ค้นหา


รายการที่พบทั้งหมด 37,173 รายการ



          วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย นางสาวนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นางกมลชนก ชวนะเกรียงไกร ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สถาปนิก วิศวกร และผู้ควบคุมงาน ประชุมคณะกรรมการตรวจรับการจ้างงาน (ประจำงวดงานที่ ๑๔) ในโครงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมตรวจเยี่ยมหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี



          วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จัดกิจกรรมบรรยายทางวิชาการในหัวข้อ การค้าของเมืองถลาง ตีความจากจดหมายสมัยกรุงธนบุรี - รัตนโกสินทร์ตอนต้น การค้าระหว่างเมืองถลาง - ปีนัง โดยนายกานต์ รับสมบัติ  หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง และ "ภารา" มาตราชั่งน้ำหนัก โดยนายธัชวิทย์ ทวีสุข ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง            ผู้สนใจสามารถติดตามรับฟังการบรรยายได้ทาง Facebook Live : Thalang National Museum พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นต้นไป  


รูปพระสุภูติมหาเถร สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ เป็นของอยู่ในพิพิธภัณฑสถานมาแต่เดิม ได้มาจากไหนไม่ปรากฏ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้อง ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ----------------------------------------------   ประติมากรรมรูปบุคคล เงยศีรษะขึ้น ใบหน้ากลม คิ้วโก่ง ดวงตาเหลือบต่ำ จมูกใหญ่ ริมฝีปากหนา แสดงอาการยิ้มเล็กน้อย ใบหูยาว รูปร่างอ้วนครองจีวรแบบห่มดอง*แสดงการคาดผ้ารัดอก มีท้องพลุ้ย มือซ้ายโอบหน้าท้อง ส่วนมือขวายกขึ้น (กิริยากวักเรียกฝน) นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว รูปแบบดังกล่าวจึงทำให้ประติมากรรมพระสุภูติมีลักษณะบางประการคล้ายกับประติมากรรมพระมหากัจจายนเถระ    ประวัติของพระสุภูติปรากฏในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินีอรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน กล่าวถึงประวัติพระสุภูติว่า   ครั้งหนึ่งพระสุภูติจาริกถึงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารได้อาราธนาให้พระสุภูติประทับอยู่ ณ เมืองราชคฤห์ พร้อมทั้งสัญญาว่าจะสร้างกุฏิถวายให้ แต่เนื่องจากทรงมีพระราชกิจหลายอย่าง ทำให้ทรงลืมข้อสัญญาดังกล่าว ครั้นถึงฤดูฝนปรากฏว่าฝนไม่ตก พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงระลึกขึ้นได้ว่าพระองค์ลืมสร้างกุฏิถวายพระสุภูติ ทรงมีรับสั่งให้สร้างกุฏิที่มุงหลังคาด้วยใบไม้ถวาย เมื่อพระสุภูติเข้าไปอาศัยด้านในแล้วฝนก็ยังตกเพียงเล็กน้อย พระสุภูติจึงกล่าวคาถามีใจความว่า ตนพ้นจากภยันตราย มีอาคารกำบังแล้ว ขอให้เทพเทวดาบันดาลให้ฝนตก เมื่อกล่าวคาถาจบลง เมฆฝนก็ก่อตัวขึ้น เกิดเป็นฝนห่าใหญ่ตกทั่วเมืองราชคฤห์    จากประวัติของพระสุภูติข้างต้น จึงทำให้ประติมานของรูปเคารพพระสุภูติมีลักษณะการแสดงอิริยาบถที่สัมพันธ์กับ “เบื้องบน” หรือ “ท้องฟ้า” เช่น การแหงนหน้ามองด้านบน หรือชูแขนข้างหนึ่งขึ้นในท่ากวักมือเรียกเป็นต้น ในงานพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ พระสุภูติจึงเป็นประติมากรรมองค์สำคัญที่ใช้ประกอบพิธี    อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงมีพระบรมราชาธิบายถึงพระสุภูติในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ไว้ว่า การประดิษฐานพระสุภูติในพระราชพิธีจะตั้งไว้อยู่กลางแจ้ง ตรงกันข้ามกับคาถาที่ใช้สวดในพระราชพิธี คือ “คาถาสุภูโต” ที่มีเนื้อความตามสุภูติเถรคาถา ในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงเรียบเรียงขึ้นใหม่ และใช้มาตลอดนับตั้งแต่รัชกาลของพระองค์ในคราวที่ฝนแล้ง