนึ่งว่า Pri – pri
11. Description du Royaume Thai ou Siam ของ Jean – Baptiste Pallegoix (ค.ศ. 1854 / พ.ศ. 2397) Jean – Baptiste Pallegoix ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามนานถึง 24 ปี และได้เขียนหนังสือขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงชื่อเมืองต่าง ๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมถึงชื่อเมือง #เพชรบุรี
12. The Kingdom of the Yellow Robe ของ Ernest Young (พ.ศ. 2435) Ernest Young นักเขียนชาวอังกฤษที่เข้ามาในประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้แต่งหนังสือที่กล่าวถึงชื่อเมืองเพชรบุรีไว้ในบทที่ 9 เรื่อ Outside the Capital : Petchabooree ความว่า
“. . . #เพชรบุรี (Petchabooree) เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมต้นแบบของสยาม สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ได้อย่างสบาย ๆ ด้วยเรือบ้าน ซึ่งใช้เวลาราวสองถึงสามวัน . . .”
“พริบพรี” หรือ “เพชรบุรี” จากที่ปรากฏในหลักฐานของต่างชาติ การใช้คำเรียกชื่อเมืองนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคำและลักษณะเสียงมาเป็นลำดับ เมื่อพิจารณาจากคำว่า “วัชรปุรี” ในชื่อเมือง “ศรีชัยวัชรปุรี” ที่ปรากฏในสมัยอาณาจักรขอมโบราณ และคำว่า “เพชรบุรี” ในสมัยสุโขทัยพบว่า ทั้งสองคำนี้มีโครงสร้างคำและความหมายเหมือนกัน ความหมายคือ เมืองเพชร เมืองสายฟ้า ต่อมาคำว่า “ศรีชัย” ซึ่งถูกตัดออกในสมัยสุโขทัย เพื่อการเรียกชื่อเมืองได้ง่ายขึ้น
คำว่า “เพชรบุรี” และ “วัชรปุรี” ยังแสดงให้เห็นถึงรูปคำที่แผลงเปลี่ยนไป จากอักษร ว เป็น พ และ ป เป็น บ ในส่วนของ ว เป็น พ สามารถอธิบายการแผลงเปลี่ยนในเชิงความหมายได้ เนื่องจากเป็นคำที่แปลได้ว่า “เพชร” เหมือนกันนั้นเอง นอกจากนั้นในเชิงภาษา การที่สังคมไทยมีการรับคำยืมจากชาติอื่น ๆ เช่น การนำภาษาบาลีสันสกฤตเข้ามาใช้ในภาษาไทย ซึ่งการรับคำยืมเหล่านี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงรูปและเสียงตามกฎเกณฑ์ของภาษาไทย
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าคำว่า “พริบพรี” ในเอกสารของชาวตะวันตก เช่น Pypry Pipili Piply Pipeli Putprib เป็นต้น ความหลากหลายในการเรียกชื่อเมืองเพชรบุรีว่า “พริบพรี” คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ได้อธิบายไว้ว่า การเขียนชื่อที่แตกต่างกันนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และความสามารถในการถ่ายทอดเสียงของชาวพื้นเมือง ตลอดจนภาษาของแต่ละชาติที่เขียน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าชื่อเมืองเพชรบุรีที่ปรากฏในเอกสารของชาวต่างชาติได้มาจากการบันทึกตามเสียงพูดของชาวพื้นถิ่นเพชรบุรีในสมัยนั้น
.
เมื่อพิจารณาในเชิงความหมายพบว่า “#พริบพรี” เป็นชื่อที่ไม่มีความหมาย ต่างกับชื่อชุมชนในท้องถื่นของไทยแต่โบราณโดยทั่วไปที่มักตั้งตามสภาพแวดล้อมหรือลักษณะอันโดเด่นของพื้นที่นั้น ดังนั้นด้วยเหตุผลเรื่องช่วงเวลาการปรากฏของชื่อเมือง ความหมายของชื่อเมือง การบันทึกชื่อเมืองเป็นลายลักษณ์อักษร ตำนานการตั้งชื่อเมือง รวมถึงโครงสร้างคำและลักษณะการออกเสียง จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า “เพชรบุรี” เป็นชื่อเมืองเดิมที่เป็นทางการ ส่วน “พริบพรี” เป็นชื่อที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการในภายหลัง
เอกสารสำหรับการสืบค้น
วรารัชต์ มหามนตรี. (2560). “ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อเมือง พริบพรี (เพชรบุรี) จากการศึกษาเชิงประวัติและสัทศาสตร์”. อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2560).
สรัญพัทธ์ เอี๊ยวเจริญ และ จีระ ประทีป. (2565). “แนวทางการพัฒนาเมืองเพชรบุรีตามแนวคิดภาคประชาสังคมและภูมิรัฐประศาสนศาสตร์ของเมืองเพชรบุรี”. รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต. ปีที่ 2565 เล่มที่ 12 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2565).
