ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 41,523 รายการ
ตามประทีปโคมไฟ งานที่จัดขึ้นเนื่องในวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี นี้นั้น นับว่าเป็นงานที่จะร่วมกันสร้างมหาบุญกุศลร่วมกันของคนในจังหวัดเพชรบุรี และผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน อีกทั้งเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสืบสานประเพณีการทำโคมตราตำแหน่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้มีขึ้น ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในวัน วิสาขบูชา และเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำโคมและเครื่องแขวน
นอกจากเป็นวันสำคัญและเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างเนิ่นนานควบคู่วันวิสาขบูชาแล้วนั้น งาน “ตามประทีปโคมไฟ” ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ ความศรัทธาเกี่ยวกับพุทธศาสนาแล้ว ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอิทธิพลทางพุทธศาสนาได้เข้าไปมีบทบาทกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้ถูกนำมาเป็นนัยสำคัญที่แสดงถึงสภาพการปกครอง และสังคมในยุคสมัยนั้นด้วย
“. . . เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาดประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงศีลและทรงทำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน . . .” ข้อความในหนังสือเรื่อง “#นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการปรากฏของงาน “ตามประทีปโคมไฟ” ครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ซึ่งจากข้อความดังกล่าวข้างต้น การประกอบพิธีในงาน “ตามประทีปโคมไฟ” มีมาเนิ่นนาน และเป็นงานที่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอย่างวันวิสาขบูชา
“วิสาขปุรณมีบูชา” หรือก็คือ #วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยถือว่าเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า วันวิสาขบูชาจะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน วันวิสาขบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 และเป็นประเพณีของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ”
สมัยสุโขทัย ในหนังสือเรื่อง นางนพมาศ ได้กล่าวไว้ว่า “. . . ครั้นถึงวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วนิคมคามชนบท ก็ประดับพระนครและพระราชวังข้างหน้าข้างใน จวนตำแหน่งท้าวพระยาพระหลวงและเศรษฐีชีพราหมณ์ บ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพชนประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสว ห้อยย้อยพวงบุปผาชาติประพรมเครื่องสุคันธรส . . .” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การจัดพิธีที่ยิ่งใหญ่และครึกครื้นไปทั่วทั้งราชธานี แสดงถึงความมั่งคง มั่งคั่ง ทางด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรมมในพุทธศาสนา
นอกจากนั้นก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน ได้ร่วมกระทำอันเป็นบุญกุศลร่วมกัน อย่างที่ปรากฏในหนังสือ นางนพมาศ ว่า
“. . . มหาชนชักชวนกันรักษาพระอุโบสถศีล สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททกคนกำพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อถ่ายชีวิตสัตว์จัตุบาททวิบาทชาติต่าง ๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูลก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่าง ๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์เป็นอันมาก . . .”