ดังมีประกาศให้พระอารามต่าง ๆ สวดคาถาสุภูโต และงานพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าจะต้องจัดกี่วัน ขึ้นอยู่กับว่าฝนจะตกหรือไม่ และตกมากน้อยเพียงใด หากฝนตกไม่มากก็ยังคงทำพิธีต่อไป อีกทั้งพระราชพิธีพิรุณศาสตร์มิได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หากแต่จัดขึ้นในคราวที่เกิดภาวะแล้งขาดแคลนน้ำฝนเท่านั้น   * ห่มดอง หมายถึง วิธีห่มผ้าของพระภิกษุสามเณรอย่างหนึ่งโดยห่มเฉวียงบ่าและมีผ้ารัดอก (ตามความหมายใน ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖ หน้า ๑๓๑๙) ---------------------------------------------- อ้างอิง : จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธี ๑๒ เดือน. พระนคร: แพร่พิทยา, ๒๕๑๔. จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ (กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๔๘. . รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๔๘. มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๘ ภาคที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรง พิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.   --------------------------------------------------- เรียบเรียงข้อมูล :  นายพนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ



          “... เมื่อปีฉลูเบญจศก ซึ่งข้าพเจ้าเกิดนั้น ฝนแล้งมาแต่ปีชวดจัตวาศก ... เวลาเมื่อประสูติข้าพเจ้า ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระราชวังท่วมเกือบถึงเข่า เห็นกันว่าเป็นการอัศจรรย์อยู่ ...” ข้อความตอนหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่าถึงเหตุการณ์ฝนตกหนักเมื่อคราววันพระบรมราชสมภพ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้พระองค์ได้รับหน้าที่เป็น “พนักงานขอฝน" อยู่เนือง ๆ นอกจากนี้ยังมีพิธีการขอฝนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแห่พระวิมลรัตนกิรินี (ช้างเผือก) พระสงฆ์สวดมนต์ขอฝน หรือโขลนร้องเสียงนางแมว วันนี้ เพจคลังกลางฯ จึงขอนำเสนอเรื่องพระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา นิยมใช้สำหรับการเรียกฟ้า ขอฝน          ดังที่กล่าวถึงหนึ่งในพิธีขอฝนคือการแห่ ‘พระวิมลรัตนกิรินี’ ช้างเผือกในรัชกาลที่ ๔ ด้วยช้างหมายถึง “ผู้ให้น้ำ” คำเดียวกับคำว่านาค นาคะ นาเคนทร์ ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับนาม “กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ” ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ก็หมายถึงช้างเช่นกัน ดังนั้น ในการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๕ จึงเลือกพระคันธารราษฎร์ (พระปางขอฝน) ซึ่งสอดรับกับเรื่องเล่าวันประสูติ วันนี้ เพจคลังกลางฯ ขอนำเสนอพระคันธารราษฎร์ ๒ องค์สำคัญ คือ “พระคันธารราษฎร์จีน” ในพระบรมมหาราชวัง ดังมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า …ดวงพระพักตร์เป็นอย่างจีน มีแต่พระเมาฬีไม่มีพระรัศมี ผ้าที่ทรงจะว่าเป็นจีวรก็ใช่ เป็นผ้าอุทกสาฎกก็ใช่ ใช้คลุมสองพระพาหา แหวกที่พระอุระกว้างทำนองเป็นเสื้อหลวงญวน อย่างเช่นพระจีนทั้งปวง... ส่วนอีกองค์ประดิษฐานอยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณราม จ.เพชรบุรี อันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะเป็นฝีมือการหล่อของช่างจีนโบราณ และได้มีการถ่ายแบบ หล่อขยายเป็นพระพุทธรูปแทนตัวของเจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ ๕ มาประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (ดูเพิ่มเติมใน “ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเพชรบุรี” ของ ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์)         ทั้งนี้ นอกจากวันที่ ๒๐ กันยายน จะเป็นกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรแล้ว วันนี้ ยังถือเป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” ด้วยถือเหตุที่ทั้งสองรัชกาลเสด็จขึ้นครองราชย์นับแต่ทรงเป็นยุวกษัตริย์นั่นเอง             ขอบคุณภาพ "พระคันธารราษฎร์" ประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จาก พนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ / เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร


          ใน พ.ศ.๒๔๙๔ กรมมหาดไทยได้แจ้งถึงคณะกรมการจังหวัดว่า ได้จัดซื้อเครื่องรับวิทยุเพื่อติดตั้งเป็นวิทยุสาธารณะในส่วนภูมิภาค จำนวน ๕๐ เครื่อง หากอำเภอใดยังไม่มีเครื่องรับวิทยุติดตั้ง ณ ที่ว่าการ ให้แจ้งเพื่อขอรับไปติดตั้ง           ขุนคำณวนวิจิตร คณะกรมการจังหวัดจันทบุรี ได้แจ้งว่าที่ว่าการอำเภอขลุงยังไม่มีเครื่องรับวิทยุสาธารณะติดตั้ง จึงขอรับมาใช้ ด้วยเหตุนี้ทางกรมมหาดไทยจึงได้มอบเครื่องรับวิทยุ “เมอร์ฟี่” ขนาด ๔ หลอด แบบ ที.บี.๑๕๑ ชนิดใช้กับแบตเตอรี่แห้ง พร้อมด้วยแบตเตอรี่จำนวน ๑ แท่ง รวม ๑ เครื่อง ให้ไว้เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๙๕ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นวิทยุสาธารณะหมายเลขทะเบียนที่ ร/๔๗๒๔           เครื่องรับวิทยุดังกล่าว ถูกนำไปติดตั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอขลุง เพื่อใช้รับฟังข่าวที่ทางราชการสั่งปฏิบัติเป็นการด่วนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับฟังโดยทั่วกัน             สำหรับเครื่องรับวิทยุรุ่นเมอร์ฟี่ ขนาด ๔ หลอด แบบ ที.บี.๑๕๑ ชนิดใช้กับแบตเตอรี่แห้งนั้น พบว่าผลิตโดยบริษัท Murphy Radio ซึ่งก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.๒๔๗๒ โดย Frank Murphy และ EJ Power ซึ่งผลิตเครื่องวิทยุที่ใช้ในบ้านเรือน มีโรงงานอยู่ที่เมือง Welwyn Garden City ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ภายหลังบริษัทได้มีบทบาทสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากเป็นผู้ออกแบบและผลิตชุดวิทยุสำหรับกองทัพอังกฤษ            ผู้สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี และระบบสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุ https://archives.nat.go.th/   --------------------------------------------------- ผู้เขียน: นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี เผยแพร่ข้อมูล : https://www.facebook.com/ChanthaburiArchives/posts/pfbid0XsBTknnLo6Satdu6UwKgtPgMzMuqFxcwfzFgm5TfAMViQRq7TSFswpJAhSYgEXdVl   --------------------------------------------------- เอกสารอ้างอิง : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดจังหวัดจันทบุรี จบ ๑.๒.๓/๒๖๐ เรื่องวิทยุสาธารณะอำเภอขลุง (๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ – ๒๒ เมษายน ๒๔๙๘). Radiomuseum. TB๑๕๑. สืบค้นเมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ จาก https://www.radiomuseum.org/r/murphy_tb151tb_15.html   --------------------------------------------------- บรรยายภาพ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดจังหวัดจันทบุรี จบ ๑.๒.๓/๒๖๐ เรื่องวิทยุสาธารณะอำเภอขลุง (๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ – ๒๒ เมษายน ๒๔๙๘).--------------------------------------------------- *เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร


          ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานนั้นอยู่ตลอดไป เฉกเช่นคุณงามความดีที่เราต่างได้กระทำ นอกจากจะปรากฎแก่ตัวเราเองแล้ว ก็จะยังได้รับการกล่าวขานยกย่องสรรเสริญสืบไปนานเท่านานด้วย สำหรับวันนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง “เหรียญราชนิยม” อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความกล้าหาญที่สมควรแก่การเชิดชู           เหรียญราชนิยม (The Rajaniyom Medal) เป็นหนึ่งในเหรียญราชอิสริยาภรณ์ซึ่งนับเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ได้แก่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ทหาร พลตระเวน เสือป่าและลูกเสือ ตลอดจนบุคคลทั่วไป และสำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ทั้งนี้ เหรียญราชนิยมเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในความกล้าหาญ  เหรียญราชนิยม (ซ้าย) พ.ศ. 2455 (ขวา) พ.ศ. 2484             พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญนี้ขึ้นสำหรับพระราชทานแก่ผู้ทำหน้าที่พลเมืองดีแสดงความกล้าหาญช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ โดยฝ่าอันตรายหรือช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นอันตรายต่าง ๆ โดยไม่เกรงกลัวภัยที่จะเกิดแก่ชีวิตของตนเอง โดยมิใช่เพราะความจำเป็นตามตำแหน่งหน้าที่ของผู้นั้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม รัตนโกสินทรศก 131” ขึ้น เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2455 ตามความตอนหนึ่งว่า   “...ผู้ที่ได้กระทำน่าที่พลเมืองดี ให้เปนประโยชน์แก่การปกครองท้องที่ หรือแก่เพื่อนมนุษย์ จะเปนผู้มียศบรรดาศักดิ์ชั้นใด ๆ ฤๅจะเปนสามัญชนก็ดี สมควรที่จะได้รับพระมหากรุณาเปนพิเศษส่วนหนึ่ง แสดงให้ปรากฎซึ่งพระราชนิยมในผู้ที่ประพฤติตนเปนพลเมืองดี แลมีความกล้าหาญอันบังเกิดแต่ความกรุณาแก่เพื่อนมนุษย์เปนที่ตั้ง จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้สร้างเหรียญขึ้นใหม่ สำหรับพระราชทานแก่ผู้มีความชอบดังที่กล่าวมานี้...”             เหรียญพระราชนิยม ใช้อักษรย่อ “ร.น.” สัณฐานเป็นลักษณะรูปกลม ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรจารึกพระนามาภิไธยว่า “มหาราชา ปรเมนทรมหาวชิราวุโธ สยามรัชกาล พุทธสาสนุปัตถัมภโก” ด้านหลังมีอักษรจารึกว่า “ทรงพระราชนิยมพระราชทาน” มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร วงรอบประมาณ 97 มิลลิเมตร หนาราว ๆ 2 มิลลิเมตร ห้อยกับแพรแถบสีดำและสีเหลือง สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ตรงข้ามกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญอย่างอื่น           ใน พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม รัตนโกสินทรศก 131 ที่ออกเมื่อ พ.ศ. 2455 และให้ตรา “พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม พุทธศักราช 2484” ขึ้นใช้แทน โดยมีการปรับรายละเอียดของเหรียญ และเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องของการพระราชทานและการเรียกคืนเหรียญ สำหรับเหรียญราชนิยมตามพระราชบัญญัติ ปีพุทธศักราช 2484 นี้จะต่างจากเดิม คือ เป็นเหรียญกลมเงิน ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีอักษรจารึกช้อความใดๆ ส่วนด้านหลังจารึกอักษรว่า “ทรงพระราชนิยมพระราชทาน” ข้างบนมีห่วงห้อยกับแพรแถบกว้าง 3 เซนติเมตร สีดำและสีเหลือง ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ทั้งนี้สำหรับพระราชทานสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าขวา           การพระราชทานเหรียญราชนิยมสำหรับผู้ที่ได้กระทำความชอบตามสมควรที่จะได้รับพระราชทานนั้น โดยปกติจะเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่นำความชอบเสนอเป็นลำดับขั้นตอนมาจนถึงเจ้ากระทรวง และให้เจ้ากระทรวงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บางกรณี หากเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ไม่ได้นำความทราบบังคมทูล แต่หากทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาโดยทางอื่น และทรงพระราชดำริเห็นสมควรแล้ว ก็จะทรงพระกรุณาพระราชทานเหรียญราชนิยมได้เหมือนกัน            