ชุลีพร วิรุณหะ, พวงทิพย์ เกียรติสหกุล,วรพร ภู่พงศ์พันธุ์, วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ และ เพชรดา ชุ่นอ่อน. (2561). “ประตูศุ่อุษาคเนย์ : มุมมองใหม่ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรี”. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2561).
.
กรมศิลปากร จัดกิจกรรมสุดพิเศษเพื่อให้ทุกท่านได้ยลโฉมความงามของโบราณสถานยามค่ำคืน ในงาน "ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม Ayutthaya Sundown" โดยเปิดให้เข้าชมวัดไชยวัฒนาราม ผ่าน แสง สี จากการประดับไฟ ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 (ซื้อบัตรเข้าชมได้ถึงเวลา 21.00 น. อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท)
สุดสัปดาห์นี้ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาชมโบราณสถานยามค่ำคืนกันนะคะ.....สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 2286 ต่อ 101 / E-mail Ayh_hispark@hotmail.com
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กรมศิลปากร” เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ ตลอดระยะเวลา ๑๑๓ ปี กรมศิลปากรได้ทำหน้าที่ดูแล ปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริม สืบทอด สร้างสรรค์ และเผยแพร่องค์ความรู้ในงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานนาฏศิลป์และดนตรี งานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ งานด้านภาษา เอกสาร และหนังสือ งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและช่างศิลป์ไทย รวมไปถึงงานสนับสนุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกรมศิลปากร.ปัจจุบันกรมศิลปากร เป็นหน่วยงานภาครัฐ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีที่ทำการของหน่วยงานส่วนกลางตั้งอยู่ที่อาคารกรมศิลปากร (เทเวศร์) ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพฯ และยังมีหน่วยงานส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ คือ สำนักการสังคีต ตั้งอยู่บริเวณถนนราชินี สำนักหอสมุดแห่งชาติและสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตั้งอยู่บริเวณถนนสามเสน และสำนักช่างสิบหมู่ ตั้งอยู่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย ๕ จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ยังมีสำนักศิลปากรที่ ๑ - ๑๒ ดูแลในส่วนภูมิภาค
กรมศิลปากรชวนร่วมฉลองศรีเทพมรดกโลก ชมโขน และการแสดงมหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ Si Thep World Heritage Illumination 2024
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวยามค่ำคืน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ยลโขนมรดกโลกสัญจร ตระการตากับการแสดงมหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ Si Thep World Heritage Illumination 2024 ภาพ เสียง และสีสันสุดอลังการ เฉลิมฉลองเมืองโบราณศรีเทพได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตามที่เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่บัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย เกิดกระแสมีผู้เข้าเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมากขึ้นกว่า 10 เท่า และนับจากวันที่ได้รับมรดกโลกจนถึงขณะนี้มีนักท่องเที่ยวครบ 1 ล้านคนแล้ว กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว ณ โบราณสถานเขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 3 – 5 พฤษภาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 21.00 น. เพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวโบราณสถานสำคัญที่สวยงามในช่วงค่ำคืน โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย
1. นิทรรศการ 120 ปี แห่งการค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ นำเสนอข้อมูลนับตั้งแต่การค้นพบเมืองโบราณร้างในเขตมณฑลเพชรบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2447 สู่เมืองโบราณศรีเทพ แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าโดดเด่น จนได้รับการยอมรับว่าเป็น “เมืองมรดกโลก” ในปัจจุบัน
2. กิจกรรมส่งเสริมการสร้างงานศิลปกรรมแก่ชุมชน ชมการสาธิตการทอผ้า การจักสาน และผลิตภัณฑ์จากชุมชนเมืองโบราณศรีเทพ ที่ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปกรรม ที่พบ ณ เมืองโบราณศรีเทพ