ทว่าประเพณีดังกล่าวนี้มิได้กล่าวถึงอีกในสมัย #อยุธยา จนถึงสมัย #รัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่มีการปรากฏหลักฐานใน “กาพย์แห่เรือ ” ว่ามีการประกอบพิธี “ตามโคมประทีป” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ไม่ได้เถลิงสิริราชสมบัติ แต่ไม่ได้ปรากฏในแบบแผนพิธีวิสาขบูชาในขณะนั้น โดยมีความว่า
คำนึงถึงเดือนหก ทั่วทายกตามโคมเคย
งามสุดนุชพี่เอย ได้เห็นกันวันบูชา
(ประชุมกาพย์เห่เรือ, 2503 : 22)
ต่อมาช่วงรัชสมัย #พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พุทธศักราช ๒๓๖๐ มีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล โปรดเกล้าฯ ให้จัดตกแต่งโต๊ะหมู่บูชา โคมเทียน และเทียนต้นประดับดอกไม้สด ตั้งและแขวนรายรอบศาลา ระเบียงและกำแพงแก้วพระอุโบสถ โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ
ในรัชสมัย #พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเพิ่มการเทศน์ปฐมสมโพธิกถา (พระพุทธประวัติ) ในวันวิสาขบูชานี้ จนมาใน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่งาน “ตามประทีปโคมไฟ” ปรากฏหลักฐานที่แสดงความเป็นลักษณะการจัดการที่นำมาใช้สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
โดยในรัชสมัยของ #พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชารอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา และให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน และหน่วยราชการต่าง ๆ เดินเวียนเทียน จัดโคมประทีป และสวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังในเอกสารเรื่อง “ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 7 : หมายรับสั่ง แลบาญชีโคมตรา ในการพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่4” ให้ความว่า
“. . . แลในวันเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง เพลาค่ำ มิพระธรรมเทศนาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง 3 คืนเหมือนอย่างทุกปี . . . อนึ่งให้พันจันทนุมาศ จัดดอกไม้เพลิงไปบั่กนอกพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันออก . . . นิมนต์พระสงฆ์ที่ทรงธรรมกถึกให้สำแดงธรรมเทศนา . . . ครั้นเพลาค่ำตามโคมประทีปทุกน่าบ้าน ทุกร้าน ทุกเรือน ทุกแพ จงทุกแห่ง . . . แล้วให้หมายบอกข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทำโคมรูปตราสำหรับตำแหน่งที่ผู้กินเข้ามาแขวน ณวันเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง เพลาค่ำทั้ง 3 คืน . . .”
“#โคมตรา” เอกลักษณ์และธรรมเนียมที่สำคัญของงาน “ตามประทีปโคมไฟ” พิจารณาตามความหมายเมื่อแยกออกจากกัน “โคม” หมายถึง เครื่องตามไฟหรือเครื่องให้แสงสว่าง ส่วน “ตรา” เครื่องหมายที่ทำขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ เพื่อแสดงสัญลักษณ์แทนบุคคลหรือองค์กร ตราในที่นี้ก็ คือ เหล่าหน่วยงานราชการ องค์กร และพุทธบริษัท รวมไปถึงโคมตราจากสถาบันกษัตริย์ และเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งจากเอกสารที่ปรากฏ ไม่ว่า “จดหมายเหตุ” หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอธิบายว่า ธรรมเนียมนี้ที่ปรากฏในวันวิสาขบูชา เพื่อให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมจัดทำโคมไฟหรือเทียนมาถวายเป็นพุทธบูชาโดยเสด็จพระราชกุศล ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ก็จะสื่อความหมายว่า “บุคคลหรือองค์กรที่จะนำทางไปสู่สิ่งที่ดีสิ่งที่งาม โดยนำหลักแห่งธรรมนำทาง”
ในสมัยรัชกาลที่ 4 การถวายโคมตรา เป็นส่วนหนึ่งในพิธีอันเป็นกุศลในวันวิสาขบูชา ซึ่งนอกจากเป็นธรรมเนียมเพื่อการกุศลแล้ว ภายในงานก็ได้มีการจัดแข่งขันโคมตราขึ้นมาและมีรางวัลพระราชทาน อนึ่งว่าเป็นการกระตุ้นและเป็นกำลังใจให้กับหน่วยงานที่มาเข้าร่วม โดยโคมตราแต่ละลวดลายในสมัยก่อนนั้น ก็มาเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงมหาดไทย ในอดีตโคมตราเป็นรูปราชสีห์ ปัจจุบันก็ยังเป็นราชสีห์ หรือกระทรวงกลาโหม ในอดีตโคมตราเป็นรูปคชสีห์ ปัจจุบันก็ยังคงใช้คชสีห์เช่นเดิม
ในรัชกาลที่ 5 รัชสมัยของ #พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีและธรรมเนียมยังคงเป็นเช่นเดิมเหมือนแต่โบราณ ตามที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” แม้พระองค์จะทรงเชื่อว่า “นางนพมาศ” จะถูกแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ก็ทรงเห็นด้วยว่า
“. . . หนังสือเรื่องนี้ ของเดิมเขาน่าจะมีจริง เพราะลักษณะพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้ โดยมาเป็นตำราพิธีจริงและเป็นพิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เป็นแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุธยา . . .”
ต่อมาในรัชสมัย #พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ช่วงสมัยที่โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนปีจากรัตนโกสินทร์ศก เป็นปีพระพุทธศักราช เนื่องจากทรงถือความสำคัญของพระพุทธศักราช ที่เริ่มนับตั้งแต่วันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และโปรดเกล้าฯ ให้ทำบัตรอวยพรในวันวิสาขบูชา
ปัจจุบันแม้ “ตามประทีปโคมไฟ” จะยังคงสืบสานประเพณีและพิธีการอันเป็นกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชาเหมือนอย่างเดิม แต่อาจจะไม่ใช่ประเพณีที่มีความดั่งเดิมเหมือนแต่โบราณ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการตามยุคตามสมัย หรือไม่เป็นดั่งเฉกเช่นพิธีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มีพระราชดำริให้มีขึ้น ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเนื่องในวันวิสาขบูชา ถึงกระนั้นเป้าหมายและการให้ความสำคัญในคุณงามความดีอันเป็นกุศลก็ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
อ้างอิง
กรมศิลปากร. เรื่อง นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์, พิมพ์ครั้งที่ 23 โรงพิมพ์ ภักดีประดิษฐ์. เอกสารเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม (29 มีนาคม 2508)
ธีระวัฒน์ ชะอุ่ม. (2554). การจัดการความรู้ทรัพยากรวัฒนธรรม : วัดพระศรีรัตนศาสดาราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
กรมศิลปากร. ประชุมกาพย์เห่เรือ. พระนคร : รุ่งเรืองธรรม, 2503. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม) วันที่ 5 มิถุนายน 2503.
หอพระสมุดวชิรญาณ. เรื่อง ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 7 : หมายรับสั่ง แลบาญชีโคมตรา ในการพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่4, โรงพิมพ์ โสภณพิพรรฒธนากร. เอกสารเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ (2463).
“วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม”
เพลง “ค่าน้ำนม” คงได้ยินได้ฟังกันมาตั้งแต่เด็ก หลายยุคหลายสมัยยังเป็นเพลงอมตะที่ฟังแล้วทำให้นึกถึงพระคุณของแม่ ที่มีเนื้อหากินใจว่า “แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง แม่เฝ้าหวงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล...” ทำให้เห็นถึงความรักของแม่ที่รักลูกถนอมลูก สงสารลูก จะไปไหนก็เป็นห่วง รับประทานอะไรก็คิดถึงลูก ลักษณะเหล่านี้ย่อมตรึงใจเรามิรู้วาย
วันแม่แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย ที่ถือเอาวันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นวันแม่แห่งชาติ
แต่เดิมนั้น วันที่ 12 สิงหาคม มิได้เป็นวันแม่แห่งชาติอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่ได้มีการกำหนดเอาวันที่ 15 เมษายนของทุกๆ ปีเป็น วันแม่แห่งชาติ โดยเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 โดยสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นผู้จัดงานวันแม่มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา เพราะเห็นว่าเป็นเดือนที่ฝนยังตกไม่ชุกนัก จะมีคนมาร่วมงานได้สะดวก โรงเรียนอยู่ระหว่างการหยุดเทอม นักเรียนว่างพอจะเข้าร่วมงานวันแม่ได้ การจัดงานไม่เพียงแต่มีการจัดพิธีทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น ยังมีการประกวดแม่ของชาติ การประกวดคำขวัญวันแม่ เพื่อเป็นเกียรติแก่แม่ และเป็นการเพิ่มความสำคัญของงานวันแม่ให้มีมากยิ่งขึ้น
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2519 ทางราชการได้เปลี่ยนแปลงวันแม่ใหม่ ให้ถือเอาวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวไทย เปรียบเสมือนแม่ของชาติ โดยมติเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมศีลธรรมและจิตใจ โดยพิจารณาว่าแม่เป็นผู้มีพระคุณและมีบทบาทอย่างสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่จะได้รับการเทิดทูนและตอบแทนบุญคุณด้วยความกตัญญูกตเวที
การที่ทางราชการได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็น วันแม่แห่งชาติ ย่อมก่อให้เกิดวันอันเป็นที่ระลึกที่สำคัญยิ่งของไทยเราวันหนึ่ง และกำหนดให้ถือว่า ดอกมะลิ สีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม ที่ใช้ได้ตั้งแต่เป็นดอกไม้สด จนกระทั่งแห้งเสมือนดั่งความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่เสื่อมคลาย เป็นสัญญลักษณ์แห่งความดีงามของแม่ผู้ให้กำเนิดแก่ตัวเรา
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ระเบิดหินสร้างทางรถไฟ -- ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุทำให้เราทราบว่า การสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทางรถไฟนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ต้องบุกเบิกขนอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่มีเส้นทางคมนาคมประเภทอื่นที่เหมาะสมนอกจากทางน้ำ ดังตัวอย่างการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือที่บริเวณเมืองพิจิตร ที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุชุด กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ดังนี้. เมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ (พระยศและตำแหน่งในขณะนั้น – สะกดตามต้นฉบับ) ทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า ทรงได้รับรายงานจากเจ้ากรมรถไฟว่า การก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือซึ่งต้องขนส่งเครื่องเหล็กก่อสร้างไปทางเรือนั้นไม่สะดวก เนื่องจากติดแก่งสะพานหิน 2 แห่ง บริเวณใต้เมืองพิจิตรลงมา เจ้ากรมรถไฟเสนอให้ระเบิดศิลาใต้น้ำเป็นช่องเล็กๆ พอให้เรือสามารถแล่นผ่านไปได้ ประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งกรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ทรงเห็นว่าการระเบิดศิลานี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะการก่อสร้างทางรถไฟเท่านั้น หากจะเป็นประโยชน์ต่อการสัญจรของประชาชนด้วย ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น กรมรถไฟจะออกแต่ค่าแรง ส่วนค่าสิ่งของจะขอให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติโอนเงินเหลือจ่ายในกระทรวงโยธาธิการไปจ่าย เนื่องจากการบำรุงรักษาแม่น้ำลำคลองเป็นหน้าที่ของกระทรวงโยธาธิการที่ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับว่า ทรงทราบเรื่องแล้ว และทรงเห็นว่าเป็นการดีควรจะระเบิด. หากพูดถึงการระเบิดหินในสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน อาจมีข้อสงสัยว่าจะระเบิดกันอย่างไร ใช้ระเบิดประเภทไหน แม้ว่าในเอกสารเรื่องนี้จะไม่ได้กล่าวถึงการดำเนินการระเบิดหินหลังจากที่มีพระราชหัตถเลขาแล้ว แต่ในเอกสารเรื่องเดียวกันนี้ได้ปรากฏหลักฐานการขออนุญาตสั่งเครื่องระเบิดของกรมรถไฟเพื่อใช้ในการสร้างรถไฟสายเหนือเมื่อเดือนสิงหาคม ร.ศ. 122 (ก่อนมีลายพระหัตถ์เรื่องขอระเบิดศิลาราว 2 เดือน) เครื่องระเบิดนี้ประกอบด้วย แก๊บดีโตเนเตอร์ (Blasting cap / Detonator) 25 หีบ หีบละ 10,000 ดอก ดินนาไมต์ (Dynamite) 200 หีบ หีบละ 50 ปอนด์ และฝักแค 50 ถัง ถังละ 250 ขด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า การขออนุญาตสั่งเครื่องระเบิดจำนวนมากเช่นนี้ นอกเหนือจากการระเบิดหินเพื่อประโยชน์ในการวางรางรถไฟแล้ว เครื่องระเบิดส่วนหนึ่งอาจจะนำมาใช้ระเบิดหินในแม่น้ำด้วยผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)เอกสารอ้างอิง:สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ร.5 ยธ. 5.9/17 เรื่อง ระเบิดแก่งสพานหินใต้เมืองพิจิตรเพื่อการรถไฟสายเหนือ [ 5 ส.ค. – 31 ต.ค. 122 ]. #จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
ปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ ที่จะนำพาทั้ง 2 จักรวาล และ 2 วงโคจร ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เพื่อสร้าง “บทสนทนาของวงโคจร” ผ่านผลงานของ 2 ศิลปินแห่งชาติที่มีความโดดเด่นในวงการศิลปะไทย
.
ผลงานของ อินสนธิ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. 2542 และทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2548 ต่างมีอัตลักษณ์ชัดเจน แต่มีสิ่งหนึ่งที่สอดคล้องกันคือการนำ “รูปทรง” มาสร้างสรรค์และเล่าเรื่องในแบบของตนเอง เพื่อขับเคลื่อนวงการศิลปะไทยสมัยใหม่
.
รูปทรงบริสุทธิ์แห่งความนิ่งขรึม สง่างาม มีชีวิตที่เคลื่อนไหวอย่างแผ่วเบาอ้อยอิ่ง และมีความสมบูรณ์แบบ เป็นการถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกของอินสนธิ์ ส่วนทวีมุ่งใช้รูปทรงแห่งการสำแดงพลังอารมณ์ เคลื่อนไหวอย่างรุนแรง มีอารมณ์ขัน เสียดสีแดกดัน อันมีแรงส่งมาจากสภาพสังคม การบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนนี้เอง แสดงให้เห็นถึงการมีจักรวาลและวงโคจรของตนเอง
.
นิทรรศการ From orbit to Conversation 90 ปี อินสนธิ์ วงค์สาม และ ทวี รัชนีกร จะเป็นการนำเอาผลงานของทั้งคู่มาเกี่ยวร้อยเชื่อมโยงกัน เปรียบเสมือนบทสนทนาระหว่างเพื่อนที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้อยู่ในจักรวาล ท่ามกลางวงโคจรของกลุ่มสี แสง ธาตุ และฝุ่นผง ที่ประกอบร่างเป็นดาวดวงใหญ่เคลื่อนลอยอย่างเป็นระบบในจักรวาล ผ่านผลงานประเภทภาพพิมพ์แกะไม้ ภาพปะติดด้วยสมุดข่อย ประติมากรรมไม้ และภาพจิตรกรรมที่บรรจุสีสัน เปรียบเสมือนแสงดาวระยิบระยับท่ามกลางจักรวาลที่ทั้งสองศิลปินสร้างขึ้น
.
นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป From orbit to Conversation 90 ปี อินสนธิ์ วงค์สาม และ ทวี รัชนีกร
จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2567 ในวันพุธ - อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
ชื่อเรื่อง ตำนานพระบาทธาตุ (ตำนานพระบาทธาตุ)สพ.บ. 473/1ประเภทวัสดุมีเดีย คัมภีร์ใบลานหมวดหมู่ พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ 54 หน้า กว้าง 4.5 ซม. ยาว 57 ซม.หัวเรื่อง พุทธศาสนา บทคัดย่อ/บันทึก
เป็นคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี-ไทยอีสาน เส้นจาร ฉบับลานดิบ ไม่มีไม้ประกับ ได้รับบริจาคมาจากวัดด่านช้าง ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
โรงเรียนครบุรี จ.นครราชสีมา (เวลา 10.30 น.) จำนวน 110 คนวันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๓๐ น. คณะข้าราชการครู และนักเรียน พร้อมด้วยบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนครบุรี อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา จำนวน ๑๑๐ คน เข้าเยี่ยมชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ โดยมีนายธิริทธิ์ เรืองทวีทรพย์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ และนางสาวณัฏฐกานต์ มิ่งขวัญ ตำแหน่ง เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑ์ชำนาญงาน เป็นวิทยากรนำชมในครั้งนี้