การพระราชทานเหรียญราชนิยม จะพระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ให้ทายาทโดยธรรมรักษาไว้เป็นที่ระลึก แต่ถ้าผู้ได้รับหรือทายาทโดยธรรมของผู้รับกระทำผิดอย่างร้ายแรง หรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใดๆ จะต้องใช้ราคาเหรียญนี้แก่ทางราชการตามราคาที่กำหนด เหรียญพระราชนิยมไม่มีประกาศนียบัตรกำกับ แต่จะมีการประกาศคุณความดีความชอบของผู้นั้นในราชกิจจานุเบกษา           นอกจากจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และส่งเหรียญพระราชนิยมไปพระราชทานตามที่เจ้ากระทรวงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ก็ยังมีการเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเหรียญราชนิยมต่อหน้า  พระพักตร์ด้วย เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2456 ในคราวที่ลูกเสือโทฝ้าย เด็กชายวัย 14 แห่งกองร้อยที่ 1 มณฑลชุมพร ได้โดยสารเรือกลไฟบางเบิดจากพระนครกลับบ้านเกิด ระหว่างทางเรือได้อับปางลงกลางทะเล เขาได้ช่วยชีวิตชายชราและเด็กหญิงให้พ้นอันตรายถึง 2 คน วีรกรรมของลูกเสือโทฝ้ายทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชนิยมแก่ลูกเสือโทฝ้ายเพื่อเป็นเกียรติยศในการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นภัย เมื่อวันที่ 10 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ณ สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสชมเชยและแสดงความพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในความกล้าหาญ และความประพฤติของลูกเสือโทฝ้าย ซึ่งสมควรที่ลูกเสือทั้งหลายจะดูไว้เป็นเยี่ยงอย่างและประพฤติตามให้สมนามแก่ที่เป็นลูกเสือและลูกผู้ชาย ในการนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่ลูกเสือโทฝ้าย ด้วยว่า “บุญเลี้ยง” ซึ่งต่อมาลูกเสือโทฝ้าย บุญเลี้ยงได้เจริญวัย จนรับราชการครู มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนวรศาสนดรุณกิจ จากนั้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ถือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรุ่นแรกของสยาม พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม รัตนโกสินทร ศก 131  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/A/211.PDF ขุนวรศาสนดรุณกิจ (ฝ้าย บุญเลี้ยง)             ปัจจุบันเหรียญพระราชนิยมเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทานไปแล้ว โดยมีการประกาศรายชื่อและคุณความดีของผู้ได้รับพระราชทานรายสุดท้าย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 80 ตอนที่ 76 ตามแจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชนิยม ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 มีเนื้อความดังนี้ “...ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชนิยม แก่พลทหารเตี๋ยม ฟูสกุล สังกัดกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ ซึ่งได้ช่วยเหลือนางสอาด สิทธิเพียร ให้รอดพ้นอันตรายจากการจมน้ำตายในแม่น้ำเจ้าพระยา เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี...”             ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมหนังสือเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย และราชกิจจานุเบกษา ประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ได้ที่ ห้องบริการหนังสือประเทศไทย หนังสือนานาชาติ และราชกิจจานุเบกษา ชั้น 3 อาคาร 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ         --------------------------------------------------- เอกสารอ้างอิง “แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชนิยม.”  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 80 ตอนที่ 76.  (30 กรกฎาคม 2506): 1879. ชยุต ศาตะโยธิน.  