3. การแสดง Light & Sound “มหัศจรรย์แสงแห่งศรีเทพ Si Thep World Heritage Illumination 2024” ด้วยเทคนิคการฉาย Projection Mapping บนโบราณสถานเขาคลังนอก ชมการเติมเต็ม ต่อยอดมหาสถูปเขาคลังนอกเป็นครั้งแรกผ่านการฉายแสงเลเซอร์ และอุโมงค์แสง 4. ยลโขนมรดกโลกสัญจร เยือนนครประวัติศาสตร์ศรีเทพ พิเศษในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 20.00 – 21.30 น. พบกับการแสดงโขน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก โดยสำนักการสังคีต นำการแสดง โขน ตอนลักนางสีดา ยกรบ ไปจัดแสดงท่ามกลางความงดงามของโบราณสถานยามค่ำคืน พร้อมการแสดงระบำศรีเทพที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ด้วยแนวคิดการประดิษฐ์ท่ารำจากลักษณะทางสถาปัตยกรรม โบราณวัตถุ รวมทั้งประติมากรรมปูนปั้นที่ฐานของโบราณสถาน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษการถ่ายภาพลงตราไปรษณียากร “Personalized Stamp” และการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน โดยนักเรียนและชาวบ้านในชุมชนโดยรอบเมืองโบราณศรีเทพ อีกด้วยติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.sithep.org
ชื่อเรื่อง เวสฺสนฺตรชาตกานิสํสกถา (อานิสงส์พระเวส)สพ.บ. 474/1ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 22 หน้า กว้าง 4.5 ซม. ยาว 53 ซม.หัวเรื่อง พุทธศาสนา
บทคัดย่อ/บันทึก
เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ ไม่มีไม้ประกับ ได้รับบริจาคมาจากวัดด่านช้าง ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : 7 คน 5 วาระ -- ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน โรงเรียนแห่งหนึ่งในตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา จัดการประชุมประจำเดือน โดยมีคณะครูและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 7 คน ครบถ้วน น่าสนใจว่า "เค้าหารือเรื่องอะไร" เอกสารจดหมายเหตุของสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองพะเยา มีรายงานการประชุมสามัญครั้งที่ 6/2527 ของโรงเรียนบ้านแม่อิง ตำบลแม่อิง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่อำเภอภูกามยาวนั้น ระบุว่า เริ่มการประชุมเวลา 13.55 น. - 15.10 น. วาระการประชุมถูกแบ่งออกเป็น 5 วาระ ได้แก่ วาระแรก เรื่องที่ประธานแจ้งให้ทราบ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงใบเสร็จทุกอย่างส่งล่าช้า, การปรับเงินเดิมตามวุฒิ, โรงเรียนที่มีความพร้อมให้เปิดชั้นเด็กเล็กได้, ความดีความชอบปีงบประมาณ 2528 และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู วาระที่สอง ทบทวนรายงานการประชุมครั้งก่อน วาระที่สาม เรื่องที่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอแจ้ง อาทิ อบรมทันตอนามัย, ส่งรายงานวินัยนักเรียน, ให้ผู้บริหารกระตุ้นครูผู้สอน, โครงการอาหารกลางวัน, รายได้จากการจำหน่ายผลไม้ที่ปลูกในโรงเรียน และมติคณะรัฐมนตรีให้สมรสกับผู้อพยพได้ วาระที่สี่ เรื่องเพิ่มเติม ได้แก่ กิจกรรมในรอบเดือน, ข้อคิด, การนัดประชุมครั้งหน้า และ . . . วาระที่ห้า การปรับปรุงห้องเรียน ทั้งนี้ จากทุกวาระการประชุมไม่มีการบันทึกการสนทนา แสดงความคิดเห็น หรือชี้แจงรายละเอียดใดๆ เป็นแต่จดหัวข้อการประชุมตามลำดับจนสิ้นสุดการประชุม หากอย่างไรก็ดี รายงานการประชุมประจำเดือนดังกล่าว ทำให้ทราบ " ภารกิจ " ที่โรงเรียนบ้านแม่อิงต้องดำเนินการขณะนั้น สะท้อนภาพการบริหารและการจัดการภายใน - ภายนอกหน่วยงาน ซึ่งบางเรื่องอาจจะมีหลายโรงเรียนจำเป็นต้องปฏิบัติตามมติผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัดเช่นกัน นอกจากนี้ หากสังเกตการจัดลำดับความสำคัญของวาระการประชุมในแต่ละประเด็นแล้วมีความชัดเจนยิ่ง เช่น วาระที่ 1 การแจ้งเรื่องของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือวาระที่ 3 ลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อยได้ดี เป็นต้น และสิ่งที่น่าสังเกตประการสุดท้าย อาจเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า การประชุมครั้งนี้มีความรีบเร่งหรือไม่ เพราะรายงานการประชุมจำเป็นต้องเขียนส่งสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองพะเยาด้วยลายมือ " ไม่มีฉบับพิมพ์ " หรือว่ายังมีฉบับสมบูรณ์ยิ่งกว่านี้ เนื้อความละเอียดมากขึ้นอยู่กับสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ . . . ซึ่งผู้สนใจศึกษาค้นคว้าสามารถสืบค้นต่อยอดได้ต่อไปผู้เขียน: นายธานินทร์ ทิพยางค์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)เอกสารอ้างอิง: หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพะเยา (5) ศธ 3.1.2.2/1 เรื่อง รายงานการประชุมประจำเดือนคณะครูโรงเรียนบ้านแม่อิง [ 2 ก.ค. 2527 ].#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุเอกราช จันทร์กลับ. (๒๕๖๓). แนวทางการบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. [วิทยานิพนธ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย].Bourdieu, Pierre. (1986). The Forms of Capital. in Handbook of Theory and Research for the Sociology of Education (P 241-258). Greenwood.