ค้นหา

รายการที่พบทั้งหมด 41,355 รายการ

          เงินพดด้วง เป็นเงินตราที่ชาวไทผลิตขึ้นใช้ต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยการตัดโลหะเงินเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ได้น้ำหนักตามต้องการแล้วนำไปหลอมจากนั้นเทโลหะที่ละลายดีแล้วลงเบ้าไม้ที่แช่อยู่ในน้ำ จากนั้นนำมาทำให้งอโดยตอกแบ่งครึ่งด้วยสิ่วสองคม แล้วทุบปลายทั้งสองข้างเข้าหากันจนขดงอคล้ายตัวด้วง เงินพดด้วงที่ตีด้วยค้อนจนเข้ารูปแล้วจะถูกนำไปวางบนทั่งเหล็กหรือกระดูกขาช้าง เพื่อตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงบนตัวเงิน           เนื่องจากเงินพดด้วงเป็นเงินตราที่ใช้มาตราน้ำหนักเป็นมาตรฐานพิกัดราคา จึงไม่มีการระบุพิกัดราคาไว้บนตัวเงินเงินพดด้วงถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในล้านนา จากการติดต่อค้าขายกับสุโขทัยและอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังคงมีการนำเงินพดด้วงมาใช้ในล้านนา เงินพดด้วงในสมัยรัตนโกสินทร์นี้มีตราจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน และมีตราอุณาโลม ครุฑ ปราสาทและมหามงกุฎประทับลงบนพดด้วง -----------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน -----------------------------------------------เอกสารอ้างอิง เงินตราล้านนา : นวรัตน์ เลขะกุล/ธนาคารแห่งประเทศไทย นพบุรีการพิมพ์ เชียงใหม่, ๒๕๕๕ เงินตราล้านนาและผ้าไท : ธนาคารแห่งประเทศไทย อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๓ เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ : นวรัตน์ เลขะกุล สนพ.สารคดี, ๒๕๔๗



           เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ได้รับการประสานจากนางสาววรรณทิพย์ ปลื้มจิตร ผู้ปกครองของเด็กชายณัฎฐ์สักก์ จันทร์เกษม ว่าหลานชายได้พบประติมากรรมรูปเต่าอยู่ภายในโบราณสระโบสถ์(พบอยู่ใต้น้ำ) ภายในเมืองพิมาย และได้นำมามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ในเวลาต่อมา            เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ตำแหน่งที่พบโบราณวัตถุอยู่ใต้น้ำ บริเวณด้านทิศใต้ของสระโบสถ์ ใกล้กับเนินดินกลางสระน้ำ โดยอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเนินดิน           โบราณวัตถุที่พบจากสระโบสถ์นี้ ได้แก่ ประติมากรรมรูปเต่า มีลักษณะการสลักเป็นรูปใบหน้าและกระดองเต่าอย่างชัดเจน ด้านบนกระดองเจาะช่องรูปสี่เหลี่ยม 7 ช่อง ล้อมรอบช่องสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ตรงกลางโดยด้านในช่องสามเหลี่ยมมีก้อนหินรูปสามเหลี่ยมวางอยู่ เมื่อนำประติมากรรมรูปเต่ามาทำความสะอาดและนำน้ำที่ขังอยู่ภายในช่องออก พบชิ้นส่วนแผ่นทองจำนวน 6 แผ่น บรรจุอยู่ภายในช่อง          สำหรับประติมากรรมรูปเต่าที่พบนี้ สันนิษฐานว่าเป็นแท่นบรรจุวัตถุมงคลที่ใช้ในการวางฤกษ์ของสระน้ำ และพบว่ามีรูปแบบสัมพันธ์กับประติมากรรมรูปเต่าที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณสระสรง เมืองพระนคร จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นี้          ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมูลการศึกษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จะขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับประติมากรรมรูปเต่านี้ในเดือนถัดไป สามารถรอติดตามได้ผ่านเฟสบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/PhimaiNationalMuseum/----------------------------------------------ข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  พิมาย จังหวัดนครราชสีมา----------------------------------------------





บรรยายทางวิชาการเรื่อง "พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขัตติราชนารีศรีนครเชียงใหม่" วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานพระนคร - หัวข้อเรื่อง "๑๑๑ ปี แห่งการประสานสองอาณาจักรโดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี" วิทยากร: นายไพศาล จั่วทอง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ -หัวข้อเรื่อง "พระราชชายาเจ้าดารารัศมี: บทบาทในการสร้างความสำคัญทางการเมือง การปกครองในประวัติศาสตร์สมัยจารีต" วิทยากร: นางสาวบุหลง ศรีกนก ข้าราชการบำนาญ กรมศิลปากร



          มกร อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน เป็นคำภาษาสันสกฤต ในพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้ความหมายว่า เป็นสัตว์ตามจินตนาการของช่างอินเดียโบราณ มีลักษณะต่าง ๆ กันไป เช่น ในสมัยแรกส่วนหัวคล้ายจระเข้ มีจะงอยปากงอไปทางด้านหลังคล้ายงวงช้างขนาดสั้น มีฟันแหลมคม มีขาคล้ายสิงโตหรือสุนัข ท่อนหางทำเป็นอย่างหางปลา ส่วนมกรในศิลปะขอมมีลักษณะคล้ายมกรในศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓) คือมี ๒ ขา และมีหางม้วนเป็นลายก้านขด ในศิลปะขอมแบบกุเลน (ราว พ.ศ. ๑๓๗๐ – ๑๔๒๐) รูปมกรมีรูปใหม่คือมี ๔ ขา ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ รูปมกรได้เข้ามาปะปนกับรูปนาค และหัวมกรเริ่มกลายเป็นหน้าสิงห์ไป           มกรถือเป็นสัตว์ในจินตนาการ เชื่อกันว่าเป็นเทพแห่งท้องทะเล มีลักษณะของสัตว์หลายชนิดมาผสมกัน ทั้งระหว่างสัตว์บกและสัตว์น้ำ อาทิ มีส่วนปากคล้ายจระเข้ มีงวงเหมือนกับช้าง มีลำตัวและหางเหมือนปลา และมีลักษณะของสัตว์อื่น ๆ เพิ่มเติมหลายชนิดมากยิ่งขึ้นตามจินตนาการของช่าง เช่น สิงโต แพะ กวาง นาค มังกร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์ที่มีความหมายในทางมงคลทั้งสิ้น           มกรสังคโลกพบหลักฐานการขุดค้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่เมืองโบราณสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ผลิตขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒ จากกลุ่มเตาเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย โดยเป็นเครื่องประกอบในงานสถาปัตยกรรมประเภทวิหาร ใช้ประดับบริเวณราวบันไดหรือชายคาอาคาร           ในเมืองกำแพงเพชรได้พบมกรจากการดำเนินงานทางด้านโบราณคดีในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เช่น วัดอาวาสใหญ่ วัดฆ้องชัย โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เป็นมกรเขียนลายสีดำบนน้ำดินสีขาวแล้วเคลือบใสทับอีกครั้งหนึ่ง กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑---------------------------------------------------------ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร---------------------------------------------------------บรรณานุกรม - กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๗. - ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๐. *เผยแพร่ข้อมูล : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร


เลขทะเบียน : นพ.บ.146/5ห้องจัดเก็บ : ศรีโคตรบูรณ์ประเภทสื่อ : เอกสารโบราณหมวดหมู่ : พุทธศาสนาลักษณะวัสดุ :  36 หน้า ; 4.7 x 57 ซ.ม. : ชาดทึบ ; ไม้ประกับธรรมดา  ชื่อชุด : มัดที่ 89 (373-376) ผูก 5 (2564)หัวเรื่อง : แปดหมื่นสี่พันขันธ์ (8 หมื่น)--เอกสารโบราณ            คัมภีร์ใบลาน            พุทธศาสนาอักษร : ธรรมอีสานภาษา : ธรรมอีสานบทคัดย่อ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา  สามารถสืบค้นได้ที่ห้องศรีโคตรบูรณ์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม



ก สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สังคิณี-มหาปัฎฐาน) เลขที่ ชบ.บ.15/1-3 เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


ชื่อเรื่อง           พระไตรปิฎก เล่ม ๒ ฉบับสำหรับประชาชน ผู้แต่ง             สุชีพ ปุญญานุภาพ. ครั้งที่พิมพ์       -ปีที่พิมพ์          ๒๕๐๒สถานที่พิมพ์     พระนครสำนักพิมพ์       บรรณาคารจำนวนหน้า      ๕๓๐ หน้า                     พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เล่มนี้ แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาค ๑ ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก  และ ภาค ๒ เป็นความย่อแห่งพระไตรปิฎก  เหมาะแก่ผู้สนใจหลักธรรมโดยย่อในพระไตรปิฎก ความรู้เรื่องพระไตรปิฎกและข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก  



ลำจวน  มงคลรัตน์.  ชาวเขา.  พิมพ์ครั้งที่ ๑.  พระนคร : บันดาลสาส์น, ๒๕๑๒.  ๒๗๑ หน้า.      ภาคเหนือของไทยมีชาวเขามากมายหลายแสนคนและมีหลายเผ่าพันธุ์ เช่น กระเหรี่ยง แมว อีก้อ ข่า ลีซอ มูเซอ เย้า ในปัจจุบันชาวเขาได้รับการพัฒนาด้านความเป็นอยู่และการศีกษาด้วยมีการสร้างโรงเรียนในหมู่บ้านสอนเด็ก ๆ ให้อ่านออกเขียนได้ ทำให้มีการกินดีอยู่ดีมากขึ้น เมื่อก่อนนิยมปลูกฝิ่น แต่ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่สร้างรายได้และเศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้น  เช่น ปลูกชา กาแฟ และเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ม้า วัว ควาย


          พระราชลัญจกรเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ไทย ที่ใช้ประทับกำกับบนเอกสารสำคัญต่าง ๆ พระราชลัญจกรแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน สำหรับประทับกำกับพระบรมนามาภิไธยในหนังสือสำคัญต่าง ๆ และพระราชลัญจกรในพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งต้องสร้างใหม่ทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนรัชกาล           พระราชลัญจกรสยามโลกัคราชเป็นตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำด้วยทองคำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีรูปช้างหมอบอยู่หลังบนที่จับประทับ คำว่า สยามโลกัคราชนั้น เป็นชื่อที่นำมาจากตัวอักษรจีนว่า เสียม-โล-ก๊ก-อ๋อง แปลว่า กษัตริย์ประเทศสยาม เลียนเสียงเป็น สฺยาม-โลก+อคฺค-ราช แปลว่า กษัตริย์สยามผู้ยิ่งใหญ่ ตัวอักษรจีนดังกล่าวปรากฏอยู่ในตราพระราชลัญจกรมหาโลโต ซึ่งเป็นตราประทับที่จักรพรรดิจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงมอบให้กับพระเจ้าแผ่นดินสยามสมัยอยุธยา ตราประทับเป็นรูปอูฐ ภาษาจีนกลางเรียกว่า ลั่วถัว (駱駝) ส่วนสำเนียงฮกเกี้ยนเรียกว่า โลโท เนื่องจากในราชสำนักสยามสมัยนั้น ขุนนางเชื้อสายจีนส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน จึงเป็นเหตุให้ภาษาจีนสำเนียงฮกเกี้ยนเป็นที่นิยมในราชสำนัก แต่อาจจะมีเพี้ยนเล็กน้อยเป็น “ตราโลโต” หรือ “ตราพระราชลัญจกรมหาโลโต” พระราชลัญจกรองค์นี้ใช้สำหรับประทับบนพระราชสาสน์อักษรจีน เพื่อแสดงฐานะว่า เจ้าแผ่นดินสยามเป็น "อ๋อง" (หวาง) ภายใต้อารักขาของ "ฮ่องเต้" (หวางตี้หรือจักรพรรดิ) ภายในดวงตราพระราชลัญจกรสยามโลกัคราชทำรูปเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และแกะสลักอักษรขอม ๔ บรรทัด เป็นตราที่ทำเลียนแบบตราพระราชลัญกรมหาโลโต           เดิมพระราชลัญจกรสยามโลกัคราชใช้สำหรับประทับตราสัญญาบัตร (ใบตั้งยศหรือบรรดาศักดิ์ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง) คู่ด้วยพระบรมราชโองการ และใช้ในการพระราชทานวิสุงคามสีมา ภายหลังพระราชลัญจกรสยามโลกัคราชใช้สำหรับพระราชทานวิสุงคามสีมาเท่านั้น ดังปรากฏในพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ระบุว่า “พระราชลัญจกรสยามโลกัคราช สำหรับประทับวิสุงคามสีมาในหว่างกลางองค์เดียว” เปรียบเทียบพระราชลัญจกรสยามโลกัคราชและพระราชลัญจกรมหาโลโต ที่มา https://www.silpa-mag.com/culture/article_6938----------------------------------------------------------ผู้เรียบเรียง : นางสาวเปรมา สัตยาวุฒิพงศ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ----------------------------------------------------------ที่มา https://www.finearts.go.th/literatureandhistory/view/22895-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A?fbclid=IwAR2RLJ2U_CvGTmUSMpx4li0LHBgCtLwtFRdnYZa5cAeXb6XWzbQTVpqFCBI


Messenger