เหรียญราชนิยม รัชกาลที่ 6.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2565, เข้าถึงได้จาก: http://doh.hpc.go.th/bs/issueDisplay.php?id=410&category=S00&issue=Wild%20Tiger ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระ.  ตำนานเครื่องราชอิศริยาภรณ์สยาม.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2558.  (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558). “พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม พุทธศักราช 2484.”  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 58.  (12 พฤศจิกายน 2484): 1586-1588. “พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม รัตนโกสินทร ศก 131.”  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 23.  (29 กันยายน ร.ศ. 131): 211-213. สวนะ ศุภวรรณกิจ.  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย.  พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2514.  (พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเสรี ธรรมวิทย์ ท.ม.,ต.ช. ณ เมรุวัดธาตุทอง 4 เมษายน 2514). _______.  ราชอิสริยาภรณ์ไทย.  กรุงเทพฯ: รุ้ง, 2522.   สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย.  กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2526.  (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของสำนักนายกรัฐมนตรี ณ วัดชนะสงคราม แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2526). _______.  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย = Royal orders and decorations of the Kingdom of Thailand.  กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2530. อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ.  “ขุนวรศาสนดรุณกิจ: ครูผู้รอดขีวิตและปิดฉากชีวิตกลางท้องทะเลอ่าวไทย,” รูสมิแล 37, 3 (กันยายน-ธันวาคม 2559): 53-62.   -------------------------------------------------- เรียบเรียงโดย : นายสุวิชา โพธิ์คำ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ --------------------------------------------------   *เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร  


ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. พระราชนิพนธ์บทเจรจาละครเรื่องอิเหนา : พระอัจฉริยภาพด้านวรรณคดีการแสดงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: ธนาเพรส, 2562. 343 หน้า. ภาพประกอบ. 220 บาท. ให้ความรู้ในเรื่องของวรรณคดีไทย และวรรณคดีการแสดงเรื่องอิเหนา ความรู้เรื่องบทเจรจาละครอิเหนา พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้ใช้เป็นบทแสดงละครในร่วมกับบทละครในเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทำให้การแสดงละครอิเหนามีลักษณะผสมผสานของละครใน ละครพูดและละครนอก 895.9112 ช221พ ( ห้องหนังสือทั่วไป 2 )


          ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร ขอเชิญชวนผู้สนใจซื้อสมุดบันทึก “ภูมิบริรักษ์ : ครุฑ ยักษ์ นาค” เทพผู้ปกปักษ์รักษา คุ้มครองทุกท่าน เพื่อมอบเป็นของขวัญให้คนที่ท่านรักและนับถือ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖              ภูมิบริรักษ์ หมายถึง สิ่งที่มีอิทธิฤทธิ์ปกป้องคุ้มครอง ดูแล รักษามวลมนุษยชาติที่อยู่ในโลกนี้ ทั้งเบื้องบนพื้นแผ่นดิน และใต้หล้าให้มีความสุขสบายมั่งคั่งบริบูรณ์ ปราศจากโรคภัยร้าย หรือความทุกข์ยากอัปมงคลทั้งปวง ภูมิบริรักษ์ เป็นความเชื่อที่สืบทอดมาตามสายธารแห่งอารยธรรมในซีกโลกตะวันออก ซึ่งมีทั้งเทพ อมนุษย์และสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถให้คุณและโทษแก่มนุษย์ได้ เพราะได้รับพรจากเทพเจ้าชั้นสูงและการบำเพ็ญเพียรของตนเองมานานนับพันนับหมื่นปี โดยมีภพภูมิที่อาศัยเป็นหลักแหล่งตามความเชื่อในพุทธศาสนา ด้วยความเชื่อถือและศรัทธาอย่างสูงยิ่ง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรังสรรค์งานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่มีภูมิบริรักษ์อันได้แก่ ครุฑ ยักษ์ และนาค เป็นองค์ประกอบสำคัญ ด้วยเจตนาแห่งอลังการแต่แฝงด้วยคติอันเป็นความเชื่อและความศรัทธาของบรรพชนที่รักษาสืบทอดต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย ภูมิบริรักษ์ทั้ง ๓ หมู่นี้ ต่างมีที่มาและมีอิทธิฤทธิ์ดังปรากฏในคัมภีร์โบราณของแต่ละศาสนาเป็นหลักฐานสืบมา            ครุฑ ตามความหมายที่ราชบัณฑิตยสถานนิยามไว้ว่า เป็นพญานกในเทพนิยาย เป็นพาหนะของพระนารายณ์ ใช้เป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายทางราชการ ส่วนกำเนิดครุฑนั้น มีอยู่ในทั้งคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ            ยักษ์ ภาษาสันสกฤตว่า ยกฺษ (yakṣa) ภาษาบาลี คือ ยกฺข (yakkha) จัดเป็นอมนุษย์กึ่งเทพพวกหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาพุทธ พราหมณ์ และศาสนาเชน มีฐานะเป็นเทพบริวาร ผู้พิทักษ์รักษาศาสนาและศาสนสถาน เพศชายเรียกว่า ยักษะ (yakṣa) เพศหญิง เรียกว่า ยักษี (yakṣī) หรือ ยักษิณี (yakṣiṇī) บางทีใช้ปะปนกับคําว่า อสูร (asūra) กุมภัณฑ์ (kumbhaṇḍa) คุหยัก (guhyaka) แทตย์ (daityas) หรือทานพ (Danavas) รากษส (rākṣasas) และมาร (māra) ก็มี            นาค หรือพญานาคเป็นสัตว์หิมพานต์ หรือสัตว์ในเทวตำนานตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ไทยได้รับคติความเชื่อดังกล่าวผ่านคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก ชาดกอรรถกถา และคัมภีร์โลกศาสตร์ โดยนำมาผสมผสานและปรับเข้ากับความเชื่อดั้งเดิม จนกลายเป็นคติความเชื่อความศรัทธาเกี่ยวกับเรื่องนาคอย่างแน่นแฟ้นในวัฒนธรรมไทยสืบมาแต่โบราณตราบจนถึงทุกวันนี้           สมุดบันทึก “ภูมิบริรักษ์ : ครุฑ ยักษ์ นาค” ภายในประกอบด้วย ภาพประติมากรรมครุฑ ยักษ์ และนาค ขนาด ๑๗.๖ x ๒๑.๖ เซนติเมตร ปกแข็ง จัดพิมพ์สี่สี ด้านในประกอบด้วยกระดาษถนอมสายตา พร้อมตารางนัดหมายตลอดทั้งปี จำหน่ายในราคา ๒๕๐ บาท            ผู้ที่สนใจสามารถซื้อสมุดบันทึก “ภูมิบริรักษ์ : ครุฑ ยักษ์ นาค” ได้ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์) โทรศัพท์ ๐-๒๑๖๔-๒๕๐๑ ต่อ ๑๐๐๔ (ในวันและเวลาราชการ) หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่ https://bookshop.finearts.go.th สอบถามเพิ่มเติม facebook ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 139/2เอกสารโบราณ (คัมภีร์ใบลาน)


สตฺตปฺปกรณาภิธมฺม (สงฺคิณี-มหาปฎฺฐาน) ชบ.บ 173/7ก เอกสารโบราณ(คัมภีร์ใบลาน)


ชื่อเรื่อง : เรื่องเที่ยวอินเดีย เมื่อพุทธศักราช 2499 โดย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพพฤฒิยากร พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพณิชยสารวิเทศ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 12 พฤษภาคม 2514ชื่อผู้แต่ง : พิทยาลาภพฤฒิยากร, กรมหมื่น, 2428-2517 ปีที่พิมพ์ : 2514 สถานที่พิมพ์ : พระนครสำนักพิมพ์ : ไทยการพิมพ์ จำนวนหน้า : 82 หน้า สาระสังเขป : หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระพณิชยสารวิเทศ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 12 พฤษภาคม 2514 มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติของชาติอินเดีย ตั้งแต่ยุคไตรเทพ (ยุคต้นแห่งตำนานอริยะในอินเดีย) และยุคพุทธกาล อธิบายเรื่องการปกครอง การกระจายอำนาจ ความเจริญก้าวหน้าในยุคนั้นๆ เนื้อหาส่วนต่อมาบรรยายถึงประสบการณ์การไปประเทศอินเดียของผู้เขียน เช่น การไปร่วมงานพุทธชยันตี การไปเยือนเมืองต่างๆ โดยได้อธิบายให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี